14 พฤษภาคม 2552

The Science of Forgetting - ศาสตร์แห่งการลืม (ตอนที่ 1)

หากท่านผู้อ่านเคยได้ฟังเพลง "อยากลืม กลับจำ" ที่มีท่อนหนึ่งร้องว่า "ยามอ่านท่องหนังสือ เรากลับลืม เรื่องโศกเรื่องเศร้าซึมเรากลับจำ .....คนเรานี้ คิดให้ดีก็น่าขำ อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ ......" ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะมีความเห็นคล้อยตามเพลงนี้อย่างแน่นอน เพราะผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านต้องเคยผ่านประสบการณ์เจ็บๆ มาบ้างที่อยากจะลืมแต่กลับจำ ในภาพยนตร์เรื่อง "ความจำสั้น ... แต่รักฉันยาว ...." ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้พยายามเสนอมุมมองเกี่ยวกับเรื่องของ "อยากลืมกลับจำ อยากจำกลับลืม" ผ่านเรื่องรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่อยากลืม กับคู่วัยทองคู่หนึ่งที่อยากจำ


ผมเคยถามเพื่อนฝูงหลายๆ คนที่มีอดีตรักวัยเรียน ปรากฏว่าไม่ค่อยมีใครจำเรื่องวันหวานๆได้เท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่จำได้แต่เรื่องอกหัก เรื่องเจ็บๆ ยิ่งเจ็บยิ่งจำ จริงๆแล้ว นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานแล้วครับว่า ทำไมสิ่งที่เราอยากลืมถึงกลับจำ และพยายามค้นหาคำตอบมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความจำนี้ได้แบ่งออกเป็น 2 ค่ายครับ ค่ายหนึ่งพยายามศึกษาว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้มนุษย์มีความจำดีขึ้น ส่วนอีกค่ายหนึ่งพยายามศึกษาว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้เราลืมเรื่องที่อยากลืม ซึ่งทั้ง 2 เรื่องมาจบตรงที่ "ความจำทำงานอย่างไร" เพราะถ้าขาดความรู้ตรงนี้ ย่อมไม่สามารถที่จะไปถึงยังเป้าหมายทั้งสองอย่างนี้ได้ นักวิจัยได้พยายามสะสมความรู้ในกระบวนการจดจำของสมองซึ่งมีกระบวนการทำงานลึกลงไปในระดับของโมเลกุล และความรู้เหล่านี้เองครับ จะทำให้สิ่งที่เราอยากลืมก็จะสามารถลืมได้ในอนาคตอันใกล้นี้


วันหลังผมจะมาเล่าต่อนะครับ .......


(ภาพบนสุด - ดอก Forget Me Not ดอกไม้ที่เป็นตัวแทนของการไม่ลืม, ภาพขวามือ - โฆษณาภาพยนตร์เรื่อง "ความจำสั้น ... แต่รักฉันยาว ...." ภาพยนตร์ที่สะท้อนอาการอยากลืมกลับจำ)