สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงวัย นับวันก็จะมีแต่ผู้สูงวัยเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด จริงๆ แล้วเมืองไทยก็มีมากไม่แพ้กันหรอกครับ จากข้อมูลที่รายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณว่าในปี ค.ศ. 2007 มีประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทย (อายุมากกว่า 60 ปี) อยู่ 7 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 65.7 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 11) และจะเพิ่มจำนวนขึ้นไปเป็น 14.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 72 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 20) ในปี ค.ศ. 2025
เมื่อเป็นอย่างนี้ ประเทศญี่ปุ่นเลยให้ความสนใจในเรื่องของผู้สูงวัยเป็นพิเศษ มีการทำวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับช่วยเหลือผู้สูงวัยออกมามากมาย ก่อนหน้านี้ผมก็เคยนำเรื่อง หุ่นยนต์สวมใส่สำหรับชาวนา ที่พัฒนาโดย ศาสตราจารย์ Shigeki Toyama แห่ง Tokyo University of Agriculture and Technology มหาวิทยาลัยแห่งนี้ผมก็เคยไปเยี่ยมชมมาแล้วครับ
ล่าสุดมีข่าวคราวความคืบหน้าในเรื่องชุดหุ่นยนต์สวมใส่ได้ สำหรับผู้สูงวัย โดยบริษัท Cyberdyne ได้ออกมาเปิดเผยว่ากำลังทดลองชุดหุ่นยนต์ HAL (Hybrid Assistive Limb) ในท้องถนนของกรุงโตเกียว เพื่อศึกษาการใช้งานในชีวิตจริงของชุดหุ่นนี้ เพื่อเตรียมสำหรับการทำตลาดในอนาคตอันใกล้ เมื่อผู้สูงวัยสวมใส่ชุด HAL พลังแห่งหนุ่มสาวจะกลับคืนมา มันจะช่วยขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อใดก็ตามที่เราคิดอยากจะทำ เช่น ลุกจากเก้าอี้ เดิน ปีนป่าย ขึ้นลงบันได ยกของ และอื่นๆอีกมากมาย ชุดนี้สามารถที่จะทำงานได้ 5 ชั่วโมงก่อนที่จะต้องชาร์จแบตเตอรีรอบใหม่
เจ้าชุดหุ่นยนต์ HAL นี้มีเซ็นเซอร์ซึ่งจะวัดสัญญาณคำสั่งให้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อจากสมอง โดยเซ็นเซอร์นี้อยู่บนผิวหนัง เมื่อเราสั่งแขนขาให้ขยับเคลื่อนไหว เซ็นเซอร์จะตรวจจับได้ ซึ่งมันจะออกคำสั่งให้กลไกของชุดนี้เคลื่อนไปในจังหวะเดียวกัน และไปทางเดียวกันกับที่กล้ามเนื้อเคลื่อนไป มันจึงช่วยทุ่นแรงผู้สวมใส่ การยกของหนักจะกลายเป็นเบา เพราะมันช่วยออกแรงให้ไงครับ ชุด HAL มีอยู่ 3 ขนาดให้เลือกครับ คือ Small, Medium และ Large ซึ่งมีน้ำหนักของชุดประมาณ 23 กิโลกรัม บริษัท Cyberdyne ให้ผู้สูงวัยเช่าใช้ชุด HAL ได้ในราคาเดือนละ 150,000 เยน (หรือประมาณเดือนละ 40,000 บาท) สำหรับชุด HAL ขาเดียว และเดือนละ 220,000 บาท สำหรับชุดที่มี 2 ขา
ประเทศไทยน่าจะมีการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงวัยบ้างนะครับ อย่างน้อยคนทำเองก็จะได้ใช้เองด้วยหลังเกษียณอายุ .......