20 พฤศจิกายน 2551

Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงโลก (ตอนที่ 8)

เรื่องของวิศวกรรมดาวเคราะห์ยังไม่จบนะครับ วันนี้ผมขอมาเล่าต่อ วิศวกรรมดาวเคราะห์เป็นศาสตร์ในการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ หลากหลายชนิดทั้ง ฟิสิกส์ โยธา อวกาศวิศวกรรมธรณี เคมี นาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และอื่นๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเคราะห์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำให้ดาวเคราะห์เป้าหมายเหมาะที่สิ่งมีชีวิตจะอยู่ได้ โดยเฉพาะ ณ ขณะนี้เรากำลังประสบกับภาวะภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจึงค้นหาเทคโนโลยีที่จะทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตในโลกที่เปลี่ยนแปลงใบนี้ต่อไป


เมื่อตอนเด็กๆ ผมจำได้ว่าในการ์ตูนญี่ปุ่นมีการพูดถึงเมืองที่อยู่ในโดมกระจกที่สร้างขึ้นมา เพื่อปกป้องผู้อยู่อาศัยภายในให้รอดพ้นจากมลภาวะที่เลวร้าย โดมกระจกนี้ใหญ่มากจนสามารถบรรจุเมืองทั้งเมืองเข้าไปได้เลย มีผู้คนอยู่อาศัยในนั้นหลายแสนคนหรืออาจเป็นล้านๆ เลย ในสมัยนั้นถึงแม้เรื่องภาวะโลกร้อนยังไม่เป็นที่รู้จักกันเลยก็ตาม แต่ความคิดเกี่ยวกับเรื่องสภาพบรรยากาศที่ถูกทำลายจากสารพิษต่างๆ รวมทั้งฝุ่นนิวเคลียร์ ทำให้สถาปนิกเริ่มมีไอเดียในเรื่องดังกล่าว


ผ่านมาเกือบ 30 ปีนับตั้งแต่ผมได้เห็นจินตนาการเหล่านั้นในการ์ตูน สิ่งก่อสร้างใหญ่โตเหล่านั้นกำลังจะถูกทำให้เป็นความจริงขึ้นมาแล้วครับ
ที่สำคัญมันจะไม่เกิดเพียงหนึ่งหรือสองแห่ง แต่มันกำลังจะกลายเป็นกระแสที่บูมฮ็อตฮิต เพราะว่าด้วยสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มนุษย์ไม่อยากทนทุกข์กับ ภาวะโลกร้อน วิธีการหนึ่งก็คือ การไปควบคุมสภาพภูมิอากาศให้เหมาะกับการอยู่อาศัยเสียเลย ด้วยการสร้างโดมใหญ่ๆ มาครอบคลุมตัวเอง คราวนี้อยากให้ฤดูกาลข้างในเป็นอย่างไรก็สามารถทำได้เลย ไม่ต้องไปรอหน้าร้อน หน้าหนาวเหมือนสมัยก่อน ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการสร้างเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า มาสดาร์ (Masdar City) ซึ่งเป็นเมืองพลังงานสะอาดที่สร้างขึ้นในทะเลทราย ทั้งๆ ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน แต่กลับอยากทำให้เมืองนี้ทั้งเมืองไม่ใช้น้ำมันเลย ในเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2551 ประเทศนี้ได้ออกมาประกาศที่จะสร้างเมืองในฝันที่สามารถควบคุมสภาพภูมิอากาศได้ โดยมีที่ตั้งกลางทะเลทรายซึ่งจะใช้พื้นที่ขนาด 6 ตารางกิโลเมตร สามารถบรรจุประชากรได้ 50,000 คน และธุรกิจ 1,500 แห่ง เมืองนี้จะไม่ใช้น้ำมัน แต่เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเซลล์สุริยะ โครงการในฝันที่กำลังเร่งสร้างให้ทันเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2553 นี้ออกแบบโดยท่านลอร์ด นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) นักออกแบบชาวอังกฤษที่เคยฝากผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมเลื่องชื่อ มากมายมาแล้วทั่วโลก เมืองนี้จะไม่มีรถราที่ใช้น้ำมันมาวิ่งให้กวนใจ ประชากรจะใช้รถไฟฟ้าแบบรางเบาที่เชื่อมโยงทั้งเมือง หรืออาจจะใช้สิ่งที่เรียกว่ากระสวยขับเอง (Automated Transport Pod) ที่วิ่งอัตโนมัติจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ทุกๆจุดในเมืองจะถูกออกแบบให้อยู่ห่างจากจุดขึ้นรถสาธารณะไม่เกิน 200 เมตร เมืองนี้จะถูกเชื่อมโยงกับอาบูดาบี ซึ่งเป็นเมืองหลวงด้วยรถไฟความเร็วสูง ในเรื่องของการกำจัดขยะนั้น เมืองจะถูกออกแบบให้ 99% ของขยะถูกจัดการให้นำกลับมาใช้ใหม่ รวมไปถึงน้ำด้วย ความเจ๋งของเมืองนี้ทำให้ผู้ออกแบบถึงกับบ่นออกมาว่า "ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็พึ่งพาน้ำมันเต็มๆตัว ไม่คิดถึงการทำอะไรแบบนี้ ทำไมประเทศยุโรปที่มีทั้งพื้นฐานทางปัญญาและทรัพยากรที่แข็งแกร่งไม่สามารถที่จะริเริ่มเมืองแบบนี้ ผมถามตัวเองอยู่บ่อยๆว่า ทำไมโครงการแบบนี้ที่พร้อมจะเกิดขึ้นที่ไหนในโลกก็ได้ที่มีความก้าวหน้าสูง กลับมาเกิดขึ้นที่นี่ ........"



อีกโครงการยิ่งใหญ่ก็คือ Kazakhstan's Pleasure Dome หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Khan Shatyry Entertainment Center ในประเทศคาซัคสถาน ซึ่งมีรูปร่างเหมือนเต้นท์สูงครอบคลุมอาณาบริเวณ 100,000 ตารางเมตร โดมกระจกแห่งนี้จริงๆ ก็ไม่ได้ทำด้วยกระจกหรอกครับ แต่เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Ethylene tetrafluoroethylene (ETFE) เป็นพลาสติกใสที่ทนทานต่อการกัดกร่อน และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ภายในโดมมีทั้งสนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ ชายหาด สวนน้ำเล่นคลื่น ร้านค้ากว่า 250 ร้าน โรงภาพยนตร์ โดมอันยิ่งใหญ่แห่งนี้จะทำให้ประชากรของคาซัคสถาน สามารถมาเที่ยวชมเพื่อรับบรรยากาศทะเลของภูเก็ตแบบไม่ต้องบินมาจริงๆ ได้ตลอดปี ทั้งๆที่อากาศข้างนอกอาจหนาวถึง -35 องศาเซลเซียส


โครงการที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันอีกโครงการหนึ่งก็คือ รีสอร์ทสกีในร่ม (Indoor Ski Resort) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะทำให้การเล่นสกีสามารถทำได้ทุกฤดูกาล ไม่ต้องกังวลกับความหนาของหิมะที่ลดลงทุกปีๆ ของถิ่นสกีในเทือกเขาแอลป์อีกต่อไป ภูเขาสกีเทียมลูกนี้มีความสูงเท่ากับตึก 35 ชั้น และจะสร้างขึ้นที่ Long Island ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในบริเวณใกล้กันจะมีกลุ่มของโรงแรมและรีสอร์ท สวนน้ำ ศูนย์ประชุม โรงไวน์ สวนแคมปิ้ง สปา ทะเลสาบ และสวนพฤกษศาสตร์ คาดว่าโครงการนี้จะทยอยเปิดใช้บางส่วนในปี ค.ศ. 2013 โดยโครงการเต็มรูปแบบจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 10 ปี