30 พฤศจิกายน 2551

Thailand Tea 2008 - Conference Report


สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ผมเพิ่งกลับมาจากเชียงใหม่ด้วยรถไฟมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเช้านี้เองครับ ทางเหนืออากาศค่อนข้างหนาวทั้งที่ดอยตุง แม่สาย เชียงราย เชียงแสน และดอยอินทนนท์ อากาศดี สูดหายใจสบายสุดปอดสุดๆ ลืมเรื่องร้ายๆในกรุงเทพฯไปหมดเลยครับ ผู้คนต่างจังหวัดก็ยังมีความสุขกันปกติ ไม่เห็นมีใครอยากดูข่าวเลย งงมากๆครับ


ในช่วงวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมานั้น ผมและคณะวิจัยได้มีโอกาสเข้าร่วมงานประชุมวิชาการ International Conference on Tea Production and Tea Products ซึ่งจัดโดย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย ร่วมกับ หน่วยงานต่างๆ งานประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งแรกของเมืองไทย ที่เกี่ยวกับชา มีผลงานเสนอทั้งในภาคบรรยายและโปสเตอร์จำนวน 23 เรื่อง ซึ่งถือว่าไม่มากครับ ผมเลยมีโอกาสได้ฟังและเข้าร่วมเกือบจะทุกผลงาน นอกจากผลงานทางวิชาการที่เป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องชาแล้ว ที่ผมชอบมากก็คือมีสิ่งที่เรียกว่า Country Reports ซึ่งเป็นการเชิญผู้รู้เรื่องวงการชาของประเทศต่างๆ มาบรรยายสถานภาพการผลิตชา และตลาดชาในประเทศของตนเอง ได้แก่ จีน อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เวียดนาม ศรีลังกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ทำให้ได้เห็นว่าประเทศไทยมีส่วนร่วมในตลาดชาของโลกน้อยมากๆครับ เจ้าใหญ่ที่ส่งออกมากที่สุดเป็น จีน และ อินเดีย แต่ที่น่ากลัวและกำลังมาแรงคือ เวียดนาม เกจิจากอินเดียที่มาพูดในงานนี้เขาฟันธงว่าอีกไม่เกิน 5 ปี ประเทศเวียดนามจะเป็นผู้ผลิตชารายใหญ่ของโลกแซงหน้าอินเดีย ซึ่งผมค่อนข้างเชื่อครับ เพราะตลอดปีที่ผ่านมาผมได้นั่งเฝ้าดูสภาพภูมิอากาศของอินเดีย พบว่าได้รับผลกระทบจาก Climate Change เป็นอย่างมาก มีสภาพฝนแล้งทั้งปีที่ผ่านมา


ในช่วงการประชุมทางผู้จัดได้มีการนำผู้เข้าร่วมประชุมไปดูงานบริษัทผลิตชาที่ดอยแม่สลอง และดอยช้าง ผมเองก็ได้เดินทางไปดูพื้นที่ปลูกชาของบริษัทชาดอยช้าง ซึ่งเท่าที่ทราบมานั้น ที่นี่เป็นเจ้าเดียวหรือไม่กี่เจ้าที่ทำการเพาะปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี ทำให้ผมเกิดความสนใจที่จะนำระบบเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ไปทดลองใช้ในไร่ชาแห่งนี้ครับ ซึ่งทางเจ้าของสถานที่มีความสนใจในเทคโนโลยี Smart Farm มาก พวกเรากะว่าจะเดินทางขึ้นไปอีกทีในช่วงกลางเดือนธันวาคม เพื่อไปทำแผนที่ไร่และติดตั้งระบบครับ

27 พฤศจิกายน 2551

Nano Road - ถนนนาโน (ตอนที่ 2)


ตอนนี้ผมยังอยู่ที่เชียงรายครับ จะอยู่ต่ออีกสัก 2-3 วัน เพื่อหลบความวุ่นวายจากพวกพันธมิตรที่ก่อเหตุรุนแรงในกรุงเทพฯ อากาศทางเหนือตอนนี้หนาวครับ ปีนี้มีแนวโน้มว่าจะหนาวยาวหน่อยครับ วันนี้ผมมาพูดเรื่องถนนนาโนต่อจากวันก่อนครับ .....

งานวิจัยที่กรมทางหลวงสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อพัฒนาถนนหนทางให้มีความฉลาดขึ้นนี้ มีตั้งแต่ การศึกษาโครงสร้างระดับนาโนในคอนกรีต ความเข้าใจในเรื่องของการผุกร่อนของโครงสร้างลงไปถึงระดับนาโน การพัฒนาคอนกรีตที่ใช้วัสดุทางเลือกอื่นๆ เช่น เถ้าลอย จีโอพอลิเมอร์ (Geopolymer) เป็นต้น การพัฒนาวัสดุผสมเพื่อเสริมโครงสร้างให้แข็งแกร่งมากขึ้น รวมไปถึงเหล็กกล้าที่มีโครงสร้างนาโน สำหรับทำโครงสร้างสะพาน แอสฟัลต์ (Asphalt) ชนิดใหม่ที่ใช้วัสดุทางเลือกเช่น ยางรถยนต์ที่ใช้แล้ว เป็นต้น ในการที่จะทำให้ทางหลวงกลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ฉลาด กรมทางหลวงสหรัฐฯ ได้ฝากความหวังไว้กับ วัสดุที่สามารถรักษา-ซ่อมแซม-ทำความสะอาดตัวเองได้ (Self-Healing/Self-Repair/Self-Healing) ซึ่งเป็นหัวข้อลำดับต้นๆ ที่ได้รับความสำคัญ เครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายที่สามารถติดตามสภาพการใช้งานตลอดจนสามารถรายงานข้อมูลไปที่ศูนย์ข้อมูลได้ ซึ่งปัจจุบันมีการทดลองติดตั้งที่สะพานโกลเด้นเกตอันลือชื่อของ ซาน ฟรานซิสโก ในอนาคตเซ็นเซอร์ไร้สายเหล่านี้อาจทำให้เล็กลงไปจนถึงสิ่งที่เรียกว่า ฝุ่นหรือผงอัจฉริยะ (Smart Dust หรือ Smart Aggregate) ซึ่งสามารถโรยลงไปในคอนกรีตขณะที่ทำการก่อสร้างถนนหรือสะพานได้เลย โดยทางหลวงทั้งหมดจะมีลักษณะเหมือนระบบประสาท ที่มีความสามารถในการรับรู้ เก็บข้อมูล รายงานผล รับการสั่งการ ตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรืออันตรายต่างๆ ลองจินตนาการถึงระบบทางหลวงที่สามารถเชื่อมโยงโดยตรงกับเซ็นเซอร์ต่างๆ สามารถเตือนภัยผู้ขับขี่ล่วงหน้าในเรื่องของ หมอก ควัน ลม ฝน รวมไปถึงการสั่งการให้โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทำงานเพื่อตอบสนองกับสิ่งเร้า ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณจราจร สัญญาณฉุกเฉิน ไฟส่องสว่าง ทางหลวงที่สามารถเปิดระบบทำความร้อนได้เองเพื่อละลายหิมะ สะพานที่สามารถปรับรูปร่างเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวขณะเกิดพายุรุนแรง

24 พฤศจิกายน 2551

Nano Road - ถนนนาโน


สวัสดีครับ หายไปหลายวันครับ ตอนนี้ผมอยู่เชียงใหม่ครับ พรุ่งนี้ผมจะเดินทางไปประชุมที่เชียงรายครับ พอมีเวลาเข้ามาอัพเดตนิดหน่อยนะครับ วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้กับถนนหนทางครับ

ตลอดช่วงสหัสวรรษที่ผ่านมานั้น มนุษย์ได้นำเอาวัสดุก่อสร้างที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้เป็นตัวต่อ (Building Blocks) เพื่อก่อร่างสร้างสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็น ถนน สะพาน เทวสถาน พระราชวัง ชาวอียิปต์โบราณนำหินหลายล้านก้อนมาก่อปิระมิดได้อย่างน่าอัศจรรย์ อาณาจักรขอมขนก้อนหินจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ห่างออกไปนับร้อยกิโลเมตรเพื่อมาสลักและก่อสร้างนครวัดอันวิจิตรงดงามโดยไม่ต้องใช้วัสดุแต่งเติมใดๆเลย ชาวจีนสร้างกำแพงเมืองจีนจากก้อนหินยาวกว่า 6,000 กิโลเมตร ผ่านเทือกเขาสูงชันไปจนถึงทะเลทรายที่แห้งแล้ง ถึงแม้สิ่งก่อสร้างต่างๆที่กล่าวมานี้จะได้รับการยอมรับให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่เกิดขึ้นจากความอุตสาหะวิริยะและเทคโนโลยีที่เยี่ยมยอดของบรรพชนเหล่านั้น แต่สิ่งมหัศจรรย์เหล่านั้นก็ยังใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติ เป็นวัสดุที่ไม่ฉลาด ไม่มีหัวคิดไม่สามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อม ไม่สามารถมีฟังก์ชันหน้าที่มากไปกว่าการดำรงรักษาโครงสร้างซึ่งจะมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เทียบไม่ได้กับวัสดุยุคนาโน ที่มีความสามารถในการทำหน้าที่ต่างๆ จนมีคำเรียกวัสดุนาโนออกมาใช้กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วัสดุออกแบบขึ้นมา (Designer Materials) วัสดุก้าวหน้า (Advanced Materials) วัสดุฉลาด (Smart Materials) วัสดุอัจฉริยะ (Intelligent Materials) วัสดุทำหน้าที่ (Functional Materials) วัสดุรับคำสั่งได้ (Programmable Materials) วัสดุมีโครงสร้างลำดับชั้น (Hierarchical Materials) ไปจนถึงวัสดุที่เป็นซอฟต์แวร์ (Matters as Software)

หลังจากที่ประธานาธิบดีคลินตันได้เดินหน้าโครงการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Nanotechnology Initiative หรือ NNI) เมื่อปี ค.ศ. 2001 ซึ่งได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ตื่นตัวในการลงทุนวิจัยทางนาโนเทคโนโลยีไปทั่วโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ศาสตร์ของนาโนเทคโนโลยีและนาโนวัสดุได้เข้าไปแทรกซึมและสร้างสีสันให้วงการต่างๆ ทั้ง ฟิสิกส์ เคมี เภสัชศาสตร์ การแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ยานยนตร์ อาหาร-เกษตร วัสดุก่อสร้าง ซึ่งทุกๆวงการต่างต้อนรับเทคโนโลยีน้องใหม่นี้อย่างอบอุ่น ตอนนี้ก็เป็นคิวของอุตสาหกรรมก่อสร้างถนนหนทาง ที่เริ่มจะเกิดการตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีจิ๋วมาใช้บ้าง โดยสหรัฐอเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตีที่จะไปอยู่แถวหน้า ทั้งนี้เพราะสหรัฐอเมริกามีทางหลวงรวมกันแล้วเป็นระยะทางถึง 3.6 ล้านกิโลเมตร เฉพาะแค่การบำรุงรักษาและซ่อมแซมเส้นทางก็ต้องใช้งบประมาณเกือบ 2 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้นทางกรมทางหลวงสหรัฐฯ (Federation Highway Administration) จึงได้ริเริ่มโครงการวิจัยขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาทางหลวงให้กลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ล้ำยุคที่สุดในศตวรรษที่ 21



ภาพบน - ยางมะตอยชนิดใหม่ที่มีส่วนผสมของอนุภาคยาง กำลังได้รับความนิยม เพราะทำให้การขับขี่นุ่มสบาย

20 พฤศจิกายน 2551

Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงโลก (ตอนที่ 8)

เรื่องของวิศวกรรมดาวเคราะห์ยังไม่จบนะครับ วันนี้ผมขอมาเล่าต่อ วิศวกรรมดาวเคราะห์เป็นศาสตร์ในการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ หลากหลายชนิดทั้ง ฟิสิกส์ โยธา อวกาศวิศวกรรมธรณี เคมี นาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และอื่นๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเคราะห์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำให้ดาวเคราะห์เป้าหมายเหมาะที่สิ่งมีชีวิตจะอยู่ได้ โดยเฉพาะ ณ ขณะนี้เรากำลังประสบกับภาวะภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจึงค้นหาเทคโนโลยีที่จะทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตในโลกที่เปลี่ยนแปลงใบนี้ต่อไป


เมื่อตอนเด็กๆ ผมจำได้ว่าในการ์ตูนญี่ปุ่นมีการพูดถึงเมืองที่อยู่ในโดมกระจกที่สร้างขึ้นมา เพื่อปกป้องผู้อยู่อาศัยภายในให้รอดพ้นจากมลภาวะที่เลวร้าย โดมกระจกนี้ใหญ่มากจนสามารถบรรจุเมืองทั้งเมืองเข้าไปได้เลย มีผู้คนอยู่อาศัยในนั้นหลายแสนคนหรืออาจเป็นล้านๆ เลย ในสมัยนั้นถึงแม้เรื่องภาวะโลกร้อนยังไม่เป็นที่รู้จักกันเลยก็ตาม แต่ความคิดเกี่ยวกับเรื่องสภาพบรรยากาศที่ถูกทำลายจากสารพิษต่างๆ รวมทั้งฝุ่นนิวเคลียร์ ทำให้สถาปนิกเริ่มมีไอเดียในเรื่องดังกล่าว


ผ่านมาเกือบ 30 ปีนับตั้งแต่ผมได้เห็นจินตนาการเหล่านั้นในการ์ตูน สิ่งก่อสร้างใหญ่โตเหล่านั้นกำลังจะถูกทำให้เป็นความจริงขึ้นมาแล้วครับ
ที่สำคัญมันจะไม่เกิดเพียงหนึ่งหรือสองแห่ง แต่มันกำลังจะกลายเป็นกระแสที่บูมฮ็อตฮิต เพราะว่าด้วยสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มนุษย์ไม่อยากทนทุกข์กับ ภาวะโลกร้อน วิธีการหนึ่งก็คือ การไปควบคุมสภาพภูมิอากาศให้เหมาะกับการอยู่อาศัยเสียเลย ด้วยการสร้างโดมใหญ่ๆ มาครอบคลุมตัวเอง คราวนี้อยากให้ฤดูกาลข้างในเป็นอย่างไรก็สามารถทำได้เลย ไม่ต้องไปรอหน้าร้อน หน้าหนาวเหมือนสมัยก่อน ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการสร้างเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า มาสดาร์ (Masdar City) ซึ่งเป็นเมืองพลังงานสะอาดที่สร้างขึ้นในทะเลทราย ทั้งๆ ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน แต่กลับอยากทำให้เมืองนี้ทั้งเมืองไม่ใช้น้ำมันเลย ในเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2551 ประเทศนี้ได้ออกมาประกาศที่จะสร้างเมืองในฝันที่สามารถควบคุมสภาพภูมิอากาศได้ โดยมีที่ตั้งกลางทะเลทรายซึ่งจะใช้พื้นที่ขนาด 6 ตารางกิโลเมตร สามารถบรรจุประชากรได้ 50,000 คน และธุรกิจ 1,500 แห่ง เมืองนี้จะไม่ใช้น้ำมัน แต่เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์สุริยะ โครงการในฝันที่กำลังเร่งสร้างให้ทันเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2553 นี้ออกแบบโดยท่านลอร์ด นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) นักออกแบบชาวอังกฤษที่เคยฝากผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมเลื่องชื่อ มากมายมาแล้วทั่วโลก เมืองนี้จะไม่มีรถราที่ใช้น้ำมันมาวิ่งให้กวนใจ ประชากรจะใช้รถไฟฟ้าแบบรางเบาที่เชื่อมโยงทั้งเมือง หรืออาจจะใช้สิ่งที่เรียกว่ากระสวยขับเอง (Automated Transport Pod) ที่วิ่งอัตโนมัติจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ทุกๆจุดในเมืองจะถูกออกแบบให้อยู่ห่างจากจุดขึ้นรถสาธารณะไม่เกิน 200 เมตร เมืองนี้จะถูกเชื่อมโยงกับอาบูดาบี ซึ่งเป็นเมืองหลวงด้วยรถไฟความเร็วสูง ในเรื่องของการกำจัดขยะนั้น เมืองจะถูกออกแบบให้ 99% ของขยะถูกจัดการให้นำกลับมาใช้ใหม่ รวมไปถึงน้ำด้วย ความเจ๋งของเมืองนี้ทำให้ผู้ออกแบบถึงกับบ่นออกมาว่า "ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็พึ่งพาน้ำมันเต็มๆตัว ไม่คิดถึงการทำอะไรแบบนี้ ทำไมประเทศยุโรปที่มีทั้งพื้นฐานทางปัญญาและทรัพยากรที่แข็งแกร่งไม่สามารถที่จะริเริ่มเมืองแบบนี้ ผมถามตัวเองอยู่บ่อยๆว่า ทำไมโครงการแบบนี้ที่พร้อมจะเกิดขึ้นที่ไหนในโลกก็ได้ที่มีความก้าวหน้าสูง กลับมาเกิดขึ้นที่นี่ ........"



อีกโครงการยิ่งใหญ่ก็คือ Kazakhstan's Pleasure Dome หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Khan Shatyry Entertainment Center ในประเทศคาซัคสถาน ซึ่งมีรูปร่างเหมือนเต้นท์สูงครอบคลุมอาณาบริเวณ 100,000 ตารางเมตร โดมกระจกแห่งนี้จริงๆ ก็ไม่ได้ทำด้วยกระจกหรอกครับ แต่เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Ethylene tetrafluoroethylene (ETFE) เป็นพลาสติกใสที่ทนทานต่อการกัดกร่อน และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ภายในโดมมีทั้งสนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ ชายหาด สวนน้ำเล่นคลื่น ร้านค้ากว่า 250 ร้าน โรงภาพยนตร์ โดมอันยิ่งใหญ่แห่งนี้จะทำให้ประชากรของคาซัคสถาน สามารถมาเที่ยวชมเพื่อรับบรรยากาศทะเลของภูเก็ตแบบไม่ต้องบินมาจริงๆ ได้ตลอดปี ทั้งๆที่อากาศข้างนอกอาจหนาวถึง -35 องศาเซลเซียส


โครงการที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันอีกโครงการหนึ่งก็คือ รีสอร์ทสกีในร่ม (Indoor Ski Resort) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะทำให้การเล่นสกีสามารถทำได้ทุกฤดูกาล ไม่ต้องกังวลกับความหนาของหิมะที่ลดลงทุกปีๆ ของถิ่นสกีในเทือกเขาแอลป์อีกต่อไป ภูเขาสกีเทียมลูกนี้มีความสูงเท่ากับตึก 35 ชั้น และจะสร้างขึ้นที่ Long Island ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในบริเวณใกล้กันจะมีกลุ่มของโรงแรมและรีสอร์ท สวนน้ำ ศูนย์ประชุม โรงไวน์ สวนแคมปิ้ง สปา ทะเลสาบ และสวนพฤกษศาสตร์ คาดว่าโครงการนี้จะทยอยเปิดใช้บางส่วนในปี ค.ศ. 2013 โดยโครงการเต็มรูปแบบจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 10 ปี

18 พฤศจิกายน 2551

The World without Us - ถ้าโลกนี้ไม่มีเรา (ตอนที่ 2)


ท่านผู้อ่านหลายๆท่าน อาจเคยได้ฟังเพลงที่แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ ร้องเอาไว้เมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว เพลงหวานๆ ที่มีชื่อว่า "โลกที่ไม่เท่ากัน" นี้มีเนื้อดังนี้ครับ

..... หากโลกนี้มีเราเพียงสองคน รักคงหลุดพ้นความวุ่นวาย ไม่มีกฏหมายมาตราใดลงโทษลงทัณฑ์รักสองเรา หากโลกนี้มีเราเพียงสองคน เริ่มต้นลงท้ายคงด้วยดี แผ่นดินทุกที่ย่อมมีเสรีเพาะปลูกวิญญาณรักสองเรา แต่โลกใช่มีเพียงรักสองเรา ผู้คนยังมัวเมาและงมงาย ถือเผ่าถือพันธ์กันต่อไป กีดกั้นทำลายคนด้วยกัน หากโลกนี้มีเราเพียงสองคน คงไม่ถูกโค่นต้นไม้รักของเรา ชีวิตเธอและฉันไม่ยืนยาว โลกเป็นของเราแต่ไม่เท่ากัน

ส่วนอีกเพลงหนึ่ง เป็นของวงเฉลียง ร้องไว้ประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว เป็นเพลงแจ๊สแต่มีชื่อที่แสนโรแมนติกว่า "ถ้าโลกนี้มีเราเพียงสองคน" มีเนื้อร้องดังนี้ครับ

.... ถ้าโลกนี้มีเราเพียงสองคน มองไปทางไหนก็สวยงาม มีเพียงเราสองเท่านั้นเองกับหวานใจ ดู ดู ดู ภูเขาทะเลกว้างฟ้าไกล ต่อให้ไกลแสนไกล จะไกลแสนไกล เราเป็นเจ้าของ เราคงจะรักกันทั้งวัน คงมีสวรรค์กันทั้งเดือนและทั้งปี ดู ดู ดู จะหันทางใดไม่เห็นมี ไม่มีผู้ใดไม่มีเลยแม้ใคร ขวางทางรักเรา สองเราชิด สองเราไม่เคยห่าง สองใจชิด สองใจไม่เคยต่าง สองเราเท่านั้นฉันเธอไม่มีใครอื่น ทั้งวันทั้งคืน ฝนพรำฟ้าครืน แดดใส ไม่มีใครเลย เวลาเราหิวก็สองคน จะกินข้าวเหนียวก๋วยเตี๋ยวไก่จะซื้อใคร ดู ดู ดู ตัดเย็บกางเกงเล่าร้านใด จัดงานฉลองเลี้ยงใคร ไม่มีมาสักราย ก็เลี้ยงกันสองคน มองไปทางไหนไม่เห็นใคร มีเพียงเราสองคนเท่านั้นเอง เท่านั้นเอง ฮือ ..ฮือ..ฮือ.. จะร้องจะรำให้ครื้นเครง ดนตรีต้องเล่นเอง ฟังกันร้องเอง ประสานเสียงเองฮือ..ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย ไม่มีใครเลย

นั่นเป็นจินตนาการของศิลปินครับ ที่มองว่าหากโลกนี้เหลือเพียงตัวเราและคนรัก มันก็คงมีความสุขดี คุณผู้อ่านหล่ะครับ เคยคิดแบบนี้ไหมครับ มนุษย์เราเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีอิทธิพลต่อโลกใบนี้สูงมาก อารยธรรมเราครองโลกเพียงแค่ 1 หมื่นปี ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปได้ขนาดนี้ ไดโนเสาร์ครองโลกมากกว่าร้อยล้านปี ยังทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไม่ได้เท่านี้ แต่ถ้าหากวันนี้มนุษย์หายไปทั้งหมดล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น นักวิทยาศาสตร์ประมาณว่าเพียงเวลาไม่ถึง 20 ปี โลกก็จะกลับมาเป็นเหมือนเก่าได้ไม่ยากครับ ตอนหน้ามาคุยกันต่อครับ .......
(ภาพบน - จินตนาการของกรุงวอซอร์ ประเทศโปแลนด์ ในสภาพที่ถูกธรรมชาติกลืนกิน เพียงไม่กี่ปีหลังจากมนุษย์หายไปจากโลกนี้)

15 พฤศจิกายน 2551

Wearable Farming Robot - ชุดหุ่นยนต์สวมใส่สำหรับชาวนา


อย่างที่ผมชอบพูดบ่อยๆ ล่ะครับว่านับวัน ศาสตร์ต่างๆจะเขยิบเข้ามาใกล้กัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น การนำเอาหุ่นยนต์ไปเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายคนนั้นเกิดเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า Bionics ซึ่งจะช่วยทำให้คนที่มีความบกพร่องทางกายภาพ สามารถใช้อวัยวะกลทดแทนอวัยวะที่ขาดหายไปได้ ส่วนอีกศาสตร์หนึ่งที่มีชื่อว่า หุ่นยนต์แบบสวมใส่ได้ (Wearable Robot) หรืออีกชื่อว่า Exoskeleton เป็นการนำหุ่นยนต์มาสวมใส่ให้แก่ผู้ที่มีร่างกายปกติ แต่ต้องการเพิ่มสมรรถนะทางร่างกายให้มากขึ้น ศาสตราจารย์ Shigeki Toyama แห่ง Tokyo University of Agriculture and Technology ได้พัฒนาหุ่นยนต์สวมใส่ได้สำหรับชาวนา เขาออกแบบมันขึ้นมาเพื่อให้ชาวนาญี่ปุ่นสูงอายุ สามารถทำงานต่างๆได้โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่ เจ้าหุ่นสวมได้นี้จะมีเซ็นเซอร์ที่ติดไว้ถี่ยิบเพื่อตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เมื่อมันรู้สึกว่าคนทำท่าจะยกของ มอเตอร์ของมันก็จะทำงานสอดคล้องไปกับทิศทางการเคลื่อนที่ของร่างกาย เพื่อที่จะช่วยยกของให้คนที่สวมใส่มัน นักศึกษาผู้หนึ่งที่ได้ลองสวมใส่เจ้าหุ่นนี้บอกว่า "เมื่อผมใส่เจ้าหุ่นนี้แล้วก็รู้สึกว่ามีพละกำลังเพิ่มขึ้นมาเป็นกองเลยครับ อย่างถุงข้าวหนัก 20 กิโลกรัมเนี่ย ผมยกขึ้นสบายๆ โดยแทบไม่รู้สึกว่าหนักเลย" หุ่นยนต์สวมได้นี้เป็นที่ชื่นชอบของชาวนา เพราะว่านอกจากมันจะช่วยเรื่องของการยกข้าวของแล้ว งานที่ต้องยกแขนนานๆ อย่างการตัดต่อกิ่ง หรือ สอยผลไม้ มันก็จะช่วยพยุงแขนให้อยู่ในท่านั้นได้นานๆ หรือหากเราต้องการดึงหัวมันออกจากดิน ก็ใช้แรงน้อยมากเพื่อทำงานดังกล่าว

14 พฤศจิกายน 2551

Agrobot - เมื่อหุ่นยนต์หัดทำไร่ทำนา


สวัสดีครับ ช่วงนี้คนที่มีบ้านอยู่ชานเมือง อาจจะเริ่มรู้สึกมีลมหนาวโชยๆมาสัมผัสผิวกาย ยามเช้ากันแล้วนะครับ ในเมืองเอง ช่วงเช้ากับเย็นก็เริ่มรู้สึกเย็นๆกันแล้ว หน้าหนาวส่วนใหญ่คนกรุงที่นิยมไปท่องเที่ยวใกล้ๆ ก็คงจะนึกถึงเขาใหญ่กันใช่ไหมครับ ช่วงนี้ที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง อากาศเริ่มเย็น ที่ไร่องุ่นกรานมอนเต้ตอนเช้าอุณหภูมิ 20 เซลเซียสเองครับ เริ่มเทศกาลท่องเที่ยวในเขตเขาใหญ่กันแล้ว แต่ปีนี้ฝนลาฟ้าใสค่อนข้าง late คงจะได้เห็นทุ่งทานตะวันกันช้า อาจจะเริ่มธันวาคมนู่นหล่ะครับถึงจะเห็นดอกทานตะวันกัน

ในช่วงหน้าหนาวนี้ ผมไปทำงานภาคสนามที่ไร่องุ่นที่เขาใหญ่เกือบจะทุกอาฑิตย์ งานในไร่องุ่นนี่ใช้แรงงานค่อนข้างมากครับ ผมพอจะทราบมาว่าแรงงานภาคเกษตรของเราค่อนข้างจะมีปัญหาเริ่มขาดแคลนแล้วครับ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในอนาคตอันใกล้ เริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้นทุกทีๆ ตอนนี้ในต่างประเทศเริ่มมีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการเกษตร หรือ Agrobot เช่น หุ่นยนต์เก็บเห็ด โดยใช้เทคโนโลยีกล้อง CCD เพื่อตรวจหาเห็ดแล้วทำการจำแนกขนาดว่าเก็บได้หรือยัง ถ้าเก็บได้มันก็จะใช้แขนกลดึงออกมา ซึ่งฝีมือในการจำแนกนั้นดีกว่ามนุษย์แล้ว แต่ความเร็วในการเก็บยังช้ากว่ามนุษย์เกือบเท่าตัว นอกจากนั้นยังมีหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการค้นหาและทำลายแมลงศัตรูพืช มันสามารถถอนวัชพืชได้ และทดสอบตัวอย่างดิน ซึ่งผลงานนี้พัฒนาขึ้นโดย Tony Grift แห่ง University of Illinois หุ่นยนต์ตัวนี้สามารถเดินตามแถวข้าวโพด จากแถวหนึ่งไปอีกแถวหนึ่งได้ด้วยตัวของมันเอง Grift บอกว่าเขาจะพยายามทำหุ่นยนต์ให้มีราคาถูก แต่ทำออกมาเยอะๆ แล้วให้หุ่นเหล่านี้ทำงานกับเป็นทีม โดยคุยกันผ่านเครือข่ายไร้สาย Grift บอกว่า "ผมกะว่าจะสร้างหุ่นยนต์แบบนี้ขึ้นมาสัก 10 ตัวหรือมากกว่านั้นครับ เอาให้เป็นระบบนิเวศน์ของหุ่นยนต์เลย ถ้าคุณลองมองไปที่ผึ้ง เวลาที่มันออกไปหาน้ำหวาน แล้วผึ้งตัวหนึ่งก็กลับมาบอกพวกเดียวกันว่าตามฉันมาสิ น้ำหวานอยู่ตรงโน้น แล้วมันก็ยกโขยงกันไป หุ่นยนต์ก็เหมือนกันครับ ถ้าตัวหนึ่งเดินไปเจอศัตรูพืชเข้าล่ะก็ มันจะตะโกนบอกตัวอื่นให้มาช่วยรุมทึ้งเลย"

13 พฤศจิกายน 2551

ECTI-CON 2009


อีกงานประชุมหนึ่งที่ใกล้กำหนดส่งผลงานก็คือ ECTI-CON 2009 หรือชื่อเต็มว่า 6th Annual International Conference of the Electrical Engineering/Electronics, Computer, Telecommunications and Information Technology (ECTI) Association of Thailand ซึ่งจะจัดขึ้นที่พัทยา ระหว่างวันที่ 6-9 พฤษภาคม 2552 งานประชุมนี้เมื่อก่อนก็เคบจัดที่พัทยาครับ แล้วก็เดินทางรอนแรมไปที่เชียงราย ลงใต้ไปกระบี่ ปีนี้จึงวนกลับมาที่พัทยาอีก กำหนดส่ง Full Paper วันที่ 15 ธันวาคม 2551 (เน้นว่าเป็น Full Paper นะครับ ไม่ใช่ abstract เฉยๆ) อัตราการรับบทความปีที่แล้วเพียง 60-70% เท่านั้นครับ เพราะมีการนำ proceeding ไปเข้าสู่ฐานข้อมูล IEEE-Explore ทำให้การควบคุมคุณภาพมีความเข้มงวดขึ้น
เนื้อหาของการประชุมมีดังนี้ครับ

Area 1) Circuits and Systems:

  • Analog Circuits
  • Digital Circuits
  • Mixed Signal Circuits

  • Nonlinear Circuits and Systems
  • Sensing and Sensor Networks
  • Filters and Data Conversion
  • CircuitsRF and Wireless Circuits
  • Photonic and Optoelectronic Circuits
  • Low Power Design and VLSI Physical Design
  • Biomedical Circuits
  • Assembly and Packaging
  • Test and Reliability
  • Advanced Technologies (i.e. MEMS and Nano-electronic Devices)Other Related to Circuits & Systems
Area 2) Computers and Information Technology:

  • Computer Architecture
  • Computational Biology and Bioinformatics
  • Knowledge and Data Engineering
  • Learning Technologies
  • Multimedia Services and Technologies
  • Mobile Computing
  • Parallel/Distributed Computing and Grid Computing
  • Pattern Analysis and Machine Intelligence
  • Software Engineering
  • Visualization and Computer GraphicsOther Related to Computer & Information Technology

Area 3) Communication Systems:


  • Communication Theory and Information Theory
  • Antenna and Propagation
  • Microwave Theory and Techniques
  • Modulation, Coding, and Channel Analysis
  • Networks Design, Network Protocols and Network Management
  • Optical CommunicationsWireless/Mobile Communications & Technologies
  • Other Related to Communications

Area 4) Controls:

  • Control Theory and Applications
  • Adaptive and Learning Control System
  • Fuzzy and Neural ControlMechatronics
  • Manufacturing Control Systems and Applications
  • Process Control Systems
  • Robotics and Automation
  • Other Related to Control

Area 5) Electrical Power Systems:

  • Power Engineering and Power Systems
  • Electromagnetic Compatibility
  • Energy Conversion
  • High Voltage Engineering and Insulation
  • Power Delivery
  • Power Electronics
  • Illumination
  • Other Related to Electrical Power Systems

Area 6) Signal Processing:

  • Signal Processing Theory
  • Digital Signal Processing Algorithms
  • Digital Filter Design & Implementation
  • Array Processing
  • Adaptive Signal Processing
  • Audio, Speech and Language ProcessingImage Processing
  • Video Processing
  • Medical Signal Processing & Medical ImagingOther Related to Signal Processing

Area 7) Other Related Fields:

  • ECTI Educations
  • ECTI Policy and LawECTI Management
  • Others

Microscopy of Thailand - Chiang Mai 2009


หายไปหลายวันนะครับ วันนี้ผมขอนำการประชุมต่างๆ ที่ใกล้กำหนดส่ง abstract งานหนึ่งที่อยากนำมาบอกกล่าวก็คือ การประชุมวิชาการจุลทรรศน์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 26 (26th Annual Conference of the Microscopy Society of Thailand) ซึ่งเป็นงานประชุมประจำปีของสมาคมจุลทรรศน์แห่งประเทศไทย ซึ่งจัดมาเป็นปีที่ 26 แล้วครับ การประชุมนี้จะจัดขึ้นระหว่าางวันที่ 28-30 มกราคม 2552 ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเวลาที่อากาศดีของเชียงใหม่เลยทีเดียว นึกถึงร้านอาหารริมแม่น้ำปิง แล้วยิ่งพาให้อยากส่ง abstract เลยใช่ไหมครับ จริงๆ วันสุดท้ายที่จะส่ง abstract ได้คือวันที่ 31 ตุลาคม 2551 แต่เขาเลื่อนให้แล้วครับ ไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2551 ยังพอมีเวลากันครับ ผมได้ยินมาว่าปีนี้จะมีการเชิญนักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศมาพูดถึง 6-10 คน ใครที่ทำงานวิจัยโดยใช้เครื่องมือ Microscopy ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กล้องจุลทรรศน์ที่ใช้แสงทั้ง Optical หรือ Confocal กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน TEM, SEM หรือ กล้องนาโนทรรศน์อย่าง AFM, STM งานนี้ยิ่งน่าไปที่สุดครับ

07 พฤศจิกายน 2551

Emotional Robot - หุ่นยนต์เจ้าอารมณ์


ศาสตร์แห่งการใส่ความคิดจิตใจเข้าไปในจักรกล ยิ่งนับวันยิ่งมาแรงขึ้นเรื่อยๆ ครับ ก่อนหน้านี้ผมเคยพูดถึงการนำเอาเซลล์สมองมาปลูกบนชิพ เพื่อนำไปใช้ควบคุมหุ่นยนต์ หรือ การนำเอาส่วนของหุ่นยนต์มาใส่แทนอวัยวะของคน เพื่อทำให้คนนั้นมีอวัยวะกลมาทำงานทดแทนอวัยวะที่หายไป ยุคนี้จึงเป็นยุค Hybrid ซึ่งเป็นทั้ง Hybrid Organic-Inorganic และ Hybrid Life-Machine ครับ


ในเมื่อเราสามารถผสมผสานชีวิตกับจักรกลในระดับวัสดุได้แล้ว ต่อไปก็คงจะเป็นเรื่องของการผสมผสานระบบของใจ กับกาย ด้วยการสร้างใจให้กับจักรกล นักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่าเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องซับซ้อนมาก และวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มเข้าไปสัมผัสดินแดนที่เป็นความรู้ใหม่นี้เอง ขั้นตอนแรกของการทำให้หุ่นยนต์มีใจก็คงจะเป็นการสร้างอารมณ์ให้กับหุ่นยนต์ครับ กลุ่มวิจัยแรกๆที่ทำการพัฒนาหุ่นยนต์เจ้าอารมณ์ก็คือ MIT ครับ โครงการนี้มีชื่อว่า Kismet ซึ่งแต่เดิมนั้นมีความต้องการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ทำงานได้เองโดยไม่ต้องใช้มนุษย์ควบคุม (Autonomous Robot) แนวคิดใหม่ที่ใส่เข้าไปในหุ่นยนต์ก็คือ การทำให้หุ่นยนต์สามารถแสดงออก หรือแลกเปลี่ยนภาวะทางอารมณ์กับมนุษย์ได้ โดยทาง MIT ได้พัฒนาการแสดงออกทางใบหน้า ท่าทาง ลักษณะการมอง รวมไปถึงการใช้เสียง โดยหุ่นยนต์ของ MIT นี้สามารถเรียนรู้และพัฒนาอารมณ์โดยการสอนจากมนุษย์ได้ เจ้าหุ่นต์ Kismet นี้จะทำตัวเหมือนเด็กที่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ภาษาหน้าตา ท่าทาง ของพี่เลี้ยง เหมือนกับเด็กทารกที่เรียนรู้จากพ่อแม่ พี่เลี้ยงจะสอนเจ้า Kismet ด้วยการดูการแสดงออกของมัน โดยบทเรียนที่จะสอนก็จะสอดคล้องกลมกลืนไปตามระดับการเรียนรู้ของมันด้วย Kismet จึงมีพัฒนาการไปตามการสอนของคน ซึ่งทำให้มันกลายเป็นหุ่นยนต์เจ้าของอารมณ์ได้ ......

04 พฤศจิกายน 2551

The World without Us - ถ้าโลกนี้ไม่มีเรา (ตอนที่ 1)


ผมเคยขับรถไปเที่ยวที่ภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก โดยไต่เขาขึ้นไปจาก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเส้นทางค่อนข้างลาดชัน ตอนที่ไต่เขาขึ้นไปนั้นแสงแดดดี อากาศก็แจ่มใสมากๆ ครับ แต่พอผ่านด่านเก็บเงินของอุทยานเข้าไปแล้ว เส้นทางที่เข้าไปนั้นร่มครึ้ม ปกคลุมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ แม้ว่าถนนจะสามารถวิ่งได้ 2 เลน แต่ผมก็ต้องขับกลางๆ ถนน เหมือนกับจะขับได้แค่เลนเดียวเท่านั้น เพราะต้นไม้ใบหญ้าได้รุกเข้ามาเกาะกินพื้นถนน เนื่องจากทางขึ้นฝั่งหล่มสักนี้ไม่ใคร่จะมีใครอยากขับขึ้นเท่าไรนัก เส้นทางสายนี้จึงค่อนข้างเงียบเหงาวังเวงยิ่ง



ท่านผู้อ่านที่เคยได้ชมภาพยนตร์ I Am Legend ซึ่งนำแสดงโดยพระเอกยอดนิยม Will Smith ผมค่อนข้างเชื่อว่าหากได้ชม DVD ภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อนนอน คืนนั้นถ้านอนไม่หลับ ก็ต้องอดไม่ได้ที่จะนอนคิดถึงความเป็นไปได้ในเรื่อง จะเกิดอะไรขึ้นหากโลกที่เราอยู่อาศัยนี้ วันดีคืนดีมนุษย์ได้หายไปทั้งหมด เส้นทางหล่มสัก-ภูหินร่องกล้า ที่ผมขับรถเข้าไปนั้น ก็ยังมีรถวิ่งผ่านไปมาบ้าง แต่ถ้าเส้นทางนี้ถูกปิดตายไปเลย ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ผมเชื่อว่าจะไม่เหลือร่องรอยของทางหลวงสายนั้น ตามท้องเรื่องของ I Am Legend นั้น หลังจากไวรัสได้ระบาดคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบทั้งโลก นครนิวยอร์คเหลือมนุษย์ปกติเพียงแค่คนเดียวเท่านั้นคือ พันเอก Robert Neville (นำแสดงโดย Will Smith) กับ สุนัขพันธุ์อาเซเชียนที่ชื่อเจ้าแซม ผู้พันเนวิลล์ต้องใช้ชีวิตอย่างเปลี่ยวเหงากับสุนัขตัวเดียว ท่ามกลางซากปรักหักพังในมหานครนิวยอร์ค มหานครที่ไม่เคยหลับใหลแห่งนี้ เมื่อไร้ซึ่งมนุษย์มาคอยดูแล มันก็ผุพังเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา โดยมีสัตว์ป่าเข้ามาอยู่อาศัย พืชพรรณต่างๆก็ขึ้นเกะกะ กัดกร่อนโครงสร้างคอนกรีตต่างๆ ไปเรื่อยๆ สิ่งก่อสร้างของมนุษย์เมื่อขาดคนคอยดูแล ใช้เวลาเพียง 3 ปีเท่านั้นก็เสื่อมโทรมไปเกือบจะจำสภาพเดิมไม่ได้ บ้านเมืองที่ไม่มีผู้คนอยู่ ก็ย่อมขาดการซ่อมแซมในสิ่งที่เสื่อมถอยไป ขาดการทำความสะอาด ขาดการ maintenance ขาดการทาสีใหม่ ขาดการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของวัสดุ เวลาเพียง 3 ปีก็ทำให้เมืองเปลี่ยนสภาพไปอย่างสิ้นเชิงครับ

Brain-on-a-Chip เมื่อสมองถูกนำไปอยู่บนชิพ


ในช่วง 4-5 ปีมานี้ เกิดกระแสบูมเป็นอย่างมากในเรื่องของ Lab-on-a-Chip หรือห้องปฏิบัติการบนชิพ ซึ่งได้ย่อส่วนของงานการตรวจวิเคราะห์โรค จากที่ต้องทำในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ขนาดใหญ่ ใช้เวลาหลายๆ วัน ให้มาอยู่บนชิพเล็กๆ ที่ย่อส่วนของเครื่องไม้เครื่องมือมาอยู่บนนั้น การตรวจบนชิพจะใช้เวลาระดับนาทีเท่านั้นเอง ในเมืองไทยก็มีการเห่อมาทำวิจัยเรื่องนี้กันเยอะครับ Lab-on-a-Chip เป็นศาสตร์ที่ทำให้เกิดการแต่งงานข้ามสาขากัน ระหว่าง วิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering) กับ เคมี และ เทคนิคการแพทย์ แต่เรื่องที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังนี้จะเป็นกระแสที่ยิ่งใหญ่กว่าอีกครับ เพราะมันจะทำให้เกิดการข้ามสาขาระหว่างศาสตร์ของวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล ชีวฟิสิกส์ ประสาทวิทยา และจิตวิทยา ครับ ศาสตร์ใหม่นี้เรียกว่า Brain-on-a-Chip ครับ


กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เสนอของบประมาณในปี 2009 เพื่อดำเนินโครงการที่จะเพิ่มศักยภาพหุ่นยนต์ หรือ จักรกลรบต่างๆ ด้วยการนำเซลล์สมองมาทำงานร่วมกับไมโครชิพ เป็น Hybrid Electronics ที่มีส่วนของวงจรที่ไม่มีชิวิตกับวงจรของสิ่งมีชีวิตครับ โครงการนี้มีชื่อว่า SyNAPSE - Systems of Neuromorphic Adaptive Plastic Scalable Electronics เขาได้จัด workshop เพื่อรวบรวมข้อเสนอโครงการต่างๆ จากนักวิจัยทั่วสหรัฐ โดยจะแจกทุนวิจัยให้แก่โครงการที่เข้าตาทหาร แล้วบริหารจัดการโครงการย่อยๆเหล่านั้น เพื่อนำไปสู่ "ชิพสมอง" ที่จะใช้ควบคุมหุ่นยนต์รบต่างๆ เพนตากอนต้องการนำชิพสมองนี้ไปใช้ในเพื่อทำการบินเครื่องบินสอดแนม หรือ หุ่นยนต์รบที่บินได้ แบบที่ไม่ต้องใช้มนุษย์ควบคุมอีกต่อไป หรือ เรือดำน้ำไร้มนุษย์ที่สามารถปฏิบัติภารกิจได้เองโดยไม่ต้องมีมนุษย์มาแทรกแซง ซึ่งถ้าจะทำเช่นนั้นได้ ไมโครชิพปัจจุบันก็ต้องมีฟังก์ชัน หรือ ความสามารถเหมือนสมองมนุษย์ ดังนั้นการปลูกเซลล์สมองบนไมโครชิพ เป็นอะไรที่จะช่วยทำให้วิสัยทัศน์ของเพนทากอนเป็นจริงได้ เห็นมั้ยครับว่าเรื่องราวใน ภาพยนตร์ Terminator นั้นกำลังจะเป็นจริงแล้วครับ .......

เนื่องจากงานวิจัยเหล่านี้เป็นของกลาโหม จึงไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบหลักจริยธรรมแต่อย่างใด อีกทั้งพวก NGO ก็ไม่กล้ามายุ่ง นักวิจัยเก่งๆ ที่กลัวเรื่องหลักจริยธรรมในการทำงานวิจัยด้านนี้จึงเข้าร่วมโครงการนี้เป็นจำนวนมากครับ วันหลังผมจะมาเล่าให้ฟังว่าโครงการย่อยๆ ต่างๆเหล่านั้นมีอะไรบ้างที่น่าสนใจ ......................

02 พฤศจิกายน 2551

Mixed Reality - เมื่อความฝัน ผสมพันธุ์กับ ความเป็นจริง (ตอนที่ 2)


วันนี้กลับมาคุยกันถึงเรื่อง Mixed Reality ครับ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้โลกความฝัน มาอยู่ร่วมกับโลกความจริง Mixed Reality เป็นเทคโนโลยีในการสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ขึ้นมา ซึ่งสิ่งของที่มีตัวตนอยู่จริงๆ จะอยู่ร่วมกับสิ่งของที่สร้างขึ้นมา (Digital Object) โดยสิ่งของทั้ง 2 ประเภทเหล่านั้นจะอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน เหมือนประหนึ่งว่าสิ่งของที่เป็นของเสมือนนั้นมีตัวตนจริงๆ (ในทางกลับกัน สิ่งของที่อยู่ในโลกแห่งความจริง ก็จะเสมือนกับว่าเป็นสิ่งของที่อยู่ในโลกแห่งความฝันไปด้วยเช่นกัน เพราะสิ่งของดิจิตอลก็จะรับรู้สภาพหรือความเป็นดิจิตอลของสิ่งที่มีอยู่จริงด้วย วันนี้ผมจะมายกตัวอย่างสินค้าที่ทำออกขายในญี่ปุ่น เป็นตัวการ์ตูน หรือ Manga ที่มีชื่อว่า Dennou Figure ARis หรืออีกชื่อคือ Cyber Figure Aris เขาทำออกมาเพื่อคุณผู้ชายขี้เหงาที่ยังไม่มีแฟน แต่ต้องการมีแฟนไว้เป็นเพื่อนใจ ผลิตภัณฑ์นี้ประกอบด้วย ลูกบาศก์ 1 ลูก กับ ไม้ถือเล็กๆ 1 อันที่เป็นรูปมือที่กำลังชี้นิ้ว การทำงานจะเริ่มขึ้น เมื่อเราหัน Web Cam ไปที่ลูกบาศก์ที่ให้มา ภาพของหนู Alice จะปรากฏขึ้นบนจอคอมพิวเตอร์ เราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับ Alice ได้ด้วยการเอาไม้ถือเล็กๆ ที่ให้มาไปแตะตัว Alice ที่ยืนอยู่บนลูกบาศก์ ภาพของ Alice ที่ปรากฏในจอก็จะตอบสนองต่อการกระทำของเรา เสมือนกับว่ามี Alice อยู่นอกจอจริงๆ ซึ่งเราสามารถแหย่เล่นจั๊กจี๋ Alice ได้ หรือจะจับ Alice หันซ้ายหันขวา แกล้งเล่นแก้เหงา ซึ่ง Alice ก็จะมีเสื้อผ้าให้ใส่ได้หลากหลายแบบ เราสามารถเอาใจใส่ดูแล Alice ด้วยการเปลี่ยนเสื้อผ้าให้บ้างในแต่ละวันที่ผ่านไป

วันหลังผมจะมายกตัวอย่างของ Mixed Reality นี้อีกนะครับ ........

01 พฤศจิกายน 2551

Robotic Flower - หุ่นยนต์ดอกไม้


ในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะเริ่มเห็นโลกแห่งอนาคตที่สิ่งมีชีวิต กับ สิ่งไม่มีชีวิต (นิยาม ณ วันที่ 1 พ.ย. 2551 แต่อนาคตกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วครับ !!!) เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันมากกว่าแค่สัมผัสทางกาย แต่เราจะเริ่มเห็นสัมผัสทางใจระหว่างเรากับสิ่งของมากขึ้น ก่อนหน้านี้ผมได้นำเสนอเรื่องราวของปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับจักรกล ไม่ว่าจะเป็น หมอนบอกรักได้ การผสมพันธุ์ระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน หุ่นยนต์ควบคุมด้วยสมองชีวะ เป็นต้น ทั้งหลายเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกว่า โลกในอนาคตจะผสมผสาน กลมกลืน แยกแยะได้ยาก ระหว่างคน สัตว์ สิ่งของ จักรกลอาจจะกลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่ก็ได้


วันนี้ผมจะพาท่านผู้อ่านไปพบกับหุ่นยนต์ดอกไม้ ซึ่งวิจัยและพัฒนาโดย Professor Park Jong-Oh นักวิจัยเกาหลี แห่ง Chonnam National University ซึ่งเจ้าดอกไม้จักรกลต้นนี้มีความสามารถเลียนแบบสิ่งมีชีวิต กล่าวคือ มันคายน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นแก่สภาพล้อมรอบได้ มันผลิตอ๊อกซิเจนได้ ปล่อยกลิ่นหอมเย้ายวนใจของดอกไม้ได้ เมื่อผู้คนเข้าใกล้มัน มันจะแสดงอาการดีใจ โน้มดอกเข้าหา และยืดกลีบดอกออกเพื่อบานเบ่งอย่างเต็มที่ แถมยังเต้นตามเสียงดนตรีที่มันชอบได้ด้วย เมื่อคนเดินออกไป มันจะกลับมาอยู่ในสถานะเดิม เจ้าดอกไม้หุ่นยนต์นี้ตอบสนองต่อเสียงและแสงที่อยู่ล้อมรอบมัน น่าสนใจไหมครับ แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะทำออกขายเมื่อไหร่ คณะวิจัยบอกว่ายังไม่ทราบเพราะตอนนี้กำลังสนุกอยู่กับการตีพิมพ์บทความวิชาการ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในวารสารต่างๆ เพราะเทคโนโลยีที่ใช้ทำเจ้าดอกไม้นี้มีการใช้งานนาโนวัสดุหลายชนิด รวมทั้ง mechanism ที่เลียนแบบธรรมชาติ ก็เป็นความรู้ใหม่ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล