25 กรกฎาคม 2556

Smart Environment - สภาพแวดล้อมอัจฉริยะ (ตอนที่ 4): ตอน Smart Toilet


สภาพแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) หรือ สภาพแวดล้อมที่ตอบสนอง (Responsive Environment) หรือ สถาปัตยกรรมแบบอันตรกริยา (Interactive Architecture) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการทำให้สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย อาคารบ้านช่อง มีความฉลาด ทำงานตอบสนองต่อผู้อยู่อาศัย ทั้งในเชิงกายภาพ เชิงจิตใจ และ อารมณ์ สิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่นี้จะรับรู้ด้วยสัมผัสของมันว่า เราใช้ชีวิตอยู่อย่างไร กำลังทำอะไร มีความสุขหรือหงุดหงิดไหม นอนหลับดีหรือว่ากระสับกระส่าย ใช้เวลาอยู่กับสิ่งไหนมากน้อยอย่างไร แล้วมันก็จะพยายามเอาใจใส่เรา ทำในสิ่งที่เราต้องการ ด้วยการดูแลเรา และช่วยเหลือเราให้อยู่อย่างมีความสุข

ในกลุ่มวิจัยของผมมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลายชนิด ที่จะทำงานในสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ ได้แก่ ถุงมือรับส่งข้อมูล (Interactive Data Glove) รองเท้าอัจฉริยะ (Smart Shoe) หมอนอัจฉริยะ (Smart Pillow) เตียงอัจฉริยะ (Smart Bed) จมูกอัจฉริยะ (Smart Nose) ซึ่งยังมีเทคโนโลยีอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญมาก แต่ผมยังศึกษาเรื่องนี้เพียงเล็กน้อย ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มีความสำคัญมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต นั่นคือ ส้วมอัจฉริยะ (Smart Toilet) ครับ เชื่อสิครับว่าในอนาคต ทั้งส้วมและห้องน้ำ จะกลายมาเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่บูมมากๆ และเราก็เริ่มเห็นเทรนด์นี้แรงขึ้นเรื่อยๆ ครับ ดังที่ผมจะยกตัวอย่างต่อไปนี้

- เราเริ่มเห็นชักโครกฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ใครที่เคยไปญี่ปุ่นก็จะมีประสบการณ์กับโถส้วมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมันจะทำที่นั่งให้อุ่นเวลาเรานั่งลงไป เมื่อเสร็จภารกิจ ก็จะฉีดน้ำใส่ก้น และเป่าลมอุ่นๆ ทำให้ก้นแห้ง หรือถ้าเป็นสุภาพสตรีก็จะมีหัวพ่นน้ำด้านหน้าให้ใช้งานด้วย ซึ่งโถส้วมรุ่นหลังๆ นั้น มันมีฟังก์ชันที่เจ๋งๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ เช่น มีระบบทำความสะอาดตัวเอง ตัวอุปกรณ์ทั้งหมดเคลือบวัสดุนาโนที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ส้วมจะเปิดเพลงแบบที่เรียกว่า Theme Song ตอนที่เราเดินเข้ามาจะใช้งาน ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนได้ หรือแม้กระทั่งต่อโทรศัพท์ iPhone หรือ Android Phone เข้าไปเพื่ออัพโหลดเพลงใส่เข้าไปในโถส้วม

- Urinal Game System หรือระบบเกมส์โดยใช้ฉี่ เป็นเทรนด์ใหม่ในห้องน้ำตามผับต่างๆ ในอังกฤษ ซึ่งสุภาพบุรุษสามารถที่จะฉี่ไปเล่นเกมส์ไปพร้อมกันได้ โดยจะมีหน้าจอแสดงผล โดยเราจะใช้น้ำปัสสาวะของเราระหว่างที่เราฉี่นี่แหล่ะครับ เป็นตัวเล่นเกมส์ เช่น อาจจะมีเกมส์ขับรถหลบสิ่งกีดขวาง ซึ่งเราสามารถเอี้ยวตัวไปซ้าย ไปขวา เพื่อให้น้ำปัสสาวะของเราสะบัดไปซ้าย-ขวา ได้ ซึ่งโถฉี่จะมีเซ็นเซอร์ที่ตรวจจับน้ำฉี่ของเรา ทำให้เราสามารถควบคุมเกมส์ได้ ซึ่งก็จะทำให้สุภาพบุรุษที่ดื่มมากๆ แล้วอั้นปัสสาวะนานๆ ได้เปรียบ สามารถเล่นเกมส์ได้นาน ซึ่งเทคโนโลยีตัวนี้ได้สร้างรายได้เพิ่มให้กับผับต่างๆ ทางอ้อมเลยครับ เพราะน่าจะขายเบียร์ได้มากขึ้น เพื่อให้สามารถฉี่ได้เยอะๆ

- ผับหลายๆ แห่งในสิงคโปร์มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่โถปัสสาวะท่านชาย เพื่อตรวจสอบระดับแอลกอฮอล์ในปัสสาวะ ซึ่งมันจะมีหน้าจอเตือนให้เรียกแท็กซี่ หรือ ให้เพื่อนขับแทน หากมันตรวจพบว่าเราดื่มมากเกินไปจนไม่น่าจะขับรถได้อย่างปลอดภัย

ไอเดียในการทำส้วมให้มีความฉลาดนั้นมีได้มากมายเกินจินตนาการเลยครับ แต่สิ่งที่ผมสนใจคือ การทำให้ส้วมเป็นอุปกรณ์ตรวจสุขภาพประจำบ้าน เพราะคนเราใช้ห้องส้วมทุกวัน และสิ่งที่เราปลดปล่อยออกมาจากร่างกาย มันบ่งชี้สถานะทางสุขภาพของเราได้เป็นอย่างดี งานวิจัยเบื้องต้นที่เราเคยทำคือ การตรวจสอบสภาวะน้ำตาลจากกลิ่นปัสสาวะ ซึ่งสามารถนำเซ็นเซอร์ไปติดตั้ง และเก็บข้อมูลปัสสาวะได้ทุกครั้งๆ ที่เราฉี่ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อเข้าคอมพิวเตอร์ประจำบ้าน เข้าสมาร์ทโฟน หรือ รายงานใน Facebook 


10 กรกฎาคม 2556

อาภรณ์อัจฉริยะ - Wearable Intelligence (ตอนที่ 7)


(Picture from wired.com)

ในอดีตเรามีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่กี่อย่างที่สวมใส่ได้ (Wearable Electronics) ที่ผมพอยกตัวอย่างได้ก็มีนาฬิกาดิจิตอล ซึ่งแสดงตัวเลขแบบอาระบิกแทนเข็มนาฬิกา มีเสียงปลุกเป็นเสียงดนตรี สามารถจับเวลาได้มีความละเอียดถึง 1 ส่วน 100 วินาที ซึ่งผมรู้จักครั้งแรกตอนอายุสัก 10 ขวบ มั๊งครับ เป็นยี่ห้อคาสิโอ กาลเวลาผ่านมา 30 ปี นาฬิกาคาสิโอก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นมากเท่าไหร่นัก เพียงแต่รุ่นหลังอย่างแบบที่ผมใช้ จะมีเซ็นเซอร์เพิ่มขึ้นมาหลายชนิด เช่น มีเทอร์โมมิเตอร์ เข็มทิศ บารอมิเตอร์ และ โซลาร์เซลล์ ผมเคยคิดมานานแล้วว่า ทำไมนาฬิกาข้อมือ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จริงๆ แล้วมีความใกล้ชิดกับมนุษย์มากกว่าโทรศัพท์มือถือเสียอีก (เพราะมันไม่ต้องพก สามารถสวมใส่ไปไหนมาไหนได้เลย) แต่นาฬิกาข้อมือกลับไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น ซัมซุง โซนี่ และ แอปเปิ้ล ต่างประกาศตัวว่าจะพัฒนานาฬิกาฉลาด หรือ smart watch ออกมาขาย

ทำไมผู้คนถึงเริ่มมาสนใจที่จะพัฒนานาฬิกาให้มันฉลาดขึ้นในช่วงนี้หล่ะครับ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกระแสความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มันติดตัวไปไหนมาไหนได้ (Mobile & Ubiquitous) คือมีความคล่องตัว ใช้ง่ายได้ทุกที่ ทุกเวลา และทำได้หลายอย่าง อีกส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มการดูแลรักษาสุขภาพของผู้คน ที่มีความต้องการจะรู้ข้อมูลสุขภาพของตนเองแบบใช้ง่าย ใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้เราเริ่มเห็นอุปกรณ์รูปแบบใหม่ที่เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ใช้งานเหมือนเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ (และบางครั้งก็อาจเป็นเครื่องประดับได้ในตัว) มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ และอย่างหลังนี้เองที่ทำให้เกิดเทคโนโลยีที่เรียกว่า Physiological Computing Systems หรือ ระบบตรวจวัดทางสรีรวิทยา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการเฝ้าดู และตรวจวัด พารามิเตอร์ทางสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งในที่นี้ก็มักจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ เพื่อที่จะสามารถเก็บข้อมูลความเป็นไปของร่างกายผู้สวมใส่ได้ตลอดเวลา ซึ่งจะนำมาสู่การวิเคราะห์สถานภาพทางสุขภาพของเราได้แบบทุกที่ ทุกเวลา ไงหล่ะครับ

ในการตรวจวัดสถานภาพของสรีระของผู้ใส่ เราอาจจะแบ่งการตรวจวัดออกเป็น 4 ชนิด ซึ่งอุปกรณ์บางชนิดอาจจะตรวจวัดประเภทเดียว แต่บางอุปกรณ์อาจตรวจวัดสถานภาพได้หลายประเภท

(1) Bioelectrical Signals เป็นการตรวจวัดสถานภาพของร่างกาย จากการวัดสัญญาณไฟฟ้าของร่างกาย เช่น สัญญาณสมอง สัญญาณไฟฟ้าหัวใจ สัญญาณประสาทกล้ามเนื้อ ซึ่งในอดีต อุปกรณ์ประมวลผลสัญญาณเหล่านี้แพงมาก แต่ในปัจจุบันสามารถซื้อหามาเล่นในราคาที่เป็นมิตรขึ้นครับ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าหัวใจเต้นดีมั้ย สมองมีกิจกรรมการคิดเป็นอย่างไร ระบบประสาทเป็นอย่างไร เป็นต้น

(2) Biomechanical Signals เป็นการตรวจวัดสถานภาพของร่างกาย จากสัญญาณทางชีวกล เช่น การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งจะทำให้รู้กิจกรรมเชิงกลของร่างกายได้ เช่น การเดิน นั่ง นอน วิ่ง การหายใจ เป็นต้น กลุ่มวิจัยของผมเองก็พัฒนาอุปกรณ์หลายอย่างที่อาศัยการวัดสัญญาณทางชีวกลครับ เช่น รองเท้าที่ติดเซ็นเซอร์ซึ่งตรวจวัดอากัปกริยาการเดิน สามารถที่จะตรวจวัดความผิดปกติในการเดินได้ โดยสามารถตรวจหาโรคพาร์กินสันได้ นอกจากนั้นก็ยังมี หมอนอัจฉริยะที่สามารถตรวจวัดสถานภาพการนอน ว่านอนหลับดีหรือไม่ อัตราการหายใจเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพการหลับมากน้อยแค่ไหนในแต่ละคืน เป็นต้น

(3) Biochemical Signals เป็นการตรวจวัดสถานภาพของร่างกาย จากสัญญาณทางชีวเคมีในร่างกาย ซึ่งจะทำให้ทราบสถานะทางสุขภาพภายในร่างกาย เช่น มีสุขภาพดีไหม มีโรคภัยไข้เจ็บหรือป่าว เช่น เซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด เซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณกลูโคสในกระแสเลือด เป็นต้น ในกลุ่มวิจัยของผมเอง ก็มีการพัฒนาอุปกรณ์ประเภทนี้อยู่อย่างหนึ่งคือ เซ็นเซอร์ดมกลิ่นแบบสวมใส่ได้ ในรูปของอาร์มแบนด์ และ เสื้อสุขภาพ ซึ่งมันจะตรวจวัดกลิ่นตัวทำให้ทราบว่าสถานภาพทางเคมีในร่างกายปกติหรือไม่ หรือมีโรคอะไรอยู่ เพราะร่างกายที่ปกติ กับ ร่างกายที่เป็นโรค มีการปล่อยกลิ่นออกมาไม่เหมือนกัน

(4) Biophysical Signals เป็นการตรวจวัดสถานภาพของร่างกาย จากสัญญาณทางชีวฟิสิกส์ เช่น การตรวจวัดสภาพเนื้อเยื่อด้วยการส่งคลื่นเสียงเข้าไป การเปลี่ยนสีของผิวจากการใช้ครีม whitening เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันอุปกรณ์แบบสวมใส่ได้เพื่อตรวจสัญญาณประเภทนี้ยังไม่ค่อยมีครับ

เอาไว้วันหลัง ผมมีเวลา จะมาเล่ารายละเอียดของเทคโนโลยีสวมใส่ได้ที่น่าสนใจเพิ่มเติมนะครับ

05 กรกฎาคม 2556

Digital Food - อาหารดิจิตอล (ตอนที่ 3)



(Picture from  spectrum.ieee.org)

ถ้าผมจะบอกว่า "ในอนาคต กูเกิ้ลและไอบีเอ็ม จะเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ส่วนบริษัทซีพี จะหายไปจากประเทศไทย" ท่านผู้อ่านจะเชื่อไหมครับ วันนี้ผมจะขอกลับมาคุยต่อในเรื่องของเทคโนโลยี Digital Food ที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ โดยผมจะขอเสนอมุมมองในภาพใหญ่ว่า Digital Food จะเข้ามาเปลี่ยนวิธีการกินของลูกหลานเราอย่างไร ซึ่งผมจะเสนอแนวคิดแบ่งเป็นระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ดังนี้ครับ

(1) ในระดับต้นน้ำ ก็คือ การปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ได้อาหารเกิดขึ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ที่ผมจะขอยกตัวอย่างให้ดูดังนี้ครับ

- แนวโน้มใหญ่อันหนึ่งน่าจะมาครับ นั่นคือ การ "ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์" จะเปลี่ยนไปเป็นการ "ปลูกสัตว์ เลี้ยงพืช" เปลี่ยนยังไง อ่านต่อข้างล่างครับ

- การปลูกสัตว์คืออะไร คือการที่เราผลิตเนื้อสัตว์ขึ้นมาโดยไม่ต้องมีการเลี้ยงสัตว์จริง มีการเสนอเทคโนโลยีขึ้นมาหลายชนิด ตั้งแต่การเลี้ยงเนื้อเยื่อสัตว์ โดยเพาะให้โตขึ้นมาจากสเต็มเซลล์ แบบเดียวกับการเพาะเมล็ดให้โตมาเป็นพืช เราอยากจะกินส่วนไหนมาก ก็ปลูกส่วนนั้น เช่น คนชอบกินน่องไก่ ก็ปลูกน่องไก่ขึ้นมาเยอะๆ การปลูกสัตว์ทำให้เราไม่ต้องฆ่าสัตว์ ไม่ต้องผิดศีลข้อ 1 ซึ่งก็จะทำให้คนที่กินมังสวิรัติหันมากินเนื้อปลูก นอกจากนั้นแล้วยังมีการเสนอแนวคิดในการเลี้ยงสัตว์แบบในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix คือมีแต่ตัว แต่ไม่มีจิตใจ เพราะมีการตัดสมองส่วนความรู้สึกนึกคิดออกไป ทำให้สัตว์เลี้ยงมีแต่ตัว แต่ไม่มีหัวใจ (การคิด)

- การเลี้ยงพืช คือ การดูแลพืชจากเดิมที่เคยปลูกแล้วทิ้งๆ ไว้ ก็จะเป็นการดูแลเอาใจใส่อย่างแม่นยำ เหมือนการเลี้ยงสิ่งที่มีจิตใจ เพราะในระยะไม่กี่ปีมานี้ นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานใหม่ๆ ว่าพืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถเชิงตรรกะ เรียกว่ามี Intelligence หรือ ปัญญานั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน ดังนั้นความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น จะนำมาสู่การเลี้ยงพืชที่ให้ผลผลิตตามที่เราต้องการ

- การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) จะเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญ เทคโนโลยีดิจิตอล จะช่วยให้การผลิตมีตรรกะ มีการประมวลผล มีการสนับสนุนด้วยข้อมูล เกษตรกรจะใช้ข้อมูลต่างๆ มากมายในการจัดการฟาร์ม ฟาร์มจะถูกเชื่อมโยงเข้ากับระบบคลาวด์ ฟาร์มจะเชื่อมโยงกับเขื่อนที่ปล่อยน้ำ เชื่อมโยงกับห้างสรรพสินค้า และผู้ใช้ผ่าน Sensor and Social Networks

(2) ในระดับกลางน้ำ คือการแปรรูปอาหาร การนำอาหารไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ แนวโน้มใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นคือ

- การผลิตอาหารจะใช้ระบบดิจิตอล และระบบติดตามมากขึ้น อาหารจากต้นน้ำจะมีระบบติดตามจนมาถึงการแปรรูป และไปสู่ผู้บริโภค เช่น หมูที่เลี้ยงจะมีไมโครชิพที่เรียกว่า RFID ติดไว้กับตัว เมื่อหมูถูกนำไปชำแหละเป็นเนื้อหมูใส่ในแพ็คเกจวางขายในห้างสรรพสินค้า ในแพ็คเกจจะมีแถบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถติดตามได้ว่า เนื้อหมูนี้มาจากหมูตัวไหน ที่ฟาร์มอะไร เมื่อผู้ซื้อซื้อไปแล้วเกิดปัญหาเช่น ป่วยจากแบคทีเรียในเนื้อหมู จะสามารถติดตามได้เลยว่ากินหมูตัวไหน เลี้ยงที่ไหนเข้าไป

- อาหารจะผูกโยงกับเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เมื่อมีการนำเซ็นเซอร์ตรวจวัดไปใช้ในกระบวนการต้นน้ำมากขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคสามารถรู้รายละเอียดของอาหารไปจนถึงว่าอาหารที่จะกิน มีส่วนเกี่ยวข้องกับโลกร้อนมากแค่ไหน ใช้พลังงานเท่าไหร่ในการผลิตต่อกิโลกรัม ผู้บริโภคจะปฏิเสธที่จะกินเนื้อไก่ที่เกิดจากการเลี้ยงไก่แบบแออัดยัดเยียด เหมือนที่บริษัทซีพีทำอยู่ในขณะนี้ 

- มีการนำเซ็นเซอร์มาใช้กับอาหารมากขึ้น เกิดเป็นบรรจุภัณฑ์ฉลาด (Smart Packaging) ที่มีการตรวจวัดอาหารแบบเรียลไทม์ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจวัดความสุกของผลไม้ จะบอกว่าถ้าซื้อไปจะต้องกินภายในวันไหน เนื้อหมูสดหรือไม่ อาหารที่บรรจุเคยผ่านโกดังที่มีอุณหภูมิสูงเกินไปหรือไม่ แม้กระทั่งคุณภาพความน่ากินของอาหารที่ลดลงไปหากวางไว้นาน ก็อาจนำมาใช้ในการลดราคาอาหารลงแบบเรียลไทม์ก็ได้ (ในอนาคต ป้ายบอกราคาก็เป็นดิจิตอล LED กันหมด ผู้ซื้อสามารถใช้โทรศัพท์มือถือสแกนที่อาหาร เพื่อขอข้อมูลรายละเอียดได้ โดยนำมือถือไปแตะของที่จะซื้อ)

- จะมีสูตรอาหารใหม่ๆ มากขึ้น จะมีการนำเอาเทคโนโลยีเช่น จมูกอิเล็กทรอนิกส์ ลิ้นอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ทำมาตรฐานความอร่อย อาหารแต่ละแพ็คเก็จ แต่ละจานที่ออกไปจะรู้ความอร่อยเลยครับ มากไปกว่านั้นคือ คอมพิวเตอร์จะถูกนำมาใช้ออกแบบอาหารใหม่ๆ ที่มีรสถูกปากมนุษย์ เราจะมีตำหรับอาหารแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมามากมายที่ไม่เคยมีมาก่อน

(3) ในระดับปลายน้ำ คือ ระดับผู้บริโภคอาหาร สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือ

- ระบบติจิตอลจะมาอยู่ในครัวมากขึ้น ตู้เย็นจะมีความฉลาดมากขึ้น มันจะเชื่อมโยงกับระบบอินเตอร์เน็ต ตู้เย็นฉลาดนี้จะต่อเชื่อมกับเซ็นเซอร์ตรวจวัดสุขภาพของบุคคลต่างๆ ในบ้าน มันจะแนะนำเมนูอาหารที่ควรรับประทาน หากผู้ใช้ยินยอม มันจะเชื่อมต่อสั่งของจากเทสโก้ โลตัสให้มาส่งของที่บ้าน มันจะคอยตรวจเช็คว่าอาหารใกล้หมดหรือยัง แล้วคอยจัดการตารางการสั่งของให้ ในตู้เย็นจะมีเซ็นเซอร์คอยตรวจจับคุณภาพของอาหารให้สดอยู่เสมอ

- จะมีสิ่งที่เรียกว่า Robot Chef เกิดขึ้น เราอาจจะเรียกว่าเป็น พ่อครัวหุ่นยนต์ หรือ พ่อครัวอิเล็กทรอนิกส์ มันจะเป็นเครื่องที่สร้างอาหารให้เรากิน โดยในเครื่องจะมีส่วนผสมอาหารต่างๆ เป็นตลับ คล้ายๆ ตลับหมึกในเครื่องพรินเตอร์นั่นหล่ะครับ เครื่องที่มีความซับซ้อนมากๆ ก็จะมีตลับวัตถุดิบจำนวนมาก โดยในตลับจะมีทั้งวัตถุดิบต่างๆ รสชาติ กลิ่น เมื่อเราอยากกินอะไร เราก็ไปกดโปรแกรม เจ้าเครื่องนี้ก็จะทำการพิมพ์อาหารออกมาโดยใช้วัสดุจากตลับนั้นแหล่ะครับ มันจะสร้างอาหาร ผสมส่วนผสมต่างๆ แล้วใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่ออุ่น ทำให้สุก หรือ ใช้แผ่นเย็นเพื่อทำให้เย็น ในกรณีที่เราสั่งของเย็น เช่น เฟรปเป้ ไอศกรีม เป็นต้น เอาไว้ผมจะค่อยเล่าเรื่องนี้อีกครั้งครับ วันนี้มีเวลาแค่นี้

เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมท้อง เอาไว้กิน Digital Food กันได้เลยครับ .....

01 กรกฎาคม 2556

BIG DATA - ยุคข้อมูลใหญ่มหึมา มาถึงแล้ว (ตอนที่ 3)


(Picture from http://www.mushroomnetworks.com/)

ปัจจุบันเราอยู่ในยุคแห่งข้อมูลใหญ่มหาศาล และนับวันมันก็จะใหญ่มากขึ้นไปเรื่อยๆ เอาเฉพาะ Facebook อย่างเดียว ในแต่ละวันมีคนกดไลค์กันวันละ 4.5 พันล้านครั้ง อัพโหลดรูปภาพขึ้นไปวันละ 350 ล้านรูป  ส่วนแอพรูปภาพที่เป็นที่นิยมอย่าง Instagram มีการอัพโหลดรูปภาพขึ้นไปวันละ 40 ล้านรูป โดยแต่ละวินาทีมีคนกดไลค์กัน 8500 ครั้ง และคอมเม้นท์กันมากถึง 1000 ครั้ง ส่วนบริการวีดิโออนไลน์อย่าง Youtube นั้น ทุกๆ วินาที มีการอัพโหลดคลิปวีดิโอความยาวอย่างน้อย 1 ชั่วโมงขึ้นไป ในหนึ่งวันมีการกดเข้ามาดู 4 พันล้านคลิป และในแต่ละเดือน คลิปวีดิโอถูกเปิดคิดเป็นเวลานานถึง 3 พันล้านชั่วโมง

เมื่อก่อนบนระบบอินเตอร์เน็ตจะมีเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่เชื่อมโยงอยู่บนอินเตอร์ และก็มีเฉพาะมนุษย์เท่านั้น ที่เชื่อมต่อใช้งานและปฏิสัมพันธ์กันบนอินเตอร์เน็ต แต่ปัจจุบันนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์กำลังจะกลายเป็นประชากรส่วนน้อยที่เชื่อมต่อบนอินเตอร์เน็ตไปแล้ว เพราะตอนนี้มีอุปกรณ์อื่นๆ มากมายได้เข้ามาเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ แทปเล็ต ไอพอต ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องเล่นเกมส์  กล้องวงจรปิด (ซึ่งกลายเป็นกล้องวงจรเปิดไปแล้ว) เซ็นเซอร์ต่างๆ รถยนต์ รถไฟ อากาศยานทั้งมีนักบินและไร้นักบิน ว่ากันว่าตอนนี้มีอุปกรณ์ประมาณ 8.7 พันล้านตัว เชื่อมโยงอยู่บนอินเตอร์เน็ต เอาง่ายๆ ที่บ้านผมบ้านเดียว ซึ่งมีประชากรจำนวน 5 คน ตอนนี้มีคอมพิวเตอร์ PC จำนวน 2 เครื่อง คอมพิวเตอร์ Notebook จำนวน 5 เครื่อง ไอโฟน 2 เครื่อง ไอพอด 2 เครื่อง มือถือแอนดรอยด์ 3 เครื่อง แทปเล็ต 4 เครื่อง อินเตอร์เน็ตทีวี 2 เครื่อง ระบบกล้องวงจรปิด ระบบกันขโมย เซ็นเซอร์ตรวจวัดสุขภาพ สมาร์มิเตอร์ (เซ็นเซอร์ตรวจวัดการใช้ไฟฟ้า) อีกอย่างละหนึ่ง รวมทั้งหมดเป็น 29 อุปกรณ์ ซึ่งในอนาคตมันจะมากขึ้นไปเรื่อยๆ ครับ มีการคาดการณ์กันว่าในอนาคต การคุยกันบนอินเตอร์เน็ต จะเป็นการคุยกันระหว่าง Machine to Machine หรือจักรกลคุยกับจักรกล มากกว่ามนุษย์คุยกับมนุษย์เสียอีก เช่น เขื่อนขอข้อมูลระดับน้ำจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดน้ำของกรมชลประทาน และ ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้า (ซึ่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าก็ได้มาจากสมาร์ทมิเตอร์ ที่ติดตั้งอยู่ในแต่ละบ้าน) เพื่อนำมาควบคุมการปล่อยน้ำอัตโนมัติ หรือ รถยนต์ที่วิ่งอยู่คุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการจราจรที่รถยนต์คันอื่นๆ ประสบมา เป็นต้น

จริงๆ แล้ว Big Data ไม่ใช่แค่เรื่องของขนาดข้อมูลที่ใหญ่เท่านั้น แต่มันยังเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลต่างๆ ด้วย เช่น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าที่อ่านด้วยสมาร์ทมิเตอร์ที่ส่งมาที่การไฟฟ้านั้น มันมีนัยแอบแฝงมากมาย เช่น พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน ซึ่งการไฟฟ้าสามารถนำไปใช้ออกแบบ วางแผน การผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ จำนวนและชนิดของเครื่องใช้ไฟฟ้าของแต่ละบ้าน ซึ่งทำให้ทราบว่าแต่ละครัวเรือนมีเครื่องปรับอากาศกี่ตัว มีการเพิ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในแต่ละปี มีการใช้ไฟฟ้าเพื่อแสงสว่างเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นที่ต้องการของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัทผลิตโซลาร์เซลล์ และ บริษัทขายหลอดไฟ LED มาก ซึ่งหากทุกครัวเรือนติดสมาร์ทมิเตอร์กันหมด โรงไฟฟ้าสามารถเดินเครื่องอัตโนมัติ ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละเครื่องอย่างเรียลไทม์เลยครับ

การที่แนวโน้มของ Big Data ได้เข้าไปมีบทบาทในทางธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตอนนี้ เกิดความต้องการบุคลากรอาชีพหนึ่งที่เรียกว่า นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) เป็นอย่างมาก เป็นอาชีพที่ขาดแคลนที่สุดอาชีพหนึ่งในสหรัฐอเมริกา หน้าที่หรือภารกิจของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลก็คือ การนำข้อมูลขนาดมหึมามาใช้ประโยชน์ ด้วยการใช้อัลกอริทึมต่างๆ เพื่อค้นหานัยยะ ความหมาย ตัวบ่งชี้ต่างๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในทางธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ตัวอย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะเข้าไปดูว่าตอนนี้ ผู้คนกำลังคุยอะไรกันใน Facebook แชร์ภาพอะไรใน Instagram ส่งข้อความอะไรใน Twitter พวกเขาเหล่านั้นมีแนวโน้มในความสนใจเรื่องอะไรมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนำเทรนด์เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ เช่น การออกแบบสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะได้รับความสนใจ เกิดเป็น Talk of the Town ว่ากันว่าการที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เอาชนะการเลือกตั้งมาได้ 2 สมัยนั้น ก็เพราะว่าทีมงานมีการใช้หลักการของวิทยาศาสตร์ข้อมูล  เพื่อใช้ประโยชน์จาก Big Data นั่นเอง

Big Data กำลังเป็นกระแสที่แรงที่สุดในภาคธุรกิจขณะนี้ และใครก็ตามที่ขึ้นรถไฟขบวนนี้ไม่ทัน ก็อาจจะถึงกลับสูญพันธุ์กันเลยทีเดียว ......