24 ตุลาคม 2553

Augmented Human 2011


บ่อยครั้งเวลาผมได้ยินใครๆ พูดถึงคนพิการ ผมก็อดที่จะคิดไม่ได้ว่า โลกเรานี้หนอ ทำไมจึงแบ่งมนุษย์ออกเป็น 2 จำพวก คือ คนปกติ กับ คนพิการ โดยกลุ่มคนประเภทหลังนี้มีสมรรถภาพทางร่างกาย (และในบางครั้ง ก็หมายรวมสมรรถภาพทางใจ หรือทางความคิดด้วย) ด้อยกว่าคนทั่วไป เอ้า .. คราวนี้ ถ้าเราลองมาคิดเล่นๆ ดูนะครับว่า สมมติว่าในอนาคต เรามีเทคโนโลยีที่จะทำให้มนุษย์ธรรมดา มีสมรรถภาพทางร่างกาย (หรืออาจจะทางใจด้วย) สูงขึ้นเกินกว่ามนุษย์สามัญได้ และเทคโนโลยีเหล่านี้ก็เข้าถึงได้เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น ... ทีนี้ต่อไป เราจะไม่แบ่งมนุษย์ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้พิการ คนธรรมดา และคนเหนือธรรมดา กันหรอกหรือ ?

ที่สำคัญ เหตุการณ์ที่ผมยกขึ้นมาเล่นๆนี้ มันมีโอกาสเกิดขึ้นจริงๆ เสียด้วย เพราะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หัวข้อวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของมนุษย์ กำลังเป็นที่สนใจกันอย่างมาก มีการประชุมทางวิชาการที่เกี่ยวข้องมากมายเกิดขึ้นทั่วโลกครับ และการประชุมที่ผมจะนำมาแนะนำกันในวันนี้ ถือว่าเป็นการประชุมระดับครีมของคนที่ทำวิจัยทางด้านนี้เลยครับ

การประชุมที่มีชื่อว่า Augmented Human 2011 นี้จะจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2554 สถานที่ที่ใช้จัดประชุมนี้มีความน่าสนใจมากครับ เพราะอยู่ในย่านที่มีชื่อว่า โอไดบะ (Odaiba) ซึ่งเป็นเกาะที่มนุษย์สร้างขึ้น ย่านนี้มีสิ่งน่าสนใจมากมายเลยครับ ทั้งแหล่งช้อปปิ้ง แหล่งบันเทิงเริงใจ พิพิธภัณฑ์ และหอประชุมที่ใหญ่โตโอฬารมาก ที่สำคัญมันเป็น 1 ใน 2 ย่านของกรุงโตเกียวที่ติดกับทะเลครับ จึงได้บรรยากาศของเกาะฮ่องกงและสิงคโปร์แถมมาอีกด้วย

กำหนดส่งผลงาน (เปเปอร์เต็ม) คือวันที่ 23 ธันวาคม 2553 ครับ หัวข้อที่เป็นที่สนใจของการประชุมนี้ ได้แก่

- Augmented and Mixed Reality
- Internet of Things
- Augmented Sport
- Sensors and Hardware
- Wearable Computing
- Augmented Health
- Augmented Well-being
- Smart Artifacts & Smart Textiles
- Augmented Tourism and Games
- Ubiquitous Computing
- Bionics and Biomechanics
- Training/Rehabilitation Technology,
- Exoskeletons
- Brain Computer Interface
- Augmented Context-Awareness
- Augmented Fashion
- Safety, Ethics and Legal Aspects
- Security and Privacy Aspects

น่าสนใจกันขนาดนี้ ทั้งสถานที่จัดประชุม และหัวข้อที่เสนอในการประชุม งานนี้คงต้องไปให้ได้ครับ ...

20 ตุลาคม 2553

VR2011 - IEEE Virtual Reality 2011


ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิดปรากฏการณ์อย่างน่าสนใจในวงการเครือข่ายสังคม หรือ Social Networks ขึ้นอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุว่าเกมส์ออนไลน์ประเภทที่มีผู้เล่นหลายคน (Multi-Player) ได้เกิดการระบาดไปทั่วสังคมออนไลน์ และที่สำคัญก็คือ มันได้ก่อให้เกิดผู้เล่นกลุ่มใหม่จำนวนมหาศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ประชาคมผู้เล่นเกมส์เหล่านี้มีทั้งผู้ไม่เคยเล่นเกมส์มาก่อนเลยในชีวิต รวมไปถึงผู้ที่เคยปวารณาตัวว่าจะไม่ขอเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์อย่างเด็ดขาด แต่ในที่สุด ความน่ารัก ความมีเสน่ห์ และความร่าเริงสดใสของเกมส์ออนไลน์หลายๆ เกมส์ ไม่ว่าจะเป็น Farmville, Pet Society, Fashion World หรือแม้แต่ แฮปปี้คนเลี้ยงหมู เป็นต้น ก็ได้นำผู้เล่นกลุ่มใหม่นับจำนวนร้อยล้านคน เข้ามาอยู่ในประชาคมนี้ ซึ่งกำลังจะก่อให้เกิดกระแสใหม่ระดับ Mega Trends อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังครับว่า ต่อไป เกมส์กำลังจะกลายมาเป็นชีวิตจริง หรืออีกนัยหนึ่ง ชีวิตจริงก็กำลังจะกลายเป็นเกมส์

ในวงการวิชาการเอง ก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากมายครับ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับ การนำเกมส์เข้าไปอยู่ในชีวิตจริง หรือทำชีวิตประจำวันให้เป็นเกมส์ไปซะ ผู้เล่นจะได้ไม่รู้สึกว่าเล่นเกมส์ ให้ผู้เล่นรู้สึกอยู่กับชีวิตประจำวันของเขาที่มีความเป็นเกมส์ตลอดเวลา มีการประชุมวิชาการเกิดขึ้นมากมายครับที่โฟกัสเกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่วันนี้ผมขอแนะนำการประชุมหนึ่งที่น่าสนใจครับ การประชุมนี้มีชื่อว่า VR2011 - IEEE Virtual Reality 2011 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 19-23 มีนาคม 2554 การเสนอผลงานในที่ประชุมนี้สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบมากครับ ทั้งการนำเสนอด้วยวาจา (Oral Presentation) นำเสนอด้วยโปสเตอร์ นำเสนอด้วยวีดิโอ (Video Presentation) การเสวนาในหัวข้อที่สนใจร่วมกัน การจัด workshop การสอนแบบ Tutorials การนำต้นแบบมาสาธิต นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับงานวิจัยที่ได้นำไปใช้ประยุกต์ใช้หรือใช้งานเชิงพาณิชย์แล้ว งานนี้เป็นงานที่ค่อนข้างใหญ่มากครับ เพราะจัดร่วมกับการประชุมอีก 2 งานคือ IEEE Symposium on 3D User Interfaces 2011 และ The 1st International Symposium on Virtual Reality Innovations

หัวข้อที่สนใจในที่ประชุมนี้ ได้แก่

- Immersive gaming
- 3D interaction for VR
- VR systems and toolkits
- Augmented and mixed reality
- Computer graphics techniques
- Advanced display and immersive projection technology
- Multi-user and Distributed VR and gaming
- Serious Games
- Haptics, audio, and other non-visual interfaces
- Tracking & Sensing
- Modeling and Simulation
- User studies and evaluation
- Presence and cognition
- Applications of AR/MR/VR (Augmented Reality/Mixed Reality/Virtual Reality)

15 ตุลาคม 2553

DARPA หวังใช้ Facebook พัฒนาเด็กรุ่นใหม่เพื่อกองทัพแห่งอนาคต


นับตั้งแต่นางเรจินา ดูแกน (Regina Dugan) ได้เข้ามากุมบังเหียน ในตำแหน่งผู้อำนวยการของ DARPA ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยทางด้านกลาโหมของสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปีที่แล้ว เธอได้ให้ความสำคัญกับเด็กๆ มากกว่าอดีตผู้อำนวยการทุกๆ คนที่ผ่านมา ในวันที่เธอแถลงต่อหน้าคณะกรรมาธิการด้านการทหารของสภาผู้แทนฯ เธอได้แสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใย ต่อข้อมูลที่ระบุว่า นับตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 เป็นต้นมา มีเด็กอเมริกันเรียนจบมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี น้อยลงถึง 43 เปอร์เซ็นต์ ถ้อยแถลงตอนหนึ่งที่เธอกล่าวอย่างเป็นห่วงว่า "มันจะเป็นหายนะของประเทศสหรัฐอเมริกาเลย หากนักเรียนไปเลือกเรียนสังคมศาสตร์ หรือ มนุษยศาสตร์ มากขึ้น รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อมิให้เกิดวิกฤตความขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์อย่างรุนแรงในอนาคต" ทำให้สภาผู้แทนฯ อนุมัติงบประมาณให้ DARPA โดยแทบไม่แตะเงินในโครงการที่เกี่ยวข้องกับเด็กเลย

ในช่วงปีที่แล้ว นางดูแกนได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อไปบอกเด็กเก่งๆ ทั้งหลายว่า "มาช่วยกันเถอะ กองทัพต้องการคนเก่งๆ ขั้นเทพอย่างพวกคุณ" และในปีนี้เอง DARPA จะทำงานเชิงรุกหนักขึ้นไปอีก ด้วยการไปช้อนเอาเด็กเก่งๆ มาช่วยงานกองทัพกันตั้งแต่ระดับมัธยมเลยทีเดียวครับ ล่าสุดนางได้เสนอให้มีการนำเครือข่ายสังคมอย่าง Facebook มาใช้ช่วยงานกองทัพอย่างจริงจัง โดยได้อัดฉีดเงินจำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (300 ล้านบาท) ให้แก่โครงการที่มีชื่อว่า Manufacturing Experimentation and Outreach หรือเรียกอย่างย่อๆ แต่สุดเท่ห์ว่า MENTOR

โครงการ MENTOR มีเป้าหมายเพื่อที่จะสร้างนักออกแบบระบบ และนวัตกรด้านการผลิตแห่งอนาคต โดยเริ่มกันตั้งแต่เด็กๆ ในวัยมัธยมกันเลยทีเดียว โครงการนี้จะส่งเสริมให้มีการใช้ Facebook อย่างสร้างสรรค์ โดยจะให้เด็กๆ รวมทีมทั้งภายในโรงเรียนเดียวกัน และแพ็คทีมกับโรงเรียนอื่นๆ เพื่อสร้างสรรสิ่งประดิษฐ์ประเภทกลอิเล็กทรอนิกส์ (Electro-Mechanical System) ต่างๆ ตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ รถที่ขับเอง อากาศยานไร้นักบิน และอื่นๆ ตามแต่จินตนาการของเด็กๆ DARPA ฝันเอาไว้ว่าเมื่อโครงการสิ้นสุดในอีก 4 ปีข้างหน้า จะมีเด็กๆ เข้าร่วมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 1,000 โรงเรียนทั่วสหรัฐฯ มากเพียงพอที่จะเป็นเชื้อสำหรับเติมเต็มบุคลากรวิจัยด้านอาวุธของสหรัฐอเมริกาในอนาคต

หันมามองเมืองไทยแล้ว เศร้าไหมครับ ?

03 ตุลาคม 2553

Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงปฐพี (ตอนที่ 10)


นับตั้งแต่บรรพบุรุษของเราได้ย้ายออกจากทวีปแอฟริกา เพื่อไปตั้งถิ่นฐานในทวีปเอเชีย และต่อมาได้แพร่เผ่าพันธุ์ไปทั่วทั้งโลก มนุษย์เราได้กลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ครอบครองดาวเคราะห์ดวงนี้อย่างเบ็ดเสร็จ พวกเราได้พัฒนาอารยธรรม และในปัจจุบันเราได้มีเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้มนุษย์เราพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในอดีตกาล เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นจากธรรมชาติ มนุษย์โบราณได้แต่ก้มหน้ารับกรรม และกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของเทพเจ้า สมัยผมเป็นเด็กนั้น ผมเคยเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมเราไม่มีเทคโนโลยีที่จะหยุดพายุ หรือ ทำลายพายุไม่ให้พัดเข้ามาทำร้ายพวกเรา ถึงแม้ต่อมาเมื่อผมเข้าเรียนระดับมัธยม ผมได้เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า การสร้างเขื่อนนั้นก็เป็นวิธีหนึ่ง ที่จะลดอันตรายจากการเกิดน้ำท่วมได้ แถมยังมีประโยชน์อื่นๆ มากมาย แต่นั่นก็ยังเป็นแค่เพียงวิธีทางอ้อมในการหลีกเลี่ยงการถูกเล่นงานโดยธรรมชาติ มีทางเป็นไปได้ไหมว่า น่าจะมีวิธีตรงๆ โดยการไปหยุด หรือขัดขวางไม่ให้พายุร้ายเกิดขึ้นเลย

นักวิทยาศาสตร์แนวใหม่มีความเชื่อครับว่า ... ในอนาคต เราจะเริ่มไปยุ่งหรือไปวิศวกรรมกับชั้นบรรยากาศมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ การไปเปลี่ยนแปลงวิถีพายุ การขัดขวางการเกิดพายุ ไปจนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศให้มีความน่าอยู่มากขึ้น ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องนี้เริ่มมีความเป็นจริง เป็นจัง มากขึ้น และได้รับการตอบรับจากประชาคมนักวิทยาศาสตร์ในวงกว้าง จนแม้แต่ ภาคการเมืองระดับนโยบายก็เห็นดีเห็นงามกับวิศวกรรมเปลี่ยนฟ้าแปลงปฐพี ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

การที่เราจะไปวิศวกรรมพายุ (Storm Engineering) ได้นั้น เราควรจะมีความเข้าใจในเรื่องพายุให้ดีเสียก่อน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลในการวิจัยเกี่ยวกับพายุ ไม่ว่าจะเป็นพายุเฮอริเคน ไต้ฝุ่น หรือ ทอร์นาโด สำหรับพายุทอร์นาโดนั้น เราอาจจะเคยได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Twister ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการไล่ล่าพายุโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งจริงๆ แล้ว การไล่ล่าแบบนั้นก็มีอยู่จริงๆ นะครับ โครงการที่มีชื่อว่า VORTEX2 ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation หรือรู้จักกันดีในชื่อ NSF) ซึ่งจะมีการใช้ยานพาหนะที่มีจำนวนมากถึง 50 กว่าคัน ได้แก่ รถบรรทุกติดเรดาห์และอุปกรณ์เซ็นเซอร์ประเภทต่างๆ รถยนต์ตรวจการณ์ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจอากาศ อากาศยานไร้นักบิน และอุปกรณ์ภาคสนามอีกจำนวนมาก โดยมีทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้ควบคุมกว่า 140 คน เพื่อใช้ในการตีโอบล้อม ไล่ล่า พายุทอร์นาโด เพื่อจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกำเนิดของพายุให้ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคอมพิวเตอร์โมเดล ที่สามารถอธิบายการเกิดขึ้นของพายุ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการทำนายพายุ หรือในอนาคตอาจจะนำไปสู่การวิศวกรรมพายุได้ต่อไป

01 ตุลาคม 2553

ยุคแห่ง Supersoldier มาถึงแล้ว (ตอนที่ 4)


ภายหลังจากสมเด็จพระนารายณ์ทรงทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากพระเจ้าอา และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ได้ทรงเกรงว่า การบริหารราชการแผ่นดินในกรุงศรีอยุธยา อาจไม่ปลอดภัยนัก เพราะยังมีเหล่าอำมาตย์ขุนนางที่ยังมีใจจงรักภักดีกับราชนิกูลอื่น อาจคิดคดเป็นกบฎชิงราชบัลลังค์จากพระองค์ได้ จึงทรงโปรดให้มีการสร้างราชธานีแห่งที่สองขึ้นที่ลพบุรี และทรงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่นั่น ตลอดรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงวางใจในการใช้ทหารรับจ้างชาวต่างชาติ ให้เป็นทหารราชองครักษ์ ดูแลรักษาพระองค์และพระราชวัง ด้วยทหารรับจ้างเหล่านั้นมีการจัดกำลังรบ ที่เข้มแข็งและมีระเบียบวินัยสูง อีกทั้งยังมีการฝึกฝนและเชี่ยวชาญในการสู้รบด้วยปืนไฟ ทำให้เป็นที่เกรงขาม แม้ทหารรักษาพระองค์ชาวต่างชาติเหล่านี้ จะมีกำลังเพียง 500 คนเท่านั้น แต่ supersoldier เหล่านี้เอง ที่ได้ช่วยรักษาราชบัลลังค์ของพระองค์ให้ยาวนานได้ถึง 32 ปี มากที่สุดของพระมหากษัตริย์ไทยในราชอาณาจักรอยุธยาตอนปลาย

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอาวุธที่มีชื่อว่า Raytheon ได้เปิดตัวชุดกระดองสวมใส่ (Exoskeleton) ที่มีชื่อว่า XOS 2 หลังจากที่เคยเปิดตัวเวอร์ชันแรกไปเมื่อปี 2008 ซึ่งนำมาสู่การสร้างภาพยนตร์เรื่อง Iron Man ชุดกระดองสำหรับทหาร XOS 2 นี้ได้รับการปรับปรุงจากเวอร์ชันแรกค่อนข้างมาก มันกินพลังงานแค่ครึ่งเดียวของเวอร์ชันก่อน ชุดกระดองของ Raytheon ใช้แหล่งพลังงานที่แตกต่างจากชุดกระดองของที่อื่น โดยมันมีเครื่องปั่นไฟขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน แทนที่จะเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมที่มักจะใช้กัน

เจ้าชุดกระดองนี้ จะช่วยให้ทหารสามารถยกของที่มีน้ำหนัก 23 กิโลกรัม ขึ้นมาแบบ ชิว ชิว ด้วยแขนเพียงข้างเดียว ทางกองทัพสหรัฐฯ ได้วางแผนที่จะนำชุดกระดองนี้ไปใช้ในสนามรบในปี ค.ศ. 2015 ให้ได้ ชุดกระดองนี้ จะช่วยทำให้ทหารลาดตระเวณ สามารถแบกน้ำหนักเดินทางด้วยเท้าเปล่าได้ระยะทางไกลๆ รวมทั้ง ทหารราบยังสามารถใช้ปืนกลที่มีอำนาจการยิงรุนแรง ด้วยการใช้ทหารควบคุมเพียงคนเดียวเท่านั้น ด้วยชุดกระดองนี้ จะทำให้หมู่ทหารราบ กลายเป็นหน่วยรบขนาดเล็กที่มีอำนาจทำลายล้างสูง และเป็นที่เกรงขามยิ่ง