16 มกราคม 2554

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 7)



ในการทำศึกสงครามนับแต่โบร่ำโบราณมาจนถึงปัจจุบัน กองทัพถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ง่ายๆ ก็คือผู้บังคับบัญชาหรือขุนศึก ซึ่งเป็นคนออกคำสั่ง กับ ไพร่พลซึ่งเป็นคนรับคำสั่งและนำไปปฏิบัติ .... ทุกครั้งที่ผมได้มีโอกาสดู DVD ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับศึกสงคราม แล้วเห็นแม่ทัพสั่งลูกน้องให้ทำอะไรโง่ๆ ทหารพวกนั้นก็ทำตามคำสั่งโดยดี ด้วยการวิ่งเข้าไปถูกระดมยิงจนตายกันเป็นเบือ เห็นอย่างนี้ทีไรผมก็อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมในสถานการณ์รบแต่ละครั้ง จึงใช้สมองไม่กี่สมองในการตัดสินใจการรบ แทนที่จะใช้กำลังสมองจำนวนมากๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด

สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับการศึกสงครามที่ใช้มนุษย์เข้าห้ำหั่นกันหรอกครับ ประการแรก ไพร่พลที่รบกันไม่ได้มีหัวคิดหรือความฉลาดมากมายอะไรที่จะใช้ตัดสินใจเพื่อทำกลยุทธ์การศึกหรอกครับ เขาถึงต้องรอคำสั่งจากแม่ทัพ ประการที่สองมนุษย์มีความรู้สึกด้านอารมณ์ และความรู้สึกด้านอารมณ์นี้เองที่เปลี่ยนสถานการณ์การรบได้ องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชของเราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการนำความลับข้อนี้มาใช้เพื่อทำศึกสงครามต่อสู้กับพม่าจนประสบชัยชนะมานับครั้งไม่ถ้วน เช่น พระองค์ทรงใช้ปืนคาบศิลายิงข้ามแม่น้ำสะโตงถูกแม่ทัพพม่าเสียชีวิต ทำให้หยุดทัพพม่ามิให้ติดตามทัพไทยที่ถอยร่นอย่างฉิวเฉียด หรือ การใช้กุศโลบายให้ทหารขึ้นไปพูดให้เหมือนเสียงพระพุทธรูป เพื่อปลอบขวัญทหาร หรือ แม้กระทั่งการท้าให้พระมหาอุปราชออกมากระทำยุทธหัตถี ในขณะที่พระองค์ตกอยู่กลางวงล้อมของทหารพม่า ประการที่สาม ในสถานการณ์การสู้รบ ข้อมูลของการสู้รบไม่ได้มีการไหลเวียนอย่างทั่วถึง ทหารที่ทำการรบอยู่ ณ ตำแหน่งใดๆ อาจจะไม่มีข้อมูลความเป็นไปในบริเวณอื่นเลย ทำให้การบัญชาการรบจากศูนย์กลาง เป็นสิ่งที่กระทำมาตลอดจากโบราณจนถึงปัจจุบัน

แต่สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่เป็นอุปสรรคเลย หากเราเปลี่ยนผู้ทำการรบจากมนุษย์ไปเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งจะทำให้การแบ่งกองทัพออกเป็น แม่ทัพกับไพร่พลก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป กองทัพจะมีแต่ผู้ทำการรบ ที่สามารถเป็นผู้ตัดสินใจและเป็นผู้ปฏิบัติพร้อมๆ กันไป

ลองดูกันไปเป็นข้อๆ นะครับ ประการแรกเลย หุ่นยนต์แต่ละตัวที่ทำการรบ สามารถโปรแกรมให้สามารถประมวลผลการรบ สามารถตัดสินใจว่าจะทำอะไรในหุ่นยนต์แต่ละตัว ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างไร การที่หุ่นยนต์จะปฏิบัติการอะไร จึงไม่จำเป็นต้องรอการตัดสินใจจากใคร แต่แน่นอนว่า หุ่นยนต์ต่างๆ เหล่านี้ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างทั่วถึง

ประการที่สอง กองทัพหุ่นยนต์ไม่ได้มีขีดจำกัดด้านอารมณ์และความรู้สึกเหมือนมนุษย์ การตัดสินใจกระทำการต่างๆ จะมีการใช้เหตุผลอย่างเต็มที่ โดยการตัดสินใจจากข้อมูล ตรรกะ และพื้นฐานความเป็นจริงต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ประการสุดท้าย การรบที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่ายข้อมูลไร้สาย จะทำให้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วสนามรบมีการไหลเวียนอย่างทั่วถึง ผู้ปฏิบัติแต่ละจุด จะมีหูทิพย์ตาทิพย์รับรู้ความเป็นไปในสนามรบได้อย่างเรียลไทม์ การตัดสินใจกระทำการสิ่งใด จะเป็นที่รับรู้กันทั่วในฝ่ายเดียวกันและสามารถจำลองหรือประเมินผลได้ ณ เวลาจริง


ภายใต้สถานการณ์สนามรบอัจฉริยะนี้ สงครามอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ หรืออาจเกิดขึ้นแค่ในระยะเวลาสั้นๆ หากข้อมูลการรบของทั้งสองฝ่ายนำมาสู่ข้อสรุปล่วงหน้าว่าฝ่ายใดจะชนะในยุทธภูมินั้นๆ ....

2 ความคิดเห็น:

  1. อาจารย์นอยค่ะ

    ดีค่ะ พี่พี่ทหารทั้งหลายจะได้ไม่ล้มตาย เอาใจช่วยพี่หุ่นยนต์แทน ถ้าพังก้ซ่อมได้แต่คนเนี่ยพังแล้วซ่อมยากว่าไหมค่ะ
    เออ รู้สึกว่า จะอ่านแล้วติดใจ คอมเมนท์อยู่คนเดียวไม่ว่ากันน่ะค่ะ จะพยายามทะยอยอ่านจนหมดเลยค่ะ
    ขอบคุณอีกครั้งสำหรับข้อความดีดีและความรู้ดีดีที่เอามาแบ่งปันค่ะ

    ตอบลบ