27 มกราคม 2552

Worst Jobs in Science


วันนี้ผมจะนำงานทางด้านวิทยาศาสตร์ 10 อย่างที่ไม่น่าทำในปี 2009 ซึ่งนิตยสาร Popular Science ได้ขึ้นลิสต์เอาไว้ครับ งานทั้ง 10 อย่างที่ไม่น่าทำเอาเสียเลยในปีนี้มีดังนี้ครับ


  1. Triage Biologist - ชีววิทยาของการคัดเลือกสิ่งมีชีวิตที่จะอนุรักษ์ให้อยู่ หรือปล่อยให้เป็นไปตามกรรม เนื่องจากสภาวะโลกร้อนซึ่งจะทำให้สิ่งมีชีวิตต้องสูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมากในอีกไม่กี่ปีจากนี้ งานของพวกเขานั้นต้องทำใจค่อนข้างยาก กับตัวเลือกสิ่งมีชีวิตที่เขาจะตัดสินใจให้อยู่หรือไป โดยที่มีข้อมูลให้ต้องคิดจำนวนมากเสียด้วย
  2. Monkey-Sex Observer - เป็นงานชีววิทยาเพื่อศึกษาลิงขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ เพราะมนุษย์ตอนมีเพศสัมพันธ์นั้นไม่ยอมให้ใครมาศึกษาง่ายๆ เลยต้องไปดูลิงแทน
  3. Theoretical Physicist - นักฟิสิกส์ทฤษฎี เป็นงานได้ทุนยาก ทำยาก ไม่มีความก้าวหน้าในสายอาชีพ แถมโดดเดี่ยวเดียวดายกลายเป็นมนุษย์ปลีกวิเวก
  4. Vermin Handler - เป็นงานทางชีววิทยาเพื่อศึกษาภูมิคุ้มกันของมนุษย์ในชุมชนเมือง เปรียบเทียบกับย่านชนบท ด้วยการไปไล่จับหนูมาจำนวนมากๆ เพื่อมาศึกษา ต้องอดทนรอคอยหนูสกปรกมาติดกับดักในแหล่งที่ผู้คนไม่อยากจะเดินเข้าไป
  5. Lone Fossil Ranger - เป็นงานปกป้องฟอสซิลในเขตอนุรักษ์ ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ โดยมีผู้ดูแลอยู่เพียงคนเดียว
  6. Hurricane Hunter - เป็นงานของนักอุตินิยมวิทยาที่ต้องฝ่าเข้าไปในพายุด้วยเครื่องบินตรวจอากาศ เพื่อทำการวัดค่าต่างๆ โดยการบินอยู่ในพายุนาน 12 ชั่วโมงต่อเที่ยวบิน ซึ่งเหมือนการนั่งอยู่ในกระป๋องที่มีคนเขย่าอยู่ตลอดเวลา
  7. Medical Waste Burner - เป็นงานกำจัดของเสียและสิ่งปฏิกูลจากการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นเลือด เสมหะ มูกต่างๆ เศษเนื้อและอวัยวะจากการผ่าตัด
  8. Leech Researcher - เป็นงานวิจัยทางดูดเลือด ซึ่งต้องเดินฝ่าดงทากเพื่อเก็บตัวอย่าง โดยปล่อยให้ทากเกาะดูดเลือดตามร่างกายของนักวิจัย
  9. Experimental Taphonomist - เป็นงานทางชีววิทยาที่ศึกษากระบวนการเกิดเป็นฟอสซิลของสิ่งมีชีวิต ซึ่งต้องเข้าไปสืบค้นซากสัตว์ที่ถูกฆ่าตายในที่ต่างๆ แล้วนักศึกษาดูการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างร่างกาย อวัยวะ
  10. Mars Simulator Crew - เป็นงานเพื่อศึกษาการเดินทางไปดาวอังคาร โดยขังมนุษย์จริงไว้ในยานจำลองเป็นเวลา 500 วันเป็นอย่างน้อย ซึ่งต้องใช้ชีวิตจริงในสภาพจำลองเหมือนการเดินทางไป-กลับ ดาวอังคาร

เป็นไงครับ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่างานที่ไม่น่าทำส่วนใหญ่จะเป็นงานทางชีววิทยาแบบเดิม (Conventional Biology)ไม่ใช่ชีววิทยาแบบใหม่ที่เป็นเชิงโมเลกุล (Molecular Biology) ซึ่งงานชีววิทยาแบบเดิมนั้นไม่ค่อยได้ใช้เทคโนโลยีสักเท่าไหร่ แต่ต้องใช้แรงงานและความอุตสาหะค่อนข้างมากครับ

24 มกราคม 2552

Coal for Aviation - เชื้อเพลิงถ่านหินสำหรับอากาศยาน (ตอนที่ 2)


ช่วงนี้ผมรีบอัพเดต Blog หน่อยครับ เพราะว่าสัปดาห์หน้าจะไปทำงานภาคสนามที่ไร่ชาดอยช้าง จ.เชียงราย เกือบทั้งสัปดาห์เลยครับ จริงๆที่ไร่ก็มี Hi-speed Internet หากมีเวลา ก็จะเก็บตกบรรยากาศมาเล่าให้ฟังครับ

วันนี้มาคุยกันต่อครับถึงแผนการของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ที่จะนำถ่านหินมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับอากาศยานรบในอนาคต จริงๆแล้วขณะนี้เครื่องบินรบหลายแบบของสหรัฐฯ เช่น B-52, C-17, B-1 Bomber, F-15, F-22 ก็มีความสามารถในการใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์กันแล้ว โดยในปี ค.ศ. 2011 อเมริกาตั้งใจจะใช้เชื้อเพลิงถ่านหินแบบ 50:50 สำหรับเครื่องบินในกองทัพทั้งหมด

ถึงแม้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ทำจากถ่านหิน จะไม่สร้างมลภาวะเหมือนถ่านหินธรรมดา แต่การนำถ่านหินไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงเหลวนั้นมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าการนำปิโตรเลียมมาใช้ทำเชื้อเพลิง ตรงนี้แหล่ะครับที่ทำให้พลเรือนยังไม่กล้าใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้ เพราะ NGO ต่อต้านหนักมาก แต่สำหรับกองทัพนั้น NGO ไม่กล้าออกมาทักท้วงเพราะเกรงกลัวกฏหมายความั่นคง อีกทั้งกองทัพสหรัฐฯก็ออกมาสร้างความมั่นใจว่า นักวิจัยที่เข้ามาร่วมพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกนี้ จะต้องหาทางลดผลกระทบดังกล่าวให้ได้มากที่สุด เพราะกองทัพอากาศจะทำเรื่องนี้แน่ๆ เพื่อทำให้กองทัพไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากประเทศที่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ

ผมจะมาเล่าต่อนะครับว่าเขาจะทำอย่างไร เพื่อให้ได้ Clean Coal ที่พวก NGO จะต่อต้านน้อยที่สุด

8th Asian Conference on Chemical Sensors

ช่วงหลังที่ผมไปสังเกตการณ์ตามการประชุมวิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น NanoThailand 2008 หรือ PACCON2009 ได้พบว่านักวิจัยไทยมีผลงานทางด้านเซ็นเซอร์มากขึ้น แต่การประชุมตรงๆ เน้นๆ เกี่ยวกับเซ็นเซอร์ในเมืองไทยนั้นไม่ค่อยมี วันนี้ผมเลยขอแนะนำการประชุมที่สำคัญในวงการนี้ ซึ่งมีชื่อว่า 8th Asian Conference on Chemical Sensors ซึ่งในปี 2009 นี้จะจัดที่เมือง Daegu ประเทศเกาหลี ระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2552 นี้ครับ กำหนดส่ง abstract นั้นก็คือวันที่ 31 มีนาคม 2552 นะครับ ยังมีเวลาเหลือพอให้ทำงานกันนะครับ สำหรับหัวข้อที่เป็นที่สนใจของการประชุมนี้ก็คือ


  • New sensing materials for chemical sensors
  • Nanotechnology and nanomaterials for chemical sensors
  • Sensor fabrication technology
  • Sensing principles and mechanism
  • Sensors array, artificial olfaction and electronic nose
  • Humidity sensors
  • Biosensors and micro-TAS
  • Electrochemical devices
  • Automotive chemical sensors
  • Environmental gas sensors
  • Integration issues in chemical sensors
  • Novel approach to sensing
  • Analytical microsystems
  • MEMS sensor & system
  • Smart sensors & system, ubiquitous sensor network
  • Other emerging chemical sensors

คลิ๊กที่ภาพข้างล่างเพื่อขยายให้ใหญ่ขึ้น ......


21 มกราคม 2552

Coal for Aviation - เชื้อเพลิงถ่านหินสำหรับอากาศยาน (ตอนที่ 1)


ถ่านหินเคยเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งในอดีต มันถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับเดินเครื่องหัวรถจักรไอน้ำ ทำให้การเดินทางโดยรถไฟสามารถทำได้เป็นระยะทางไกล หลังจากน้ำมันถูกค้นพบและกลายมาเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับรถยนต์ เรือ และ เครื่องบิน ถ่านหินก็ไม่เคยถูกใช้เพื่อการคมนาคมขนส่งอีกเลย แต่ด้วยนาโนเทคโนโลยี ถ่านหินจะกลับมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อการคมนาคมอีกครั้ง แต่คราวนี้ มันจะถูก upgrade ไปใช้สำหรับอากาศยานเลยทีเดียวครับ

จริงๆ แล้วตอนนี้อุตสาหกรรมหลายๆ แห่ง (แม้แต่ในเมืองไทยเอง) ที่ต้องการผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือใช้เพื่อผลิตความร้อนเพื่อเผาปูนซีเมนต์ ก็แอบๆใช้ถ่านหินกันอยู่แล้ว โดยไม่ค่อยมีใครรู้ เพราะเขาใช้ถ่านหินในรูปอนุภาค colloid ที่มีขนาดเล็กมากๆ ในระดับไมครอนหรือนาโนเมตร อนุภาคเหล่านี้จะถูกแขวนลอยในสารละลาย ทำให้มีพื้นที่ผิวสูงมาก จนสามารถที่จะเผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์ จนคนในอุตสาหกรรมเหล่านี้เรียกสารละลายอนุภาคถ่านหินนี้ว่า Clean Coal หรือ ถ่านหินสะอาด อย่างไรก็ตามพลังงานทางเลือก (Alternative Energy) จากถ่านหินนี้แม้จะทำให้ลดการใช้น้ำมันลงได้ ก็ไม่อาจที่จะช่วยในลดภาวะโลกร้อน เพราะเชื้อเพลิงชนิดนี้ก็ยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอยู่ดีครับ

แล้วทำไมสหรัฐอเมริกาถึงสนใจจะนำถ่านหินมาใช้งานล่ะครับ? ก็เพราะว่าสหรัฐอเมริกามีถ่านหินสำรองถึง 1 ใน 4 ของโลก แต่มีน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติไม่มาก แต่เนื่องจากการนำถ่านหินมาใช้จะต้องพบกับการต่อต้านของ NGO และองค์กรสิ่งแวดล้อมต่างๆ ค่อนข้างหนักหน่วง ทำให้สหรัฐฯหลบเลี่ยงเรื่องนี้อย่างฉลาดครับ โดยผู้ที่จะพัฒนาเชื้อเพลิงชนิดนี้จะเป็นกองทัพอากาศสหรัฐฯ คราวนี้พวก NGO ต่างๆก็เลยไม่กล้าเข้าไปยุ่งเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของทหารไงครับ
กองทัพอากาศสหรัฐฯ ต้องการนำถ่านหินมาทำเป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน โดยตั้งใจว่าต่อไปจะต้องนำเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากถ่านหินไปใช้ผสมกับเชื้อเพลิงปรกติให้ได้ในอัตราส่วน 50:50 ภายในปี ค.ศ. 2016 ให้ได้ เพราะในปี 2007 เพียงปีเดียว เครื่องบินรบของสหรัฐฯ เผาผลาญน้ำมันเจ็ตไปถึงเกือบ 10,000 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาทเลยครับ ในปีเดียวกันนั้น เครื่องบินรบสหรัฐฯใช้น้ำมันอากาศยานคิดเป็น 10% ของการใช้น้ำมันอากาศยานทั้งหมดของประเทศ ดังนั้นการนำเชื้อเพลิงใหม่จากถ่านหินมาเติมให้เครื่องบินรบ จะช่วยประหยัดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งในที่สุดอากาศยานสัญชาติอเมริกันทั้งหมดจะใช้น้ำมันถ่านหิน โดยปราศจากการต่อต้านจาก NGO

วันหลังค่อยมาคุยต่อนะครับ ......

17 มกราคม 2552

Spy Technology for Farming


ก่อนหน้านี้สัก 10 ปี ผมค่อนข้างตื่นเต้นกับภาพยนตร์ Hollywood ประเภทสืบสวน สอบสวนต่างๆ หรือแม้แต่หนังแนวทหาร ที่มีการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาสอดแนมข้าศึก สิบปีผ่านไป เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เหล่านั้น ได้ทยอยออกมาขายในเชิงพาณิชย์ในราคาที่ไม่แพงนัก ไม่ว่าจะเป็นยานไร้คนขับหรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle) กล้องส่องกลางคืน (Night Vision) เซ็นเซอร์ไร้สายเป็นเครือข่ายดักฟังในอาคาร เป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้อีกหน่อยจะเริ่มเข้ามามีประโยชน์สำหรับการเกษตรมากขึ้นไปเรื่อยๆ ล่ะครับ ตอนผมไปญี่ปุ่นผมก็ซื้อกล้องส่องกลางคืน Night Vision มาใช้ในไร่องุ่นตัวนึง สนนราคาประมาณ 15,000 บาท ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพใช้ได้ทีเดียวเลยครับ สำหรับ UAV นั้นในต่างประเทศก็มีขายในเชิงพาณิชย์แล้วครับ ซึ่งก็มีการนำไปใช้สำหรับการเกษตรกันบ้างแล้ว โดยใช้งานถ่ายรูปไร่นาเกษตรในช่วงเวลาต่างๆ โดยมีการติดเซ็นเซอร์เพื่อคัดกรองคลื่นแสงในช่วงความยาวคลื่นต่างๆ เข้าไป เพื่อตรวจการณ์ความเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตของพืชในไร่นา ส่วน GPS นั้นในต่างประเทศมีใช้กันค่อนข้างมากแล้ว ในประเทศไทยก็มีการประยุกต์ใช้กับรถแทร็กเตอร์ ในไร่องุ่นกรานมอนเต้ เขาใหญ่

หุ่นยนต์ตรวจการณ์ที่ใช้ในการทหาร ตอนนี้ก็กำลังบุกเข้ามาใช้งานทางการเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ หุ่นยนต์พวกนี้สามารถที่จะติดตั้งเซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อให้พวกมันออกทำงานค้นหาศัตรูพืชต่างๆ วัชพืช แมลง ซึ่งหากให้ทำงานเป็นทีมก็สามารถที่จะทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้นในไร่นาได้ คณะวิจัยของผมเองก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีนี้ร่วมกับ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ แห่งเนคเทค เราหวังว่าจะสร้างฝูงหุ่นยนต์ที่ทำงานในไร่องุ่นได้

International Conference on Innovations of Agricultural Food and Renewable Energy Productions for Mankind


ผลจากพิษเศรษฐกิจถดถอยซึ่งกำลังลุกลามไปทั่วโลก ได้เริ่มส่งผลต่อวงการวิทยาศาสตร์แล้วครับ ตัวผมเองก็ยกเลิกการเดินทางไปประชุมต่างประเทศเกือบทั้งหมดในปี 2009 นี้ หลายๆท่านก็คงทำคล้ายๆกัน ช่วงนี้ผมจึงพยายามนำการประชุมระดับนานาชาติที่จัดขึ้นในประเทศไทย การประชุมเหล่านี้ก็น่าจะมีคุณภาพพอที่จะชดเชยการไปประชุมในต่างประเทศได้บ้างครับ วันนี้ผมขอแนะนำการประชุมที่มีชื่อว่า International Conference on Innovations of Agricultural Food and Renewable Energy Productions for Mankind ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาไทยว่า การประชุมวิชาการสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทยครั้งที่ 10 "นวัตกรรมการผลิตทางการเกษตร อาหาร และพลังงานทดแทน เพื่อมนุษยชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2552 นี้ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

กำหนดการในการรับ abstract คือวันที่ 31 มกราคม 2552 นี้ครับ ยังพอมีเวลาอีกนิดหน่อยครับ หัวข้อประชุมที่เขาสนใจก็มี



  • Agricultural engineering

  • Agricultural systems

  • Agricultural waste management

  • Agro-industry

  • Electronics in agriculture

  • Energy in agriculture

  • Ergonomics

  • Food engineering and biotechnology

  • Power and machinery

  • Soil and water engineering

  • Structures and environment

  • Terramechanics

ท่ามกลางวิกฤตก็มีโอกาสอยู่เสมอครับ และนี่อาจเป็นโอกาสให้นักวิจัยไทยได้แลกเปลี่ยน และรู้จักการทำงานข้ามศาสตร์กันมากขึ้นครับ .....

16 มกราคม 2552

รถยนต์แรลลี่นาโน (Nano Rally Car)


หายไปหลายวันเลยครับ ผมไปร่วมงานประชุม PACCON2009 ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ระหว่างวันที่ 14-16 มกราคม 2552 กลับมา ยังไม่ทันหายเหนื่อยก็รีบมาอัพเดตบทความก่อนเลยครับ พิษเศรษฐกิจโลกหดตัวตอนนี้เริ่มเข้ามาเล่นงานการประชุมทางวิทยาศาสตร์กันแล้วครับ งานนี้เจ้าภาพพยายามรัดเข็มขัดแทบจะทุกอย่าง ไม่ได้จัดงานที่โรงแรมเหมือนแต่ก่อน ย้ายมาจัดที่โรงแรมแทน งานเลี้ยงก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย วัสดุต่างๆ อย่างป้ายชื่อ กระเป๋าใส่เอกสารประชุม ก็ประหยัดค่าใช้จ่าย จริงๆแล้วก็เป็นเรื่องที่ดีครับ งานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมเยอะมาก ผมได้มีโอกาสฟังการบรรยาย ซึ่งโดยมากเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท และ ปริญญาเอก ที่มาเสนอผลงาน ซึ่งมีแต่งานดีๆทั้งนั้นเลยครับ

ช่วงนี้วิศวกรรมที่เลียนแบบธรรมชาติ (Biomimetic Engineering) กำลังมาแรงครับ ศาสตร์ใหม่ตัวนี้ได้เข้าไปในทุกวงการ วันนี้ผมจะนำเรื่องเกี่ยวกับรถยนต์ที่เลียนแบบแมลง ซึ่งบริษัท Mitsubishi ออกแบบมาเพื่อเป็นรถยนต์ที่วิ่งได้ในทุกสภาพภูมิประเทศ มันมีชื่อว่า MMR25 ครับ เพราะ Mitsubishi ตั้งใจจะให้มันเป็นรถแข่งแรลลี่ในปี ค.ศ. 2025 รถคันนี้มีระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ล้อแต่ละข้างของมันสามารถหมุนด้วยความเร็วแตกต่างกัน รวมทั้งสามารถหมุนมุมล้อเพื่อให้ล้อเล็กๆ บิดไปมา ทำให้รถสามารถวิ่งแถไปข้างๆได้ สมมติรถคันนี้กำลังวิ่งทางตรงอยู่ แล้วเกิดมีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า ถ้าเป็นรถยนต์ปกติหากหักหลบ อาจจะสูญเสียการทรงตัว หรือ ที่เรียกว่าเสียหลัก แต่รถคันนี้สามารถที่จะแถออกด้านข้าง ด้วยการบิดมุมล้อเล็กๆ ที่ประกอบเป็นล้อใหญ่ ทำให้วิ่งเลี้ยวผ่านไปได้อย่างง่ายดาย เจ้า MMR25 ใช้พลังงานจากแบตเตอรีแบบลิเธียมนาโนไฟเบอร์ที่มีน้ำหนักเบา ในการประจุไฟครั้งหนึ่งสามารถวิ่งไปได้ไกลถึง 1,600 กิโลเมตร รถคันนี้ไม่มีหน้าต่างหรอกครับ เพราะกระจกมีน้ำหนักมากเกินไป แต่คนขับที่อยู่ข้างในจะเห็นภูมิประเทศข้างนอก ผ่านจอภาพแบบพาโนรามาที่นำภาพจากกล้องที่ติดอยู่นอกรถ เพื่อมาฉายภาพใหม่ผ่านจอภายในรถ ตัวถังรถมีน้ำหนักเบาเพราะใช้วัสดุนาโนคอมโพสิต ซึ่งมีความแข็งแกร่งทนทานต่อสภาพอากาศ

ในการประชุมครั้งนี้ ผมได้เห็นงานวิจัยทางด้านนาโนวัสดุหลายๆงานที่มีความก้าวหน้า เป็นงานฝีมือคนไทย ซึ่งหากนำเอางานวิจัยที่แยกส่วนเหล่านี้มาประกอบหรือบูรณาการเป็นงานวิศวกรรมแล้วละก็ นวัตกรรมใหม่ๆแบบรถยนต์ MMR25 ของญี่ปุ่น ก็อาจจะเกิดขึ้นในเมืองไทยได้ไม่ยากครับ

11 มกราคม 2552

Crash Avoidance Technology - เทคโนโลยีหลีกเลี่ยงการชน (ตอนที่ 3)


วันนี้ผมจะมาเล่าต่อนะครับ ถึงเรื่องเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยทำให้ถนนหนทางในศตวรรษที่ 21 มีความปลอดภัยน่าขับขี่มากขึ้น เทคโนโลยีหลีกเลี่ยงการชนก็เป็นตัวหนึ่งที่พูดถึงกันมากช่วงนี้ นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษากันว่าเจ้าตั๊กแตนมีความสามารถพิเศษอย่างไร มันถึงสามารถบินรวมฝูงกันได้หนาแน่นมาก โดยไม่ชนกันเองเลย ว่ากันว่าในช่วงที่มันอพยพนั้น มันมีจำนวนถึง 80 ล้านตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร โดยในการบินของมันนั้นไม่เกิดการชนกันเลย เป็นไปได้อย่างไร ในสหรัฐอเมริกาเองนั้นมีรถยนต์ถึง 3.6 ล้านคันในแต่ละปีที่เฉี่ยวชนกัน

บริษัทวอลโว่แห่งสวีเดนกำลังสนใจศึกษาตั๊กแตนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหลีกเลี่ยงการชนกัน นักวิจัยสงสัยกันมาสักพักแล้วครับ ว่าระบบประสาทอยู่หลังลูกตาของตั๊กแตน ที่มีชื่อว่า Lobula Giant Movement Detector หรือ LGMD นี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพิเศษในการหลีกเลี่ยงการชนของมัน ซึ่งเจ้า LGMD นี้จะปลดปล่อยสารพลังงานออกมาก่อนจะเกิดการชนกันเอง หรือเมื่อมันเจอกับนกผู้ล่า นักวิจัยได้ทดลองนำตั๊กแตนมาชมภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ซึ่งมีฉากยานอวกาศวิ่งอย่างรวดเร็วเพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวาง เมื่อตั๊กแตนเห็นวัตถุพุ่งตรงเข้ามา LGMD ของมันจะปลดปล่อยสารพลังงานออกมาเป็นพีควัดได้อย่างชัดเจน ใช้เวลาเพียง 45 มิลลิวินาทีเท่านั้น Claire Rind นักวิจัยที่ทุ่มเทศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังกล่าวว่า "ตั๊กแตนสามารถมองเห็นภาพต่างๆ ได้รวดเร็วกว่ามนุษย์หลายเท่าเลยค่ะ นั่นทำให้มันมีเวลาพอที่จะหลบหลีกสิ่งต่างๆได้อย่างรวดเร็วมาก สำหรับมนุษย์เราเมื่อลองไปดูภาพต่างๆที่ตั๊กแตนเห็น ก็ไม่ต่างจากภาพเคลื่อนไหวแบบ slow motion" และการที่ตั๊กแตนจะสนใจเฉพาะสิ่งที่จะวิ่งมาชนมันเท่านั้น ก็ยิ่งทำให้มันมีสมาธิเพื่อจะหลบหลีกสิ่งต่างๆ สำหรับการเคลื่อนที่ในฝูงที่มีความหนาแน่นมากๆ โดยมันจะไม่สนใจสิ่งอื่นใดเลย

นอกจากนั้นแล้ว LGMD ยังทำงานประสานกับระบบประสาทที่ส่วนกลางที่เหมือนสมองของตั๊กแตน ซึ่งจะเป็นที่ส่งข้อมูลทางด้านประสบการณ์ และฐานความรู้เพื่อให้ตั๊กแตนสามารถจัดการกับสถานการณ์แบบต่างๆ ได้ วันหลังจะมาเล่าต่อนะครับ .......

09 มกราคม 2552

ชีวิตสังเคราะห์ (Synthetic Organisms)


ปี 2009 จะเป็นปีแห่งการเริ่มต้นของการเชื่อมโลกจักรกลกับโลกชีวะ อุปกรณ์ทั้งหลายรวมทั้งหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นสิ่งไร้ชีวิตจิตใจ จะได้รับการเพิ่มเติมชีวิตชีวาเข้าไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสัมผัส อารมณ์ ความรู้สึก ในขณะที่สิ่งมีชีวิตจะได้รับการเพิ่มสมรรถภาพให้สูงขึ้น ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์และอวัยวะกลเข้าไป นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังขะมักเขม้นเข็นงานวิจัยประเภทนี้ออกมาครับ

อีกแนวคิดหนึ่งที่ท้าทายกว่า 2 เรื่องข้างต้นอีก และกำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นานจากนี้ก็คือ การสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่เลย ด้วยการออกแบบว่าอยากจะให้สิ่งมีชีวิตนี้มีรูปร่างอย่างไร สีอะไร หน้าตาเป็นยังไง กินอะไร ทำประโยชน์อะไร เมื่อไม่นานมานี้เอง Craig Venter นักชีววิทยาชื่อดังและมหาเศรษฐีของโลก ได้ออกมาเปิดเผยว่า เขาเข้าใกล้ความสำเร็จในการสร้างชีวิตสังเคราะห์ด้วยฝีมือมนุษย์แล้ว โดยการที่เขาและทีมงานสามารถนำสารเคมีต่างๆ มาสังเคราะห์เป็นโครงสร้างพันธุกรรมของแบคทีเรียชนิดหนึ่งได้สำเร็จ ขั้นต่อไปซึ่งจะเป็นการออกแบบและสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยการนำโครงสร้างพันธุกรรมที่ออกแบบมานั้น ผลิตสิ่งมีชีวิตออกมาใช้งาน Craig Venter ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรกรรมวิธีดังกล่าวแล้ว ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจแก่พวก NGO ที่ต่อต้านเรื่องนี้ แต่เขาก็ไม่ค่อยให้ความสนใจกับคำวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มต่อต้าน ซึ่งกลัวว่าหากสิทธิบัตรนี้ผ่านการรับรอง นั่นหมายความว่าต่อไปคนเราก็เป็นเจ้าของสิ่งมีชีวิตที่ตัวเองออกแบบได้ แต่ Craig Venter ยืนยันว่าตนจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป เพราะหากเราสังเคราห์สิ่งมีชีวิตได้ จะช่วยแก้ปัญหาระดับโลกได้มากมาย ทั้งในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อาหาร และ พลังงาน ไปจนถึงการลดโลกร้อนด้วยการสังเคราะห์สิ่งมีชีวิตที่จะดูดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโลก



เรื่องของสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์นั้นอาจเป็นเรื่องแปลกปลอมสำหรับคนรุ่นเราครับ แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ใช่ ตอนนี้ลูกสาวผมอายุ 9 ขวบก็เริ่มออกแบบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่หน้าตาเหมือนรูปข้างบนกันแล้วครับ ........

08 มกราคม 2552

Crash Avoidance Technology - เทคโนโลยีหลีกเลี่ยงการชน (ตอนที่ 2)


แม้ประเทศไทยจะช่วยกันรณรงค์เรื่อง "เมาไม่ขับ" กันอย่างหนักและต่อเนื่องมานานหลายปีแล้ว แต่ดูเหมือนความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ดูยังไม่ใกล้เคียงความเป็นจริงสักที เพราะจริงๆแล้ว การขับรถบนถนนยังเป็นเรื่องอันตรายอยู่ ถึงจะไม่เมาไม่ง่วงไม่โทร ก็เถอะครับ ทางหลวงเมืองไทยมีจุดอันตรายนับไม่ถ้วน คนขับรถส่วนใหญ่ยังขับรถไร้วินัยและความตระหนักเรื่องความปลอดภัย การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง smart highway และ เทคโนโลยีหลีกเลี่ยงการชน (crash avoidance technology) น่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยดูแลถนนแห่งอนาคตให้มีความปลอดภัย และน่าใช้มากยิ่งขึ้นครับ ปีใหม่ของคนไทยจะได้น่าเที่ยวกว่านี้


อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ว่า รถยนต์หรูๆ รุ่นใหม่ๆ เช่น วอลโว่ หรือ เบนซ์ หรือ BMW ต่างก็พยายามเพิ่มมูลค่าให้รถยนต์ของตนเองด้วยการนำเทคโนโลยีความปลอดภัยประเภทต่างๆ เข้ามาใส่ แต่ในอนาคตข้างหน้า เทคโนโลยีเหล่านี้จะค่อยๆ เข้าไปอยู่ในรถยนต์ที่ไม่หรูด้วย จนอีกหน่อยก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาครับ เทคโนโลยีหลักเลี่ยงการชนในปัจจุบันที่มีการวิจัยคิดค้นขึ้นมา และมีใช้กันแล้วนั้นมีหลายประเภทครับ ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ ......

- Forward Collision Automatic Braking ช่วยในการป้องกันการชนด้านหน้า เมื่อรถคันหน้าลดความเร็วลงอย่างกระทันหัน แล้วเราขับมาเผลอๆ ไม่ได้ลดความเร็วตาม เบรคก็จะทำงานทันที เพื่อปรับความเร็วรถของเราให้พอดีกับคันข้างหน้า
- Lane-Departure Warning หากรถของเราขับกินเลน หรือเปลี่ยนเลนไป ระบบจะทำการเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบ
- Emergency Brake Assistance ในกรณีที่รถต้องทำการเบรคอย่างกระทันหัน จะช่วยป้องกันการล็อคล้อ และรักษาสมดุลของพวงมาลัยรถ ป้องกันไม่ให้รถปัดหรือหมุน
- Adaptive Headlight ไฟ้หน้ารถที่ปรับมุมตามการเลี้ยวโค้ง หรือ การขึ้นเขาลงเขาของรถ
- Blind-spot Detection ระบบตรวจสอบจุดที่ผู้ขับขี่มองไม่เห็น เช่น หากมีรถวิ่งเข้ามาใกล้ทางด้านข้างอย่างเร็ว อาจมองทางกระจกไม่ทันเห็น ระบบนี้จะช่วยทำให้คนขับรู้ตัว จะได้ไม่เปลี่ยนเลนจนกว่าจะปลอดภัย

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา ที่จะช่วยไม่ให้รถที่วิ่งสวนกัน หรือ ตัดทางกันที่ทางแยก เกิดการประสานงาหรือเฉี่ยวกัน ซึ่งรถยนต์จะสามารถสื่อสารกันได้ เพื่อหลบเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ

ตอนหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังต่อครับ ถึงเทคโนโลยีหลีกเลี่ยงการชนที่เลียนแบบตั๊กแตนครับ ...........

07 มกราคม 2552

Nanotech Japan 2009


วันนี้ผมมีงานลักษณะของการแสดงนิทรรศการ (Exhibition) และการแสดงสินค้า (Trade Fair) ผสมกับการประชุม (Conference) ทางด้านนาโนเทคโนโลยีมาฝากครับ เดิมทีผมตั้งใจจะไปงานนี้ เพื่อไป update ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านนาโนเทคโนโลยี วัสดุใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่เพราะภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เริ่มส่อเค้าวิกฤต บวกกับผลพวงจาการปิดสนามบินนานาชาติของม็อบพันธมิตร ทำให้ตอนนี้คนไทยไม่ควรใช้เงินกับการไปต่างประเทศ แต่ต้องมาใช้กับการเดินทางในประเทศไทยจะเป็นการช่วยชาติมากกว่า งานนี้ทำให้ผมต้องยกเลิกการเดินทาง โดยหวังว่าสายไป 1 ปีคงไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยไปปี 2010 ก็ได้

งาน Nanotech Japan 2009 นี้เป็นงานยิ่งใหญ่ระดับโลกเลยครับ และเป็นโอกาสเดียวใน 1 ปีที่จะไปเห็นผลงานจากการวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี ที่ออกดอกออกผลมาเป็นสินค้า งานนี้เขาจัดที่ Tokyo Bigsight ระหว่างวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2552 โดยจะเป็นการรวมงานนิทรรศการด้านต่างๆ เข้ามาจัดร่วมกัน ได้แก่

- nano tech 2009 เป็นนิทรรศการการแสดงสินค้าทางด้านนาโนเทคโนโลยี ตั้งแต่วัสดุนาโน เช่น Fullerence, Carbon nanotube, Photonics materials, Composite materials, Excellent magnetic materials, Nano cluster, Nano glass, Nano particle colloid, Nano coating, Nano metal, Nano ceramics, Nano composite materials ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ด้านอิเล็กทรอนิกส์ Quantum dots, Quantum wires, Quantum devices, Molecular devices, Photonic devices, Next-generation LSIs, Data storage, Next-generation cells, Next-generation displays, Optical communications materials ด้านสิ่งแวดล้อม Photocatalyst, Hydrogen absorption storage tanks, Exhaust gas catalyst, Fuel cell materials (films, electrodes, systems), Secondary battery materials, Energy storage, Environment evaluation/monitoring/nondestructive inspection system, Environmental cleanup, technology with less adverse impact ด้านการประกอบอุปกรณ์ Thin film manufacturing technology, Etching, Laser ion beam processing, Electron beam processing, Priming charge processing, Exposure equipment for micro circuit manufacture, Ultra precision surface processing technology, Nano particle mixture, Dispersion, Fusion bonding technology, Next-generation lithography, Nano imprint, Femto second laser และอื่นๆ อีกมากมาย

- Nano Bio Expo 2009 เน้นการแสดงธุรกิจใหม่ด้านนาโนชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ทางด้านนี้ก็มี micro-TAS, Micro Reactors, Lab-on-a-Chip, Biochips, Health Care Chips, PDMS Chips, Biosensor/Actuator, BioMEMS, Micro Bubbles, Liposome/ Polymeric Micelle DDS, Biodegradable Materials, Nano apatite, Cell Sheet, Fullerene, Nanoparticle, Nano-gel, Molecular Chaperone, Nanobarcodes, Quantum Dot รวมไปถึงพวก Regenerative Medicine

- ASTEC 2009 ย่อมาจาก Advanced Surface Technology Exhibition and Conference ก็จะมีทั้งการแสดงสินค้า และการประชุมย่อยไปพร้อมๆ กัน หัวข้อที่จะมีการแสดงก็ได้แก่ กระบวนการทางด้านพื้นผิว water shedding / hydrophilic surface processing, rheology, alumite, plating, blast processing, grinding / polish, CMP,YAG laser welding, embossment, etching, LB film, nano scale barrier film, nano porous membrane, nano lubricating film, DLC coating, ceramics / titanium / fluorine coating, dye / wire bonding, UV / EB photo hardening, friction pressure welding, friction stir joint, normal temperature joint, adhesive / bonding / separation

- METEC' 09 เป็นงานทางด้าน Surface Finishing ครับ จัดควบคู่ไปกับงาน ASTEC 2009 แต่จะโฟกัสที่เรื่องของการ Finishing และ Plating พื้นผิว

- neofunctional materials 2009 งานนี้โฟกัสไปที่วัสดุทำหน้าที่บนพื้นฐานของฟิล์มบาง แผ่นชีต ฟอยล์ ไฟเบอร์ และพวกใยผ้าหรือสิ่งทอ Functional paper / Functional fabric / Functional polymer / Functional woody new material / Functional dye / Functional organic material / Functional inorganic material, Functional hybrid material / Unused resource utilization material / Organic silicide material / Intelligent material / Deposition and sputtering target material / Functional dispersion auxiliaries / Heat-resistant material / Photoelectro exchange element / Conductive material / Barrier related material, Functional chemical products (paint / ink / coating material / additives / organic particles / inorganic particles / filler / nature world extract / surface active agent / dye / chemical fiber / nonwoven / inorgauic fiber resin / film / chiral compound )

- Printable Electronics 2009 เป็นน้องใหม่ของงานนี้ครับ เนื้อหาจะเป็นเรื่องของแนวโน้มใหม่ ทางด้านการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีการพิมพ์ Inkjet, Nano Imprint, Dispenser, Laser Aberration, Laser Transcription, Gravure Printing (includes gravure offset printing), Screen Printing (includes rotary screen printing), Flexo Printing, Transcription Printing, Roll to Roll Pattern Formation, Photolithography, Microscopic Pattern Photolithography Device, Coating Technique (wet coat process, dry coat process such as distillation/spattering, spot coating), Dry/Stiffen/Baking Device, (UV rays, electron beam, and far-infrared radiation), Heat Laminate Device, Device Related to Surface Treatment

เป็นไงครับ เห็นแล้วก็น่าไปดูจริงๆครับ .......

06 มกราคม 2552

I, Nanny - หุ่นยนต์พี่เลี้ยงเด็ก (ตอนที่ 2)


สวัสดีปีใหม่ 2552 อีกครั้งครับ ปีใหม่นี้เริ่มด้วยไฟครับ แต่อาจจะจบด้วยน้ำก็ได้ครับ วันก่อนผมได้มีโอกาสไปเดินที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยชอบไปที่คนเยอะหรอกครับ ชอบไปทุ่งไปไร่มากกว่า แต่จำต้องไปเพื่อไปดูว่ามีหุ่นยนต์มาขึ้นห้างบ้างหรือยัง ผมเดินไปดูแถวๆ แผนกของเล่น ได้เห็นหุ่นยนต์แบบ Humanoid 3 ยี่ห้อครับ ราคาตั้งแต่หมื่นกว่าๆ ไปจนถึงหกหมื่นบาท ปกติอยู่เมืองไทย ถ้าอยากได้หุ่นยนต์ก็ต้องสั่งซื้อจากเมืองนอก หรือไม่ก็ต้องไปร้านที่สั่งหุ่นยนต์เข้ามาขายโดยเฉพาะ หรืออาจจะต่อขึ้นมาเองด้วยการซื้ออะหลั่ยจากร้านเหล่านั้น นำมาประกอบกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ ในบ้านเราที่ทำวิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์ ก็ใช้วิธีนี้ทั้งนั้นล่ะครับ ดังนั้นการที่ห้างเซ็นทรัลนำเข้าหุ่นยนต์มาขายจึงเป็นอะไรที่น่าสนใจ แสดงว่าตอนนี้ หุ่นยนต์ได้เข้าถึงผู้ใช้โดยตรงแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องในวงการวิชาการ หรืออุตสาหกรรม อีกต่อไปแล้วครับ ท่านผู้อ่านจับตาดูให้ดีนะครับ ในปี 2009 นี่แหล่ะครับ เราจะได้เริ่มเห็นการขยับเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของหุ่นยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ จะเรียกว่าเป็นปีทองของหุ่นยนต์ก็ว่าได้ครับ

ช่วงที่ผมไปญี่ปุ่นเมื่อปลายปีที่แล้ว ผมได้เห็นการเข้ามาของหุ่นยนต์พี่เลี้ยงเด็ก หุ่นยนต์สัตว์เลี้ยง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เจ้าหุ่นยนต์พวกนี้เขาเรียกว่า Personal Service Robots ครับ หรือหุ่นยนต์รับใช้ นั่นเอง ในอดีตที่ผ่านมานั้น เรามักจะเห็นการใช้งานหุ่นยนต์กันมากเฉพาะในวงการอุตสาหกรรมเท่านั้น หุ่นยนต์พวกนี้เขาเรียกว่า Industrial Robot ทั้งโลกตอนนี้มีการใช้กันประมาณ 923,000 ตัว แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าตอนนี้การใช้งาน Personal Service Robots มีถึง 5,800,000 ตัว แล้วครับ มากกว่าหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายเท่าตัวเลยครับ ในอนาคตอันใกล้นี้ หุ่นยนต์รับใช้จะยิ่งสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นเองซึ่งประชากรสูงอายุมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย Personal Service Robots จึงเป็นคำตอบในการนำเทคโนโลยีมาช่วยดูแลผู้สูงอายุ หากยังจำได้ ผมเคยเล่าให้ฟังเรื่อง ชุดหุ่นยนต์สวมใส่สำหรับชาวนา (Wearble Farming Robot) ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยชาวไร่ ชาวนาสูงอายุ ให้สามารถทำงานในไร่ในนาได้เหมือนคนหนุ่มสาว

ในเมืองไทยมีมหาวิทยาลัยหลายๆแห่ง ทำวิจัยเรื่องหุ่นยนต์กันอยู่ ซึ่งของเราก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าต่างประเทศเลยครับ เพราะไปแข่งขันคว้ารางวัลต่างๆมามากมาย เช่น หุ่นยนต์ซูโม่ หุ่นยนต์เตะฟุตบอล เป็นต้น แต่จริงๆแล้ว ความลับของหุ่นยนต์อนาคตนั้นอยู่ที่เรื่องสำคัญ 2 เรื่อง ซึ่งบ้านเราไม่ค่อยได้ทำกันครับ ผมยังไม่เฉลยวันนี้ครับ แต่ค่อยๆติดตามไปนะครับ

04 มกราคม 2552

สวัสดีปีใหม่ 2552

สวัสดีปีใหม่ 2552 ครับ ช่วงวันหยุดยาวปีใหม่นี้ผมได้มีโอกาสออกไปต่างจังหวัดบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะไปเที่ยวฟาร์มเกษตรครับ ซึ่งเป็นอะไรที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ ได้มีโอกาสไปที่ Jim Thompson Farm ซึ่งตั้งอยู่ในเขต อ. ปักธงชัย จ. นครราชสีมา ซึ่งเขาเปิดให้เยี่ยมชมเพียงปีละครั้งเท่านั้น ในปีนี้เปิดเพียงระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2551 - 4 มกราคม 2552 เท่านั้นครับ ช่วงที่ผมไปมีนักท่องเที่ยวสนใจมาเยี่ยมชมจำนวนมากครับ นับหมื่นคนเลยครับ วันนี้ผมจึงขอนำภาพบรรยากาศใน Jim Thompson Farm มาให้ชมกัน เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ และปีนี้ผมก็จะนำอะไรดีๆ ที่เกี่ยวกับแนวโน้มความก้าวหน้าล้ำๆ ของเทคโนโลยีต่างๆ มาเล่าสู่กันฟังในวันต่อๆไปครับ .......