16 กันยายน 2552

The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 4/8)


ช่วง 2-3 วันนี้ผมมาทำงานภาคสนามที่ไร่องุ่นครับ เลยนึกอยากจะเขียนอะไรที่เกี่ยวกับเกษตรสักหน่อย จะได้กลมกลืนกับบรรยากาศป่าเขา คืนนี้ผมนอนอยู่ในไร่ ข้างนอกมืดและก็เงียบมากเลยครับ แต่มีอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่งทีมวิจัยของเราได้มาติดตั้งระบบ Wi-Fi ที่สามารถใช้ในบริเวณกว้างในไร่ ก็เลยยังรู้สึกไม่เหงาเท่าไหร่ครับ

วันนี้ผมขอคุยต่อเกี่ยวกับ อนาคตของเกษตรกรรมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า จากปัญหาประชากรที่มากขึ้น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การปลูกพืชมีผลผลิตที่ลดลงนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการสร้างพืชซูเปอร์เก่งหรือ Supercrop ขึ้นมาให้ได้ครับ ซึ่งตอนนี้นักวิทยาศาสตร์สนใจที่จะสร้างยอดมันสำปะหลังขึ้นมา เพราะมันเป็นพืชอาหารที่มีราคาถูก แถมสามารถขึ้นได้ในสภาพอากาศที่ยอดแย่ เจ้ามันสำปะหลังนี้มีผู้คนใช้มันเป็นอาหารทั่วโลกอย่างน้อย 250 ล้านคน มันจึงเป็นพืชที่นักวิทยาศาสตร์อยากจะพัฒนาให้เป็นยอดพืชมากที่สุด

ปัญหาของมันสำปะหลัง ก็คือ มันเป็นอาหารที่มีเหล็ก สังกะสี วิตะมินเอ และวิตะมินอี ค่อนข้างน้อยไปหน่อย นักวิทยาศาสตร์ก็เลยอยากจะพัฒนาพันธุกรรมของพืชชนิดนี้ให้มีธาตุอาหารสำคัญๆ ให้มากขึ้น และมีความทนทานต่อเชื้อไวรัสที่มักจะเข้าทำลายพืชชนิดนี้ โครงการ Biocassava Plus ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิบิลแอนด์เมลินดา เกตส์ ได้พัฒนายอดมันสำปะหลังขึ้นมาด้วยวิธีพันธุวิศวกรรม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการทดลองในระดับผลิตจริงในหลายประเทศในทวีปแอฟริกาแล้ว ซึ่งประเทศเหล่านี้ไม่สนใจว่าพืชดังกล่าวจะเป็น GMO หรือไม่ ขอให้มีกินไว้ก่อนเป็นใช้ได้


ถึงแม้พืช GMO จะถูกต่อต้านเพียงไรก็ตาม นักวิเคราะห์ก็ยังเชื่อว่า วันหนึ่งยอดพืชหรือ Supercrop จะต้องเป็นอนาคตของเกษตรกรรมแน่ๆ ครับ