22 ธันวาคม 2555

BIG DATA - ยุคข้อมูลใหญ่มหึมา มาถึงแล้ว (ตอนที่ 2)



ในยุคที่ระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เชื่อมโยงกันทั้งโลก ทำให้การจะทำอะไรสักอย่างที่เมื่อก่อนเราคิดว่ามันง่าย กลับกลายเป็นเรื่องยาก สิ่งที่เราคิดว่าถูกสำหรับสังคมเรา อาจจะเป็นสิ่งที่ผิดในสังคมโลก ซึ่งหากเราจะฝืนเชื่อในแบบของเราต่อไปไม่แคร์ประเทศอื่นก็คงทำได้แต่ไม่ยั่งยืน แม้แต่ประเทศที่เคยปิดตัวเองและคิดว่าตัวเองสามารถอยู่ได้ไม่ต้องพึ่งใครอย่างพม่า สุดท้ายก็ต้องเปิดประเทศ อดีตนายกฯ ทักษิณของไทยถูกศาลอาญาประเทศไทยสั่งจำคุกดดีที่ดินรัชดาฯ กลายเป็นผู้ร้ายข้ามแดนที่ต้องหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ แต่กลับกลายเป็นว่าตัวเขาเองสามารถเดินทางไปไหนต่อไหนได้ทั่วโลกอย่างไม่จำกัด โดยตำรวจสากลไม่สนใจที่จะแตะต้องหรือนำตัวส่งกลับประเทศไทยแต่อย่างใด นั่นแสดงว่า โลกไม่ได้ให้ความสนใจต่อคำตัดสินของศาลไทย แถมกลับมองเห็นว่าคำสั่งศาลไทยเป็นคำสั่งที่ไม่มีความหมายในเวทีโลก  แต่เมื่อเทียบกับอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อจะเดินทางไปยังต่างประเทศ กลับถูกปฏิเสธไม่ให้ไป ไม่ว่าจะเป็น เขมร บรูไน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอารเบีย รัสเซีย   ยุทธการโลกล้อมประเทศไทยนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า คนในประเทศของเรานั้น มีศักยภาพในการเท่าทันพลวัตในมิติต่างๆ ของเวทีโลกอันซับซ้อนนี้หรือไม่

ระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันทั้งโลกนี้ ทำให้ความเป็นตัวของตัวเองทางด้านวิถีชีวิตก็เป็นไปได้ยากมากๆ ทุกอย่างต้องไหล ต้องพลิ้วไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งโลก คนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะเข้าใจดีว่า ราคาทอง น้ำมัน และหุ้น มีความอ่อนไหวกับแทบจะทุกๆ เรื่องที่ไม่ได้เกิดในเมืองไทย เช่น ปัญหาหนี้ยุโรป ปัญหาหน้าผาการคลังในสหรัฐฯ ปัญหาเงินฝืดในญี่ปุ่น ปัญหาเศรษฐกิจในจีน  ในระยะหลังๆ มีกระแสเงินทุนไหลเข้าอาเซียนมาก ทำให้ราคาหลักทรัพย์ต่างๆ ของอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างมากมายจนเอาไม่อยู่ ถ้าคุณจะเล่นหุ้นสักตัวในตลาดหุ้น ก็จะพบว่าวัน ๆ คุณจะเจอกับข้อมูล Big Data จำนวนมหาศาลที่จะไหลเข้ามาเพื่อให้คุณวิเคราะห์และตัดสินใจว่าจะซื้อหรือจะขายหุ้นตัวนั้นดี ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยวกับบริษัทนั้น คุณจะต้องดูให้หมดทั้งเรื่องการเมือง แนวโน้มต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและในโลก

ผมยกตัวอย่าง ผมมีหุ้นตัวหนึ่ง เป็นบริษัที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและขายอาหารสัตว์ มาดูกันครับว่า ราคาของหุ้นตัวนี้จะขึ้นกับอะไรบ้าง 

ผมซื้อหุ้นตัวนี้เพราะความที่ผมมีความหลงไหลเรื่องของเกษตรเป็นทุนอยู่แล้ว หุ้นตัวนี้ไม่ค่อยมีใครสนใจ เพราะมันเป็นหุ้นเกษตรที่เติบโตเป็นวัฏจักร ราคาหุ้นตัวนี้ไม่แพง (ต่ำกว่า 10 บาท) ให้ปันผลปีละประมาณ 6-10% ซึ่งผมก็พอใจกับผลตอบแทนประมาณนี้ สำหรับหลายๆ คนมองว่าหุ้นตัวนี้น่าเบื่อ เพราะว่าราคามันไม่ไปไหนเลยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ผมเห็นว่าเป็นบริษัทที่มีความมั่นคง เพราะบริษัทนี้มีกระแสเงินสดดี ไม่ค่อยมีหนี้ แถมมีกำไรสะสมเป็นพันล้าน ถึงแม้ผลประกอบการในปี 2555 นี้จะไม่เติบโตเนื่องมาจากต้นทุนด้านวัตถุดิบปีนี้มีราคาค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งในปีก่อนหน้า ทำให้ราคาข้าวโพดแพงมาก แต่ราคาอาหารสัตว์กลับไม่ได้ปรับขึ้น อย่างไรก็ดี จากการดูราคาข้าวโพดล่วงหน้า ส่งมอบในเดือนมีนาคม 2556 มีราคาถูกลงมาก อันเนื่องมาจากพายุแซนดี้ทำให้เกิดฝนตกมากในสหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้จะมีผลผลิตข้าวโพดเพิ่มขึ้นมากจนทำให้ราคาส่งมอบลดต่ำลง ดังนั้น ในปีหน้าหุ้นตัวนี้น่าจะมีผลประกอบการดี ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินปันผลสูงขึ้น และเมื่อเงินปันผลสูงขึ้น นักลงทุนที่ยังไม่มีหุ้นตัวนี้ก็จะสนใจแล้วเข้ามาซื้อ ทำให้ราคาของหุ้นตัวนี้สูงขึ้นมาก ซึ่งก็จะทำให้ผมสามารถทำกำไรจากหุ้นตัวนี้ได้ในปีหน้า

แค่นี้ก็น่าจะเป็นข่าวดี แต่ทว่า ... ในชีวิตจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้นเลยครับ เพราะอาหารสัตว์จะขายได้ดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับมีคนเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคมากหรือไม่ ซึ่งในที่นี้คือ หมู เมื่อมีคนเลี้ยงหมูมาก ก็จะใช้อาหารสัตว์มาก ซึ่งก็จะทำให้บริษัทที่ผมถือหุ้นอยู่นี้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่ว่า เมื่อมีคนเลี้ยงหมูมาก ก็จะเกิด supply ขึ้นในตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคาเนื้อหมูลดต่ำลง ซึ่งก็จะทำให้คนเลี้ยงหมูได้กำไรน้อยลง คนเลี้ยงหมูก็อาจจะพยายามลดต้นทุนด้วยการเลี้ยงหมูน้อยลง ใช้อาหารหมูจากบริษัทนี้น้อยลง โดยผสมอาหารจากธรรมชาติเข้าไปด้วย บริษัทที่ผมถือหุ้นอยู่ก็อาจจะต้องลดราคาอาหารสัตว์ลงเพื่อจูงใจให้มีการซื้อมากขึ้น หรือหากคงราคาเดิมไว้ ก็จะมียอดขายลดลง แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหน การที่คนเลี้ยงหมูมากขึ้น ก็ไม่จำเป็นที่จะส่งผลดีต่อกิจการที่ผมซื้อหุ้นไว้เสมอไป ราคาของหุ้นตัวนี้ที่จะผมหวังจะทำกำไรให้ผมสูงๆ ได้ ก็จะขึ้นลงเป็นวัฏจักร ... แน่นอน ถ้าผมต้องการทำกำไรจากหุ้นตัวนี้ ผมจะต้องทำการบ้านที่หนักหน่วง กับข้อมูลปัจจัยต่างๆ ที่จะมีผลต่อราคาหุ้นตัวนี้ มันเป็นข้อมูลที่ใหญ่ เป็น Big Data จริงๆ

ในช่วงปลายปี 2555 ได้เกิดปรากฏการณ์ที่เงินทุนไหลเข้าเรียกว่า Fund Flow ไหลเข้ามาทางเอเชียเป็นประวัติการณ์ ทำให้ดัชนีหลักทรัพย์ของไทยไหลขึ้นอย่างน่าตกใจ ราคาหุ้นยกตัวแทบจะทั้งกระดาน แต่หุ้นเกษตรตัวนี้ของผมกลับไม่กระดิกไปไหน มันยังขึ้นๆ ลงๆ ตามปริมาณการซื้อขายไปมาเล็กๆ น้อยๆ นักลงทุนส่วนมากมองว่าหุ้นตัวนี้น่าเบื่อที่สุด แต่มันกลับเป็นหุ้นสุดเลิฟของผม และผมเชื่อว่ามันจะเป็นหุ้นที่ดีต่อไป และทำกำไรให้ผมได้อย่างยั่งยืน ......

12 ธันวาคม 2555

Connectome - คอนเน็คโทม (ตอนที่ 5)




(ภาพจาก http://wallpapersup.net/tom-clancys-ghost-recon/)

ในบริบทของสงครามการสู้รับแห่งโลกปัจจุบัน ได้แบ่งยุทธภูมิออกเป็น 4 โดเมน คือ บก น้ำ อากาศ และ อวกาศ โดยในระยะหลัง ๆ นี้ สงครามได้พัฒนาออกไปอีกจนครอบคลุมโดเมนที่ 5 นั้นคือ Cyberspace ดังนั้นกองทัพที่ทันสมัยในศตวรรษที่ 21 จึงต้องมีการจัดทัพถึง 5 ทัพตามโดเมนที่กล่าวมา .... ทว่า ... ยังมีอีกโดเมนหนึ่งที่กำลังทวีความสำคัญ และจะทำให้มิติของการทำสงครามมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก โดเมนใหม่นี้ก็คือ ..... สมองและจิตใจของนักรบ

จะว่าไปแล้วการรบในอดีต เรื่องของสมองและจิตใจของทหารก็ถูกนำมาใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งโดยมากจะทำเพื่อให้ฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าสามารถสู้รบกับกองทัพขนาดใหญ่ของฝ่ายตรงข้ามได้ ดังเช่น เมื่อครั้งที่ขงเบ้งกำลังจะสิ้นลมนั้น แม้กองทัพของพระเจ้าเล่าเสี้ยนจะถึงซึ่งความโศกาอาดูรแต่เพียงใด ก็จำต้องนำศพของขงเบ้งขึ้นนั่งแท่นบัญชาการรบ ตามอุบายที่ขงเบ้งกำชับไว้ก่อนเสียชีวิต นัยว่าเมื่อกองทัพของสุมาอี้เห็นศพของขงเบ้งแล้ว ก็จักเข้าใจผิดคิดว่าขงเบ้งยังมีชีวิตอยู่ ด้วยความเกรงกลัวกลอุบายต่างๆ ของขงเบ้ง สุมาอี้ได้สั่งให้ชะลอทัพไว้ไม่ให้เข้าตีทัพของขงเบ้ง ซึ่งกำลังล่าทัพกลับเข้าไปยังเมืองเสฉวน แม้ชีวิตของท่านจะวายชนม์ไปแล้วก็ตาม ศพของท่านก็ยังช่วยทำให้กองทัพถอยกลับเข้าที่ตั้งอย่างปลอดภัย ช่วยรักษาชีวิตทหารได้หลายหมื่นค หรือแม้แต่สำหรับประเทศไทยเอง องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงใช้ยุทธวิธีในการสร้างความเกรงกลัวแก่ทหารพม่าอยู่บ่อยครั้ง นำกองทัพไทยเอาชนะในทุกสมรภูมิ ทั้งๆ ที่มีกำลังพลน้อยกว่าหลายเท่าตัว

ปัจจุบัน กองทัพสหรัฐฯ ได้ให้ความสนใจต่อโดเมนของสมองและจิตใจเป็นอย่างมาก และได้ลงทุนวิจัยเป็นเม็ดเงินมหาศาล เพื่อค้นหาความลับในการทำงานของสมอง ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ การตอบสนองต่อสภาวะกดดันต่าง ๆ ในสนามรบ ไปจนถึงการนำสัญญาณสมองมาใช้เพื่อควบคุมจักรกลต่าง ๆ ที่ใช้ในสงคราม (Brain Computer Interface หรือ BCI) รัฐบาลสหรัฐฯ เองได้จัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการ Human Connectome Project เพื่อจัดทำแผนที่การทำงานของสมองมนุษย์ในระดับเซลล์ประสาท นัยว่านอกจากจะมีคุณูปการต่อวงการวิทยาศาสตร์ และสาธารณสุขแล้ว ยังจะส่งผลให้กองทัพสหรัฐฯ สามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาอาวุธที่ทรงอานุภาพในการเป็นมหาอำนาจทางทหารอย่างไร้เทียมทาน

BCI สามารถนำมาใช้งานในสนามรบได้กว้างขวางไม่ว่าจะเป็นการใช้สมองควบคุมอากาศยาน รถถัง อาวุธต่าง ๆ ทำให้หน่วยรบมีความคล่องตัวในการใช้อาวุธเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย สัญญาณประสาทสามารถนำไปใช้ควบคุมอุปกรณ์ที่เพิ่มสมรรถนะมนุษย์ (Human Performance Enhancement) อย่างชุดกระดอง Exoskeleton ที่เมื่อทหารสวมใส่เข้าไปแล้ว จะสามารถแบกสัมภาระในมากกว่าปกติ สามารถยกอาวุธอย่างปืนกล M60 ได้อย่างสบาย นอกจากนั้น BCI ยังอาจใช้กับทหารที่บาดเจ็บในสนามรบ เพื่อติดต่อทางความคิดกับผู้ช่วยเหลือ หรือแม้แต่ทหารพิการสามารถใช้มันเพื่อควบคุม แขนและขากล (Bionic Amputees)

คลื่นลูกใหม่ของเทคโนโลยีทางด้านสมองและจิตใจกำลังจะถาโถมเข้ามาทั้งในระบบเศรษฐกิจ และการทหาร ประเทศไทยของเราเมื่อไหร่จะตื่นรับรู้เรื่องนี้กับเขาบ้างหนอ .....

30 พฤศจิกายน 2555

อาภรณ์อัจฉริยะ - Wearable Intelligence (ตอนที่ 6)



เรื่องของอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ (Wearable Devices) หรือ คอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ได้ (Wearable Computer) ที่มีพลังในการประมวลผลติดตามเราไปได้ทุกที่ (Wearable Computing) กำลังเขยิบใกล้เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ๆ ทุกทีครับ ต่อไปเราจะใส่แว่นที่มีกล้องถ่ายรูปหรือวีดิโอ และมีจอภาพที่สามารถแสดงผลเข้าตาของเราได้โดยตรง ทำให้เวลาเราจะเดินไปไหนมาไหน มันจะช่วยติดตาม หาข้อมูลที่เป็นประโยชน์แล้วนำเสนอให้กับเรา เช่น เราเดินไปสยามพารากอน เราอาจจะถามแว่นว่า ไหนหาร้านหนังสือให้ฉันหน่อยสิ ... แว่นก็จะ scan จากภาพ แล้วทำงานแบบ Augmented Reality ที่แสดงผลข้อมูลว่าในห้างนี้มีร้านหนังสือที่ไหนบ้าง ถ้าเราบอกว่าฉันอยากไปคิโนคูนิยะ แว่นก็จะแสดงข้อมูลร้านนี้ บอกทิศทาง พร้อมหาโปรโมชั่นพิเศษต่างๆ ให้เสร็จสรรพ นอกจากแว่นตาแล้ว ก็ยังมีนาฬิกา เสื้อผ้า กางเกง แจ็คเก็ต ถุงเท้า รองเท้า ซึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต จะเข้าไปอาศัยอยู่ในนั้น เพื่อทำให้เราเดินทางไปไหนมาไหนพร้อมกับพลังประมวลผล ด้วยการสวมใส่มัน โดยไม่ต้อง หิ้ว ถือ พก อุปกรณ์เหล่านั้นให้ลำบากเลยล่ะครับ

ในกลุ่มวิจัยของผมเอง ก็มีการทำวิจัยเกี่ยวกับอุปกรณ์สวมใส่ได้หลายชนิดเลยครับ ได้แก่ รองเท้าเซ็นเซอร์ที่ผมเรียกว่า Smart Shoe เพื่อตรวจวัดการเดิน มีการทำวิจัยเกี่ยวกับหมอนและผ้าปูที่นอนอัจฉริยะ (Smart Pillow and Smart Bedsheet) เพื่อตรวจวัดสุขภาวะของการนอน มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเซ็นเซอร์บนผ้า ซึ่งต่อไปสามารถเอาไปติดไว้ในเสื้อ กางเกง ชุดชั้นใน ถุงเท้า เพื่อตรวจวัดระดับของสุขภาพ มีการทำวิจัยจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบปลอกแขน เพื่อตรวจกลิ่นเต่าใต้รักแร้ มีการวิจัยถุงมือข้อมูล (Data Glove) เพื่อเป็นอุปกรณ์ติดต่อกับคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยอากัปกริยาท่าทาง เป็นต้น

สำหรับ Smart Shoe ที่กลุ่มวิจัยของผมกำลังพัฒนาอยู่นั้น เป็นรองเท้าที่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์หลายชนิดเข้าไปในรองเท้า เช่น เซ็นเซอร์รับแรงกด เซ็นเซอร์ตรวจวัดทิศทาง เซ็นเซอร์ตรวจวัดความเร่ง เซ็นเซอร์ตรวจวัดความเฉื่อย เป็นต้น ซึ่งจะทำการเก็บข้อมูลของผู้สวมใส่ แล้วส่งข้อมูลเหล่านั้นผ่านเครือข่ายไร้สาย มาเก็บที่คอมพิวเตอร์หรือฐานข้อมูลบนระบบคลาวด์ ซึ่งต่อไปเราก็จะพัฒนา App บนสมาร์ทโฟน เพื่อทำให้ผู้สวมใส่สามารถติดตามข้อมูลการเดินของตัวเองผ่านสมาร์ทโฟนได้ 

มาดูกันครับว่าเจ้า Smart Shoe ทำอะไรกันได้บ้างครับ

(1) ดูว่าเราทำอะไรบ้างในแต่ละวัน ยืน เดิน นั่ง เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา (Daily Activities)

(2) ดูว่าเรามีพฤติกรรมการเดินที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือไม่ เช่น เดินลากเท้า กดนิ้ว แบะเท้า ตัวงอ โยนตัว และอื่นๆ ซึ่งเราสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ให้วิเคราะห์ และให้คำแนะนำแก่เราได้ว่า เราควรหรือไม่ควรเดินแบบนั้น แพทย์สามารถที่จะโปรแกรมให้รองเท้าเตือนผู้สวมใส่ได้ เมื่อเริ่มมีอากัปกริยาการเดินที่ไม่เหมาะสม

(3) เฝ้าระวัง เช่น ผู้สูงอายุมีท่าทีผิดปกติ เช่น ล้ม หรือ กดเท้าบางจุดนานเกินไป (อันตรายมากสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน) ซึ่งรองเท้าสามารถเตือนผู้สวมใส่ได้ หรือส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังผู้เกี่ยวข้องได้ หากผู้สวมใส่เกิดการล้ม (โดยเฉพาะผู้สูงวัย)

ตอนนี้ทางกลุ่มวิจัยได้นำ Smart Shoe ไปทดสอบกับผู้สูงวัยจำนวนมาก เพื่อทดสอบ เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผล ซึ่งเราได้พบว่าเจ้ารองเท้าตัวนี้ นอกจากจะสามารถตรวจพบการเดินที่ผิดปกติแล้ว เค้ายังสามารถตรวจพบคนที่มีอาการของโรคพาร์กินสันด้วยครับ ในโอกาสต่อไปทางกลุ่มวิจัยก็จะนำเจ้า Smart Shoe ตัวนี้ไปจดสิทธิบัตร และพัฒนาต้นแบบเชิงพาณิชย์ โดยจะนำรองเท้านี้ไปแนะนำตลาด ซึ่งตอนแรกกะว่าจะแจกให้ผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งใช้ฟรีครับ

22 พฤศจิกายน 2555

ACPA 2013 - The 5th Asian Conference on Precision Agriculture



เป็นเรื่องค่อนข้างแปลกที่ประเทศในเอเชียของเรา ถือว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก แต่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรของประเทศในแถบนี้กลับยังล้าหลัง เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมอย่าง สหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ซึ่งประเทศเหล่านั้นได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ซึ่งทำให้ประเทศอุตสาหกรรมเหล่านั้นยกระดับการพึ่งพาตัวเองทางด้านอาหาร มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ในระยะหลังๆ มานี้ ด้วยปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศเอเชียเริ่มประสบปัญหาความไม่แน่นอนของผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่ทางการเกษตรเริ่มมีจำกัดขึ้นเรื่อยๆ การบริหารน้ำเพื่อการเกษตรขาดประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้ามารุมเร้า ทำให้ประเทศทางเอเชียไม่อาจนิ่งเฉยอีกต่อไปได้ ความสนใจในเรื่องของ Precision Agriculture เริ่มจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดประชาคมวิจัยทางด้านนี้ในกลุ่มประเทศทางด้านนี้ครับ โดยนักวิจัยเหล่านี้ก็จะมาประชุมแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิชาการกันปีละครั้ง

ในปี ค.ศ. 2013 นี้นักวิจัยทางด้าน Precision Agriculture จึงได้มีดำริที่จะให้มีการจัดประชุมวิชาการประจำปีที่มีชื่อว่า ACPA 2013 - The 5th Asian Conference on Precision Agriculture ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ที่เกาะเจจู ประเทศเกาหลีใต้ งานนี้ผมอยากไปมากๆ แต่คิดว่าอาจไม่ได้ไปเพราะคิดว่าจะไปประชุมอีกงานที่เกี่ยวกับจมูกอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจัดที่เกาหลีเหมือนกันในช่วงวันที่ 2-7 กรกฎาคม 2556 ถ้าจะไปทั้ง 2 งานก็ต้องโต๋เต๋ อยู่แถวเกาหลีเกือบ 2 สัปดาห์ ดูท่าทางแล้วจะคิดถึงบ้านเสียก่อนหน่ะครับ

เนื้อหาของการประชุม ACPA 2013 ก็ได้แก่

Data collection and variability
Data processing and decision making support system
Site-specific crop and field management practices
Profitability, environmental effects of Precision Agriculture
Use of information technology (e.g., traceability)
Sensors and control systems
Education and on farm research
Precision horticulture and livestock management
Emerging technologies

19 พฤศจิกายน 2555

อาภรณ์อัจฉริยะ - Wearable Intelligence (ตอนที่ 5)




(Picture from dvice.com)

แนวโน้มสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังมาแรงคือ สิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ หรือ อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่ามนุษย์เราสวมใส่เสื้อผ้าไปไหนมาไหน เสมือนสิ่งของที่มีมาแต่กำเนิด โดยที่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งแปลกปลอม ในขณะที่คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ถึงแม้ในปัจจุบันจะพกไปไหนมาไหนได้ก็ตาม ก็ยังไม่เหมือนเสื้อผ้าที่มันติดตัวเราไปเองโดยไม่ต้องหิ้วไม่ต้องถือและไม่ต้องกังวลว่าจะลืม นั่นคือหากเราสามารถทำให้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เหล่านั้นสวมใส่ได้ (Wearable Devices) และติดตามเราไปได้ทุกที่ สิ่งนั้นก็จะนับว่าเป็นอัจฉริยภาพบนผืนผ้าแห่งยุคอนาคตเลยทีเดียว

ผ้าอัจฉริยะที่มีความสามารถทางด้านอิเล็กทรอนิกส์จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้

1) เส้นใยนำไฟฟ้า (Conductive Path) เพื่อนำพลังงานไปจ่ายแก่ระบบ หรือนำสัญญาณไฟฟ้าจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง โดยเทคโนโลยีของเส้นใยหรือด้ายนำไฟฟ้าในปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตหลายราย โดยเฉพาะในไต้หวัน ผลิตออกมาหลายแบบ เช่น

เส้นด้ายที่นำไฟฟ้าได้ในตัวเอง (Intrinsic Conduction) ทำได้โดยการนำเหล็กกล้า (Stainless Steel) มาปั่นเป็นเส้นด้าย ด้ายที่เป็นใยเหล็กนี้สามารถนำไปถักพร้อมๆกับด้ายอื่นๆ เพื่อทอเป็นผ้า แต่มีข้อเสียคือเส้นใยของเหล็กมีความแข็งกระด้างจึงมักจะทำให้เครื่องทอเสียหายได้บ่อยๆ อีกวิธีหนึ่งคือการนำพอลิเมอร์ที่สามารถนำไฟฟ้าได้ในตัวเอง ได้แก่ polyaniline และ polypyrrole มาทำเป็นเส้นใย ในอนาคตอาจมีการนำท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotube) มาปั่นเป็นเส้นด้าย ซึ่งปัจจุบันมีงานวิจัยระบุว่าสามารถทำได้ ซึ่งจะทำให้ผ้าที่ทอจากท่อนาโนคาร์บอนมีสมบัติพิเศษหลายประการ เช่น มีความแข็งแกร่งดุจเหล็กกล้าแต่เบาและยืดหยุ่นเหมือนพลาสติก สามารถป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมไปถึงสามารถทำงานทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ได้
เส้นด้ายที่เคลือบวัสดุนำไฟฟ้า (Extrinsic Conduction) เพื่อให้สามารถนำไฟฟ้าได้ โดยนำเส้นด้ายธรรมดามาเคลือบโลหะ หรือ เกลือของโลหะ เช่น คอปเปอร์ซัลไฟด์ หรือ คอปเปอร์ไอโอไดด์ หรืออาจนำเอาแผ่นฟอยล์ของทอง หรือ อลูมิเนียม มาพันรอบๆเส้นด้าย โดยเฉพาะเส้นไหมจะเหมาะที่สุด เนื่องจากมีความเสถียรในด้านรูปร่างและความยาวของเส้นใย (ผู้เขียนเคยเห็นผ้าไหมตีนจกที่ อ. ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ซึ่งทอเส้นไหมกับเส้นทองไปพร้อมๆ กัน เกิดลวดลายที่สวยงามมาก)

2) วงจรตรรกะ (Logic Circuitry) เพื่อประมวลผลสัญญาณและทำหน้าที่ต่างๆ เช่นรับข้อมูลและตัดสินใจตอบสนอง การนำเส้นใยนำไฟฟ้ามาถักทอด้วยความหนาบางต่างกัน หรือถักเป็นปม รวมทั้งเทคนิคในการทอผ้าให้เกิดลวดลายต่างๆ ก็สามารถทำให้เกิดวงจรทางตรรกะได้ โดยมีนักวิจัยที่ MIT ได้สาธิตการนำเอาเส้นใยนำไฟฟ้ามาถักให้มีการไขว้ของเส้นด้าย ทำให้เกิดเป็นคีย์บอร์ดที่สามารถรับรู้น้ำหนักการกด และให้สัญญาณไฟฟ้าออกมาแตกต่างกันได้ (คีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ธรรมดาไม่รับรู้ความต่างของน้ำหนักการกด)

3) เซ็นเซอร์ (Sensor) สำหรับรับข้อมูลจากภายนอก เช่น วัดอุณหภูมิ ความชื้น จุลชีพที่มีอันตราย ขณะนี้มีการวิจัยเสื้อสุขภาพสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยเสื้อดังกล่าวมีอุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันโลหิต เป็นต้น ซึ่งจะเก็บข้อมูลและส่งให้โรงพยาบาลโดยใช้เทคโนโลยีไร้สาย เซ็นเซอร์ที่วัดอุณหภูมิจะทำงานร่วมกับอุปกรณ์ให้ความร้อนซึ่งหากพบว่าอุณหภูมิภายนอกต่ำมาก หากมีการติดตั้ง GPS ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับเสื้อของผู้สวมใส่ ก็จะทำให้เสื้อทราบว่าผู้สวมอยู่ ณ ตำแหน่งใดบนพื้นโลก ซึ่งก็จะสามารถรับข้อมูลสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเข้ามาได้ทันทีจากฐานข้อมูลอากาศ เพื่อพร้อมตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้  ซึ่งมีบริษัทที่ทำการวิจัยและพัฒนาเสื้อสกีที่มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อม โดย GPS จะจับตำแหน่งของนักสกีตลอดเวลา หากเกิดอุบัติเหตุก็จะส่งสัญญาณวิทยุออกไปขอความช่วยเหลือได้


4) เทคโนโลยีสื่อสาร (Communication) เพื่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ที่อยู่ในเสื้อตัวเดียวกัน และระหว่างอุปกรณ์ภายในเสื้อกับอุปกรณ์ภายนอก ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย (Wireless Sensor Networks) ที่สามารถโยงใยเซ็นเซอร์หลายๆ ตัวโดยการสื่อสารแบบไร้สายคล้ายกับเทคโนโลยี Wi-Fi ที่ใช้กันทั่วไป แต่เทคโนโลยีไร้สายแบบนี้ก็อาจจะไม่เหมาะกับเสื้อผ้าที่อยู่ติดกับร่างกายมนุษย์ เนื่องจากมีการปล่อยสัญญาณวิทยุออกมาทุกทิศทาง จึงมีผู้คิดค้นการส่งสัญญาณวิทยุอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า FAN (Fabric Area Network) ซึ่งจะมีการส่งสัญญาณวิทยุในลักษณะของ RFID (Radio Frequency Identification) ออกไปเฉพาะบริเวณพื้นผิวของร่างกายเท่านั้น ไม่มีการส่งเข้าไปในร่างกายมนุษย์ นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยีในการส่งสัญญาณไฟฟ้าผ่านผิวหนังมนุษย์โดยตรงที่เรียกว่า PAN (Personal Area Network) ซึ่งคิดค้นโดยนักวิจัยของ MIT ร่วมกับ IBM โดยจะส่งกระแสไฟฟ้าแรงต่ำ (ระดับพิโคแอมป์) ออกไปตามผิวหนังโดยเครื่องรับสัญญาณตามจุดต่างๆ ของร่างกายสามารถรับสัญญาณได้ เทคโนโลยีนี้จะเหมาะกับการใช้งานทางการแพทย์ เพราะอุปกรณ์โดยมากจะมีการติดตั้งตามลำตัวมนุษย์

5) แหล่งพลังงาน (Energy) ได้แก่แบตเตอรีซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาแบตเตอรีแบบแบนบาง หรือแหล่งกำเนิดพลังงาน เช่น เซลล์สุริยะแบนบางซึ่งอาจติดหรือพิมพ์ไว้กับเสื้อก็ได้ หรือ เซลล์เชื้อเพลิงที่เปลี่ยนพลังงานเคมีในเชื้อเพลิงเหลว เช่น เอธานอล ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปกติเซลล์เชื้อเพลิงก็มีลักษณะเป็นแผ่นเมมเบรนบางๆ อยู่แล้ว หรืออาจเป็นวัสดุพวกเพียโซอิเล็กทริก (Piezoelectric) ซึ่งสามารถแปลงพลังงานกลให้เป็นพลังงานไฟฟ้านำไปเก็บไว้ในแบตเตอรี เช่น อาจนำวัสดุนี้ไปติดไว้ในรองเท้า เมื่อเราเดินจะมีแรงกดที่เท้าไปกดวัสดุชนิดนี้ให้เกิดความเค้น ซึ่งพลังงานกลจะถูกเปลี่ยนและเก็บสะสมเป็นพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี นอกจากนั้นยังมีแนวคิดของการนำกลูโคสในร่างกาย (Bio-fuel cell) ออกมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าให้แก่เสื้ออิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

6) อุปกรณ์ทางกล-ไฟฟ้า (Mechatronics) ทำงานเพื่อตอบสนองผู้ใช้ทั้งเชิงกลและไฟฟ้า เช่น อุปกรณ์กำเนิดความร้อนหรือความเย็นให้แก่ผู้สวมใส่ (Thermoelectric) เซ็นเซอร์ต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์รับรู้ความเร่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นอุปกรณ์เครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (Microelectromechanical System หรือ MEMS) อุปกรณ์กำเนิดแรงเช่นแอคตูเอเตอร์ (Actuator) ซึ่งอาจนำไปติดตั้งที่รองเท้าหรือเป็นสนับเข่าช่วยออกแรงให้ผู้สูงอายุเดินได้โดยใช้แรงน้อยลง เสื้อทักซิโด้นาโนฉบับเฉินหลงใส่ในภาพยนตร์เรื่อง The Tuxedo เป็นตัวอย่างที่ดีของอุปกรณ์ประเภทนี้ เพราะสามารถทำให้เฉินหลงกระโดด หมุนตัว ตีลังกาได้อย่างแม่นยำ


** โครงการ Wearable Intelligence ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่ง ชาติ **





15 พฤศจิกายน 2555

Games Science - วิทยาศาสตร์ของเกมส์ (ตอนที่ 13)




เรื่องของ Games-Life Convergence หรือการบรรจบกันระหว่างเกมส์ กับ ชีวิต จริง เริ่มกลายมาเป็นกระแสที่มาแรงมากๆ ในโลกธุรกิจแล้วหล่ะครับ เราจะเห็นได้ว่า เกมส์เชิงสังคมอย่าง Social Games บน Facebook และบนแท็ปเล็ต และ สมาร์ทโฟนต่างๆ ทั้ง android และ Apple กำลังเข้าครอบครองความบันเทิงทั้งในบ้านและในที่ทำงานของผู้คนทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านเกมส์กล่าวว่า ไม่เคยมียุคใดสมัยใดที่เกมส์จะประสบความสำเร็จ ในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนได้เหมือนสมัยนี้อีกแล้ว เพราะตอนนี้เกมส์ได้เข้าไปอยู่ในดวงใจของประชากรทั้งรุ่นเด็ก รุ่นวัยทำงาน และรุ่นเกษียณ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จากการสำรวจโดย Casual Games Association พบว่าปัจจุบันเกมส์ประเภทเชิงสังคมนี้ เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้เล่นมากถึง 77.9 ล้านคน ซึ่งโดยมากเป็นผู้หญิงเสียด้วย ทั้งๆ ที่แต่ก่อนนั้นผู้หญิงไม่ค่อยสนใจเล่นเกมส์นัก การศึกษาครั้งนี้ยังพบด้วยว่า เกมส์สังคมมีอัตราการเติบโตสูงมาก โดยตลาดทั้งโลกมีมูลค่า 1.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2009 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 192,000 ล้านบาท) ในปี ค.ศ. 2012 นี้ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.64 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 268,000 ล้านบาท) ในอีก 2 ปีข้างหน้า ลองคิดดูสิครับว่าตลาดใหญ่ขนาดไหน เกมส์สังคมเหล่านี้เกือบทั้งหมด เป็นเกมส์ที่สามารถเล่นได้ฟรี ดังนั้นเงินจำนวนกว่าแสนล้านบาท ที่หมุนเวียนอยู่ในเกมส์เหล่านั้น ล้วนเป็นเงินที่ผู้เล่นส์ยินดีใช้จ่าย เพื่อให้สามารถเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ ในเกมส์เชิงสังคมนี้ได้อย่างมีความสุขตามกำลังเงินของตน ผู้เชี่ยวชาญต่างเชื่อว่า อีกไม่นาน ตลาดเกมส์เชิงสังคมที่มีต้นทุนต่ำเหล่านี้ จะมีขนาดใหญ่กว่าเกมส์แบบคอนโซล (พวกเครื่องเล่นและอุปกรณ์เกมส์ต่างๆ) เสียอีกครับ

เรากำลังจะอยู่ในยุคที่เกมส์กำลังจะซึมซับเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ จะแฝงเกมส์อยู่ข้างในเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่างๆ การศึกษา การทำมาค้าขายระหว่างกัน ธุรกรรมการเงินต่างๆ ในองค์กรและบริษัทต่างๆ จะเริ่มมีการนำสิ่งที่เรียกว่ากลศาสตร์เกมส์ (Game Mechanics) เข้าไปใช้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้การทำงานที่เมื่อก่อนน่าเบื่อ น่าง่วงหงาวหาวนอน กลายเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วสนุก เพลิดเพลิน ถึงขั้นติดงอมแงมเลยหล่ะครับ การทำงานที่ใช้หลักของกลศาสตร์เกมส์ จะมีประสิทธิภาพสูง ทำแล้วรู้สึกเพลินพอใจ ความรู้สึกแบบเดิมๆ ของการ "ทำ"งาน จะสามารถเปลี่ยนเป็น "เล่น"งาน ได้

เรื่องของการทำให้การทำงานกลายมาเป็นเกมส์นี้เป็นเรื่องที่นิตยสาร Time ถึงกับยกให้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องต่อไป (The Next Big Thing) สำหรับปี ค.ศ. 2013 เลยครับ นักวิเคราะห์ประมาณกันว่าภายในปี 2015 ธุรกิจประมาณ 25% จะต้องมีการนำเอากลศาสตร์เกมส์ไปใช้ในการทำธุรกิจ และอีก 2 ปีข้างหน้าคือปี ค.ศ. 2014 บริษัทชั้นนำของโลก 2000 แห่งจะต้องมีการนำกลศาสตร์ของเกมส์เข้าไปใช้ในองค์กรอย่างน้อย 70%

ดีใจด้วยนะครับ เรากำลังจะได้เล่นเกมส์ในที่ทำงานกันอย่างเปิดเผยแล้ว ......




14 พฤศจิกายน 2555

Micro Air Vehicle (ตอนที่ 3)




เรื่องของอากาศยานจิ๋ว หรือ MAV (Micro Air Vehicle) เริ่มกลายมาเป็นกระแสที่มาแรง และเป็น Talk of the Town ที่ดังขึ้นเรือยๆ นะครับ จะว่าไป MAV ก็คือ UAV ขนาดเล็กนั่นเอง (Unmanned Aerial Vehicle) ซึ่งเมื่อก่อนในวงการวิชาการมีการศึกษาวิจัยในเรื่อง UAV กันน้อยมากๆ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูงมาก ทำให้สามารถลงทุนวิจัยได้เฉพาะหน่วยงานรัฐขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมของประเทศสหรัฐอเมริกา และอิสราเอล แต่ในปัจจุบัน UAV ขนาดเล็กเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ การย่อส่วนของ UAV ให้เล็กลงนี้ กลับทำให้เกิดการขยายขอบเขตการนำไปประยุกต์ใช้ ออกไปอย่างกว้างขวาง จนใน 2-3 ปีมานี้ มีนักวิจัยเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีนี้กันมากมายเลยครับ จนสามารถสร้างประชาคมวิจัยขนาดใหญ่ขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันมีการประชุมวิชาการนานาชาติของตัวเองที่เรียกว่า The International Micro Air Vehicle Conference ซึ่งจัดมา 2 ครั้งแล้ว และในปีหน้าคือปี 2013 จะไปจัดกันที่ประเทศฝรั่งเศสที่เมืองตูลูส

น่าเสียดาย ... ที่บ้านเรายังให้ความสนใจในเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมากมาย งานประยุกต์ของ MAV กว้างขวางมากครับ เช่น เราสามารถนำมันมาใช้ทางด้านการเกษตร เช่น ติดเซ็นเซอร์ให้มันบินขึ้นไปเก็บข้อมูลต่างๆ ของไร่นา เก็บข้อมูลและทำแผนที่ผลผลิต การตรวจหาสิ่งผิดปกติในไร่นา ทางด้านสวัสดิภาพและความมั่นคง เราสามารถใช้ติดตาม ความเคลื่อนไหวของผู้ต้องสงสัย การต่อต้านการก่อการร้าย ตรวจเส้นทางยาเสพติด การปกป้องพื้นที่ป่าไม้ การติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่า ในด้านการบันเทิงและท่องเที่ยว ก็สามารถใช้ MAV บินขึ้นไปถ่ายทำคลิปวีดิโอเพื่อถ่ายภาพมุมกว้างจากด้านบน ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนต้นทุนจะค่อนข้างสูงมาก แต่อีกไม่นาน ใครๆ ก็จะสามารถทำได้ครับ

ในขณะที่นักเทคโนโลยีบ้านเรายังคงหลับไหลอยู่นั้น ใกล้ๆ บ้านเราที่ประเทศอินเดียมีการพัฒนาเรื่องนี้ไปค่อนข้างไกลเลยครับ  โดยเมื่อต้นปี 2012 นักวิจัยอินเดียได้ทำการสาธิตการบิน MAV ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 300 - 500 กรัม โดยระบบ autopilot อย่างสมบูรณ์แบบ โดยสามารถโปรแกรมการบินไปยังพิกัดต่างๆ ได้ล่วงหน้า หรือสามารถควบคุมจากระยะไกลได้ หากต้องการเปลี่ยนพิกัดในขณะทำการบิน ซึ่งเบื้องต้น มีระยะควบคุม 10 กิโลเมตร และทำการบินที่ระดับความสูง 1 กิโลเมตร ความสำเร็จของโครงการดังกล่าวเกิดจากการสนับสนุนของรัฐบาล ให้หน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนของอินเดียหลายแห่ง เช่น Idea Forge, Mumbai, Aurora Integrated Systems และ Seagul Technologies Bangalore จะเห็นว่าอินเดียนั้นกำลังขมักเขม้นพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง และในอนาคตเราอาจจะได้เห็นอินเดียผงาดในเวทีนวัตกรรมระดับโลก

ที่น่าสนใจก็คือ ในปีหน้า (ค.ศ. 2013) อินเดียจะจัดการแข่งขัน MAV ระดับชาติขึ้นมา เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจในเรื่องของ MAV แก่เยาวชนและนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี นับเป็นกลุ่มที่ 3 ของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่มีความตื่นตัวในเรื่อง MAV อย่างจริงจังเลยครับ

07 ตุลาคม 2555

Geoengineering - เทคโนโลยีเปลี่ยนฟ้าแปลงปฐพี (ตอนที่ 12)




ถึงแม้ประชากรโลกทั้งหลายจะตระหนักถึงภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น และเริ่มมีความพยายามสร้างสรรกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนออกมามากมาย แต่ความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ เรายังคงปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศโลกจำนวนมหาศาล ผลการวัดค่าความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเมื่อเดือน ก.ย. 2555 คือ 391.07 ppm (ส่วนในล้านส่วน) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี พ.ศ. 2554 เท่ากับ 0.54 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราเร็วที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเหลือเกิน

มนุษยชาติมีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ (1) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางเลือกนี้ดูเหมือนแทบจะไม่เวิร์คเลยครับ เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น กับ (2) Geoengineering ซึ่งเป็นการทำวิศวกรรมขนาดใหญ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบพลิกฟ้าแปลงปฐพีกันเลย ทางเลือกที่ 2 นี้ แม้ว่าจะดูเสี่ยงๆ แต่ในระยะหลังๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเริ่มเห็นคล้องจองกันว่าอีกไม่นานนี้ ทางเลือกนี้จะกลายเป็นเส้นทางบังคับให้มนุษยชาติจำต้องเดินก็เป็นได้

วิธีการทำ Geoengineering นั้น ก็มีการเสนอขึ้นมามากมาย อย่างที่ผมเคยเขียนไปแล้วในบทความตอนต้นๆ ของซีรีย์นี้ โดยหลักๆ แบ่งออกเป็น 2 สำนัก ได้แก่  (1) การกักเก็บคาร์บอนหรือกำจัดคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ (2) การจัดการรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์

แนวคิดของวิธีการแรก เป็นการนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีต่างๆ นานา เช่น การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเครื่องมือพิเศษ แล้วอัดด้วยความดันลงไปฝังกลบไว้ใต้เปลือกโลก การเลี้ยงแพล็งตอน (phytoplankton) ในทะเล ด้วยการปล่อยสารละลายเหล็กลงไปจำนวนมาก เพื่อช่วยให้แพล็งตอนเหล่านี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งมันก็จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ มาสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อของมัน จากนั้นปล่อยให้ซากของแพล็งตอนเหล่านี้ตกตะกอนทับถมลงไปในทะเลลึก วิธีการนี้ หากทำอย่างจริงจังในระดับมหภาค ก็น่าเชื่อว่าจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้

แนวคิดของวิธีการที่สองนั้นคือ การลดแสงอาทิตย์ที่เข้ามาตกกระทบพื้นโลก เพราะหากเราสามารถลดแสงแดดที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกได้ ก็จะทำให้โลกเย็นลง ถึงแม้จะมีก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นก็ตาม วิธีการนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในทางปฏิบัติแล้ว มันอาจจะทำง่ายกว่าวิธีแรกเสียอีก โดยเฉพาะวิธีการที่ใช้หลักการสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปด้วยการเพิ่มจำนวนฝุ่นในบรรยากาศชั้นสูง เลียนแบบการทำงานของเถ้าภูเขาไฟ ซึ่งทุกครั้งที่เกิดการระเบิด จะพ่นเถ้าและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จำนวนมากสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำให้อุณหภูมิของบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ลดลงอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น หากเราสร้างภูเขาไฟระเบิดเทียมขึ้นทั่วโลก ก็จะช่วยทำให้อุณหภูมิของโลกเย็นลงได้

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเผยแพร่บทความวิชาการในวารสารวิจัย Environmental Research Letters (รายละเอียดเต็มคือ Justin McClellan, David W Keith and Jay Apt, "Cost analysis of stratospheric albedo modification delivery systems", Environmental Research Letters 7 (2012) 034019) ซึ่งเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ กล่าวคือ นักวิจัยได้วิเคราะห์ต้นทุนในการทำ Geoengineering เพื่อทำให้โลกเย็นลงด้วยการจัดการแสงแดดที่ตกกระทบพื้นโลก ซึ่งมีทั้งหมด 6 วิธี ได้แก่

(1) การใช้เครื่องบินโบอิ้ง 747 บินขึ้นไปปล่อยแอโรซอลบนชั้นบรรยากาศในระดับ 18 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก
(2) คล้ายข้อ (1) แต่จะใช้เครื่องบินชนิดพิเศษที่บินได้สูงขึ้น
(3) การยิงจรวดที่บรรจุแอโรซอลขึ้นบนชั้นบรรยากาศที่สูงมากขึ้นไปอีก
(4) การยิงกระสุนบรรจุแอโรซอล โดยใช้ปืนใหญ่
(5) การใช้เรือเหาะบรรทุกแอโรซอล ขึ้นไปปล่อยบนชั้นบรรยากาศระดับสูง
(6) การใช้ท่อลอย เพื่อนำส่งแอโรซอลขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ

นักวิจัยรายงานว่า วิธีแรกเป็นวิธีที่ถูกที่สุด โดยจะใช้เงินเพียง 10 พันล้านดอลลาร์สำหรับเริ่มงาน (ประมาณ 3 แสนล้านบาท) และใช้เงินเพียง 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อปฏิบัติการปล่อยแอโรซอล ที่จะช่วยรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้น ส่วนวิธีการอื่นนั้นมีราคาสูงกว่ากันอย่างคาดไม่ถึง อย่างเช่น การใช้จรวดจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อเริ่มงานสูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ และต้องใช้เงิน 4 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อปฏิบัติการ

อีกหน่อย ... เวลามองขึ้นไปบนฟ้า ฟ้าใสๆ คงไม่เหลืออีกแล้วสินะ

30 กันยายน 2555

The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 6)



ถ้าผมมีเงินลงทุนสักก้อนเพื่อทำธุรกิจ ผมจะไม่ลังเลเลยที่จะทำธุรกิจทางด้านเกษตรและอาหาร ถึงแม้ว่าในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่จะมองว่า เกษตรกรรมเป็นอาชีพของคนจน ทำงานหนัก แต่ได้ผลตอบแทนน้อย แต่หากเราลองคิดดูกันเล่นๆ ว่า ในอีก 18 ปีข้างหน้า คือในปี ค.ศ. 2030 โลกเราจะมีประชากรจำนวน 8,100 ล้านคน และในปี ค.ศ. 2050 โลกจะมีประชากรล้นหลามถึง 9,000 ล้านคน ประเทศไทยจะต้องผลิตอาหารให้ได้มากกว่านี้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นนับจากวันนี้ไป เท่ากับมีประเทศจีนเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ประเทศ อนาคตของประเทศไทย และอนาคตของโลกคือเกษตรกรรมครับ ไม่ใช่ การท่องเที่ยวและบริการ เพราะถึงวันนั้น เราอาจจะปิดประเทศ ไม่อยากให้ใครเข้ามาในประเทศเรามากกว่านี้แล้วก็ได้ แต่เราต้องการส่งออกอาหารไปเลี้ยงคนเหล่านั้น เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศของเรา

แล้วแนวโน้มของเกษตรกรรมในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะทำง่ายขึ้นหรือยากขึ้น ผมขอแบ่งเกษตรกรรมออกเป็น 2 ชนิดนะครับ

(1) Outdoor Agriculture หรือ เกษตรกลางแจ้ง เป็นการทำเกษตรที่เก่าแก่และทำมาตั้งแต่มนุษย์เราเริ่มมีอารยธรรม การเกษตรแบบนี้ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้า อากาศ ที่ไม่อาจควบคุมได้ (ในอนาคต เราอาจมีเทคโนโลยีที่ควบคุมดินฟ้าอากาศได้ในระดับหนึ่ง เช่น การเบี่ยงเบนวิถีพายุ) การทำการเกษตรแบบนี้ในอนาคตจะยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ดังนั้น เราต้องการเทคโนโลยีแบบใหม่ที่เรียกว่า Climate-Smart Agriculture หรือ เกษตรกรรมที่ฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศ กล่าวคือ เป็นการเกษตรที่ปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งทำให้ในอนาคตเราจะต้องรู้ทันสภาพภูมิอากาศที่จะเข้ามาในพื้นที่ไร่นาของเรา เพื่อที่เราจะได้สามารถปรับกิจกรรมในไร่ ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้น

(2) Indoor Agriculture หรือ เกษตรในร่ม เป็นการเกษตรที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเกษตรแบบนี้ สามารถเราสามารถที่จะควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชที่ปลูก หรือ สัตว์ที่เลี้ยงได้ ในอนาคตอีกไม่นาน เกษตรกรรมแบบนี้จะเริ่มเข้าไปอยู่ในเมือง ในรูปแบบที่เรียกว่า Urban Agriculture หรือ เกษตรกรรมในเมือง หรือแม้แต่ Vertical Farming ซึ่งเป็นการทำไร่ทำนาบนอาคารสูง  ข้อดีของการเกษตรแบบนี้คือ การผลิตจะอยู่ใกล้กับการบริโภค ก่อให้เกิดการลดการปลดปล่อยคาร์บอน หากเกษตรกรรมแบบนี้ถูกพัฒนาให้เข้ามาแทนที่เกษตรกรรมแบบแรกได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบเชิงบวกมากมายมหาศาล  พื้นที่เกษตรกรรมแบบกลางแจ้งจะถูกปล่อยกลับคืนให้เป็นของธรรมชาติ เกิดเป็นป่าเพื่อกักเก็บคาร์บอน มนุษย์จะถูกโยกย้ายจากสังคมชนบทให้เข้าไปอยู่ในเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  เป็นการแก้ไขภาวะโลกร้อนอย่างตรงเป้า เพราะว่าเกษตรกรรมปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของการปลดปล่อยทั้งหมด มากกว่ารถยนต์ทุกคัน เรือและเครื่องบินทุกลำในโลกรวมกัน ไม่มีกิจกรรมอะไรอีกแล้วของมนุษย์ ที่จะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเท่าเกษตรกรรม

แม้ว่าในระยะยาว เกษตรกรรมจะดูดีมีอนาคต แต่ในระยะสั้นๆ โดยเฉพาะปัจจุบัน การเกษตรของประเทศเราถูกรุมเร้าด้วยปัญหารอบด้าน ทั้งในเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปจนยากจะคาดเดา ทั้งในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของดิน และ สภาพแวดล้อม นอกจากนี้ ภาคเกษตรยังเป็นภาคส่วนที่มีการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง คนหนุ่มสาวสนใจมาทำการเกษตรน้อยลง สังคมเกษตรจึงเริ่มกลายมาเป็นสังคมผู้สูงวัย แรงงานด่างด้าวก็มีไม่มากนักที่สนใจมาใช้แรงงานในการทำไร่ทำนา ทำให้ในอนาคต ประเทศไทยจะต้องเริ่มคิดถึงเทคโนโลยีที่จะมาช่วยทดแทนแรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งผมมองว่าเทคโนโลยี 3 ประเภทนี้ จะช่วยแก้ปัญหาได้

(1) Ambient Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกษตรกรรู้ความเป็นไปของสภาพแวดล้อมในไร่ และสภาพอากาศที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้น เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสง ลม ฝน ความชื้นในดิน พายุที่กำลังจะเข้า การระบาดของแมลง การเจริญเติบโตของพืช ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมในไร่ที่ถูกต้อง

(2) Operational Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การดำเนินกิจกรรมในไร่นาทำได้อย่างอัตโนมัติ โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากข้อ (1) เช่น รถไถหยอดปุ๋ยและยาฆ่าแมลงแบบอัตโนมัติ โดยคำนึงถึงความต้องการของพืช การระบาดของแมลง ซึ่งเก็บได้จากเซ็นเซอร์ตรวจวัดในข้อ (1) เป็นต้น

(3) Business Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรคาดเดาผลผลิตที่จะเกิดขึ้นในไร่นาของตนเอง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการประมวลผลข้อมูลในข้อ (1) และ (2) รวมไปถึงข้อมูลตลาด supply & demand ของสินค้าเกษตรในอนาคต

วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะครับ วันหลังผมจะกลับมาเล่าให้ฟังอีกครับ

22 กันยายน 2555

Disruptive Education - การศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก (ตอนที่ 3)


(ภาพจาก Flickr.com)

ในภาพยนตร์เรื่อง Avatar ตอนที่นางเอกพาพระเอกไปหัดขี่มังกร นางเอกได้สอนให้พระเอกเอาปลายของมวยผม เชื่อมเข้ากับปลายหนวดของมังกร ซึ่งจะทำให้ข้อมูลของพระเอกถูกเชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลในตัวของมังกร ทำให้ทั้งพระเอกและมังกรสามารถเรียนรู้กันและกันได้ดีขึ้น หนังเรื่องนี้ยังได้แสดงให้เห็นตัวอย่างของการเชื่อมข้อมูลระหว่างสิ่งมีชีวิตอีกหลายครั้ง เช่น พระเอกได้ถ่ายเทข้อมูลชีวิตของตัวเองทั้งหมด ออกจากร่างกายที่เป็นมนุษย์พิการ ไปสู่ร่าง Avatar ผ่านต้นไม้อัจฉริยะที่มีชื่อว่า Eywa

คงจะดีไม่น้อยนะครับ ถ้าเราจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยการเชื่อมสมองของเรากับข้อมูลความรู้ได้โดยตรง ตอนที่ผมยังเด็กผมชอบเอาหนังสือมาหนุนหัว เพราะผู้ใหญ่ชอบพูดแหย่อยู่เสมอว่า มันจะช่วยทำให้ความรู้ซึมเข้าสู่สมองได้ ลองคิดดูนะครับ ทุกวันนี้คนที่จบปริญญาเอกจะต้องเรียนกี่ปีถึงจะได้ใช้คำว่า ดร. นำหน้า ประถม 6 ปี มัธยม 6 ปี ปริญญาตรี 4 ปี โท+เอก อีก 5 ปี (อย่างเร็วนะครับ เพราะส่วนใหญ่ โท+เอก ในเมืองไทย มักจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี) รวมทั้งหมด 21 ปี !!!! อะไรกันครับเนี่ย เราเสียเวลาไปถึง 21 ปี กว่าจะได้ทำอะไรที่มันเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ เราต้องใช้เวลาเรียนอย่างเดียวถึง 21 ปี เพื่อที่จะออกมาทำงาน โดยที่สิ่งที่เรียนมา อาจจะใช้ประโยชน์ได้น้อย แถมยังต้องมาเรียนรู้เพิ่มเติมทีหลังอีก ถึงจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Neural Engineering (รายละเอียดเพื่อการอ้างอิง Robert E Hampson, Greg A Gerhardt, Vasilis Marmarelis, Dong Song, Ioan Opris, Lucas Santos, Theodore W Berger and Sam A Deadwyler, "Facilitation and restoration of cognitive function in primate prefrontal cortex by a neuroprosthesis that utilizes minicolumn-specific neural firing", Journal of Neural Engineering 9 (2012) 056012, doi:10.1088/1741-2560/9/5/056012) นักวิจัยได้ฝังชิพลงไปในสมองของลิง ซึ่งช่วยให้ลิงเรียนรู้ได้เร็วขึ้น โดยนักวิจัยได้ทดลองฉีดสารโคเคนเข้าไปในลิง เพื่อทำให้ลิงมีความสามารถในการคิดและตัดสินใจช้าลง หลังจากนักวิจัยจึงป้อนกระแสไฟฟ้าเข้าไปสู่ไมโครชิพที่ติดตั้งในสมองลิง เพื่อให้ไมโครชิพเริ่มทำงาน ผลปรากฎว่าลิงสามารถกลับมาคิดเร็วได้เหมือนเดิม นี่เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ในอนาคตมนุษย์เราเองสามารถที่จะฝังสมองกลแบบนี้เข้าไปในสมองของเรา เพื่อช่วยให้เรามีสมองได้ดีขึ้นเช่นกันครับ


ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เรามีเด็กเกิดใหม่น้อยลงเรื่อยๆ ทำให้ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานในอนาคต ทางออกหนึ่งที่เรามักใช้ก็คือการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว ดังนั้น เรามีทางเลือกอยู่ 2 ทางตอนนี้คือ

(1) นำแรงงานของผู้สูงวัยกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ด้วยการให้ผู้สูงวัยสามารถทำงานที่บ้านได้ โดยการช่วยเหลือจากเทคโนโลยีต่างๆ การปรับระบบการศึกษาให้เป็น Online Education จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาเรียนที่สถาบันการศึกษา ทำให้ผู้สูงวัยเพิ่มพูนความรู้แบบก้าวกระโดด และสามารถมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง

(2) นำแรงงานเด็กในวัยเรียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบันเด็กใช้เวลาทั้งหมดในวัยเรียนเพื่อเรียนอย่างเดียว แต่การศึกษาแบบใหม่ จะทะลุทะลวงโลก และจะสามารถนำศักยภาพของเด็กมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจได้ ระบบ Online Education จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วขึ้น จบมหาวิทยาลัยเร็วขึ้น และในระหว่างเรียน เด็กก็สามารถรับ Job และทำงานไปเรียนไป สร้างรายได้ และเงินหมุนเวียนแก่ระบบเศรษฐกิจ

ถึงเวลาหรือยังครับ ที่เด็กไทยจะก้าวออกจากวงจรการเรียนพิเศษ การติวเข้ม เพื่อมุ่งเข้ามหาวิทยาลัย การเรียนแบบนั้นไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ ไม่ได้สร้างทักษะพิเศษให้เด็ก และไม่ได้ทำให้เด็กมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการหารายได้ในอนาคตเลย เด็กที่ฉลาด เด็กที่มีวิสัยทัศน์จะไม่ไปเรียนพิเศษแบบนั้น แต่จะเลือกเรียนในสิ่งที่เพิ่มพูนทักษะของเขา และสามารถนำสิ่งที่เรียนมาหารายได้ เช่น การเรียนภาษาที่ 3 ภาษาที่ 4 การเรียนทำอะนิเมชั่น การเรียนทำกราฟิกส์ หรือเรียนเรื่องการเงิน การลงทุน ... นี่สิครับ ผมถึงจะเรียกว่าเป็นการศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก .... 



21 กันยายน 2555

Monsoon and the Future of Thailand - มรสุมกับอนาคตของไทย (ตอนที่ 2)



ช่วงนี้คนไทยส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกเป็นทุกข์และกังวลใจ กับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ที่ประเทศของเราประสบอยู่ ก่อนหน้านี้เพียงเดือนกว่าๆ ประเทศของเราประสบกับภาวะฝนแล้ง น้ำในเขื่อนใหญ่ๆ มีปริมาณน้ำในระดับที่ต่ำจนอาจไม่มีใช้ในช่วงหน้าแล้ง ทว่าหลังจากนั้นสัปดาห์เดียว ประเทศไทยต้องประสบภาวะอุทกภัยเป็นลูกโซ่ ไล่มาจากจังหวัดทางภาคเหนือ ลงมาเรื่อยๆ จนตอนนี้คนกรุงเทพฯ จำนวนมากนอนกันไม่หลับเลย กับภาวะที่ว่าไม่รู้จะต้องขนของหนีน้ำกันอีกไหม

ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นหรอกครับที่วิถีชีวิตกำลังตกอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนของสภาวะอากาศ เพราะจริงๆ แล้วเราเป็นส่วนหนึ่งของคนประมาณ 2,000 ล้านกว่าคน ที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้อิทธิพลของระบบมรสุมเอเชียใต้ ซึ่งเป็นระบบอากาศที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในโลก และครอบคลุมวิถีชีวิตของมนุษย์มากที่สุดในโลก ความเข้าใจในระบบมรสุม จะทำให้เราใช้ชีวิตที่รับมือกับความแปรปรวนได้มากขึ้น

อย่าว่าแต่คนธรรมดาเลยครับที่สับสนกับความแปรปรวนของมรสุม นักวิทยาศาสตร์ก็กำลังปวดหัวยิ่งกว่าอีกครับ เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการรายงานวิจัยที่เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบอย่างไรกับระบบมรสุมของเรา ในวารสาร Nature Climate Change  ซึ่งทำการทบทวนบทความวิจัยอื่นๆ อีกประมาณ 100 รายการ ที่เกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อระบบมรสุม โมเดลส่วนใหญ่ให้ผลการศึกษาออกมาว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้ระบบมรสุมมีความเข้มข้นขึ้น นั่นคือฝนจะตกมากขึ้นในเอเชียใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย แต่ข้อมูลที่ผ่านมาตลอด 60 ปีกลับพบว่าจำนวนฝนตกในประเทศอินเดียกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ตลอดเวลา 60 ปีที่ผ่าน โลกเราได้ร้อนขึ้นไป 0.5 องศาเซลเซียสแล้ว

ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2553 ประเทศไทยได้พบกับภาวะฝนแล้งในช่วงฤดูเพาะปลูก ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคการเกษตรเป็นมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท แต่ถัดมาอีก 1 ปี ในปี พ.ศ. 2554 เรากลับต้องประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศเป็นมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท  มาคราวนี้ในปี ค.ศ. 2012 ประเทศไทยต้องประสบกับภาวะฝนแล้ง และ อุทกภัย ในปีเดียวกัน แถมห่างกันไม่ถึงเดือน

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ภาวะโลกร้อนน่าจะช่วยทำให้มรสุมมีความเข้มข้นมากกว่าที่จะทำให้มันอ่อนแรงลง นั่นคือ ปริมาณน้ำฝนในย่านนี้ควรจะสูงขึ้นโดยเฉลี่ย เพราะการที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1 องศา เท่ากับจะมีปริมาณไอน้ำในอากาศที่เพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ มีการประมาณกันว่าประมาณปี ค.ศ. 2050 โลกเราจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 2 องศา ซึ่งจะทำให้ฝนจะตกมากกว่าเดิมโดยเฉลี่ย 8-10 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม จำนวนวันที่ฝนตกในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน - กันยายน) กลับจะลดลง เช่นในอินเดีย จะมีจำนวนวันที่ฝนตกประมาณ 60 วัน แต่ในอนาคตจะเหลือเพียง 40-50 วันเท่านั้น .... หมายความว่าอย่างไรครับ ... ก็หมายความว่า วันไหนที่ฝนตก ฝนจะตกหนักกว่าปกติ ซึ่งทำให้เรามีโอกาสเจอทั้งภัยแล้ง และ น้ำท่วม สลับกันง่ายขึ้น

น่าปวดหัวมั้ยครับ วันที่ฝนตกจะน้อยลง แต่ฝนจะตกหนักขึ้น ... แค่นี้ยังไม่พอนะครับ บริเวณที่ฝนตกชุกก็จะเปลี่ยนที่ด้วย หมายความว่าที่ๆ แต่ก่อนไม่ค่อยมีฝน หรือ ฝนแล้ง ต่อไปอาจจะกลายเป็นพื้นที่สีเขียว เช่น นักวิทยาศาสตร์พบว่า ฝนเริ่มตกมากขึ้นในมองโกเลีย ทั้งๆ ที่ประเทศนี้มีทะเลทรายเป็นบริเวณกว้าง แต่ในอนาคต มองโกเลีย อาจจะกลายมาเป็นประเทศเกษตรที่ผลิตอาหารได้เอง ในขณะที่ประเทศที่เคยมีฝนตกชุกอย่างเช่น อินเดีย ฝนกลับจะตกน้อยลง ทำให้การผลิตอาหารไม่เพียงพอในอนาคต  ในประเทศไทยเองก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้แน่นอนครับ ดังนั้น พวกเราควรจะเตรียมตัวเตรียมใจ ยอมรับที่จะปรับตัวและอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนี้หล่ะครับ

16 กันยายน 2555

Monsoon and the Future of Thailand - มรสุมกับอนาคตของไทย (ตอนที่ 1)



(Picture from http://captainkimo.com)

ผมคิดว่าช่วงนี้คนไทยคงจะรู้สึกสับสนเกี่ยวกับดิน ฟ้า อากาศ กันไม่น้อย ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่สัปดาห์ในเดือนสิงหาคม   มีการปลุกกระแสขึ้นมาโจมตีรัฐบาลว่า "รัฐบาลประสบปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ไปปล่อยน้ำในเขื่อนออกหมดจนทำให้อาจไม่มีน้ำใช้ในหน้าแล้งปีหน้า รัฐบาลไม่รู้เหรอว่าปีนี้มันแล้ง" ซึ่งในภายหลังคุณปลอดประสพก็ได้ออกมาต่อว่าสื่อมวลชนว่า ฤดูฝนมันยังไม่หมดเลย จะมาบ่นอะไรตอนนี้ว่าแล้ง ให้ฤดูฝนหมดไปก่อนแล้วค่อยมาพูด .... และก็เหมือนคุณปลอดประสพจะสั่งฟ้าฝนได้ เพราะหลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ ฝนก็ตกอย่างหนักในภาคเหนือ จนกระทั่งน้ำท่วมหนักที่สุโขทัย ส่วนคนกรุงเทพฯ ก็เริ่มเป็นกังวลอย่างเห็นได้ชัดว่าน้ำกำลังจะท่วมภาคกลางและกรุงเทพฯ อีกครั้ง ทั้งๆ ที่น้ำในเขื่อนหลักๆ ที่มีผลต่อการควบคุมจัดการน้ำสำหรับที่ราบลุ่มภาคกลางนั้น ยังมีระดับน้ำเพียง 50-60% เท่านั้น

ความสับสนของคนไทยนี้เกิดขึ้น เพราะพวกเรามีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า "มรสุม" ทั้งๆ ที่พวกเราอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มันเป็นเจ้าของ มรสุมเป็นระบบภูมิอากาศที่มีความซับซ้อนมาก แต่เป็นเรื่องที่ยังศึกษาและมีความเข้าใจน้อยมากอีกด้วย ทำให้นาซ่าเกิดความสนใจที่จะเข้ามาสำรวจและเก็บข้อมูลในบริเวณนี้ ภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นนี้เชื่อว่าจะทำให้ระบบมรสุมมีความซับซ้อนและเข้าใจยากขึ้นไปอีก ... ดังนั้น หากพวกเรายังไม่พยายามที่จะค้นคว้าศึกษาเรื่องมรสุม พวกเราก็จะทุกข์กับมันไปอีกนานเลยครับ

ในช่วงที่สื่อมวลชนและคนไทยกำลังด่าคุณปลอดประสพ เรื่องฝนแล้งอยู่นั้น คนไทยส่วนใหญ่คงไม่รู้ว่าข้ามไปในฝั่งพม่านั้นมีน้ำท่วมใหญ่ ทำลายพื้นที่การเกษตรหลายแสนไร่ ผู้คนต้องอพยพออกนอกพื้นที่หลายหมื่นคน แหล่งข่าวบางแหล่งบอกว่ามากถึง 85,000 คน แต่ในประเทศไทยบอกว่าฝนแล้ง ทำไมเป็นอย่างนั้นหล่ะครับ มันเกิดขึ้นได้อย่างไรที่เมืองไทยฝนแล้ง แต่ที่พม่าน้ำท่วม .... แต่ที่ทำให้สงสัยขึ้นไปอีกก็คือ เพียงแค่ 2 สัปดาห์ต่อมา พื้นที่ที่เราบอกว่าฝนแล้งไม่มีน้ำใช้ ได้กลายมาเป็นพื้นที่อุทกภัย เมื่อก่อนฝนแล้งกับน้ำท่วมจะเกิดคนละปี แต่เดี๋ยวนี้ฝนแล้งกับน้ำท่วมสามารถเกิดได้ในปีเดียวกัน แถมห่างกันแค่ 2 อาทิตย์ !!!

จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่คนไทยหรอกครับที่ งง ... ในปีนี้ประเทศอินเดียประสบปัญหาฝนแล้งถึงกับไม่มีน้ำมาปั่นไฟฟ้าใช้ จนเกิดไฟฟ้าดับในอินเดียลามไปถึง 22 รัฐ มีคนได้รับผลกระทบจากไฟฟ้าดับถึง 620 ล้านคน คิดเป็นจำนวนประชากร 9% ของทั้งโลกเลยครับ ภาวะฝนแล้งนี้ยังอาจทำให้ข้าวปลา อาหาร ในอินเดียมีราคาสูงขึ้นในหน้าแล้งปีหน้า ซึ่งอาจจะลามไปทั้งโลกด้วยก็ได้ เชื่อไหมล่ะครับว่า อินเดียเจอกับฝนแล้งสลับไป สลับมา ในปีนี้แบบตั้งตัวตั้งใจแทบจะไม่ทันเลย คือเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนก็เกิดน้ำท่วม แล้วก็แล้ง แล้วก็มาท่วมในเดือนสิงหาคมอีก เมื่อวันสองวันที่ผ่านมาก็มีน้ำท่วมทางตอนเหนือ ในบริเวณที่ก่อนหน้านี้แล้งมากๆ

ระบบมรสุมที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลของเค้านี้มีอยู่ 2 ชนิดครับ คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง กันยายน) และ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ระหว่างเดือน ตุลาคม ถึง กุมภาพันธ์) ประเทศไทยเรานี้ถือว่าเป็นไข่ในหิน เพราะดินแดนภาคกลางและภาคเหนือของเราถูกปกป้องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้โดยประเทศพม่า ทำให้ในขณะที่พม่าน้ำท่วมเละตุ้มเป๊ะ แต่ของเรายังท่วมแบบเอาอยู่ ส่วนทางด้านตะวันออก เรามีเวียดนาม ลาว เขมร คอยปกป้องทำให้พายุที่เข้ามาจากแปซิฟิกลดความรุนแรงลง ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีน้ำในระดับพอดี ไม่มากเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นี่คือสิ่งที่เป็นความได้เปรียบของประเทศไทย ที่ทำให้การเกษตรของเราน่าจะเป็นผู้นำของอาเซียน


อย่างไรก็ตาม ระบบมรสุม ที่เป็นทั้งผู้ให้คุณและให้โทษนี้ กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมไป อนาคตของประเทศไทยและพวกเราคนไทย ก็ขึ้นอยู่กับว่า เรามีความรู้ความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แค่ไหน และเราจะจัดการกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้หรือไม่ .....

09 กันยายน 2555

Body Electronics - อิเล็กทรอนิกส์บนผิวกายมนุษย์ (ตอนที่ 5)



วิวัฒนาการของเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ได้ก้าวหน้าไปมาก ตอนผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เครื่องคอมพิวเตอร์ที่จุฬาฯ มีขนาดใหญ่กว่าห้องนั่งเล่นที่บ้านอีกครับ พอผมขึ้นปี 2 เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop Computer) ก็ออกมา ราคาประมาณ 200,000 บาท พอผมจบปริญญาเอก มาใช้คอมพิวเตอร์แบบ Laptop เครื่องแรกในชีวิตราคาเป็นแสน แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์ก็วิวัฒนาการมาเป็น notebook มาเป็น netbook มาเป็น Tablet เมื่อก่อนนี้ การจะได้เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์สักเครื่องเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ปัจจุบันในบ้านผมเอง มีเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดต่างๆ มากกว่า 10 เครื่อง ไม่นับสมาร์ทโฟน ซึ่งหากจะถือว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์แบบหนึ่งก็ย่อมได้

แนวโน้มสำคัญอันหนึ่งของอิเล็กทรอนิกส์ก็คือ มันพยายามจะติดตามเราไปทุกที่ เครื่องคอมพิวเตอร์ Desktop มันตามเราไปไหนมาไหนไม่ได้ ก็เลยต้องมีเครื่อง Laptop ซึ่งในภายหลัง มันก็มารู้ตัวว่ามันใหญ่เกินไปที่จะตามเราไปไหนมาไหนได้สะดวก มันจึงต้องออกลูกมาเป็นเครื่อง notebook ซึ่งตามเราไปไหนสะดวกขึ้นหน่อย โดยมันก็พัฒนามาเป็นเวอร์ชันที่เบามากขึ้นไปอีกในชื่อว่า netbook แต่ในภายหลัง มันก็เพิ่งรู้ตัวว่ามันยังมีขนาดใหญ่เกินไปที่จะติดตามเราไปนั่งชิล ๆ ตามร้านกาแฟ บรรยากาศดีๆ มันก็เลยถูกแทนที่ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ Tablet

แต่อีกไม่นานหรอกครับ หลังจากเด็ก ป.1 ได้มีโอกาสใช้ Table กันหมดแล้ว พวกเราจะเริ่มรู้สึกว่า Tablet ก็ยังเป็นอะไรที่เทอะทะ พกไปพกมาไม่สะดวก ดังนั้นก้าวต่อไปของคอมพิวเตอร์จะเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ที่สวมใส่ได้ (Wearable Computer) ซึ่งจะทำให้เรามีพลังในการประมวลผลแบบเคลื่อนที่ ที่คล่องตัวและสะดวกสบายขึ้นไปอีก สิ่งที่เราสวมใส่ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นแว่นตา รองเท้า เสื้อผ้า จะมีคอมพิวเตอร์ฝังตัวอยู่

ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินเรื่องที่กูเกิ้ลกำลังจะทำแว่นตาที่มีจอแสดงผลอยู่บนแว่น ซึ่งเมื่อเราสวมใส่แว่นตานี้แล้ว จะทำให้เสมือนเรามีจอคอมพิวเตอร์อยู่ตรงหน้า โครงการนี้มีชื่อว่า Google Glass ซึ่งได้ยินมาว่ากูเกิ้ลจะปล่อยแว่นตาแสดงผลนี้ออกมาให้นักพัฒนา App ได้เล่นกันประมาณต้นปี แล้วหลังจากนั้นก็จะปล่อยออกมาให้ผู้บริโภคทั่วไปได้ซื้อมาใช้ ด้วยสนนราคาประมาณพอๆ กับสมาร์ทโฟนหล่ะครับ เจ้า Google Glass นี้จะทำให้เรามีคอมพิวเตอร์พกพาอยู่ที่แว่นของเราเลย เบื้องต้นที่ผมทราบคือ เราจะควบคุมการทำงานของแว่นตาซึ่งรันอยู่บนระบบปฏิบัติการ android ผ่านทางเสียง และสมาร์ทโฟน แต่ผมเชื่อว่า ในอนาคตเราสามารถควบคุมแว่นตาโดยการใช้ท่าทางของดวงตา (Eye Gesture) เช่น การกรอกลูกตาไปมา การหยีตา หลี่ตา ทำตาซึ้ง ทำตาดุ กระพริบตา โดยแว่นจะต้องจดจำท่าทางเหล่านั้น แล้วแปลความหมายเป็นคำสั่ง เช่น สั่งให้ถ่ายวีดิโอ สั่งให้เปิด App สั่งให้ค้นหาข้อมูลต่างๆ เป็นต้น

และเมื่อใดก็ตาม ที่เรารู้สึกว่าการสวมใส่คอมพิวเตอร์นั้นยังไม่สะดวกพอ ยุคต่อไปเราก็คงจะต้องการให้คอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเรา เพื่อที่เราจะได้ไปไหนมาไหนกับมันได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้เวลาอาบน้ำ .....


** โครงการ Wearable Intelligence มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่ง ชาติ **



07 กันยายน 2555

Spy Technology for Farming (ตอนที่ 4)



สิ่งที่ผมมองเห็นในอนาคตก็คือ จะมีอากาศยานขนาดเล็กที่เรียกว่า Micro Air Vehicle หรือ MAV บินว่อนไปทั่วในเรือกสวน ไร่นา ฟาร์มเกษตรต่างๆ เจ้า MAV นี้จะบินสำรวจทำแผนที่ เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมในไร่ ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ ลม ความชื้น สารเคมี แมลง สภาพผลผลิต และอื่นๆ มันจะทำงานกันเป็นฝูง บินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง โดยไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุม เกษตรกรเพียงแค่หยิบ Tablet ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์แจก แล้วมากำหนดโคออร์ดิเนตบนแผนที่ว่า วันนี้จะให้เจ้า MAV บินไปเก็บข้อมูลที่บริเวณใดบ้าง โดยเจ้า MAV จะทำหน้าที่ของมัน เมื่อมันได้ข้อมูลแล้ว มันจะส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย (Wireless Sensor Networks) กลับมายัง Data Server ของไร่ จากนั้นเครื่องเซิฟเวอร์ในไร่ จะส่งข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (อาจจะเป็นระบบ 3G ของ AIS หรือสายเคเบิลอินเตอร์เน็ตของ CAT Telecom ก็แล้วแต่) ไปยังระบบคลาวด์ ซึ่งข้อมูลทางด้านการเกษตรของไร่ จะถูกแชร์ต่อให้เกษตรกรอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน หรือคนละจังหวัดก็ได้ ที่สนใจในพืชชนิดเดียวกัน ผ่านทาง Facebook, Twitter, Dropbox และอื่นๆ รวมไปถึง Agri-Net ซึ่งอาจจะมีขึ้นในอนาคต (ผมอาจจะทำก็ได้นะครับ ถ้าไม่มีใครทำ)

อ้าว ... ผมกำลังฝันกลางวันอีกแล้วหรอเนี่ย (จริงๆ ตอนนี้ ตอนที่ผมเขียนอยู่นี้เป็นช่วงหัวค่ำนะครับ) แต่ ... อย่าเพิ่งดูถูกนะครับ สิ่งที่ผมฝันนี้ มันต้องเกิดขึ้นแน่นอนครับ แต่จะเมื่อไหร่ละก็ อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าไม่นานหรอกครับเพราะจริงๆ แล้ว ใครจะเชื่อละครับว่า ตอนนี้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ Unmanned Aerial Vehicles หรือ drone ซึ่งมีราคานับร้อยล้านบาท จะถูกก๊อปปี้มาผลิตขายได้ในราคาประมาณหมื่นกว่าบาทแล้วครับ ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน drone พวกนี้จะบินว่อนไปทั่ว เรียกว่ายุคที่ "ใครๆ ก็บินได้" ของจริงมาถึงแล้ว

จริงๆ แล้ว เทคโนโลยีที่ถือเป็นกุญแจหลักของเจ้า MAV หรือ drone ก็คือระบบ autopilot (ระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ) ซึ่งปัจจุบันระบบนี้มีใช้ในเครื่องบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้เครื่องบินสามารถบินได้เอง โดยไม่ต้องควบคุมจากนักบินเลยก็ได้ เครื่องบินสามารถบินขึ้นเอง รักษาการบิน และบินลงได้เอง เพียงแต่ตามกฎการบินพาณิชย์นาวีในปัจจุบันนี้ มีข้อบังคับห้ามนักบินใช้ระบบนี้สำหรับบินขึ้น เท่านั้น

ระบบ autopilot นี้ประกอบด้วยเซ็นเซอร์ชนิดต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์วัดความเร็ว ความดันอากาศ ความเฉื่อย มิติทิศทาง สนามแม่เหล็ก ความเร่ง และพิกัด (GPS) ซึ่งในปัจจุบันนี้ เซ็นเซอร์เหล่านี้ทั้งหมดไปอยู่รวมกันในชิพเพียงชิพเดียวก็ได้ ด้วยสนนราคาเพียง 600 บาทเท่านั้น อะไรจะขนาดนั้น สมองกลของ drone ขนาดเล็กในปัจจุบันก็เอามาจากพวกสมาร์ทโฟนทั้งหลายล่ะครับ ทำให้นักเทคโนโลยีทางด้านนี้ต่างเรียกเจ้า MAV หรือ drone ขนาดเล็กเหล่านี้ว่า สมาร์ทโฟนบินได้ 

อีกไม่นานครับ เจ้าสมาร์ทโฟนบินได้ จะขึ้นไปวาดลวดลายบนท้องฟ้า เพื่อนำพาเกษตรไทยให้เป็นเจ้าอาเซียน

04 กันยายน 2555

The Future of City - อนาคตของเมืองใหญ่ (ตอนที่ 4)



เมื่อก่อน เรามักคิดว่าเมืองจีนเป็นประเทศที่มีมลภาวะสูง และมีการใช้พลังงานที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่วันนี้ความคิดนี้ล้าสมัยแล้วครับ แถมกลับกันด้วย ตอนนี้ประเทศไทยกลับกลายมาเป็นประเทศที่สิ่งแวดล้อมนับวันจะแย่กว่าเมืองจีน แถมคนไทยก็กลายเป็นประชากรที่มีการใช้พลังงานด้อยประสิทธิภาพเกือบจะที่สุดในโลก

ปัจจุบัน ประเทศจีนมีประชากร 1,300 ล้านคน มากกว่าครึ่งคือประมาณ 690 ล้านคนอาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนได้สลัดทิ้งสังคม ชนบทไปเรียบร้อยแล้ว (ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกคือ 50%) ก่อนหน้านี้คือในปี ค.ศ. 1980 ประเทศจีนมีประชากรอาศัยในเมืองเพียง 20% เท่านั้น แต่ในอีก 18 ปีข้างหน้าคือ ค.ศ. 2030 ประมาณกันว่า จีนจะมีประชากรเมืองมากถึง 75% ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายนักวางผังเมืองของจีนเป็นอย่างมาก เมืองกว่า 650 เมืองในประเทศจีนกำลังสาละวนอยู่กับการก่อสร้าง เพื่อรองรับประชากรที่เคลื่อนย้ายจากชนบทมาสู่เมือง การเติบโตในแนวดิ่งของประเทศนี้จึงมีอัตราสูงที่สุดในโลก 

รัฐบาลจีนกำลังให้ความสนใจกับแนวคิดในการสร้างเมืองใหม่ เป็นเมืองสะอาด มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่เรียกว่า Ecocities คนไทยเอามาแปลเป็น เมืองสีเขียว เมืองนิเวศน์ เมืองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมืองปลอดมลพิษ ซึ่งสำหรับผมยังไม่ค่อยถูกใจกับคำแปลเท่าไหร่ครับ ดังนั้นผมขอให้ทับศัพท์ เหมือนกับที่คนไทยเราเรียก Eco car ว่า อีโค่คาร์ นะครับ โดยโครงการแรกๆ ที่จีนจะสร้างนั้นมีชื่อว่า Tianjin Eco-city ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีน กับ สิงคโปร์ ตั้งเป้าว่าในปี ค.ศ. 2020 จะสามารถรองรับประชากรได้ 350,000 คน

คนจีนชอบทำสิ่งท้าทาย แทนที่รัฐบาลจีนจะสร้าง Tianjin Eco-city บนผืนดินสะอาดที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ แต่กลับไปเลือกที่ดินที่เกิดจากการถมขยะ สกปรกและถูกทอดทิ้ง โดยสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นถูกทำลายจนมนุษย์ไม่อาจอาศัยได้ นำมาสร้างเมืองที่สะอาดที่สุดในโลก ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะแสดงให้โลกเห็นว่าคนจีนทำได้ ซึ่งแน่นอนในอนาคต เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปปรับปรุงที่ดินที่เสียแล้ว ที่ไหนก็ได้ในโลก

โครงการนี้ต้องใช้เวลาถึง 3 ปีในการทำความสะอาดที่ดิน เปลี่ยนที่ดินจากที่ถมขยะ เป็นทะเลสาบใสสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภค โดยการใช้เทคโนโลยีสุดล้ำ เมือง Tianjin Eco-city จะใช้พลังงานสะอาดทั้งจากเซลล์สุริยะ กังหันลม และเทอร์โมอิเล็กทริค (ระบบกำเนิดไฟฟ้าจากความร้อน) ประมาณ 20% เมืองนี้จะเป็นเมืองที่เรียกว่า Smart City จริงๆ เพราะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ทั่วเมือง ไฟฟ้าในเมืองหลายๆ จุดจะปิดเมื่อไม่มีผู้คน และจะเปิดเองเมื่อมีเสียงคนเดิน หน้าต่างของอาคารจะเปิดปิดม่านแสงเอง เพื่อควบคุมปริมาณแสงและอุณหภูมิในอาคาร มีระบบเก็บขยะอัตโนมัติ ที่ผมชอบมากๆ คือ เมืองนี้จะมีการใช้รถยนต์ไร้คนขับ โดยรถยนต์จะสื่อสารกันเป็นเครือข่ายและวิ่งจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง อย่างอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้ประชากรของเมืองไม่จำเป็นต้องขับรถเอง ช่วยลดปัญหาจราจรและอุบัติเหตุ

เมืองนี้น่าอยู่จริงๆ ครับ มีทางขี่จักรยาน และสวนธารณะทั่วเมือง ย่านดาวน์ทาวน์ของเมือง สามารถไปด้วยรถรางหรือขี่จักรยานอย่างสะดวกสบาย เมืองนี้จะดึงดูดอุตสาหกรรมสีเขียว บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) ตอนนี้มีบริษัททยอยเข้าไปอยู่แล้ว 600 บริษัท เมื่อเทียบกับเมือง Ecocities อื่นๆ ที่กำลังสร้างกันทั่วโลก เมือง Tianjin Ecocity นี้ถือว่าทำทีหลังแต่ดังกว่า เพราะระหว่างก่อสร้างก็มีคนทยอยเข้าไปอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เมืองนี้เป็นบ้านที่ 2 ของคนรวยในปักกิ่ง เมืองนี้จึงมีการสำรองพื้นที่ 20% ให้คนจนอยู่ได้ แนวคิดของเมืองนี้คือ การเป็นเมืองสีเขียวต้องไม่ใช่สิ่งหรูหรา แต่เป็นสิ่งที่แสวงหาได้


01 กันยายน 2555

9th European Conference on Precision Agriculture



ในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า โลกจะมีประชากรจำนวน 8,100 ล้านคน สหประชาชาติได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์อาหารโลก ว่าในอนาคตข้างหน้า เราจะผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกอย่างไร มนุษยชาติต้องการการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีเกษตรครั้งใหญ่ ถ้าอยากจะผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกจำนวนมหึมานี้  

เทคโนโลยีหนึ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และเป็นความหวังของมนุษยชาติในการฝ่าวิกฤตด้านอาหาร ก็คือ เกษตรกรรมแบบแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ซึ่งมีแนวคิดที่ว่า พืชพันธุ์ที่ปลูก และ สภาพล้อมรอบ (ดิน น้ำ แสง อากาศ) ในไร่นา มีความแตกต่างกัน ในแต่ละบริเวณ แม้จะอยู่ในไร่เดียวกันก็ตาม สภาพล้อมรอบที่แตกต่างนี้ มีผลให้การเกิดผลผลิต แตกต่างกันได้ ดังนั้นการปรับการดูแลให้เหมาะสมกับ สภาพที่แตกต่างนั้น จะทำให้สามารถสร้างผลผลิต อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เกษตรแม่นยำสูงจึงเป็นกลยุทธ์ในการทำการเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเกษตรกรสามารถจะปรับการใช้ทรัพยากร ให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ย่อยๆ รวมไปถึงการดูแล อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็น การหว่านเมล็ดพืช การให้ปุ๋ย การใช้ยาปราบศัตรูพืช การไถพรวนดิน การรดน้ำ การคัดเลือกผลผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิต

ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเกษตรแม่นยำสูงในโลกเราตอนนี้ก็คือ สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้มีการจัดการประชุมทางด้านเกษตรแม่นยำสูงอย่างสม่ำเสมอ ในปีหน้า ค.ศ. 2013 นี้ ทางยุโรปจะมีการจัดการประชุมวิชาการที่มีชื่อว่า 9th European Conference on Precision Agriculture ณ เมือง Lleida แคว้นคาตาลันยา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 7 - 11 กรกฎาคม 2556 จริงๆ ก็ยังอีกนานครับ แต่เค้ามีกำหนดส่งบทคัดย่อในเวลาใกล้ๆ นี่เอง คือภายใน 30 กันยายน 2555

สำหรับหัวข้อที่เป็นที่สนใจของการประชุมนี้ ได้แก่

Soil and crop proximal sensors
Remote sensing applications in precision agriculture
Spatial variability and mapping
  Variable-rate application equipment
  GNSS, guidance systems and machinery
  Robotics and new technologies
  Management, modelling and decision support systems
  Precision crop protection
  Advances in precision fructiculture/ viticulture/ citriculture/ oliviculture and horticulture in general
  Advances in precision irrigation
  Experimental designs and data analyses
  Economics and sustainability of precision agriculture
  Emerging issues in precision agriculture (energy, life cycle analysis, carbon and water footprint, etc.)
  Practical adoption of precision agriculture
  Education and training in precision agriculture

31 สิงหาคม 2555

Future of TV - อนาคตของโทรทัศน์ (ตอนที่ 1)




ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นกับโทรทัศน์ใหญ่ๆ มี 2 เรื่องครับ คือ 

(1) เครื่องรับโทรทัศน์ได้เปลี่ยนจากเทคโนโลยีหลอดคาโธด (Cathode Ray Tube หรือ CRT) หรือจอแก้ว ทำให้โทรทัศน์มีขนาดใหญ่ อุ้ยอ้าย ที่เรามักเรียกว่าโทรทัศน์มีตูด มาเป็นเทคโนโลยีแบบจอแบน (Flat Panel Display หรือ FPD) ซึ่งมีทั้งเทคโนโลยีแบบพลาสมา แอลซีดี และล่าสุดเทคโนโลยี OLED (Organic Light Emitting Diode) ที่ทำให้จอโทรทัศน์บางมากๆ และสามารถสร้างให้จอภาพมีขนาดใหญ่มากๆ ได้

(2) ระบบการส่งสัญญาณ (Broadcast Technology) แต่เดิมเป็นการส่งสัญญาณด้วยคลื่นวิทยุจากสถานีโทรทัศน์ โดยจะตั้งเสาสูงๆ แล้วกระจายสัญญาณออกไปรอบทิศทาง ซึ่งสัญญาณมักจะไปได้แค่ประมาณร้อยกิโลเมตร จึงต้องมีการติดตั้งสถานีทวนสัญญาณตามจุดต่างๆ เพื่อให้กระจายสัญญาณออกไปได้ทั่วประเทศ เวลาเราเดินทางไปต่างจังหวัด ขอให้สังเกตบนภูเขาสูงๆ ตามข้างทาง เรามักจะเห็นมีเสาอากาศใหญ่ๆ สูงๆ อยู่บนภูเขา นั่นแหล่ะครับ คือสถานีทวนสัญญาณของทีวีช่องต่างๆ แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้ เทคโนโลยีการถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมได้รับความนิยมขึ้นมาแทนที่ระบบเดิม โดยสถานีโทรทัศน์จะส่งสัญญาณภาพไปยังสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน จากนั้นสัญญาณจะถูกยิงขึ้นไปบนดาวเทียม ซึ่งดาวเทียมจะกระจายสัญญาณดังกล่าวลงมายังพื้นโลก ทีนี้ใครก็ตามที่มีจานรับสัญญาณ (จานดำ จานแดง จานเหลือง จานเขียว ฯลฯ) ก็จะสามารถดูโทรทัศน์ได้

เทคโนโลยีข้อ (2) นี่แหล่ะครับ ที่ทำให้เกิดการบูมขึ้นของทีวีดาวเทียม ทำให้เกิดสถานีโทรทัศน์ขึ้นเป็นพันๆ ช่องทั่วโลก เพราะต้นทุนในการทำสถานีโทรทัศน์ถูกลงเป็นอย่างมาก ไม่ต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีทวนสัญญาณ เหมือนในอดีต โดยรายการที่ทำสามารถถ่ายทอดออกไปได้ในบริเวณกว้าง ข้ามประเทศ หรือแม้แต่ข้ามทวีป

ปัจจุบันนี้เราจึงมีรายการทีวีเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย สมัยก่อนตอนผมเป็นเด็ก จำได้ว่ามีทีวีให้ดูเพียงช่อง 3, 5, 7, 9 เท่านั้น แต่ตอนนี้มีสถานีทีวีเป็นร้อยๆ ช่อง ให้เลือก เรียกว่าผมแทบจะไม่เคยดูช่องฟรีทีวี 3, 5, 7, 9 นี้อีกเลย หากอยากจะดูรายการอะไรก็เจาะจงเรียกดูขึ้นมาเลย ไม่ต้องบริโภคโฆษณาเหมือนแต่ก่อน

แต่ในอนาคตเพียงไม่กี่ปีข้างหน้า ทีวีจะเปลี่ยนรูปโฉมไปอีกครับ นักอนาคตศาสตร์บางคนบอกว่าในอนาคตจะไม่มีทีวีแล้ว คือไม่มีสถานีโทรทัศน์อีกแล้ว จะมีแต่คลิปวีดิโอที่เรียกดูเฉพาะเมื่อต้องการ .... ตอนหน้าผมจะมาคุยเรื่องนี้ต่อนะครับ

30 สิงหาคม 2555

Disruptive Education - การศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก (ตอนที่ 2)



(Picture from http://bokis.is/ancient-education/)

สมัยผมยังเป็นนักเรียน ม.ปลาย อยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตอนนั้นยังมีระบบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยอยู่ครับ ซึ่งคนที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ จะต้องสอบคัดเลือก โดยมีสิทธิ์เลือกได้ 6 อันดับ สิ่งที่กวนใจผมมากคือ เวลาผมไปดูว่าเพื่อนเลือกคณะอะไร แล้วผมไปเห็นว่าเพื่อนๆ หลายคน เลือกอันดับคณะต่างๆ ได้มั่วมาก เช่น 1. แพทย์จุฬาฯ 2. แพทย์เชียงใหม่ 3. วิศวจุฬาฯ 4. ทันตแพทย์ จุฬา 5. วิศวเชียงใหม่ 6. เภสัช จุฬาฯ ผมถามเพื่อนว่า "เฮ้ย ... ตกลง เอ็งอยากจะเป็นอะไรกันแน่วะ"

เด็กสมัยผม หรือแม้กระทั่ง เด็กสมัยนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนกันครับ คือ ยังไม่รู้ว่าตัวเองโตขึ้นอยากทำอะไร อยากเรียนอะไร อยากเป็นอะไร ถนัดทำอะไร เราเลือกเป็นในสิ่งที่เราเรียน และ เราเลือกเรียน ตามระดับคะแนนที่เราได้ .... นี่มันอะไรกันครับ ทำไมเราไม่เรียนในสิ่งที่เราอยากเป็น เรียนในสิ่งที่อยากทำ แล้วทำให้เก่งในสิ่งที่เราชอบ

ตอนเด็กๆ ผมอยากเป็นเกษตรกร ผมอยากทำไร่ แต่ครอบครัวผมไม่สนับสนุนให้ผมเป็นเกษตรกร ผมเลี้ยงไก่ ปลูกพริก มะเขือ บวบ ผักคะน้า แล้วเอาไปขายมีรายได้ตั้งแต่เด็ก แต่ ... เมื่อผมโตขึ้นมา ผมกลับต้องไปเรียนในสิ่งที่ผมไม่ได้อยากเป็น ก็เหมือนๆ กับเด็กคนอื่นหล่ะครับ 

แต่ทว่า .... เพราะการศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก นี่เองครับ ที่ทำให้ผมได้กลับมาทำสิ่งที่ผมชอบ ปัจจุบันผมทำวิจัยเทคโนโลยีทางด้านการเกษตร เป็นเจ้าของบริษัทผลิตและขายเครื่องมือทางด้านการเกษตร และกำลังจะเปิดบริษัทเทคโนโลยีเพื่อการจัดการฟาร์มเกษตร ซึ่งผมต้องใช้ศาสตร์หลายสาขาที่ไม่ได้มีสอนในคณะเกษตร แต่อย่างใด ... สิ่งที่ผมทำในเวลานี้ ผมไม่ได้เรียนมาจากมหาวิทยาลัย ไม่ได้เรียนตอน ป.ตรี ป.โท ป.เอก แต่เป็นสิ่งที่ผมเรียนจาก YouTube, TED, Online Courses, Online Journals/Magazine, Google, iPad, Internet TV, การสัมมนาตามโรงแรมต่างๆ การประชุมวิชาการทั้งในและต่างประเทศ Trade Fairs งาน Expo ต่างๆ รวมถึงการออกไปทำงานในไร่จริง  แหล่งเรียนรู้ของผมอยู่ยังอยู่บนเมฆด้วยครับ (Cloud Computing) ... ผมได้รู้ว่า คนที่รู้เรื่ององุ่นมากที่สุดไม่ใช่อาจารย์มหาวิทยาลัย แต่เป็นเจ้าของไร่องุ่นที่ปากช่อง

หากถามว่า การจะจบปริญญาตรีสักใบจะต้องใช้เวลากี่ปี หลายๆ คนคิดว่า 4 ปีใช่ไหมครับ แต่จริงๆ เราเรียนกันแค่ 2 ปีครึ่งเท่านั้น เพราะปี 1 มีแต่วิชาพื้นฐาน ส่วนปี 4 ก็จะใช้เวลาฝึกงานหรือทำโครงการไปแล้วครึ่งปี ดังนั้น การที่เราจะมีปริญญาตรีในเรื่องที่เราไม่ได้จบมาอีกสักใบ ขอให้เราสนใจ และลงมือทำในสิ่งนั้นอย่างจริงจัง เพียงแค่ 2.5 ปี เราก็จะเหมือนจบปริญญาตรีในสาขานั้นเองหล่ะครับ และเราจะจบกี่ใบก็ได้ ขอให้เราตั้งใจจริงๆ

ถึงยุคที่เราจะเรียนในสิ่งที่เราเป็นแล้วครับ หมดยุคของการกวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ถ้าใครยังทำแบบนั้นอยู่ ยังเป็นในสิ่งที่เรียน ก็ไม่พ้นต้องตกเป็นลูกจ้างทำงานให้คนอื่นหล่ะครับ ....

20 สิงหาคม 2555

HRI 2013 - The 8th Annual Conference for basic and applied human-robot interaction research



(Picture from www.wendymag.com)

Human Robot Interactions เรียกย่อๆ ว่า HRI เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างหุ่นยนต์ กับ มนุษย์ ซึ่งรวมถึงการสื่อสารระหว่างกัน การใช้ชีวิตร่วมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อให้สังคมมนุษย์สามารถใช้ชีวิตร่วมกับสังคมของหุ่นยนต์ได้อย่างปกติสุข ปัจจุบันหุ่นยนต์มีความก้าวหน้ามากขึ้นๆ ทุกวัน เราเริ่มเห็นหุ่นยนต์เข้ามาช่วยทำงานบ้าน เช่น เจ้าหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ที่จะออกมาทำความสะอาดพื้นที่ช่วงเวลากลางคืน หรือตอนที่เราออกไปทำงาน แล้วมันก็จะสามารถวิ่งไปชาร์จไฟเองได้ ภัตตาคารหลายแห่งเริ่มนำหุ่นยนต์เสริฟอาหารมาใช้งาน เมื่อ 2-3 ปีก่อนก็มีการเปิดตัวหุ่นยนต์สอนหนังสือเด็ก และที่น่าสนใจมากคือ หุ่นยนต์สำหรับเป็นคู่รัก ซึ่งนักเทคโนโลยีหุ่นยนต์คาดว่าอีกไม่เกิน 20 ปี เราจะเริ่มใช้ชีวิตกับหุ่นยนต์ในลักษณะชู้สาว เป็นเพื่อนที่ให้ความรักและความอบอุ่นทั้งทางใจ และทางกาย

ในประชาคมวิจัยทางด้าน HRI เขามีการจัดการประชุม รวมตัวกัน เพื่ออัพเดตความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนความรู้กันทุกปีครับ ในปีหน้างานนี้จะไปจัดที่โตเกียว ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความก้าวหน้าด้านหุ่นยนต์ที่สุดในโลก งาน HRI 2013 หรือชื่อเต็มว่า The 8th Annual Conference for basic and applied human-robot interaction research จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2556 ครับ กำหนดส่งบทความฉบับเต็มใกล้เข้ามาแล้ว คือวันที่ 10 กันยายน 2555 ที่จะถึงนี้ ใครจะไปต้องรีบหน่อยแล้วหล่ะครับ

HRI มีความเป็นสหวิทยาการมากครับ ต้องมีการบูรณาการข้ามศาสตร์มากมาย ถึงจะสามารถทำงานวิจัยทางด้านนี้ให้มีความก้าวหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิทยาการคอมพิวเตอร์ นาโนเทคโนโลยี ประสาทวิทยา จิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์การรับรู้ (Cognitive Science) มานุษยวิทยา ดังนั้น หัวข้อที่จะประชุมจึงมีความหลากหลาย แต่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยี HRI นะครับ เขาถึงจะรับงานของเรา

หัวข้อที่การประชุมนี้สนใจ ได้แก่

Socially intelligent robots
Robot companions
Lifelike robots
Assistive (health & personal care) robotics
Remote robots
Mixed initiative interaction
Multi-modal interaction
Long term interaction with robots
Awareness and monitoring of humans
Task allocation and coordination
Autonomy and trust
Robot-team learning
User studies of HRI
Experiments on HRI collaboration
Ethnography and field studies
HRI software architectures
HRI foundations
Metrics for teamwork
HRI group dynamics
Individual vs. group HRI
Robot intermediaries
Risks such as privacy or safety
Ethical issues of HRI
Organizational/society impact

เห็นหัวข้อแล้ว ก็อยากจะไปฟังเลยนะครับ ....

18 สิงหาคม 2555

อาภรณ์อัจฉริยะ - Wearable Intelligence (ตอนที่ 4)



(Picture from http://www.millionairetoysglobal.com/)

แนวคิดเกี่ยวกับผ้าฉลาดที่มีหัวคิด ได้ถูกจุดประกายขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 ในภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดที่มีเฉินหลงนำแสดง ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า “The Tuxedo” ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว พระเอกของเราได้กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่มีความสามารถมากมายขึ้นมาทันทีที่ได้สวมใส่เสื้อทักซิโด้อัจฉริยะตัวนี้ ในปีเดียวกัน กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้อนุมัติเงินกว่า 2,000 ล้านบาทเพื่อก่อตั้ง สถาบันนาโนเทคโนโลยีทหาร (Institute of Soldier Nanotechnologies) ขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมซซาจูเซตต์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาชุดทหารแห่งอนาคต สถาบันดังกล่าวได้ดำเนินการวิจัยครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เพื่อสร้างเสื้ออัจฉริยะ ตั้งแต่เรื่องของ วัสดุดูดซับพลังงาน วัสดุและอุปกรณ์เชิงกล เซ็นเซอร์ในเสื้อผ้า อุปกรณ์ชีวการแพทย์ในเสื้อ ไปจนถึงการประกอบชุดเหล่านี้และนำไปใช้ นี่จึงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในการวิจัยทางด้านผ้าอัจฉริยะ

เสื้อผ้าที่ฉลาดควรทำอะไรได้บ้าง นี่เป็นตัวอย่างที่มีความเป็นไปได้


  • ไม่ยับ ไม่ต้องรีด 
  • ไม่เหม็นอับ 
  • กันร้อนกันหนาว ซึ่งหมายถึงใส่ในที่ร้อนก็ไม่ร้อน ใส่ในที่เย็นก็ไม่หนาว ซึ่งสามารถทำได้โดยการบรรจุอนุภาคนาโนที่เรียกว่า PCM (Phase Change Materials) ซึ่งมีความสามารถในการดูดซับความร้อนได้มากกว่าน้ำนับสิบเท่า สมมติเราใส่เสื้อผ้าที่มีอนุภาคนาโน PCM ในเนื้อผ้าออกไปภายนอกอาคารที่มีอุณหภูมิต่ำ ความร้อนที่สะสมอยู่ในอนุภาค PCM จะค่อยๆปล่อยออกมาจากเนื้อผ้าและให้ความอบอุ่นแก่เรา ในขณะเดียวกันหากเราเข้าไปในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง เจ้าอนุภาค PCM จะเริ่มกระบวนการสะสมความร้อนเข้าไปในตัวเอง ทำให้ผู้สวมใส่ยังรู้สึกเย็นอยู่
  • กันลม กันชื้น โดยผ้าฉลาดต้องสามารถกันฝน กันหิมะซึมเข้ามา ในขณะเดียวกันก็ปล่อยให้ความอับชื้นที่ผิวของผู้สวมใส่สามารถระเหยออกไปได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้เมมเบรนที่มีรูขนาดนาโน ซึ่งกันอนุภาคของเม็ดฝน หยดน้ำ และหิมะไม่ให้เข้ามา แต่ไอน้ำของความชื้น หรือ กลิ่นอับภายในซึ่งมีขนาดเล็กกว่าสามารถระเหยออกไปได้
  •  กันไฟ เพราะตู้เสื้อผ้าของเราก็คือเชื้อเพลิงดีๆนี่เอง ดังนั้นการมีผ้าที่ไม่ลุกติดไฟได้ง่ายๆ ย่อมเป็นเรื่องที่ดี ปัจจุบันมีบริษัทในไต้หวันชื่อว่า Neolite International ได้นำพอลิเมอร์ที่มีชื่อว่า Modacrylic มาปั่นผสมกับผ้าฝ้ายทำให้ต้านทานต่อการติดไฟได้ เส้นใยชนิดนี้ยังมีคุณสมบัติต้านทานต่อกรดและด่างรวมทั้งตัวทำละลายต่างๆ และไม่เป็นอาหารของปลวกด้วย
  • ใส่สบาย การใส่เสื้อผ้าแล้วรู้สึกสบายนั้น (Comfort) ไม่ใช่เรื่องของอุปาทาน แต่วิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้ โดยความรู้สึกสบายจะเกิดขึ้นเมื่อสัมผัสผ้าซึ่งสามารถอธิบายได้โดยสมการทางคณิตศาสตร์หลายสมการ โดยตัวแปรที่ทำให้รู้สึกสบายได้แก่ การดูดซับความร้อน (Thermal Absorptivity) ความหนาของเส้นใย ความสามารถในการบีบอัด (Compressibility)  แรงเสียดทานของใยผ้า ความแข็งของการโค้งงอ (Bending Rigidity) ความสามารถในการยืดออก (Extensibility) แรงเฉือน (Shear Rigidity) การดูดซับความชื้น ซึ่งตัวแปรเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้เกิดความสบายได้  
  • คุณสมบัติอื่นๆ เช่น ป้องกันอาวุธเชื้อโรค กันกระสุน เปลี่ยนสีตามสภาพแวดล้อม (อำพรางตัวเองได้) เป็นความสามารถพิเศษที่เพิ่มเข้ามาสำหรับใช้ในทางทหาร ซึ่งเป็นหัวข้อวิจัยของสถาบันนาโนเทคโนโลยีทหาร ดังที่กล่าวมาข้างต้น






** โครงการ Wearable Intelligence ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่ง ชาติ **





16 สิงหาคม 2555

Connectome - คอนเน็คโทม (ตอนที่ 4)



(Picture from http://sciencemedicine.wordpress.com)

ปีนี้เป็นปีพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ ซึ่งชาวพุทธได้ถือโอกาสแสดงการระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญเพียร สั่งสมบารมี ในฐานะพระโพธิสัตว์มายาวนานถึง 20 อสงไขยกับอีกเศษแสนมหากัปป์ เพื่อที่จะตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ นำสิ่งที่พระองค์ค้นพบนี้มาบอกกล่าวแก่ชาวโลก สิ่งที่เป็นความลับมานานแสนนาน นั่นคือเรื่องของวัฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด ความลับที่เกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงค้นพบตั้งแต่ 2,600 ปีที่แล้ว แต่วิทยาศาสตร์พึ่งจะมาตื่นตัวเมื่อไม่นานมานี้เอง

สิ่งที่วิทยาศาสตร์ข้องใจมานานแสนนาน นั่นคือ ตกลงจิตใจคืออะไร มาอยู่กับร่างกายได้อย่างไร นักประสาทวิทยาเกือบทั้งหมดมีความเชื่อแบบวัตถุนิยมว่า จิตใจ ไม่มีจริง .... ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ สติสัมปชัญญะ ทั้งหมดเกิดที่สมอง สมองเป็นตัวทำงาน เป็นเครื่องจักรของความคิด ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อร่างกายแตกดับ สมองตาย ตัวเราก็ไร้ตัวตน มันจะตายไปกับร่างกายนั่นเอง ในความคิดส่วนตัว ผมคิดว่า ความเชื่อแบบนี้ค่อนข้างจะสุดโต่งไปหน่อย เพราะแท้ที่จริง วิทยาศาสตร์ไม่ได้ขัดขวางแนวคิดที่ว่า จิตใจ เป็นสิ่งที่แยกออกมาจากร่างกาย และสามารถถ่ายเทไปยังร่างกายใหม่ได้ เพียงแต่ว่า ความก้าวหน้าในศาสตร์ทางด้านนี้ยังอ่อนเยาว์ เรายังต้องการความรู้ ความเข้าใจอีกมาก และต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ความเชื่อนี้

เมื่อปี ค.ศ. 2009 สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ (NIH) สหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการ Human Connectome Project หรือ โครงการทำแผนที่สมอง ซึ่งมีเป้าหมายจะไขความลับการทำงานของจิตใจ โดยการทำแผนที่รายละเอียดการทำงานของสมองในระดับเซลล์ประสาทเลยทีเดียว คือ เข้าไปดูว่าเซลล์ประสาทเชื่อมต่อกันอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นงานมหาโหดมากๆ เพราะเซลล์ประสาทหนึ่งเซลล์ มีการเชื่อมต่อกับเซลล์อื่นๆ ถึงประมาณ 7,000 เซลล์ ลองคิดดูแล้วกันครับว่า สมองของเรามีเซลล์ประสาทอยู่ 100,000,000,000 เซลล์ มันจึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะทำแผนที่จุดเชื่อมต่อนั้นได้หมด

ดังนั้น สิ่งที่โครงการนี้จะทำ จะไม่ใช่การสแกนสมองทั้งหมด แต่จะทำการสะสมองค์ความรู้ไปเรื่อยๆ โดยเจาะโจทย์เล็กๆ ไปทีละข้อ สองข้อ ในการนี้ นักวิจัยจะศึกษาคนจำนวน 1200 คน ซึ่งมุ่งไปที่ฝาแฝด และพี่น้อง จากครอบครัว 300 ครอบครัวที่สมัครใจ ซึ่งจะทำให้สามารถทำแผนที่สมองในเรื่องของความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรม ทำให้รู้ว่าแฝดที่เหมือนกันเป๊ะ จะมีความแตกต่างในสมองตรงไหนบ้าง

เครื่องมือสำคัญในการทำแผนที่สมองก็คือเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งเราอาจจะเคยเห็น หรือคุ้นเคยกันบ้าง ในโฆษณา ละคร หรือ หนัง ที่เราจะเห็นเครื่องใหญ่ๆ มีรูตรงกลาง แล้วให้คนนอนนิ่งๆ อยู่ข้างในเครื่อง ซึ่งจะทำการสแกนกิจกรรมของเซลล์ที่สนใจ โดยโครงการนี้จะมีการพัฒนาเครื่อง MRI ที่มีรายละเอียดสูง เพื่อติดตามการทำงานของเซลล์สมอง

วันหลังมาคุยกันต่อนะครับ ......

12 สิงหาคม 2555

Micro Air Vehicle (ตอนที่ 2)



(Picture from jacobhi.blogspot.com)

ความสนใจในเรื่องของ MAV ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จะเรียกว่าพุ่งเป็นพลุแตกก็ว่าได้ครับ เพราะเริ่มมีการทำวิจัยกันมากขึ้น มีการส่งเสริมเงินทุนมากขึ้นโดยเฉพาะจากกองทัพสหรัฐฯ จนกระทั่งตอนนี้มีการประชุมวิชาการนานาชาติด้าน MAV กันเลย รวมทั้งยังมีวารสารวิชาการของตัวเองชือ International Journal of Micro Air Vehicle เป็นเวทีสำหรับเผยแพร่ผลงานวิจัยทางด้าน MAV โดยมีบรรณาธิการมาจาก กองทัพอากาศสหรัฐฯ กันเลยทีเดียวครับ

วันนี้ผมจะพาไปรู้จักกับโครงการวิจัยเกี่ยวกับ MAV ที่บินช่วยกันทำงานกันเป็นฝูงครับ โครงการนี้มีชื่อเรียกว่า SMAVNET (Swarming Micro Air Vehicle Network) ซึ่งดำเนินการโดยห้องปฎิบัติการระบบอัจฉริยะ ณ สถาบันโพลีเทคนิคแห่งโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาอากาศยานจิ๋วที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายขึ้นมาในสถานการณ์ที่เกิดวิบัติภัยขึ้น จนทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารบนพื้นดินเสียหายอย่างใช้การไม่ได้ ฝูง MAV นี้ก็จะถูกปล่อยขึ้นไปบนฟ้า เพื่อทำตัวเป็นโครงข่ายสื่อสาร ที่สามารถส่งต่อสัญญาณเป็นทอดๆ ได้ โดยอาศัยความได้เปรียบที่มันลอยอยู่บนฟ้า ทำให้ไม่มีสิ่งกีดขวางในการส่งสัญญาณวิทยุ

เจ้า MAV ที่พวกเขาพัฒนาขึ้นนี้ มีน้ำหนักเพียง 420 กรัม และมีความยาวชองช่วงปีกเพียง 80 เซ็นติเมตรเท่านั้น ซึ่งทำมาจากพลาสติกชนิดพอลีพอไพริน ระบบขับเคลื่อนเป็นใบพัดติดอยู่หลังลำตัว และควบคุมการบินด้วยแผงปีกเพียง 2 อัน ทำให้ง่ายในการควบคุม พลังงานได้มาจากแบตเตอรีแบบลิเธียมพอลิเมอร์ ซึ่งเพียงพอสำหรับการบิน 30 นาทีต่อครั้ง ซึ่งในความคิดของผมนั้นถือว่ายังน้อยเกินไปสำหรับการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวมาข้างต้น (อย่างน้อยก็น่าจะสัก 1-2 ชั่วโมงครับ) ฝูง MAV ที่ทดลองในโครงการนี้มีจำนวนทั้งหมด 10 ตัว โดยนักวิจัยได้ปล่อยฝูงบินนี้ขึ้นฟ้า แล้วปล่อยให้พวกมันเรียนรู้ที่จะบินเกาะกันเป็นฝูง โดยสร้างเครือข่ายไร้สายขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่ติดตั้งใน MAV แต่ละตัว จะทำให้มันเรียนรู้ที่จำทำงานประสานกัน พวกมันจะคุยกัน บอกกันและกันว่า ใครจะบินจากจุดไหนไปจุดไหน และตัวที่เหลือจะบินตามกันอย่างไร เหมือนนกที่บินกันเป็นฝูง

09 สิงหาคม 2555

BMEiCON 2012 - The 5th Biomedical Engineering International Conference



การประชุมวิชาการระดับนานาชาติในบ้านเรานั้น มักจะจัดกันแต่ที่กรุงเทพ เชียงใหม่ พัทยา หรือ หัวหิน มีน้อยมากที่จะไปจัดกันในต่างจังหวัดไกลๆ แม้แต่เมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต คนไทยก็จะไม่ไปจัดกันที่นั่น ที่เราเห็นว่ามีจัดประชุมที่ภูเก็ตนั้น ส่วนมากเป็นชาวต่างชาติมาจัดประชุมกันเอง คือแบบว่า มาใช้เป็นสถานที่ประชุม แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนไทยแต่อย่างใดครับ

งานประชุมที่ผมนำมาแนะนำในวันนี้ เป็นงานประชุมเกี่ยวกับวิศวกรรมชีวการแพทย์  มีชื่อว่า BMEiCON 2012 (The 5th Biomedical Engineering International Conference) ซึ่งจะจัดที่จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 5-7 ธันวาคม 2555 ซึ่งนับว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการขยับไปใกล้เพื่อนบ้านอาเซียนทางด้าน ลาว และ เวียดนาม กันมากขึ้น ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์นั้น เริ่มเจริญเติบโตทั่วโลก และในบ้านเราเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว และตอนนี้ทางจีน และ อินเดีย มีการทำวิจัยเรื่องนี้กันมากครับ ปีนี้เราน่าจะได้เห็นการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงในการประชุมนี้มากขึ้น

กำหนดส่งบทความฉบับเต็มใกล้เข้ามาแล้วนะครับคือ วันที่ 31 สิงหาคม 2555 ไม่แน่ใจว่าจะมีเลื่อนออกไปอีกหรือไม่ (ปกติก็จะเลื่อนออกไปอีกประมาณ 1 เดือน แทบทุกปี) หัวข้อที่เป็นที่สนใจของการประชุมนี้ ได้แก่

Biomedical signal processing
Biomedical imaging and image processing
Bioinstrumentation
Bio-robotics and biomechanics
Biosensors and Biomaterials
Cardiovascular and respiratory systems engineering
Cellular and Tissue Engineering
Healthcare information systems
Human machine/computer interface
Medical device design
Neural and rehabilitation engineering
Technology commercialization, industry, education, and society
Telemedicine
Therapeutic and diagnostics systems
Recent advancements in biomedical engineering

03 สิงหาคม 2555

Disruptive Education - การศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก (ตอนที่ 1)



(Picture from www.culture24.org.uk)

ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก ในช่วงปฐมวัย ผมหมดเงินค่าขนมไปกับหนังสือแทบจะทั้งหมด แม้กระนั้นหนังสือที่ซื้อมาก็ยังไม่พออ่าน ทำให้ผมต้องเดินเข้าออกห้องสมุดประชาชนทุกสุดสัปดาห์ ในวันธรรมดาที่เรียนหนังสือ ผมจะใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงช่วงพักเที่ยงเพื่อทานข้าว คุยเล่นกับเพื่อน ส่วนอีกครึ่งชั่วโมงที่เหลือผมจะอยู่ในห้องสมุด อ่านหนังสือที่สนใจวันละครึ่งชั่วโมงนั้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากหนังสือที่สวยๆ และมีขนาดใหญ่ (ส่วนใหญ่เป็นสารคดี) เขามักจะไม่ให้ยืมออกไป

แต่ตอนนี้ .... ผมจำไม่ได้ว่านานเท่าไหร่แล้วที่ผมเข้าห้องสมุด น่าจะประมาณ 15 ปีแล้วมั้งครับที่เป็นครั้งสุดท้ายที่ผมเข้าห้องสมุด ห้องสมุดไม่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตผมอีกต่อไป เพราะอินเตอร์เน็ต และ กูเกิ้ล ได้เข้ามาแทนที่ หากผมอยากจะอ่านหนังสือเล่มไหน เพียงหนึ่งคลิ๊ก หนังสือจะถูกสั่งจาก Amazon.com มาถึงเมล์บ็อกซ์ภายในไม่ถึงสัปดาห์ หรือจะสั่งเพื่ออ่านบน iPad ก็ย่อมได้ ความรู้ขนาดมหึมาสามารถเรียนได้จาก กูเกิ้ล ยูทิวป์ เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิกส์ เทด ดิสคอฟเวอรี่ที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต สารพัดสารคดีต่างๆ สามารถสั่งซื้อได้ผ่านกล่อง Apple TV และ Google TV เพื่อดูบนเครื่องรับโทรทัศน์ในห้องนอน ผมอ่านวารสาร วิชาการผ่านเว็ป (ซึ่งก็แน่นอนว่าบอกรับโดยห้องสมุดของมหาวิทยาลัย)  อ่านหนังสือธรรมะและพระไตรปิฎกบน iPad หากอยากจะเรียนคอร์สทางด้านเทคโนโลยีที่ลึกซึ้ง ก็สามารถเข้าไปเรียนคอร์สออนไลน์ของ MIT (สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาจูเซตต์) ตอนเด็กๆ ผมเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้อแผนที่ Atlas เล่มใหญ่ๆ ต้องเขียนจดหมายไปหาเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เพื่อขอแผนที่และโบรชัวร์ของประเทศเหล่านั้น แต่ทุกวันนี้ ทั้งหมดดูได้ใน Google Map/Earth

ตอนที่ลูกชายผมเริ่มเข้า ป.1 เขาเสียเวลาช่วงเย็นที่ควรจะเป็นเวลาพักผ่อนไปกับการทำการบ้านจนดึกดื่น แต่พอลูกเริ่มใช้กูเกิ้ลเป็น เวลาทำการบ้านลดลงไปมหาศาล เพราะความรู้ต่างๆ หาได้บนอินเตอร์เน็ต สมัยก่อนเราต้องท่องศัพท์ภาษาอังกฤษจะเป็นจะตาย แต่สมัยนี้เด็กๆ เรียนรู้ศัพท์จาก Facebook, 9GAG รวมทั้งการเล่นเกมส์ออนไลน์ต่างๆ

ในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix พระเอกที่ชื่อนีโอสามารถที่จะเรียนรู้เพื่อเป็นนักสู้กังฟู ได้เพียงการดาวน์โหลดคอร์สใส่ลงไปในสมองโดยตรง มีอยู่ฉากหนึ่งที่นางเอกดาวน์โหลดวิธีการขับเฮลิคอปเตอร์เข้ามาในสมอง ทำให้เธอสามารถขับเฮลิคอปเตอร์ได้ทันที หลังจากที่ยึดเฮลิคอปเตอร์มาจากนักบินฝ่ายศัตรู .... ถึงแม้การถ่ายเทความรู้แบบออสโมซิสเข้าสมองตรงๆ แบบนี้อาจจะยังไม่เกิดขึ้นจริงในเร็ววัน แต่ระบบการศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่งทำให้คนที่รู้จักใช้ประโยชน์จากมัน ได้เปรียบอย่างมากมายมหาศาล แล้วประเทศไทยรออะไรอยู่ละครับ ......

02 สิงหาคม 2555

IEEE INEC 2013 - The 5th IEEE International Nanoelectronics Conference


วันนี้ผมมีงานประชุมวิชาการนานาชาติที่สำคัญทางด้านนาโนเทคโนโลยี มาฝากกันครับ ซึ่งงานประชุมนี้เน้นผลงานทางด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักครับ ซึ่งการประชุม INEC 2013 นี้ จัดเป็นครั้งที่ 5 โดยมักจะจัดอยู่รอบๆ บ้านเรานี่หล่ะครับ เช่น ครั้งแรกจัดที่สิงคโปร์ แล้วย้ายไปเซี่ยงไฮ้ จากนั้นก็ฮ่องกง มาไต้หวัน แล้วก็กลับมาจัดที่สิงคโปร์อีกครั้งในปีหน้าครับ ซึ่งถือเป็นการประชุมทางด้านนาโนเทคโนโลยีที่น่าไปมากๆ ครับ เพราะประหยัดดี ไม่ต้องบินไปไกลๆ ซึ่งตัวผมเองก็คิดว่าจะไปงานนี้ด้วยครับ ถ้าใครสนใจก็ต้องรีบๆ นิดนึงครับ เพราะกำหนดส่งบทคัดย่อใกล้เข้ามาแล้ว คือวันที่ 15 สิงหาคม 2555 ครับ แต่ผมคิดว่าเดี๋ยวก็คงเลื่อนอีกหล่ะครับ

INEC 2013 จะจัดระหว่างวันที่ 2-4 มกราคม พ.ศ. 2556 ที่ Resorts World Sentosa สิงคโปร์ โดยกรอบงานวิจัยที่สนใจในปีนี้จะเป็นเรื่องของ Sustainable Nanoelectronics ซึ่งเป็นการมองอนาคตของแนวโน้มด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมาแทนที่อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยการประชุมครั้งนี้ แบ่งออกเป็นงานประชุมย่อย 4 งานได้แก่

1. Nano-Fabrication [Chaired by Dr Sivashankar Krishnamoorthy]
     1.1 Nanofabrication Technologies
     1.2 Nanoscale Modeling and Simulation
     1.3 Nanometrology and Nanomanipulation
     1.4 Characterization Techniques
     1.5 Nanotechnology Ventures

2. Nano-Electronics [Chaired by Prof Sun CQ]
     2.1 Nanoelectronic Materials and Structures
     2.2 Nanomagnetics and Spintronics
     2.3 Nanoelectronic Devices / Systems and Reliability
     2.4 Nanomolecular Electronics
     2.5 Modeling and Simulation
     2.6 Nanoelectronics Ventures

3. Nano-Photonics [Chaired by Prof Wang QJ]
     3.1 Nanophotonic Materials and Structures
     3.2 Nanophotonic Phenomena
     3.3 Nanophotonic Devices / Systems and Reliability
     3.4 Nanomolecular Photonics
     3.5 Modeling and Simulation
     3.6 Nanophotonics Ventures

4. Nano-Sciences ( Biology, Physics, Chemistry) [Chaired by Prof Su HB]
     4.1 Nanoscience Materials and Structures
     4.2 Nanomolecular Devices / Systems and Reliability
     4.3 Biocompatibility and Bioactivity
     4.4 Biological Labeling and Drug Delivery
     4.6 Nanobiology Ventures
     4.7 Method and Application
     4.8 Nano Physics & Chemistry
     4.9 Modeling and Simulation

ปีนี้ไปนับถอยหลังขึ้นปีใหม่ที่สิงคโปร์กันนะครับ