31 ตุลาคม 2552

The Science of Mate Poaching - วิทยาศาสตร์ของการมีกิ๊ก (ตอนที่ 3)

การที่คนไทยสมัยนี้นิยมมีกิ๊ก (ซึ่งคนสมัยก่อนเรียกว่า "ชู้") ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแค่ในบ้านเราเท่านั้นครับ ประเด็นนี้เป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว และนักวิทยาศาสตร์ก็กำลังหาคำตอบอยู่ครับว่า การกิ๊กกันนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมคนเราถึงชอบกิ๊กกัน


นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งนิยามของการมีกิ๊กไว้ดังนี้ครับ (อ้างอิงจากวารสารวิชาการ Schmitt, D. P., & Buss, D. M. (2001). Human mate poaching: Tactics and temptations for infiltrating existing mateships. Journal of Personality and Social Psychology, 80, 894-917) "กิ๊กคือรูปแบบของความสัมพันธ์สิเน่หา ที่เกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งพยายามที่จะดึงดูดอีกฝ่ายหนึ่งให้เข้ามาเป็นคู่รัก โดยที่ฝ่ายนั้นมีแฟนหรือมีคู่ครองแล้ว" ในตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงข้อมูลจากผลงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งเปิดเผยว่า หญิงโสดนี่แหล่ะ คือจุดเริ่มต้นของการเกิดกิ๊กมากที่สุด


หนังสือที่น่าสนใจเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า Why Women Have Sex แต่งโดยจิตแพทย์ชาวอเมริกัน ดร. ซินดี เมสตัน (Cindy Meston) และนักจิตวิทยาวิวัฒนาการ ดร. เดวิด บุซ (David Buss) ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายไม่นานมานี้เอง (28 กันยายน 2552) ได้ทำการวิจัย เพื่อค้นหาเหตุผลที่ผู้หญิงมีเซ็กซ์ ทั้งนี้จากการสำรวจ และ สัมภาษณ์ ผู้หญิงจำนวน 1,006 คน ได้ผลออกมาอย่างน่าตื่นตะลึง เพราะว่าเหตุผลที่ผู้หญิงใช้ในการมีเซ็กส์นั้น มีได้มาก หลากหลาย จนแทบไม่น่าเชื่อ ซึ่งนักวิจัยทั้งสองนี้ ได้รวบรวมมาได้มากถึง 237 ข้อ อาทิ เพื่อโปรโมตตำแหน่ง เพื่อเงิน เพื่อยา เพื่อต่อรองแลกเปลี่ยน เพื่อแก้อาหารปวดหัวไมเกรน เพื่อแก้แค้นแฟนเก่า เพื่อเก็บผู้ชายไว้นานๆ เพื่อเอาชนะ เพื่อศักดิ์ศรีลูกผู้หญิง (แบบผิดๆ) ฯลฯ น่าประหลาดใจไหมครับ เราเคยคิดแบบบ้านๆ (Conventional Wisdom) กันว่าผู้หญิงมีเซ็กซ์ก็เพราะความรัก หนังสือเล่มนี้ได้ลบล้างความเชื่อเหล่านั้นไปเลย .....

หนังสือเล่มนี้ยังเปิดผลผลการศึกษาว่า ผู้หญิงโสดจำนวนมากอยากกิ๊ก โดยแย่งผู้ชายที่เธอคิดว่าดี น่าสนใจ จากแฟนหรือภรรยาของเขา ในบางรายนั้น เธอมีความอุตสาหะมากแม้จะต้องใช้เวลาหลอกล่อฝ่ายชายอยู่หลายปี เหตุผลหลักของการกิ๊กของสาวโสด ก็คือผู้ชายดีๆ ถูกยึดครองไปหมดแล้ว ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวว่า

"หนังสือเล่มนี้พยายามแสดงเหตุผลว่าทำไมคนถึงกิ๊กกัน แต่การให้เหตุผลนี้ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้ชอบธรรมขึ้นหรอกนะ เพราะจริงๆ แล้ว การกิ๊กกันก็ยังเป็นการกระทำที่เลวอยู่ดี"


ในภาพยนตร์เรื่อง "รถไฟฟ้ามาหานะเธอ" นั้น นางเองของหนังเรื่องนี้ โชคดีมากที่ ในที่สุดเธอก็สามารถจีบผู้ชายโสดที่ใครๆ ก็อยากเป็นแฟนจนสำเร็จ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปกิ๊กมาจากผู้หญิงอื่น แต่ในชีวิตจริง .... ทุกครั้งที่ผมโดยสารรถไฟฟ้า BTS ผมมองเห็นหญิงสาวรูปร่างบอบบาง หน้าตาดี จำนวนมาก ยืนโหนราวจับ โอนเอนไปมาอย่างน่าสงสาร โดยผู้ชายทั้งหลายที่นั่งอยู่ก็ไม่ลุกให้นั่ง ผมเคยถามตัวเองเหมือนกันว่า จะมีความเป็นไปได้มากแค่ไหนเชียว ที่คน 2 คนที่มาเจอกันบนรถไฟฟ้า แล้วในที่สุดได้แต่งงานกัน ???


29 ตุลาคม 2552

Are We Simulated in Computer ? - ฤาโลกนี้เป็นเพียงฝัน (ตอนที่ 5)


ในปี ค.ศ. 2002 สตีเฟน วูลแฟรม (Stephen Wolfram) นักฟิสิกส์ผู้โด่งดังจากผลงานซอฟต์แวร์ทางด้านคณิตศาสตร์ ที่มีชื่อว่า Mathematica ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่เด็กมหาวิทยาลัยปี 1 มักจะใช้แก้โจทย์แคลคูลัส ได้ตีพิมพ์หนังสือที่มีชื่อว่า A New Kind of Science ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดใหม่ ที่มองโลกแห่งความเป็นจริงทั้งหลายว่า สามารถที่จะจำลองได้ด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด เพราะจักรวาลที่เราอาศัยอยู่นี้ อยู่ภายใต้กฏทางฟิสิกส์ หากเราสามารถเข้าใจกฏต่างๆเหล่านั้นได้ ทุกอย่างก็จะจำลองได้หมด หนังสือเล่มนี้ได้ปอกเปลือกปรากฏการณ์ต่างๆในธรรมชาติ ที่สามารถโมเดลได้ด้วยคอมพิวเตอร์

ในช่วงที่ผมเรียนระดับปริญญาเอก ผมได้ทำวิทยานิพนธ์ทางด้านการจำลองคอมพิวเตอร์ (Computer Simulation) ของระบบโมเลกุล โดยปล่อยให้โมเลกุลจำนวนมากเคลื่อนที่ไปตามกฏของฟิสิกส์ โมเลกุลจะเคลื่อนที่ไปมา ชนกันบ้าง ดูดกันบ้าง วิ่งไปวิ่งมา ซึ่งสิ่งที่คำนวณออกมาได้จากคอมพิวเตอร์นี้ เมื่อนำมาเทียบเคียงกับผลจากการสังเกตด้วยการทดลอง พบว่ามีค่าใกล้เคียงกันมาก ในสมัยนั้น การทำการจำลองคอมพิวเตอร์ของระบบโมเลกุล เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ แต่ในปัจจุบัน การจำลองคอมพิวเตอร์ได้ถูกนำมาแทนที่การทดลองหลายๆ ชนิดที่มีราคาแพง เสี่ยงภัย หรือไม่ก็เป็นงานน่าเบื่อ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำทางด้านการทหารได้ในปัจจุบัน เพราะมีความก้าวหน้าทางด้านการจำลองคอมพิวเตอร์ของอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งตัวเองไปเที่ยวห้ามไม่ให้คนอื่นทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ทั้งใต้ดินและบนดิน เพราะตนเองมีขีดความสามารถในการจำลองการระเบิดด้วยคอมพิวเตอร์


ปัจจุบันเราได้นำการจำลองคอมพิวเตอร์มาใช้อย่างกว้างขวางในหลายสาขาวิชาทั้ง ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน จิตวิทยา ไปจนถึงสังคมศาสตร์ การทหาร อุตุนิยมวิทยา การจราจร สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมากมาย ในอนาคต เมื่อเรามีศักยภาพทางด้านการคำนวณก้าวหน้าขึ้นไประดับหนึ่ง เราคงจะเริ่มจำลองอารมณ์ ความรู้สึก ความรัก ไปจนถึงชีวิต ..... สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจจะทำให้เราอยากตั้งคำถามเหมือนกันว่า .... ชีวิตที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ แฟนของเราที่เดินจูงมือกันอยู่ทุกวันนี้ รวมทั้งตัวเราเอง .... เป็นของจริง หรือ เกิดจากการจำลองกันแน่ ???

28 ตุลาคม 2552

อากาศยานลอยค้างฟ้า


ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2008 หน่วยงานวิจัยกลาโหมของสหรัฐ ที่เรารู้จักกันดีในนามของ DARPA ได้ออกมาประกาศให้ทุนสนับสนุน ทีมวิจัยจำนวน 3 ทีมให้แข่งขันกันสร้างอากาศยานไร้คนขับที่สามารถบินอยู่บนฟ้าได้นานๆ โครงการที่มีชื่อเก๋ไก๋ว่า Vulture นี้มีเป้าหมายที่สูงส่งมากครับ เพราะอากาศยานไร้คนขับที่โครงการนี้ฝันถึง ในที่สุดแล้วจะต้องสามารถบินอยู่บนฟ้าได้ 5 ปี โดยไม่ต้องลงจอดเลย โดยมันจะต้องสามารถบรรทุกน้ำหนักได้อย่างน้อย 450 กิโลกรัม และมีกำลังขับ 5 กิโลวัตต์


หากทำได้สำเร็จ อากาศยานลอยค้างฟ้าซึ่งจะบินที่ระดับความสูง 20-30 กิโลเมตร นี้จะทำให้กองทัพสหรัฐฯ ประหยัดงบประมาณทางด้านดาวเทียมสื่อสารและสอดแนมไปได้เยอะเลยครับ เพราะเจ้ายานไร้คนขับค้างฟ้านี้จะทำหน้าที่ทวนสัญญาณสื่อสาร และติดเซ็นเซอร์สอดแนมต่างๆ แทนดาวเทียมได้ ถึงแม้การบินในบรรยากาศชั้นสตาร์โตสเฟียร์ ก็ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการถูกโจมตีด้วยมิสซายล์ และเครื่องบินรบ


เท่าๆ ที่ผมได้ติดตามมา โครงการที่ DARPA สนับสนุนจะค่อนข้างยากครับ รวมถึงโครงการนี้ด้วย โดยทั่วไปเวลา DARPA ให้ทุนวิจัย เขาจะไม่ค่อยซีเรียสเรื่องเป้าหมายมาก ว่าต้องทำให้ได้อย่างนั้นจริงๆ แต่เขาชอบตั้งเป้าหมายให้ยากๆ สูงๆ เอาไว้ก่อน แล้วก็ให้ทุนหลายๆ ทีมทำพร้อมๆ กัน เพื่อให้มีการแข่งขันเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ สิ่งที่ DARPA เขาหวังมากกว่าเป้าหมายก็คือ เขาต้องการเห็นการค้นพบใหม่ วิธีคิดใหม่ ไอเดียใหม่ แนวทางการแก้ปัญหาใหม่ๆ องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้กับโครงการอื่นๆ ได้


อย่างเช่นโครงการ Vulture นี้ นักวิจัยจะต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทาย เช่น เรื่องของแหล่งพลังงานให้กับอากาศยานที่ต้องลอยอยู่นาน วัสดุที่ต้องมีความทนทานภาวะบีบเค้นที่ความสูง 20-30 กิโลเมตร ในเวลาหลายปี วัสดุที่ทนกับรังสี UV เป็นต้น

27 ตุลาคม 2552

Science of Meme - ศาสตร์แห่งการเอาอย่างกัน (ตอนที่ 2)


ในช่วงที่ผมเดินทางไปท่องเที่ยวที่ อ.ปาย และ เชียงใหม่ นั้น ผมได้ตระเวณไปทำบุญไหว้พระตามวัดต่างๆ นับได้ทั้งหมด 8 วัด แต่บังเอิญมีลูกนิมิตรจากวัดในพม่า เขามาตั้งฝากไว้ที่วัดใน จ.เชียงใหม่ ที่ผมเข้าไปทำบุญพอดี ก็เลยได้โอกาสเข้าไปปิดทองและทำบุญกับวัดพม่า หากรวมวัดนี้ก็จะเป็น 9 วัด ตามที่คนไทยเรากำลังเห่อเอาอย่างกัน ได้อย่างพอดีเลยครับ

ริชาร์ด ดอว์กิน (Richard Dawkins) ปรมาจารย์ทางด้านชีววิทยาวิวัฒนาการ ผู้โด่งดังจากหนังสือเรื่อง The Selfish Gene ซึ่งออกขายในปี ค.ศ. 1976 อย่างเท่น้ำเทท่า ได้นิยามคำว่า Meme ไว้ว่าเป็นอาการทางนามธรรม ที่มีความสามารถในการแพร่พันธุ์หรือขยายจำนวนได้ ไม่ว่าจะเป็น แนวความคิด สัญลักษณ์ อาการต่างๆ พฤติกรรม เมโลดี้ของดนตรี ถ้อยคำ ความเชื่อทางศาสนา แฟชั่น แบบบ้าน และอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ พอเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะมีวิวัฒนาการ มีการขยายตัว มี mutation มีการคัดเลือกตามธรรมชาติ เสมือนมันเป็นสิ่งมีชีวิต มันอาจอยู่ได้นาน หรือ อาจตายไปในเวลาอันสั้น บางครั้ง meme มันขยายจำนวนไปมากๆ จนกลายมาเป็นสิ่งที่นิยมปฏิบัติกันไปเลย

การที่คนเห่อไปทำบุญ 9 วัดก็ถือเป็น meme อย่างหนึ่งครับ มันเกิดขึ้นและขยายตัวไปในสมองจากคนหนึ่ง ไปสู่อีกคนหนึ่ง meme มีวิวัฒนาการไปด้วยระหว่างที่มันเพิ่มจำนวน จากเดิมการทำบุญ 9 วัด ทำกันในหมู่ผู้สูงอายุ แต่ตอนนี้คนหนุ่มสาวก็นิยม กลายเป็นทัวร์ แถมมีทัวร์ไปเมืองจีนไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 9 แห่ง
ไม่รู้การที่คนสมัยนี้ชอบมีกิ๊ก เป็น meme หรือเปล่า .......

25 ตุลาคม 2552

Science of Meme - ศาสตร์แห่งการเอาอย่างกัน (ตอนที่ 1)


โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบจะทำอะไรตามกระแส หรือทำอะไรตามคนอื่น แต่ทนถูกรบเร้าจากภรรยาไม่ไหวก็เลยต้องเดินทางไปเที่ยวที่ ปาย อำเภอเล็กๆ ของแม่ฮ่องสอน ที่กำลังกลายมาเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมกลางหุบเขา ที่ใครๆ ต่างพูดถึงกันมากใน พ.ศ. นี้ครับ ผมต้องยอมรับว่า ปายมีเสน่ห์ที่ชวนหลงใหลจริงๆ เป็นอำเภอที่น่ารักและโรแมนติกมากครับ ช่วงที่ผมกำลังจะเดินทางกลับลงจากเขาเพื่อกลับมาพักที่เชียงใหม่ เป็นช่วงวันหยุดยาว ผมได้เห็นรถยนต์วิ่งสวนทางขึ้นมา จนเส้นทางที่เคยเงียบสงบในอดีต หนาแน่นไปด้วยรถยนต์ ใครๆ ก็อยากไปปาย ......

หลายวันที่ผมอยู่ที่ปาย ผมได้เจอคนที่มาเดินทางตามหาฝัน ส่วนมากเป็นวัยหนุ่มสาว ของที่ระลึกต่างๆ ที่มีขายกัน ไม่ว่าจะตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หรือที่ "ถนนคนเดิน" เองก็ตาม ก็มีแต่สิ่งของที่สื่อถึงความเป็นปาย ที่ใครๆ ก็อยากจะมาค้นหา คำพูดน่ารักๆ ที่เพ้นท์อยู่บนเสื้อยืดบอกอะไรได้ดีที่สุด เช่น "กว่าจะถึงปาย อ๊วกตลอดทาง" หรือ "รักแรกที่ปาย" หรือ "ไปปายมาแล้ว" หรือ "ปายที่คิดถึง" และอีกมากมาย

ช่วงที่อยู่ที่ปาย เวลาของผมเกือบจะถูกกลืนหายไปเลยครับ บรรยากาศที่นั่นทำให้ผมเพลินจนเกือบลืมคิดถึงบ้าน แต่ผมก็ตั้งคำถามนะว่า "ตกลง .... ปายมีความเป็นตัวตนจริงๆ ที่ทำให้ใครๆ ที่มาที่ปาย เกิดหลงมิติ ติดกับมนตร์เสน่ห์ของที่นี่" หรือ จริงๆ แล้ว ปายไม่มีอะไรอย่างว่าหรอก แต่คนที่มาที่ปายต่างหาก ที่มาสร้างอารมณ์ร่วมกัน มาสร้างอุปาทาน สร้างตัวตนของปายร่วมกัน ก่อนหน้านี้ปายก็ไม่มีอะไรหรอก ก็เหมือนที่อื่นๆ ที่มีความสวยงามของทิวทัศน์เหมือนกัน ผมเคยไปพะเยาว์ ที่นั่นก็มีความสวยงามไม่แพ้กัน แต่พอเป็นปาย ทำไมอารมณ์มันถึงต่าง ???

จริงๆแล้ว คำถามที่ผมตั้งขึ้นมาว่า ทำไมคนเราถึงคลั่งไคล้ในสิ่งต่างๆ เหมือนกับที่ใครๆก็อยากไปปาย นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามค้นหาคำตอบเรื่องนี้มานานแล้วครับ ตอนหน้าผมจะมาเล่าต่อนะครับว่า การที่คนเราทำอะไรตามกัน เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ให้เหตุผลได้ครับ .....

(ภาพบน - บรรยากาศร้าน Coffee in Love ที่ปาย)

24 ตุลาคม 2552

อังกฤษทุ่ม 3.3 พันล้านเหรียญ วิจัยเกษตร-อาหาร


หายไปหลายวันครับ ผมเดินทางมาภาคเหนือครับ มาอยู่ที่ อ.ปาย แม่ฮ่องสอน พักอยู่กลางท้องนาเลยครับ ใกล้ชิดธรรมชาติมาก ตื่นเช้าขึ้นมาก็เห็นเขาผันน้ำจากลำน้ำปาย มาตามรางส่งน้ำเข้านา ท้องนาที่นี่ความสูงไม่เท่ากัน เขาจะทำแบบขั้นบันได ซึ่งทำให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพมาก พอน้ำเต็มระดับบนแล้ว น้ำจะค่อยๆ ไหลลงมาท่วมระดับที่อยู่ต่ำกว่า เท่าๆ ที่ผมเดินดู ผมรู้สึกว่าต้นข้าวที่เขาปลูกกันที่นี่ ผลผลิตไม่ค่อยสูง ต้นหนึ่งๆ มีเมล็ดข้าวไม่มาก ไม่เหมือนกับที่ผมเคยไปเห็นที่ญี่ปุ่น ต้นหนึ่งๆ จะมีแต่เมล็ดข้าว มากจนต้นเกือบจะล้ม ดังนั้นที่ผมเคยได้ยินว่า ประเทศเราปลูกข้าวเปลืองที่ดินมาก เพราะผลผลิตต่อไร่ต่ำเกือบที่สุดในโลก ก็น่าจะจริง ......


ผมเคยเขียนบ่อยๆ ว่า ประเทศไทยที่พวกเราภาคภูมิใจนักหนาว่า เก่งทางด้านเกษตรกรรม เป็นครัวของโลก อีกหน่อยอาจจะไม่มีที่ยืนในเรื่องเกษตรก็ได้นะครับ เพราะเริ่มมีประเทศที่อยากจะทำเกษตรเป็นครัวโลกแทนเรา มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วครับ ประเทศอาหรับที่รวยน้ำมันก็เริ่มทุ่มงบเพื่อพัฒนาการเกษตรในทะเลทราย ประเทศยุโรปเริ่มมีแนวคิดในการปลูกเนื้อสัตว์ (in vitro meat) เพื่อทดแทนการทำปศุสัตว์


ล่าสุด ทีมศึกษาสถานภาพและแนวโน้มด้านเกษตรและอาหาร ของสหราชอาณาจักร ได้ออกมาสรุปผลการศึกษา และเสนอให้รัฐบาลทุ่มงบวิจัยด้านเกษตรและอาหารปีละ 200 ล้านปอนด์ ตลอดช่วงระยะ 10 ปีต่อไปนี้ เพื่อที่จะทำให้โลกมีอาหารเพียงพอที่เลี้ยงประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคนในอีก 40 ปีข้างหน้า ซึ่งรายงานนี้เสนอทุกวิถีทางที่จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร เช่น การพัฒนาพืชที่ทนต่ออากาศร้อน พืชที่ทนต่อพิษของโลหะ ข้าวที่ทนน้ำท่วม ซูเปอร์พืชที่ผลผลิตสูง รวมทั้งการกลับมาวิจัยและพัฒนาพืช GMO ด้วย

(ภาพบน - ภาพแสดงข้าวโตเร็ว เปรียบเทียบการเติบโตภายใน 5 วัน)

20 ตุลาคม 2552

The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 5)


การที่คนเราหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ (จริงๆ) กันน้อยลง แล้วหันไปทานเนื้อสัตว์ปลูก (in vitro meat) แทนในอนาคต นอกจากจะเป็นเรื่องดีในแง่ของความเป็นสัตว์ประเสริฐของมนุษย์เรา ที่จะได้เผื่อแผ่ความเมตตากรุณาให้แก่สัตว์อื่น จริงๆ แล้ว การบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง นอกจากจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของเราแล้ว มันยังเป็นผลดีต่อสุขภาพของโลกด้วยครับ

นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า วัวตัวเต็มวัยตัวหนึ่ง ผายลมเอาก๊าซมีเธนออกมาปีละ 180 กิโลกรัม ซึ่งก๊าซมีเธนนี้เป็นก๊าซเรือนกระจก ที่ดักจับความร้อนในชั้นบรรยากาศของโลกได้ดีกว่า คาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า การผลิตเนื้อวัวนั้นทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเต้าหู้ ซึ่งเป็นอาหารหลักของนักมังสวิรัติแล้ว มันใช้พื้นที่เกษตรกรรมมากกว่าเป็น 17 เท่า ใช้น้ำมากกว่า 26 เท่า ใช้เชื้อเพลิงมากกว่า 20 เท่า แถมยังใช้สารเคมีมากกว่าอีก 6 เท่า จากรายงานขององค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN's FAO) พบว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาทั้งหมด 18% ซึ่งมากกว่ารถยนต์ รถไฟ เรือ และเครื่องบิน รวมกันเสียอีก ดังนั้น เพียงแค่เราเปลี่ยนจากทานเนื้อ 1 กิโลกรัม มาเป็นเต้าหู้ 1 กิโลกรัม เราจะช่วยโลกนี้ได้มากแค่ไหน

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ ลองชั่งใจดูนะครับระหว่างการกินเนื้อวัว เนื้อหมู หรือ เนื้อไก่ อะไรจะดีกว่ากันสำหรับโลกใบนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้วิจัยพบว่า การผลิตเนื้อวัว 1 กิโลกรัมนั้นใช้พื้นที่มากกว่าการผลิตเนื้อไก่ถึง 7 เท่า และมากกว่าเนื้อหมู 15 เท่า ดังนั้นผู้ที่ถือสัตยาธิษฐานกับพระโพธิสัตว์กวนอิม ว่าจะไม่รับประทานเนื้อวัว จึงถือเป็นการลดโลกร้อนอย่างอัตโนมัติครับ ........

The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 4)


หายไป 2-3 วันครับ หลังกลับมาจากประชุมของ สกว. ที่ชะอำ ผมก็เป็นไข้ นอนซมอยู่ 2 วันครับ เมื่อคืนอยากจะลุกมาเขียน Blog ก็หมดแรง วันนี้พอลุกขึ้นได้แล้ว แต่พรุ่งนี้ก็ต้องออกเดินทางอีก พาครอบครัวไปพักผ่อนที่ เชียงใหม่ กับ ปาย ครับ ช่วงนี้ใกล้จะถึงหน้าท่องเที่ยวของภาคเหนือแล้ว เลยต้องรีบไปเที่ยวตัดหน้าคนอื่นครับ ไม่อยากไปตอนที่คนเยอะๆ ไปตอนนี้ก่อนคนอื่นจะได้ธรรมชาติใหม่ๆ สดๆ

ช่วงที่ผมไม่สบาย ผมมีความรู้สึกอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่อยากทานเนื้อสัตว์เลย อยากกินแต่ผักผลไม้ นี่ก็เป็นสิ่งบ่งชี้หนึ่งที่แสดงว่า ผักและผลไม้ เป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการมากกว่าเนื้อสัตว์ เวลาคนเราเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย และต้องการฟื้นฟูสุขภาพ อีกทั้งคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์เลย ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แถมกลับพบว่ามีสุขภาพดีกว่าคนที่ทานเนื้อสัตว์เสียอีก แต่ถ้าเรายังไม่อาจที่จะเลิกทานเนื้อสัตว์ได้ มีทางเลือกอื่นๆ ไหม ที่จะเป็นการเบียดเบียนชีวิตอื่นให้น้อยลง ???


(1) เนื้อสัตว์ที่ปลูกได้ต้องเป็นเนื้อไก่ ซึ่งจะต้องมีรสชาติและรูปกาย (Texture) ไม่ต่างจากเนื้อไก่ของจริง โดยคนที่นิยมทานเนื้อสัตว์ กับ คนที่เป็นมังสวิรัติ ต้องทานแล้วถูกปาก
(2) เนื้อไก่ที่ปลูกขึ้นมานี้ ต้องผลิตในจำนวนที่มากพอจะขายได้ ด้วยราคาที่แข่งขันได้กับเนื้อไก่ของจริง (ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศไทย)
(3) ขณะนี้ทาง Peta ได้ทำการฝึกนักชิมประมาณ 10 คน เตรียมความพร้อมเพื่อจะชิมเนื้อไก่ที่เกิดจากการปลูก โดยจะใช้มาตรฐานการชิมเนื้อไก่ที่ได้รับการยอมรับ

ทาง Peta ได้กำหนด Deadline เอาไว้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2012 ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นการกำหนดวันที่ค่อนข้างมองโลกในแง่ดีไปสักนิด เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ความก้าวหน้าในศาสตร์ของการปลูกสัตว์ในขณะนี้ ซึ่งถือว่ายังมีจำนวนนักวิจัยที่เข้ามาทำงานในด้านนี้น้อยมากๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก เมื่อพิจารณาขนาดของอุตสากรรมนี้ว่ายิ่งใหญ่เพียงใด

แน่นอนครับ หากการปลูกสัตว์หรือ In vitro meat ทำได้เมื่อไหร่ ประเทศผู้ผลิตเนื้อไก่อันดับต้นๆ ของโลกอย่างประเทศไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะทางอียู จะกีดกันเนื้อไก่แท้ของเรา และโปรโมตให้เนื้อไก่ที่ผลิตจากการปลูกให้ขายดิบขายดีอย่างแน่นอน .....

17 ตุลาคม 2552

Chembot - หุ่นยนต์เปลี่ยนรูปได้ (ตอนที่ 3)


หายไป 2-3 วันครับ ผมมาเข้าร่วมประชุมซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ชะอำ ซึ่งเขาจัดระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2552 วันนี้ก็จะกลับกรุงเทพฯ แล้วครับ นานๆ เปลี่ยนบรรยากาศมาทะเลสักทีหนึ่ง ปกติผมจะชอบไปทำงานอยู่ที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ เขาใหญ่ มาเปลี่ยนบรรยากาศบ้างครับ ทำให้จินตนาการของเราไม่หยุดอยู่นิ่ง มางานประชุมนี้ก็ค่อนข้างมีประโยชน์มากครับ เพราะทำให้รู้ว่าส่วนใหญ่นักวิจัยบ้านเราเขาทำอะไรกันบ้าง ไปเดินดูโปสเตอร์ที่แสดงผลงานก็น่าสนุก ผมเสียดายอยู่นิดเดียวครับ ที่คนที่เดินดูผลงานเหล่านั้นก็เป็นนักวิจัยด้วยกันเอง ไม่มีคนจากเอกชนหรือนักลงทุนมาเดินดู เพราะการประชุมนี้เป็นการประชุมของนักวิจัยกันเอง จริงๆ ผมชอบการประชุมวิชาการที่จัดร่วมกับนิทรรศการหรือ Trade Fair มากกว่า เพราะจะมีงานวิจัยส่วนหนึ่ง ที่มีศักยภาพนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งคนที่จะนำไปใช้จะมีโอกาสได้มาเห็น ซึ่งผมว่าคนเหล่านั้น (เอกชน) เขาก็อยากมาดูนะครับ ......

วันนี้ผมมีความก้าวหน้าในศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์เปลี่ยนรูปร่างได้ (Shape-Shifting Robot) หรือ Chembot มาเล่าครับ หากยังจำได้ ก่อนหน้านี้ผมเคยเล่าให้ฟังว่าทาง DARPA ได้ให้ทุนบริษัท iRobot ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์เครื่องดูดฝุ่น Roomba อันโด่งดัง เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบที่มีความยืดหยุ่นได้ทั้ง 3 มิติ มีความสามารถในการแตกตัวออก และประกอบรวมเข้าใหม่ได้ สามารถทำงานได้ทั้งในโหมดอัตโนมัติ และควบคุมจากระยะไกลมีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิ ความดัน ความชื้น และรังสี มีผิวที่อ่อนนุ่ม ทนทานต่อแรงกดโดยไม่แตก มีโครงสร้างที่สามารถประกอบกลับมาอยู่ในรูปร่างตั้งต้นได้- มีประสาทสัมผัสทางกาย (Tactile Sensing) มีความสามารถในการบรรทุกน้ำหนักได้

ในการประชุมทางด้านหุ่นยนต์ศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท iRobot ได้นำต้นแบบรุ่นแรกของหุ่นยนต์ที่เปลี่ยนรูปได้ (ดังแสดงในภาพ) ออกมาโชว์ตัว เจ้าหุ่นตัวนี้มีรูปร่างเหมือนโดนัท มันสามารถพอง ยุบ หุบ ยืด ได้ ซึ่งผู้ออกแบบจงใจจะให้มันมีความสามารถในการแทรกตัวผ่านรอยแยก รอยแตก ของโครงสร้างต่างๆ เพื่อเข้าไปปฏิบัติการได้


ความสนใจในเรื่องของหุ่นยนต์ที่นุ่มนิ่ม ยืดหยุ่น เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ผมจะนำความก้าวหน้าทางด้านนี้มาเล่าให้ฟังอีกครับ .......

14 ตุลาคม 2552

Robot Killer - หุ่นยนต์สังหาร


ในการประชุมคราหนึ่ง ของสมาคมนานาชาติด้านระบบยานพาหนะไร้คนขับ (Association for Unmanned Vehicle Systems International) เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ได้มีเรื่องที่น่าสนใจเกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง นั่นคือ นายพลสหรัฐท่านหนึ่งได้ออกมาเรียกร้องให้มีการส่งทหารเข้าไปเสริมทัพในอิรัก และ อัฟกานิสถานอย่างจริงจัง แต่ท่านไม่ได้ขอให้ส่งทหารที่เป็นมนุษย์เข้าไป แต่กลับเป็นหุ่นยนต์ติดอาวุธเพื่อทำภารกิจจู่โจมแทนทหารราบ


การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมทางด้านหุ่นยนต์และระบบไร้คนขับที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง มีผู้เข้าร่วมฟังมากถึง 5,000 คน จาก 30 ประเทศ มีการนำเอาหุ่นยนต์และระบบไร้คนขับจำนวนกว่า 320 ผลงาน มาแสดง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมที่ล้ำหน้าที่สุดสุด ปาฐกถาหนึ่งที่ผู้คนสนใจมากที่สุดเป็นของนายพล ริค ลินช์ (General Rick Lynch) ซึ่งท่านได้ออกมาเรียกร้องให้ใช้หุ่นยนต์แทนทหารจริงๆ มากขึ้น ท่านได้ให้ข้อมูลอย่างน่าสนใจว่า หากหุ่นยนต์รบเหล่านั้น ได้ทำภารกิจสังหารด้วยอาวุธอย่างสมบูรณ์แบบ มันอาจจะช่วยชีวิตทหารราบได้ถึง 122 นาย จากการสูญเสียจำนวน 155 นายในช่วงที่ท่านปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่อิรัก

ปัจจุบัน เพนทากอนยังไม่ยอมให้มีการใช้หุ่นยนต์สังหารในสนามรบ เนื่องมาจากเหตุผลด้านความปลอดภัย ทั้งๆ ที่นายพลรินช์เชื่อว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์รบในปัจจุบันมาถึงจุดที่ เราสามารถปล่อยให้มันต่อสู้กับข้าศึกได้เองโดยไม่ต้องมีคนควบคุม "มีคนต่อต้านเรื่องนี้มากครับ คนพวกนั้นมักจะโจมตีกองทัพว่า หุ่นยนต์รบยังไม่พร้อมจะใช้ฆ่าคนในสนามรบ แต่ผมไม่ใช่พวกหัวสนิมแบบนั้นครับ"


น่าสนใจใช่ไหมครับ .... ผมคิดว่าอีกไม่นาน เราจะได้เห็นหุ่นยนต์สงครามอย่าง คนเหล็ก หรือ Terminator แล้วครับ ....

12 ตุลาคม 2552

Ecological Robot - หุ่นยนต์หากินเอง (ตอนที่ 3)


ในภาพยนตร์เรื่อง คนเหล็ก หรือ Terminator หุ่นยนต์ที่ตามล่าสังหารมนุษย์อย่างเจ้า T-800 ทำงานโดยอาศัยแบตเตอรีพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้พวกมันมีพลังงานเหลือเฟือ ไม่ต้องหลับต้องนอน มันจึงตั้งหน้าตั้งตาทำภารกิจของมัน คือ ตามหาและสังหาร จอห์น และ ซาร่า คอนเนอร์ อย่างไม่ย่อท้อ

เรื่องพลังงานไม่ใช่ปัญหาของหุ่นยนต์ในยุค Skynet ครองโลก แต่มันเป็นปัญหาใหญ่หนักอกของนักหุ่นยนต์ศาสตร์สมัยนี้ครับ ทั้งนี้แหล่งพลังงานหลักของหุ่นยนต์ในยุคปัจจุบันยังคงเป็นแบตเตอรี เช่น ลิเธียมพอลิเมอร์ ซึ่งมีราคาแพงมาก ในการประชุมเกี่ยวกับหุ่นยนต์ทั้งหลาย ที่มีการนำเสนอความสามารถของหุ่นยนต์อย่างนั้น อย่างนี้ มักจะเจอคำถามเด็ดซึ่งก็คือ แล้วหุ่นยนต์ตัวที่พูดถึงนี้มันทำงานได้กี่นาที หรือ กี่ชั่วโมง ผู้นำเสนอก็จะอ้ำๆ อึ้ง ๆ เพราะจำนนกับความจริงที่ว่า สุดท้ายเจ้าหุ่นก็จะต้องมีคนเปลี่ยนแบตเตอรีให้มัน

ในช่วงหลังจึงเริ่มมีคนหันมาสนใจที่จะทำให้หุ่นยนต์หากินเองได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือพลังงานเองได้ โดยอาศัยพลังงานจากสารอินทรีย์แบบเดียวกับสิ่งมีชีวิตนี่แหล่ะครับ ก่อนหน้านี้ผมได้พูดถึงเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์ (Microbial Fuel Cell) ซึ่งอาศัยแบคทีเรียย่อยสลายชีวมวลให้เป็นกระแสไฟฟ้า หุ่นยนต์ดังกล่าวจะหาแมลงกิน ซึ่งแมลงวัน 8 ตัวทำให้มันเดินได้เพียง 2 เมตร เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้กองทัพสหรัฐฯ จึงหันไปหาอีกแนวคิดหนึ่ง คือการใช้เครื่องยนต์เผาไหม้ภายนอกกลจักรไอน้ำ โดยเครื่องยนต์นี้จะเอาชีวมวลมาเผา โดยเจ้าหุ่นยนต์ตัวที่มีชื่อว่า Energetically Autonomous Tactical Robot หรือ EATR นี้มีกล้องและเรดาห์ที่จะทำให้มันหากิ่งไม้ เศษไม้ใบไม้ รวมทั้งซากต่างๆ ที่ตกอยู่ตามพื้น แล้วใช้แขนหยิบวัตถุดิบเหล่านั้นป้อนใส่เตาเผาของมัน หากเศษซากเหล่านั้นใหญ่เกินไป มันก็จะตัดด้วยมือคีบของมัน เศษซากจำนวน 150 ปอนด์ที่มันหากินได้ จะทำให้มันเดินทางได้ไกล 100 ไมล์ มันจึงเป็นหุ่นยนต์ที่เหมาะจะปล่อยออกไปปฏิบัติภารกิจที่ไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์ดูแลเลย ......

11 ตุลาคม 2552

The 2010 International Conference On Bioinformatics and Biomedical Technology (ICBBT 2010)


ช่วงนี้ไม่รู้เป็นอะไรครับ การประชุมที่มีเนื้อหาคล้ายๆ กัน ก็มักจะจัดขึ้นใกล้ๆ กัน เหมือนจะมาแย่งลูกค้ากัน บางครั้งก็ไปจัดในประเทศเดียวกัน ที่หนักกว่านั้นคือไปจัดที่เมืองเดียวกัน ดังเช่นการประชุม The 2010 International Conference On Bioinformatics and Biomedical Technology (ICBBT 2010) ที่กำลังจะจัดขึ้นที่เมืองเฉินตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 16-18 เมษายน 2553 นี้ เนื้อหาของการประชุม รวมทั้งชื่อของการประชุม ก็ไปคล้ายกับ The 4th International Conference on Bioinformatics and Biomedical Engineering (iCBBE 2010) ซึ่งจะจัดที่เฉินตูเหมือนกัน แต่จะไปจัดช่วงมิถุนายน 2553 ไม่รู้ใครแกล้งใคร

เมืองเฉินตู เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม เป็นเมืองกำเนิดเจ้าหมีแพนด้าที่น่ารัก เมืองนี้มีภูมิประเทศที่สวยงามมาก ผู้คนก็อัธยาศัยดี สาวเฉินตูมีเสน่ห์ น่ารัก พูดจาเพราะเหมือนสาวเชียงใหม่ของเรา ผมเคยได้ยินว่าผู้ชายที่ไปเยือนเมืองเฉินตูมักจะบ่นเสียดายที่ตัวเองแต่งงานแล้ว เพราะผู้หญิงที่นั่นน่าแต่งงานด้วยมาก ......

กำหนดส่ง Full Paper (ส่ง paper ฉบับเต็ม ไม่ใช่แค่ abstract นะครับ) คือวันที่ 5 ธันวาคม 2552 ครับ หัวข้อการประชุมได้แก่

Bioinformatics and Computational Biology
Protein structure, function and sequence analysis
Protein interactions, docking and function
Computational proteomics
DNA and RNA structure, function and sequence analysis
Gene regulation, expression, identification and network
Structural, functional and comparative genomics
Gene engineering and protein engineering
Computational evolutionary biology
Drug design and computer aided diagnosis
Data acquisition, normalization, analysis and visualization
Algorithms, models, software, and tools in Bioinformatics
Any novel approaches to bioinformatics problems

Biomedical Engineering
Biomedical imaging, image processing & visualization
Bioelectrical and neural engineering
Biomechanics and bio-transport
Methods and biology effects of NMR/CT/ECG technology
Biomedical devices, sensors, and artificial organs
Biochemical, cellular, molecular and tissue engineering
Biomedical robotics and mechanics
Rehabilitation engineering and clinical engineering
Health monitoring systems and wearable system
Bio-signal processing and analysis
Biometric and bio-measurement
Other topics related to biomedical engineering

Other Related Topics
Biostatics
Biometric
Biomeasurement
Biomechanics
Biophysics
Biochemistry
Biomathematics
Bioengineering
System biology

10 ตุลาคม 2552

Artificial Sense - สัมผัสประดิษฐ์ (ตอนที่ 2)


วันนี้ผมขอมาเล่าต่อถึงสัมผัสของสัตว์บางชนิดที่อาจไม่มีในมนุษย์ จนถือว่าเป็นสิ่ง "พิเศษ" สำหรับพวกเรา


- เหยี่ยวมีสายตาที่มองได้ไกล ระดับที่เรียกว่า 20/5 กล่าวคือมันสามารถจะมองเห็นภาพที่คนเราเห็นในระยะ 5 เมตร ได้ในระยะ 20 เมตร

- แมงกระพรุนบางชนิดมีดวงตาถึง 24 ดวง ทำให้มันมองเห็นได้รอบตัว

- ยุงมีระบบประสาทที่ไวต่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความร้อนและความชื้นจากร่างกาย

- ผีเสื้อราตรีสามารถตามกลิ่นสาวๆ ของมันจากฟีโรโมนในระยะ 5 กิโลเมตร บางชนิดไปได้ถึง 11 กิโลเมตร จากความเข้มข้นของโมเลกุลเพียง 1 ใน 100,000,000,000,000,000 ส่วนของโมเลกุลอากาศ

- นกเพนกวินมองเห็นคลื่นแสงในช่วงอุลตราไวโอเล็ต
- หมูมีประสาทลิ้นที่ดีกว่ามนุษย์ มันเป็นยอดนักชิม ลิ้นของมันมีต่อมสัมผัสอาหาร 15,000 ต่อม คนเรามีเพียง 9,000 ต่อมเท่านั้น
ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ จริงๆแล้วปัจจุบันก็ยังแค่ผิวเผินครับ คือเรายังไม่รู้ว่าประสาทสัมผัสเหล่านี้ทำงานอย่างไร โครงสร้างระดับโมเลกุลของประสาทเหล่านั้นเป็นอย่างไร เพราะหากเราคิดจะสร้างเซ็นเซอร์ขึ้นมา เราต้องรู้เรื่องพวกนี้ก่อนครับ จึงจะวิศวกรรมสิ่งที่เลียนแบบขึ้นมาได้ ซึ่งมันก็ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันข้ามศาสตร์ระหว่างวิศวกรรมและชีววิทยาครับ

วันหลังผมจะมาเล่าต่อครับเกี่ยวกับศาสตร์ความก้าวหน้าทางด้าน Artificial Sense ที่กำลังดำเนินไปอย่างน่าตื่นเต้น ......

09 ตุลาคม 2552

Smart Vineyard - ไร่องุ่นอัจฉริยะ (ตอนที่ 1)


ช่วงนี้ผมยังทำงานวิจัยภาคสนามอยู่ในไร่องุ่นกรานมอนเต้ อยู่ครับ ตอนนี้ก็เริ่มเข้าฤดูกาลท่องเที่ยวของเขาใหญ่แล้ว เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามาแวะเวียนแถบเขาใหญ่กันมากขึ้น ทั้งในวันธรรมดา และวันนี้ซึ่งเป็นวันศุกร์ อากาศก็เริ่มเย็นขึ้นครับ

ช่วงเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ เป็นระยะเวลาของการผลิตองุ่นไวน์ของประเทศเรา เพราะเป็นหน้าหนาว ซึ่งการปลูกองุ่นไวน์ในเขตร้อน ซึ่งฝรั่งเขาถือว่าเป็นเขตละติจูดใหม่ (New Latitude) ของการทำไวน์ ฤดูผลิตจะทำกันในช่วงหน้าหนาว เพราะอากาศเย็นและฝนน้อย ซึ่งจะตรงข้ามกับการทำไวน์ในเมืองหนาว ไวน์ที่ผลิตในเขตร้อนนี่ทำยากครับ เพราะต้องท้าทายกับสภาพภูมิอากาศ แต่คุณภาพก็ใช่ว่าจะสู้ฝรั่งไม่ได้นะครับ เพราะเคยมีไวน์ไทยไปคว้ารางวัลการแข่งขันในระดับนานาชาติหลายต่อหลายครั้ง โดยในการแข่งขัน ผู้ชิมจะเกือบเดาไม่ออกเลยว่าเป็นไวน์ที่ผลิตในประเทศไทย

องุ่นไวน์เป็นพืชที่ไวกับสภาพภูมิอากาศมาก การผลิตองุ่นให้ได้น้ำไวน์ทั้งปริมาณและคุณภาพแข่งกับฝรั่งได้ จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีและการจัดการที่ดี ทางคณะวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับทางไร่องุ่นกรานมอนเต้ ได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบไร่องุ่นอัจฉริยะ (GranMonte Smart Vineyard) โดยได้ใช้ระบบนี้ดูแลการผลิตองุ่นไวน์อย่างจริงจัง


สิ่งที่สำคัญมากในการทำฟาร์มพืชแบบที่เรียกว่า Outdoor Agriculture หรือ การเกษตรในที่แจ้ง ก็คือการรู้สภาวะแวดล้อมต่างๆ ทั้งในระดับรอบๆต้นพืชอย่างที่เราเรียกกันว่า microclimate ไปจนถึงระดับทั้งไร่ ที่เรียกกันว่า mesoclimate ไปจนถึงระดับใหญ่กว่านั้นที่เรียกว่า macroclimate ซึ่งเป็นระดับพื้นที่ใหญ่ในบริเวณกว้าง เมื่อรู้สภาวะอากาศว่ากำลังจะเกิดอะไร จะได้จัดการได้ถูกว่าจะให้น้ำอย่างไร เมื่อไหร่ จะให้ยาหรือไม่ สำหรับพืชอย่างองุ่นไวน์ การรู้สภาพอากาศตั้งแต่พื้นที่เล็กไปใหญ่ยังไม่เพียงพอ แต่จะต้องรู้ในเรื่องของเวลาด้วยครับว่าจะเกิดเมื่อไหร่ด้วย ดังนั้นเจ้าของไร่จะต้องสามารถคาดคะเนสภาพอากาศทั้ง short-term weather (1 ชั่วโมง - 3 วันข้างหน้า), mid-term weather (3 วัน - 2 สัปดาห์) และ long-term weather (2 สัปดาห์ - 3 เดือน) หรือแม้แต่ seasonal weather (3 เดือน - 1 ปี) ซึ่งเจ้าของไร่จะนำไปใช้ในการวางแผนการตัดแต่งองุ่น เพื่อให้องุ่นออกดอกในช่วงที่ไม่มีฝนตกครับ


ว่างๆ ผมจะนำเรื่องราวเกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องไร่องุ่นอัจฉริยะมาเล่าให้ฟังอีกครับ

07 ตุลาคม 2552

Robot Evolution - หุ่นยนต์วิวัฒน์ (ตอนที่ 5)


ความพยายามในการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ฉลาดมากขึ้น ทำให้ศาสตร์แห่งจิตใจ (Mind Sciences) และวิทยาศาสตร์ของการรับรู้ (Cognitive Science) ได้รับความสนใจมากขึ้น มีคนสนใจศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เคยเป็นนามธรรมสำหรับเราเช่นอารมณ์ต่างๆ ความรู้สึกตัว ความระลึกรู้ กำลังจะกลายมาเป็นสิ่งที่สามารถโมเดลได้ด้วยคณิตศาสตร์ หรืออัลกอริทึมทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งภาวะเหล่านั้นในพุทธศาสนารู้กันมานานแล้วครับว่าเป็น "รูป" ไม่ใช่ "นาม" แต่อย่างใด ในอนาคตเมื่อเราสามารถโมเดลภาวะเหล่านั้นได้ เราก็สามารถทำให้หุ่นยนต์มีสภาวะเช่นนั้นได้

มนุษย์เรามีสิ่งหนึ่งที่สัตว์อื่นๆ มีน้อย นั่นคือ "สติ" หรือความระลึกรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ในทางพระพุทธศาสนานั้น ระดับสติของมนุษย์แต่ละคนก็ไม่เท่ากัน พระอริยะบุคคลมีพลังของสติไวกว่ามนุษย์ปุถุชนทั่วไปมาก ท่านจึงรู้ตัวและสามารถระงับอารมณ์ หรือความอยากได้ทันท่วงที ซึ่งทำให้ท่านเหล่านั้นรู้เท่าทันภาวะความเป็นไปของสิ่งที่มากระทบสัมผัสต่างๆของท่าน สัตว์จะมีสภาวะของสติน้อยกว่า พวกมันจะทำสิ่งต่างๆไปตามสัญชาตญาณ เมื่อมีสติน้อยปัญญาก็มีน้อย

นักประสาทวิทยาเชื่อว่า สติหรือความระลึกรู้ เกิดจากการทำงานของสมองหลายๆส่วน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จักรกลก็น่าจะทำให้มีสติได้ ด้วยการสร้างส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องขึ้นมาทำงานร่วมกัน ศาสตร์ที่ว่านี้เราเรียกว่า สติประดิษฐ์ หรือ Artificial Consciousness หรือ Machine Consciousness ซึ่งเป็นศาสตร์ที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากครับ ศาสตร์ทางด้านนี้เข้าใจยากมากครับ แต่มีความสำคัญ เพราะมันจะทำให้มนุษย์และหุ่นยนต์ เขยิบเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้นครับ


คืนนี้ผมนอนอยู่ที่ไร่องุ่น มาทำงานภาคสนาม 3 วันครับ มองออกไปข้างนอกมืดและเงียบมากครับ วันหลังผมจะกลับมาเขียนเรื่องนี้ต่อครับ เพราะจริงๆ แล้วยังมีคำถามอีกมากมาย เช่น จักรกลมีรักได้หรือไม่ จักรกลมีความสุขได้หรือไม่ ..........

04 ตุลาคม 2552

The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 3)


วันนี้เป็นวันออกพรรษา หลายๆท่านคงจะออกไปทำบุญกัน ผมมีเพื่อนหลายคนครับที่พยายามจะงดดื่มเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ ในระหว่างเข้าพรรษา (ผมก็เลิกเหล้าเข้าพรรษากับเขาเหมือนกันครับ แต่เบียร์ไวน์ ยังดื่มอยู่) แต่ส่วนหนึ่งก็พรรษาแตกกันใกล้ๆ จะออกนี้แล้ว บางคนก็อยู่มาถึงวันนี้ พรุ่งนี้คงไปฉลองกันใหญ่
วันนี้บรรยากาศออกแนวพุทธ พุทธ ผมเลยขอคุยต่อในเรื่องของแนวโน้มใหม่ ที่เราอาจจะมีโอกาสทำบาปน้อยลงจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ในตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงเรื่องการ "ปลูกเนื้อสัตว์" หรือ in vitro meat ซึ่งจะทำให้เราปลูกสัตว์ได้เหมือนปลูกพืช ซึ่งเราจะสามารถปลูกน่องไก่ ตับหมู เนื้อสันนอก เนื้อสันใน เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ ผมเคยพูดถึงเรื่องการทำไร่ในอาคารสูง ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นอนาคตของเกษตรกรรม เพราะการผลิตพืชอาหาร จะย้ายจากชนบทมาสู่เมือง เป็นการนำสถานที่ผลิตมาอยู่ใจกลางสถานที่บริโภค เขาวิจัยออกมาแล้วครับว่า การอยู่ในเมืองมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและทรัพยาการมากกว่าการกระจายกันอยู่ในชนบท ถ้ามนุษย์ทั้งหมดย้ายเข้ามาอยู่รวมกันในเมือง เราสามารถคืนพื้นที่การเกษตรกลับสู่ธรรมชาติ ปล่อยให้ป่ากลับสู่สภาพเดิมของมัน การทำไร่ในอาคารสูงสามารถที่จะทำในจุดที่มีการบริโภค เช่น บนอาคารมีการผลิตพืชผักแล้วขายในซูเปอร์มาเก็ตชั้นล่างได้เลย หากนำเทคโนโลยีการทำไร่ในอาคารสูง มารวมกับเทคโนโลยีปลูกสัตว์ เราก็จะได้ระบบเกษตรกรรมในเมือง (Urban Agriculture) ที่สมบูรณ์แบบครับ มีทั้งการผลิตพืชและสัตว์ในเมือง เมืองจะเป็น Sustainable City ไม่ต้องพึ่งพาชนบทอีกต่อไป

อีกหน่อย วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา จะไม่มีรถติดแล้วครับ เพราะไม่ต้องมีใครกลับบ้านไปทำบุญแล้ว ในเมื่อชนบทไม่มีคนอยู่แล้ว ทุกที่ที่ไม่ใช่เมืองจะเป็นป่า และ อุทยานแห่งชาติ จะว่าไปแล้วในสมัยก่อน การตั้งอาณาจักรก็จะรวมกันอยู่ในชุมชนใหญ่ๆ เป็นนครและหัวเมืองเท่านั้น ไม่มีใครอยู่ในชนบทหรอกครับ เพิ่งจะไม่นานมานี้ ที่การทำเกษตรเพื่อเลี้ยงประชากรจำนวนมากขึ้นทำให้มนุษย์ไปบุกป่า และอาศัยอยู่ในชนบทมากขึ้น แต่ในอนาคตเราจะเลิกอยู่ในชนบท แล้วกลับมารวมกันอยู่เป็นเมืองใหญ่ เหมือนเดิมอีกครั้ง ...... ผมฝันถึงวันนั้นครับ .....


(ภาพบน - วัวเป็นสัตว์ที่น่ารักไม่ต่างอะไรจากหมีแพนด้า แต่เนื้อของมันก็อร่อย .... เมื่อไหร่เราจะเลิกเบียดเบียนพวกมันได้เสียที .....)

02 ตุลาคม 2552

Shadow Biosphere - โลกของสิ่งมีชีวิตในเงามืด


เช้าตรู่ของวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1831 ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น ชาร์ล ดาร์วิน ได้ออกเดินทางไปพร้อมกับเรือรบหลวงบีเกิ้ล เป้าหมายคือการสำรวจและรวบรวมสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตลอดเส้นทางที่เรือผ่านรอบโลก เพื่อนำกลับมาศึกษาวิจัย ตลอดการเดินทางอันยาวนานที่จบลงในอีก 5 ปีต่อมา ดาร์วินต้องตื่นตะลึงกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน เขาได้ปะติดปะต่อข้อมูลและข้อเท็จจริง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครนำมาผนวกและวิเคราะห์อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน จนในที่สุด ดาร์วินได้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการ ซึ่งปฏิเสธความเชื่อในเรื่องพระเจ้าสร้างโลกอย่างสิ้นเชิง เป็นทฤษฎีที่นำพามนุษยชาติออกมาจากความงมงายว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์จากรูปเหมือนของพระองค์ หากแต่ สิ่งมีชีวิตนี้เกิดขึ้น แล้ววิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ด้วยการคัดเลือกของธรรมชาตินั่นเอง (Natural Selection)

ในสมัยของดาร์วิน การที่จะออกมาพูดเรื่องของกระบวนการคัดเลือกของธรรมชาติในที่สาธารณะ เป็นเรื่องที่ล่อแหลมมากครับ เพราะในสมัยนั้น คริสตจักรยังมีความเข้มแข็งมาก ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ใครๆต่างก็เชื่อในเรื่องของวิวัฒนาการกันเกือบหมดแล้ว การค้นพบของดาร์วินจึงถือว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 19


จริงๆ แล้วในปัจจุบัน ก็ยังมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่กันอยู่เรื่อยๆครับ นักชีววิทยาคนไหนหาเจอก็นำไปขอศาสตราจารย์ได้ไม่ยาก ว่ากันว่ายังมีสิ่งมีชีวิตชนิดที่ยังไม่ถูกค้นพบอีกมากมาย โดยเฉพาะพวกจุลชีพ และสัตว์ทะเลน้ำลึก แต่การค้นพบเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเหมือนในสมัยของดาร์วิน เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็ยังอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน คือ มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก และ มีดีเอ็นเอเป็นสารพันธุกรรรม คำถามก็คือ มีสิ่งมีชีวิตในรูปแบบอื่นๆอีกหรือไม่ ?

"แนวคิดเกี่ยวกับโลกของสิ่งมีชีวิตในเงามืด (Shadow Biosphere) ตอนนี้ก็ยังเป็นแค่ทฤษฎีเท่านั้นละครับ แต่ถ้ามีใครสักคนค้นพบพวกมันเมื่อไหร่ ก็จะเป็นการค้นพบทางชีววิทยาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ดาร์วินเลยล่ะครับ พวกเราจึงชอบพูดกันว่า อย่างนั้นก็รีบหาพวกมันกันเถอะ การค้นหาพวกมันก็ไม่ได้แพงอะไร เมื่อเทียบกับการพยายามไปค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร จริงๆแล้วพวกมันอาจจะอาศัยอยู่ใต้จมูกเรานี่เองก็ได้ ....." พอล เดวีส์ (Paul Davies) ผู้อำนวยการ BEYOND Center for Fundamental Concepts in Science แห่งมหาวิทยาลัยอริโซนา กล่าวอย่างน่าคิด

ชีววิทยาในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิวัฒนาการที่มาจากสิ่งมีชีวิตประเภทเดียว คือมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก และมีดีเอ็นเอเป็นสารพันธุกรรม เป็นไปได้ไหมว่า ยังมีชีวิตรูปแบบอื่น เป็นไปได้ไหมว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ เคยผ่านกำเนิดของสิ่งมีชีวิตมาแล้วหลายครั้ง ไม่ใช่ครั้งเดียวอย่างที่เราคิด !!!