27 เมษายน 2551

Super Sense - เทคโนโลยีกำหนดชะตาประเทศ


สิ่งมีชีวิตทุกชนิดเกิดมาพร้อมกับประสาทสัมผัส ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำอย่างแบคทีเรีย จนถึงสัตว์ชั้นสูงอย่างมนุษย์ เซ็นเซอร์เพื่อรับรู้สภาพล้อมรอบตัว มีหลากหลาย เช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับความดัน ตรวจจับเสียง ตรวจจับแสง ตรวจจับกลิ่นและเคมี มนุษย์มีความฝันที่จะติดเซ็นเซอร์ให้กับสิ่งมีชีวิต เพื่อทำให้สิ่งมีชีวิตมีความสามารถเหนือธรรมชาติ หรือมี Supersense ขึ้นมา ทหารอเมริกันในสนามรบมีเทคโนโลยีตาทิพย์ จมูกทิพย์ ที่สามารถรับรู้ความเคลื่อนไหวของข้าศึก และปล่อยอาวุธเข้าทำลายข้าศึกจากระยะเป็นพันๆ กิโลเมตร โดยไม่จำเป็นต้องเห็นหน้า หรือแม้กระทั่งส่งอาวุธจากใต้พื้นน้ำลึกหลายสิบเมตร โดยไม่ได้โผล่พ้นพื้นน้ำขึ้นมาเป็นเดือนๆ เซ็นเซอร์เป็น Enabling Technology หรือ เทคโนโลยีก่อกำเนิด ซึ่งจะไปจับคู่กับเทคโนโลยีอื่นๆ แล้วไปมีผลทำให้เทคโนโลยีนั้นๆ ก้าวหน้ายิ่งขึ้น มีความสามารถยิ่งขึ้นจนล้ำหน้าคู่แข่งได้ เช่น การนำเซ็นเซอร์มาใช้ในทางการแพทย์ ก็จะทำให้การตรวจรักษาโรค มีความแม่นยำสูงขึ้น สามารถกำหนดการรักษาได้ดีขึ้น หากนำเซ็นเซอร์มาใช้ในการเกษตร ก็จะทำให้การเกษตรมีความแม่นยำสูง สามารถที่จะกำหนดการใช้ input อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตหรือ output ที่คุ้มค่า หากนำหลอมรวมกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ก็จะทำให้หุ่นยนต์มีประสาทสัมผัสที่เหนือสิ่งมีชีวิตได้ เซ็นเซอร์จึงเป็นศาสตร์ที่ประเทศที่ต้องการเป็นผู้นำเทคโนโลยี จะต้องพยายามเป็นเจ้าของและจับจองพื้นที่ให้ได้


ภาพด้านขวา - หุ่นยนต์แมงกระพรุนที่นำออกมาโชว์ตัวในงานนิทรรศการเทคโนโลยี ณ เมือง Hannover ประเทศเยอรมัน สามารถว่ายน้ำ ดำน้ำขึ้นๆลงๆ ขึ้นมาเติมพลังงานที่ผิวน้ำ สามารถสื่อสารกับตัวอื่นเพื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายได้

26 เมษายน 2551

World Conference on Agricultural Information and IT 2008


ในช่วงเดือนสิงหาคม 2551 นี้ จะมีงานประชุมทางด้านการเกษตรที่ญี่ปุ่น งานนี้มีชื่อว่า World Conference on Agricultural Information and IT ซึ่งเป็นการเอางานประชุมใหญ่ๆ 3 งานมาจัดพร้อมกัน ได้แก่ 12th World Congress of the International Association of Agricultural Information Specialists (IAALD), 6th Conference of the Asian Federation of Information Technology in Agriculture (AFITA) และ 6th World Congress on Computers in Agriculture (WCCA) การประชุมนี้จะจัดระหว่างวันที่ 24-27 สิงหาคม 2551 นี้ ณ Atsugi Campus of the Tokyo University of Agriculture ("TOKYO-NO-DAI") ซึ่งเป็นเมืองบริวาลชานกรุงโตเกียวครับ ผมเคยไปอยู่ที่เมืองนี้ 2 อาฑิตย์ ไปฝึกอบรมที่ Tokyo Polytechnic University ซึ่งมหาวิทยาลัยนี้เน้นเรื่องการ์ตูน ภาพยนตร์ มัลดิมีเดีย และพวกอะนิเมชั่น กับพวกมีเดียแนวใหม่ๆ เพิ่งจะรู้ว่าใกล้ๆกันก็มีมหาวิทยาลัยทางด้านเกษตรด้วย แต่ก็เป็นเกษตรแนวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสูงครับ


การประชุมครั้งนี้เขาจะเน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร การประมวลผลความรู้ (ไม่ใช่การจัดการความรู้นะครับ การประมวลผลความรู้จะมีระดับความซับซ้อนสูงกว่า นั่นคือการเอาข้อมูลมาสร้างองค์ความรู้ครับ) รวมไปถึงการนำไปใช้งานร่วมกันในวงกว้าง โดยจะมีหัวข้อย่อย ต่างๆ ได้แก่ ICT policies for rural development, ICT adoption in rural community, e-government, agricultural resources data banks and databases, agricultural information system, e-agribusiness, traceability and virtual agri-markets, GAP, extension service, digital library, education, training, pedagogical issues and e-learning, intellectual property, security and privacy , social, institutional, and policy issues,decision support system, remote sensing and GIS precision farming, sensors, grid, web and communication systems, modeling, pattern recognition, information retrieval, iltering and extraction, data/text/Web mining, social media/Web 2.0 technologies, metadata, standards and cataloging, taxonomy, ontology and the semantic Web, digital preservation, knowledge management, open source tools and frameworks for agricultural information, mobile services, human-computer interaction


ท่ามกลางวิกฤตทางด้านราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ภาวะโลกร้อนที่ทำให้การคาดการณ์สภาพผลผลิตเป็นงานที่ยากทวีคูณ น้ำที่นับวันจะขาดแคลน ที่ดินที่เหมาะกับการเกษตรมีเหลือน้อยลงทุกวัน วันนี้ผมเชื่อแล้วว่า เกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) เป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้แล้ว .........

24 เมษายน 2551

Smart Dust - ฝุ่นฉลาดสำหรับการเกษตร


Smart Dust หรือ ฝุ่นฉลาด หรือ ขี้ผงอัจฉริยะ นั้นแรกเริ่มคิดค้นโดย มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ (UC Berkeley) โดยให้เซ็นเซอร์สามารถติดต่อพูดคุยกันแบบไร้สาย ไม่ต้องคำนึงว่าที่ตั้งของแต่ละอุปกรณ์ (หรือโหนด) แต่ละตัวจะอยู่ตรงไหน ขอเพียงให้มีโหนดอย่างน้อย 2 โหนดอยู่ในรัศมีที่สามารถคุยกันถึง เครือข่ายทั้งก้อนก็จะสามารถทำงานได้ในรัศมีที่กว้างไกลไม่สิ้นสุด ยกตัวอย่างหากมีเซ็นเซอร์อยู่ 20 ตัว แต่ละตัวมีรัศมีทำการได้ 200 เมตร (ปัจจุบันสามารถทำให้รัศมีไปไกลมากกว่า 1 กิโลเมตร) เราสามารถนำเซ็นเซอร์มาวางเรียงกันได้ความยาว 4 กิโลเมตร โดยเซ็นเซอร์แต่ละตัวสามารถคุยข้ามไปยังเซ็นเซอร์ตัวไหนก็ได้ ดังนั้นหากเซ็นเซอร์ตัวใดตัวหนึ่งเชื่อมโยงกับเครือข่ายภายนอก เช่น เอา Pocket PC มาจ่อที่เซ็นเซอร์ตัวใดตัวหนึ่ง ก็สามารถดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดที่เซ็นเซอร์แต่ละตัวบันทึกไว้ออกมาได้หมด เครือข่ายเหล่านี้ยังมีความสามารถในการรักษาตัวเอง (Self Healing) เช่น หากมีโหนดใดหยุดทำงานไป มันก็จะพยายามติดต่อกับตัวที่เหลือแล้วสร้างแผนที่เครือข่ายขึ้นใหม่ ปัจจุบันได้มีความตื่นตัวในอุตสาหกรรมเซ็นเซอร์ประเภทนี้เป็นอย่างมาก มีบริษัทผู้ผลิตและผู้ใช้กว่า 200 บริษัททั่วโลกได้รวมตัวกัน เรียกว่า ซิกบีคอนซอร์เทียม (Zigbee Consortium) เพื่อกำหนดมาตรฐานและร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ ปัจุบันเราสามารถสั่งอุปกรณ์แบบ Zigbee นี้มาทดสอบและใช้งานได้ โดย ทีมงานผู้เขียน กับทีมงานของ ดร.อดิสร ที่ NECTEC กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายแบบ Zigbee เพื่อนำไปใช้ในไร่องุ่น และในฟาร์มเลี้ยงไก่ ซึ่งแต่ละโหนดนั้นจะติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสง ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน อุณหภูมิ เซ็นเซอร์ตรวจวัดความเคลื่อนไหว โดยตัวมันจะติดตั้ง GPS และเซลล์สุริยะเพื่อที่จะให้มันสามารถเก็บเกี่ยวพลังงานมาใช้เอง เจ้าเครือข่ายเซ็นเซอร์นี้จะรวบรวมข้อมูลและนำมาประมวลผล เพื่อให้เจ้าของฟาร์มเกษตรสามารถที่จะตัดสินใจในกิจกรรมของฟาร์ม ทั้งนี้เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีดังกล่าวจะได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะภาวะโลกร้อนทำให้สภาพผลผลิตมีความไม่แน่นอน และต้องการข้อมูลเพื่อตัดสินใจมากขึ้น

22 เมษายน 2551

Mobile Pod รถยนต์แห่งอนาคต (ตอนที่ 4)


วันนี้กลับมาคุยถึงเรื่องที่ค้างไว้ในส่วนของ Mobile Pod รถยนต์แห่งอนาคตกันนะครับ ประเด็นที่นักอนาคตศาสตร์ให้ความสนใจในเรื่องอนาคตของรถยนต์ที่คุยกันไปแล้วก็คือ รถยนต์จะเล็กลงๆ จนกลายเป็นของใช้จุ๋มจิ๋ม น่ารัก ราคาถูกลง จนทำให้มันอาจกลายเป็นของที่เปลี่ยนได้บ่อยๆ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมถึงกับใช้คำว่า Disposable Car คือรถยนต์ใช้แล้วทิ้ง แต่ผมว่ามันคงไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ อาจจะทิ้งยากกว่ามือถือนิด หรือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุคนิดนึง


เทรนด์สำคัญอีกเรื่องนึงสำหรับอนาคตของรถยนต์ก็คือ รถยนต์แห่งอนาคตจะเดินเครื่องด้วยไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาไฮโดรเจนมาเผาผลาญใน Fuel Cell หรือการชาร์จไฟเข้าไปในแบตเตอรีของรถยนต์ก็ตามแต่ ซึ่งเป็น 2 แนวทางที่กำลังแข่งขันกัน โดยแนวทางที่สองคือการชาร์จไฟบ้านเข้าไปในแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้านั้น กำลังเป็นที่นิยมสำหรับผู้ขับขี่ในเมือง โดยรถยนต์ไฟฟ้ามักจะเป็นรถยนต์คันที่ 2 ซึ่งใช้เฉพาะขับขี่ในเมืองซึ่งใช้ความเร็วค่อนข้างต่ำ รถยนต์มีขนาดเล็กประหยัดพลังงาน ในตลาดตอนนี้ผู้ผลิตรถยนต์เริ่มให้ความสนใจกับรถยนต์ประเภทชาร์จไฟกันมากขึ้นแล้วล่ะครับ ทำเล่นไปนะครับ รถยนต์แบบ Fuel Cell อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ หากรถยนต์ชาร์จไฟที่เรียกกันติดปากว่า EV (Electric Vehicle) ได้รับความนิยมขึ้นมา โดยส่วนตัวของผมคิดว่าประเทศไทยอย่าไปทำเลย Fuel Cell เจ๊งแน่ๆครับ เพราะกระแสมันโหนมาทาง EV มากกว่านะตอนนี้ ประเทศจีนซึ่งถูกกล่าวหาว่าผลิตสินค้าโดยใช้พลังงานไม่สะอาดอย่างถ่านหิน เขากลับเป็นประเทศที่นำหน้าที่สุดในเรื่องของความกระตือรือล้นในการผลิตรถยนต์ EV ของโลกแล้วครับตอนนี้ ตัวอย่างรถ EV รุ่นหนึ่งที่จีนเขาผลิตไปขายในอเมริกา มันเป็นรถที่ดูภายนอกไม่เหมือนรถชาร์จไฟเลยครับ รถรุ่นนี้ทำความเร็วได้ถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งได้ไกลถึง 250 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง

วันหลังผมจะมาคุยให้ฟังต่อนะครับว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับเทคโนโลยีรถยนต์โลก ประเทศไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตทั้งรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆเนี่ย ถ้าไม่ใส่ใจกับพลวัตของเทคโนโลยีเกิดใหม่ (Emerging Technologies) กับพวกเทคโนโลยีก่อกำเนิด (Enabling Technologies) กันบ้าง คำว่าฮับนู่น ฮับนี่ คงไม่ใช่ของที่ยั่งยืนนะครับ ........

20 เมษายน 2551

Interactive Fabrics - อาภรณ์อันตรกริยา (ตอนที่ 1)


-


เมื่อประมาณสัก 2-3 อาฑิตย์ที่ผ่านมานั้น บริษัทฟิลิปส์ได้นำเสื้อที่สามารถเปล่งแสงได้ (Light-emitting Clothe) มาแสดงในประเทศไทย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ หรือ Wearable Electronics ซึ่งบริษัทฟิลิปส์ทุ่มเทพัฒนามาเป็นเวลาหลายปี น่าเสียดายที่บริษัทฟิลิปส์ที่เป็นบริษัทลูกในประเทศไทย ไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ รวมทั้งมีความรู้และให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวน้อยมาก ผิดกับบริษัทฮอนด้าที่นำเอาหุ่นยนต์น่ารักอย่างอาซิโม ออกแสดงอย่างครึกโครมจนเป็นที่รู้จักกันทั้งประเทศ น่าเสียดายที่บริษัทแม่ของฟิลิปส์ได้นำเอาเสื้อเปล่งแสงต้นแบบตัวดังกล่าวกลับไปแล้ว โดยส่งผลกระทบต่อสังคมผู้ประกอบการไทยทางด้านสิ่งทอน้อยมาก เรียกว่าแทบจะไม่มีใครในวงการสิ่งทอไทยรู้ถึงการมาของมัน และแทบจะไม่รู้เลยว่าโอกาสในการเป็นฮับทางด้านสิ่งทอแนวใหม่นั้นได้หลุดลอยไปพร้อมๆกันด้วย

ความฝันที่จะทำให้สิ่งทอ ซึ่งเป็นวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ไร้หัวคิด ให้มีความฉลาดและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆมัน และต่อผู้สวมใส่ มีฟังก์ชันมากกว่าแค่เป็นอาภรณ์ปกปิดร่างกาย เริ่มเป็นจริงเมื่อเร็วๆ นี้ โดยนักวิจัยทั่วโลกพยายามทำวิจัยอย่างขมักเขม้นเพื่อใส่ฟังก์ชันอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในเสื้อผ้า นักวิจัยที่ MIT ได้นำเส้นด้ายนำไฟฟ้าถักทอเข้าไปในเนื้อผ้า ทำให้เสื้อผ้ามีวงจรไฟฟ้า มีการออกแบบสิ่งทอนวัตกรรมหลายชิ้น เช่น หมอนแสดงความรู้สึก คีย์บอร์ดผ้า ซึ่งสามารถซักรีดได้ตามปกติ เมื่อ 2-3 ปีก่อน ฟิลิปส์ได้ออกจำหน่ายเสื้อแจ็คเก็ตสำหรับเล่นสกี ซึ่งติด GPS และเครื่องมือเตือนภัย ซึ่งสามารถติดตามหากเกิดการพลัดหลงหรือเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนั้นฟิลิปส์ยังพัฒนาเสื้อตรวจสุขภาพที่สามารถติดตาม และวิเคราะห์สถานภาพทางด้านสุขภาพของผู้สวมใส่ เรื่องนี้ผมจะทยอยมาเล่าให้ฟังนะครับ ...... เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยอาจไม่ตกรถไฟในเรื่องนี้ เพราะ NECTEC กำลังให้ความสนใจ และเริ่มตั้งเครือข่ายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ทางด้าน Electronic Textile เร็วๆ นี้ครับ .............





17 เมษายน 2551

นาโนโอท็อป (Nano OTOP) - ตอนที่ 6


ผู้อ่านบางท่านอาจเคยได้ไปเยี่ยมชมหมู่บ้านถวาย อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และข้าวของที่ทำจากไม้ ซึ่งปัจจุบันได้รับการปรับปรุงรูปแบบจนกระทั่งได้กลายมาเป็นจุดท่องเที่ยวสมบูรณ์แบบ ที่หมู่บ้านถวายนี่เอง ท่านผู้อ่านสามารถเลือกหาสินค้าที่ถูกใจได้หลากหลาย ทั้งของตกแต่งบ้าน ตกแต่งที่ทำงาน เฟอร์นิเจอร์ รูปภาพ โคมไฟ รวมไปถึงหัตถกรรมที่เป็นเซรามิกส์ ทุกชิ้นถูกทำขึ้นด้วยฝีมืออันปราณีตของชาวบ้าน ด้วยราคาที่ไม่แพงนัก และยังมีบริการนำส่งไปถึงบ้านที่กรุงเทพฯ ในเวลาที่รวดเร็วพร้อมกับราคาที่ถูกอย่างเหลือเชื่ออีกด้วย ฟังดูแล้ว ด้วยจุดขายและเอกลักษณ์อันโดดเด่นของหมู่บ้านถวาย นาโนเทคโนโลยีดูไม่น่าจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหมู่บ้านถวายเลย แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยยังมีหมู่บ้านหัตถกรรมอื่นๆ อีกที่ไม่ได้โชคดีอย่างหมู่บ้านถวาย ทำให้การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติพิเศษยังมีความจำเป็นอยู่


ในช่วง 2-3 ปีมานี้ได้เกิดความตื่นตัวอย่างมากในกลุ่มประเทศยุโรป โดยเฉพาะยุโรปเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ในเรื่องนาโนทคโนโลยีที่เกี่ยวกับไม้ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรทางด้านป่าไม้เยอะมาก ในปี พ.ศ. 2547 ทางกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ได้ร่วมกับสมาคมไม้และกระดาษอเมริกัน พร้อมกับกระทรวงพลังงาน จัดทำแผนที่นำทางของนาโนเทคโนโลยีสำหรับป่าไม้ขึ้นมา โดยได้ตีพิมพ์รายงานดังกล่าวออกมาในปีที่แล้ว พร้อมๆ กับประเทศแคนาดา และสหภาพยุโรป นับเป็นความบังเอิญอย่างมาก เมื่อย้อนกลับมาดูในประเทศไทยเองแล้วจะพบว่ามีนักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีทางด้านไม้น้อยมาก ทั้งๆ ที่ประเทศของเรามีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับไม้และกระดาษพอสมควร


ในแผนที่นำทางนาโนเทคโนโลยีเกี่ยวกับไม้ของ 3 มหาอำนาจข้างต้นนั้นได้มองไปที่การใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพของไม้ ได้แก่
การพัฒนาวัสดุนาโนผสม (nanocomposites) ของไม้กับวัสดุอื่น เช่น ไม้กับพลาสติก ไม้กับดิน ไม้ผสมดินผสมพลาสติก เพื่อนของผู้เขียนท่านหนึ่งชื่อ ดร. เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำวิจัยวัสดุนาโนผสมระหว่างไม้กับพลาสติกใช้แล้ว เพื่อประดิษฐ์วัสดุที่มีหน้าตาและสัมผัสเหมือนไม้ ซึ่งสามารถนำไปเคลือบผิววัสดุอื่นๆ ได้ ขณะนี้ผู้เขียนทราบมาว่าประเทศจีนเริ่มมีความสนใจในการนำวัสดุประเภทนี้มาใช้ในสิ่งก่อสร้าง ลองคิดดูหากเราสามารถผลิตไม้ที่ใช้กระบวนการเดียวกับการผลิตพลาสติก ตลาดทางด้านนี้จะเป็นอย่างไร
การพัฒนาความแข็งแรงแก่ไม้ ทำให้ไม้มีความแข็งแรงเพื่อใช้ในงานก่อสร้าง รวมทั้งทนการติดไฟด้วย เช่น การผสมอนุภาคนาโนเคลย์เข้าไปในเนื้อไม้ การเคลือบผิวด้วยสารกันไฟหรือดัดแปลงพื้นผิวในระดับโมเลกุล
การนำนาโนเทคโนโลยีมาช่วยลดมลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมกระดาษ และการแปรรูปไม้
การทำให้ไม้ทนความชื้น หรือ กันชื้น เช่น การเคลือบผิวด้วยการผ่นอนุภาคนาโนผสมพอลิเมอร์กันน้ำลงไปบนผิวไม้ การเปลี่ยนโครงสร้างจุลภาคของเส้นใยไม้ด้วยการอบในสุญญากาศ
การทำให้ไม้ทนแสง UV และป้องกันปลวกโดยใช้อนุภาคนาโน
การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และวัสดุใหม่จากไม้ รวมไปถึงการนำของเสียจากอุตสาหกรรมไม้มาทำผลิตภัณฑ์ใหม่

16 เมษายน 2551

Solar Farm - ตอนที่ 3


สวัสดีปีใหม่สงกรานต์ครับ ช่วงสงกรานต์นี้หลายๆ ท่านคงเดินทางไปต่างจังหวัดกัน ปีนี้ผมไปแค่ใกล้ๆ ไปค้างที่แปดริ้วหรือฉะเชิงเทราคืนนึง ขับรถสำรวจพื้นที่แถว อ.แปลงยาว ฉะเชิงเทรา ไปพบกับฟาร์มเลี้ยงควายที่ให้นม ซึ่งเขากำลังทำจนถึงระดับเชิงพาณิชย์เลยครับ ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินโฆษณา เชิญชวนให้ดื่มนมแพะ บอกอย่างนั้นอย่างนี้ว่ามีคุณค่าดีกว่านมวัว แต่ผมเคยลองชิมดูแล้ว ไม่สะดวกกับกลิ่นของนมเลยครับ นมแพะค่อนข้างมีกลิ่นคาว เลยทำให้การตลาดนมแพะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่นมควายที่ผมลองชิมที่ฟาร์มนี้ไม่มีกลิ่นคาวเลย กลับหอมอร่อย ควายที่เขาเลี้ยงเป็นควายพันธ์มูร่าห์ มันฉลาดแสนรู้และน่ารักมาก แปลกมาก ฟาร์มของเขาไม่มีกลิ่นมูลควายเลย แห้งสะอาด นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของนวัตกรรมเกษตรกรรมของไทยครับ เมื่อพิจารณาว่าประเทศเรามีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ตั้งแต่ท้องพ่อท้องแม่ ประกอบกับช่วงนี้สต็อกอาหารของโลกลดลงฮวบฮาบ จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่เป็นโกดังอาหารของโลก จะถึงคราวรุ่งเรื่อง


วันนี้ผมพูดถึงเรื่องเกษตรขึ้นมา เพราะกำลังจะบอกว่า ในบรรดาพลังงานทางเลือกทั้งหมดนั้น พลังงานแสงอาฑิตย์อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะมันสะอาดจริงๆ ไม่เหมือนกับ Ethanol และ Biodiesel ที่โลกกำลังเป็นห่วงว่ามันไม่ใช่พลังงานสะอาด เพราะมันกำลังเป็นสาเหตุให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าอย่างบ้าบิ่นในเขตร้อน ทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และอเมริกาใต้ อีกทั้งยังทำลายการเกษตรที่ผลิตอาหารให้เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดนัก เพราะเชื้อเพลิงรูปแบบใหม่ไม่ได้ถูกลง แต่กลับทำให้อาหารแพงขึ้น ผลจากการที่ในสหรัฐอเมริกามีความต้องการ ethanol มากขึ้น เกษตรกรจึงหันมาปลูกข้าวโพดเพื่อผลิตเชื้อเพลิง ทำให้ข้าวโพดแพงขึ้น เกษตรกรที่เคยปลูกถั่วเหลืองเลยเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดมากขึ้น ทำให้ถั่วเหลืองในสหรัฐขาดตลาด เมื่อเป็นเช่นนั้นราคาส่งออกถั่วเหลืองไปสหรัฐก็พุ่งทยานในบราซิล ทำให้เกษตรกรในบราซิลกว้านซื้อที่ที่เป็นทุ่งหญ้าปศุสัตว์ เพื่อมาปลูกถั่วเหลือง ทำให้พื้นที่ทุ่งหญ้าปศุสัตว์ลดลง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์จึงรุกที่ป่า โค่นต้นไม้ลงเพื่อขยายบริเวณการเลี้ยงสัตว์ ดังนั้นการเติมน้ำมันผสมเอธานอลในอเมริกา เท่ากับการโค่นต้นไม้ในอเมซอนอย่างซับซ้อนมาก องค์การอาหารโลกกำลังเริ่มออกมาต่อต้านการใช้พลังงานชีวภาพในประเด็นที่เอาอาหารมาเป็นเชื้อเพลิง โดยใช้คำพูดที่รุนแรงว่า "เท่ากับเป็นการข่มขืนความเป็นมนุษย์" เลยทีเดียว ข้าวโพดที่ใช้กรอกถังน้ำมันรถ SUV หนึ่งถังนั้น เท่ากับที่มนุษย์กินกันใน 1 ปี

ฟังดูเริ่มเชื่อแล้วนะครับว่า Solar Cell กำลังจะกลับมาอีก หลังจากที่โดนกระแสเชื้อเพลิงชีวภาพกลบไปพักหนึ่ง ในแง่เทคโนโลยีแล้ว แน่นอนการทำ biofuel ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ต่ำ ยังไงเสีย biofuel ก็ยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วจะเป็นพลังงานสะอาดได้ยังไงล่ะครับ ......

13 เมษายน 2551

Solar Farm - ตอนที่ 2


ต่อจากเมื่อวานนะครับ ที่ผมเล่าให้ฟังว่าไปเห็นบริเวณที่กำลังจะก่อสร้าง Solar Farm แถวๆ ถนนผ่านศึก-กุดคล้า ซึ่งเป็นทางขึ้นสู่เขาใหญ่ เป็นพื้นที่ในหุบเขาที่ไม่ใช่ป่า และผ่านการทำการเกษตรมาแล้ว จึงถือว่าเป็นการสร้างพลังงานสะอาดจริงๆ ไม่ได้เป็นการไปถางพื้นที่ป่าเพื่อผลิตพลังงาน ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักว่า พลังงานทางเลือกอย่างเช่น Ethanol และ Biodiesel เป็นตัวการทำลายธรรมชาติและทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น มากกว่าที่มันจะช่วยโลกเสียอีก แต่พลังงานทางเลือกอย่าง Solar Cell นั้นสามารถติดตั้งในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น บนหลังคาตึก หลังคาบ้าน และถ้าต้องการผลิตพลังงานระดับ Mass Scale ก็อาจใช้พื้นที่ที่ทำเกษตรไม่ได้ ดินเค็ม ดินเสีย เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้เอง ผมได้ลงไปปฏิบัติงานภาคสนามในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขากลับรถวิ่งผ่านถนนสายบายพาส ชะอำ-ปราณบุรี ได้สังเกตว่าพื้นที่ตลอดช่วงของทางหลวงสายนี้ ส่วนใหญ่จะถูกทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ค่อยมีการทำเกษตรกรรม เนื่องจากดินในบริเวณดังกล่าวมีปัญหาในการปลูกพืช ยังอดคิดไม่ได้ว่าน่าจะนำมาทำ Solar Farm พอคิดเสร็จก็เหลือบไปเห็นโครงเหล็กตั้งเรียงรายเป็นแผงยาว เป็นแถวๆ ประมาณเกือบร้อยแถว เห็นมีการนำ Solar Cell มาติดตั้งไปแล้วประมาณ 2 แถว แสดงว่าไอเดียของการติดตั้ง Solar Farm ในประเทศไทย เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง มีตัวตนแล้ว คิดไปแล้วประเทศไทยทำช้าเกินไปหรือเปล่า เพราะประเทศเยอรมันประเทศเดียว มีการติดตั้ง Solar Cell ไปแล้วกว่า 42,000 แห่ง และกำลังทยอยติดตั้ง Solar Farm ระดับ Large Scale มากขึ้นเรื่อยๆ


การไปปฏิบัติงานที่ไร่องุ่นไวน์กรานมอนเต้ เขาใหญ่ นั้นทำให้ผมได้สำรวจรีสอร์ท ที่พัก แถบมวกเหล็ก ปากช่อง หลายสิบแห่ง จากที่มีอยู่นับร้อยๆ แห่งในบริเวณชุมชนรอบๆเขาใหญ่ รีสอร์ทหลายๆแห่งมีความสนใจจะติดตั้ง Solar Cell ซึ่งผมคิดว่าเข้าท่ามากๆ เพราะช่วงกลางวันของเขาใหญ่นั้น อากาศค่อนข้างร้อน พลังงานแสงอาฑิตย์ที่ตกกระทบ วัดที่ไร่กรานมอนเต้ แล้วมีมากกว่า 1000 วัตต์ต่อตารางเมตร ในช่วงพีค แต่กลางคืนอากาศเย็น ดังนั้นเครื่องปรับอากาศจะใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงกลางวัน อากาศที่นั่นก็ค่อนข้างเคลียร์ ไม่มี aerosol ที่จะบดบังพลังงานแสง ในช่วงวันที่ไม่มีกลุ่มฝนจากลมมรสุม ฟ้าจะโปร่งมาก ดูจากผิวของคนแถบนั้นก็ได้ครับ
(ภาพบน - Solar Farm ในเยอรมัน ติดตั้งเพื่อป้อนไฟฟ้าแก่ชุมชนเกษตรที่อยู่ข้างๆ)

12 เมษายน 2551

Solar Farm - ตอนที่ 1


ท่านที่เป็นแฟนประจำของเขาใหญ่ แหล่งมรดกโลก ฝั่งปากช่อง อาจจะเคยใช้ทางลัดขึ้นเขาใหญ่จากมวกเหล็ก ซึ่งเรียกว่าเส้นทางสายผ่านศึก-กุดคล้า ถนนสายนี้เป็นเส้นทางที่สวยงามมาก ลัดเลาะตามหุบเขาที่เรียกว่า Asoke Valley จนไปตัดกับถนนธนะรัชต์ที่บ้านหมูสี ตลอดเส้นทางของทางหลวงสายเล็กๆ นี้ จะนำท่านผ่านอารมณ์อันหลากหลาย รีสอร์ทที่น่าพักหลายแห่ง ทั้งยังผ่านไร่องุ่นไวน์กรานมอนเต้ ที่ผมมักจะเดินทางไปปฏิบัติงานภาคสนามเป็นประจำทุกๆ 2 สัปดาห์ และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ภายหลังภารกิจที่ไร่กรานมอนเต้ ก็ได้เดินทางสำรวจเส้นทางต่อไป เมื่อเลยภูพระนางรีสอร์ทไปสักนิด ได้พบที่ดินแห่งหนึ่ง ซึ่งกำลังจะมีการก่อสร้าง Solar Farm เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาฑิตย์ โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทคนไทยกับสิงคโปร์ ในบริเวณที่ดินที่ผมได้เดินทางไปสำรวจนี้ มีการก่อสร้างอาคารสำนักงานของบริษัทที่มีรูปทรงแบบบูติค สอบถามผู้ที่นำชมได้ความว่าบริษัทจะมีอาคารสำนักงาน อาคารวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะมีวิศวกรและนักวิจัยผลิตภัณฑ์อยู่ประจำเพื่อออกแบบ Solar Cell แนวใหม่ เนื่องจากเจ้าของบริษัทมองว่า Solar Cell เป็นผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ จึงต้องการบรรยากาศที่สวยงาม อากาศดีที่มีโอโซนติดอันดับเจ็ดของโลก เพื่อมาเป็นแรงบันดาลใจให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาค้นคว้า product ใหม่ๆ ได้ รวมทั้งจะมีอาคารสัมมนาและฝึกอบรม


ความที่เป็นแฟนขาประจำของเขาใหญ่ และเป็นผู้ที่รักในภูมิทัศน์ของ Asoke Valley ผมรู้สึกชื่นชมผู้บริหารของบริษัทแห่งนี้ และรู้สึกภูมิใจที่เขาใหญ่ และปากช่อง กำลังจะเป็น Hi-Tech Valley นอกเหนือไปจากภาพของถิ่นคาวบอยที่พวกเราคุ้นเคย เพราะอีกหน่อย นอกจากบริเวณนี้จะมีไร่องุ่นไวน์อัจฉริยะ (GranMonte Smart/Intelligent Vineyard) ที่ผม ดร.อดิสรแห่งเนคเทค และทีมงาน กำลังพัฒนาอยู่ ยังจะมี Solar Farm ซึ่งจะผลิตพลังงานสะอาดให้บริเวณนี้ ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน ก็จะเริ่มมีบริษัทแนวไฮเทคอื่นๆ ย้ายมาอยู่แถบนี้มากขึ้น เช่น บริษัทซอฟต์แวร์ (คิดเอาเองนะครับ เพราะบรรยากาศแถบนี้น่าเขียนซอฟต์แวร์มากๆ จริงๆ) ลึกๆ แล้ว ผมยังหวั่นใจว่า Solar Farm ที่เขาใหญ่นี่จะคุ้มหรือเปล่า เพราะที่ดินที่นี่ก็ไม่ถูกเลย แถมดินแถบนี้ก็ค่อนข้างดี เหมาะจะทำการเกษตรมากกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ขอดูไปก่อนนะครับว่าต้นแบบ Solar Farm ที่นี่จะเป็นยังไง ถ้าใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าแบบพอเพียงสำหรับหุบเขาแห่งนี้ ก็อาจจะเข้าท่าก็ได้ ...... วันหลังผมจะมาเล่าให้ฟังนะครับว่าตอนนี้สหรัฐอเมริกาเขาวางแผนเรื่อง Solar Farm ระดับอภิมหาเมกะโปรเจคต์อย่างไรกันบ้าง เพื่อพาประเทศให้อยู่รอดหลังยุคน้ำมัน

11 เมษายน 2551

Nano-forestry - ตอนที่ 3


• อนุภาคนาโนเคลย์ (Nanoclays) หรือ ดินนาโน กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในการนำมาทำวัสดุผสมคอมโพสิต (Nanocomposite) กับวัสดุอื่นๆ เช่น ผสมกับไม้ ผสมกับพลาสติก หรือแม้แต่ผสมกับเซรามิกส์ หรืออาจจะนำไม้มาผสมกับพลาสติกก็ได้ ซึ่งนับเป็นก้าวใหม่ของวัสดุผสมที่เราสามารถทำการวิศวกรรมวัสดุไปถึงระดับนาโนเมตร มหาวิทยาลัยป่าไม้แห่งปักกิ่งและวิทยาลัยป่าไม้แห่งคุนหมิงกำลังขมักเขม้นวิจัยและพัฒนาวัสดุผสมระหว่างไม้กับอนุภาคดิน มหาวิทยาลัยเซี้ยงไฮ้กำลังทำการพัฒนานาโนเซรามิกส์ที่ทำจากไม้ที่เป็นของเหลือทิ้ง มหาวิทยาลัยป่าไม้แห่ฮาบิน ศึกษาวัสดุเคลือบไม้ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น บริษัท Polyone Asia ซึ่งเป็นผู้จัดหาผลิตภัณฑ์ทางด้านพลาสติกรายใหญ่ให้แก่อุตสาหกรรม ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกที่เป็นวัสดุผสมระหว่างอนุภาคดินกับพลาสติกที่ชื่อว่า Maxxam LST ที่มีน้ำหนักเบา เหนียว และทนทานต่อแรงอัด จากการตรวจสอบเอกสารอ้างอิงของผู้เขียน ทำให้พบว่าในเวลานี้ ประเทศจีนมีงานวิจัยทางด้านวัสดุผสมระหว่างไม้กับพลาสติกนำหน้าประเทศอื่นๆ ทั้งหมด เป็นไปได้ไหมว่าประเทศจีนกำลังคิดจะปฏิวัติอุตสาหกรรมพลาสติก ด้วยการเปลี่ยนจากต้นน้ำที่เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มาเป็นอุตสาหกรรมป่าไม้ ถ้าเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยคงจะลำบากแน่ๆในอนาคต เนื่องจากเรามีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ถือว่าเข้มแข็ง แต่อ่อนแอมากๆ ทางด้านวิศวกรรมไม้ ลองนึกดูว่า ผลิตภัณฑ์ไม้ในปัจจุบันที่สร้างจากไม้เป็นแท่งๆ นั้นต่อไปสามารถผลิตได้ง่ายๆ ด้วยการฉีดเข้าไปในแม่แบบเช่นเดียวกับพลาสติก เพื่อนของผู้เขียนท่านหนึ่งคือ ผศ.ดร. เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็กำลังทำการพัฒนาเทคโนโลยีตัวนี้อยู่


• บรรจุภัณฑ์ ในระยะ 2-3 ปีมานี้ ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในวงการบรรจุภัณฑ์ เพราะเกิดความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เรียกว่า “บรรจุภัณฑ์ฉลาด” (Smart Packaging) อย่างกว้างขวาง โดยผลิตภัณฑ์ฉลาดนอกจากจะมีห่อหุ้ม ยังมีฟังก์ชันหน้าที่เพิ่มเติม เช่น เซ็นเซอร์ตรวจสอบความสด จอแสดงผล หน่วยความจำ และการประมวลผลที่ติดไปกับผลิตภัณฑ์ได้ กรรมวิธีในการเคลือบระดับนาโนก็สามารถนำมาใช้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มขึ้น เช่น การเคลือบนาโนเคลย์บนผิวใยกระดาษเพื่อให้มีความสามารถในการกันอากาศและความชื้นเข้า-ออกจากหีบห่อ หรือทำให้หีบห่อมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น การเคลือบด้วยนาโนไททาเนียเพื่อให้หีบห่อมีความทนทานต่อการสึกกร่อนจากแสง UV
(ภาพบน - วัสดุผสมพลาสติกกับไม้ ความฉลาดทางวิศวกรรมที่สามารถนำไม้มาขึ้นรูปด้วยวิธีการเดียวกับการขึ้นรูปพลาสติก)

08 เมษายน 2551

Mobile Pod รถยนต์แห่งอนาคต (ตอนที่ 3)


หายหน้าไปหลายวันครับ เพิ่งกลับจากทริป จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผมไปทริปในจังหวะติด Long Weekend ด้วย สังเกตว่ารถราวิ่งกันหนาแน่น ดูเหมือนคนไทยจะยังไม่ค่อยรู้สึกรู้สากับราคาน้ำมันลิตรละ 30 กว่าบาทเท่าไหร่ จริงๆ เค้ามีผลการวิจัยออกมาแล้วครับว่า ทางด้านจิตวิทยาของผู้บริโภคน้ำมันนั้น แรงต้านจะอยู่ที่ลิตรละ 50-60 บาท ถึงจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้ขับขี่ครับ ดังนั้น ไปไหนมาไหนตอนนี้ ก็ยังเห็นนักท่องเที่ยวกันดาษดื่น แถมยังมีแข่งแรลลี่กันตลอด ไปได้ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้น้ำมันเท่าใด ทางกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันเขาก็กะว่าจะลองทดสอบ ราคาน้ำมันที่ลิตรละ 40 บาท กันในอีกไม่นานครับ เพื่อดูว่าคนจะยังรับกับราคานี้ได้หรือไม่ ถ้าได้ เราก็จะได้ใช้น้ำมันที่ราคา 40 บาทในไม่ช้า ซึ่งเขาก็จะรักษาราคาประมาณนี้ไว้สักพัก เพื่อไม่ให้คนต่อต้าน


เมื่อไม่กี่วันมานี้ ถ้าใครได้ดูสปอตโฆษณาชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นการโฆษณารถปิคอัพยี่ห้อ "ทาทา" ซึ่งใช้คอนเซ็บต์ว่า "สูงมาตั้งแต่เกิด" เป็นรถปิคอัพฐานกว้าง และยกตัวสูง ซึ่งเป็นรูปแบบที่อเมริกันชนนิยมมาก แต่ส่งมาทดสอบตลาดในเมืองไทย โดยได้เปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าคงจะซึมตลาดยาก เพราะเรื่องศูนย์บริการคงยังมีน้อย ประกอบกับตลาดรถปิคอัพเมืองไทย มีการแข่งขันสูงมาก แต่อย่างไรเสีย แนวโน้มนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า อินเดียเริ่มปรากฏกายขึ้นในตลาดรถยนต์โลกแล้ว แล้วก็เป็นนิมิตรหมายว่าต่อไปนี้ อินเดียจะเป็นเจ้าใหญ่ที่จะขนาบข้างญี่ปุ่น ด้วยการที่มีเทคโนโลยีของตัวเอง มีตลาดของตัวเองทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยส่วนหนึ่งอาจจะเข้ามาอาศัยฐาน supply chain ในประเทศไทย เพื่อผลิตแล้วส่งออก เพราะประเทศไทยค่อนข้างมีความพร้อมในเรื่องของอุตสาหกรรมยานยนตร์ หากรถยนต์ปิคอัพทาทา ซีนอน ได้รับการตอบรับที่ดีในเมืองไทย ก็ไม่แน่ว่าคิวต่อไปอาจจะเป็นของเจ้าทาทานาโน รถยนต์คันจิ๋ว Mobile Pod ที่จะเข้ามาวาดลวดลายบนท้องถนนของเมืองไทยนะครับ ..... วันต่อไปผมจะมาเล่าเรื่องแนวโน้มอื่นๆ ของเรื่องยานยนตร์แห่งอนาคตที่เป็น เมกะเทรนด์ ต้องติดตามให้ดีครับ ..........

02 เมษายน 2551

Nano-forestry - ตอนที่ 2


ไม้ต้านทานปลวก/เชื้อรา อนุภาคนาโนอาจใช้ในการป้องกันเชื้อราหรือปลวกกัดกินไม้ บริษัท Nanophase
Technologies
พัฒนาเทคนิคในการอัดอนุภาคนาโนของซิงค์ออกไซด์ และโลหะต่างๆ เข้าไปในเนื้อไม้ ซึ่งนอกจากจะฆ่าเชื้อโรคแล้ว ยังป้องกันแสง UV ด้วย มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้จดสิทธิบัตรในการบรรจุยาฆ่าปลวกและเชื้อราเข้าไปในแค็บซูลจิ๋ว ที่ทำจากพอลิเมอร์โดยสามารถควบคุมการปลดปล่อยได้ รวมไปถึงกระบวนการอัดอนุภาคนาโนเหล่านั้นเข้าไปในเนื้อไม้

ไม้ต้านทาน UV/การผุกร่อน นาโนเทคโนโลยีสามารถนำมาช่วยเคลือบผิวหรือทรีทเนื้อไม้ให้มีคุณสมบัติต้านทานแสง UV รวมไปถึงความชื้น อันเป็นสาเหตุแห่งการผุกร่อนของไม้ บริษัท BASF ของเยอรมันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วย อนุภาคนาโนที่สามารถพ่นแบบสเปรย์ลงไปบนพื้นผิวไม้ โดยมันจะเคลือบผิวและสร้างสภาพไม่ชอบน้ำขึ้นมา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิลพัฒนาเทคนิคในการเคลือบผิวไม้ด้วยอนุภาคนาโนและวัสดุอินทรีย์ที่สามารถดูดซับพลังงานจากแสง UV บริษัทในเยอรมันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอนุภาคนาโนไททาเนียมไดออกไซด์เป็นองค์ประกอบ เพื่อใช้เคลือบผิวไม้ที่มีสีอ่อน ให้ดูสดสวย และไม่ด่างดำ


ไม้ทนไฟ น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดในการใช้ไม้ให้โตขึ้นไปอีก เนื่องจากสมบัติที่ติดไฟง่ายทำให้มันมีขีดจำกัดใน การใช้งานหลายๆ ด้าน ปัจจุบันการทำให้ไม้ทนไฟมักทำโดยการอัดหรือเคลือบสารเคมีต้านทานการติดไฟเข้าไป ซึ่งจะไป ช่วยลดการเกิดปฏิกริยาเคมีในเนื้อไม้เมื่อเกิดความร้อนสูง แต่นักวิจัยกำลังศึกษาการใส่ส่วนผสมของอนุภาคนาโนเคลย์ลงไป เพื่อต้านทานการติดไฟ โดยอาจทำได้โดยการเคลือบผิวหรือการอัดเข้าไปในรูพรุนจิ๋วซึ่งมักจะมีอยู่ในเนื้อไม้

(ภาพบน - นาโนเทคโนโลยีช่วยทำให้ไม้ สามารถทำหน้าที่เป็นวัสดุตกแต่ง Outdoor ได้อย่างสดใส ทนนาน)

01 เมษายน 2551

Nano-forestry - ตอนที่ 1


ในปี พ.ศ. 2548 หรือประมาณ 2 ปีมาแล้ว ได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในวงการอุตสาหกรรมป่าไม้ของโลก นั่นคือ ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา และ กลุ่มสหภาพยุโรป ต่างก็ริเริ่มจัดทำแผนกลยุทธ์นาโนเทคโนโลยีด้านป่าไม้ขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย ประเทศทั้งสามกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่มีผลผลิตจากอุตสาหกรรมป่าไม้ในอันดับต้นๆของโลก เฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกามีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ 225 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเป็นเงินไทยประมาณ 9 ล้านล้านบาท) และทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1.1 ล้านคน ส่วนในสหภาพยุโรปอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้มีมูลค่ากว่า 150 พันล้านยูโร มีการจ้างงานจำนวน 1.6 ล้านตำแหน่ง ปรากฏการณ์ตื่นตัวในการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างนาโนเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาวัสดุที่แสนจะเก่าแก่อย่างไม้ ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญแต่อย่างใด หากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ก็จะพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของปรากฏการณ์โลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งตอนนี้ได้กลายมาเป็นกระแสอนุรักษ์ที่บูมขึ้นทั่วโลกหลังจากที่อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐได้รับรางวัลออสการ์จากการผลิตภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “An Inconvenient Truth” อันมีเนื้อหาที่เปิดเผยหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าโลกของเรากำลังเข้าสู่ยุคแห่งวิกฤตทางด้านภูมิอากาศ

จะว่าไปแล้ว ….ไม้ ….. เป็นวัสดุที่ใช้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Renewable) โดยการนำกลับมาใช้ใหม่นั้น อาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีรีไซเคิลก็ได้ เพราะถึงแม้มันจะถูกเผาทำลาย หรือย่อยสลายไปแล้ว ก็สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกโดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่าวัฏจักรคาร์บอน (Carbon Cycle) นั่นคือการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศกลับมาให้เป็นไม้อีก ไม้จึงเป็นวัสดุที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์ ที่ปัจจุบันเป็นตัวการในการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศในปริมาณสูงถึง 5-10 เปอร์เซ็นต์ของการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ ทำให้ปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์พยายามคิดค้นซีเมนต์แบบใหม่ โดยเฉพาะนาโนซีเมนต์ซึ่งจะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ สำหรับวัสดุอย่างไม้นั้น นาโนเทคโนโลยีสามารถนำมาใช้ปรับรูปโฉม เพื่อให้มันมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น สามารถใช้งานได้กว้างขวางขึ้น เพื่อที่จะได้เข้าไปแทนที่วัสดุอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็น โลหะ พลาสติก เซรามิกส์ ซึ่งใช้พลังงานค่อนข้างมากในการผลิต (การใช้พลังงานมากในการผลิต ย่อมหมายถึงการต้องเผาถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมัน เพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้านั่นเอง) การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ให้มีความพิเศษ ด้วยนาโนเทคโนโลยี นอกจากจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์หลากหลายไปใช้งานและช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังอาจช่วยให้เกิดความยั่งยืนด้านพลังงานอีกด้วย เพราะพืชเป็นเทคโนโลยีที่เก่าแก่และทรงประสิทธิภาพที่สุดในการดึงพลังงานจากแสงอาฑิตย์มาใช้งาน นาโนเทคโนโลยีอาจจะช่วยในการหาหนทางใหม่ๆ ในการนำเซล์ของพืชมาใช้เก็บเกี่ยวพลังงานจากแสงอาฑิตย์


และนี่คือ …. นาโนวนศาสตร์ …. ศาสตร์ในการนำเอาเทคโนโลยีจิ๋วมาช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้ ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งวันหลังผมจะทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ ……………
(ภาพบน - ไม้ ... เป็นวัสดุที่มีโครงสร้างซับซ้อนไปจนถึงระดับนาโน (ภาพจาก Robert J. Moon, USDA Forest Products Laboratory))