24 พฤศจิกายน 2551

Nano Road - ถนนนาโน


สวัสดีครับ หายไปหลายวันครับ ตอนนี้ผมอยู่เชียงใหม่ครับ พรุ่งนี้ผมจะเดินทางไปประชุมที่เชียงรายครับ พอมีเวลาเข้ามาอัพเดตนิดหน่อยนะครับ วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้กับถนนหนทางครับ

ตลอดช่วงสหัสวรรษที่ผ่านมานั้น มนุษย์ได้นำเอาวัสดุก่อสร้างที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้เป็นตัวต่อ (Building Blocks) เพื่อก่อร่างสร้างสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็น ถนน สะพาน เทวสถาน พระราชวัง ชาวอียิปต์โบราณนำหินหลายล้านก้อนมาก่อปิระมิดได้อย่างน่าอัศจรรย์ อาณาจักรขอมขนก้อนหินจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ห่างออกไปนับร้อยกิโลเมตรเพื่อมาสลักและก่อสร้างนครวัดอันวิจิตรงดงามโดยไม่ต้องใช้วัสดุแต่งเติมใดๆเลย ชาวจีนสร้างกำแพงเมืองจีนจากก้อนหินยาวกว่า 6,000 กิโลเมตร ผ่านเทือกเขาสูงชันไปจนถึงทะเลทรายที่แห้งแล้ง ถึงแม้สิ่งก่อสร้างต่างๆที่กล่าวมานี้จะได้รับการยอมรับให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่เกิดขึ้นจากความอุตสาหะวิริยะและเทคโนโลยีที่เยี่ยมยอดของบรรพชนเหล่านั้น แต่สิ่งมหัศจรรย์เหล่านั้นก็ยังใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติ เป็นวัสดุที่ไม่ฉลาด ไม่มีหัวคิดไม่สามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อม ไม่สามารถมีฟังก์ชันหน้าที่มากไปกว่าการดำรงรักษาโครงสร้างซึ่งจะมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เทียบไม่ได้กับวัสดุยุคนาโน ที่มีความสามารถในการทำหน้าที่ต่างๆ จนมีคำเรียกวัสดุนาโนออกมาใช้กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วัสดุออกแบบขึ้นมา (Designer Materials) วัสดุก้าวหน้า (Advanced Materials) วัสดุฉลาด (Smart Materials) วัสดุอัจฉริยะ (Intelligent Materials) วัสดุทำหน้าที่ (Functional Materials) วัสดุรับคำสั่งได้ (Programmable Materials) วัสดุมีโครงสร้างลำดับชั้น (Hierarchical Materials) ไปจนถึงวัสดุที่เป็นซอฟต์แวร์ (Matters as Software)

หลังจากที่ประธานาธิบดีคลินตันได้เดินหน้าโครงการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Nanotechnology Initiative หรือ NNI) เมื่อปี ค.ศ. 2001 ซึ่งได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ตื่นตัวในการลงทุนวิจัยทางนาโนเทคโนโลยีไปทั่วโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ศาสตร์ของนาโนเทคโนโลยีและนาโนวัสดุได้เข้าไปแทรกซึมและสร้างสีสันให้วงการต่างๆ ทั้ง ฟิสิกส์ เคมี เภสัชศาสตร์ การแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ยานยนตร์ อาหาร-เกษตร วัสดุก่อสร้าง ซึ่งทุกๆวงการต่างต้อนรับเทคโนโลยีน้องใหม่นี้อย่างอบอุ่น ตอนนี้ก็เป็นคิวของอุตสาหกรรมก่อสร้างถนนหนทาง ที่เริ่มจะเกิดการตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีจิ๋วมาใช้บ้าง โดยสหรัฐอเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตีที่จะไปอยู่แถวหน้า ทั้งนี้เพราะสหรัฐอเมริกามีทางหลวงรวมกันแล้วเป็นระยะทางถึง 3.6 ล้านกิโลเมตร เฉพาะแค่การบำรุงรักษาและซ่อมแซมเส้นทางก็ต้องใช้งบประมาณเกือบ 2 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้นทางกรมทางหลวงสหรัฐฯ (Federation Highway Administration) จึงได้ริเริ่มโครงการวิจัยขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาทางหลวงให้กลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ล้ำยุคที่สุดในศตวรรษที่ 21



ภาพบน - ยางมะตอยชนิดใหม่ที่มีส่วนผสมของอนุภาคยาง กำลังได้รับความนิยม เพราะทำให้การขับขี่นุ่มสบาย