27 ตุลาคม 2550

Plastic Electronics - ยุคใหม่ของอิเล็กทรอนิกส์มาถึงแล้ว


บ่ายนี้ nanothailand จะบินไป Frankfurt ประเทศเยอรมันเพื่อเข้าร่วมนิทรรศการ The 3rd Global Plastic Electronics Conference & Showcase ซึ่งจะจัดที่โรงแรมเชอราตันที่ตั้งอยู่ภายในสนามบินนานาชาติ Frankfurt นั่นแหละครับ ถ้ามีโอกาสต่ออินเตอร์เน็ตเมื่อไหร่ ก็จะนำบรรยากาศของงานมาเล่าให้ฟังนะครับ งานนี้ถือเป็นงานยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง ในวงการอุตสาหกรรมพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมนี้ถือเป็นอุตสาหกรรมที่โตเร็วมากๆ พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึงการประยุกต์ใช้พลาสติกนำไฟฟ้าหรือโมเลกุลอินทรีย์เพื่อสร้างวงจรหรือเป็นฐานรองสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อันมีผลทำให้เกิดกระบวนการใหม่ในการประกอบอุปกรณ์ รวมไปถึงคุณสมบัติใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการประยุกต์ใช้งานได้เพิ่มเติมหรือใหม่ไปจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีคำศัพท์ใหม่ๆ ที่ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว เช่น Organic Electronics, Flexible Electronics, Printed Electronics, Electronic Textile, Rollable Electronics, Foldable Electronics แม้กระทั่ง Edible Electronics ก็ยังมี พวกนี้ล้วนเป็นคำที่เรียกสิ่งที่อยู่ในวงการ Plastic Electronics ที่กำลังจะบูมในอีกไม่ช้านี้ ทั้งนั้นล่ะครับ


ในงานนิทรรศการครั้งนี้ จะมีนักวิทยาศาสตร์และนักอุตสาหกรรม มาร่วมบรรยายทั้งหมด 135 คน หัวข้อสัมมนาก็มี Flexible Displays, Lighting & Signage, Photovoltaics, Organic Based Sensors, Organic labels & Tags, Smart Packaging, Smart Textiles, Fuel Cells & Batteries และก็พวก Hybrid Electronics ด้วย นอกจากนั้นพวกบริษัทต่างๆ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ ของอุตสาหกรรมนี้ก็จะหอบเอาสินค้าต้นแบบ หรือ สินค้าตัวอย่างมาอวดกันด้วยครับ


รถไฟขบวนใหม่ที่มีชื่อว่า “พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์” กำลังจะเข้าเทียบชานชาลาประเทศไทยในอีกไม่ช้านี้ ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านปิโตรเคมีซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งมีความเข้มแข็งในด้านอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่สามารถแปรเปลี่ยนมาเป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำของพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ได้ รวมทั้งยังมีอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดที่ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ เท่านี้น่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้เราตัดสินใจขึ้นขับรถขบวนนี้ แทนที่จะปล่อยให้รถขบวนนี้จากไปเหมือนกับหลายๆขบวนที่เคยผ่านมา ……..


(ภาพด้านบน - การทำ Plastic Electronics สามารถทำได้หลากหลายวิธี ทั้งแห้งและเปียก เช่น การทำ Screen Printing อย่างที่เห็นในรูป)

25 ตุลาคม 2550

ใกล้เข้ายุคนาโนอุตสาหกรรมแล้ว ไทยต้องรีบตื่นตัว



นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา นาโนเทคโนโลยีได้กลายมาเป็นกระแสตื่นตัวไปทั่วโลก ได้เกิดโปรแกรมการสนับสนุนการวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีในระดับวาระแห่งชาติในหลายประเทศ ประเทศไทยเองได้ริเริ่มโครงการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2546 ห่างจากสหรัฐอเมริกาเพียง 3 ปีเท่านั้น ทำให้ประเทศไทยไม่ตกกระแสการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ประเทศคู่แข่งของไทย ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ล้วนแล้วแต่มีโครงการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติเหมือนกัน โดยทั้งสามประเทศเริ่มเน้นหนักไปในเรื่องของการพัฒนานาโนเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม ในระยะ 2-3 ปีมานี้ อุตสาหกรรมไทยหลายแขนงแสดงความต้องการที่จะนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงการผลิต หรือ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือ เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ เช่น ปตท. ซีเมนต์ไทย เบทาโกร บริษัทเหล่านั้นตระหนักว่าบริษัทคู่แข่งต่างชาติต่างมีเทคโนโลยีนี้ในมือ นอกจากนั้นยังมีบริษัทขนาด SME จำนวนมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ที่มีความต้องการนาโนเทคโนโลยีเข้าไปใช้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เช่น บริษัทผลิตเลนส์แว่นตา บริษัทผลิตเครื่องกรองน้ำ บริษัทผลิตสุขภัณฑ์ บริษัทผลิตสี บริษัทผลิตวัสดุก่อสร้าง บริษัทผลิตเครื่องดื่ม ฯลฯ แม้แต่สปาก็ยังอยากมีนาโนเทคโนโลยีไปใช้เสริมแบรนด์


ประเทศไทยเองมีกลไกหลายอย่างพร้อมที่จะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมในประเทศเข้าสู่ยุคนาโนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานให้ทุนอย่าง สกว. ที่สนับสนุนงานวิจัยระดับพื้นฐาน ที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะสาขานาโนเทคโนโลยีนั้น พบว่า งานวิจัยพื้นฐานเท่านั้นที่สามารถเข้าไปเพิ่มมูลค่าสิ่งของในอุตสาหกรรมได้จริง สกอ. มีกลไกของหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator หรือ UBI) และ หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (Technology Licensing Office หรือ TLO) โดย UBI จะทำหน้าที่บ่มเพาะ emerging ideas, emerging innovation, emerging business ให้สามารถเป็นบริษัทตั้งใหม่หรือ Start-Up Company ให้ได้ ซึ่ง ประเทศไทยเราขาดมาก ในขณะที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวียมีความก้าวหน้าทางด้านนี้สูงมาก ส่วนงานวิจัยระดับบนๆ ที่เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปเสริมความแข็งแกร่งของคลัสเตอร์หลักๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ยานยนตร์ ยางพารา กุ้ง อิเล็กทรอนิกส์ ก็มีหน่วยงานอย่าง สวทช. ดูแลอยู่ โดยเฉพาะ NECTEC นั้นปีหน้าเขาเน้นเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่จะมีผลกระทบสูงต่อวิถีชีวิตในโลกอนาคต เช่น Smart Home, Smart Farm, Plastic Electronics ซึ่งแน่นอน นาโนเทคโนโลยีก็เป็นองค์ประกอบของเทคโนโลยีเกิดใหม่เหล่านั้นด้วย


(ภาพด้านซ้าย - คลิ๊กที่รูปเพื่อขยาย - แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการตั้งศูนย์เฉพาะทางทางด้านนาโนศาสตร์ และ นาโนเทคโนโลยีในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นับวันจะมุ่งไปทางการประยุกต์ใช้ หรือ ทางอุตสาหกรรมมากขึ้น)

23 ตุลาคม 2550

ถนนที่ซ่อมตัวเองได้ - Self Healing Road


หายไปหลายวันเลยครับ เพิ่งจะกลับมาจากงาน วทท. 33 ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ. นครศรีธรรมราช จริงๆ งานจบไปตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม แล้ว แต่ nanothailand ไปรถตู้ครับ เลยแวะพักระหว่างทางที่ประจวบฯ จังหวัดที่เขาไม่เอาโรงไฟฟ้าครับ หาดทรายเลยยังสวยงาม ธรรมชาติน่าชื่นชมอยู่ งาน วทท. ปีนี้เริ่มงานยิ่งใหญ่ แต่จบแบบกร่อยๆ เหงาๆ ยังไงก็ไม่รู้ สงสารคนจัดเหมือนกัน เพราะวันสุดท้ายแทบไม่เหลือใครแล้ว วทท. ปีนี้เจออุปสรรคมากมายเหลือเกิน เริ่มตั้งแต่ร่องความกดอากาศต่ำเข้าปกคลุม ทำให้ฝนตกหนักตั้งแต่วันเริ่มงาน คนที่มางานก็เจอปัญหาไม่มีที่นอน nanothailand เจอโรงแรมแกรนด์ปาร์คโกงห้องพักไป 4 ห้อง คือจองไปแล้ว แต่เขาเอาห้องไปให้คนอื่น ก็ได้แต่ทำใจ พอไปหาโรงแรมใหม่ได้ มารู้ทีหลังว่าเป็นโรงแรมผีดุ นอนกันไม่ค่อยจะหลับ โชคดีที่ได้โรงแรมทักษิณ ที่จองเผื่อเหลือเผื่อขาดช่วยเอาไว้ จริงๆ ก็เห็นใจผู้จัดนะครับ งานใหญ่ๆ ระดับนี้ ต้องใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก แต่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่มีทรัพยากรจำกัด แถมธรรมชาติไม่เป็นใจอีก งานนี้เลยทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมหลายๆ คนแหง่วไปเลย (แหง่ว = ไปแอ่วแล้วเหงา) บางคนไปถึงยังไม่ทันเข้าประชุม แต่ไม่มีที่นอน ตีรถกลับก็มี

การไปรถตู้ก็ดีเหมือนกัน ทำให้เราได้ใช้ทางหลวงเป็นระยะทางไปกลับเกือบ 2000 กิโลเมตร nanothailand พบว่าถนนหนทางมีการสร้าง ซ่อมแซม กันตลอดเวลา ไม่เคยหยุดหย่อน เพราะมันพังได้ตลอด ถนนที่สร้างเสร็จใหม่ๆ เป็นสวรรค์ของผู้ขับขี่ ต้องรีบใช้เลยเพราะอีกไม่นานผิวทางก็จะเสื่อมและพัง ถนนพระราม 2 เป็นตัวอย่างของถนนที่สร้างไม่เคยเสร็จ เพราะมีการซ่อมแซมตลอดเวลา กรมทางหลวงสหรัฐเขาใฝ่ฝันไปถึงถนนที่มีความสามารถในการซ่อมบำรุงตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยได้ให้งบประมาณแก่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เพื่อค้นคว้าหาวัสดุที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ เบื้องต้นนั้นทางคณะวิจัยได้คิดค้นพอลิเมอร์ที่สามารถซ่อมแซมรอยแตก โดยการบรรจุสารซ่อมแซมเข้าไปในแค็ปซูลจิ๋ว โดยเมื่อวัสดุเกิดรอยแตก แค็ปซูลจิ๋วจะปล่อยสารเคมีออกมา ซึ่งจะซึมเข้าไปในรอยแตกได้เองด้วยแรงธรรมชาติ แล้วเกิดปฏิกริยาเคมีประสานผิวรอยแตกนั้น ทำให้หยุดการขยายวงเสียแต่เนิ่นๆ ซึ่งได้เริ่มมีการทดลองในเวอร์ชันที่ใหญ่กว่า กล่าวคือ ใช้การบรรจุสารเคมีเข้าไปในเส้นใยจิ๋ว โดยนำไปผสมกับคอนกรีต เมื่อคอนกรีตเกิดการแตกร้อย เส้นใยจิ๋วนี้จะแตกด้วยแล้วปล่อยสารประสานรอยร้าวออกมา ซึ่งเป็นที่ต้องการในงานวางคานและตอม่อสะพานมาก เนื่องจากโดยวิธีปกติเมื่อมีรอยแตกร้าว จะต้องมีการอัดฉีดอีป็อกซีเข้าไป ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก หากเทคโนโลยีนี้พัฒนาไปจนถึงระดับที่ใช้งานจริง อีกหน่อยการเดินทางด้วยรถยนต์จะน่าภิรมย์ปานใด ลองคิดดูสิครับ ..... เรื่องนาโนเทคโนโลยีที่นำไปใช้ทำให้ถนนดีขึ้นเนี่ย วันหลัง nanothailand จะนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครับ

(ภาพข้างบนไม่ใช่ self healing road นะครับ แต่นำภาพถนนที่ซ่อมปะจนเกือบไม่เหลือที่ให้พังแล้ว มาโชว์ให้ดู)

16 ตุลาคม 2550

Smart Battlefield - สนามรบอัจฉริยะ


การบรรจบกันของเทคโนโลยีหลายชนิด (Convergence Technologies) ทั้ง เทคโนโลยีสื่อสาร เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ Biomimetic Engineering เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ไร้สายและ นาโนเทคโนโลยี กำลังจะทำให้การทหาร และสงครามสมัยใหม่ มีทั้งความน่ากลัวและความปลอดภัยมากขึ้น ที่น่ากลัวก็คือหากทหารฝ่ายเราไม่มีเทคโนโลยี Smart Battlefield นี้ก็จะแพ้ 100% ที่ปลอดภัยก็คือ ความสูญเสียต่อพลเรือน แม้กระทั่งตัวทหารเองจะลดลงมาก จนกระทั่งผลแพ้-ชนะ อาจตัดสินกันในไม่กี่ชั่วโมง โดยผู้ที่ทำการรบอาจไม่เคยเห็นหน้ากันเลย เทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่กล่าวขานกันมากในวงการทหาร ก็คือ เทคโนโลยีหุ่นยนต์จิ๋ว ที่เรียกว่า millibot, microbot หรือแม้แต่ nanobot เป็นการนำกองทัพหุ่นยนต์ตัวเล็ก จัดตั้งเป็นกองกำลัง ที่สามารถสื่อสารกันเป็นเครือข่าย แล้วส่งไปจัดการกับข้าศึกในรูปแบบต่างๆ เช่น การสืบราชการลับ ลาดตระเวณ ไปจนกระทั่งทำลายข้าศึก


จะว่าไปแล้ว แนวความคิดในการทำสงครามในลักษณะนี้เป็นความฝันมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น สหรัฐเคยมีแนวคิดในการสร้างผึ้งมรณะเพื่อจัดการข้าศึก แต่ก็ไม่สามารถควบคุมมันได้ แต่ millibot ไม่ใช่สัตว์ เราสามารถควบคุมมันได้ มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon เป็นผู้บุกเบิกในการพัฒนากองทัพหุ่นยนต์ที่ทำงานประสานกันเป็นทีมเวอร์ค มหาวิทยาลัยฮาร์วาดกำลังพัฒนาหุ่นยนต์แมลงมีปีกที่เรียกว่า flybot เพื่อใช้สอดแนมข้าศึก กองทัพอังกฤษก็กำลังพัฒนาหุ่นยนต์แมลงที่ใช้พลังงานจากสารอินทรีย์ โดยสามารถปล่อยออกไปให้หาอาหารกินเอง โดยจะจับแมลงกินแล้วย่อย นำเอาสารอินทรีย์มาใช้ สงครามในอนาคตจึงเป็นเรื่องของเทคโนโลยีจิ๋ว ที่กองทัพไทยน่าจะลองหันมาสนใจบ้างนะครับ



nanothailand จะไปงาน วทท. ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระหว่าง 17-23 ตุลาคม 2550 นี้นะครับ จะพยายาม update เท่าที่ทำได้นะครับ แล้วจะแถมกลิ่นอายของริมทะเลมาฝากกันด้วย .......

15 ตุลาคม 2550

Boutique Road - ถนนสายบูติค

ฟังชื่อบทความนี้แล้ว ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า nanothailand กำลังจะพาท่านไปตะลุยแถวย่านสยามสแควร์ ป่าวครับ จริงๆ แล้วไม่ใช่เลยครับ Boutique Road ที่ nanothailand กำลังพูดถึงอยู่นี้ หมายถึงถนนที่ทำให้เกิดชีวิตสบายๆ ไม่สร้างภาระให้แก่เมือง เป็นถนนที่ทำความสะอาดตัวเองได้ ทำความสะอาดอากาศที่อยู่เหนือมันได้ อีกทั้งยังสร้างความสบายตาแก่บริเวณนั้น ไม่ใช่แค่เพียงพื้นถนนเท่านั้นที่มีความเป็นบูติค สิ่งประกอบอื่นๆที่อยู่กับมัน ไม่ว่าไฟจราจร ที่กั้นขอบทาง ป้ายสัญญาณต่างๆ ก็สามารถทำความสะอาดตัวเองได้ และคงความสวยงามได้ยาวนาน นักวิจัยได้พัฒนาพลาสติกที่สามารถนำไปเคลือบผิวป้ายจราจร และสัญญาณไฟ โดยพลาสติกเคลือบเหล่านั้นมีความขรุขระในระดับนาโน แบบเดียวกับใบบัวในธรรมชาติ ซึ่งเมื่อมีสิ่งสกปรกมาเกาะบนใบบัว มันจะไม่สามารถเกาะได้แน่น เมื่อมีฝนตกลงมา หยดน้ำจะไม่สามารถเกาะบนผิวใบบัวได้เพราะมันมีผิวที่ไม่ชอบน้ำ น้ำจึงมีสภาพเป็นก้อนกลมที่กลิ้งไปบนผิว และสามารถชำระอนุภาคของสิ่งสกปรกออกไปได้ สีที่ใช้ทาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของถนน ไม่ว่าจะเป็นสะพาน ราวกั้นขอบทาง ก็มีส่วนผสมของอนุภาคนาโนไททาเนีย ที่มีความสามารถในการทำความสะอาดตัวเองได้เมื่อมีพลังงานแสง แอสฟัลต์ที่ใช้ปูพื้นถนนที่มีความสามารถในการทำความสะอาดตัวเองนี้ ได้มีการทดลองในหลายพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น และยุโรปแล้ว เสียดายจังครับที่เมืองไทยของเรา ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย ทั้งๆ ที่ในเมืองไทยเราก็มีคนที่สามารถเตรียมอนุภาคนาโนไททาเนียในปริมาณมากๆ ได้ nanothailand เคยไปเห็น ดร. เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล พาไปดูกระสอบอนุภาคไททาเนียเป็นกองๆ เลย น่าจะมีใครเอามาปูพื้นถนนสีลมสักช่วงหนึ่งก็ยังได้


ถนนสายบูติคนี่แหละครับ จะเป็นส่วนหนึ่งของ Boutique Economy ที่ nanothailand เคยพูดถึงก่อนหน้านี้ Boutique Economy ยังไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยครับ เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่คนไทยอาจจะไม่คุ้นหูนัก เศรษฐกิจแบบบูติกเป็นพัฒนาการลำดับขั้นที่สูงขึ้นไปจาก Experience Economy ซึ่งสูงกว่า Knowledge-Based Economy, Industrial Economy และ Agriculture-Based Economy ตามลำดับ เศรษฐกิจแบบบูติกนี้ ผู้คนมีความเป็นอยู่แบบ มีความสุขกันทั่วหน้า อุตสาหกรรมไม่ปล่อยควันพิษและของเสียอีกต่อไป ถนนหนทาง บ้านเรือน ตึกรามอาคารต่างๆ ใช้วัสดุนาโนที่ทำความสะอาดตัวเองได้ การคมนาคมขนส่งใช้พลังงานสะอาด อาคารธุรกิจเป็นอาคารฉลาด มีระบบดูแลการใช้พลังงาน และบรรยากาศภายใน ฟังดูน่าอยู่ใช่ไหมครับ

(ภาพด้านบน - คลิ๊กที่ภาพให้ใหญ่ขึ้น - ถนนที่ทำความสะอาดตัวเองได้มีการทดลองแล้ว)

13 ตุลาคม 2550

ความสวยงามของวัฒนธรรมทีม


ช่วงหลังๆ จะเห็นได้ว่าศิลปบันเทิงของเกาหลีตีตลาดเอเชียกระจุยกระจาย ไม่ว่าจะภาพยนตร์ ละคร ดนตรี รวมไปถึงการท่องเที่ยว เกาหลีใต้เขามีความแข็งแรงมากๆเลยครับ ในเรื่องของการทำงานเป็นทีม เขายกทัพเอาศิลปบันเทิงทุกอย่างออกมาขายข้างนอก โดยช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในวงการดนตรีของเกาหลีเอง วงดนตรีที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นวงดนตรีที่มีศิลปินหลายๆ คน ลองคลิ๊กไปดู Music Video ของวงโซนยอซิแดที่ http://www.pingbook.com/mv/list.php?id=247 ดูสิครับ เขาทั้งร้องทั้งเต้นได้สวยงามมากๆ มีเอกลักษณ์ในเรื่องท่าเต้น เขาทำงานประสานงานกันได้ดีมากๆ ในวงนี้จะดูไม่ออกเลยว่าใครเด่นที่สุด เพราะแต่ละคนจะส่งต่อจุดสนใจไปยังอีกคนเสมอๆ ความสวยงามของโซนยอซิแด จึงอยู่ที่การทำงานประสานกันทั้งทีม ลีลาท่าเต้นที่สอดคล้องกัน มี symmetry มี synchronization หากทีมวิจัยทางด้านนาโนของเรา สามารถรวมความเชี่ยวชาญ และทำงานประสานกันแบบนี้ได้ nanothailand ว่าเราเป็นที่หนึ่งในโลกในเรื่องนั้นๆ ได้เลย โซนยอซิแด เป็นวงดนตรีที่เล่นกัน 9 คน ถ้าเป็นทีมวิจัยก็ถือว่าเป็นทีมใหญ่ระดับ Center of Excellence แต่จริงๆ แล้วทีมเล็กก็อาจประสบความสำเร็จในระดับ Team of Excellence ได้เช่นกัน ลองคลิ๊กไปชม Music Video ของวง KARA ที่ http://www.pingbook.com/mv/list.php?id=160 ดูสิครับ เขาเป็นวงดนตรีระบบทีมขนาดกะทัดรัดที่โดดเด่นมากๆ ดึงจุดเด่นของแต่ละคนมาสร้างเอกลักษณ์เฉพาะได้ ถึงจะมีจำนวนคนน้อยกว่าโซนยอซิแด เขาก็ทำได้ดีในระดับสู้ได้ หากลองสังเกตเพลง โซนยอซิแดเน้นเพลง Dance ที่ไปเรื่อยๆ โดยมีการไหลของดนตรีแบบยาวๆ แต่ KARA จะเน้นดนตรีเป็นจังหวะ เพราะตัวเล่นน้อยกว่า มีการย้อนของท่อนเพลง ทำดนตรีไหลยาวมากไม่ได้ เพราะตัวเล่นน้อยกว่า การทำวิจัยทางนาโนก็เหมือนกัน ทีมเล็กก็สู้ทีมใหญ่ได้ แต่ต้องเลือกโจทย์ให้เหมาะกับขนาดของทีม และต้อง Focus ในความได้เปรียบของทีม

(ภาพด้านบนซ้าย - ศิลปินโซนยอซิแด, ภาพขวา - ศิลปิน KARA)

10 ตุลาคม 2550

Electronic Textile และ Wearable Electronics - รุ่งอรุณใหม่ที่สิ่งทอไทยต้องคิดทำ


สิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Textile) และ อาภรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Wearable Electronics) เป็นเรื่องที่คนไทยมักไม่ค่อยได้ยินกันนัก ไม่เหมือนกับเสื้อนาโนฉบับไทยแลนด์ ที่มีผู้ผลิตหลายต่อหลายเจ้านำออกมาจำหน่ายแล้ว ซึ่งมักจะทำได้แค่ฆ่าแบคทีเรีย ป้องกันกลิ่นอับเหม็นเท่านั้น ยังไม่สามารถทำฟังก์ชันฉลาดๆอย่างอื่นได้ แต่ขณะที่ประเทศที่ประกาศตัวเป็นแหล่งแฟชันสมัยใหม่ อย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน กำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยี Electronic Textile และ Wearable Electronics กันจ้าละหวั่น หวังจะเป็นผู้นำตลาดใหญ่ในอนาคต

ฟังก์ชันหน้าที่ของสิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากเสื้อนาโนธรรมดาๆ ที่พวกเราเคยได้ยินก็คือความสามารถทางด้านการประมวลผล และทำงานตามสั่ง ซึ่งทำให้เสื้อผ้าแบบนี้มีมูลค่าสูงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว สิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ เริ่มจากแนวคิดที่ว่ามนุษย์เราสวมใส่เสื้อผ้าไปไหนมาไหน เสมือนสิ่งของประจำกาย ในขณะที่คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ถึงแม้ในปัจจุบันจะพกไปไหนมาไหนได้ก็ตาม ก็ยังไม่เหมือนเสื้อผ้าที่มันติดตัวเราไปเองโดยไม่ต้องหิ้วไม่ต้องถือและไม่ต้องกังวลว่าจะลืม นั่นคือเราอยากทำให้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เหล่านั้นสวมใส่ได้ (Wearable Computing) และติดตามเราไปได้ทุกที่ และเพราะความใฝ่ฝันดังกล่าวนั่นเอง ได้นำมาสู่แนวคิดที่สูงขึ้นมาอีก นั่นคือ Ambient Intelligence หรือสภาพธรรมชาติอัจฉริยะ ซึ่งหากทำได้จริง ความสามารถในการประมวลผลจะเข้าไปอยู่ในทุกๆที่ แม้แต่ผิวเครื่องบิน (เสื้อผ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นแผ่นฟิล์มขนาดใหญ่ที่นำไปเคลือบผิวของเครื่องบินทิ้งระเบิด B2 ทั้งเครื่อง ทำให้ B2 มีความสามารถในการกระเจิงคลื่นเรดาห์) ซึ่งขณะนี้ได้มีการวิจัยวัสดุปีกเครื่องบินที่คล้ายๆ กับขนนกอินทรีย์ซึ่งสามารถลดกระแสแปรปรวนที่เกิดจากปีก โดยการลดกระแสลมแปรปรวนเล็กๆ (Microturbulence) ก่อนที่จะเกิดการสะสม โดยขนเล็กๆเหล่านั้นมีความสามารถในการรับรู้กระแสลม และตอบสนองโดยการกระดกขึ้นลง ขนเล็กๆเหล่านั้นทำงานประสานกันโดยการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายประมวลผล

แนวคิดเกี่ยวกับเสื้อผ้าฉลาดที่มีหัวคิด สามารถประมวลผลสิ่งเร้าและเลือกตอบสนองได้นั้น ถ้าจะให้เห็นภาพชัดเจนที่สุดก็คงจะเป็นภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดที่มีเฉินหลงนำแสดง ชื่อว่า "The Tuxedo" ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว พระเอกได้กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่มีความสามารถมากมายขึ้นมาทันทีที่ได้สวมใส่เสื้อทักซิโด้อัจฉริยะตัวนี้ ในโลกแห่งความเป็นจริง ถึงแม้ทักซิโด้ตัวนั้นยังไม่ได้มีการผลิตออกมาก็จริง แต่กลุ่มวิจัยต่างๆ ทั่วโลกกำลังสานฝันและจินตนาการของภาพยนตร์เรื่องนี้กันอย่างขมักเขม้น ประมาณกันว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดของสิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ หรือ ผ้านาโน จะโตถึง 400,000 ล้านบาท ...... ถึงเวลาที่สิ่งทอไทยต้องรีบคิดทำแล้ว .........................
(ภาพด้านบน - จินตนาการเกี่ยวกับความสามารถของเสื้อผ้าฉลาด คงไม่มีใครเกินภาพยนตร์เรื่อง The Tuxedo ที่เฉินหลงนำแสดง)

09 ตุลาคม 2550

นาโนเทคโนโลยีเพื่อการทหาร (Nano Defense)


“ความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยีกำลังจะทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลกที่ไร้เทียมทาน” ถึงแม้จีนจะไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ เพราะจีนเองก็กำลังทุ่มงบประมาณอย่างหนัก สำหรับการวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อการทหารเช่นกัน แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาได้ปรับบทบาทจาก “พี่ใหญ่ของโลกเสรี” มาเป็น “ตำรวจโลก” ที่ต้องรักษาความสงบสุขรอบโลก รูปแบบการจัดกำลังรบของสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก จากการมีฐานทัพขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศต่างๆที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ มาเป็นกำลังรบขนาดเล็กลง และลอยน้ำโดยตั้งอยู่กระจัดกระจายครอบคลุมเกือบทั้งโลก กำลังรบที่เล็กลงนี้มีความคล่องตัวและเคลื่อนที่ได้รวดเร็ว อีกทั้งสามารถจะไปรวมตัวยังจุดใดจุดหนึ่งก็ได้เมื่อถูกเรียกใช้

ในปี ค.ศ. 2002 กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้อนุมัติเงินกว่า 2,000 ล้านบาทเพื่อก่อตั้ง สถาบันนาโนเทคโนโลยีทหาร (Institute of Soldier Nanotechnologies) ขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมซซาจูเซตต์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาชุดทหารแห่งอนาคต สถาบันดังกล่าวประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จำนวน 60 คน จากภาควิชาทั้งหมด 12 ภาควิชา เช่น ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมวัสดุ ชีววิทยา เป็นต้น บวกกับนักศึกษาระดับปริญญาเอกกว่า 100 ชีวิต ดำเนินการวิจัยมุ่งเป้าโดยครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เพื่อทำให้ทหารอเมริกัน มีความสามารถในการอยู่รอดได้เพิ่มขึ้น นับเป็นโครงการใหญ่โครงการแรก ที่มุ่งเป้าไปที่ตัวทหารที่เป็นบุคคล มากกว่าระบบอาวุธเหมือนที่ผ่านมา โครงการวิจัยของสถาบันนาโนเทคโนโลยีทหาร เน้นหัวข้อเชิงกลยุทธ์ 5 หัวข้อ ได้แก่ (1) Light Weight, Multifunctional Nanostructured Fibers and Materials (2) Battle Suit Medicine (3) Blast and Ballistic Protection (4) Chem/Bio Materials Science - Detection and Protection (5) Nanosystems Integration

เมื่อโครงการนี้พัฒนาไปถึงขีดสุด สิ่งที่ทหารราบสหรัฐจะได้รับก็คือ น้ำหนักของสัมภาระส่วนตัวจะลดลงจาก 45 กิโลเหลือแค่ 10 กิโลเท่านั้น อาวุธประจำกายที่พัฒนาขึ้นไปอีก โดยใช้นาโนวัสดุที่มีน้ำหนักเบาและมีอำนาจการยิงสูง ชุดเกราะที่ทำจากเส้นใยนาโนที่เบาและใส่สบายแถมมีอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่วัดสภาพร่างกายเช่น อัตราชีพจร อุณหภูมิ ความดัน และส่งข้อมูลตรงไปที่กองบัญชาการภาคสนาม ซึ่งสามารถมอนิเตอร์สัญญาณชีวิตของทหารแต่ละนาย มีนาโนเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจสอบสารเคมีและเชื้อโรค ชุดทหารอัจฉริยะเหล่านี้ฝังคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่เชื่อมโยงสัญญาณจากเซ็นเซอร์ต่างๆด้วยเส้นใยที่นำไฟฟ้าทักทอไปพร้อมกับใยผ้า มีระบบระบายความร้อนแบบเทอร์โมอิเล็กตริก ทำให้นักรบเหล่านี้สามารถปฏิบัติการในทะเลทรายตลอดวันได้โดยไม่เหนื่อยเพลีย ภายนอกของชุดมีเซ็นเซอร์ตรวจสอบสภาพของแสงรอบข้าง และจะปรับชุดให้สามารถพรางตัวได้ เช่น หากอยู่ในหิมะจะเป็นสีขาว ในป่าจะมีสีเขียว เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นชุดที่ทำความสะอาดตัวเองได้ ไม่เปื้อนเลนหรือโคลน เหมือนใบบัวที่ไม่เปียกน้ำและสะอาดใสปิ๊งตลอดเวลา อุปกรณ์ทุกอย่างได้พลังงานมาจากแบตเตอรีความจุสูงน้ำหนักเบาที่ทำจากวัสดุนาโน โดยจะประจุไฟเข้าไปเก็บในเวลากลางวันโดยใช้เซลล์สุริยะ โดยขณะนี้ทางเพนตากอนได้ทดลองเซลล์สุริยะแบบพลาสติกที่พับเก็บได้ในภาคสนามแล้ว ลักษณะเหมือนม่านบังแดดหน้ารถ หมวกทหารก็จะเปลี่ยนไป จากหมวกเหล็กที่แสนจะธรรมดา มาเป็นหมวกที่มีฝาครอบเหมือนหมวกกันน็อกของสิงห์นักบิด หากแต่หมวกทหารใบนี้นอกจากจะกันกระสุนแล้ว ฝาครอบยังเป็นเสมือนจอดิสเพลย์ที่แสดงผลข้อมูลที่ทหารจำเป็นต้องรู้ โดยสามารถควบคุมด้วยเสียงพูด มีอุปกรณ์มองเห็นด้วยรังสีอินฟาเรดสำหรับเวลากลางคืน ยานพาหนะที่จะนำทหารหน่วยนี้ไปรบก็จะมีความพิเศษกว่าตรงที่ ยานเหล่านี้ติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้รอบทิศทาง ถ้ามีการจู่โจมจากอาวุธจรวดก็สามารถตอบโต้โดยอัตโนมัติด้วยการยิงกระสุนที่สามารถแตกสะเก็ดเพื่อทำลายจรวดที่พุ่งเข้ามาก่อนจะถึงพาหนะ วัสดุที่ใช้ทำเกราะก็หนีไม่พ้นวัสดุที่ใช้ส่วนผสมของท่อนาโนคาร์บอนที่มีความแข็งแกร่งสูงมาก

ฟังดูแล้วเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ในทางการทหารนั้น การสร้าง Surprise ให้แก่ศัตรู คือการมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว .......
(ภาพข้างบน - คลิ๊กที่รูปเพื่อขยายให้ใหญ่)

08 ตุลาคม 2550

ยุครุ่งเรืองของ Biomedical Engineering ไทยต้องขี่กระแสก่อนจะสาย


ปีหน้านี้เป็นปีทองของ Biomedical Engineering ซึ่งกลายมาเป็น Global Phenomenon ไปแล้ว มีการจัดประชุมในทุกทวีปตั้งแต่อเมริกา ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก มาจนถึงเอเชียเรา โดยเฉพาะ ประเทศทางเอเชียจะมีงานประชุมใหญ่ๆ หลายงาน ตั้งแต่ก่อนสิ้นปีพ.ศ. 2550 นี้ ก็จะมีการจัดประชุม The 1st Symposium on Thai Biomedical Engineering (ThaiBME2007) ซึ่งมีมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม 2550 ถึงแม้จะเป็นแค่การประชุมระดับชาติ แต่ได้ยินมาว่ายิ่งใหญ่แน่นอน เพราะจะเป็นจุดเริ่มในการรวมตัวของกลุ่ม Biomedical Engineering ใหญ่ๆ 3 กลุ่ม ซึ่งนับแต่นี้ต่อไปก็จะรวมตัวกันทำกิจกรรมด้วยกัน

พอเริ่มปี 2008 ก็จะมีการประชุม Iranian Conference on Biomedical Engineering จัดวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งเป็นครั้งที่ 14 แล้ว ฟังดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าประเทศสุดโต่งอย่างอิหร่านนี้จะมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านนี้เหมือนกัน จากนั้นก็ตามมาด้วย Biosensors 2008 - The 10th World Congress on Biosensors ซึ่งจะจัดที่นครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 14-16 พฤษภาคม 2550 งานนี้เป็นงานใหญ่ระดับโลกเลยทีเดียว ยังไม่ทันที่งานนี้จะจบ ก็จะมีงาน The 2nd International Conference on Bioinformatics and Biomedical Engineering ระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2550 ซึ่งก็จัดที่นครเซี่ยงไฮ้เหมือนกัน เสน่ห์ของเซี่ยงไฮ้ทำให้ได้รับความไว้วางใจในการจัดประชุมวิชาการ ในสาขาใหม่ๆ ฮ็อตฮิต หลายต่อหลายงานแล้ว แต่ทำไมคนก็ยังไม่เบื่อที่จะไปจัดที่เมืองนี้ และก่อนจะออกจากเมืองจีนก็จะมีอีกงานคือ The International Conference on BioMedical Engineering and Informatics (BMEI2008) จัดที่เมือง Sanya บนเกาะไหหนาน ระหว่างวันที่ 27-30 พฤษภาคม 2550


จากนั้นระหว่างวันที่ 25-28 มิถุนายน 2550 ก็จะมีงาน BioMed 2008 ที่กัวลาลัมเปอร์ ฟังแล้วจะหนาวว่าเขาจัดงานนี้มาตั้งแต่ปี 2000 ปีนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว มาเลเซียเขากะว่าจะให้การประชุมนี้เป็นตัวแทนของกิจกรรมในภูมิภาคนี้เลย แต่สิงคโปร์จะยอมหรือเปล่างานนี้ เพราะเขาได้ตระเตรียมงานยิ่งใหญ่ปิดท้ายปี 2008 ที่มีชื่อว่า 13th International Conference on Biomedical Engineering (ICBME2008) โดยจะจัดในช่วงที่ประเทศสิงคโปร์สวยที่สุด คือในเดือนธันวาคม (3-6 ธันวาคม) อันเป็นเวลาที่ถนนออร์ชาดจะประดับประดาไฟ และต้นคริสต์มาสตลอดทั้งสาย สร้างสีสันให้แก่การประชุมมากๆ เรียกว่าไปแล้วคุ้มค่า

(ภาพข้างบน - คืนข้ามปีของถนน Orchard ในสิงคโปร์ ที่ประดับประดาไฟอย่างสวยงาม ทำให้หลายต่อหลายคน อยากไปเยือนสิงคโปร์ในช่วงเดือนธันวาคม งานประชุมวิชาการหลายๆ งานของสิงคโปร์ก็เลยต้องสนองความต้องการนักวิจัยที่มีหัวใจ romance ทั้งหลาย)

05 ตุลาคม 2550

นาโนสถาปัตยกรรมศาสตร์ (Nanoarchitectonics)


นาโนสถาปัตยกรรมศาสตร์ (Nanoarchitectonics) เป็นศาสตร์แห่งการออกแบบสิ่งปลูกสร้างขนาดจิ๋ว ซึ่งได้หลอมรวมวิชาการจากหลายๆ แขนงเข้ามา ตั้งแต่ ฟิสิกส์ เคมี เทคโนโลยีสารสนเทศ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมโครงสร้าง วัสดุศาสตร์ และที่ขาดไม่ได้คือ สถาปัตยกรรมศาสตร์ นาโนสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นศาสตร์ใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงในแวดวงวิชาการและแวดวงอุตสาหกรรมของโลก แต่กลับได้รับความสนใจน้อยมากในประเทศไทย มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายๆแห่งถึงกับมีการจัดตั้งสถาบันออกแบบโมเลกุล หรือ สถาบันออกแบบวัสดุ ขึ้นมาเพื่อทำการผลิตนาโนสถาปนิกโดยเฉพาะ อาทิเช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ซานฟรานซิสโก สถาบันเทคโนโลยีแห่งจอร์เจีย (โดยการสนับสนุนจากกองทัพเรือ) มหาวิทยาลัยฮุสตัน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบอร์คลีย์ มหาวิทยาลัยโตรอนโต (แคนาดา) มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ทั้งนี้ยังไม่รวมกลุ่มวิจัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก

เนื้อหาของนาโนสถาปัตย์ครอบคลุมการออกแบบโครงสร้างขนาดนาโน อุปกรณ์ เครื่องจักรกลจิ๋ว ไปจนถึงหุ่นยนต์นาโน โดยเน้นการสร้างจาก “ล่างขึ้นบน” (Bottom-Up Approach) ความสามารถในการประกอบตัวเอง (Molecular Self Assembly)โครงสร้างนาโนแบบมีลำดับชั้น (Hierachically Designed Nanostructure) และการวัดในระดับอะตอม (Atomic Level Measurement) ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ นาโนสถาปัตย์มักจะเกี่ยวข้องกับการศึกษาและออกแบบ เส้นลวดโมเลกุล แท่งและฟันเฟืองโมเลกุล สวิตช์โมเลกุล เกียร์โมเลกุล และ มอเตอร์โมเลกุล ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีประโยชน์เพื่อนำไปสร้างสิ่งที่ใหญ่และทำงานซับซ้อนมากกว่า เช่น นาโนเซ็นเซอร์ ชิพนาโน ไปจนถึงระบบผลิตนาโน (Nano-manufacturing)

แนวโน้มในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านั้น นาโนสถาปัตย์จะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปอีก นั่นคือจะเริ่มมีการออกแบบตัวระบบนาโน-ไมโคร (Nano/Micro-systems) ที่สามารถทำงานได้อย่างซับซ้อนโดยอาศัยองค์ประกอบย่อยๆ มาทำงานร่วมกัน เช่น หุ่นยนต์จิ๋ว (Nanobot) ที่คอยกัดกินแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค และนำส่งยาไปสู่เป้าหมายในร่างกายได้อย่างแม่นยำ ศาสตร์ของนาโนสถาปัตย์กำลังจะก้าวไปถึงจุดที่สามารถออกแบบอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนระดับนั้นได้ อีกทั้งความก้าวหน้าของศาสตร์ใกล้เคียงที่กำลังมาแรงอย่างเช่น ชีววิทยาเชิงระบบ (Systems Biology) ยิ่งทำให้นาโนสถาปัตย์มีศักยภาพเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะได้มุมมองเกี่ยวกับระบบของสิ่งมีชีวิตมาช่วยทำให้การออกแบบง่ายขึ้น โดยอาศัยการเลียนแบบธรรมชาติ ขณะนี้รัฐสภายุโรปได้สนับสนุนทุนวิจัยขนาดใหญ่ในชื่อโครงการ PACE (Programmable Artificial Cell Evolution) เป้าหมายเพื่อสร้างเซลล์เทียมขึ้นมา โดยจะเล่นบทพระเจ้าในการสร้างชีวิตเทียมขึ้นมา แล้วศึกษารูปแบบความเป็นอยู่ของเซลล์เทียม การสร้างนิเวศของมัน วิวัฒนาการของตัวมันไปสู่รูปแบบที่ซับซ้อนขึ้น เฉกเช่นกับวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิต
(ภาพด้านบน - นาโนสถาปัตย์เป็นศาสตร์แห่งการสร้างโครงสร้างจิ๋ว โดยมีแกนความคิดบนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 3 สาขา คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา)

03 ตุลาคม 2550

บรรจุภัณฑ์ฉลาด - Smart Packaging


ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นมีการกล่าวถึง RFID (Radio Frequency Identification tag) กันอย่างกว้างขวางมาก ว่าจะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งของบาร์โค้ดในที่สุด และยังจะเขยิบเข้าไปในงานประยุกต์อื่นๆ ที่เคยอยู่นอกเหนือจินตนาการ RFID สามารถใช้ติดสินค้าและป้อนข้อมูลต่างๆ เข้าไปหรืออ่านข้อมูลออกมา ทำให้สินค้าถูกติดตามได้ตั้งแต่ออกจากแหล่งกำเนิด ไปสู่ผู้บรรจุ ไปยังรถหรือเรือส่งสินค้า ห้างสรรพสินค้า ไปจนกระทั่งถึงถังขยะ และแหล่งทำลายหรือนำกลับมาใช้ใหม่ นัยสำคัญของ RFID ไม่ใช่เป็นเพียงป้ายเก็บข้อมูลเพื่อทำสต็อกสินค้าเท่านั้น หากแต่มันยังมีคุณูปการต่อการควบคุมคุณภาพสินค้า ตลอดจนความปลอดภัยของผู้บริโภค ผู้ผลิตสามารถนำข้อมูลที่เก็บใน RFID ไปทำการตลาดได้ การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ซึ่งเคยมีต้นทุนที่สูงลิ่วจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัทวิจัยตลาด IDTechEx คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2007 นี้ มูลค่าตลาดของชิพ RFID ที่ผลิตขึ้นจะสูงถึง 1.71 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อรวมกับอุปกรณ์พ่วงอื่นๆ ที่นำมาใช้งานร่วมกับ RFID จะมีมูลค่าสูงถึง 4.96 พันล้านเหรียญ และเมื่อถึงปี ค.ศ. 2017 ก็จะมีมูลค่ากว่า 28 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ผลิตภัณฑ์อีกประเภทหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับ RFID ก็คือ บรรจุภัณฑ์ฉลาด โดยมันอาจจะหยิบยืม RFID มาช่วยงานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ ด้วย เช่น เซ็นเซอร์ แบตเตอรีฟิล์มบาง ฟิล์มแสดงผล เป็นต้น บริษัท NanoMarkets ประมาณการมูลค่าตลาดของบรรจุภัณฑ์ฉลาดในปี ค.ศ. 2013 ที่ 14.1 พันล้านเหรียญ โดยบรรจุภัณฑ์ฉลาดจะเริ่มเข้าไปมีบทบาทในสินค้าประเภทอาหาร เกษตร และเภสัช โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความสดของอาหาร บรรจุภัณฑ์ที่ต่อต้านจุลชีพซึ่งสามารถปลดปล่อยยาปฏิชีวนะออกมาจัดการเชื้อโรคได้ด้วยตนเอง หรือ อย่างน้อยก็แจ้งเตือนผู้บริโภคได้

บริษัท NanoMarkets ประมาณการว่าการใช้งานบรรจุภัณฑ์ฉลาดสำหรับสินค้าอาหารจะเพิ่มจาก 160 ล้านเหรียญในปี ค.ศ. 2006 ไปเป็น 8.8 พันล้านเหรียญในปี ค.ศ. 2013 ส่วนทางด้านเครื่องสำอางนั้นจะมีการเพิ่มการใช้งานจากเพียง 9 ล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2006 ไปเป็น 618 ล้านเหรียญในปี ค.ศ. 2013
ถึงเวลาแล้วล่ะครับที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสนใจกับเทคโนโลยีนี้ เพราะเรามีสินค้าประเภทอาหาร เกษตร เยอะ ได้ยินมาว่าทาง NECTEC ก็กำลังคิดจะขยับตัวอยู่ครับ ......


(ภาพด้านบน - ripeSense – เซ็นเซอร์ตรวจความสุกของลูกแพร์ ซึ่งอาจทำให้มีราคาถูกได้ด้วยวิธีการพิมพ์)

02 ตุลาคม 2550

Nanodevices ไทยผงาด เปิดตัวสู้ระดับสากล


ในงานประชุม German-Thai Symposium on Nanoscience and Nanotechnology (GTSNN) ระหว่างวันที่ 27-28 กันยายน 2550 ซึ่งจัดกันที่ The Tide Resort ที่หาดบางแสนนั้น ได้จัดกลุ่มงานวิจัยออกเป็นสาขาต่างๆ ได้แก่ Nanodevices, Nanomaterials, Nanocatalysis และ Synchrotron Spectroscopic Techniques โดยมีการนำหัวข้อบรรยายมาจัดเข้ากลุ่มทั้ง 4 ข้างต้น แต่ที่น่าสนใจและ nanothailand จะเล่าให้ฟังในวันนี้ก็คือ ณ วันนี้ สถานภาพของ Nanodevices ในบ้านเราไม่ได้ด้อยไปกว่าใครในย่านนี้เลย แม้แต่สิงคโปร์

การบรรยายในวันนั้น เริ่มต้นด้วย ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ ได้บรรยายสถานภาพของ Nanoelectronics และ MEMS ของ NECTEC ว่าอยู่ในระดับใด งานของ NECTEC นั้นมีทั้ง Sensors แบบต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยี MEMS, Sensor ตรวจโรค, Lab on a chip, Gas Sensor จากนั้น ดร. อัมพร โพธิ์ใย แห่ง TMEC ได้ขึ้นมาบรรยายศักยภาพของ TMEC ในการสนับสนุนงานทางด้าน Molecular Electronics ซึ่งขณะนี้กำลังทำ Organic RFID และ Organic Field Effect Transistor ถัดมา ดร. ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาเล่าให้ฟังเรื่องของอุปกรณ์สัมผัสเทียมทางด้านกลิ่น หรือ Electronic Nose ซึ่งมีการร่วมทำงานเป็นทีมที่หลากหลาย ทั้งจุฬา มหิดล ศิลปากร เชียงใหม่ วลัยลักษณ์ NECTEC NANOTEC และ MTEC จากนั้น ดร. สุภาพ ชูพันธ์ ได้ออกมาเล่าถึงทีมงาน Nanostructured Devices ซึ่งกำลังพัฒนา Dye-Sensitized Solar Cell กับ Nanosensor และท้ายสุด ดร. สิรพัฒน์ ประโทนเทพ (ซึ่งท่านกำลังบวชอยู่ที่ จ. ระยอง ณ เวลานี้) ได้บรรยายทีมงานทางด้าน Functional Nanostructure ซึ่งเป็นฐานสำคัญของงานทาง Nanodevices ที่ NANOTEC กำลังทำอยู่ มีทั้ง chemical sensor, organic electronics, functional surface เป็นต้น

เมื่อมองแบบ Bird Eye View งานทางด้าน Nanodevices ของประเทศไทยไม่ได้กระจัดกระจายแบบที่เคยคิดกัน หากแต่มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งมาก และได้เวลาแล้วมั้งที่จะต้องผงาดออกไปสู้ในระดับสากล

(ภาพข้างบน - ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ หัวเรือผู้นำทัพ Nanodevices ไทยออกสู้ระดับสากล ในลีลาเดียวกับที่เฉินหลง นำทัพหนังกังฟูสมัยใหม่ของฮ่องกง ออกไปสู่ Hollywood หนังของเฉินหลงเปี่ยมไปด้วยมนตร์เสน่ห์ มุขตลก ขำกลิ้ง และ กุ๊กกิ๊ก คลุกคล้าหลากอารมณ์ ที่ดูทีไรก็ยังสนุกเพลิดเพลินไม่รู้คลาย ดร. อดิสร ก็กำลังจะทำให้ Nanodevices ของไทยเปี่ยมไปด้วยความสนุก ตื่นเต้น เพื่อแข่งนานาชาติ)