27 พฤศจิกายน 2551

Nano Road - ถนนนาโน (ตอนที่ 2)


ตอนนี้ผมยังอยู่ที่เชียงรายครับ จะอยู่ต่ออีกสัก 2-3 วัน เพื่อหลบความวุ่นวายจากพวกพันธมิตรที่ก่อเหตุรุนแรงในกรุงเทพฯ อากาศทางเหนือตอนนี้หนาวครับ ปีนี้มีแนวโน้มว่าจะหนาวยาวหน่อยครับ วันนี้ผมมาพูดเรื่องถนนนาโนต่อจากวันก่อนครับ .....

งานวิจัยที่กรมทางหลวงสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อพัฒนาถนนหนทางให้มีความฉลาดขึ้นนี้ มีตั้งแต่ การศึกษาโครงสร้างระดับนาโนในคอนกรีต ความเข้าใจในเรื่องของการผุกร่อนของโครงสร้างลงไปถึงระดับนาโน การพัฒนาคอนกรีตที่ใช้วัสดุทางเลือกอื่นๆ เช่น เถ้าลอย จีโอพอลิเมอร์ (Geopolymer) เป็นต้น การพัฒนาวัสดุผสมเพื่อเสริมโครงสร้างให้แข็งแกร่งมากขึ้น รวมไปถึงเหล็กกล้าที่มีโครงสร้างนาโน สำหรับทำโครงสร้างสะพาน แอสฟัลต์ (Asphalt) ชนิดใหม่ที่ใช้วัสดุทางเลือกเช่น ยางรถยนต์ที่ใช้แล้ว เป็นต้น ในการที่จะทำให้ทางหลวงกลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ฉลาด กรมทางหลวงสหรัฐฯ ได้ฝากความหวังไว้กับ วัสดุที่สามารถรักษา-ซ่อมแซม-ทำความสะอาดตัวเองได้ (Self-Healing/Self-Repair/Self-Healing) ซึ่งเป็นหัวข้อลำดับต้นๆ ที่ได้รับความสำคัญ เครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายที่สามารถติดตามสภาพการใช้งานตลอดจนสามารถรายงานข้อมูลไปที่ศูนย์ข้อมูลได้ ซึ่งปัจจุบันมีการทดลองติดตั้งที่สะพานโกลเด้นเกตอันลือชื่อของ ซาน ฟรานซิสโก ในอนาคตเซ็นเซอร์ไร้สายเหล่านี้อาจทำให้เล็กลงไปจนถึงสิ่งที่เรียกว่า ฝุ่นหรือผงอัจฉริยะ (Smart Dust หรือ Smart Aggregate) ซึ่งสามารถโรยลงไปในคอนกรีตขณะที่ทำการก่อสร้างถนนหรือสะพานได้เลย โดยทางหลวงทั้งหมดจะมีลักษณะเหมือนระบบประสาท ที่มีความสามารถในการรับรู้ เก็บข้อมูล รายงานผล รับการสั่งการ ตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรืออันตรายต่างๆ ลองจินตนาการถึงระบบทางหลวงที่สามารถเชื่อมโยงโดยตรงกับเซ็นเซอร์ต่างๆ สามารถเตือนภัยผู้ขับขี่ล่วงหน้าในเรื่องของ หมอก ควัน ลม ฝน รวมไปถึงการสั่งการให้โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทำงานเพื่อตอบสนองกับสิ่งเร้า ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณจราจร สัญญาณฉุกเฉิน ไฟส่องสว่าง ทางหลวงที่สามารถเปิดระบบทำความร้อนได้เองเพื่อละลายหิมะ สะพานที่สามารถปรับรูปร่างเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวขณะเกิดพายุรุนแรง