30 พฤศจิกายน 2555

อาภรณ์อัจฉริยะ - Wearable Intelligence (ตอนที่ 6)



เรื่องของอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ (Wearable Devices) หรือ คอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ได้ (Wearable Computer) ที่มีพลังในการประมวลผลติดตามเราไปได้ทุกที่ (Wearable Computing) กำลังเขยิบใกล้เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ๆ ทุกทีครับ ต่อไปเราจะใส่แว่นที่มีกล้องถ่ายรูปหรือวีดิโอ และมีจอภาพที่สามารถแสดงผลเข้าตาของเราได้โดยตรง ทำให้เวลาเราจะเดินไปไหนมาไหน มันจะช่วยติดตาม หาข้อมูลที่เป็นประโยชน์แล้วนำเสนอให้กับเรา เช่น เราเดินไปสยามพารากอน เราอาจจะถามแว่นว่า ไหนหาร้านหนังสือให้ฉันหน่อยสิ ... แว่นก็จะ scan จากภาพ แล้วทำงานแบบ Augmented Reality ที่แสดงผลข้อมูลว่าในห้างนี้มีร้านหนังสือที่ไหนบ้าง ถ้าเราบอกว่าฉันอยากไปคิโนคูนิยะ แว่นก็จะแสดงข้อมูลร้านนี้ บอกทิศทาง พร้อมหาโปรโมชั่นพิเศษต่างๆ ให้เสร็จสรรพ นอกจากแว่นตาแล้ว ก็ยังมีนาฬิกา เสื้อผ้า กางเกง แจ็คเก็ต ถุงเท้า รองเท้า ซึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต จะเข้าไปอาศัยอยู่ในนั้น เพื่อทำให้เราเดินทางไปไหนมาไหนพร้อมกับพลังประมวลผล ด้วยการสวมใส่มัน โดยไม่ต้อง หิ้ว ถือ พก อุปกรณ์เหล่านั้นให้ลำบากเลยล่ะครับ

ในกลุ่มวิจัยของผมเอง ก็มีการทำวิจัยเกี่ยวกับอุปกรณ์สวมใส่ได้หลายชนิดเลยครับ ได้แก่ รองเท้าเซ็นเซอร์ที่ผมเรียกว่า Smart Shoe เพื่อตรวจวัดการเดิน มีการทำวิจัยเกี่ยวกับหมอนและผ้าปูที่นอนอัจฉริยะ (Smart Pillow and Smart Bedsheet) เพื่อตรวจวัดสุขภาวะของการนอน มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเซ็นเซอร์บนผ้า ซึ่งต่อไปสามารถเอาไปติดไว้ในเสื้อ กางเกง ชุดชั้นใน ถุงเท้า เพื่อตรวจวัดระดับของสุขภาพ มีการทำวิจัยจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบปลอกแขน เพื่อตรวจกลิ่นเต่าใต้รักแร้ มีการวิจัยถุงมือข้อมูล (Data Glove) เพื่อเป็นอุปกรณ์ติดต่อกับคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยอากัปกริยาท่าทาง เป็นต้น

สำหรับ Smart Shoe ที่กลุ่มวิจัยของผมกำลังพัฒนาอยู่นั้น เป็นรองเท้าที่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์หลายชนิดเข้าไปในรองเท้า เช่น เซ็นเซอร์รับแรงกด เซ็นเซอร์ตรวจวัดทิศทาง เซ็นเซอร์ตรวจวัดความเร่ง เซ็นเซอร์ตรวจวัดความเฉื่อย เป็นต้น ซึ่งจะทำการเก็บข้อมูลของผู้สวมใส่ แล้วส่งข้อมูลเหล่านั้นผ่านเครือข่ายไร้สาย มาเก็บที่คอมพิวเตอร์หรือฐานข้อมูลบนระบบคลาวด์ ซึ่งต่อไปเราก็จะพัฒนา App บนสมาร์ทโฟน เพื่อทำให้ผู้สวมใส่สามารถติดตามข้อมูลการเดินของตัวเองผ่านสมาร์ทโฟนได้ 

มาดูกันครับว่าเจ้า Smart Shoe ทำอะไรกันได้บ้างครับ

(1) ดูว่าเราทำอะไรบ้างในแต่ละวัน ยืน เดิน นั่ง เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา (Daily Activities)

(2) ดูว่าเรามีพฤติกรรมการเดินที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือไม่ เช่น เดินลากเท้า กดนิ้ว แบะเท้า ตัวงอ โยนตัว และอื่นๆ ซึ่งเราสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ให้วิเคราะห์ และให้คำแนะนำแก่เราได้ว่า เราควรหรือไม่ควรเดินแบบนั้น แพทย์สามารถที่จะโปรแกรมให้รองเท้าเตือนผู้สวมใส่ได้ เมื่อเริ่มมีอากัปกริยาการเดินที่ไม่เหมาะสม

(3) เฝ้าระวัง เช่น ผู้สูงอายุมีท่าทีผิดปกติ เช่น ล้ม หรือ กดเท้าบางจุดนานเกินไป (อันตรายมากสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน) ซึ่งรองเท้าสามารถเตือนผู้สวมใส่ได้ หรือส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังผู้เกี่ยวข้องได้ หากผู้สวมใส่เกิดการล้ม (โดยเฉพาะผู้สูงวัย)

ตอนนี้ทางกลุ่มวิจัยได้นำ Smart Shoe ไปทดสอบกับผู้สูงวัยจำนวนมาก เพื่อทดสอบ เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผล ซึ่งเราได้พบว่าเจ้ารองเท้าตัวนี้ นอกจากจะสามารถตรวจพบการเดินที่ผิดปกติแล้ว เค้ายังสามารถตรวจพบคนที่มีอาการของโรคพาร์กินสันด้วยครับ ในโอกาสต่อไปทางกลุ่มวิจัยก็จะนำเจ้า Smart Shoe ตัวนี้ไปจดสิทธิบัตร และพัฒนาต้นแบบเชิงพาณิชย์ โดยจะนำรองเท้านี้ไปแนะนำตลาด ซึ่งตอนแรกกะว่าจะแจกให้ผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งใช้ฟรีครับ

22 พฤศจิกายน 2555

ACPA 2013 - The 5th Asian Conference on Precision Agriculture



เป็นเรื่องค่อนข้างแปลกที่ประเทศในเอเชียของเรา ถือว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก แต่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรของประเทศในแถบนี้กลับยังล้าหลัง เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมอย่าง สหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ซึ่งประเทศเหล่านั้นได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ซึ่งทำให้ประเทศอุตสาหกรรมเหล่านั้นยกระดับการพึ่งพาตัวเองทางด้านอาหาร มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ในระยะหลังๆ มานี้ ด้วยปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศเอเชียเริ่มประสบปัญหาความไม่แน่นอนของผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่ทางการเกษตรเริ่มมีจำกัดขึ้นเรื่อยๆ การบริหารน้ำเพื่อการเกษตรขาดประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้ามารุมเร้า ทำให้ประเทศทางเอเชียไม่อาจนิ่งเฉยอีกต่อไปได้ ความสนใจในเรื่องของ Precision Agriculture เริ่มจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดประชาคมวิจัยทางด้านนี้ในกลุ่มประเทศทางด้านนี้ครับ โดยนักวิจัยเหล่านี้ก็จะมาประชุมแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิชาการกันปีละครั้ง

ในปี ค.ศ. 2013 นี้นักวิจัยทางด้าน Precision Agriculture จึงได้มีดำริที่จะให้มีการจัดประชุมวิชาการประจำปีที่มีชื่อว่า ACPA 2013 - The 5th Asian Conference on Precision Agriculture ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ที่เกาะเจจู ประเทศเกาหลีใต้ งานนี้ผมอยากไปมากๆ แต่คิดว่าอาจไม่ได้ไปเพราะคิดว่าจะไปประชุมอีกงานที่เกี่ยวกับจมูกอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจัดที่เกาหลีเหมือนกันในช่วงวันที่ 2-7 กรกฎาคม 2556 ถ้าจะไปทั้ง 2 งานก็ต้องโต๋เต๋ อยู่แถวเกาหลีเกือบ 2 สัปดาห์ ดูท่าทางแล้วจะคิดถึงบ้านเสียก่อนหน่ะครับ

เนื้อหาของการประชุม ACPA 2013 ก็ได้แก่

Data collection and variability
Data processing and decision making support system
Site-specific crop and field management practices
Profitability, environmental effects of Precision Agriculture
Use of information technology (e.g., traceability)
Sensors and control systems
Education and on farm research
Precision horticulture and livestock management
Emerging technologies

19 พฤศจิกายน 2555

อาภรณ์อัจฉริยะ - Wearable Intelligence (ตอนที่ 5)




(Picture from dvice.com)

แนวโน้มสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังมาแรงคือ สิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ หรือ อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่ามนุษย์เราสวมใส่เสื้อผ้าไปไหนมาไหน เสมือนสิ่งของที่มีมาแต่กำเนิด โดยที่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งแปลกปลอม ในขณะที่คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ถึงแม้ในปัจจุบันจะพกไปไหนมาไหนได้ก็ตาม ก็ยังไม่เหมือนเสื้อผ้าที่มันติดตัวเราไปเองโดยไม่ต้องหิ้วไม่ต้องถือและไม่ต้องกังวลว่าจะลืม นั่นคือหากเราสามารถทำให้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เหล่านั้นสวมใส่ได้ (Wearable Devices) และติดตามเราไปได้ทุกที่ สิ่งนั้นก็จะนับว่าเป็นอัจฉริยภาพบนผืนผ้าแห่งยุคอนาคตเลยทีเดียว

ผ้าอัจฉริยะที่มีความสามารถทางด้านอิเล็กทรอนิกส์จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้

1) เส้นใยนำไฟฟ้า (Conductive Path) เพื่อนำพลังงานไปจ่ายแก่ระบบ หรือนำสัญญาณไฟฟ้าจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง โดยเทคโนโลยีของเส้นใยหรือด้ายนำไฟฟ้าในปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตหลายราย โดยเฉพาะในไต้หวัน ผลิตออกมาหลายแบบ เช่น

เส้นด้ายที่นำไฟฟ้าได้ในตัวเอง (Intrinsic Conduction) ทำได้โดยการนำเหล็กกล้า (Stainless Steel) มาปั่นเป็นเส้นด้าย ด้ายที่เป็นใยเหล็กนี้สามารถนำไปถักพร้อมๆกับด้ายอื่นๆ เพื่อทอเป็นผ้า แต่มีข้อเสียคือเส้นใยของเหล็กมีความแข็งกระด้างจึงมักจะทำให้เครื่องทอเสียหายได้บ่อยๆ อีกวิธีหนึ่งคือการนำพอลิเมอร์ที่สามารถนำไฟฟ้าได้ในตัวเอง ได้แก่ polyaniline และ polypyrrole มาทำเป็นเส้นใย ในอนาคตอาจมีการนำท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotube) มาปั่นเป็นเส้นด้าย ซึ่งปัจจุบันมีงานวิจัยระบุว่าสามารถทำได้ ซึ่งจะทำให้ผ้าที่ทอจากท่อนาโนคาร์บอนมีสมบัติพิเศษหลายประการ เช่น มีความแข็งแกร่งดุจเหล็กกล้าแต่เบาและยืดหยุ่นเหมือนพลาสติก สามารถป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมไปถึงสามารถทำงานทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ได้
เส้นด้ายที่เคลือบวัสดุนำไฟฟ้า (Extrinsic Conduction) เพื่อให้สามารถนำไฟฟ้าได้ โดยนำเส้นด้ายธรรมดามาเคลือบโลหะ หรือ เกลือของโลหะ เช่น คอปเปอร์ซัลไฟด์ หรือ คอปเปอร์ไอโอไดด์ หรืออาจนำเอาแผ่นฟอยล์ของทอง หรือ อลูมิเนียม มาพันรอบๆเส้นด้าย โดยเฉพาะเส้นไหมจะเหมาะที่สุด เนื่องจากมีความเสถียรในด้านรูปร่างและความยาวของเส้นใย (ผู้เขียนเคยเห็นผ้าไหมตีนจกที่ อ. ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ซึ่งทอเส้นไหมกับเส้นทองไปพร้อมๆ กัน เกิดลวดลายที่สวยงามมาก)

2) วงจรตรรกะ (Logic Circuitry) เพื่อประมวลผลสัญญาณและทำหน้าที่ต่างๆ เช่นรับข้อมูลและตัดสินใจตอบสนอง การนำเส้นใยนำไฟฟ้ามาถักทอด้วยความหนาบางต่างกัน หรือถักเป็นปม รวมทั้งเทคนิคในการทอผ้าให้เกิดลวดลายต่างๆ ก็สามารถทำให้เกิดวงจรทางตรรกะได้ โดยมีนักวิจัยที่ MIT ได้สาธิตการนำเอาเส้นใยนำไฟฟ้ามาถักให้มีการไขว้ของเส้นด้าย ทำให้เกิดเป็นคีย์บอร์ดที่สามารถรับรู้น้ำหนักการกด และให้สัญญาณไฟฟ้าออกมาแตกต่างกันได้ (คีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ธรรมดาไม่รับรู้ความต่างของน้ำหนักการกด)

3) เซ็นเซอร์ (Sensor) สำหรับรับข้อมูลจากภายนอก เช่น วัดอุณหภูมิ ความชื้น จุลชีพที่มีอันตราย ขณะนี้มีการวิจัยเสื้อสุขภาพสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยเสื้อดังกล่าวมีอุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันโลหิต เป็นต้น ซึ่งจะเก็บข้อมูลและส่งให้โรงพยาบาลโดยใช้เทคโนโลยีไร้สาย เซ็นเซอร์ที่วัดอุณหภูมิจะทำงานร่วมกับอุปกรณ์ให้ความร้อนซึ่งหากพบว่าอุณหภูมิภายนอกต่ำมาก หากมีการติดตั้ง GPS ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับเสื้อของผู้สวมใส่ ก็จะทำให้เสื้อทราบว่าผู้สวมอยู่ ณ ตำแหน่งใดบนพื้นโลก ซึ่งก็จะสามารถรับข้อมูลสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเข้ามาได้ทันทีจากฐานข้อมูลอากาศ เพื่อพร้อมตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้  ซึ่งมีบริษัทที่ทำการวิจัยและพัฒนาเสื้อสกีที่มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อม โดย GPS จะจับตำแหน่งของนักสกีตลอดเวลา หากเกิดอุบัติเหตุก็จะส่งสัญญาณวิทยุออกไปขอความช่วยเหลือได้


4) เทคโนโลยีสื่อสาร (Communication) เพื่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ที่อยู่ในเสื้อตัวเดียวกัน และระหว่างอุปกรณ์ภายในเสื้อกับอุปกรณ์ภายนอก ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย (Wireless Sensor Networks) ที่สามารถโยงใยเซ็นเซอร์หลายๆ ตัวโดยการสื่อสารแบบไร้สายคล้ายกับเทคโนโลยี Wi-Fi ที่ใช้กันทั่วไป แต่เทคโนโลยีไร้สายแบบนี้ก็อาจจะไม่เหมาะกับเสื้อผ้าที่อยู่ติดกับร่างกายมนุษย์ เนื่องจากมีการปล่อยสัญญาณวิทยุออกมาทุกทิศทาง จึงมีผู้คิดค้นการส่งสัญญาณวิทยุอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า FAN (Fabric Area Network) ซึ่งจะมีการส่งสัญญาณวิทยุในลักษณะของ RFID (Radio Frequency Identification) ออกไปเฉพาะบริเวณพื้นผิวของร่างกายเท่านั้น ไม่มีการส่งเข้าไปในร่างกายมนุษย์ นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยีในการส่งสัญญาณไฟฟ้าผ่านผิวหนังมนุษย์โดยตรงที่เรียกว่า PAN (Personal Area Network) ซึ่งคิดค้นโดยนักวิจัยของ MIT ร่วมกับ IBM โดยจะส่งกระแสไฟฟ้าแรงต่ำ (ระดับพิโคแอมป์) ออกไปตามผิวหนังโดยเครื่องรับสัญญาณตามจุดต่างๆ ของร่างกายสามารถรับสัญญาณได้ เทคโนโลยีนี้จะเหมาะกับการใช้งานทางการแพทย์ เพราะอุปกรณ์โดยมากจะมีการติดตั้งตามลำตัวมนุษย์

5) แหล่งพลังงาน (Energy) ได้แก่แบตเตอรีซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาแบตเตอรีแบบแบนบาง หรือแหล่งกำเนิดพลังงาน เช่น เซลล์สุริยะแบนบางซึ่งอาจติดหรือพิมพ์ไว้กับเสื้อก็ได้ หรือ เซลล์เชื้อเพลิงที่เปลี่ยนพลังงานเคมีในเชื้อเพลิงเหลว เช่น เอธานอล ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปกติเซลล์เชื้อเพลิงก็มีลักษณะเป็นแผ่นเมมเบรนบางๆ อยู่แล้ว หรืออาจเป็นวัสดุพวกเพียโซอิเล็กทริก (Piezoelectric) ซึ่งสามารถแปลงพลังงานกลให้เป็นพลังงานไฟฟ้านำไปเก็บไว้ในแบตเตอรี เช่น อาจนำวัสดุนี้ไปติดไว้ในรองเท้า เมื่อเราเดินจะมีแรงกดที่เท้าไปกดวัสดุชนิดนี้ให้เกิดความเค้น ซึ่งพลังงานกลจะถูกเปลี่ยนและเก็บสะสมเป็นพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี นอกจากนั้นยังมีแนวคิดของการนำกลูโคสในร่างกาย (Bio-fuel cell) ออกมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าให้แก่เสื้ออิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

6) อุปกรณ์ทางกล-ไฟฟ้า (Mechatronics) ทำงานเพื่อตอบสนองผู้ใช้ทั้งเชิงกลและไฟฟ้า เช่น อุปกรณ์กำเนิดความร้อนหรือความเย็นให้แก่ผู้สวมใส่ (Thermoelectric) เซ็นเซอร์ต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์รับรู้ความเร่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นอุปกรณ์เครื่องกลไฟฟ้าจุลภาค (Microelectromechanical System หรือ MEMS) อุปกรณ์กำเนิดแรงเช่นแอคตูเอเตอร์ (Actuator) ซึ่งอาจนำไปติดตั้งที่รองเท้าหรือเป็นสนับเข่าช่วยออกแรงให้ผู้สูงอายุเดินได้โดยใช้แรงน้อยลง เสื้อทักซิโด้นาโนฉบับเฉินหลงใส่ในภาพยนตร์เรื่อง The Tuxedo เป็นตัวอย่างที่ดีของอุปกรณ์ประเภทนี้ เพราะสามารถทำให้เฉินหลงกระโดด หมุนตัว ตีลังกาได้อย่างแม่นยำ


** โครงการ Wearable Intelligence ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่ง ชาติ **





15 พฤศจิกายน 2555

Games Science - วิทยาศาสตร์ของเกมส์ (ตอนที่ 13)




เรื่องของ Games-Life Convergence หรือการบรรจบกันระหว่างเกมส์ กับ ชีวิต จริง เริ่มกลายมาเป็นกระแสที่มาแรงมากๆ ในโลกธุรกิจแล้วหล่ะครับ เราจะเห็นได้ว่า เกมส์เชิงสังคมอย่าง Social Games บน Facebook และบนแท็ปเล็ต และ สมาร์ทโฟนต่างๆ ทั้ง android และ Apple กำลังเข้าครอบครองความบันเทิงทั้งในบ้านและในที่ทำงานของผู้คนทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านเกมส์กล่าวว่า ไม่เคยมียุคใดสมัยใดที่เกมส์จะประสบความสำเร็จ ในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนได้เหมือนสมัยนี้อีกแล้ว เพราะตอนนี้เกมส์ได้เข้าไปอยู่ในดวงใจของประชากรทั้งรุ่นเด็ก รุ่นวัยทำงาน และรุ่นเกษียณ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จากการสำรวจโดย Casual Games Association พบว่าปัจจุบันเกมส์ประเภทเชิงสังคมนี้ เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้เล่นมากถึง 77.9 ล้านคน ซึ่งโดยมากเป็นผู้หญิงเสียด้วย ทั้งๆ ที่แต่ก่อนนั้นผู้หญิงไม่ค่อยสนใจเล่นเกมส์นัก การศึกษาครั้งนี้ยังพบด้วยว่า เกมส์สังคมมีอัตราการเติบโตสูงมาก โดยตลาดทั้งโลกมีมูลค่า 1.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2009 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 192,000 ล้านบาท) ในปี ค.ศ. 2012 นี้ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.64 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 268,000 ล้านบาท) ในอีก 2 ปีข้างหน้า ลองคิดดูสิครับว่าตลาดใหญ่ขนาดไหน เกมส์สังคมเหล่านี้เกือบทั้งหมด เป็นเกมส์ที่สามารถเล่นได้ฟรี ดังนั้นเงินจำนวนกว่าแสนล้านบาท ที่หมุนเวียนอยู่ในเกมส์เหล่านั้น ล้วนเป็นเงินที่ผู้เล่นส์ยินดีใช้จ่าย เพื่อให้สามารถเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ ในเกมส์เชิงสังคมนี้ได้อย่างมีความสุขตามกำลังเงินของตน ผู้เชี่ยวชาญต่างเชื่อว่า อีกไม่นาน ตลาดเกมส์เชิงสังคมที่มีต้นทุนต่ำเหล่านี้ จะมีขนาดใหญ่กว่าเกมส์แบบคอนโซล (พวกเครื่องเล่นและอุปกรณ์เกมส์ต่างๆ) เสียอีกครับ

เรากำลังจะอยู่ในยุคที่เกมส์กำลังจะซึมซับเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ จะแฝงเกมส์อยู่ข้างในเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่างๆ การศึกษา การทำมาค้าขายระหว่างกัน ธุรกรรมการเงินต่างๆ ในองค์กรและบริษัทต่างๆ จะเริ่มมีการนำสิ่งที่เรียกว่ากลศาสตร์เกมส์ (Game Mechanics) เข้าไปใช้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้การทำงานที่เมื่อก่อนน่าเบื่อ น่าง่วงหงาวหาวนอน กลายเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วสนุก เพลิดเพลิน ถึงขั้นติดงอมแงมเลยหล่ะครับ การทำงานที่ใช้หลักของกลศาสตร์เกมส์ จะมีประสิทธิภาพสูง ทำแล้วรู้สึกเพลินพอใจ ความรู้สึกแบบเดิมๆ ของการ "ทำ"งาน จะสามารถเปลี่ยนเป็น "เล่น"งาน ได้

เรื่องของการทำให้การทำงานกลายมาเป็นเกมส์นี้เป็นเรื่องที่นิตยสาร Time ถึงกับยกให้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องต่อไป (The Next Big Thing) สำหรับปี ค.ศ. 2013 เลยครับ นักวิเคราะห์ประมาณกันว่าภายในปี 2015 ธุรกิจประมาณ 25% จะต้องมีการนำเอากลศาสตร์เกมส์ไปใช้ในการทำธุรกิจ และอีก 2 ปีข้างหน้าคือปี ค.ศ. 2014 บริษัทชั้นนำของโลก 2000 แห่งจะต้องมีการนำกลศาสตร์ของเกมส์เข้าไปใช้ในองค์กรอย่างน้อย 70%

ดีใจด้วยนะครับ เรากำลังจะได้เล่นเกมส์ในที่ทำงานกันอย่างเปิดเผยแล้ว ......




14 พฤศจิกายน 2555

Micro Air Vehicle (ตอนที่ 3)




เรื่องของอากาศยานจิ๋ว หรือ MAV (Micro Air Vehicle) เริ่มกลายมาเป็นกระแสที่มาแรง และเป็น Talk of the Town ที่ดังขึ้นเรือยๆ นะครับ จะว่าไป MAV ก็คือ UAV ขนาดเล็กนั่นเอง (Unmanned Aerial Vehicle) ซึ่งเมื่อก่อนในวงการวิชาการมีการศึกษาวิจัยในเรื่อง UAV กันน้อยมากๆ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูงมาก ทำให้สามารถลงทุนวิจัยได้เฉพาะหน่วยงานรัฐขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมของประเทศสหรัฐอเมริกา และอิสราเอล แต่ในปัจจุบัน UAV ขนาดเล็กเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ การย่อส่วนของ UAV ให้เล็กลงนี้ กลับทำให้เกิดการขยายขอบเขตการนำไปประยุกต์ใช้ ออกไปอย่างกว้างขวาง จนใน 2-3 ปีมานี้ มีนักวิจัยเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีนี้กันมากมายเลยครับ จนสามารถสร้างประชาคมวิจัยขนาดใหญ่ขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันมีการประชุมวิชาการนานาชาติของตัวเองที่เรียกว่า The International Micro Air Vehicle Conference ซึ่งจัดมา 2 ครั้งแล้ว และในปีหน้าคือปี 2013 จะไปจัดกันที่ประเทศฝรั่งเศสที่เมืองตูลูส

น่าเสียดาย ... ที่บ้านเรายังให้ความสนใจในเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมากมาย งานประยุกต์ของ MAV กว้างขวางมากครับ เช่น เราสามารถนำมันมาใช้ทางด้านการเกษตร เช่น ติดเซ็นเซอร์ให้มันบินขึ้นไปเก็บข้อมูลต่างๆ ของไร่นา เก็บข้อมูลและทำแผนที่ผลผลิต การตรวจหาสิ่งผิดปกติในไร่นา ทางด้านสวัสดิภาพและความมั่นคง เราสามารถใช้ติดตาม ความเคลื่อนไหวของผู้ต้องสงสัย การต่อต้านการก่อการร้าย ตรวจเส้นทางยาเสพติด การปกป้องพื้นที่ป่าไม้ การติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่า ในด้านการบันเทิงและท่องเที่ยว ก็สามารถใช้ MAV บินขึ้นไปถ่ายทำคลิปวีดิโอเพื่อถ่ายภาพมุมกว้างจากด้านบน ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนต้นทุนจะค่อนข้างสูงมาก แต่อีกไม่นาน ใครๆ ก็จะสามารถทำได้ครับ

ในขณะที่นักเทคโนโลยีบ้านเรายังคงหลับไหลอยู่นั้น ใกล้ๆ บ้านเราที่ประเทศอินเดียมีการพัฒนาเรื่องนี้ไปค่อนข้างไกลเลยครับ  โดยเมื่อต้นปี 2012 นักวิจัยอินเดียได้ทำการสาธิตการบิน MAV ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 300 - 500 กรัม โดยระบบ autopilot อย่างสมบูรณ์แบบ โดยสามารถโปรแกรมการบินไปยังพิกัดต่างๆ ได้ล่วงหน้า หรือสามารถควบคุมจากระยะไกลได้ หากต้องการเปลี่ยนพิกัดในขณะทำการบิน ซึ่งเบื้องต้น มีระยะควบคุม 10 กิโลเมตร และทำการบินที่ระดับความสูง 1 กิโลเมตร ความสำเร็จของโครงการดังกล่าวเกิดจากการสนับสนุนของรัฐบาล ให้หน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนของอินเดียหลายแห่ง เช่น Idea Forge, Mumbai, Aurora Integrated Systems และ Seagul Technologies Bangalore จะเห็นว่าอินเดียนั้นกำลังขมักเขม้นพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง และในอนาคตเราอาจจะได้เห็นอินเดียผงาดในเวทีนวัตกรรมระดับโลก

ที่น่าสนใจก็คือ ในปีหน้า (ค.ศ. 2013) อินเดียจะจัดการแข่งขัน MAV ระดับชาติขึ้นมา เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจในเรื่องของ MAV แก่เยาวชนและนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี นับเป็นกลุ่มที่ 3 ของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่มีความตื่นตัวในเรื่อง MAV อย่างจริงจังเลยครับ