ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมเลียนแบบธรรมชาติ ชีววิศวกรรมศาสตร์ และ หุ่นยนต์ศาสตร์ รวมไปถึงการหลอมรวมของศาสตร์เหล่านี้เข้าด้วยกัน กำลังจะเข้าครอบครองหัวข้อวิจัยในทศวรรษต่อไป (ค.ศ. 2010-2020) ต่อจากเรื่องของนาโนเทคโนโลยีครับ ใครที่กำลังจะไปเรียนเมืองนอกควรจะไปเรียนเรื่องนี่แหล่ะครับ รับรองกลับมาฮ็อตฮิตติดตลาดแน่นอนครับ
วันนี้ผมนำเอาการประชุมหนึ่งที่น่าสนใจมากในสาขาข้างต้นที่กล่าวมาครับ นั่นคือ IEEE Robio 2009 - International Conference on Robotics and Biomimetics ซึ่งในปีนี้ได้จัดติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แล้วครับ โดยจะไปจัดที่เมืองกุ้ยหลิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 18-22 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยมีกำหนดส่ง Full Paper ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 นี้
น่าสนใจมากครับว่าการประชุม IEEE Robio นี้ริเริ่มโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 2004 โดยจัดที่เมือง Shenyang จากนั้นก็จัดกันต่อที่เมืองจีนมาตลอด ครั้งที่ 2 ไปจัดที่ ฮ่องกง แล้วก็แวะมาจัดครั้งที่ 3 ที่ คุนหมิง ครั้งที่ 4 ไปจัดที่ซันย่าบนเกาะไหหนาน พอปี 2008 ก็ออกจากจีนมาแวะที่กรุงเทพฯ ของเราด้วยครับ (IEEE Robio 2008) แต่เนื่องจากพวกม็อบพันธมิตรดันไปปิดสนามบิน ทำให้งานนี้เลยต้องเลื่อนมาจัดจริงๆ กันในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 นี้เอง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ชาวต่างชาติถึงยังไงก็หลงใหลเมืองไทยมาก ยังไงเขาก็มา งาน IEEE Robio 2008 ที่จัดที่กรุงเทพฯ นั้น เสียดายที่ผมไม่ได้ไปเข้าร่วมในการประชุมนี้ แต่เพื่อนผมได้เอา Proceeding กับ CD มาให้ชุดหนึ่ง จึงมีโอกาสนั่งศึกษาดู ซึ่งก็พบว่าเนื้อหาของการประชุมน่าสนใจมากๆ ครับ เพราะจะว่าไปแล้ว งานทางด้านหุ่นยนต์แนวเลียนแบบธรรมชาติของชาติทางเอเชียของเรานั้น เจริญกว่าอเมริกาและยุโรปเสียอีก งานประชุม IEEE Robio 2009 จึงเป็นที่คาดหวังว่าจะต้องเจ๋งมากๆ แล้วปีนี้เขามี Theme ทางด้าน “Robot-assisted bioengineering to serve humans” ด้วยครับ