26 กันยายน 2552

Inorganic Life - ชีวิตอนินทรีย์


หายไปหลายวันเลยครับ ไม่ได้ไปทำงานภาคสนามที่ต่างจังหวัดหรอกครับ แต่ทำงานภาคสนามอยู่แถวๆ บ้านนี่แหล่ะครับ กำลังทำระบบ Smart Home อยู่ครับ กว่าจะว่างก็ดึกๆ ดื่นๆ วันนี้ผมอยากจะมาพูดคุยในเรื่องที่ผมเคยสงสัยมานานแล้วครับว่า สิ่งมีชีวิตเนี่ย จำเป็นจะต้องอยู่ในรูปแบบของระบบอินทรีย์ (ซึ่งมีธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก) หรือไม่ มีสิ่งมีชีวิตรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ต้องพึ่งพาโมเลกุลอินทรีย์อยู่หรือไม่ในจักรวาล

ในภาพยนตร์เรื่อง Transformers สิ่งมีชีวิตชั้นสูงจากต่างดาว ที่มีวิวัฒนาการเหนือกสิ่งมีชีวิตใดๆในโลก มีวิทยาการเหนือกว่ามนุษย์เรา สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้นั้น ประกอบขึ้นมาจากวัสดุอนินทรีย์ที่มีความแข็งแรงทนทาน เป็นไปได้ไหมครับว่า ชีวิตอนินทรีย์ที่ไม่ต้องอาศัยคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลักอาจมีตัวตนอยู่ที่ไหนสักแห่งในเอกภพของเรา

เมื่อ 2 ปีมาแล้ว ได้เคยมีการตีพิมพ์ผลงานเรื่องหนึ่ง ซึ่งผลงานวิจัยเรื่องนี้ได้เปิดเผยถึงความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตแบบสารอนินทรีย์ (รายละเอียดฉบับเต็มเพื่อการอ้างอิงคือ V. N. Tsytovich, G. E. Morfill, V. E. Fortov, N. G. Gusein-Zade, B. A. Klumov and S. V. Vladimirov., "From plasma crystals and helical structures towards inorganic living matter", New Journal of Physics (2007) vol. 9, p. 263) โดยคณะวิจัยได้ทำการจำลองสภาพพลาสมาในอวกาศ รวมถึงสภาพเริ่มแรกของโลกที่เชื่อกันว่าน่าจะอยู่ในสถานภาพของพลาสมาเช่นกัน นักวิจัยพบว่ามีโครงสร้างที่ก่อตัวขึ้นในพลาสมา ซึ่งมีสภาพคล้ายคลึงกับสิ่งมีชีวิต โครงสร้างนี้มีลักษณะเป็นเกลียวเหมือนโมเลกุลดีเอ็นเอ แถมยังสามารถที่จะเพิ่มจำนวนเองได้ภายใต้สถานการณ์จำเพาะหนึ่งๆ นักวิจัยคิดว่ามีความเป็นไปได้เหมือนกันที่โครงสร้างคล้ายชีวิตเหล่านี้ อาจจะเป็นจุดกำเนิดของชีวิตแบบอินทรีย์บนโลกก็ได้ อนาคตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะเริ่มเห็นแนวคิดของสิ่งมีชีวิตแบบกึ่งอินทรีย์และอนินทรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ไม่ว่าจะเป็นการเอาชีวิตไปใส่ในจักรกล (เช่น การนำเซลล์ประสาทสมองไปควบคุมหุ่นยนต์) หรือเอาจักรกลไปใส่ในชีวิต (เช่น เอาอุปกรณ์จิ๋ว MEMS ไปควบคุมระบบประสาทของแมลง) พวกเราอาจจะต้องตามเรื่องพวกนี้ไว้บ้างนะครับ เพราะประเทศของเราก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพติดอันดับโลก .......

Artificial Sense - สัมผัสประดิษฐ์ (ตอนที่ 1)


มนุษย์เราเกิดมามีสัมผัสที่เราเรียกว่า อายตนะทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่บางครั้งท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินว่า คนบางคนมีสัมผัสพิเศษที่เพิ่มเข้ามาที่เรียกว่า สัมผัสที่หก หรือ Sixth Sense ในภาพยนตร์เรื่อง The Final Destination นั้น สัมผัสพิเศษที่เพิ่มเข้ามานี้สามารถใช้หนีความตายได้ด้วย สัมผัสพิเศษของมนุษย์ปุถุชนนี้ยังไม่มีความแจ่มชัดนัก แถมยังมาบ้างไม่มาบ้าง จนบางครั้งเราเรียกมันว่าเป็นแค่ "ลางสังหรณ์" ไม่ใช่สัมผัสพิเศษแต่อย่างใด บางครั้งลางสังหรณ์ก็บางเบา จนเป็นแค่ความรู้สึกคิดว่าสิ่งนี้สิ่งนั้นน่าจะเกิดขึ้น

พูดถึงเรื่องความรู้สึก ผมก็รู้สึกว่าเรื่องเกี่ยวกับสัมผัสพิเศษนี่ละครับ กำลังจะกลายมาเป็นเรื่องที่มาแรงอีกเรื่องหนึ่ง เพราะคนเรามีสัมผัสเพียงแค่ 5 อย่าง แต่สัตว์หลายๆชนิด กลับมีสัมผัสที่มนุษย์เราไม่มี เป็นสัมผัสพิเศษที่เราอยากจะมี เราเลยสนใจที่จะศึกษา และอยากจะพัฒนาสัมผัสพิเศษแบบนั้นมาใช้งาน ผมจะทยอยนำเอาความก้าวหน้าทางด้านนี้มาเล่าให้ฟังเป็นตอนๆ นะครับ

วันนี้ผมจะขอเอ๋ยถึงสัมผัสพิเศษของสัตว์อื่นๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งจริงๆ มีสัตว์หลายชนิดครับที่มีสัมผัสพิเศษเหล่านี้ แต่ผมจะทยอยนำมาเล่านะครับ

  • มดมีสัมผัสที่สามารถรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวลงไปใต้พื้นดิน 5 เซ็นติเมตร มันยังสามารถมองเห็นแสงแบบโพลาไรซ์ได้ด้วย (Polarized Light)
  • ค้างคาวใช้สัมผัสที่เรียกว่า Echolocation คือคลื่นเสียงเพื่อหาตำแหน่งของแมลงที่เป็นอาหาร มันสามารถระบุตำแหน่งในระยะ 6 เมตร รวมทั้งชนิดของแมลงนั้นด้วย มันได้ยินคลื่นเสียงในช่วง 3,000 ถึง 120,000 Hertz มนุษย์เราได้ยินสูงสุดเพียง 20,000 Heartz เท่านั้นเองครับ
  • ผึ้งสามารถมองเห็นคลื่นแสงในช่วง 300-650 นาโนเมตร (มนุษย์มองเห็นคลื่นแสงในช่วง 380-750 นาโนเมตร) ดวงตาของมันมีเลนส์อยู่มากถึง 5,500 เลนส์ (คนเรามีแค่เลนส์เดียว) แถมมันยังมองเห็นแสงโพลาไรซ์อีกด้วย ที่ท้องของมันมีวงเหล็กออกไซด์สำหรับตรวจวัดสนามแม่เหล็กเพื่อการนำทาง
  • ผีเสื้อมีขนจิ๋วที่ปีกซึ่งสามารถตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของมวลอากาศได้ ตาของมันสามารถมองสิ่งเล็กที่แยกกันในระดับ 30 ไมครอน ในขณะที่ตาของมนุษย์แยกได้เพียง 100 ไมครอนเท่านั้น
  • แมลงวันมีสัมผัสในการมองเห็นที่พิเศษมากๆ มันมีเลนส์ตาถึง 3,000 เลนส์ต่อข้าง ตาของมันสามารถจับความเคลื่อนไหวของภาพได้ถึง 300 ภาพต่อนาที (คนเราทำได้มากสุด 60 ภาพต่อนาทีเท่านั้นในที่มีแสงสว่างจ้า แต่ในที่แสงน้อยทำได้เพียง 24 ภาพต่อนาที)
  • ปลาหมึกยักษ์มีตาที่ใหญ่มากๆ อาจใหญ่ถึง 25 เซ็นติเมตร (เส้นผ่านศูนย์กลาง) โดยในเรตินามีเซลล์รับแสงมากถึง 1 พันล้านเซลล์
  • ตั้กแตน มีเส้นขนที่สามารถรับรู้การเคลื่อนไหวของอากาศ มันสามารถได้ยินเสียงความถี่สูงถึง 50,000 Hertz

วันหลังมาคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ ......

24 กันยายน 2552

Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงปฐพี (ตอนที่ 9)


หายไปหลายวันครับ ผมเพิ่งกลับมาจากประชุมที่เชียงใหม่ ตอนกลางวันก็ประชุม กลางคืนก็ออกไปกินข้าวฟังเพลง เลยไม่มีเวลาเขียนครับ วันนี้ผมอยากจะกลับมาเขียนเรื่อง Geoengineering หรือ วิศวกรรมดาวเคราะห์อีก เพราะช่วงนี้ ผมได้ยินเรื่องนี้ถี่ขึ้น บ่อยขึ้น ราวกับว่า ตอนนี้พวกเราเริ่มตระหนักในความจริงที่ว่า ภาวะโลกร้อนไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีธรรมดาๆ อีกต่อไปแล้ว มันต้องการการแก้ปัญหาแบบ Paradigm Shift หรือ กระบวนทัศน์ใหม่

นักวิทยาศาสตร์มีแผนการใหม่ ที่จะทำการเกษตรในทะเลทรายซาฮารา โครงการนี้มีชื่อว่า Sahara Forest Project โดยโครงการนี้จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาฑิตย์แบบที่เรียกว่า Concentrated Solar Power คือการรวมแสงแดดให้เข้มข้นเพื่อนำไปปั่นกังหันความร้อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะถูกใช้เพื่อดูดน้ำทะเลจากย่านน้ำลึก ผ่านระบบท่อฝังใต้ดินเข้ามายังโรงเรือนที่เรียกว่า Sea Water Greenhouse ซึ่งน้ำทะเลที่เย็นจะถูกใช้เพื่อทำความเย็นให้แก่อากาศในโรงเรือน น้ำที่ระเหยจะกลั่นตัวกลับมาเป็นน้ำดิบสะอาด ซึ่งจะถูกนำไปรดน้ำแก่พืช พืชที่ปลูกในโรงเรือนอาจจะเป็นพืชเพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โครงการนี้จึงได้ผลผลิตหลายอย่าง เช่น ได้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาฑิตย์ น้ำจืด และเชื้อเพลิงไบโอดีเซล

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของวิศวกรรมเปลี่ยนฟ้าแปลงปฐพี ที่ดูเหมือนจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายของดาวเคราะห์ดวงนี้แล้วล่ะครับ ..........

20 กันยายน 2552

The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 2)


เหตุผลหนึ่งในการที่คนเราทานมังสวิรัติ ก็เพื่อจะเลิกเบียดเบียนชีวิตสัตว์ที่ต้องตกเป็นอาหารให้แก่มนุษย์เรา สัตว์เหล่านั้นไม่เพียงแต่ต้องเจ็บปวด ณ เวลาที่โดนฆ่าเพื่อนำมาทำอาหารเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์แบบโรงเรือนที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ยังเป็นการทรมานพวกมันตั้งแต่เกิดจนตาย ในโรงเรือนเลี้ยงไก่ขนาด 25 x 100 เมตร มีไก่ใช้ชีวิตอยู่อย่างหนาแน่นนับหมื่นตัว หมูก็อยู่อย่างแออัดไม่แพ้กัน สัตว์เหล่านี้ไม่เคยได้ออกมาเห็นเดือนเห็นตะวัน มันตื่นขึ้นมากินอาหารที่ไหลผ่านมาด้วยระบบอัตโนมัติ ขับถ่ายแล้วก็นอน รอวันที่จะถูกนำไปประหาร

พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติมรรคมีองค์ 8 ว่าเป็นทางสายกลางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สัมมาอาชีวะก็เป็นมรรคข้อหนึ่ง นั่นคือ การมีอาชีพที่สุจริตไม่เบียดเบียนผู้อื่น อาชีพการเลี้ยงสัตว์อย่างที่ทำกันในปัจจุบันเป็นอาชีพสุจริตแต่ก็ยังต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์ จึงอาจจะไม่ใช่สัมมาอาชีวะที่สมบูรณ์ แต่ในอนาคตการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารจะเป็นสัมมาอาชีวะได้ เพราะเราจะไม่เลี้ยงสัตว์ แต่จะใช้การ "ปลูกสัตว์" แทนครับ

ในต่างประเทศได้มีการก่อตั้งองค์กรความร่วมมือเพื่อพัฒนาการปลูกเนื้อสัตว์ ที่เรียกว่า In Vitro Meat Consortium โดยจะร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทำให้ต่อไป เราจะได้ไม่ต้องเลี้ยงสัตว์เพื่อเอาเนื้อมาทำอาหาร แต่เราจะใช้การปลูกเนื้อเยื่อ โดยการนำเซลล์กล้ามเนื้อของสัตว์ที่เราอยากกินมาเลี้ยง ด้วยการป้อนสารโปรตีนเข้าไป เซลล์ที่จะใช้เริ่มกระบวนการก็มักจะเป็นสเต็มเซลล์ของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะต้องทำให้มีระบบเลือดไปหล่อเลี้ยงเซลล์เหล่านี้ เพื่อให้เซลล์มีการเติบโตเสมือนมันอยู่ในสัตว์จริงๆ ซึ่งก็มีคนพยายามจดสิทธิบัตรในเรื่องนี้แล้วด้วยครับ

19 กันยายน 2552

CCEA 2010 - The 2010 International Conference on Chemical Engineering and Applications




วันนี้ผมขอนำอีกการประชุมหนึ่งมาแนะนำครับ เพราะว่ากำหนดส่ง abstract ใกล้เข้ามาแล้วในอีกไม่ช้านี้ การประชุมนี้จะมีขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ครับ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า The 2010 International Conference on Chemical Engineering and Applications หรือมีชื่อเล่นว่า CCEA 2010 ระหว่างวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมีมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง Nanyang Technological University (NTU) เป็นเจ้าภาพ ซึ่งเข้าใจว่าสถานที่จัดการประชุมน่าจะเป็นศูนย์ประชุมภายในมหาวิทยาลัยนั้นเอง ซึ่งผมว่าไม่ค่อยสะดวกนักหรอกครับ เพราะมหาวิทยาลัยนี้อยู่ห่างจากย่านดาวน์ทาวน์ค่อนข้างมาก แถมรถไฟฟ้าก็ไปไม่ถึงต้องไปต่อรถเมล์อีกทอดหนึ่ง แต่ผมชอบบรรยากาศของที่นี่มากกว่า NUS (National University of Singapore) เพราะมันจะมีลักษณะเป็นเนินเขานิดๆ คล้ายๆกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำหนดส่ง abstract ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2552 และจะประกาศผลภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552

หัวข้อที่เป็นที่สนใจของการประชุมนี้ค่อนข้างหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเคมีครับ ลอง Click เข้าไปดูที่นี่ครับ ......

16 กันยายน 2552

The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 4/8)


ช่วง 2-3 วันนี้ผมมาทำงานภาคสนามที่ไร่องุ่นครับ เลยนึกอยากจะเขียนอะไรที่เกี่ยวกับเกษตรสักหน่อย จะได้กลมกลืนกับบรรยากาศป่าเขา คืนนี้ผมนอนอยู่ในไร่ ข้างนอกมืดและก็เงียบมากเลยครับ แต่มีอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่งทีมวิจัยของเราได้มาติดตั้งระบบ Wi-Fi ที่สามารถใช้ในบริเวณกว้างในไร่ ก็เลยยังรู้สึกไม่เหงาเท่าไหร่ครับ

วันนี้ผมขอคุยต่อเกี่ยวกับ อนาคตของเกษตรกรรมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า จากปัญหาประชากรที่มากขึ้น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การปลูกพืชมีผลผลิตที่ลดลงนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการสร้างพืชซูเปอร์เก่งหรือ Supercrop ขึ้นมาให้ได้ครับ ซึ่งตอนนี้นักวิทยาศาสตร์สนใจที่จะสร้างยอดมันสำปะหลังขึ้นมา เพราะมันเป็นพืชอาหารที่มีราคาถูก แถมสามารถขึ้นได้ในสภาพอากาศที่ยอดแย่ เจ้ามันสำปะหลังนี้มีผู้คนใช้มันเป็นอาหารทั่วโลกอย่างน้อย 250 ล้านคน มันจึงเป็นพืชที่นักวิทยาศาสตร์อยากจะพัฒนาให้เป็นยอดพืชมากที่สุด

ปัญหาของมันสำปะหลัง ก็คือ มันเป็นอาหารที่มีเหล็ก สังกะสี วิตะมินเอ และวิตะมินอี ค่อนข้างน้อยไปหน่อย นักวิทยาศาสตร์ก็เลยอยากจะพัฒนาพันธุกรรมของพืชชนิดนี้ให้มีธาตุอาหารสำคัญๆ ให้มากขึ้น และมีความทนทานต่อเชื้อไวรัสที่มักจะเข้าทำลายพืชชนิดนี้ โครงการ Biocassava Plus ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิบิลแอนด์เมลินดา เกตส์ ได้พัฒนายอดมันสำปะหลังขึ้นมาด้วยวิธีพันธุวิศวกรรม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการทดลองในระดับผลิตจริงในหลายประเทศในทวีปแอฟริกาแล้ว ซึ่งประเทศเหล่านี้ไม่สนใจว่าพืชดังกล่าวจะเป็น GMO หรือไม่ ขอให้มีกินไว้ก่อนเป็นใช้ได้


ถึงแม้พืช GMO จะถูกต่อต้านเพียงไรก็ตาม นักวิเคราะห์ก็ยังเชื่อว่า วันหนึ่งยอดพืชหรือ Supercrop จะต้องเป็นอนาคตของเกษตรกรรมแน่ๆ ครับ

15 กันยายน 2552

จีนเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ใหญ่ที่สุดในโลก


เมื่อคืนวันก่อนผมไปนั่งทานข้าวเย็นที่ร้านกินลมชมสะพาน ร้านนี้อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร จากร้านจะมองเห็นสะพานพระราม 8 ได้อย่างชัดเจน ซึ่งวิวทิวทัศน์ตอนกลางคืนก็สวยโรแมนติกไม่เบาครับ สิ่งก่อสร้างอย่างสะพานพระราม 8 เท่านี้ คนไทยเราก็ดีใจที่ได้เห็นแล้วครับ ไม่ได้เลิศหรูเหมือนสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ ใหม่ๆ ที่มักเกิดขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ ของประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ มาเก๊า เดี๋ยวนี้สิ่งก่อสร้างของฝรั่งตกกระป๋องไปแล้วครับ ศูนย์กลางของโลกย้ายมาอยู่เอเชียแล้ว

ล่าสุด จีนกำลังจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาฑิตย์ขนาดกำลังการผลิต 2 กิกะวัตต์ ในทะเลทรายติดกับประเทศมองโกเลีย ซึ่งหากเสร็จเมื่อไหร่ ก็จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังแสงอาฑิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่าโรงไฟฟ้าของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเพียง 500 เมกะวัตต์เท่านั้น ทั้งนี้ยังไม่รวมโรงไฟฟ้าขนาด 500 เมกะวัตต์ของจีนอีกแห่งหนึ่งที่จะสร้างในมณฑล Inner Mongolia

โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ขนาด 2 กิกะวัต์ จะแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 เฟส คือ เฟสแรก 30 เมกะวัตต์จะเสร็จในปี 2010 เฟสที่สองขนาด 100 เมกะวัตต์ และเฟสที่สามขนาด 870 เมกะวัตต์จะเสร็จในปี 2014 ส่วนเฟสสุดท้ายขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จะเสร็จในปี 2019 โดยทางบริษัท First Solar แห่งสหรัฐอเมริกาได้รับสัมประทานในการก่อสร้างไรงไฟฟ้าดังกล่าว

ไม่รู้ว่าจีนมีวาระแอบแฝงหรือเปล่าครับ เพราะการจะติดตั้งโรงไฟฟ้าใหญ่ขนาดนี้ในเขตทะเลทราย อาจจะต้องถึงกับไปตั้งโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งก็จะเป็นโอกาสให้เขาคัดลอกเทคโนโลยีนี้ได้ง่ายขึ้น

13 กันยายน 2552

Wearable Robot - หุ่นยนต์สวมใส่ได้สำหรับผู้สูงวัย


สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงวัย นับวันก็จะมีแต่ผู้สูงวัยเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด จริงๆ แล้วเมืองไทยก็มีมากไม่แพ้กันหรอกครับ จากข้อมูลที่รายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณว่าในปี ค.ศ. 2007 มีประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทย (อายุมากกว่า 60 ปี) อยู่ 7 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 65.7 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 11) และจะเพิ่มจำนวนขึ้นไปเป็น 14.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 72 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 20) ในปี ค.ศ. 2025

เมื่อเป็นอย่างนี้ ประเทศญี่ปุ่นเลยให้ความสนใจในเรื่องของผู้สูงวัยเป็นพิเศษ มีการทำวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับช่วยเหลือผู้สูงวัยออกมามากมาย ก่อนหน้านี้ผมก็เคยนำเรื่อง หุ่นยนต์สวมใส่สำหรับชาวนา ที่พัฒนาโดย ศาสตราจารย์ Shigeki Toyama แห่ง Tokyo University of Agriculture and Technology มหาวิทยาลัยแห่งนี้ผมก็เคยไปเยี่ยมชมมาแล้วครับ

ล่าสุดมีข่าวคราวความคืบหน้าในเรื่องชุดหุ่นยนต์สวมใส่ได้ สำหรับผู้สูงวัย โดยบริษัท Cyberdyne ได้ออกมาเปิดเผยว่ากำลังทดลองชุดหุ่นยนต์ HAL (Hybrid Assistive Limb) ในท้องถนนของกรุงโตเกียว เพื่อศึกษาการใช้งานในชีวิตจริงของชุดหุ่นนี้ เพื่อเตรียมสำหรับการทำตลาดในอนาคตอันใกล้ เมื่อผู้สูงวัยสวมใส่ชุด HAL พลังแห่งหนุ่มสาวจะกลับคืนมา มันจะช่วยขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อใดก็ตามที่เราคิดอยากจะทำ เช่น ลุกจากเก้าอี้ เดิน ปีนป่าย ขึ้นลงบันได ยกของ และอื่นๆอีกมากมาย ชุดนี้สามารถที่จะทำงานได้ 5 ชั่วโมงก่อนที่จะต้องชาร์จแบตเตอรีรอบใหม่

เจ้าชุดหุ่นยนต์ HAL นี้มีเซ็นเซอร์ซึ่งจะวัดสัญญาณคำสั่งให้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อจากสมอง โดยเซ็นเซอร์นี้อยู่บนผิวหนัง เมื่อเราสั่งแขนขาให้ขยับเคลื่อนไหว เซ็นเซอร์จะตรวจจับได้ ซึ่งมันจะออกคำสั่งให้กลไกของชุดนี้เคลื่อนไปในจังหวะเดียวกัน และไปทางเดียวกันกับที่กล้ามเนื้อเคลื่อนไป มันจึงช่วยทุ่นแรงผู้สวมใส่ การยกของหนักจะกลายเป็นเบา เพราะมันช่วยออกแรงให้ไงครับ ชุด HAL มีอยู่ 3 ขนาดให้เลือกครับ คือ Small, Medium และ Large ซึ่งมีน้ำหนักของชุดประมาณ 23 กิโลกรัม บริษัท Cyberdyne ให้ผู้สูงวัยเช่าใช้ชุด HAL ได้ในราคาเดือนละ 150,000 เยน (หรือประมาณเดือนละ 40,000 บาท) สำหรับชุด HAL ขาเดียว และเดือนละ 220,000 บาท สำหรับชุดที่มี 2 ขา

ประเทศไทยน่าจะมีการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงวัยบ้างนะครับ อย่างน้อยคนทำเองก็จะได้ใช้เองด้วยหลังเกษียณอายุ .......

11 กันยายน 2552

นักวิจัยมหิดลใช้ Electronic Nose ระบุกลิ่นตัวมนุษย์


เมื่อวานนี้ผมมาสอนหนังสืออยู่ที่ จ.กาญจนบุรีครับ วันนี้บ่ายๆก็จะกลับกรุงเทพฯครับ ที่เมืองกาญจน์ตอนกลางคืนอากาศเย็นสบายใช้ได้เลยครับ ผมออกไปทำงานภาคสนามต่างจังหวัดบ่อยๆ แต่กลับไม่ค่อยคุ้นเคยที่ทางแถวนี้เลย ทั้งๆที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีวิทยาเขตที่จังหวัดนี้แท้ๆ

วันนี้ผมมีเรื่องมาเล่าเกี่ยวกับผลงานวิจัยของคนไทย ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Sensors เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมานี้เอง(รายละเอียดเต็มคือ Chatchawal Wongchoosuk, Mario Lutz and Teerakiat Kerdcharoen, "Detection and Classification of Human Body Odor Using an Electronic Nose", Sensors 9 (2009) 7234-7249) รายงานฉบับนี้ได้เสนอวิธีการในการระบุตัวบุคคลจากการดมกลิ่นตัวด้วยจมูกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Nose) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการใช้กลิ่นตัวมนุษย์จากใต้วงแขนในการระบุตัวบุคคล ซึ่งเทคโนโลยีที่เสนอในรายงานวิจัยฉบับนี้ ได้ขอยื่นจดสิทธิบัตรไปแล้วเมื่อราวต้นปี 2552 นี้

ดร. ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ สังกัด Center of Intelligent Materials and Systems คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "สุนัขใช้วิธีการดมกลิ่นตัวในการจดจำบุคคลที่มันรู้จัก ดูเหมือนว่ามันอยากจะดมเรามากกว่าดูหน้าเราอีกครับ เมื่อเราและมันต่างเจอกันครั้งแรก ....." ดังนั้นกลิ่นตัวของมนุษย์แต่ละคนก็น่าจะมีลักษณะจำเพาะ เป็นเอกลักษณ์ของใครของมัน ในรายงานวิจัยฉบับดังกล่าวได้สาธิตการจำแนกกลิ่นตัวบุคคล 2 คนออกจากกัน ซึ่งบุคคล 2 คนนี้มีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน เจ้าจมูกอิเล็กทรอนิกส์สามารถจดจำกลิ่นแต่ละคนได้ แม้ว่าเขาจะใช้โรลออนดับกลิ่นกาย ซึ่งแสดงว่าโรลออนดับกลิ่นกายไม่สามารถหลอกกลิ่นตัวของเราได้

Mario Lutz นักศึกษาปริญญาเอกสังกัดหลักสูตร Materials Science and Engineering เป็นผู้พัฒนาอัลกอริทึมที่ใช้ในการวัดกลิ่นตัวมนุษย์ ซึ่งมักจะมีความชื้นปะปนมา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการวัดกลิ่นตัวด้วยเซ็นเซอร์ดมกลิ่น ส่วน ชัชวาล วงศ์ชูสุข นักศึกษาปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ เป็นผู้พัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการดมและจำแนกกลิ่นตัวคน "ในอนาคต เราอาจจะติดตั้งเครื่องตรวจสอบกลิ่นตัวไว้หน้าอาคาร ใครจะเดินเข้ามาต้องยกแขนขึ้น แล้วยื่นรักแร้เข้าไปให้เครื่องดม ถ้าใช่บุคคลที่สามารถผ่านได้ ประตูก็จะเปิดออกครับ ......." ชัชวาลกล่าวทิ้งท้ายแบบขำๆ

08 กันยายน 2552

The 4th International Conference on Bioinformatics and Biomedical Engineering (iCBBE 2010)


ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering) กำลังมาแรงในบ้านเรา แล้วก็มาแรงทั่วโลกมาสักพักแล้วครับ การประชุมทางด้านนี้มีบ่อยมาก ทั้งในต่างประเทศและทั้งในบ้านเราเอง เหตุเพราะศาสตร์ทางด้านนี้ยังใหม่ มีเรื่องมากมายให้ศึกษา จึงต้องนำไปแลกเปลี่ยนและปรึกษาหารือกันในงานประชุม วันนี้ผมจึงขอนำการประชุมหนึ่งมาแนะนำครับ ซึ่งการประชุมนี้จัดขึ้นที่ประเทศจีน (อีกแล้วครับ) ที่เมืองเฉินตู การประชุมนี้มีชื่อว่า The 4th International Conference on Bioinformatics and Biomedical Engineering (iCBBE 2010) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 มิถุนายน พ.ศ. 2553 แต่กำหนดส่ง abstact เร็วมากครับ คือ 30 ตุลาคม 2552 นี้ (ผมมั่นใจว่ามีเลื่อนออกไปแน่ๆ ครับ) ผลงานที่ไปประชุมจะได้รับการบันทึกในฐานข้อมูล IEEE Explore ส่วนผลงานที่เข้าตากรรมการจะได้รับการคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Biomedical Science and Engineering
หัวข้อที่เป็นที่สนใจของที่ประชุมนี้ ได้แก่
Bioinformatics and Computational Biology
  • Protein structure, function and sequence analysis
  • Protein interactions, docking and function.
  • Computational proteomics
  • DNA and RNA structure, function and sequence analysis
  • Gene regulation, expression, identification and network
  • Structural, functional and comparative genomics
  • Computational evolutionary biology
  • Data acquisition, normalization, analysis and visualization
  • Algorithms, models, software, and tools in Bioinformatics
  • Any novel approaches to bioinformatics problems

Biomedical Engineering

  • Biomedical imaging, image processing & visualization
  • Bioelectrical and neural engineering
  • Biomaterials and biomedical optics
  • Methods and biology effects of NMR/CT/ECG technology
  • Biomedical devices, sensors, and artificial organs
  • Biochemical, cellular, molecular and tissue engineering
  • Biomedical robotics and mechanics
  • Rehabilitation engineering and clinical engineering
  • Health monitoring systems and wearable system
  • Bio-signal processing and analysis Biometric and bio-measurement Biomaterial and biomedical optics Other topics related to biomedical engineering

The Future of Meat - อนาคตของอาหารเนื้อสัตว์ (ตอนที่ 1)


จำได้ว่าตอนเด็กๆ ผมเคยสงสัย และถามผู้ใหญ่ว่าทำไมคนเราถึงต้องกินสัตว์อื่น ไม่ว่าจะเป็น หมู เป็ด ไก่ ปลา กุ้ง หอย ฯลฯ ทำไมคนเราถึงต้องพรากชีวิตอื่นเพื่อเป็นอาหารให้ตัวเองอยู่รอด ทำไมเรากินหญ้าแบบวัวไม่ได้ เวลาผมเดินผ่านร้านข้าวหน้าเป็ดหรือข้าวมันไก่ เห็นเขาเอาเป็ดไก่ทั้งตัวมาแขวนเอาหัวลง ก็อดคิดไม่ได้ว่า นี่ถ้ามีสิ่งมีชีวิตที่เจริญกว่าพวกเรา เช่น มนุษย์ต่างดาว มาบุกยึดโลก มนุษย์ต่างดาวพวกนั้นอาจจะกินพวกเราเป็นอาหาร แล้วก็เอาพวกเรามาแขวนโชว์หน้าร้านอาหารแบบนี้บ้าง หรือ เราอาจจะโดนจับใส่ในเข่งแล้วมีมนุษย์ต่างดาวมาชี้ว่าวันนี้จะเอาคนไหนไปกินเป็นอาหารดี ......

ในระยะหลังๆ ได้เริ่มมีความสนใจที่จะผลิตอาหารประเภทเนื้อสัตว์ โดยไม่ต้องเลี้ยงสัตว์ (จะได้ไม่ต้องฆ่าสัตว์) หรือหากต้องฆ่าสัตว์ก็ขอให้สัตว์ไม่ทรมาน ไม่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น กันมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ จะว่าไปแล้วระบบปศุสัตว์หรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันมีข้อเสียหลายอย่างครับ เช่น (1) การเลี้ยงสัตว์ทำในคอกหรือโรงเรือนแออัด ทำให้สัตว์ทรมาน (2) มีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย เพราะสัตว์อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด (3) มีการใช้ยาปฏิชีวนะค่อนข้างมาก เพราะไม่ต้องการให้เกิดโรคในข้อ 2 ยาพวกนั้นเหลือมาให้พวกเรานี่แหล่ะครับ รับประทานกัน (4) ฟาร์มเหล่านี้สร้างมลภาวะทางกลิ่นต่อชุมชนอาศัยที่อยู่ใกล้เคียง

ก่อนหน้านี้ ผมได้ออกไปปฏิบัติงานวิจัยภาคสนามที่ฟาร์มหมูแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ฟาร์มแห่งนี้เริ่มมีปัญหากับชุมชนรอบข้างฟาร์ม เนื่องมาจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในเรื่องของกลิ่นขี้หมู ทางฟาร์มต้องการให้นำ Electronic Nose ไปใช้ศึกษาการลดกลิ่นขี้หมูในฟาร์ม เนื่องจากเราเคยมีผลการทดลองวัดกลิ่นขี้หมูจากฟาร์มหมูที่ จ. ปราจีนบุรีมาก่อน ซึ่งมีผลการทดลองที่ค่อนข้างน่าพอใจว่า Electronic Nose น่าจะใช้เป็นเครื่องมือในการชี้วัด "การเหม็น" ของกลิ่นขี้หมูได้ เนื่องจากเรื่องของกลิ่นขี้หมูนี้ คนที่บอกว่าเหม็น อีกคนอาจบอกว่า "พอทนได้" ก็ได้ ดังนั้นเวลาจะเจรจาความกันมันเลยไม่เคยลงตัวเสียที
โดยปกติ ผมเป็นคนที่ไม่ชอบกินเนื้อสัตว์บก ประเภท หมู เป็ด ไก่ นัก ชอบกินอาหารทะเล โดยเฉพาะปลา มากกว่าครับ การที่ผมได้ไปเห็นเนื้อหมูจากแหล่งกำเนิด คือ ฟาร์มหมู เลยยิ่งทำให้ผมไม่อยากกินหมูเข้าไปใหญ่ มานั่งนึกดูว่า เป็นไปได้ไหมที่ในอนาคต เราสามารถที่จะ "ปลูก" เนื้อสัตว์ขึ้นมาเหมือนกับเราปลูกพืช ตอนหน้าผมจะมาเล่าต่อครับว่า เทคโนโลยีในการปลูกสัตว์อาจเป็นอนาคตของอาหารประเภทเนื้อสัตว์ก็ได้ครับ

07 กันยายน 2552

The Science of Mate Poaching - วิทยาศาสตร์ของการมีกิ๊ก (ตอนที่ 2)


วันนี้คุยเรื่องเบาๆ เกี่ยวกับศาสตร์ของกิ๊กกันต่อนะครับ ท่านผู้อ่านเคยสงสัยไหมครับว่าผู้ชายโสดๆ มีตั้งเยอะตั้งแยะ แต่ทำไมเรากลับพบว่าผู้หญิงจำนวนหนึ่งกลับเลือกที่จะคบหากับผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว ผู้ชายไทยมักถูกกล่าวหาว่าเจ้าชู้และนิสัยไม่ดีในเรื่องผู้หญิง โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่า ผู้ชายไทยเห็นว่าการมีเมียน้อยไม่ใช่เรื่องร้ายแรง

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีรายงานวิจัยฉบับหนึ่งที่เปิดเผยผลการศึกษาออกมาอย่างน่าสนใจว่า ผู้หญิงต่างหากที่เป็นสาเหตุของการที่ผู้ชายนอกใจภรรยา โดยผู้หญิงเหล่านี้มีแนวโน้มในการที่จะเข้าหาผู้ชายที่มีคู่ครองแล้ว รายงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Experimental Social Psychology (รายละเอียดเต็มเพื่อการอ้างอิงคือ Jessica Parker and Melissa Burkley, "Who’s chasing whom? The impact of gender and relationship statuson mate poaching", Journal of Experimental Social Psychology (2009) vol. 45, pp. 1016-1019) นักวิจัยสงสัยมานานแล้วครับว่า ทำไมผู้หญิงโสดๆ ชอบพูดว่า "ผู้ชายดีๆ โดนจองไปหมดแล้ว" นักวิจัยก็เลยตั้งสมมติฐานว่า ผู้หญิงเหล่านั้นมีความเชื่อว่า ผู้ชายที่มีคนจองไปแล้ว คือผู้ชายที่ดีกระนั้นหรือ ???

การทดลองนี้ได้กระทำกับนักศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งหญิงและชาย โดยมีทั้งคนที่โสดอยู่ และมีแฟนแล้ว นักศึกษาเหล่านี้ได้รับข้อมูลว่า ตนเองมีคู่ที่เหมาะสมซึ่งเกิดจากการคำนวณของคอมพิวเตอร์ ซึ่งคู่ที่คัดเลือกมานี้จะมีความคิดคล้ายกัน หรือใจตรงกัน (ซึ่งจริงๆแล้วคู่ที่ว่านี้ อุปโลกขึ้นมาครับ) จากนั้นนักศึกษาจะได้ดูภาพคู่ที่อุปโลกขึ้นมา ซึ่งจะเป็นเพศตรงข้ามที่หน้าตาดี ซึ่งทั้งนักศึกษาชายทั้งหมดจะได้ดูภาพผู้หญิงคนเดียวกัน เช่นเดียวกับนักศึกษาหญิงจะได้ดูภาพผู้ชายคนเดียวกัน ซึ่งกึ่งหนึ่งของผู้ถูกทดลองจะได้รับข้อมูลว่า คนในภาพนั้นมีแฟนแล้ว ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งได้รับข้อมูลว่าคนในภาพยังโสด ไม่มีใคร

ผลจากการศึกษาพบว่า ผู้ชายส่วนใหญ่และผู้หญิงที่มีแฟนแล้ว ไม่มีแนวโน้มในเรื่องของการอยากมีกิ๊ก แต่ผู้หญิงโสดแสดงอย่างเด่นชัดว่าชอบคนที่เขามีเจ้าของแล้ว ผลการศึกษาได้แสดงตัวเลขออกมาว่า มีผู้หญิงเพียง 59% เท่านั้นที่สนใจคนในภาพเมื่อรู้ว่าเขายังโสด แต่มีผู้หญิงถึง 90% ที่แสดงความสนใจคนในภาพเมื่อรู้ว่าเขามีแฟนแล้ว นักวิจัยได้เสนอเหตุผลว่า ที่ผู้หญิงโสดชอบผู้ชายที่มีเจ้าของแล้ว อาจเป็นเพราะผู้ชายที่มีเจ้าของแล้วแสดงศักยภาพในความรับผิดชอบ รวมไปถึงมันเป็นการการันตีคุณภาพของผู้ชายคนนั้นที่มีผู้หญิงคนอื่นคัดเลือกมาแล้ว

05 กันยายน 2552

OLED Notebook ออกขายในปี 2010


วันนี้ผมมีข่าวความก้าวหน้าในวงการ จอแสดงผลแบบอินทรีย์ (Organic Light Emitting Device หรือ OLED) มาฝากกันครับ ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับจอภาพแบบ OLED มาบ้าง จอภาพที่ใช้ๆ กันอยู่ในปัจจุบันนั้นมี 4 แบบครับคือ (1) จอภาพแบบ CRT (Cathode Ray Tube) ซึ่งก็คือจอภาพแบบเก่าที่มีตูดหนาๆ นั่นแหล่ะครับ จอภาพแบบนี้ใช้การบังคับลำอิเล็กตรอนให้ยิงไปกระทบฉากเรืองแสง (2) จอภาพแบบพลาสมา ซึ่งใช้การปลดปล่อยแสง UV จากพลาสมาให้มากระทบฉากเรืองแสง (3) จอภาพ LCD เป็นการบังคับโมเลกุลผลึกเหลวให้หันไปตามทิศทางต่างๆ เพื่อให้แสงฉากหลังหลุดออกมา หรือ ไม่หลุดออกมา (4) จอภาพ OLED เป็นการเปล่งแสงโดยตรงออกมาจากโมเลกุลเปล่งแสง ที่อยู่ภายใต้สนามไฟฟ้า

จากเทคโนโลยีทั้ง 4 แบบนี้ มีเทคโนโลยี OLED เท่านั้นที่มีการเปล่งแสงออกมาจากแหล่งกำเนิดโดยตรง ส่วนเทคโนโลยีอื่นๆ ใช้การเรืองแสง หรือไม่ก็เป็นการบังหรือปล่อยแสงบางสีออกมา เพื่อมาผสมกันทำให้เกิดภาพต่างๆ เทคโนโลยี OLED จึงให้สีที่สว่างที่สุด สมจริงที่สุด สวยที่สุด และประหยัดพลังงานที่สุดครับ
เมื่อเร็วๆ นี้เอง บริษัท Samsung ได้ออกมาประกาศว่าจะทำตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ Notebook ที่ใช้จอภาพ OLED ประมาณปลายปี 2010 ครับ นักวิเคราะห์คาดว่า OLED จะกลายมาเป็นจอภาพมาตรฐานสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ Notebook ในไม่ช้า (คาดว่าประมาณไม่เกิน 5 ปี)

02 กันยายน 2552

Robot Evolution - หุ่นยนต์วิวัฒน์ (ตอนที่ 4)


นักวิทยาศาสตร์ฝันว่าสักวันหนึ่ง เราจะสามารถถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ ความมีชีวิตจิตใจ ให้เข้าไปอยู่ในหุ่นยนต์ได้ แต่ก่อนอื่น หุ่นยนต์จะต้องมีผัสสะแบบที่มนุษย์มีเสียก่อน นั่นคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นสัมผัสประดิษฐ์ (Artificial Sense) ผมเองก็ทำวิจัยเกี่ยวกับสัมผัสประดิษฐ์อยู่ 3 อย่าง คือ จมูกประดิษฐ์ (Artificial Nose) ลิ้นอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Tongue) และ ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Skin) ซึ่งเทคโนโลยีทั้ง 3 อย่างนี้กำลังเป็นที่สนใจทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแต่นำมาประยุกต์ในหุ่นยนต์ได้เท่านั้น แต่ยังนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีกมากมายเลยครับ

การทำให้หุ่นยนต์มีสัมผัสไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นนัก แต่การที่จะทำให้หุ่นยนต์มีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ ยังเป็นสิ่งท้าทายอยู่มาก ดังที่ศาสตราจารย์ ลีโอ แวน เฮมเมน หัวหน้าสถาบันชีวฟิสิกส์เชิงทฤษฎี แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งมิวนิค (ผมก็เคยไปทำวิจัยหลังปริญญาเอกที่นี่ครับ เมืองมิวนิคน่าอยู่มาก มีงานเทศกาล October Fest ที่เมาเบียร์กันได้ทั้งเดือน ......) ได้กล่าวไว้ว่า "เทคโนโลยีของพวกเราได้ล้ำหน้าสิ่งที่มีในธรรมชาติไปหลายๆ เรื่องแล้วครับ แต่เรื่องสำคัญบางอย่างนั้น เรากลับไม่ค่อยรู้อะไรเท่าไหร่ อย่างเช่น การนำสัมผัสมาประกอบเป็นความรู้สึก"

สัตว์หลายชนิดมีระบบสัมผัสที่มนุษย์เราไม่มี เราอาจเรียกสัมผัสเหล่านั้นว่าเป็น Sixth Sense ก็ได้ หากใครก็ตามที่มีความสามารถเช่นนั้น ตัวอย่างก็คือ ปลาและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำบางชนิด มีสัมผัสพิเศษที่ทำให้มันสามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเพียงเล็กน้อย เสมือนได้จับต้องกับวัตถุที่อยู่รอบๆ ตัวมัน โดยมันไม่จำเป็นต้องไปสัมผัสหรือเห็นวัตถุนั้นเลย สัตว์หลายชนิดสามารถใช้อวัยวะของมันเพื่อตรวจดูสิ่งแวดล้อม ด้วยรังสีอินฟราเรด คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ คลื่นเสียงอัลตราซาวด์ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษเหมือนพวกเรา ด้วยเหตุนี้ ทีมของศาสตราจารย์เฮมเมน จึงสนใจค้นคว้าสัมผัสพิเศษของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ โดยหวังว่าสักวันหนึ่ง เราอาจจะสร้างสัมผัสประดิษฐ์แบบนี้ให้แก่หุ่นยนต์ได้