30 สิงหาคม 2550

Boutique Economy - เศรษฐกิจยุคบูติค


Boutique Economy ยังไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่คนไทยอาจจะไม่คุ้นหูนัก เศรษฐกิจแบบบูติกเป็นพัฒนาการลำดับขั้นที่สูงขึ้นไปจาก Experience Economy ซึ่งสูงกว่า Knowledge-Based Economy, Industrial Economy และ Agriculture-Based Economy ตามลำดับ เศรษฐกิจแบบบูติกนี้ ผู้คนมีความเป็นอยู่แบบ มีความสุขกันทั่วหน้า อุตสาหกรรมไม่ปล่อยควันพิษและของเสียอีกต่อไป การผลิตมีลักษณะเป็น Cottage Industry ที่การผลิตอยู่ในมือของ SME มีความสะอาด และกระจายอยู่ในชุมชนที่เป็นผู้ใช้ เป็นยุคที่ Desktop Manufacturing หรือ ระบบผลิตแบบตั้งโต๊ะ และ โรงงานจิ๋ว (Micro-factory) มีความเจริญสูง มีเทคโนโลยี Mass Customizaton ซึ่งกระบวนการผลิต สามารถทำให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคเป็นรายๆ ในจำนวนมากๆ ได้ ระบบรักษาพยาบาลเป็นแบบบุคคล (Personal Medicine) มีระบบนำส่งยา (Drug Delivery) ที่มีประสิทธิภาพ ถนนหนทาง บ้านเรือน ตึกรามอาคารต่างๆ ใช้วัสดุนาโนที่ทำความสะอาดตัวเองได้ การคมนาคมขนส่งใช้พลังงานสะอาด อาคารธุรกิจเป็นอาคารฉลาด มีระบบดูแลการใช้พลังงาน และบรรยากาศภายใน การงานในยุคบูติคมีความสนุก เร้าใจ น่าทำงาน คนจะทำงานที่บ้านมากขึ้น สินค้าต่างๆ จะมีการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ก่อนทำการผลิต และผู้บริโภคสามารถออกแบบเอง แล้วส่งให้ผู้ผลิตทาง Internet เสื้อผ้าอาภรณ์ มีความฉลาด มีสีสันสวยงามและปรับตามสภาพแวดล้อมได้ ผู้คนสดชื่น เบิกบาน และสุขภาพดี แต่ละคนล้วนทาครีมนาโนหน้าเด้ง อาหารที่รับประทานไม่มีสารพิษ เพราะทุกอย่างผ่านการตรวจด้วยเซ็นเซอร์หมดทุกอย่าง ตั้งแต่ ฟาร์มจนถึงถังขยะ ตัวเมืองประดับประดาด้วยแสงสีจากจอภาพอินทรีย์

ฟังๆ ดู เหมือนอยู่ในยุคพระศรีอารย์ยังไงยังงั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศหนึ่งๆ เข้าสู่ยุค Knowledge-Based Economy นั้น วิทยาศาสตร์ที่เคยแบ่งแยกออกเป็น ศาสตร์หรือสาขาต่างๆ เริ่มมีการหลอมรวมกัน เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ มาหลอมรวมกัน เกิดเป็นศาสตร์ใหม่ๆ เช่น Biophysics, Bioinformatics, Biomedical Engineering, Bionics, Systems Biology แต่เมื่อโลกเริ่มจะเข้าสู่ยุค Experience Economy จะเกิดการหลอมรวมกันอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องของ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ กับ วิทยาศาสตร์ และเมื่อโลกเจริญก้าวหน้าขึ้นไปสู่ยุค Boutique Economy ล่ะก็ คราวนี้แหละเราจะเห็นการหลอมรวมกันระหว่าง สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กับ ศาสตร์ของจิตใจ หรือ ศาสนา นั่นเอง

ไม่รู้ว่าพวกเราจะได้อยู่เห็น Boutique Economy หรือเปล่า มีผู้ประมาณการว่ามันอาจเกิดขึ้นหลังปี ค.ศ. 2050 นู่น แต่พวกเราสามารถทำให้ชีวิตของพวกเราเป็นชีวิตแบบบูติกได้ โดยการเริ่มทำบ้านให้เป็น Boutique Home ทำที่ทำงานให้เป็น Boutique Workplace โดยการทำตัวเราเองให้เบิกบาน ทำบ้านและที่ทำงานให้น่าอยู่ เอาอะไรๆน่ารักมาตกแต่งโต๊ะทำงาน ยิ้มให้แก่คนรอบข้างบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้ นาโนเทคโนโลยี มาเปลี่ยนโลกไปสู่ยุคบูติก

27 สิงหาคม 2550

Experience Economy - เศรษฐกิจฐานจินตนาการ


กลุ่มประเทศ Nordic อันได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และ สวีเดน นั้น มักเป็นที่รู้จักกันในนามของ ดินแดนพระอาฑิตย์เที่ยงคืน คนไทยที่เคยไปใช้ชีวิตแถวๆ นั้นจะพูดว่า เมืองไทยน่าอยู่กว่าเยอะ ไม่งั้นโจนัส นักร้องเพลงลูกทุ่งชาวสวีเดน ไม่หนีมาอยู่บ้านเราหรอก หนาวก็หนาว เหงาก็เหงา ให้ไปเที่ยวเอา แต่ให้ไปอยู่ก็เอาไว้วันหลังดีกว่า แต่ไม่น่าเชื่อว่า ประเทศ Nordic มีความก้าวหน้าที่สุดในโลกหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ที่จัดว่าเยี่ยมที่สุด มีอินเตอร์เน็ตแบบไฮสปีดเข้าถึงครัวเรือนมากที่สุด ระบบโทรศัพท์มือถือดีที่สุด คุกที่ดีที่สุดในโลก มีระบบสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Entrepreneurship) ที่ดีที่สุดในโลก มีระบบอุดหนุนการวิจัยที่ล้ำหน้าที่สุด และยังมีระบบนวัตกรรมที่จัดว่าเยี่ยมที่สุดในโลกอีกด้วย ไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่ฐานทรัพยากรที่เคยมีแต่เกษตร อันได้แก่ ป่าไม้ ฟาร์มโคนม ประมง วันนี้กำลังจะข้ามยุคจาก Knowledge-Based Economy ที่ประเทศไทยประกาศตัวอยากเป็น ไปสู่ยุค Experience Economy เลย แบบว่าคนอื่นไม่ต้องไปตามแล้ว

เจ้า Experience Economy นี้เป็นเศรษฐกิจที่มูลค่าของสินค้าขึ้นกับ ความรู้สึก ความฝัน จินตนาการ ประสบการณ์ ที่ผู้บริโภคได้รับ ลองดู Nokia สิเขามีสโลแกนว่า Connecting People เขาไม่ได้ขายมือถือ แต่เขาขายประสบการณ์ของการอยู่ในโลก แห่งการปฏิสัมพันธ์อย่างไร้ขอบเขต ตัวอย่างของไทยที่มีสินค้า Experience Goods ก็คือ Academy Fantasia ที่นำเอาความรู้สึก ความฝัน เทคโนโลยี และ การตลาดมาผสมผสานกันอย่างลงตัว จนประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น ตอนนี้รัฐบาลของ Nordic เน้นอุดหนุนโครงการและงานวิจัย ที่จะสร้าง Experience Economy ขึ้นมาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การทำทัวร์แบบขายประสบการณ์ เพื่อทำให้ Nordic ติดตลาดโลก การสร้างระบบการศึกษา ผ่านมือถือ การจัดเมืองใหม่ให้เหมาะกับการท่องเที่ยว และการใช้ชีวิตแบบจินตนาการ พัฒนาสินค้าจินตบันเทิง เกมส์ พัฒนา ธุรกิจที่เน้นการออกแบบ พัฒนาธุรกิจก่อสร้างที่มุ่งไปที่ประสบการณ์ที่ผู้อยู่อาศัยโหยหา ในเรื่องของอาหาร ประเทศ Nordic ไม่ได้มุ่งขายที่ตัวสินค้าต้นทาง แต่ต้องการสร้างแบรนด์ของอาหารปลายทาง ที่ตอบประสบการณ์และความรู้สึกของผู้เสพ รวมไปถึงอาหารที่มีนวัตกรรม เช่น Functional Foods ทางด้านนาโนเทคโนโลยี ที่ประเทศ Nordic สนับสนุน ก็มุ่งไปที่ Healthcare กับ Creative Industries โดยตรง เพราะไหนๆ ก็จะเป็น Experience Economy แล้ว ก็ให้ผู้บริโภคได้ประสบการณ์ที่ดีตั้งแต่ตื่นจนนอนไปเลย

(ภาพซ้ายมือ - Samsung พยายามขายประสบการณ์ที่ผู้ซื้อจะได้รับจาการใช้สินค้า ไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์ตัวนั้นโดยตรง )
(ภาพขวามือ - นักล่าฝันหมายเลข V10 ของ Academy Fantasia - รายการที่ประสบความสำเร็จแบบนี้ บ่งชี้ว่าผู้คนโหยหาสินค้าที่ตอบสนอง ความฝัน จินตนาการ ความรู้สึกและประสบการณ์ของการเสพและใช้สินค้า)

26 สิงหาคม 2550

ไทยอยากเข้ายุคอุตสาหกรรมนาโนก่อนใคร แต่คู่แข่งอาจไม่ยอม

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา นาโนเทคโนโลยีได้กลายมาเป็นกระแสตื่นตัวไปทั่วโลก ได้เกิดโปรแกรมการสนับสนุนการวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีในระดับวาระแห่งชาติ เริ่มตั้งแต่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปทั้งหมด ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง อิสราเอล อิหร่าน อินเดีย อียิปต์ รัสเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และ ไทย นับเป็นโชคของประเทศไทยที่ ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยได้ริเริ่มโครงการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2546 ห่างจากสหรัฐอเมริกาเพียง 3 ปีเท่านั้น ทำให้ประเทศไทยไม่ตกกระแสการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ประเทศคู่แข่งของไทย ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ล้วนแล้วแต่มีโครงการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติเหมือนกัน โดยทั้งสามประเทศเริ่มเน้นหนักไปในเรื่องของการพัฒนานาโนเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งเริ่มตั้งแต่ การพัฒนานาโนวัสดุชนิดใหม่ การผลิตนาโนวัสดุเพื่ออุตสาหกรรม การเพิ่มมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์หลากชนิดด้วยนาโนเทคโนโลยี รวมไปถึง การสร้างอุตสาหกรรมชนิดใหม่ขึ้นในประเทศ หรือ ล็อบบี้ให้ต่างชาติมาลงทุนผลิตสินค้าที่ใช้นาโนเทคโนโลยี มาเลเซียประสบความสำเร็จในการชักนำอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แนวใหม่ให้เข้ามาลงทุน ผลิตสินค้าทางด้านอิเล็กทรอนิกส์จากโมเลกุลอินทรีย์ สิงคโปร์ชูนาโนเทคโนโลยีชีวภาพ โดยจัดโครงสร้างพื้นฐานพิเศษให้บริษัทยาทั่วโลกมาตั้งห้องปฏิบัติการ R&D เวียดนามเน้นโปรแกรมนาโนอุปกรณ์ โดยเชื่อมโยง Hi-Tech Park ที่โฮจิมินห์ ซิตี้ ซึ่งมีบริษัทต่างชาติมาลงทุน กับห้องปฏิบัติการวิจัยทางนาโนเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัย

ในระยะ 2-3 ปีมานี้ อุตสาหกรรมไทยหลายแขนงแสดงความต้องการที่จะนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงการผลิต หรือ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือ เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ จากการพูดคุยกับบริษัทใหญ่ๆ เช่น ปตท. และ เครือซีเมนต์ไทย ทำให้ทราบว่าเขามีความต้องการเพิ่มมูลค่าพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ซึ่งนับวันจะเผชิญการแข่งขันกับปิโตรเคมีจากเวียดนาม เบทาโกร ต้องการเพิ่มมูลค่าอาหารและปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการฟาร์ม บริษัทเหล่านั้นตระหนักว่าบริษัทคู่แข่งต่างชาติต่างมีเทคโนโลยีนี้ในมือ นอกจากนั้นยังมีบริษัทขนาด SME จำนวนมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ที่มีความต้องการนาโนเทคโนโลยีเข้าไปใช้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เช่น บริษัทผลิตเลนส์แว่นตา บริษัทผลิตเครื่องกรองน้ำ บริษัทผลิตสุขภัณฑ์ บริษัทผลิตสี บริษัทผลิตวัสดุก่อสร้าง บริษัทผลิตเครื่องดื่ม ฯลฯ แม้แต่สปาก็ยังอยากมีนาโนเทคโนโลยีไปใช้เสริมแบรนด์ ดังนั้นเมื่อทางฝั่ง Demand มีความต้องการมากถึงเพียงนี้ จึงมีความจำเป็นที่ฝั่ง Supply คือนักวิจัยและผู้ให้ทุนจะต้องตอบสนองโดยการกำหนดยุทธศาสตร์ในการให้ทุน อย่างชัดเจน เพื่อทำให้งานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยไปถึงผู้ประกอบการจริงๆ และนี่คือโจทย์ที่หน่วยงานระดับชาติ อย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กำลังเกาะติดอย่างใกล้ชิด


(ภาพซ้ายมือ - ประเทศไทยมีความหลากหลายในเรื่องของงานวิจัยมาก จนดูเหมือนขาด Focus แต่ถ้ามีการบริหารจัดการดีๆ ความหลากหลาย ก็กลับกลายเป็นความสวยงามได้ งานวิจัยต่างสาขาที่มารวมกลุ่มกัน จะสร้างสีสรรเหมือนขนมไทย ที่ดูน่ากิน น่าซื้อ)

25 สิงหาคม 2550

Nanotechnology and Climate Change


งานประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 33 ที่จะจัดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2550 นี้ได้ชูประเด็นเกี่ยวกับ Climate Change ให้เป็นเรื่องใหญ่ มีการนำนักวิชาการทั้งทางด้านธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา นักสิ่งแวดล้อม นักสมุทรศาสตร์ มาร่วมเสวนา เพื่อยกประเด็นโลกร้อนให้เป็นเรื่องที่ประเทศไทยควรใส่ใจมากขึ้น น่าเสียดายที่หัวข้อของการอภิปรายนั้น ค่อนข้างเน้นไปที่เรื่องของการแสดงหลักฐานของภาวะโลกร้อน ซึ่งจริงๆ ก็เป็นที่ประจักษ์ชัด และ สังคมทั้งในระดับวิชาการ และ ภาคประชาชน ให้การยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ประเด็นที่น่าเพิ่มเติมเข้ามาในรายการก็คือ เราจะแก้ไขภาวะโลกร้อนนี้อย่างไร หรือ จะปรับตัวอยู่กับมันอย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นเชิงรุก ที่นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี หลากหลายสาขา รวมไปถึง ภาคธุรกิจ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในปัญหานี้ ดังที่ Al Gore กล่าวไว้ว่า ภาวะโลกร้อนเป็นบททดสอบจริยธรรมของมนุษยชาติ

ในระยะหลังๆ นี้มีการพูดถึงความหวังในการนำนาโนเทคโนโลยี มาช่วยเรื่อง Climate Change กันมาก ในที่ประชุม สัมมนาในต่างประเทศ รวมไปถึงสื่อมวลชน กระทรวงสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักร ได้จัดทำรายงานที่มีชื่อว่า Environmentally beneficial nanotechnologies: barriers and opportunities ซึ่งพูดถึงเทคโนโลยี Fuel Cell, Solar Cell, Batteries ที่จะช่วยบรรเทาการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ นั่นเป็นเรื่องของการพยายามแก้ไข และ ลดภาวะโลกร้อน อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นการปรับตัวให้อยู่กับโลกที่ร้อนนั้น รายงานนี้ไม่ได้พูดถึง ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ฟ้าฝน ดินน้ำ ย่อมได้รับผลกระทบ การเกษตรที่เคยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป เรื่องของเซ็นเซอร์ และ เครือข่ายการรับรู้ต่างๆ จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เซ็นเซอร์จะมีความจำเป็นทั้งในไร่ นา เพื่อคำนวณการให้ปุ๋ยและน้ำที่สอดคล้องกับอากาศที่เปลี่ยนแปลง เซ็นเซอร์ในเมือง ในอาคารสำนักงาน ควบคุมการใช้พลังงาน คุณภาพอากาศ เซ็นเซอร์บนถนนและทางหลวง ช่วยให้การใช้ทางหลวงมีประสิทธิภาพ เครือข่ายอัจฉริยะเหล่านี้จะเริ่มแสดงบทบาทของมัน อีกไม่กี่ปีจากนี้

(ภาพขวามือ - ภูเขาน้ำแข็งที่เราเห็นลูกใหญ่ๆ นั้น มีส่วนฐานขนาดมหึมาที่ใหญ่กว่าเกือบสิบเท่า ซ่อนอยู่ใต้น้ำ หากธารน้ำแข็งที่เดิมอยู่บนพื้นดิน ไหลลงไปลอยเท้งเต้งในทะเล มันสามารถเพิ่มระดับความสูงของน้ำทะเลได้มากกว่า น้ำที่เกิดจากการละลายของมันเสียอีก)

23 สิงหาคม 2550

NIA ดันธุรกิจนาโน เพิ่มการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่จิ๋วแต่แจ๋ว เพราะมีคนน้อย แต่คุณภาพล้นแก้ว หวังปีนี้ดันงานวิจัยนาโนเทคโนโลยี ไปสู่ภาคธุรกิจ อัดเงิน 50 ล้านบาท ส่งเสริมจากต้นจนสุดปลายทาง

"Valley of Death" หรือ หุบเขามรณะ เป็นสิ่งที่คนทำวิจัยประยุกต์รู้จักกันดี มันเป็นสุสานงานวิจัย ที่งานวิจัย ผลิตภัณฑ์ สิทธิบัตร ที่ว่าเจ๋งๆ มาตายน้ำตื้นอยู่แถวๆ นี้ ไม่อาจข้ามจากผู้ผลิตงานวิจัย ไปสู่ ผู้ใช้ประโยชน์ หรือ ตลาดได้ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วนมีกลไกที่เข้มแข็งในการที่จะข้ามหุบเขามรณะนี้ ในอดีต ประเทศไทย ไม่เคยมีหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเพื่อข้ามหุบเขามรณะนี้โดยตรง จนปัจจุบัน มี 2 หน่วยงาน ที่มีสะพานข้ามเหวแห่งนี้ นั่นคือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งได้จัดตั้งโครงการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator หรือ UBI ) โดย ศ.ดร. ภาวิช ทองโรจน์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ส่วนอีกหน่วยงานก็คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Agency หรือ NIA) ที่มีคุณศุภชัย หล่อโลหการ ผู้ร่ำรวยด้วยพลังงานและวิสัยทัศน์ เป็นผู้อำนวยการ ซึ่ง 2 หน่วยงานนี้ก็มีจุดเน้นที่ต่างกัน กล่าวคือ UBI เน้นการสร้างธุรกิจใหม่ ในขณะที่ NIA เน้นธุรกิจเดิมที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือ เทคโนโลยีใหม่

เท่าที่ผมทราบมา ทาง UBI มีการแบ่งหมวดหมู่ของธุรกิจเป็น hi-tech กับ hi-touch แต่ยังไม่มีโครงการเฉพาะทางด้านธุรกิจนาโน ในขณะที่ NIA เริ่มมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ธุรกิจที่มีการนำเอานาโนเทคโนโลยีไปใช้เพิ่มมูลค่า โดย วันที่ 9 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา NIA ได้แสดงเจตจำนงค์ดังกล่าวต่อสาธารณะ มีการนำโครงการร่วมวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัย กับ อุตสาหกรรม มาออกแถลงข่าว เช่น nanocomposites, nano-silver, nanotitania, nano-cosmetics

nanothailand ขอปรบมือให้ครับ


มช. โชว์ strength ผลิตท่อนาโนคาร์บอนระดับอุตสาหกรรม


นักนาโนเทคโนโลยีชื่อดัง ผศ.ดร. พิศิษฐ์ สิงห์ใจ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโอกาส และ แนวโน้มในการนำนาโนเทคโนโลยีไปช่วยภาคอุตสาหกรรมไทย ด้วยการบรรยายเรื่อง "นาโนเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม" ในระหว่างการประชุมประจำปีครั้งแรก ทางด้านนาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย ที่เรียกว่า Thailand NANO 2007 ซึ่งจัดขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-16 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา โดยในทรรศนะของอาจารย์พิศิษฐ์นั้น การผลิตท่อนาโนคาร์บอนของประเทศไทยสามารถแข่งได้ในระดับโลก

ในสงครามการแย่งชิงตำแหน่งฮับนาโน แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่าง ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และ เวียดนาม นั้น ถึงแม้จะยังไม่รู้ว่าใครเบอร์หนึ่งในภาพรวม แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของการผลิตท่อนาโนคาร์บอนแล้ว ประเทศไทยไม่เป็นรองใคร จากการไปตรวจสอบงานวิจัยท่อนาโนคาร์บอนในการประชุมที่เวียดนาม สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ของผมทำให้มั่นใจว่า งานของ อ. พิศิษฐ์ ยังทิ้งห่างอยู่พอควร ต้องนับถือบริษัทซีเมนต์ไทย ว่าตาแหลมมากๆ ที่รีบเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้ อ. พิศิษฐ์ ทำ scale up ในระดับ pilot plant แข่งกับบริษัท Carbon Nanotechnologies ที่จัดตั้งโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล Richard Smalley

Blog นาโน เมืองไทย จึงขอปรบมือให้ อ. พิศิษฐ์ สิงห์ใจ ผู้ตัดผ้าแพรเปิดศักราช นาโนอุตสาหกรรม ในประเทศไทย

20 สิงหาคม 2550

ทางหลวงนาโน (Nano Highway)


หลังจากที่ประธานาธิบดีคลินตันได้เดินหน้าโครงการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Nanotechnology Initiative หรือ NNI) เมื่อปี ค.ศ. 2001 ซึ่งได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ตื่นตัวในการลงทุนวิจัยทางนาโนเทคโนโลยีไปทั่วโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ศาสตร์ของนาโนเทคโนโลยีและนาโนวัสดุได้เข้าไปแทรกซึมและสร้างสีสันให้วงการต่างๆ ทั้ง ฟิสิกส์ เคมี เภสัชศาสตร์ การแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ยานยนตร์ อาหาร-เกษตร วัสดุก่อสร้าง ซึ่งทุกๆวงการต่างต้อนรับเทคโนโลยีน้องใหม่นี้อย่างอบอุ่น ตอนนี้ก็เป็นคิวของอุตสาหกรรมก่อสร้างถนนหนทาง ที่เริ่มจะเกิดการตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีจิ๋วมาใช้บ้าง โดยสหรัฐอเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตีที่จะไปอยู่แถวหน้า ทั้งนี้เพราะสหรัฐอเมริกามีทางหลวงรวมกันแล้วเป็นระยะทางถึง 3.6 ล้านกิโลเมตร เฉพาะแค่การบำรุงรักษาและซ่อมแซมเส้นทางก็ต้องใช้งบประมาณเกือบ 2 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้นทางกรมทางหลวงสหรัฐฯ (Federation Highway Administration) จึงได้ริเริ่มโครงการวิจัยขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาทางหลวงให้กลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ล้ำยุคที่สุดในศตวรรษที่ 21

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://nanotech.sc.mahidol.ac.th/nano/NanoHighway.pdf
(ภาพซ้ายมือ - Route 66 ทางหลวงเส้นเลือดหลักของอเมริกาในอดีต ยาวเกือบ 4000 กิโลเมตร ปัจจุบันมันเป็นทางหลวงในตำนานที่ทรงเสน่ห์ที่สุดในโลก มีผู้นิยมเอาไปตั้งชื่อผับ มากมายทั่วโลก)

19 สิงหาคม 2550

SINGAPORE NANO 2008


เมื่อเหงียม ตอง บูน คิดค้น สิงคโปร์สลิง ในปี ค.ศ. 1910 นั้น เขาเพียงแค่ต้องการหาสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ มาบริการแขกที่มาพักที่ Raffles Hotel โรงแรมเก่าแก่ที่โด่งดังที่สุดของสิงคโปร์ แต่แล้วเครื่องดื่มค็อกเทลชนิดนี้ ได้กลับกลายมาเป็น เครื่องดื่มในคลับและภัตตาคาร ที่โด่งดังที่สุดชนิดหนึ่งของโลก มันหาดื่มได้เกือบทุกที่ในสิงคโปร์ คลับต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดในเมืองไทย ฮ่องกง โตเกียว มิวนิค แฟร็งเฟิร์ต ลอนดอน รู้จักมัน บนสายการบิน Singapore Airlines เราสามารถดื่มและเติมกี่ครั้งก็ได้ ค็อกเทลมหาเสน่ห์ชนิดนี้กลับมีสูตรที่ยังเป็นปริศนาอยู่ทุกวันนี้

ในโลกของค็อกเทล สิงคโปร์สลิง เป็นเครื่องดื่มที่วิ่งไปถึงสุดยอดด้วยความบังเอิญ แต่ในโลกของนาโน รัฐบาลของสิงคโปร์เข้ามาช่วยผลักดันเป็นอย่างมาก ทุกๆ 2 ปี สิงคโปร์จะมีการจัดประชุมยิ่งใหญ่งานหนึ่ง ที่มีชื่อว่า Smart Materials ซึ่งจัดโดย National University of Singapore ซึ่งจะมีนักวิทยาศาสตร์โนเบล รวมไปถึง นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกอื่นๆ มาแสดงวิสัยทัศน์ ในปี 2007 ได้จัดไปแล้ว อีกงานหนึ่งซึ่งจะจัดสลับกันคือ Thin Film ซึ่งกำลังจะจัดในปี 2008 นี้ โดย Nanyang Technical University การจัดสลับกันทำให้สิงคโปร์มีงานประชุมทางด้านนาโน ติดจอเรดาร์ของโลกทุกปี

สำหรับการประชุม Thin Films 2008 นี้ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน เพื่อจัดประชุม The 1st International Conference on NanoManufacturing หรือ nanoMan 2008 แสดงสัญญาณบ่งชี้ว่า สิงคโปร์กำลังต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรมนาโนก่อนใครในภูมิภาคนี้ นักนาโนเทคโนโลยีไทยน่าจะลองไปร่วมประชุมนะครับ งานนี้จะได้รู้ว่าเรามีสิทธิ์เกาะขบวนกับเขาในเรื่อง Nano-manufacturing หรือไม่
(ภาพซ้ายมือ - สิงคโปร์ สลิง เครื่องดื่มที่มีสูตรง่ายๆ ที่ประสบความสำเร็จแบบไม่ได้ตั้งใจ)

13 สิงหาคม 2550

ไทยขาดนักนาโน ต้องเร่งสร้างอย่าหวังอิมพอร์ต


การจะขยับขึ้นเป็นฮับทางนาโนเทคโนโลยีของภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยจะต้องแข่งกับ สิงคโปร์ มาเลเซีย และ เวียดนาม และสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการต่อสู้ก็คือ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้แก่ เครื่องมือ คน เงินทุน และการสนับสนุน สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาของประเทศไทย มากที่สุดตอนนี้ก็คือ เรื่องของคน ซึ่งทางแก้มีอยู่ 2 ทางคือ เร่งสร้างคนขึ้นมา ประเทศเวียดนามเลือกแนวทางนี้ อีกแนวทางหนึ่งคือ การอิมพอร์ตนักนาโนจากต่างประเทศ ประเทศสิงคโปร์เลือกแนวทางนี้สำหรับประเทศไทย คงต้อง เอาอย่างเวียดนามมากกว่านะครับ คือสร้างคนของเราเอง ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาว เพราะบ้านเราไม่มีสิ่งเอื้ออำนวยแบบสิงคโปร์ที่จะดึง super talent จากเมืองนอกมาได้ ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในองค์กร หรือ มหาวิทยาลัยของไทยในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นแค่เกรด B หรือ C เท่านั้น ซึ่งมักจะตามภรรยามา หรือ ไม่ก็หางานในประเทศตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยต้องการระดับ A และ A+ เหมือนสิงคโปร์เขานั่นแหละครับ สิงคโปร์เขาทำได้ เพราะสภาพแวดล้อมในการทำงานเขาเป็น International จริงๆ จ่ายค่าแรงสูง มีโรงเรียนอินเตอร์ให้ลูกเรียน ขณะนี้สิงคโปร์กำลังสร้าง Megastructure ที่มาริน่าเบย์ เพื่อดึงดูดบุคลากรเจ๋งๆ จากทั่วโลก

ไทยเราคงไปแข่งแบบนั้นไม่ได้ เราต้องเร่งสร้างคนของเราเอง เพราะหากอิมพอร์ตแต่ระดับเกรดต่ำๆ เข้ามา แถมบางทีก็มาสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีก แทนที่จะช่วย จะยิ่งฉุดมาตรฐานนาโนเทคโนโลยีของเราลงไปอีก ได้ยินมาว่าหลายๆ ที่เข้ามาแล้วก็ไม่มีผลงาน แล้วยังมาทะเลาะกับคนไทยเจ้าของบ้าน เพราะไม่เข้าใจวัฒนธรรมของเราอีก อย่างนี้ก็แย่นะครับ แต่วิธีการสุดโต่งเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกัน วิธีการอิมพอร์ตคนเข้ามาต้องเปลี่ยนไป คือ อาจใช้วิธี export คนไทยเรานี่แหละ ออกไปหาประสบการณ์ postdoc ในต่างประเทศก่อน แล้วค่อย import กลับเข้ามาเมื่อเก่งแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มกำลังคนของเราได้ทางหนึ่ง หรือไม่ก็อิมพอร์ตคนเอเซียด้วยกัน เช่น จีน เวียดนาม จะทำงานเข้ากับคนไทยง่ายกว่า

วันหลังผมจะกลับมาเล่าว่านาโนเทคโนโลยีของสิงคโปร์ ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ......
(ภาพขวามือ - เด็กๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกากำลังสนุกสนานกับการเรียนรู้ Nano-education)

11 สิงหาคม 2550

แมนซีตี้ เปิดฤดูกาล คว้าชัย 2-0


Manchester City ทีมฟุตบอลขวัญใจนักนาโนเทคโนโลยีของไทย บุกไปเอาชนะทีมขุนค้อน West Ham United ด้วยสกอร์ใสๆ 2-0 ในวันเปิดฤดูกาล พรีเมียร์ลีก 11 สิงหาคม นี้ การออกสตาร์ทที่สวยสดงดงามนี้ เหมือนจะเป็นการต้อนรับ CEO ใหม่จากแดนดินถิ่นสยาม ยิ่งทำให้แฟนบอลของทีมเรือใบสีฟ้าฮึกเหิมกับความฝันที่จะไปสู่ถ้วยยูฟ่าให้ได้



ติดตามผลงานของทีมบอลขวัญใจนาโน ทีมนี้ในโอกาสต่อไปครับ

มหิดลเปิด โท เอก Material Science & Engineering หวังดันนาโนเทคโนโลยีไทยแข่งนานาชาติ


คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังเปิดรับสมัคร นักศึกษา ปริญญาโท และ เอก หลักสูตรนานาชาติ สาขา Materials Science and Engineering (MSE)ในภาคการศึกษาปลาย ปี พ.ศ. 2550 นี้ โดยหลักสูตรใหม่นี้ถือเป็นหลักสูตร MSE หลักสูตรแรกในประเทศไทย ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะเคยมีการเปิดหลักสูตรวัสดุศาสตร์ ทั้งในระดับตรี และ บัณฑิตศึกษา ในหลายๆ มหาวิทยาลัยมาแล้วก็ตาม แต่หลักสูตรใหม่ MSE นี้ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เน้นเนื้อหาทางด้าน Nanotechnology, Biomimetic Materials & Engineering โดยอาศัยความชำนาญของ มหาวิทยาลัยมหิดล ทางด้านชีววิทยาและการแพทย์ มาศึกษาและทำการวิศวกรรมวัสดุ โดยอาศัยการเลียนแบบธรรมชาติ และ วิศวกรรมธรรมชาติ โดยหลักสูตรจะมีความเชื่อมโยงกับหลักสูตรอื่นๆ เช่น Bionics ของคณะแพทย์ Robotics ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น หัวข้อวิจัยมีให้เลือกมากมาย เช่น Nanodevice engineering, Biomimetic Engineering, Computational Nanotechnology, Nanocomposites, Nanostructure, Nanoarchitectonics, Nanofabrication, Single molecule manipulation, Bionanosystems, Biosensors, Artificial sense, Plastic electronics, Nanosurface treatment, Nanocoating, Nanoencapsulation โดยนักศึกษาสามารถใช้ห้องสมุดสตางค์ ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย มีโรงงานต้นแบบทางนาโนอุตสาหกรรมให้ทดลองงาน มีโครงการ Nanoentrepreneurship เพื่อทำ Nano-business โดยการจัดตั้ง Start-Up Company ให้เป็นที่ลองงานของนักศึกษา เรียกว่าครบวงจรแบบ MIT เลยทีเดียว

หลักสูตรนี้จึงเป็นการนำ MIT มาเปิดสอนที่เมืองไทย โดยไม่ต้องบินไปเรียนถึงสหรัฐอเมริกา สนใจสอบถามที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

10 สิงหาคม 2550

เวียดนามตั้งแล็บนาโนเทคโนโลยี แข่งไทย


ในขณะที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติของไทย (NANOTEC) ได้ริเริ่มการตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางนาโนเทคโนโลยี (Center of Excellence) ขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยที่ผ่านมาได้ตั้งไปแล้วทั้งหมด 8 แห่ง ตามลำดับดังนี้ ที่ AIT, เกษตร, มหิดล, ลาดกระบัง, เชียงใหม่, สงขลา, จุฬาฯ และ ขอนแก่น ในประเทศเวียดนามเองก็กำลังดำเนินกิจกรรมดังกล่าวแข่งกับไทยอยู่ วันนี้ nanothailand ขอนำมาเล่าสักหนึ่งแห่ง นั่นคือที่
VIETNAM NATIONAL UNIVERSITY OF HO CHI MINH CITY (VNU-HCM) ได้ตั้งห้องปฏิบัติการทางนาโนเทคโนโลยี ขึ้นมาชื่อว่า LABORATORY FOR NANOTECHNOLOGY (LNT) โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเป็นเงิน 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ รือ เป็นเงินไทยประมาณ 157 ล้านบาท ฟังดูแล้วหนาวเลยครับท่าน เพราะแค่ Lab เดียวใช้เงินลงทุนพอๆ กับของเรา 8 มหาวิทยาลัยเลยทีเดียว จุดเด่นของ Lab ที่นี่ ก็คือเขาเน้นการเชื่อมโยงและถ่ายทอดเทคโนโลยีไปอุตสาหกรรมโดยตรงเลย ซึ่งก็มี Saigon HighTech Park เป็นผู้สนับสนุน งานวิจัยก็มี physics-chemistry-biology interface, materials for biotechnology, thin film materials, technology for microsystems, chemical and biological microsensors

นอกจากนั้นของเขายังมีความร่วมมือกับต่างประเทศอย่างเข้มแข็ง ได้แก่ Commissariat a l’Energie Atomique (CEA-LETI) - France, Institut National Polytechnique de Grenoble (INPG) - France, PFIEV - France, TOSHIBA - Japan, JICA Project for AUN/SEED - NET - Japan, Korea Institute of
Science and Technology (KIST) - Korea, Sungkyunkwan University (SKKU) - Korea

จับตาดูให้ดีครับ เสือตัวนี้ไม่ใช่ธรรมดา เหมือนที่คุณสุทธิชัย หยุ่น เคยเปรียบเปรยไว้ว่า เกาหลี โดนจีนประกบซ้าย ญี่ปุ่นประกบขวา ไทยโดนสิงคโปร์ประกบล่าง เวียดนามประกบบน จะขยับตัวไปไหนก็อึดอัดใช่เล่นนะครับ ........

09 สิงหาคม 2550

นัก นาโนเทคโนโลยี ไทย คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่

ปีนี้เป็นปีทองของนาโนเทคโนโลยีไทยจริงๆ เพราะการประกาศรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี พ.ศ. 2550 นั้น ได้มอบรางวัลให้นักวิทยาศาสตร์ 6 ท่าน เป็นนักนาโนเทคโนโลยีซะ 3 ท่าน ได้แก่ ผศ.ดร. วินิช พรมอารักษ์, ผศ.ดร.สันติ แม้นศิริ, ดร.อานนท์ ชัยพานิช ซึ่งการประกาศมีขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2550 ที่โรงแรมสยามซิตี้ เสียดายที่ผมไม่ได้ไปร่วมงานยินดีกับท่านเหล่านั้น เพราะติดภารกิจประชุม IEEE-NANO 2007 ที่ฮ่องกง วันนี้ผมขอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ ผศ.ดร. วินิช พรมอารักษ์ ว่าท่านเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไรอยู่ สำหรับ 2 ท่านที่เหลือ ผมจะมาเล่าให้ฟังวันหลังนะครับ

อาจารย์วินิชเป็นนักนาโนที่น่าสนใจมาก ท่านทำงานอยู่ที่ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ถ้าใครเคยไปแถวนั้น ก็จะรู้ว่าเมืองอุบลนี้เป็นเมืองแห่งน้ำ มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่ง เช่น โขงเจียม แก่งตะนะ ผาแต้ม มีวัดดังๆ หลายวัด เช่น วัดหนองป่าพง วัดป่านานาชาติ อาหารการกิน ก็จะมีร้านแบบเรือนแพ ตั้งอยู่ริมฝั่งมูล ด้านของ อ. วารินชำราบ เยอะมากๆ เมืองอุบลมีความเป็นเอกลักษณ์หลายอย่าง เช่น อำเภอเมือง อยู่ฝั่งตรงข้ามกับอีกอำเภอคือวารินชำราบเลย กลับมาที่เรื่องของอาจารย์วินิช ท่านเป็นนักเคมีสังเคราะห์ เน้นการค้นหาและพัฒนาสารอินทรีย์ ที่ใช้ในอุปกรณ์เปล่งแสงอินทรีย์ (Organic Light-Emitting Devices หรือ OLED) และ เซลล์สุริยะชนิดสีย้อม (Dye-Sensitized Solar Cell) คนที่ทำงานอยู่ในสาขาอินทรีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Organic Electronics) ต่างรู้ดีว่าสารอินทรีย์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น dye หรือ Conductive Polymer ก็คือ ต้นน้ำ ของเทคโนโลยีนี้ สารพวกนี้เขาขายกันเป็นมิลลิกรัม หรือ กรัม ไม่ใช่ กิโลกรัม หรือ ตัน เหมือนวัสดุประเภทอื่นๆ อาจารย์วินิชก้มหน้าก้มตาทำงาน จนเก็บสะสมสารเหล่านั้นได้จำนวนหนึ่ง เป็นที่ต้องการของนักนาโนเทคโนโลยีกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะที่ มหิดล หรือ MTEC ตอนผมไปประชุมที่เวียดนาม พวกนักนาโนเทคโนโลยีของเวียดนามให้ความสนใจกับวัสดุประเภทนี้มาก เพราะเขาคิดว่ายังสู้เราไม่ได้ ไม่เหมือนกับวัสดุพวกเซรามิกส์ เขาจะไม่ค่อยมาดูโปสเตอร์เลย แต่เขาชอบมาดูพวก OLED และ Solar Cell รวมไปถึงพวก Conductive Polymer ด้วย

น่ายกย่อง อ.วินิช ที่ทำให้ตอนนี้เมืองอุบลอาจจะมีสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกแห่ง คือ ห้อง Lab ของอาจารย์เอง ท่านตั้งชื่อว่า Advanced Organic Materials & Devices Laboratory ว่างๆ คงต้องหาโอกาสไปดู Lab ท่านหน่อย แล้วจะกลับมาเล่าให้ฟังนะครับ

(ภาพทางขวามือ - การล่องเรือไปเดินเล่นบนแก่งตะนะ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ไม่ควรพลาด)

Malay NANO 2008


ท่ามกลางการแข่งขันเพื่อเป็นผู้นำทางด้านนาโนเทคโนโลยี ในภูมิภาคอาเซียน ระหว่าง ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ และ มาเลเซีย แน่นอนไม่มีใครอยากเป็นที่โหล่ สถานภาพตอนนี้สิงคโปร์น่าจะนำอยู่ โดยยังมีความคลุมเคลืออยู่ว่าใครเป็นที่สองกันแน่ ระหว่าง ไทย มาเลเซีย และ เวียดนาม หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างที่มันเป็นขณะนี้ ถ้าไทยไม่ทำอะไร เวียดนามจะเบียดขึ้นเป็นที่ 2 แน่ๆ ซึ่งหมายความว่า ไทย กับ มาเลเซีย ต้องแข่งกันอย่างดุเดือด เพื่อไม่ให้เป็นที่โหล่ ดังนั้นก็น่าจะเข้าไปดูกันหน่อยว่า สถานภาพทางด้าน นาโน ของมาเลเซีย เป็นอย่างไรกันบ้าง วันหลังๆ ผมจะค่อยๆ เล่าเรื่องราวที่พวกเรารู้กันไม่มากนักเกี่ยวกับประเทศนี้นะครับ อย่าดูถูกเขาเชียวนะครับ อย่าคิดว่า เรานำเขาอยู่ทางด้าน นาโน


ปีหน้า (ค.ศ. 2008) มาเลเซียเขาจะจัดการประชุม International Conference on MEMS and Nanotechnology (ICMN 2008) ที่กัวลาลัมเปอร์ งานที่เขาจะจัดขึ้นนี้ นักนาโนเทคโนโลยีไทยไปเห็นเข้า ก็จะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ แน่ เพราะเนื้อหามันช่าง advanced กว่าของบ้านเราที่จัดๆ กัน ในบ้านเรานั้น ที่เห็นกันก็จะมีแต่ nanomaterials ซึ่งก็ไปเน้นเซรามิกส์กันมาก แต่ของมาเลเซียนั้นเขาเล่นเรื่อง MEMS ตั้งแต่ modeling, design, fabrication ไปถึง testing และ applications ส่วนทางด้านนาโน ก็ข้ามขั้นของบ้านเราไปถึง nanodevice แล้ว โดยทางด้าน nanomaterials เป็นเรื่องรองลงไป เมื่อสัก 4 ปีก่อนหน้านี้ ท่านมหาธีร์ นายกรัฐมนตรีคนก่อนของมาเลเซีย ท่านให้ความสำคัญ โดยทุ่มเงินเพื่อสร้าง Lab และ Facility ทางด้าน MEMS กับ Nanodevice เพื่อเป็นฐานของอุตสาหกรรมอนาคต เช่นเดียวกับเวียดนามที่จับงานทางด้าน nanodevice เยอะมาก ซึ่งต่างจากบ้านเราที่เล่นแต่ nanomaterials งานนี้คนไทยน่าจะลงทะเบียนไปดูความก้าวหน้าของเขาบ้างนะครับ



(ภาพตึกแฝด ที่เคยสร้างสถิติเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลก มาเลเซียกำลังคิดจะสร้าง surprise ให้แก่คนไทย โดยข้ามขั้นไปสู่ยุค Nanodevice ไม่ช้านี้)

Thailand NANO 2007


การประชุมประจำปีครั้งแรก ทางด้านนาโนเทคโนโลยี ของประเทศไทย ที่เรียกว่า Thailand NANO 2007 กำลังจะจัดขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-16 สิงหาคม 2550 นี้ ถึงแม้จะเป็นแค่งานประชุมระดับชาติ แต่ก็มีความน่าสนใจ ตรงที่จะเป็นจุดที่สามารถตรวจสอบ สถานภาพ ของประเทศไทย ทางด้าน นาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยี ว่าตอนนี้แพ้เวียดนาม กับ มาเลเซีย แล้วหรือยัง ผมจึงแนะนำให้ไปเข้าร่วมงานนี้นะ ครับ โดยในวันแรกมีจุดสนใจที่มี guest speaker ชาวญี่ปุ่น ชื่อ Professor Tomoji Kawai ศาสตราจารย์ท่านนี้นอกจากจะมีความเก่งกาจในเรื่องของงานวิจัยแล้ว ท่านยังเป็นครูที่ ดีอีกด้วย ในเว็บไซต์ของท่าน มีการสอนความเข้าใจ ในเรื่องนาโนเทคโนโลยี มีการจัดวางเนื้อหาได้ดีมาก
จะว่าไป จริงๆ แล้ว จุดเด่นที่ทำให้เราพลาดงานครั้งนี้ไม่ได้ก็คือ การจัดที่เชียงใหม่ ทำให้เพิ่มสีสันแก่การประชุมขึ้นไปอีก เรียกว่า ขอให้จัดที่เชียงใหม่ก็มีคนไปแล้ว
(ภาพขวามือ - สีสันของเทียนแกะสลัก วางขายที่ตลาดกลางคืนกลางเมืองเชียงใหม่ เสมือนจะสื่อไปยังนักนาโนเทคโนโลยีไทย ที่กำลังจะไปร่วมงาน Thailand NANO 2007 นี้ว่า หากพวกเขามาร่วมกันทำงาน ก็สามารถสร้างสีสัน และ เอกลักษณ์ ให้เกิดขึ้นได้)

Vietnam NANO 2007


ปี พ.ศ. 2550 นี้นับว่าเป็นปีที่มีการจัดการประชุมทางด้านนาโนเทคโนโลยี ที่มีความน่าสนใจ หลายๆงาน เช่น China NANO 2007 ที่ปักกิ่ง IEEE-NANO 2007 ที่ฮ่องกง Smart Materials 2007 ที่สิงคโปร์ Japan Nanotech ที่ญี่ปุ่น ปลายปีนี้ ประเทศคู่แข่งทางด้านนาโนเทคโนโลยีของเรา คือ เวียดนาม ก็จะจัดประชุม First International Workshop on Nanotechnology and Application IWNA 2007 ที่เมือง Vung Tau ซึ่งเป็นเมืองชายทะเล อยู่ใกล้ๆ กับนครโฮจิมินห์ เมืองวังเต่านี้ เวียดนามเขาก็กะว่าจะให้เป็นคู่แข่งกับพัทยาของเรา งานประชุมนี้จัดวันที่ 15-17 พ.ย. 2550 ได้รับการสนับสนุนจาก Vietnam National University - Ho Chi Minh City ร่วมกับ Vietnamese Academy of Science, Ministry of Science and Technology และ Saigon HighTech Park โดยมีบริษัทและองค์กรต่างประเทศหลายแห่ง ร่วมสนับสนุน เช่น MINATEC (France), CEA-LETI (France), Institut National Polytechniquede Grenoble (France), Acrosemi (USA), Aixtron (Germany), SUSS MicroTec (Germany), Accelrys (USA)

การประชุมนี้ มุ่งหวังจะให้เป็นเวทีการแลกเปลี่ยน ระหว่างนักนาโนเทคโนโลยีในสาขาพื้นฐานของนาโนศาสตร์ นาโนวัสดุ นาโนกระบวนการ นาโนอุปกรณ์ การประยุกต์ใช้นาโนวัสดุ เทคนิคในการประกอบต่างๆ ได้แก่ Nanolithography, Nano-imprinting, Edge lithography, Focused Ion Beam, Etching (IBE), Self Assembly, Nano-thin film and packaging เวทีนี้แม้จะเป็นเวทีนานาชาติ ที่จะมีผู้เข้าร่วมจากทั่วโลก แต่กว่าครึ่งของผู้มาแสดงผลงานก็คงเป็นคนเวียดนาม ทั้งจากในเวียดนามเอง และคนเวียดนามที่อยู่ต่างประเทศ ดังนั้น เวทีนี้จึงเป็นเวทีที่เหมาะจะไป ตรวจสอบสถานภาพ นาโนเทคโนโลยีของเวียดนาม
(ภาพข้างบน แสดงความบริสุทธิ์ของชายหาดวังเต่า)

08 สิงหาคม 2550

เวียดนาม ซิ่งหวังแซงไทย ทางด้านนาโนเทคโนโลยี


เวียดนาม เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ในระยะกลาง และ ระยะยาว ต่างก็มีการประเมินกันว่า เวียดนามจะแซงหน้าไทยในที่สุด ในเรื่องของนาโนเทคโนโลยีก็เช่นกัน เวียดนามก็หวังจะแซงหน้าไทยให้ได้ เขามีตัวช่วยค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับประเทศพันธมิตรในอดีต อย่าง ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา โดยมี professor ที่เป็นชาวเวียดนามกลับมาช่วยมากมาย ประเทศไทยก็เคยมีโครงการสมองไหลกลับ แต่ดูเหมือนจะล้มเหลว ไม่เหมือนของเวียดนาม ที่สามารถดึง superstar กลับมาช่วยได้เยอะ
เมื่อปีที่แล้ว ระหว่างวันที่ 6-9 ธันวาคม 2549 เวียดนามจัดงานประชุมทาง นาโนเทคโนโลยี ที่ยิ่งใหญ่มากงานหนึ่ง ชื่อ 1st International Workshop on Functional Materials (1st IWOFM) and 3rd International Workshop on Nanophysics and Nanotechnology (3rd IWONN) ที่อ่าวฮาลอง เมืองท่องเที่ยว ที่หมายมั่นจะแข่งกับกระบี่ของไทย ในงานประชุมดังกล่าว เวียดนามได้รับสนับสนุนจาก International Center for Materials Research ซึ่งตั้งอยู่ที่ University of California at Santa Barbara มหาวิทยาลัยริมทะเลที่สวยมากๆ แถมยังได้รับความช่วยเหลือจาก เกาหลี ในเรื่องของการตีพิมพ์ผลงาน ที่นำมาแสดงในการประชุมครั้งนั้น เพื่อลงในวารสารชื่อ Journal of Korean Physical Society ในช่วงที่จัดการประชุมนั้น เวียดนามพยายามล็อบบี้ และ convince (ทำให้เชื่อ) พวกนักวิทยาศาสตร์ที่มาประชุม โดยเฉพาะจากประเทศเก่งๆ ว่าเวียดนามคืออนาคตของภูมิภาคแถบนี้ โดยเฉพาะทางด้านนาโนเทค เลยทีเดียว จะว่าไปแล้ว การประชุมครั้งนั้น เวียดนามทำได้ดีจริงๆ เขาได้ sponsor จากแหล่งทุนต่างประเทศ มีวารสารจากเกาหลีมาสนับสนุน และมีนักนาโนเทคโนโลยีระดับโลกมาพูดในงาน มากมาย ซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดงานทางด้าน นาโนเทคโนโลยี ระดับนานาชาติ ได้ดีเท่านี้เลย วันหลังผู้เขียนจะกลับมาเล่าความน่ากลัวของ นาโนเวียดนาม ให้ฟังต่อครับ
(ภาพทางขวามือ แสดงนักศึกษาเวียดนามแต่งกายในชุดประจำชาติ กำลังเดินไปเข้าห้อง Lecture ไม่รู้ว่าพวกเธอกำลังคุยเรื่องอะไรกัน อาจเป็นเรื่องนาโนเทคโนโลยีก็ได้)

01 สิงหาคม 2550

นาโนวนศาสตร์ (Nano Forestry)

ในปี พ.ศ. 2548 หรือเกือบ 2 ปีมาแล้ว ได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในวงการอุตสาหกรรมป่าไม้ของโลก นั่นคือ ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา และ กลุ่มสหภาพยุโรป ต่างก็ริเริ่มจัดทำแผนกลยุทธ์นาโนเทคโนโลยีด้านป่าไม้ ขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย ประเทศทั้งสามกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่มีผลผลิตจากอุตสาหกรรมป่าไม้ ในอันดับต้นๆของโลก ปรากฏการณ์ตื่นตัวในการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างนาโนเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาวัสดุที่แสนจะเก่าแก่อย่างไม้ ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญแต่อย่างใด หากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ก็จะพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของปรากฏการณ์โลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งตอนนี้ได้กลายมาเป็นกระแสอนุรักษ์ที่บูมขึ้นทั่วโลก

ไม้ ….. เป็นวัสดุที่ใช้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Renewable) โดยการนำกลับมาใช้ใหม่นั้น อาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีรีไซเคิลก็ได้ เพราะถึงแม้มันจะถูกเผาทำลาย หรือย่อยสลายไปแล้ว ก็สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกโดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่าวัฏจักรคาร์บอน (Carbon Cycle) ดังภาพที่เห็นซ้ายมือ (Click ที่รูปเพื่อขยาย) นั่นคือการปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศกลับมาให้เป็นไม้อีก ไม้จึงเป็นวัสดุที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ให้มีความพิเศษ ด้วยนาโนเทคโนโลยี นอกจากจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์หลากหลายไปใช้งาน และช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังอาจช่วยให้เกิดความยั่งยืนด้านพลังงานอีกด้วย เพราะพืชเป็นเทคโนโลยีที่เก่าแก่และทรงประสิทธิภาพที่สุด ในการดึงพลังงานจากแสงอาฑิตย์มาใช้งาน นาโนเทคโนโลยีอาจจะช่วยในการหาหนทางใหม่ๆ ในการนำเซล์ของพืชมาใช้เก็บเกี่ยวพลังงานจากแสงอาฑิตย์



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง นาโนวนศาสตร์ ได้ที่ http://nanotech.sc.mahidol.ac.th/nano/NanoForest.pdf