17 พฤษภาคม 2555

Are We Simulated in Computer ? - ฤาโลกนี้เป็นเพียงฝัน (ตอนที่ 10)


ในทางพระพุทธศาสนานั้นภพภูมิที่เรียกว่าสวรรค์ หรือ เทวโลก เป็นสถานที่ที่สัตว์โลกมาบังเกิดในรูปแบบที่เรียกว่า โอปปาติกะ คือเกิดขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนในสภาพที่โตเต็มที่ และไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ในการเกิด โดยกรรมที่บุคคลกระทำไว้ในภพภูมิก่อนหน้าจะเป็นตัวกำหนดว่า เทวดาตนนั้นจะมีสมบัติทิพย์ต่างๆ มากมายแค่ไหน มีอิทธิฤิทธิ์ ขนาดวิมาน จำนวนนางฟ้าที่จะมาปรนนิบัติ จะมากน้อยอย่างไรก็อยู่ที่บุญกรรมที่เคยสร้างไว้ ชีวิตในเทวโลกเป็นชีวิตทิพย์ เมื่อเทวดาหิวก็จะนิรมิตอาหารต่างๆ ขึ้นมารับประทาน โดยรสชาติความอร่อย ความหลากหลาย ความสวยงามน่ารับประทานก็ขึ้นกับเทวฤทธิ์ของตน สภาพแวดล้อมทิพย์ในเทวโลก เป็นสภาพที่สร้างขึ้นได้ กำหนดขึ้นได้ ตามกำลังสติปัญญาและกำลังกุศลของเทวดาแต่ละตนนั้นเอง

ในฐานะมนุษย์อย่างเรา เมื่อเรามองไปยังเทวโลก เราอาจจะมีความรู้สึกว่า สภาพทิพย์ในเทวโลกนั้นมันไม่ใช่ของจริง เป็นการสร้างขึ้นมาในจินตนาการของสิ่งมีชีวิตในภพนั้น ต่างๆ จากสภาพของภพภูมิของเราบนโลกมนุษย์ ที่ทุกอย่างรอบๆ ตัวเรานั้นเป็นของจริง มีตัวตน จับต้องได้ และเป็๋นไปตามกฏทางฟิสิกส์ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นโลกนั้นนิรมิตขึ้นมาไม่ได้เหมือนในเทวโลก ถ้าอยากเหาะได้ ก็ต้องสร้างยานพาหนะที่อาศัยแรงยกตัวด้วยกฎทางอากาศพลศาสตร์ อยากลอยน้ำได้ก็ต้องทำให้ตัวเรามีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ อยากรับประทานอาหารอร่อย ก็ต้องปรุงแต่งจากวัตถุดิบที่ดี เครื่องเทศที่เหมาะสม ทุกสิ่งทุกอย่างทำขึ้นมาได้แต่ต้องเป็นไปตามกฎทางฟิสิกส์

อย่างไรก็ตาม มีนักวิทยาศาสตร์อยู่กลุ่มหนึ่งที่เริ่มเชื่อว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้อาจจะไม่มีอยู่จริงก็ได้ สิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเรา สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราได้ยิน โลกที่เราอยู่รวมทั้งร่างกายนี้ เป็นสิ่งที่อาจจะจำลองขึ้นบนคอมพิวเตอร์ก็ได้ และการที่จะพิสูจน์เพื่อให้รู้ว่าเรากำลังอาศัยอยู่ในโลกจำลองนี้ อาจแทบเป็นไปไม่ได้เลย .... ไม่แน่เหมือนกันว่า เรื่องที่ว่านี้ อาจเป็นเรื่องๆ หนึ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้เมือ 2,600 ปีที่แล้ว แต่เป็นสิ่งที่พระองค์ไม่ได้ทรงนำมาเปิดเผย เพราะทรงเล็งเห็นว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพ้นทุกข์ก็ได้ครับ

ถึงแม้การพิสูจน์ว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ไม่ได้มีอยู่จริง แต่เกิดจากการจำลองในคอมพิวเตอร์จะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่แนวโน้มความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น ทำให้เราเริ่มเชื่อแล้วครับว่า ชีวิตจำลอง (Simulated Life) อาจมีอยู่จริงก็ได้ นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่าสมองของมนุษย์นั้น มีความสามารถในการประมวลผลได้ 10^19 ครั้งต่อวินาที (10 ยกกำลัง 19 หรือ 10 ล้านล้านล้าน ครั้งต่อวินาที) ซึ่งปัจจุบันเรามีกำลังการประมวลผลสูงสุดอยู่ที่หลัก 10^15 ครั้งต่อวินาที ซึ่งยังช้ากว่าสมองมนุษย์เกือบหมื่นเท่า แต่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2050 เราจะมีคอมพิวเตอร์ที่มีกำลังประมวลผลสูงกว่าสมองมนุษย์ เมื่อถึงวันนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า เราจะจำลองสิ่งที่เกิดขึ้นบนสมองของเรา ขึ้นไปไว้บนคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกนึกคิด ความทรงจำต่างๆ ลองคิดดูสิครับว่า หากเราอัพโหลดข้อมูลในสมองของเราให้ไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ได้ ความรู้สึกนึกคิด ความเป็นตัวตนของเรา ก็จะไปรันอยู่ในคอมพิวเตอร์ แล้วถ้าหากเราจำลองสถานการณ์ต่างๆ เช่น บ้าน รถ เพื่อนบ้าน โลกรอบๆ ตัวเรา ให้อยู่กับสมองจำลองของเราที่อัพโหลดขึ้นไปแล้ว มันก็จะไม่ต่างจากตัวเราได้ไปเป็นโอปปาติกะในโลกจำลองเลย นั่นคือ เราได้สร้างเทวโลกที่เราเองสามารถนิรมิตสิ่งต่างๆ เพื่อให้เราสามารถมีชีวิตอยู่ที่นั่นได้ ตราบจนนิรันด์กาล

13 พฤษภาคม 2555

The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 5)


ช่วงนี้ราคาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะอาหารได้ถีบตัวสูงขึ้นมาก อย่างชนิดไม่เคยปรากฎมาก่อนในประเทศไทย หลายๆ คนพยายามหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้เชี่ยวชาญในคณะรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ออกมาบอกว่า เหตุผลของการ "แพงทั้งแผ่นดิน" นั้นเกิดจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในขณะที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจการค้ากำไรเกินควรของบริษัท ปตท. มานานแล้ว ได้ออกมาประณามบริษัทนี้ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ว่า ปตท. เป็นสาเหตุทำให้ข้าวของแพง เพราะทำให้ต้นทุนพลังงานแพง

เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว สหประชาชาติได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์อาหารโลก ที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งเวลานั้นมีการคาดการณ์กันว่าราคาของอาหารจะถีบตัวสูงขึ้น และประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์เรื่องอาหาร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำทางด้านอาหาร อาจจะกลายเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารก็ได้ในอนาคต เนื่องจากศักยภาพในการผลิตอาหารที่ลดลงอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ อาหารได้กลายมาเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่กองทุนข้ามชาติ ให้ความสนใจเพื่อปั่นราคาทำกำไรแทนน้ำมัน ทำให้วิกฤติที่กำลังกลายเป็นโอกาสของคนไม่มีกลุ่ม อาจจะกลายเป็นวิกฤตที่ลามสร้างความเดือดร้อนให้คนทั้งโลก

ก่อนหน้านี้ ผมได้นำเสนอแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลกว่า ประเทศที่ส่งออกพลังงานและเทคโนโลยี มีแนวโน้มที่จะต้องการพึ่งพาตัวเองด้านอาหารมากขึ้น ประเทศในตะวันออกกลางกำลังขะมักเขม้นพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชในสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง ในขณะที่ประเทศยุโรปกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเนื้อสัตว์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยด้วย สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการตื่นตัวครั้งใหญ่ ถึงขั้นจะปฏิรูประบบอาหารกันขนานใหญ่เลยครับ นายแฟรงค์ ดี ลูคัส (Frank D. Lucas) ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อร่างกฎหมายเกษตรแห่งชาติ (2012 Farm Bill) ของรัฐสภาสหรัฐฯ ถึงกับเอ่ยปากว่า "ผลงานของคณะกรรมาธิการด้านเกษตร รวมไปถึงการร่างกฎหมายเกษตรแห่งชาติฉบับใหม่นี้ จะกระทบวิถีชีวิตของชาวอเมริกันทุกคนเลยล่ะครับ เราจะสร้างความมั่นใจให้ได้ ว่าเกษตรกรอเมริกันจะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่พวกเขาต้องการ ในการผลิตอาหารแบบยั่งยืน โดยเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เทียบเท่ากับการป้องกันประเทศนี้"

เป็นที่รู้กันว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบของธุรกิจเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ที่เน้นการทำฟาร์มขนาดใหญ่ ที่เน้นการใช้เทคโนโยี เครื่องจักรกล สารเคมี เพื่อให้ได้ผลผลิตคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบริษัททางด้านเกษตรในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นซีพี เบทาโกร พยายามจะนำมาใช้ในประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนประเทศของเราซึ่งเป็นการเกษตรแบบครอบครัว ที่เน้นการทำกินในพื้นที่เล็กๆ แบบพอเพียง มาเป็นเกษตรอุตสากรรม ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่จากวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเกษตรแบบอุตสาหกรรมได้ตกเป็นจำเลย เป็นตัวการในการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ทำลายแหล่งน้ำและผืนป่า ทำให้ในระยะหลังๆ มานี้ ได้มีความเคลื่อนไหวที่จะปฏิรูปการเกษตรเสียใหม่ เพื่อหวนคืนกลับมาสู่เกษตรแบบพอเพียง ที่มีขนาดพื้นที่เล็กลง มีครอบครัวเกษตรกรกลับมาทำมาหากินแบบวิถีเกษตรกรมากขึ้น ด้วยความหวังที่จะหยุดความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อม และทำให้ระบบผลิตอาหารมีความมั่นคงมากขึ้น

ร่างกฎหมายเกษตรแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่จะประกาศใช้ในปี ค.ศ. 2012 นี้ จะเน้นวิถีเกษตรกรมากขึ้น โดยส่งเสริมเกษตรกรรมแบบครอบครัว เกษตรอินทรีย์ เกษตรแบบประณีต ที่เน้นความปลอดภัยและความยั่งยืนเป็นหลัก เกษตรกรเจ้าเล็กๆ จะได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้เงินงู้ดอกเบี้ยต่ำ ได้ค่าชดเชยต่างๆ เพื่อคืนที่ดินบางส่วนให้กลับสู่ธรรมชาติ ป่าชุมชนจะได้รับการรื้อฟื้นเพื่อให้มีพื้นที่สีเขียว คละแซมไปกับพื้นที่เกษตรกรรม เพื่ออนุรักษ์พันธุ์นกต่างๆ รวมถึงสัตว์ป่าบางชนิดที่อาจปรับตัวอยู่กับชุมชนเกษตรได้ กฏหมายฉบับนี้จะสนับสนุนให้มีการนำงบประมาณมาใช้เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ และปรับพื้นที่เกษตรกรรมเสียใหม่ เกษตรกรรายเล็กๆ จะได้รับเงินและเทคโนโลยี พร้อมความหวังว่าจะเป็นรากฐานความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้ระบบอาหารของประเทศสหรัฐอเมริกาในอนาคต มุ่งสู่อาหารที่รู้ที่ไปที่มา อาหารที่อยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกลับมาได้รับความนิยม และเป็นพื้นฐานของชุมชมทำเองกินเอง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังจะกลับมาในอนาคต

03 พฤษภาคม 2555

The Future of City - อนาคตของเมืองใหญ่ (ตอนที่ 2)


ตอนที่ผมกลับมาจากต่างประเทศ แล้วเข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผมได้เรียนรู้ว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยของไทยนั้น ทำงานวิจัยกันแค่ 1 ใน 10 ของจำนวนอาจารย์ทั้งหมด นี่ขนาดเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับต้นๆ ของประเทศแล้วนะครับ ยังน้อยขนาดนี้ เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำงานวิจัย และที่ผมตกใจมากก็คือ งานวิจัยทั้งหมดที่ทำกันอยู่นั้น ผมก็ได้เรียนรู้อีกว่า มีเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นครับที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทย ที่เหลือมีประโยชน์กับประเทศอื่น นี่ถ้าเรามองว่ามหาวิทยาลัยเป็นเครื่องยนต์ ที่กำลังขับเคลื่อนประเทศไทยที่เป็นตัวรถ เครื่องยนต์ตัวนี้มีกำลังขับเคลื่อนเพียง 1% เท่านั้นครับ น่าตกใจมั้ยครับ แล้วเราจะมีกำลังอะไรไปแก้ไขปัญหาที่ประเทศเรา และทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งต้องอาศัยพลังปัญญาและเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งนับวันจะทวีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน หรือ Climate Change

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เรื่องของภาวะโลกร้อน มีความชัดเจนและแสดงออกอย่างรุนแรงขึ้น ตอนนี้ทั่วโลกมองว่าการแก้โลกร้อนมันใหญ่มาก สิ่งที่พอจะทำได้ตอนนี้คือ "การปรับตัว" ให้อยู่กับโลกร้อน ซึ่งมีเรื่องใหญ่ๆ อยู่ 4 เรื่องที่จะต้องปรับตัวให้ได้ คือ

(1) ระบบของชุมชนเมือง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่จะเป็นศูนย์กลางประชากรโลกในอนาคต
(2) เรื่องน้ำ แม่น้ำ ชายฝั่ง
(3) เกษตรกรรม ป่าและธรรมชาติ
(4) สภาพสังคม

ซึ่งทั้ง 4 เรื่องนั้นมีความเชื่อมโยงกัน การแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะทำให้ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งบรรเทาลงได้ เช่น ในอนาคตหากมีการย้ายเกษตรกรรมจากชนบทมาทำในเมือง (Urban Agriculture) ในลักษณะของเกษตรกรรมแนวตั้ง (Vertical Farming) ก็จะช่วยคืนพื้นที่เกษตรให้แก่ป่าและธรรมชาติได้ อย่างของประเทศไทยเอง หากมีการจัดการน้ำและแม่น้ำให้ดี ก็จะช่วยรักษาเมืองไม่ให้น้ำท่วม หรือหากมีการจัดการเมืองใหม่ ให้มีระบบการไหลของน้ำผ่านเมืองที่ดีขึ้น ก็จะรักษาแม่น้ำลำคลองและธรรมชาติ ให้อยู่ร่วมได้เช่นกัน

ดังนั้น กรุงเทพฯในอนาคตจะต้องเป็นเมืองฉลาด (Smart City) ที่มีระบบสัมผัส ที่จะสามารถรับรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ และสามารถปรับตัวรับกับสิ่งที่กำลังจะมา กรุงเทพฯ จะต้องมีระบบที่เชื่อมโยงกับระบบอุตุนิยมวิทยา ระบบเขื่อน ระบบชลประทาน ระบบขนส่งบทั้งหมดเป็นโครงข่ายประสาทขนาดใหญ่ เมื่อพายุไต้ฝุ่นกำลังจะขึ้นที่เมืองเว้ประเทศเวียดนาม กรุงเทพฯ ต้องสามารถที่จะวิเคราะห์ประมวลผลการเดินทางของพายุ ว่าจะผ่านที่ไหนบ้าง และหากผ่านเข้ามาในบริเวณภาคเหนือ จะต้องรู้ว่าน้ำฝนที่จะตกลงมามีปริมาณเท่าไหร่ กรุงเทพฯ จะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกับะบบเขื่อน และระบบชลประทานทั้งหมดได้ และต้องประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า ผสานกับข้อมูลน้ำและกำลังการสูบน้ำของกรุงเทพฯ เอง รวมไปถึงระดับน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติของทะเล ทำให้มีการระบายน้ำออกอย่างฉลาด

นอกจากจะเป็นเมืองฉลาดที่มีระบบประสาทข้อมูลขั้นอัจฉริยะแล้ว เมืองฉลาดแห่งอนาคตจะต้องคำนึงถึงเรื่องสำคัญ 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

(1) มีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Structures)
(2) ระบบน้ำ (Water Systems)
(3) การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency)

เมื่อคำนึงปัจจัยข้างต้น กรุงเทพฯ ของเราก็มีสิทธิ์เป็นเมืองฉลาดได้ครับ การมีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เราประหยัดพลังงานได้ นอกจากนั้น เราอาจลดการใช้พลังงานลงไปอีก หากเรามีระบบน้ำ คู คลอง หนองบึง ในเมืองมากขึ้น เพื่อให้น้ำเป็นแหล่งช่วยระบายความร้อน เพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ช่วงที่ผมใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่โดนน้ำท่วมตลอด 45 วัน ทำให้ผมเรียนรู้ว่าบ้านที่มีน้ำล้อมรอบจะมีความเย็นสบายแค่ไหน เมืองในอนาคตอาจจะต้องเปลี่ยนถนนให้กลับมาเป็นน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองริมทะเลอย่างกรุงเทพฯ ที่ธรรมชาติเองพยายามจะบอกอะไรเราโดยปล่อยน้ำมาท่วมใหญ่เมือปลายปี 2554

ประเทศในยุโรป กำลังระดมความคิดที่จะปรับเปลี่ยนเมืองของเขา ให้เป็นเมืองที่ปรับตัวและอยู่ได้กับภาวะโลกร้อน ถึงเวลาของกรุงเทพฯ ที่จะช่วยกันคิดหรือยังครับ ...