31 กรกฎาคม 2550

ฮ่องกงเล็งพัฒนาอุตสาหกรรมนาโน


ฮ่องกง เป็นดินแดนแห่งโอกาสเสมอ หลังจากได้กลับเข้าไปอยู่ในอ้อมกอดของแผ่นดินแม่จีนแผ่นดินใหญ่ ก็ยิ่งทำให้ฮ่องกงมีศักยภาพสูงขึ้นไปอีก ในช่วง 2-3 ปีหลังนี้ ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางของการประชุมใหญ่ๆ ทางด้านเทคโนโลยีใหม่ ไม่ว่าจะเป็น นาโนเทคโนโลยี ชีวสารสนเทศศาสตร์ วิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical engineering) ฮ่องกงมีความสนใจที่จะเป็นฮับทางด้านอุตสาหกรรมนาโนมานานแล้ว สถาบันการศึกษาชั้นนำอย่าง Hong Kong University of Science and Technology (ภาพทางขวามือ) ได้ลงทุนทางด้าน R&D เกี่ยวกับ นาโนเทคโนโลยีค่อนข้างเยอะมาก และที่เป็นจุดโดดเด่นของฮ่องกง และ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็คือ เขามีกระบวนการในการนำงานวิจัยออกไปทำการค้า โดยผ่านหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ (University Business Incubator) โดยตั้งเป็นบริษัทเพื่อบ่มเพาะธุรกิจใหม่ บริษัทจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อใช้เป็นกลไกในการนำงานวิจัย ไปสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจริงๆ แล้ว ประเทศไทยเองก็มีหน่วยงาน University Business Incubator อยู่ ดำเนินการโดย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)


และปลายปีนี้เอง วันที่ 11-14 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เขาจะจัดงานแสดงสินค้าและประชุมวิชาการชื่อ 2007 International Conference & Exhibition on Nanotechnology and Advanced Materials งานประชุมนี้จะเป็นเวทีให้นักเทคโนโลยี และ นักลงทุนได้มาจับมือพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อให้ฮ่องกงเป็นเกาะแห่งนาโนอุตสาหกรรมในอนาคต


นักนาโนเทคโนโลยีไทย คว้ารางวัลโปสเตอร์ดีเด่น ที่ปักกิ่ง


China NANO 2007 เป็นงานประชุมวิชาการทางด้านนาโนเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี ในปี พ.ศ. 2550 นี้มีการจัดขึ้นที่ปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 4-6 มิ.ย. 2550 มีผู้ส่งผลงานเข้ามาแสดงในงานทั้งในรูปแบบของการบรรยาย และ โปสเตอร์กว่า 800 เรื่อง สำหรับนักนาโนเทคโนโลยีของไทยก็มีเดินทางไปทั้งหมด 12 คน ประเทศเพื่อนบ้านคู่แข่งของเราก็มี เวียดนาม 3 คน มาเลเซีย 2 คน สิงคโปร์ 16 คน จากการวิเคราะห์โปสเตอร์ทั้งหมด ทำให้พอทราบว่า ประเทศจีนเน้นหนักไปที่ขั้นของนาโนวัสดุ (นาโนเทคโนโลยี ปัจจุบัน แบ่งออกเป็น นาโนวัสดุ นาโนอิเล็กทรอนิกส์ และ นาโนเทคโนโลยีชีวภาพ) ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ส่วนมากนำงานทางด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ และ นาโนอุปกรณ์มาแสดง หากเทียบสถานภาพทางด้านนาโนวัสดุ จะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า เราไม่สามารถเทียบชั้นกับจีนได้ แต่ทางด้านนาโนอุปกรณ์นั้น สามารถแข่งขันได้ ทั้งนี้ นักนาโนเทคโนโลยีของไทย คือ ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ แห่ง MEMS and Nanoelectronics Lab ของ NECTEC ได้คว้ารางวัลโปสเตอร์ดีเด่น จากผลงานเรื่อง " Symmetrical Wheatstone Cantilever Sensor with On-chip Temperature Compensation" มาให้ชาวไทยได้ภาคภูมิใจด้วย เป็นการประกาศว่าประเทศไทยก็อยู่ในแผนที่นาโนเทคโนโลยีของโลกด้วย ในการประชุมครั้งนี้ คนจีนได้เดินเข้ามาถามว่า "พวกคุณเป็นคนไทยหรือเปล่า" เนื่องจากพวกเขาเห็นใส่เสื้อเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์ แล้วเขาจำได้ ดังนั้น การไปประชุมในต่างประเทศพวกเราควรใส่เสื้อเหลือง เพื่อความภาคภูมิใจของประเทศเรา

30 กรกฎาคม 2550

German-Thai Symposium on Nanoscience and Nanotechnology

German-Thai Symposium on Nanoscience and Nanotechnology เป็นการประชุมระดับชาติแบบทวิภาคี ระหว่างนักวิทยาศาสตร์นาโนของไทย และเยอรมัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเดินทางไปดูงานที่เยอรมัน ของนักวิจัยไทยกลุ่มหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2549 ด้วยการสนับสนุนจากสถานฑูตไทยในประเทศเยอรมัน ในการเดินทางครั้งนั้น นักวิจัยกลุ่มนี้ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากห้องปฏิบัติการวิจัยทางนาโนชั้นนำของไทย หลายๆแห่ง ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาฯ ม.นเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น MTEC และ NECTEC ได้มีการทำข้อตกลงแบบสุภาพบุรุษร่วมกัน เรียกว่า "ปฏิญญาเบอร์ลิน" โดยตั้งใจว่าเมื่อกลับมาแล้ว จะร่วมกันทำกิจกรรม เพื่อให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งด้านนาโน

หลังจากนั้น ทางสถานฑูตไทยในเยอรมันก็ยังมีการสนับสนุนต่อ จนนำมาสู่การจัดการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะจัดที่ The Tide Resort ณ หาดบางแสน ระหว่างวันที่ 27-28 กันยายน 2550

สนใจโปรดดูรายละเอียดที่ http://www.ku.ac.th/gtsnn/

พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ (Plastic Electronics)


พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึงการประยุกต์ใช้ พลาสติกนำไฟฟ้า หรือ โมเลกุลอินทรีย์เพื่อสร้างวงจร หรือเป็นฐานรอง สำหรับ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อันมีผล ทำให้เกิด กระบวนการใหม ่ในการประกอบอุปกรณ์ รวมไปถึงคุณสมบัติใหม่ ซึ่งทำให้ เกิดการประยุกต์ใช้งานได้เพิ่มเติม หรือใหม่ไปจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบัน เทคโนโลยีพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ ได้แบ่งออกเป็นกลุ่มของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในด้านต่างๆ ดังนี้


  1. Flexible Electronics เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยการนำเอาคุณสมบัติในการพับงอได้ ของพลาสติกมาใช้ประโยชน์ เช่น เซลล์แสงอาฑิตย์ จอภาพแบบยืดหยุ่น แผ่นติดสินค้า เซ็นเซอร์ตรวจคุณภาพอาหาร เป็นต้น

  2. Printed Electronics เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการเตรียมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการพิมพ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น อิงค์เจ็ต หรือ เฟล็กโซกราฟ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สามารถดาวน์โหลด วงจรผ่านอินเตอร์เน็ต แล้วพิมพ์แผ่นวงจรใช้งานที่บ้าน หรือจุดขายสินค้า ซึ่งจะทำให้เกิดการ ปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส ์ครั้งใหญ่เลยทีเดียว

  3. Wearable Electronics และ Electronic Textile เป็นการนำเอาฟังก์ชันทางด้านอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปอยู่ในสิ่งทอ ทำให้เสื้อผ้าที่สวมใส่ มีความสามารถในการประมวลผล เช่น เสื้อผ้าสามารถตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม หรือ เสื้อผ้าตรวจสุขภาพของผู้สวมใส่ เป็นต้น

  4. Ambient Intelligence เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้สภาพล้อมรอบที่อาศัยอยู่มีความฉลาด และสามารถตอบสนอง ต่อความต้องการของมนุษย์ เช่น แผ่นไฟส่องสว่างแบบสภาพธรรมชาติ e-Wallpaper ฟิล์มปรับตามแสงสว่าง เซ็นเซอร์ตรวจสอบสภาพล้อมรอบ เป็นต้น

อ่านเรื่อง พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมได้ที่ http://nanotech.sc.mahidol.ac.th/plastronics/PlasticElectronics_Web.pdf

28 กรกฎาคม 2550

Opening of Nano-in-Thailand Blog

Blog นี้จะเป็นช่องทางสื่อสารความก้าวหน้าต่างๆ ของนาโนเทคโนโลยีไปสู่คนไทย คอยติดตามบทความต่างๆ ได้ที่นี่ เร็วๆ นี้