29 พฤศจิกายน 2550

Artificial Cell - จุดกำเนิดของ Life Version 2.0


มนุษย์เคยมีความเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกและมนุษย์ขึ้นมาจนกระทั่ง ชาร์ล ดาร์วิน ได้ออกท่องทะเลเดินทางไปสังเกตพันธุ์พืชและสัตว์ทั่วโลกเมื่อปี พ.ศ. 2374 ซึ่งต่อมาเขาได้พัฒนา “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานอันสำคัญของวิชาชีววิทยา ปัจจุบันนี้เราเชื่อว่ามนุษย์และสัตว์ได้พัฒนาความซับซ้อนขึ้นมาเรื่อยๆ นานนับพันล้านปีจากสิ่งมีชีวิตที่ง่ายที่สุดคือแบคทีเรียซึ่งมีเซลล์เพียงแค่หนึ่งเซลล์เท่านั้น ดังนั้นบรรพบุรุษของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในโลกนี้ก็คือแบคทีเรีย ส่วนก่อนหน้านี้แบคทีเรียมีวิวัฒนาการมาอย่างไรนั้นก็ยังเป็นหัวข้อวิจัยที่ทำกันไปทั้งชาติก็คงไม่จบ


ถึงแม้สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างแบคทีเรียจะถือเป็นสิ่งมีชีวิตขั้นต่ำเอามากๆ แต่เทคโนโลยีปัจจุบันของมนุษย์ก็ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะสร้างมันขึ้นมาด้วยการออกแบบเองใหม่ทั้งหมดโดยไม่อาศัยของเดิมจากธรรมชาติเลย แต่เมื่อเร็วๆนี้ได้เริ่มมีกลุ่มวิจัยรวมตัวกันเพื่อเป้าหมายที่ท้าทายมากๆ กล่าวคือต้องการสร้างชีวิตขึ้นมาเองโดยการออกแบบ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภายุโรปภายใต้หัวข้อ Programmable Artificial Cell Evolution (PACE) และนี่ก็คือที่มาของ A-Cell สิ่งมีชีวิตเทียมหรือเซลล์เทียมซึ่งจะทำให้นิยามของคำว่า “สิ่งมีชีวิต” เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล และเป็นจุดกำเนิดของ Life Version 2.0


ถึงแม้ A-Cell ที่ทำได้ในปัจจุบันจะยังไปไม่ถึงขั้นเกิดสิ่งมีชีวิตชนิดแรกโดยมนุษย์เป็นผู้รังสรรขึ้น แต่ A-Cell ที่ทำได้ตอนนี้ก็มีประโยชน์มากมายแล้ว ตอนนี้เราสามารถสร้าง A-Cell จากวัสดุหลายแบบ ทั้งจากโมเลกุลไขมันเหมือนในสิ่งมีชีวิตหรือจากพอลิเมอร์สังเคราะห์เพื่อสร้างเป็นเยื่อหุ้มเซลล์ โดยเราสามารถออกแบบให้โมเลกุลโปรตีนไปฝังตัวบนเยื่อหุ้มเพื่อทำหน้าที่ได้ มีกลุ่มวิจัยบางกลุ่มสามารถใส่เอนไซม์เข้าไปใน A-Cell แล้วป้อนวัตถุดิบเพื่อให้เอนไซม์ทำงานเลียนแบบสภาพแวดล้อมในเซลล์จริงๆ บริษัทยาบางแห่งได้สร้าง A-Cell ขึ้นมาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคบางชนิดที่ไม่สามารถย่อยสารอาหารบางอย่างได้ ทำให้เป็นโรคขาดสารอาหาร โดยผู้ป่วยจะรับประทาน A-Cell เข้าไปพร้อมอาหาร ทำให้สามารถย่อยอาหารได้ และ A-Cell ยังถูกขับถ่ายออกมาโดยไม่สะสม


ความก้าวหน้าในเทคโนโลยี A-Cell นี้จะมีผลย้อนกลับไปส่งเสริมให้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ซูเปอร์จิ๋วและเซ็นเซอร์โมเลกุลให้พัฒนาแบบก้าวกระโดด เทคโนโลยี A-Cell จึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่ควรมองข้าม เพราะขณะนี้เรายังขาดนักวิจัยทางด้านนี้ในประเทศไทย

27 พฤศจิกายน 2550

Robosphere - นิเวศน์ของหุ่นยนต์ (Ecology of Robots)


ในภาพยนตร์เรื่อง i-Robot หุ่นยนต์ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ที่เรามักเรียกว่า Humanoid ซึ่งมีความเฉลียวฉลาด และดูเหมือนจะมีความคิดเป็นของตัวเอง ได้พยายามออกมาปฏิวัติเพื่อให้หลุดออกจากการควบคุมของมนุษย์ และสร้างนิเวศน์วิทยาของตัวเอง เสมือนกับพวกมันก็มีโลกของมัน และอาจสร้างสังคมที่มีอุดมการณ์ และจุดหมายของพวกมันได้ เช่นเดียวกับพวกเรา ที่มีสังคมโลกและกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันของเราเอง (Homosphere) ที่สร้างขึ้นมาให้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งหลาย (Biosphere) เพียงแต่ Homosphere ในปัจจุบันได้ครอบงำ และ รุกล้ำ Bioshpere เป็นอย่างมาก ในอนาคตข้างหน้า จักรกลก็อาจจะเข้ามามีส่วนร่วมใน Biosphere นี้ โดยอาศัยและอยู่ร่วมกับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย องค์การ NASA ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว โดยหวังจะนำหุ่นยนต์จำนวนมาก ไปปล่อยลงบนพื้นผิวดาวอังคาร แล้วให้พวกมันทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยสามารถที่จะอยู่ของมันเองได้


ศาสตร์ในการสร้างนิเวศน์ของหุ่นยนต์นี้ ปัจจุบันเป็นหัวข้อที่มาแรง และ มีการแข่งขันกันพัฒนาทั่วทั้งโลก เรียกว่าใครทำไกลก่อน เสร็จก่อน ได้เปรียบแน่ ลองนึกถึงหุ่นยนต์ในรูปของรถขับเคลื่อนสี่ล้อขนาดเล็ก ที่สูงประมาณ 1-2 ฟุต ติดปืนกลวิ่งออกไปเป็นฝูง เพื่อไปจัดการข้าศึกในสนามรบ หุ่นยนต์งูปล่อยออกไปเป็นฝูงเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตใต้ซากตึก ฝูงแมลงหุ่นยนต์ที่ส่งออกไปในไร่นา เพื่อปราบศัตรูพืช มีศัพท์ต่างๆ ออกมามากมาย ณ เวลานี้ที่แสดงให้เห็นว่า Robosphere กำลังจะเกิดในอีกไม่ช้า ไม่ว่าจะเป็น Swarm Robotics, Swarm Intelligence, Swarmanoid, Swarm Computing, Multi-agent Systems, Flybot, Insectbot, Biobot, Robotic Ecology และอื่นๆอีกมากมาย ความก้าวหน้าใสาขาเหล่านี้ นอกจากจะนำเป็นผลให้ศาสตร์ของ Robotics พัฒนาขึ้นไปอีกขั้นแล้ว อาจยังเป็นทางออกของคอมพิวเตอร์ด้วย ที่ตอนนี้เริ่มจะตันแล้ว เพราะความเร็วของ CPU ไปได้เฉียดๆ 4.0 GHz มานับปีแล้ว ตอนนี้หากต้องการทำให้คอมพิวเตอร์เร็วขึ้น อาจจะต้องใช้ CPU มาร่วมทำงานพร้อมกันหลายๆ ตัว เหมือนฝูงของ CPU

(ภาพด้านบน - หุ่นยนต์รบติดอาวุธ ที่สามารถส่งออกไปเป็นฝูง เพื่อจัดการกับข้าศึก)

26 พฤศจิกายน 2550

นาโนโนเบล (ตอนที่ 4)


ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 นั้น มนุษย์มีความใฝ่ฝันที่จะเข้าไปมองเห็นโลกของสิ่งเล็กๆ ที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า เป็นอย่างมาก เครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราสามารถเห็นโลกที่เล็กกว่า 0.1 มิลลิเมตรก็คือ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ซึ่งคิดค้นและออกแบบโดยรุสกา (Ernst Ruska - รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ค.ศ. 1986) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน จริงๆ แล้วรุสกาประดิษฐ์มันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931 แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ท่านจะเรียนปริญญาเอกจบเสียอีก แต่ไม่ทราบว่าคณะกรรมการรางวัลโนเบลหลงลืมหรืออย่างไร จึงเพิ่งมาให้รางวัลโนเบลแก่ท่านในปี ค.ศ. 1986 (พร้อมๆ กับผู้ประดิษฐ์คิดค้นกล้องจุลทรรศน์ที่สามารถส่องเห็นอะตอมได้ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) หลังจากที่มีการใช้งานกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscope หรือ SEM) หรือ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน (Tunneling Electron Microscope) น่าเสียดายที่รุสกาได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1988 หลังจากได้รับรางวัลโนเบลเพียง 2 ปี สิริรวมอายุ 82 ปี



กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนได้เปิดมุมมองใหม่ให้แก่ศาสตร์หลายแขนง รวมไปถึงชีววิทยา ว่ากันว่าเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนนั้น ขอเพียงแค่มีกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ก็สามารถตีพิมพ์ในวารสารวิจัยได้แล้ว เพียงแต่ไปนำเอาตัวอย่างสิ่งมีชีวิต หรือ ชิ้นเนื้อของมันมาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ก็สามารถรายงานสิ่งใหม่ๆได้เลย เช่นเดียวกับกล้องโทรทัศน์ที่เปิดโลกแห่งการค้นพบดารา และจักรวาล กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนก็เปิดโลกใหม่ให้นักชีววิทยา อาจารย์หลายๆท่านในมหาวิทยาลัยก็ได้มีผลงานขอตำแหน่งศาสตราจารย์ จากการมีเพียงกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนนี้เอง การค้นพบกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจึงนับเป็นหลักกิโลเมตรสำคัญ ของวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาสิ่งเล็กๆ โดยเฉพาะนาโนเทคโนโลยี การค้นพบท่อนาโนคาร์บอนโดยศาสตราจารย์ ไออิจิมา (Sumio Iijima) ก็เกิดจากการมองเห็นโครงสร้างของท่อนาโนคาร์บอนด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนนี่เอง
(ภาพบน - ภาพมดกำลังคาบไมโครชิพ จากกล้องSEM)

25 พฤศจิกายน 2550

Millibot - สังคมของหุ่นยนต์จิ๋ว



มนุษย์มีความใฝ่ฝันในเรื่องหุ่นยนต์มานานหลายทศวรรษ เมื่อ 30 ปีที่แล้วเราเคยจินตนาการเอาไว้ว่าในปี 2002 โลกจะพัฒนาไปจนมีหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ออกมาเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น หุ่นยนต์อย่างอาซิโมของบริษัทฮอนด้า ซึ่งออกโชว์ตัวเมื่อปี 2002 กลับมีรูปร่างและท่าทางที่อุ้ยอ้าย และทำได้เพียงขึ้นลงบันได้อย่างช้าๆ เท่านั้น หรือเต้นส่ายไปมาพร้อมยกมือสวัสดี ซึ่งก็เพียงพอที่จะเรียกเสียงปรบมือและความประทับใจจากผู้ชมชาวไทย จริงๆแล้วเราเพิ่งมาพบกับความจริงที่ว่า การสร้างหุ่นยนต์ให้เหมือนกับมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนเอามากๆ มิฉะนั้นแล้วทำไมมนุษย์ต้องใช้เวลาถึงเป็นแสนๆปี เพื่อจะวิวัฒนาการให้แยกออกมาจากลิง


แต่อีกแนวโน้มหนึ่งของงานวิจัยและพัฒนาด้านหุ่นยนต์ซึ่งนำโดยมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) กำลังจะเดินไปในทิศทางตรงข้าม กล่าวคือ จะสร้างหุ่นยนต์ที่มีขนาดเล็ก โดยหุ่นยนต์แต่ละตัวมีพลังสมองไม่มาก แต่เมื่อมันมารวมกันเป็นทีมหรือเป็นฝูง (Swarm Robot) พวกมันก็จะสามารถทำงานยากๆได้ เฉกเช่น มดหรือผึ้ง ซึ่งหากมีมดหรือผึ้งเพียงตัวเดียว มันแทบจะทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลย แต่เมื่อไรก็ตามที่มันรวมฝูงมันก็จะสามารถทำภารกิจที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ เช่นเดียวกับมด ปลวกและผึ้ง ทั้งๆที่ พวกมันแทบจะไม่มีสมองเลย (มีเพียงต่อมประสาทเท่านั้น) แต่เมื่อมันรวมฝูงแล้ว มันสามารถสร้างรังที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน โดยเฉพาะปลวกนั้น มันสามารถสร้างจอมปลวกที่มีระบบระบายอากาศที่น่าทึ่งมาก สำหรับมดมีการแบ่งหน้าที่ต่างๆ อย่างเป็นลำดับชั้น ความซับซ้อนของฝูงแมลงที่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบง่ายๆ กำลังเป็นงานวิจัยที่ฮิตมากๆสำหรับตอนนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา จนเกิดเป็นสาขาใหม่ที่เรียกว่า การประมวลผลแบบฝูง (Swarm Computing) และหุ่นยนต์ที่ทำงานภายใต้แนวคิดนี้จึงถูกเรียกว่า ฝูงหุ่นยนต์ (Swarm Robot) ซึ่งแน่นอน ขนาดของมันต้องจิ๋ว


ขณะนี้เทคโนโลยีของเราสามารถสร้างหุ่นยนต์โดยชิ้นส่วนของมันมีขนาดเป็นมิลลิเมตรได้ (แต่ขนาดหุ่นยนต์จริงๆ จะเป็นระดับเซ็นติเมตร) เราจึงเรียกมันว่า Millibot หรือ หุ่นยนต์จิ๋ว ซึ่งในอนาคตก็จะสามารถย่อส่วนเพื่อให้ชิ้นส่วนของมันมีขนาดไมครอนได้ (Microbot) (ซึ่งแน่นอน ขนาดของหุ่นยนต์เมื่อประกอบแล้วก็จะมีขนาดระดับมิลลิเมตร หรือ เท่าขี้ฝุ่น) และหากย่อลงไปอีกให้ชิ้นส่วนมีขนาดระดับนาโน (Nanobot) ก็จะทำให้หุ่นยนต์มีขนาดเล็กระดับไมครอน ซึ่งก็จะมีขนาดระดับเซลล์ (แบคทีเรียมีขนาด 2-10 ไมครอน)


ลองนึกถึงฝูงหุ่นยนต์ที่ปล่อยเข้าไปในซากปรักหักพังของอาคารเพื่อค้นหาผู้บาดเจ็บจากแผ่นดินไหว ฝูงแมลงหุ่นยนต์ที่ปล่อยเข้าไปในไร่นาเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยการให้มันไล่กินแมลง (มีการทดลองสร้างขึ้นแล้วในประเทศอังกฤษ) เรื่องนี้อาจฟังดูน่ากลัว แต่เราก็สามารถโปรแกรมให้มันทำงานในขอบเขตที่จำกัดได้ ผลงานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนก็คือ ฝูงหุ่นยนต์ที่สามารถรวมตัวกันเพื่อประกอบเป็นรูปรถไฟหรืองูเพื่อเดินข้ามสิ่งกีดขวางที่มีความสูงกว่าตัวมันมาก และเมื่อมันสามารถเดินข้ามสิ่งกีดขวางได้แล้ว มันก็จะสลายตัวออก เพื่อให้เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว
(ภาพบน - เจ้าหุ่นยนต์จิ๋ว (millibot) กำลังเกี่ยวแขนกันเดินข้ามสิ่งกีดขวาง)
(ภาพล่าง - เจ้าหุ่นจิ๋วเดินเกี่ยวแขนกันข้ามหลุมอย่างระวัง เหมือนมันจะเป็นแฟนกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ ..... )

24 พฤศจิกายน 2550

Biorobotics - ศาสตร์ของหุ่นยนต์ชีวะ


ช่วงนี้กระแส robot ค่อนข้างมาแรงในเมืองไทย มีการแข่งขันและประกวดหุ่นยนต์ต่างๆ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็เป็นการดี เพราะ robot เป็นเรื่องที่สนุก ทำให้เยาวชนไทยเกิดความสนใจ ที่จะมาศึกษาศาสตร์ทางด้านวิศวกรรม และ วิทยาศาสตร์มากขึ้น


วันนี้ nanothailand ขอแนะนำศาสตร์ใหม่ที่กำลังมาแรงมากๆ ที่มีชื่อว่า Biorobotics ซึ่งจริงๆ ก็ถือว่าเป็นหัวข้อย่อยในศาสตร์ Biomimetic Engineering ที่ nanothailand ได้เคยเล่าให้ฟังไปก่อนหน้านี้แล้วครับ Biorobotics เป็นเรื่องของการสร้างหุ่นยนต์ที่มีลักษณะ หรือ คุณสมบัติที่คล้ายคลึง หรือ เลียนแบบธรรมชาติ ทางด้านเชิงกลหรือแม้แต่เชิงเคมี (ใช้วัสดุของธรรมชาติ) Biorobotics ยังหมายรวมไปถึงการไปจัดการทำให้สิ่งมีชีวิตทำงานตามโปรแกรม ทำตามคำสั่งเหมือนกับหุ่นยนต์ หรือ การนำสิ่งมีชีวิตมาเป็นชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบหนึ่ง หรือ เป็นอวัยวะหนึ่งของหุ่นยนต์ Biorobotics จึงเป็นศาสตร์สหสาขา ที่ต้องการความรู้จากหลายๆ ด้าน ทั้งวัสดุศาสตร์ เคมี ชีววิทยา วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมเครื่องกล กายวิภาคศาสตร์ ประสาทวิทยา เป็นต้น Biorobotics เป็นเรื่องที่ประเทศไทยควรให้ความสนใจ เมื่อคำนึงถึงว่าประเทศไทยต้องการเอาดีทางด้าน Biomedical Engineering เพราะงานประยุกต์ของ Biorobotics สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ เช่น อวัยวะทดแทน เครื่องมือช่วยผ่าตัด Wearable Robotics (ถ้าใครเคยดู Aliens ภาค 1 อาจจะจำหุ่นยนต์ที่นางเอกนำมาสวมใส่ เพื่อใช้สู้กับพวก Aliens ได้) เป็นต้น


เมื่อครั้งที่ nanothailand ยังเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่นั้น ในสมัยนั้นการสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะไม่มีการสอบวิชาชีววิทยา ซึ่ง nanothailand ก็ไม่ทราบว่าตอนนี้ยังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่ ถ้ายังเป็นเช่นนั้นอยู่ก็เป็นเรื่องลำบากของประเทศไทยที่จะเอาดีในศาสตร์ของ Biorobotics ได้ เพราะวิศวกรที่ทำงานทางด้าน Biorobotics จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของชีววิทยาในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการทำงานที่ง่ายขึ้น เช่น หากมีความรู้เรื่องชีววิทยาของงู ก็จะช่วยให้ออกแบบ Snake Robot ได้ง่ายขึ้น ห้องปฏิบัติการวิจัยที่ทำงานทางด้านวิทยาการใหม่ๆ ที่เป็นศาสตร์วัยรุ่น (Teenage Sciences) จึงต้องมีนักชีววิทยาประจำ Lab สักคน อย่าลืมว่าศตวรรษที่ 21 เป็นของชีววิทยานะครับ ........

21 พฤศจิกายน 2550

นาโน โนเบล (ตอนที่ 3)


การพัฒนากลศาสตร์ควอนตัมในช่วงเริ่มต้นของ ศตวรรษที่ 20 ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่เกี่ยวกับอะตอม องค์ประกอบที่เล็กที่สุดที่เป็นตัวต่อของทุกสิ่ง (แม้ว่าจะมีอนุภาคอื่นๆ ที่เล็กกว่าอะตอม แต่ก็ถือว่าอะตอมเป็นตัวต่อที่เล็กที่สุดที่มีความหมายในเชิงการก่อรูปสสารขึ้นมา) ดิแรก (Paul Dirac) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มพัฒนาทฤษฎีควอนตัมได้กล่าวในปี ค.ศ. 1929 ว่า “กฎพื้นฐานต่างๆที่จำเป็นสำหรับการอธิบายสิ่งต่างในวิชาฟิสิกส์โดยส่วนใหญ่และสำหรับวิชาเคมีทั้งหมดนั้นได้ถูกค้นพบแล้ว ปัญหาก็คือว่าการนำเอากฎเหล่านี้ไปใช้จะต้องผ่านสมการคณิตศาสตร์ที่ยุ่งยากซับซ้อนเกินกว่าที่จะแก้ปัญหานั้นได้” ดิแรกมองว่าถึงแม้ทฤษฎีควอนตัมจะถูกค้นพบแล้วก็ตาม แต่มันก็อาจไม่มีประโยชน์นักถ้าหากไม่สามารถที่จะนำมาใช้ศึกษาระบบอื่นๆได้นอกจากอะตอมไฮโดรเจน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าสมการที่ใช้เพื่ออธิบายสมบัติของอะตอมนั้น สามารถใช้ได้กับอะตอมของธาตุที่เล็กที่สุด ซึ่งก็คือไฮโดรเจน หากจะนำไปใช้แก้ปัญหาของอะตอมของธาตุอื่น และ โมเลกุล จะต้องผ่านการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนมากๆ มีเรื่องขำๆ เล่าต่อๆกันมาว่า นักวิทยาศาสตร์ควอนตัมในสมัยก่อน เวลาจะแก้ปัญหาเชิงตัวเลขที่ซับซ้อน หรือ ทำซ้ำๆกันหลายขั้นตอน ก็จะเดินเข้าไปในโรงพยาบาลบ้า แล้วนำโจทย์ไปให้คนไข้ที่มีระบบการคิดเลขที่เหนือมนุษย์ธรรมดาช่วยแก้ให้ ดิแรกคงคาดไม่ถึงว่าในเวลาต่อมาเราจะมีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า คอมพิวเตอร์ มาช่วยคิดเลขให้


และแล้ว การมองโลกในแง่ร้ายของดิแรกก็มีอันต้องถูกท้าทาย เมื่อมุลลิเกน (Robert S. Mulliken - รางวัลโนเบลสาขาเคมี ค.ศ. 1966) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิจัยหัวก้าวหน้าในสมัยนั้น มีความเชื่อว่ากลศาสตร์ควอนตัมนี่เองจะนำมาสู่การปฏิวัติมุมมองใหม่ทางเคมี และจะทำให้เกิดความเข้าใจความเป็นอยู่ของโลกที่เล็กมากๆ อย่างโมเลกุลได้ หลังจากท่านจบปริญญาเอกในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้เข้าทำงานกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอยู่หลายคน แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของท่านเกิดขึ้นเมื่อตัดสินใจเดินทางไปทำงานในยุโรป และได้ทำงานกับ Erwin Schroedinger, Pual Dirac, Werner Heisenberg, Louis de Brogile, Max Born และ Walther Bothe ซึ่งบุคคลที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้น สุดท้ายก็ได้รับรางวัลโนเบลกันทุกคน จากสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้จากบุคคลเหล่านั้น มุลลิเกนได้พัฒนาทฤษฎีโมเลกุลาร์ ออร์บิทัล (Molecular Orbital) ซึ่งอธิบายความเป็นอยู่ของอิเล็กตรอนในโมเลกุล ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเคมีเป็นอย่างมาก และมีการใช้งานกันมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นงานที่ทำให้มุลลิเกนได้รับรางวัลโนเบลนั่นเองการเกิดขึ้นของทฤษฎีโมเลกุลาร์ ออร์บิทัล นับเป็นพื้นฐานสำคัญของนาโนเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถจะทำนายและออกแบบระบบทางด้านนาโนได้ ศาสตร์ที่เรียกว่า Computational Nanotechnology ซึ่งเป็นเรื่องของการออกแบบโมเลกุล และ โครงสร้างนาโนต่างๆ จึงเป็นหนี้ของคุณความดีที่มุลลิเกนได้มอบให้แก่โลกไว้

(ภาพด้านบน - วิศวกร เอ้ย... ไม่ใช่สิ นักชีววิทยาโมเลกุล (molecular biologist) กำลังออกแบบยา โดยการใช้ศาสตร์ของ Computational Nanotechnology)

20 พฤศจิกายน 2550

ไทยต้องข้ามยุคนาโนวัสดุให้ได้ ก่อนแพ้เพื่อนบ้าน


วิทยาศาสตร์โลกในช่วงขึ้นศตวรรษใหม่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่นกัน ศาสตร์ใหม่ๆ ที่มีผลกระทบสูงล้วนเกิดจากการแต่งงานข้ามศาสตร์ของสาขาวิชาการที่อาจจะแยกกันอยู่มายาวนาน เช่น อินทรีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ โมเลกุลาร์อิเล็กทรอนิกส์ (Organic Electronics / Molecular Electronics) นั้นเกิดจากการแต่งงานกันระหว่าง เคมีอินทรีย์ ฟิสิกส์ และ วิศวกรรมไฟฟ้า ดังนั้นการทำงานในศาสตร์ใหม่ๆ นั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างนักวิจัยในศาสตร์เดิมหลายๆสาขา รวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะทำงานข้ามศาสตร์ของนักวิจัยเพื่อที่จะข้ามไปทำในเรื่องที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อนหรือไม่เคยรู้มาก่อน


นาโนเทคโนโลยีแบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ ยุคนาโนวัสดุ ยุคนาโนอุปกรณ์ และ ยุคระบบนาโนบูรณาการ (Integrated Nano-systems) ประเทศไทยมีนักวิจัยในสาขานาโนวัสดุจำนวนมาก ในขณะที่มีกลุ่มที่ทำงานทางด้านนาโนอุปกรณ์ยังไม่มากนัก ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะจากการประเมินงานวิจัยของนักวิจัยในเวียดนามในการประชุม International Workshop on Nanotechnology and Applications (IWNA 2007) ที่ Vung Tau City ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 15-17 พ.ย. 2550 นั้น ทำให้ทราบว่าเขามีกลุ่มที่ทำทางด้านนาโนอุปกรณ์มากกว่าเมืองไทยซะอีก แม้เมืองไทยจะมีความก้าวหน้าโดยรวมของงานทางด้านนาโนวัสดุมากกว่าเขา แต่หากเขาทำนาโนอุปกรณ์มากกว่าเรา ก็ถือว่าเราแพ้แล้ว เพราะเขากำลังวิ่งอยู่ในยุคที่ 2 ของนาโนเทคโนโลยี


nanothailand ได้มีโอกาสได้คุยกับ ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ แห่ง NECTEC เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ยาวนานในการทำงานวิจัยที่เชื่อมโยงตั้งแต่งานพื้นฐานที่เน้นความเข้าใจ และผลงานตีพิมพ์ ไปจนถึงงานประยุกต์ที่ให้ผลออกมาเป็นต้นแบบหรือผลิตภัณฑ์ โดยเมื่อ 5 ปีที่แล้วได้บุกเบิกเพื่อจัดตั้ง MEMS and Nanoelectronics Laboratory ขึ้นในเมืองไทย โดยเป็นห้องปฏิบัติการในสังกัดของ NECTEC ทำให้ทราบว่างานวิจัยในสาขานาโนอิเล็กทรอนิกส์มีความยากกว่างานวิจัยทางด้านนาโนวัสดุ ที่นิยมทำกันอย่างกว้างขวางในเมืองไทยตรงที่ สาขานาโนอิเล็กทรอนิกส์ต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และหากจะพัฒนาอะไรก็ตามก็ต้องไปจนถึงจุดที่นำไปใช้งานได้ซึ่งก็ต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง ซึ่งอาจต้องมีการทำงานข้ามศาสตร์ หรือ อาศัยความเชี่ยวชาญจากหลายๆ สาขา ไม่เหมือนกับงานนาโนวัสดุที่สามารถจบได้ที่หน่วยวิจัยเดียวก็ได้ ประเทศไทยมีฐานงานวิจัยทางนาโนวัสดุที่ค่อนข้างโต แต่งานวิจัยที่ต่อยอดขึ้นไปเพื่อนำนาโนวัสดุไปใช้งานกลับค่อนข้างลีบ


ดร. อดิสร ได้อธิบายว่าการทำงานในสาขานาโนอิเล็กทรอนิกส์นั้นช่วยทำให้เกิดความก้าวหน้าโดยรวมในสาขานาโนเทคโนโลยี เพราะมีผู้นำนาโนวัสดุไปใช้ต่อ และเกิดการต่อยอดไปสู่การสร้างนาโนอุปกรณ์ ซึ่งเป็นยุคที่ 2 ของนาโนเทคโนโลยีต่อจากยุคนาโนวัสดุ ดร. อดิสร ได้สาธิตงานวิจัย 2-3 ชิ้นที่แสดงความสำคัญของห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง เช่น Lab-on-Chip หรือห้องปฏิบัติการบนชิพ การที่จะพัฒนาให้ได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริง จะต้องประกอบด้วยกลุ่มวิจัยหลายกลุ่มช่วยกันพัฒนา ได้แก่ นักเคมีเพื่อออกแบบโมเลกุลที่พื้นผิวของชิพให้มีคุณสมบัติในการคัดกรองสาร และ ออกแบบปฏิกริยาต่างๆ วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประกอบชิพที่มีวงจรการไหล นักเทคนิคการแพทย์เพื่อออกแบบการใช้งานในการตรวจโมเลกุลชีวภาพ นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ ดร. อดิสร ได้แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันข้ามกลุ่ม ข้ามศาสตร์ ข้ามมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็น Paradigm ใหม่ของโลก ที่ประเทศไทยต้องเกาะติด

19 พฤศจิกายน 2550

Biomimetic Engineering - เมื่อธรรมชาติเป็นตัวช่วยให้แก่งานวิศวกรรม


ในระยะหลังๆ นี้ ประเทศไทยมีการตื่นตัวกับ keywords ใหม่ๆ ที่เป็น Emerging Technologies เป็นอย่างมาก เช่น Biomedical Engineering มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายมากถึง 3 กลุ่มหลัก Biosensors มีศูนย์ไบโอเทค (BIOTEC) เป็นแกนนำ ซึ่งก็มีความกระตือรือร้นสูงที่จะสร้างเครือข่ายนักวิจัย ให้มาร่วมมือกันทำงาน เพื่อให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริง เรื่องของ Bionics หรือ อวัยวะทดแทนก็เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้น ถึงแม้ยังไม่มีเครือข่ายที่เป็นเรื่องเป็นราว ใหม่ล่าสุดก็เป็นเรื่องของ Plastic Electronics ที่ศูนย์เนคเทค (NECTEC) เป็นกำลังหลักในการผลักดันเพื่อให้ประเทศไทยเข้าไปอยู่ใน ห่วงโซ่มูลค่า ของอิเล็กทรอนิกส์เวอร์ชัน 2.0 ที่กำลังจะเติบโต

ยังมีอีกศาสตร์หนึ่งที่ประเทศไทยดูจะหลงลืมไป และเป็นศาสตร์ที่กำลังทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ศาสตร์นี้เป็นพรมแดนใหม่ที่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ประสาทวิทยา แพทยศาสตร์ และ วิศวกรรมสาขาต่างๆ มาบรรจบพบกัน นั่นคือ Biomemetics หรือ Biomimetic Engineering ภาษาไทยยังไม่มีใครนิยามให้ nanothailand ขอเรียกว่า "วิศวกรรมเลียนแบบธรรมชาติ" ก็แล้วกันครับ Biomimetics อาจแบ่งออกได้เป็น 3 แนวทาง ได้แก่ (1) Mechanism-driven Biomimetics เป็นแนวทางที่ต้องการแก้ปัญหาทางวิศวกรรม โดยแสวงหาตัวอย่างในธรรมชาติ เข้าไปศึกษามันเพื่อให้เข้าใจ จากนั้นนำองค์ความรู้มาแก้โจทย์ที่ตั้งไว้แล้ว เช่น Self-cleaning Materials (Lotus Effect) ที่พยายามหาวัสดุที่ทำความสะอาดตัวเองได้เหมือนใบบัว (2) Organism-Driven Biomimetics เป็นการศึกษาสิ่งมีชีวิตเพื่อเสาะหา สมบัติเด่นๆ ของมันสักอย่าง แล้วนำคุณสมบัตินั้นมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ตีนตุ๊กแก (3) Integrative Biomimetics เป็นแนวทางที่ผสมผสานแนวทางทั้งคู่ที่กล่าวมาข้างต้น เช่น การศึกษาการเคลื่อนที่ของแมลงสาบ เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่ สามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีข้างเคียง เช่น เซ็นเซอร์ มอเตอร์จิ๋ว กล้ามเนื้อเทียม ก็สามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้ด้วย

หากศาสตร์ทางด้าน Biomimetic Engineering ได้รับการพัฒนาในประเทศไทย ก็จะทำให้เกิดการสร้างทีมงานในด้านต่างๆ ขึ้นมาทำงานร่วมกันเป็นระบบ เพราะศาสตร์ด้านนี้ ต้องการทีมงานหลากสาขามาก เช่น คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมเครื่องกล ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา มาร่วมแก้ปัญหา เพราะธรรมชาติมีความลับเก็บซ่อนไว้เยอะมากนะครับ การเลียนแบบธรรมชาติไม่ใช่ของง่ายๆ หากประเทศไทยรวมทีมทางด้านนี้ได้ เราก็มีโอกาสเป็นต่อเพื่อนบ้านครับ เพราะเท่าที่ nanothailand ประเมินสถานภาพของทั้ง เวียดนาม มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ศาสตร์ทางด้านนี้ยังไม่ได้รับรู้กันทั่วไปนัก เราจึงต้องรีบเริ่มก่อนเขา

18 พฤศจิกายน 2550

นาโน โนเบล (ตอนที่ 2)


ต้องขออภัยท่านผู้อ่านนะครับที่หายไป 2-3 วัน ตอนนี้ nanothailand อยู่ประเทศเวียดนาม มาประชุม International Workshop on Nanotechnology and Applications (IWNA 2007) ที่เมือง Vung Tau City ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศชายทะเลอันแสนสบายของเขา วันนี้ nanothailand มีโอกาสมาเล่าต่อ ในเรื่องของนักวิทยาศาสตร์โนเบล ทางด้านนาโน ซึ่งก็จะทยอยเล่า สลับกับเรื่องอื่นๆ ไปเรื่อยๆ ครับ

"สักวันหนึ่ง เราจะสามารถประกอบสิ่งต่างๆ ผลิตสิ่งต่างๆ ขึ้นมาจากการจัดเรียงอะตอมด้วยความแม่นยำ และเท่าที่ข้าพเจ้ารู้ ไม่มีกฎทางฟิสิกส์ใดๆ แม้แต่หลักแห่งความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle) ที่จะมาขัดขวางความเป็นไปได้นี้” เป็นประโยคอมตะหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด จากสุนทรพจน์อันโด่งดังของ ศาสตราจารย์ ฟายน์แมน เมื่อปี ค.ศ. 1959 ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย ปาฐกถานี่เองที่ถือเป็นการเปิดวิสัยทัศน์แรกของเทคโนโลยีในการจัดการกับสิ่งจิ๋ว และจากสุนทรพจน์ในวันนั้น นักนาโนเทคโนโลยีได้กำหนดนิยามของนาโนเทคโนโลยีว่าเป็น “ความสามารถในการจัดการ ควบคุม ประกอบ สร้าง และ ผลิตสิ่งต่างๆด้วยความแม่นยำในระดับอะตอม”

นอกจากการได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เมื่อปี ค.ศ. 1965 ในศาสตร์ทางด้านควอนตัมอิเล็กโตรไดนามิกส์ (Quantum Electrodynamics) แล้วฟายน์แมนยังเป็นบุคคลที่น่าทึ่งและน่าจดจำมากที่สุดคนหนึ่งสำหรับวงการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เขามีบุคลิกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสดใส กระตือรือล้นอยากรู้อยากเห็น จนกระทั่งกล้าที่จะมองการระเบิดของระเบิดปรมาณูที่ทดลองครั้งแรกด้วยตาเปล่า ซึ่งเขาก็เป็นหนึ่งในทีมพัฒนา ในวงการฟิสิกส์เขาเป็นครูที่ดีที่สุดที่โลกรู้จัก คุณความดีของฟายน์แมนในการกระตุ้นให้ผู้คนมาสนใจพัฒนาเทคโนโลยีจิ๋ว รวมทั้งการบุกเบิกงานวิจัยทางด้านการประมวลผลแบบควอนตัม (Quantum Computing) ทำให้ท่านได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งนาโนเทคโนโลยี

หากเราเชื่อศาสตราจารย์ฟายน์แมนว่า สักวันหนึ่งเราจะสามารถประกอบสิ่งต่างๆ และ ผลิตสิ่งต่างๆ ขึ้นมาจากการจัดเรียงอะตอมด้วยความแม่นยำ เราอาจจะต้องตั้งคำถามสักสองข้อว่า วันนี้เรามีความสามารถอย่างนั้นหรือยัง และ ถ้าหากเรายังไม่ได้มีความสามารถอย่างนั้น เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะไปถึงจุดนั้นให้ได้ คำตอบสำหรับคำถามแรกนั้นก็คือ ณ วันนี้เรายังไม่มีความสามารถอย่างนั้นเลย ขณะนี้เราเพียงมีความสามารถในการจัดวางอะตอมบนพื้นผิวของของแข็งอย่างแม่นยำ โดยการใช้ Atomic Force Microscope (AFM) หรือ Scanning Tunnelling Microscope (STM) ในการจับอะตอมไปวางยังจุดที่ต้องการ แต่ความสามารถดังกล่าวก็ยังคงจำกัดตัวเองอยู่ในห้องปฏิบัติการชั้นสูงเท่านั้น ยังขาดความสามารถในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ส่วนคำตอบสำหรับคำถามข้อที่สอง ว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไรนั้น ขอให้มองไปรอบๆตัว ธรรมชาติได้พัฒนาและใช้งานนาโนเทคโนโลยีเพื่อสร้างสิ่งมีชีวิตต่างๆขึ้นมาทั้งสิ้น เมื่อเซลล์สเปิร์มปฏิสนธิกับไข่ในครรภ์มารดา เกิดเป็นเซลล์เดี่ยวที่แบ่งตัวและพัฒนาจนกลายเป็นทารกที่มีอวัยวะอันซับซ้อน พัฒนาการต่างๆเหล่านั้นเกิดขึ้นโดยมีรูปแบบที่ค่อนข้างแน่นอน มีระบบควบคุมทำให้อะตอมและโมเลกุลต่างๆ จัดเรียงตัว ณ ตำแหน่งที่เหมาะสม นับตั้งแต่โมเลกุล DNA อันเปรียบเสมือนเป็นหน่วยความจำ ROM (Read Only Memory) ของเซลล์ ได้ถ่ายทอดข้อมูลและสารสนเทศไปยัง RNA เพื่อให้ RNA นำคำสั่งเหล่านี้ไปสังเคราะห์โปรตีน ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่ทำหน้าที่สร้างสิ่งต่างๆในเซล์ และนอกเซลล์ ดังนั้นจักรกลนาโน (Nanomachines) เหล่านี้มีอยู่แล้วในธรรมชาติ มีความสามารถในการสร้างสิ่งต่างๆ ด้วยความแม่นยำในระดับอะตอม


นาโนเทคโนโลยีที่อาศัยการเลียนแบบกระบวนการในธรรมชาติ (Biomimetic Engineering and Bio-Nanotechnology) จึงเป็นศาสตร์ที่ประเทศไทยควรให้ความสนใจมากขึ้น เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ตอนนี้ว่าไทยเราค่อนข้างอ่อนแอในศาสตร์ด้านนี้ แม้ว่าเราจะค่อนข้างเข้มแข็งในเรื่องของนาโนวัสดุ แต่ก็ไม่ค่อยมีงานทางด้านนาโนวัสดุทางชีวภาพมากนัก

13 พฤศจิกายน 2550

จับตาดูประเทศเพื่อนบ้าน เทียบศักยภาพนาโนกับไทย


การวิจัยทางนาโนศาสตร์ (Nanoscience) สามารถแบ่งออกเป็น สาขาการสังเคราะห์และเตรียมนาโนวัสดุ การประกอบอุปกรณ์ การบูรณาการระบบ และการโมเดลและออกแบบโครงสร้างนาโน ส่วนด้านนาโนเทคโนโลยี แบ่งเป็นสาขานาโนอิเล็กทรอนิกส์ นาโนวัสดุ และ นาโนชีววิทยา เมื่อเทียบสถานภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม จีน มาเลเซีย และ สิงคโปร์ โดยประเมินจากการประชุมวิชาการที่เป็นงานใหญ่ประจำปีของแต่ละประเทศ พบว่าในเรื่องของการสังเคราะห์และเตรียมนาโนวัสดุนั้น ประเทศไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศใดในย่านนี้ โดยเฉพาะวัสดุจำพวกเซรามิกส์และพอลิเมอร์ สำหรับเวียดนามนั้นค่อนข้างเก่งในเรื่องของวัสดุนาโนจำพวกเซรามิกส์ ที่ใช้ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และแม่เหล็ก ในเรื่องของการประกอบอุปกรณ์นั้น แม้ประเทศไทยจะตามหลังประเทศทางตะวันตกทั้งหลาย รวมทั้งประเทศเอเชียที่มีความก้าวหน้า อย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน แต่เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านก็ถือว่าเราไม่แพ้ใคร สำหรับเรื่อง MEMS (Micro-electromechanical system) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของนาโนอิเล็กทรอนิกส์นั้น ประเทศไทยกับมาเลเซียถือว่าเป็นคู่แข่งกัน โดยเวียดนามยังห่างชั้นกับไทยอยู่ สาขาที่ประเทศไทยยังมีความอ่อนแออยู่ค่อนข้างชัดคือ สาขานาโนชีววิทยา ซึ่งยังมีการทำวิจัยค่อนข้างน้อย ทำให้ประเทศไทยตามหลังสิงคโปร์อยู่ห่างๆ

อนาคตของอุตสาหกรรมไทย ขึ้นกับความสามารถในการแข่งขันด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ โดยปัจจัยหลักมาจากงานวิจัยพื้นฐานที่ต้องมีกลไกที่แข็งแรงมาเชื่อมโยงเพื่อนำไปสู่ปลายทางให้ได้ โดยหากเราไม่คิดเริ่มจะทำอะไรในวันนี้ เราจะแพ้ประเทศที่พัฒนาเรื่องนี้หลังเราในไม่ช้านี้ จริงๆ แล้วประเทศไทยมีกลไกในการเชื่อมโยงงานวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในระดับดีทีเดียว เช่น โครงการวิจัยและพัฒนาร่วมรัฐและเอกชน โครงการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator - UBI) โครงการหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (Technology Licensing Office – TLO) โครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ เป็นต้น โดยโครงการเหล่านั้นเน้นการสนับสนุนงานวิจัยที่มีความพร้อมสู่การประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจดสิทธิบัตร การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ใช้ หรือ แม้กระทั่งการตั้งบริษัท Start-Up ขึ้นมาเองเพื่อดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยี สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำก็คือพยายามต่อท่อโครงการวิจัยพื้นฐานที่มีศักยภาพ ให้ไปสู่โครงการเหล่านั้นให้ได้ มิฉะนั้น เมื่อหน่วยงานให้ทุนที่เน้นปลายทางเหล่านี้เดินต่อไปได้สักระยะหนึ่งก็จะขาดน้ำเลี้ยง เพราะได้ทำการ shopping โครงการวิจัยดีๆไปหมดแล้ว นี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ เราจะได้เห็นหน่วยงานต่างๆ แย่งกันสนับสนุนโครงการที่มีศักยภาพปลายทางเพื่อเก็บผล แต่งานรดน้ำ พรวนดิน ให้ปุ๋ย จะมีคนทำน้อยลง


(ภาพด้านบน - ตุ๊กตาแต่งกายชุดประจำชาติของเวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังผงาดมาแข่งไทยทุกๆ ด้าน)

11 พฤศจิกายน 2550

นาโน โนเบล (ตอนที่ 1)


ทุกๆ เดือนตุลาคมของทุกปี รางวัลอันทรงเกียรติที่สุดในวงการวิทยาศาสตร์ จะถูกมอบให้แก่ยอดนักวิทยาศาสตร์ในสาขาฟิสิกส์ เคมี และการแพทย์ รางวัลอันทรงเกียรตินี้ไม่ใช่รางวัลของคนทำงานหนัก หรือคนทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่เป็นรางวัลของนักสร้างสรรค์ ผู้ที่เปิดมุมมองใหม่ บุคคลที่ฝ่าทะลุกำแพงแห่งการค้นพบ เพื่อนำมนุษยชาติไปสู่สันติสุข ตามความต้องการของ อัลเฟรด โนเบล นักอุตสาหกรรมชาวสวีเดนผู้ค้นพบไดนาไมต์ที่ต้องการไถ่บาปกับหายนะที่เกิดขึ้นจากผลงานสิ่งประดิษฐ์ของเขา นับตั้งแต่มีการมอบรางวัลโนเบลเมื่อร้อยปีก่อน จนถึงปี 2549 มีผู้ได้รับรางวัลไปแล้วรวมทุกสาขา (ฟิสิกส์ เคมี การแพทย์ วรรณกรรม สันติภาพ โดยมีสาขาเศรษฐศาสตร์ เพิ่มเติมขึ้นมาในปี ค.ศ. 1969) จำนวนทั้งหมด 785 คน ในจำนวนนี้มีผู้หญิงได้รางวัลเพียง 33 คนเท่านั้น รางวัลที่มีอายุยืนยาวข้ามศตวรรษนี้เปิดตัวครั้งแรกในช่วงเวลาที่มนุษยชาติกำลังจะฝ่าทะลุกระแสความคิดหลักที่กลศาสตร์นิวตันครองโลกมาตลอดหลายร้อยปีก่อนถึงศตวรรษที่ 20 เพื่อมาสู่ยุคแห่งควอนตัม ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งหลายในธรรมชาติที่ขัดกับสามัญสำนึก เช่น แสงเป็นได้ทั้งคลื่นและอนุภาค ได้รับการยอมรับ นักวิทยาศาสตร์สุดยอดของโลกที่เป็นนักบุกเบิกแนวคิดใหม่นี้ ล้วนแล้วแต่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ไม่ว่าจะเป็น เรินท์เกน (Wilhelm Conrad Roentgen) ผู้ค้นพบรังสีเอ็กซ์ ทอมสัน (J.J. Thomson) ผู้ค้นพบประจุลบและเสนอทฤษฎีอะตอม แพล็งค์ (Max Planck) ผู้ค้นพบก้อนพลังงานหรือควอนตา ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ผู้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพแต่ได้รับรางวัลโนเบลในฐานะผู้ที่อธิบายปรากฏการณ์ที่แสงแสดงความเป็นอนุภาคที่เรียกว่าโฟตอน บอห์ร (Niels Bohr) ผู้ค้นพบโครงสร้างอะตอม มิลลิแกน (Robert A. Millikan) ผู้สามารถวัดประจุของอิเล็กตรอน เดอ บอยล์ (de Broglie) ผู้ค้นพบความเป็นคลื่นของอิเล็กตรอน นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น จริงๆ แล้วในช่วงที่มุมมองใหม่แห่งโลกควอนตัมได้รับการเปิดเผยนั้น รางวัลโนเบลส่วนใหญ่ทางฟิสิกส์และเคมีในช่วงครึ่งศตวรรษแรกนั้น ได้ถูกมอบแก่นักวิทยาศาสตร์ที่ทำวิจัยอยู่ในสาขานี้ทั้งสิ้น แม้กระทั่ง 64 ปีหลังจากรางวัลโนเบลได้ถูกมอบเป็นครั้งแรกนั้น ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1965 ก็ยังเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในสาขาควอนตัม ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นรุ่นท้ายๆ แล้วก็ได้ ผู้ที่ผมกำลังกล่าวถึงนั้น อาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้ที่ทั้งปิดฉากการมอบรางวัลโนเบลให้แก่นักวิจัยในสาขาควอนตัมฟิสิกส์ ที่มีการมอบรางวัลกันมาอย่างยาวนานถึง 65 ปี และเป็นผู้ที่เปิดศักราชใหม่ให้แก่คนที่ทำงานในสาขานาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี ซึ่งกำลังจะเป็นกระแสหลักของการให้รางวัลโนเบลไปอีกหลายทศวรรษ ท่านผู้นั้นคือ ศาสตราจารย์ ริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard P. Feynman) บิดาของนาโนเทคโนโลยี

ในตอนต่อๆ ไป nanothailand จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับบุคคลสำคัญที่บุกเบิกวงการนาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี ทำให้กระแสการตื่นตัวทางด้านนาโนเทคโนโลยีกลายมาเป็นปรากฏการณ์ทั้งโลก (Global Phenomena) อยู่ในขณะนี้ โดยจะทยอยเล่าด้วยการสลับ พูดถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย ที่ไม่ใช่ นาโน โนเบล เพื่อไม่ให้เบื่อนะครับ ......

08 พฤศจิกายน 2550

Agriculture Version 2.0 (ตอนที่ 3)


Variable Rate Technology (VRT) หรือเทคโนโลยีการให้ปุ๋ย/น้ำ/ยาฆ่าแมลง ตามสภาพความแตกต่างของพื้นที่ โดยมักจะใช้ร่วมกับเทคโนโลยี GPS เช่น รถไถที่ให้ปุ๋ยแตกต่างกันตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ โดยอาจมีการทำแผนที่ดิน (Soil Mapping) ก่อนหน้านี้ด้วยเครื่องสแกนหน้าดินที่ติด GPS จากนั้นข้อมูลสภาพดินจะถูกเก็บไว้ในแผนที่ แล้วส่งให้รถไถที่หยอดปุ๋ย โดยรถหยอดปุ๋ยที่ติด GPS จะรับข้อมูลว่า ณ ตำแหน่งใด ควรให้ปุ๋ย N, P และ K ในอัตราที่แตกต่างกันอย่างไร การให้ยาฆ่าแมลงก็อาจจะโปรแกรมให้มีความแตกต่างกันได้ ตามประวัติการระบาดของแมลง การให้น้ำก็สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ได้เช่นกัน โดยอาจใช้ร่วมกับเทคโนโลยี Proximal Sensing


Crop Models and Decision Support System (DSS) เป็นเทคโนโลยีที่บูรณาการเทคโนโลยีทั้งหมด ที่กล่าวมาข้างต้นเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อใช้ในการตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับฟาร์ม เมื่อไร อย่างไร นอกจากนั้นเทคโนโลยีนี้ยังมีความสามารถในการทำนายด้วยว่าผลผลิตจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยอาศัยข้อมูลจากอดีตว่าหาก ดิน น้ำ ฟ้า ฝน เป็นอย่างนี้ ผลผลิตของฟาร์มจะเป็นอย่างไร จริงๆ แล้วในอดีตนั้นบรรพบุรุษของเราได้อาศัยสิ่งที่เรียกว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน มาตลอด หากแต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้ทำให้วิธีการดังกล่าวไม่อาจใช้ได้ผลอีกแล้ว ระบบ DSS นี้จะทำการรวบรวมข้อมูลจากอดีตมาผสมกับข้อมูลแบบ Real Time ที่อ่านได้ในปัจจุบัน และอาจผสมผสานกับข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานของรัฐ เพื่อเสนอให้เจ้าของฟาร์มทำการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งกับฟาร์ม เช่น สถานีตรวจอากาศในฟาร์มอาจตรวจพบว่าจะมีฝนตก อีกทั้งข้อมูลพยากรณ์อากาศที่ดาวน์โหลดมาก็บ่งบอกฝนตกหนักด้วย ระบบ DSS ก็จะทำการตัดการให้น้ำ โดยมีการแจ้งเตือนต่อเจ้าของฟาร์มว่าจะมีฝนตกหนักในไม่ช้า เพื่อที่เจ้าของฟาร์มจะตัดสินใจเตรียมการเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ระบบ DSS อาจจะฉลาดเพิ่มไปอีกขั้น โดยอาจทำนายราคาพืชผลในปีนี้หรือปีต่อไปได้ ภายใต้สภาพอากาศที่เกิดขึ้น เพื่อนของ nanothailand คือ ดร. กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี ได้พัฒนาระบบนี้ให้สามารถทำนายผลผลิตของมังคุดได้ และกำลังร่วมกับ nanothailand เพื่อพัฒนาระบบ DSS สำหรับสวนไวน์


อาชีพเกษตรกรที่เคยถูกปรามาสว่าเป็นงานที่ “หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน” กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นอาชีพที่มีความสุขที่สุดในโลก ด้วยสโลแกนใหม่ “หลังนวดสปา หน้าดูจอ” อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งที่ 2 ที่จะนำเกษตรกรรมไปสู่ Agriculture Version 2.0 ………

06 พฤศจิกายน 2550

Agriculture Version 2.0 (ตอนที่ 2)


วันนี้เรามาดูเทคโนโลยี 2 ตัวต่อไป ที่จะช่วยทำให้เกษตรกรรมกลายมาเป็น Agriculture Version 2.0 กันต่อนะครับ

Remote Sensing หรือ เทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลพื้นที่โดยอาศัยคลื่นแสงในช่วงความยาวคลื่นต่างๆ และ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ เช่น เรดาห์ ไมโครเวฟ วิทยุ เป็นต้น โดยอุปกรณ์รับรู้เหล่านั้นมักจะติดตั้งบนอากาศยาน หรือ ดาวเทียม เทคโนโลยี Remote Sensing เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่กว้าง หน่วยงานที่ใช้โดยมากจึงเป็นหน่วยงานของรัฐบาลและทหาร ในอดีตนั้นถึงแม้จะมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการเกษตร แต่ก็เป็นการใช้ในระดับนโยบายโดยองค์กรของรัฐ แทบจะไม่มีการนำมาใช้ในระดับบริษัทหรือฟาร์มของเกษตรกร เพราะราคาที่แพงแสนแพง แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยี Remote Sensing มีราคาถูกลงมากและใช้งานง่ายขึ้น เมื่อก่อนจะใช้เทคโนโลยีนี้จะต้องไปเรียนกันในระดับปริญญา แต่เดี๋ยวนี้เจ้าของฟาร์มก็สามารถใช้ได้ โดยการสั่งซื้อบริการจากดาวเทียมของเอกชน หรือ ข้อมูลสาธารณะต่างๆ ที่มีให้ดาวน์โหลดมากมายในเน็ต อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อมูลจาก Remote Sensing นั้นเป็นข้อมูลของพื้นที่กว้าง หากจะใช้สำหรับพื้นที่ย่อยๆในระดับฟาร์ม ข้อมูลก็จะมีความหยาบเอามากๆ ข้อมูลดิบที่ได้จาก Remote Sensing จะเป็นสเปคตรา (Spectra) ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือคลื่นแสง เป็นหลัก ซึ่งต้องอาศัยการแปลความหมายออกมาเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น ขนาดและความหลากหลายของพื้นที่เกษตรกรรม ชนิดของพืชที่มีการเพาะปลูก ความชุ่มชื้นของดิน เป็นต้น



Proximal Sensing หรือ เทคโนโลยีการรับรู้ระยะใกล้ อาศัยเซ็นเซอร์วัดข้อมูลต่างๆ ได้โดยตรงในจุดที่สนใจ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจอากาศ (Weather Station) เซ็นเซอร์วัดดิน (Soil Sensor) เซ็นเซอร์ตรวจโรคพืช (Plant Disease Sensor) เซ็นเซอร์ตรวจวัดผลผลิต (Yield Monitoring Sensor) เซ็นเซอร์เคมี (Chemical Sensor) เป็นต้น เซ็นเซอร์เหล่านี้สามารถที่จะนำมาวางเป็นระบบเครือข่ายไร้สาย (Wireless Sensor Network) โดยนำไปติดตั้งหรือปล่อยในพื้นที่ไร่นา เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ความชื้นในดิน อุณหภูมิ ปริมาณแสง สารเคมี เป็นต้น ซึ่งเซ็นเซอร์ไร้สายจิ๋วเหล่านี้สามารถนำไปวางให้ครอบคลุมพื้นที่ฟาร์ม เซ็นเซอร์ไร้สายที่วงการอุตสาหกรรมเรียกกันว่า “ฝุ่นฉลาด” (Smart Dust) เหล่านี้สามารถคุยกันและส่งผ่านข้อมูลให้แก่กันและกันได้ หากเราสอบถามข้อมูลไปยังเซ็นเซอร์ที่อยู่ใกล้ที่สุดเพียงตัวเดียว ข้อมูลทั้งหมดของเซ็นเซอร์ทุกตัวก็จะสามารถถ่ายทอดมายังศูนย์บัญชาการของฟาร์มได้ทันที บริษัท Accenture แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้สาธิตโดยการนำเอาเซ็นเซอร์จิ๋วไปโรยไว้ในไร่องุ่นสำหรับผลิตไวน์ที่ชื่อว่า Pickberry ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในแปลงสาธิตนั้นใช้เซ็นเซอร์ 17 ตัวครอบคลุมพื้นที่ซึ่งมีรูปร่างเหมือนหัวม้าจำนวน 10 ไร่ โดยสามารถคลิ๊กเพื่อเรียกดูข้อมูลได้จากเว็บ เบื้องต้นเครือข่ายเซ็นเซอร์ใช้เพื่อเก็บข้อมูลเรียลไทม์เท่านั้น แต่ต่อไปมันสามารถที่จะใช้ในการควบคุมการเปิดปิดวาล์วน้ำโดยอัตโนมัติ เพื่อให้น้ำแก่ต้นพืชในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งการควบคุมนี้ยังสามารถทำให้มีความสัมพันธ์กับข้อมูลพยากรณ์อากาศในท้องถิ่นด้วยก็ได้ เช่นหากทราบว่าจะมีฝนตกวาล์วน้ำจะปิด เครือข่ายเซ็นเซอร์เหล่านั้นยังอาจใช้เฝ้าระวังโรคพืช โดยตรวจจับโมเลกุลตัวบ่งชี้บางชนิดที่สื่อว่าพืชกำลังจะเป็นโรคก่อนที่จะลุกลามใหญ่โต เซ็นเซอร์จิ๋วเหล่านี้หากนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากแต่ละฟาร์มมายังผู้ให้บริการน้ำอย่างกรมชลประทาน ก็จะช่วยให้การจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบ GIS (Geography Information System) จะช่วยให้ทราบว่ากรมชลประทานมีน้ำพอเพียงตลอดฤดูผลิตหรือไม่

(ภาพด้านบนขวา - Remote Sensing; ภาพด้านล่าง - Proximal Sensing)

05 พฤศจิกายน 2550

Agriculture Version 2.0 (ตอนที่ 1)


ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 นี้ พวกเราได้ยินศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ศาสตร์เก่าๆ หลายศาสตร์มีการแต่งงานกันแล้วให้กำเนิดศาสตร์ใหม่ๆ ที่มีลักษณะเป็นสหสาขาวิชา เทคโนโลยีผสมผสานต่างๆ ทั้ง คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ ไอที สื่อสาร เซ็นเซอร์ เทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งนาโนเทคโนโลยี ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชากรโลกขนานใหญ่ ในวงการเกษตรกรรม เราอาจจะเรียกได้ว่า ณ ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคของ Agriculture Version 2.0 กันแล้ว

ลองมาดูกันนะครับว่าเทคโนโลยีอะไรบ้างที่จะมาช่วยทำให้เกษตรกรรม กลายมาเป็น เวอร์ชัน 2.0 ด้วย วันนี้ nanothailand ขอพูดถึงเทคโนโลยีสัก 2 ตัว คือ GPS และ GIS ครับ

Global Positioning System (GPS) เป็นเทคโนโลยีในการระบุพิกัด หรือ ตำแหน่งบนพื้นผิวโลกโดยใช้กลุ่มของดาวเทียมจำนวน 24 ดวงซึ่งโคจรรอบโลกในวงโคจร 6 วงที่ความสูง 20,200 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก เครื่องรับ GPS เชิงพาณิชย์ในปัจจุบันมีความสามารถในการระบุพิกัดได้แม่นยำถึง 1-3 เมตร ซึ่งเพียงพอต่องานทางด้านเกษตรความแม่นยำสูงแล้ว รวมไปถึงเทคโนโลยีรถไถควบคุมด้วย GPS เพื่อพรวนดิน หยอดปุ๋ย และ เก็บเกี่ยว บริษัท John Deere ในสหรัฐอเมริกาได้จำหน่ายระบบรถแทร็คเตอร์อัตโนมัติที่มีชื่อว่า iGuide และ AutoTrac ซึ่งมีระบบการบังคับการเลี้ยวของพวกมาลัย รวมทั้งอัลกอริทึมต่างๆที่ทำให้รถแทรคเตอร์สามารถวิ่งไปวิ่งกลับตลอดทั้งไร่ ตามแผนที่และคำสั่งที่ระบุ โดยสามารถหยอดปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง ให้มีความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ได้ตามโปรแกรมที่ระบุมา


Geographic Information System (GIS) เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เป็นเทคโนโลยีในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ แล้วนำมาแสดงผลในรูปแบบต่างๆ โดยจุดขายของมันอยู่ที่ความสามารถในการเก็บข้อมูลหลากหลายมิติ ที่มีความเกี่ยวข้องกับพิกัดของพื้นที่ แล้วนำมาวิเคราะห์และแสดงผลตามที่ผู้ใช้ต้องการ ในอดีตประเทศไทยมีการใช้งาน GIS กันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในหน่วยงานรัฐบาล GIS นั้นเคยถูกมองว่าเป็นของที่มีราคาแพง และยุ่งยากในการนำมาใช้ ทำได้เฉพาะผู้เชี่ยวชาญ และต้องได้รับการอบรมเป็นพิเศษ หรือ แม้แต่อาจต้องเรียนในระดับปริญญา จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ คนทั่วไปสามารถเข้าถึงระบบ GIS ได้โดยใช้โปรแกรม Google Earth ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญด้าน GIS จะบอกว่า Google Earth เป็นเพียงโปรแกรมแสดงผล (Visualization) เท่านั้น ยังขาดความสามารถด้าน processing ก็ตาม แต่เชื่อว่าอีกไม่นาน ความสามารถด้าน processing ข้อมูลภูมิศาสตร์จะเข้าไปอยู่ใน Google Earth แน่ๆ

การเกิดขึ้นของ Google Earth และ GPS ราคาถูกนำมาซึ่งธุรกิจใหม่ๆ และการเติบโต ในการนำ ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ไปใช้ประโยชน์ร่วมกับข้อมูลอื่นๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จะว่าไปแล้ว Google Earth ไม่ได้จงใจออกแบบมาสำหรับให้นักวิทยาศาสตร์ใช้ แต่ตั้งใจจะให้คนทั่วไปใช้มากกว่า แต่ปรากฏว่าตอนนี้ Google Earth ได้กลับกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในทางวิทยาศาสตร์ไปแล้ว เราสามารถนำข้อมูลเชิงพื้นที่ต่างๆ มาผนวกใช้ร่วมกับ Google Earth ได้ ทำให้ตอนนี้บริษัท Google เอง สนใจจะเพิ่มเติม ฟังก์ชันต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานทางด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปในโปรแกรม เพราะ Google เชื่อว่า การเติบโตของการใช้งานโปรแกรม Google Earth ในทางวิทยาศาสตร์ จะนำมาสู่การขยายการใช้ประโยชน์ โดยคนทั่วไปในที่สุด


(ภาพขวามือบน - รถไถขับเองด้วยระบบ GPS)
(ภาพซ้ายมือล่าง - Google Earth ร่วมกับระบบ Sensor Web เพื่อใช้ติดตามการไหลของน้ำในแม่น้ำทั่วสหรัฐ)

04 พฤศจิกายน 2550

สิ่งทอเวอร์ชัน 2.0 - Textile Version 2.0



สิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่โบราณมากๆ ย้อนกลับไปได้ถึงยุคอียิปต์โบราณกว่า 3500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวอียิปต์ถักทอผ้าลินินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่เชื่อไหมว่าอารยธรรมจีนมีความเก่าแก่ในเรื่องนี้กว่าเพื่อน เพราะมีการทอผ้าฝ้ายใช้ตั้งแต่ 4500 ปีก่อนคริสตกาล จากนั้นก็มาคิดค้นการทอผ้าไหมในยุค 2600 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยก่อนเสื้อผ้าเป็นของหายาก โดยเฉพาะเสื้อผ้าคุณภาพดี สังเกตไหมว่าในวันแต่งงานตามประเพณีไทย (พิธีการตอนเช้า) ผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายหญิงและชายจะต้องรับไหว้จากเจ้าบ่าว เจ้าสาว โดยมีผ้าดิบเป็นสื่อกลาง ในชนบทของไทยนั้น ผ้าทอก็ยังเป็นของกำนัลที่มักมอบให้แก่กันในงานสำคัญต่างๆ บรรพบุรุษชาวตะวันตกในอดีตขวนขวายหาทางมาซื้อผ้าไหมจากเมืองจีน จนเกิดตำนาน "เส้นทางสายไหม" หรือ Silk Road ซึ่งมีมาก่อนการเดินเรือมาทางตะวันออกเสียอีก


วิวัฒนาการของสิ่งทอนับแต่บรรพกาลจนถึงทุกวันนี้ แม้จะล่วงเลยมาหลายพันปีแล้ว สิ่งทอก็ยังมีฟังก์ชันหน้าที่ธรรมดาๆ ของมันอยู่ คือ ปกป้องผิวหนังจากสภาพแวดล้อมภายนอก โดยความสวยงามและการบ่งบอกฐานะกลายมาเป็นปัจจัยในการกำหนดราคาของมัน แม้เทคโนโลยีเส้นไยได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อมาทดแทนเส้นไยจากธรรมชาติ ในยุคที่เรามีการปฏิวัติปิโตรเคมีในช่วงกลางศตวรรษที่แล้ว แต่ปัจจุบันสิ่งทอก็ยังไม่ฉลาดมากไปกว่าการปกป้องผิวหนังจากสภาพแวดล้อมภายนอก โลกของสิ่งทออยู่ในเวอร์ชัน 1 มานานแล้ว


แต่นาโนเทคโนโลยี และ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ กำลังจะทำให้สิ่งทอมีความฉลาดขึ้นมาเป็น Textile Version 2.0 ที่ซึ่งสิ่งทอมีความสามารถมากขึ้น เช่น ไม่ยับ ไม่ต้องรีด ไม่เหม็นอับ กันร้อนกันหนาว กันลม กันชื้น กันไฟ ซึ่งเป็นฟังก์ชันง่ายๆ ไปจนถึงคุณสมบัติพิเศษ เช่น ป้องกันอาวุธเชื้อโรค กันกระสุน เปลี่ยนสีตามสภาพแวดล้อม (อำพรางตัวเองได้) ติดตามสถานภาพของสุขภาพ เป็นต้น คุณสมบัติพิเศษอีกอย่างหนึ่งที่ Textile Version 2.0 จะมีก็คือฟังก์ชันด้านอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ เทคโนโลยีสื่อสาร วงจรอิเล็กทรอนิกส์ เข้าไปอยู่ในสิ่งทอ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ NECTEC น่าทำมากๆ เพราะเกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ นักวิจัยที่ MIT ได้สาธิตการนำเอาเส้นใยนำไฟฟ้ามาถักโดยมีการออกแบบการไขว้ของเส้นด้าย ทำให้สามารถออกแบบเป็นคีย์บอร์ดที่สามารถรับรู้น้ำหนักการกด และให้สัญญาณไฟฟ้าออกมาแตกต่างกันได้ (คีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ธรรมดาไม่รับรู้ความต่างของน้ำหนักการกด)


(ภาพด้านบนสุด - ชุดประจำชาติของอียิปต์ แม้จะเป็นที่ฮิตใส่กันเมื่อ 5500 ปีที่แล้ว ก็ยังเป็นอะไรที่มองแล้วสบายตาในปัจจุบัน)
(ภาพซ้ายมือ - บริษัท Infineon แห่งเยอรมันได้นำเครื่อง MP3 ควบคุมด้วยเสียงพูด ที่สามารถซักiรีดได้ มาสาธิตในญี่ปุ่น ในภาพ Pretty กำลังแสดงการกดปุ่มเปิด-ปิด)

03 พฤศจิกายน 2550

หลอดไฟเวอร์ชั่น 2.0 - The Lamp version 2.0



ในช่วงงานประชุม The 3rd Global Plastic Electronics Conference & Showcase ระหว่างวันที่ 29-30 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นงานรวมตัวของนักอุตสาหกรรมพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งสำคัญของโลกนั้น ผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ได้รับการกล่าวขานกันมาก ก็คือ อุปกรณ์อินทรีย์เปล่งแสง (Organic Light Emitting Device หรือ OLED) ซึ่งอาศัยหลักการเปล่งแสงของวัสดุกึ่งตัวนำไฟฟ้าที่เป็นโมเลกุลอินทรีย์ ซึ่งเมื่อผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไป มันจะเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานแสง ทำให้สามารถเปล่งแสงออกมาเป็นสีต่างๆได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างทางเคมีของโมเลกุล ซึ่งเราสามารถวิศวกรรมสี (Color Engineering) ได้ว่าจะให้เป็นสีอะไร โดยการปรับโครงสร้างของโมเลกุล OLED สามารถเปล่งแสงออกมาได้เอง ต่างจากเทคโนโลยี LCD ที่ต้องอาศัยแสงจากฉากหลัง (Back Light) เพื่อการแสดงผล เทคโนโลยี OLED สามารถนำไปสร้างอุปกรณ์แสดงผลได้หลากหลาย เช่น แผ่นแสดงผลแบบยืดหยุ่น (Flexible Display) แผ่นแสดงผลแบบม้วนได้ (Rollable Display) แผ่นแสดงผลแบบโค้งงอได้ (Foldable Display) เป็นต้น ทำให้มีความเป็นไปได้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น จอแสดงผลบนตัวสินค้า จอแสดงผลบนเสื้อผ้า โทรศัพท์ม้วนเก็บได้ วอลล์เปเปอร์แสดงผล จอแสดงผลบนกระจกรถยนต์ ฟิล์มแสดงผลที่สามารถเอาไปแปะลงบนวัสดุต่างๆ ได้ และอื่นๆอีก


อุปกรณ์แสดงผลหรือ Display ไม่ใช่เรื่องเจ๋งๆ เรื่องเดียวของ OLED นะครับ จริงๆ แล้ว สิ่งที่ยิ่งใหญ่พอๆกัน หรืออาจจะยิ่งใหญ่กว่าก็คือ อุปกรณ์ให้แสงสว่าง (Lighting) ที่เราคุ้นเคยกันก็คือ หลอดไฟนั่นเอง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เก่าแก่มากๆ แต่เทคโนโลยี OLED จะปฏิวัติวงการนี้ในอีกไม่นานนี่แล้วครับ พวกเราจะเป็นมนุษย์กลุ่มสุดท้ายที่ใช้คำว่า "หลอดไฟ" ต่อไปคำใหม่อย่าง "แผ่นไฟ" (Flat Lamp) จะเข้ามาแทนที่ครับ ตอนนี้บริษัทออสแรม ยักษ์ใหญ่ของวงการหลอดไฟกำลังทุ่มเทพัฒนากระบวนการผลิต เทคโนโลยีน่ะมีแล้ว แต่ต้องทำให้ถูกลงมาแข่งกับเจ้าหลอดไฟให้ได้ โดยอียูเขาได้ให้เงินสนับสนุนในการพัฒนาตั้งเป็น Consortium เพื่อพัฒนาแผ่นไฟนี้เลยทีเดียว ตั้งชื่อว่าโปรเจ็คต์ OLLA ลองคลิ๊กเข้าไปดูตัวอย่างสินค้าส่องสว่างที่เข้าทำขึ้นดูนะครับ อีกไม่นาน หลอดไฟ เวอร์ชั่นใหม่ นี้จะออกมาตีตลาดกันแล้ว


(ภาพด้านบน - หลอดไฟเวอร์ชั่น 2.0 จะมีลักษณะแบนบาง ซึ่งจะทำให้สถาปนิกมีความยืดหยุ่นในการออกแบบการใช้งานได้มากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน)

02 พฤศจิกายน 2550

อิเล็กทรอนิกส์ เวอร์ชัน 2.0


กลับมาแล้วครับ หายไปหลายวัน nanothailand ไปดูงาน Trade Fair ที่เมือง Frankfurt ประเทศเยอรมัน เป็นงานประชุมที่มีชื่อว่า The 3rd Global Plastic Electronics Conference & Showcase งานนี้มีการบรรยายโดยนักอุตสาหกรรมและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ ในวงการพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 135 คน ซึ่งมีอัตราส่วนของผู้เข้าร่วมที่เป็นอุตสาหกรรมมากกว่า 75% เชียวครับ มีอาจารย์มหาวิทยาลัยน้อยมาก ไม่เหมือนงานประชุมวิชาการบ้านเราที่มีแต่อาจารย์มหาวิทยาลัย อันนี้ก็บ่งชี้ว่าอีกไม่นาน พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ จะกลายมาเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่เข้าไปเปลี่ยนแปลง หรือ ปฏิวัติวงการอิเล็กทรอนิกส์ครั้งใหญ่เลยทีเดียว ขนาดที่ว่ามันเริ่มถูกเรียกว่า อิเล็กทรอนิกส์ เวอร์ชัน 2.0 (Electronics Version 2.0) กันแล้ว


จากผลการวิจัยของ บริษัท IDTechEx ได้ประมาณการว่ามูลค่าของตลาดพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.18 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550 (ค.ศ.2007) หรือมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปีก่อน และในปี 2555 (ค.ศ.2012) จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือ ปี 2560 (ค.ศ.2017) มูลค่าตลาดพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 48.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือ ปี 2570 (ค.ศ.2027) มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มมากกว่า 300 พันล้านเหรียญสหรัฐ นั่นแสดงว่าประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นมูลค่าสูงอันดับหนึ่งของประเทศ คงไม่สามารถละเลยแนวโน้มใหม่นี้ได้ เพราะหากกระแสพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทนที่อิเล็กทรอนิกส์แบบเดิมเมื่อไร ฐานการผลิตของเราทั้งหมดจะกลายเป็นของล้าสมัยไปทันที และประเทศที่มีความกระฉับกระเฉงทางด้านนี้กว่าเรา อย่าง มาเลเซีย และ เวียดนาม ก็จะยิ้มร่า นี่ยังไม่นับจีนที่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมนี้บ้างแล้ว ผู้จัดการประชุมครั้งนี้ได้แจ้งว่าปี ค.ศ. 2008 จะเป็นปีทองแห่งการเริ่มต้นของเอเชีย เพราะการประชุมและ Trade Show ทางด้านนี้จะเริ่มย้ายไปเอเชีย ซึ่งเป็นฐานการบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะใหญ่ที่สุดในโลกในอีกไม่นาน