27 มกราคม 2554

Making Things Love - ทำโลกนี้ให้มีแต่รัก (ตอนที่ 4)



พวกเรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า "จงใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์" แต่ในหนังสือ Descartes' Error ศาสตราจารย์ อันโตนีโอ ดามาสิโอ (Antonio Damasio) แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทอร์น แคลิฟอร์เนีย (University of Southern California) กลับเสนอแนวคิดใหม่ที่ว่า คนที่รู้จักใช้อารมณ์เป็น หรือมีความฉลาดทางอารมณ์สูงต่างหาก ที่จะมีความสามารถในการใช้เหตุผลได้ดีด้วย พูดอีกอย่างก็คือ อารมณ์และเหตุผลเป็นของคู่กัน แยกออกจากกันไม่ได้ สิ่งทั้งสองอย่างนี้พึ่งพากันและกัน อารมณ์เป็นตัวช่วยในการใช้ตรรกะและเหตุผล รวมไปถึงการตัดสินใจต่างๆ ทั้งด้านบวกและลบ และบ่อยครั้งที่เป็นการทำแบบไม่รู้ตัว

ในภาษาอังกฤษ มีคำที่ใช้อธิบายอารมณ์อยู่ 3 คำครับ คือคำว่า Affect, Emotion และ Mood ผมไม่รู้ว่าจะหาคำเป็นภาษาไทยมาใช้แทน 3 คำนี้ยังไงครับ แต่จะพยายามดูนะครับ คำว่า Affect นี้เป็นคำที่ใช้แทนความหมายรวมๆ ของสภาวะอารมณ์ต่างๆ ของมนุษย์ คือใช้แทนได้ทั้ง Emotion และ Mood โดยคำว่า Emotion มักใช้กันเพื่อแทนสภาพอารมณ์ในขณะหนึ่งขณะใดของคนเรา ซึ่งระยะเวลาอาจอยู่ในช่วงวินาทีถึงหลายๆ นาที โดยอารมณ์นั้นๆ มักจะมีสาเหตุหรือตัวการอย่างชัดเจน และผู้ที่เกิดอารมณ์อยู่ก็มักจะรู้ตัวว่าตัวเองมีอารมณ์นั้นๆ อยู่ แต่คำว่า Mood นั้นเป็นสภาพอารมณ์พื้นหลังที่มักจะเกิดและดำรงอยู่นานกว่า สภาวะอารมณ์พื้นหลังหรือ Mood นี้มักจะไม่ค่อยรู้สาเหตุที่แน่นอน และมันก็ไม่จำเพาะกับตัวการหนึ่งใดเป็นพิเศษ เจ้าสภาวะอารมณ์พื้นหลังนี้เองครับ ที่มีผลต่อจิตใจของคนเรามาก มันนำไปสู่ความสามารถในเรื่องความทรงจำ การตัดสินใจต่างๆ รวมไปถึงทัศนคติและความคิดเห็นของเราได้ การบริหารอารมณ์ให้มี Mood แต่ในทางบวก ยังมีผลให้เราเป็นคนสุขภาพแข็งแรงด้วยนะครับ

การตรวจวัดอารมณ์ของมนุษย์ เท่าที่ผมทราบนั้น สามารถตรวจวัดได้ 3 วิธีครับ คือ

(1) การตรวจวัดสัญญาณทางสรีรวิทยา (Physiological signal) ได้เคยมีรายงานวิจัยที่ระบุว่า อารมณ์ของคนเรามีความสัมพันธ์กับสัญญาณทางสรีรวิทยาต่างๆ ที่สามารถ ตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือ เช่น การนำไฟฟ้าบนผิวหนัง อุณหภูมิผิวหนัง อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อัตราการหายใจ ระดับอ็อกซิเจนในเลือด สัญญาณสมอง (EEG) เป็นต้น

(2) การประเมินทางจิตวิทยา (Psychological assessment) เป็นวิธีง่ายๆ ที่แม่นยำที่สุด โดยการให้ผู้ที่เราตรวจวัดประเมินความรู้สึกและสภาพอารมณ์ของตนเองนี่แหล่ะครับ โดยการประเมินอาจใช้การบอกออกมาว่ารู้สึกยังไง การบอกสเกลของสภาพอารมณ์ การทำ checklists ต่างๆ การตอบแบบสอบถาม และการประเมินเชิงสถิติ เป็นต้น ปัญหาก็คือ ถ้าไปเจอคนที่โกหก หรือไม่รู้อารมณ์ตัวเอง ผลที่ได้ก็จะขาดความแม่นยำไปเลย

(3) การตรวจวัดพฤติกรรม (Behavioral Monitoring) สภาวะอารมณ์ของคนเรามักจะแสดงออกมาทางพฤติกรรมต่างๆ ที่อาจตรวจวัดได้ เช่น การแสดงออกทางสีหน้า น้ำเสียง อากัปกริยา ท่าทาง ประสิทธิภาพในการรับรู้ (cognitive performance) อาการทางกล้ามเนื้อ (motor behavior) ซึ่งเป็นไปเพื่อต้องการสื่อสารอารมณ์ออกมา จะทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวก็ตาม

การที่เราจะสร้างสภาพแวดล้อมให้มีอารมณ์หรือความรัก เราก็ต้องมีเทคโนโลยีในการตรวจวัดและประมวลผลอารมณ์ของมนุษย์ให้ได้ก่อนครับ

16 มกราคม 2554

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 7)



ในการทำศึกสงครามนับแต่โบร่ำโบราณมาจนถึงปัจจุบัน กองทัพถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ง่ายๆ ก็คือผู้บังคับบัญชาหรือขุนศึก ซึ่งเป็นคนออกคำสั่ง กับ ไพร่พลซึ่งเป็นคนรับคำสั่งและนำไปปฏิบัติ .... ทุกครั้งที่ผมได้มีโอกาสดู DVD ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับศึกสงคราม แล้วเห็นแม่ทัพสั่งลูกน้องให้ทำอะไรโง่ๆ ทหารพวกนั้นก็ทำตามคำสั่งโดยดี ด้วยการวิ่งเข้าไปถูกระดมยิงจนตายกันเป็นเบือ เห็นอย่างนี้ทีไรผมก็อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมในสถานการณ์รบแต่ละครั้ง จึงใช้สมองไม่กี่สมองในการตัดสินใจการรบ แทนที่จะใช้กำลังสมองจำนวนมากๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด

สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับการศึกสงครามที่ใช้มนุษย์เข้าห้ำหั่นกันหรอกครับ ประการแรก ไพร่พลที่รบกันไม่ได้มีหัวคิดหรือความฉลาดมากมายอะไรที่จะใช้ตัดสินใจเพื่อทำกลยุทธ์การศึกหรอกครับ เขาถึงต้องรอคำสั่งจากแม่ทัพ ประการที่สองมนุษย์มีความรู้สึกด้านอารมณ์ และความรู้สึกด้านอารมณ์นี้เองที่เปลี่ยนสถานการณ์การรบได้ องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชของเราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการนำความลับข้อนี้มาใช้เพื่อทำศึกสงครามต่อสู้กับพม่าจนประสบชัยชนะมานับครั้งไม่ถ้วน เช่น พระองค์ทรงใช้ปืนคาบศิลายิงข้ามแม่น้ำสะโตงถูกแม่ทัพพม่าเสียชีวิต ทำให้หยุดทัพพม่ามิให้ติดตามทัพไทยที่ถอยร่นอย่างฉิวเฉียด หรือ การใช้กุศโลบายให้ทหารขึ้นไปพูดให้เหมือนเสียงพระพุทธรูป เพื่อปลอบขวัญทหาร หรือ แม้กระทั่งการท้าให้พระมหาอุปราชออกมากระทำยุทธหัตถี ในขณะที่พระองค์ตกอยู่กลางวงล้อมของทหารพม่า ประการที่สาม ในสถานการณ์การสู้รบ ข้อมูลของการสู้รบไม่ได้มีการไหลเวียนอย่างทั่วถึง ทหารที่ทำการรบอยู่ ณ ตำแหน่งใดๆ อาจจะไม่มีข้อมูลความเป็นไปในบริเวณอื่นเลย ทำให้การบัญชาการรบจากศูนย์กลาง เป็นสิ่งที่กระทำมาตลอดจากโบราณจนถึงปัจจุบัน

แต่สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่เป็นอุปสรรคเลย หากเราเปลี่ยนผู้ทำการรบจากมนุษย์ไปเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งจะทำให้การแบ่งกองทัพออกเป็น แม่ทัพกับไพร่พลก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป กองทัพจะมีแต่ผู้ทำการรบ ที่สามารถเป็นผู้ตัดสินใจและเป็นผู้ปฏิบัติพร้อมๆ กันไป

ลองดูกันไปเป็นข้อๆ นะครับ ประการแรกเลย หุ่นยนต์แต่ละตัวที่ทำการรบ สามารถโปรแกรมให้สามารถประมวลผลการรบ สามารถตัดสินใจว่าจะทำอะไรในหุ่นยนต์แต่ละตัว ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างไร การที่หุ่นยนต์จะปฏิบัติการอะไร จึงไม่จำเป็นต้องรอการตัดสินใจจากใคร แต่แน่นอนว่า หุ่นยนต์ต่างๆ เหล่านี้ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างทั่วถึง

ประการที่สอง กองทัพหุ่นยนต์ไม่ได้มีขีดจำกัดด้านอารมณ์และความรู้สึกเหมือนมนุษย์ การตัดสินใจกระทำการต่างๆ จะมีการใช้เหตุผลอย่างเต็มที่ โดยการตัดสินใจจากข้อมูล ตรรกะ และพื้นฐานความเป็นจริงต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ประการสุดท้าย การรบที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่ายข้อมูลไร้สาย จะทำให้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วสนามรบมีการไหลเวียนอย่างทั่วถึง ผู้ปฏิบัติแต่ละจุด จะมีหูทิพย์ตาทิพย์รับรู้ความเป็นไปในสนามรบได้อย่างเรียลไทม์ การตัดสินใจกระทำการสิ่งใด จะเป็นที่รับรู้กันทั่วในฝ่ายเดียวกันและสามารถจำลองหรือประเมินผลได้ ณ เวลาจริง


ภายใต้สถานการณ์สนามรบอัจฉริยะนี้ สงครามอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ หรืออาจเกิดขึ้นแค่ในระยะเวลาสั้นๆ หากข้อมูลการรบของทั้งสองฝ่ายนำมาสู่ข้อสรุปล่วงหน้าว่าฝ่ายใดจะชนะในยุทธภูมินั้นๆ ....

11 มกราคม 2554

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 6)



สองสามวันนี้ผมมาอยู่ทำงานวิจัยภาคสนามที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ เขาใหญ่ ก็เลยอยากจะนำ paper เรื่อง "Design for the Next Generation of WSN in Battlefield based on ZigBee" ซึ่งเล่าค้างไว้ในคราวที่แล้วมาเล่าต่อครับ ที่อยากจะเล่าเรื่องนี้ต่อในไร่องุ่น ก็เพราะว่าพวกเราคิด paper เรื่องนี้ได้ที่นี่ครับ โดยการจินตนาการสนามรบจากการทำงานในไร่นานี่เองครับ เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในสนามรบอัจฉริยะก็เป็นเทคโนโลยีที่เราประยุกต์ใช้ในไร่นาจนประสบความสำเร็จแล้ว

เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะที่พวกเราคิดนั้น แบ่งออกเป็น 3 ระบบ ได้แก่

(1) Soldier Sensor System ได้แก่เซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดอยู่บนตัวทหาร หรือพลรบแต่ละนาย ซึ่งจะเก็บข้อมูล เช่น พิกัดที่อยู่ อัตราการหายใจ จังหวะหัวใจ ระดับอ็อกซิเจนในเลือด อุณหภูมิผิวหนัง ลักษณะอากัปกริยาของร่างกาย ซึ่งข้อมูลนี้จะถูกส่งไปที่ผู้บังคับบัญชาทั้งในสนามรบ และที่ฐานบัญชาการ ทำให้การบังคับบัญชาการรบมีความแม่นยำสูง อีกทั้งหากทหารได้รับบาดเจ็บ ผู้บัญชาการสามารถนำข้อมูลด้านอื่นๆ มาช่วยในการตัดสินใจว่าจะทำการช่วยเหลือทหารนายใด ก่อน-หลัง ตามสถานภาพสุขภาพและสถานการณ์รบ ได้อย่างแม่นยำสูงสุด

(2) Battle Field System ได้แก่เซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ในสนามรบ เพื่อเก็บข้อมูลพารามิเตอร์การรบต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจสอบการเคลื่อนที่ของฝ่ายเราและฝ่ายข้าศึก วิถีการยิง พื้นที่เสี่ยง สภาพอากาศ แสง ลม ภาพของสนามรบในแง่มุมต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้บังคับบัญชากำหนดยุทธวิธีการรบอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เซ็นเซอร์เหล่านี้อาจจะติดตั้งบนสิ่งที่อยู่นิ่ง เช่น ติดตั้งกับต้นไม้ ฝังไว้ในพื้นดิน หรือ ซ่อนไว้ตามเนินผาต่างๆ หรืออาจจะติดตั้งกับสิ่งที่เคลื่อนที่ เช่น บนหมวกทหาร ยานเกราะ รถถัง หรือ แม้แต่ติดตั้งไว้ในอากาศยานไร้นักบิน (UAV) ก็ได้

(3) Military Base Infrastructure เป็นเครือข่ายเซ็นเซอร์สำหรับเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ฐานที่มั่น ได้แก่เซ็นเซอร์ตรวจวัดการเคลือนไหวรอบฐานที่มั่น ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงไปยังปืนกลอัตโนมัติเพื่อระดมยิงใส่ข้าศึกที่ลักลอบเข้ามา

ข้อดีหนึ่งของการใช้เทคโนโลยี ZigBee สำหรับรับส่งข้อมูลเซ็นเซอร์ก็คือ มันใช้พลังงานต่ำมาก ทำให้ข้อมูลเดินทางในระยะสั้นๆ ระหว่างโหนดต่างๆ ซึ่งจะทำให้ข้าศึกตรวจจับหรือดักฟังได้ยาก การเข้ารหัสข้อมูลจะช่วยทำให้การดักฟังเป็นไปได้ยากขึ้นอีก เซ็นเซอร์ที่ใช้มีจำนวนมาก มีการหลับๆ ตื่นๆ สลับกันไป ยากต่อการประเมินของฝ่ายข้าศึก การใช้จำนวนโหนดเซ็นเซอร์จำนวนมากๆ ทำให้ระบบเครือข่ายมีความเสถียร ยากต่อการทำลายของข้าศึก

05 มกราคม 2554

NANO-SCITECH 2011 - 3rd International Conference on Nanoscience & Nanotechnology 2011




หมู่นี้ ... เรื่องนาโนในบ้านเราค่อนข้างจะเงียบเหงา ... แบบว่า มันเงียบจริงๆ ว่ามั้ยครับ เรื่องตื่นเต้นๆ ในวงการวิจัยนาโนเทคโนโลยีของเมืองไทยเรา ก็แทบจะไม่ได้ยินเลย ซบเซาหงอยเหงาเกินไปหรือเปล่าคร้าบ ...

วันนี้ผมจะพาไปดูข้างบ้านเรานะครับ ในขณะที่เมืองไทยของเราเรื่องนาโนค่อยๆ หงอยๆ ลงไป แต่ในมาเลเซีย เรื่องนี้กลับแรงขึ้น แรงขึ้นครับ ก่อนหน้านี้ผมเคยวิเคราะห์ว่าประเทศมาเลเซียนี่แหล่ะครับ เป็นคู่แข่งทางด้านนาโนเทคโนโลยีที่แท้จริงของเรา เพราะจำนวนผลงานตีพิมพ์ จำนวนนักวิจัย และจำนวนของเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล อยู่ในระดับสูสีกับประเทศไทยมาหลายปี ถึงแม้ในระยะหลังๆ ประเทศเขาจะเริ่มทิ้งห่างเราไปในเรื่องของทุนวิจัยก็ตาม

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะริเริ่มการตั้งศูนย์แห่งชาติทางด้านนาโนเทคโนโลยีก่อนประเทศมาเลเซียก็ตาม แต่จะว่าไปแล้ว ในระดับสากล ประเทศมาเลเซียดูเหมือนจะเป็นที่รับรู้ในเรื่องของการวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีมากกว่าเราเสียอีกครับ โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดประชุมวิชาการระดับสากลทางด้านนี้ ประเทศไทยกลับไม่ค่อยมีให้เห็นเท่าไหร่ ส่วนมาเลเซียนั้นเขาจัดงานประชุมนาโนเทคโนโลยีทุกปีเลยครับ แต่ละปีบางทีก็มีหลายงานด้วยซ้ำ วันนี้ผมขอแนะนำการประชุมทางด้านนาโนเทคโนโลยีที่จะจัดที่เซรังงอ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 2-4 มีนาคม 2554 งานนี้มีชื่อว่า NANO-SCITECH 2011 - The 3rd International Conference on Nanoscience & Nanotechnology 2011 ซึ่งเจ้าภาพที่จัดงานนี้ก็คือ Universiti Technologi MARA (UiTM) ร่วมกับ Nagoya Institute of Technology กำหนดส่งบทคัดย่อวันที่ 15 มกราคม 2554 นี้เองครับ เนื้อหาที่เป็นที่สนใจของการประชุมนี้ได้แก่

[1]. Nanoscience and Nanotechnology
[2]. Nanobiotechnology
[3]. Nano Carbon-Based Material
[4]. Nano Oxide-Based Material
[5]. Nano Composite-Based Material
[6]. Nano Coating and Corrosion
[7]. Piezo and Ferro-Electric Materials
[8]. Electronic and Optoelectronic Nano-Devices
[9]. Nanomedicine and Pharmaceutical Material
[10]. Nano Porous Silicon
[11]. Others

ถ้าสนใจ ก็ลองส่งไปดูนะครับ ...

01 มกราคม 2554

Making Things Love - ทำโลกนี้ให้มีแต่รัก (ตอนที่ 3)



ในอนาคตไม่กี่ปีต่อจากนี้ วิศวกรรมอารมณ์จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ผู้คนใช้ความรู้สึก และอารมณ์ในการเลือกจับจ่ายสินค้า ผู้ที่มีความรู้หรือเทคโนโลยีทางด้านนี้ จะเป็นผู้กำชัยในการครองใจผู้บริโภค ทำให้ผู้ซื้อเกิดความผูกพันทางด้านอารมณ์กับสินค้า หรือถึงขั้นอินเลิฟ จนไม่อาจเปลี่ยนไปใช้สินค้าตัวเลือกอื่นๆ อีก

งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีความรู้สึกและวิศวกรรมอารมณ์นี้มีลักษณะเป็นสหสาขาวิชา ที่หลอมรวมและบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์อย่างแท้จริง ทั้งจากศาสตร์ทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ จิตวิทยา วิทยาศาสตร์การรับรู้ (Cognitive Science) ประสาทวิทยา (Neuroscience) สังคมวิทยา (Sociology) ภาษาศาสตร์ ครุศาสตร์ สรีรวิทยา ปรัชญา แม้กระทั่งจริยศาสตร์ มันจึงเป็นเขตแดนรอยต่อระหว่างวิทยาศาสตร์ กับ เรื่องของจิตใจ อย่างแท้จริง การจะพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านนี้ จึงต้องอาศัยความรู้จากศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ ในขณะเดียวกัน ความเจริญก้าวหน้าในเทคโนโลยีความรู้สึกและวิศวกรรมอารมณ์ ก็จะมีผลสะท้อนกลับ ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ด้วย เช่น หากเรามีเทคโนโลยีในการตรวจวัดและบันทึกอารมณ์ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ในแต่ละวัน ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ก็อาจนำกลับมาเพื่อปรับปรุงโมเดล และทฤษฎีต่างๆ ที่ใช้อธิบายความรู้สึกของมนุษย์ได้

นักวิเคราะห์ประเมินกันว่า คงจะต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีแหล่ะครับ กว่าเราจะสามารถพัฒนาโมเดลทางคอมพิวเตอร์ของอารมณ์มนุษย์ได้ จะว่าไป ทุกวันนี้ มีการนำเทคโนโลยีทางด้านนี้มาใช้แล้วทั้งๆ ที่เราก็ยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องอารมณ์ของมนุษย์กันไม่มาก ท่านผู้อ่านอาจจะคาดกันไม่ถึงนะครับว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีการใช้งบประมาณมากถึง 400 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2006 เพื่อที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์วิเคราะห์การพูดของมนุษย์ของ Call Center ต่างๆ รวมไปถึงน้ำเสียงและอารมณ์ความรู้สึกที่แฝงมากับคำพูดเหล่านั้น เพื่อที่ทางศูนย์บริการลูกค้าจะได้สามารถประมวลผลความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ เพื่อให้สามารถนำมาสู่การปรับปรุงระบบบริการได้ แม้ว่าโมเดลคอมพิวเตอร์ปัจจุบันอาจจะยังไม่ละเอียดถูกต้องพอที่จะสามารถ ระบุอารมณ์ต่างๆ ของมนุษย์ที่มีอย่างหลากหลายมากก็ตาม แต่มันก็ยังมีความแม่นยำพอที่จะตรวจพบหลายๆ กรณีที่สำคัญพอที่จะทำให้ศูนย์บริการลูกค้าต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การตรวจจับหรือตรวจวัดอารมณ์เป็นเรื่องละเอียดซับซ้อน ใบหน้าของมนุษย์ที่แสดงออกมา แม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างเช่น การยิ้ม ก็มีความหมายได้หลากหลายมากๆ ขึ้นกับอายุ พื้นฐานการศึกษา และวัฒนธรรม เอาง่ายๆ อย่างเช่นคนไทยเรา ที่ฝรั่งเขาเรียกว่าสยามเมืองยิ้ม เพราะคนไทยเป็นคนยิ้มเก่ง แม้แต่บางเรื่องที่ฝรั่งมองว่าไม่น่าจะยิ้ม คนไทยเราก็ยังยิ้ม ผมเคยดูโทรทัศน์เห็นตำรวจนำผู้ต้องหาที่เพิ่งก่อคดีมาออกข่าว หลายๆ ครั้งเรากลับเห็นผู้ต้องหานั่งยิ้มให้กล้อง ทั้งๆ ที่ตัวเองทำความผิดที่สมควรได้รับการลงโทษ ลักษณะนี้ คนไทยเราดูทีวี เราก็จะพอเข้าใจ แต่ฝรั่งเห็นก็จะแปลกใจมากเลย ... โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ตรวจสอบใบหน้าจึงต้องมีการโมเดลความหลากหลายตรงนี้เข้าไปด้วย ซึ่งจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยครับ

เรื่องนี้ ยังมีต่ออีกหลายตอนนะครับ ....