11 มกราคม 2554

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 6)



สองสามวันนี้ผมมาอยู่ทำงานวิจัยภาคสนามที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ เขาใหญ่ ก็เลยอยากจะนำ paper เรื่อง "Design for the Next Generation of WSN in Battlefield based on ZigBee" ซึ่งเล่าค้างไว้ในคราวที่แล้วมาเล่าต่อครับ ที่อยากจะเล่าเรื่องนี้ต่อในไร่องุ่น ก็เพราะว่าพวกเราคิด paper เรื่องนี้ได้ที่นี่ครับ โดยการจินตนาการสนามรบจากการทำงานในไร่นานี่เองครับ เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในสนามรบอัจฉริยะก็เป็นเทคโนโลยีที่เราประยุกต์ใช้ในไร่นาจนประสบความสำเร็จแล้ว

เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะที่พวกเราคิดนั้น แบ่งออกเป็น 3 ระบบ ได้แก่

(1) Soldier Sensor System ได้แก่เซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดอยู่บนตัวทหาร หรือพลรบแต่ละนาย ซึ่งจะเก็บข้อมูล เช่น พิกัดที่อยู่ อัตราการหายใจ จังหวะหัวใจ ระดับอ็อกซิเจนในเลือด อุณหภูมิผิวหนัง ลักษณะอากัปกริยาของร่างกาย ซึ่งข้อมูลนี้จะถูกส่งไปที่ผู้บังคับบัญชาทั้งในสนามรบ และที่ฐานบัญชาการ ทำให้การบังคับบัญชาการรบมีความแม่นยำสูง อีกทั้งหากทหารได้รับบาดเจ็บ ผู้บัญชาการสามารถนำข้อมูลด้านอื่นๆ มาช่วยในการตัดสินใจว่าจะทำการช่วยเหลือทหารนายใด ก่อน-หลัง ตามสถานภาพสุขภาพและสถานการณ์รบ ได้อย่างแม่นยำสูงสุด

(2) Battle Field System ได้แก่เซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ในสนามรบ เพื่อเก็บข้อมูลพารามิเตอร์การรบต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจสอบการเคลื่อนที่ของฝ่ายเราและฝ่ายข้าศึก วิถีการยิง พื้นที่เสี่ยง สภาพอากาศ แสง ลม ภาพของสนามรบในแง่มุมต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้บังคับบัญชากำหนดยุทธวิธีการรบอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เซ็นเซอร์เหล่านี้อาจจะติดตั้งบนสิ่งที่อยู่นิ่ง เช่น ติดตั้งกับต้นไม้ ฝังไว้ในพื้นดิน หรือ ซ่อนไว้ตามเนินผาต่างๆ หรืออาจจะติดตั้งกับสิ่งที่เคลื่อนที่ เช่น บนหมวกทหาร ยานเกราะ รถถัง หรือ แม้แต่ติดตั้งไว้ในอากาศยานไร้นักบิน (UAV) ก็ได้

(3) Military Base Infrastructure เป็นเครือข่ายเซ็นเซอร์สำหรับเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ฐานที่มั่น ได้แก่เซ็นเซอร์ตรวจวัดการเคลือนไหวรอบฐานที่มั่น ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงไปยังปืนกลอัตโนมัติเพื่อระดมยิงใส่ข้าศึกที่ลักลอบเข้ามา

ข้อดีหนึ่งของการใช้เทคโนโลยี ZigBee สำหรับรับส่งข้อมูลเซ็นเซอร์ก็คือ มันใช้พลังงานต่ำมาก ทำให้ข้อมูลเดินทางในระยะสั้นๆ ระหว่างโหนดต่างๆ ซึ่งจะทำให้ข้าศึกตรวจจับหรือดักฟังได้ยาก การเข้ารหัสข้อมูลจะช่วยทำให้การดักฟังเป็นไปได้ยากขึ้นอีก เซ็นเซอร์ที่ใช้มีจำนวนมาก มีการหลับๆ ตื่นๆ สลับกันไป ยากต่อการประเมินของฝ่ายข้าศึก การใช้จำนวนโหนดเซ็นเซอร์จำนวนมากๆ ทำให้ระบบเครือข่ายมีความเสถียร ยากต่อการทำลายของข้าศึก

1 ความคิดเห็น:

  1. เราสามารถใช้เทคโนโลยีนี้กับเพื่อนบ้านที่พยายามรุกรานเราดีไหมค่ะอาจารย์

    ตอบลบ