30 พฤษภาคม 2553

Gesture Recognition - เทคโนโลยีตรวจจับภาษากาย (ตอนที่ 4)


นักวิจัยทั่วโลก กำลังพยายามที่จะทำให้ถุงมืออันตรกริยา (Interactive Data Glove) มีราคาถูกลง ด้วยการค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการสร้างถุงมือ คณะวิจัยของผมได้เสนอเซ็นเซอร์ที่ใช้ในถุงมือ ที่ผลิตได้ด้วยวิธีการพิมพ์ ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตเซ็นเซอร์ได้ถูกมาก รวมไปถึงการใช้เครือข่ายไร้สายที่เรียกว่า Zigbee ซึ่งมีราคาไม่แพง ในการส่งข้อมูลระหว่างถุงมือกับคอมพิวเตอร์

ที่ MIT เขาก็มีการพัฒนาถุงมืออันตรกริยาเหมือนกัน และล่าสุดเขาก็ได้ออกมาเปิดเผยผลงานที่สร้างความฮือฮามาก เพราะถุงมือของเขามีสีสันฉูดฉาดเหมือนถุงมือตัวตลก แถมยังไม่มีเซ็นเซอร์ในการตรวจวัดบนถุงมือใดๆ ทั้งนี้ คณะวิจัยได้ใช้กล้อง web cam ที่ใช้กันทั่วไปเพื่อตรวจจับอากัปกริยาของมือ โดยกล้องจะจับภาพมือและโปรแกรมวิเคราะห์ภาพจะทำการประมวลผล ว่ามือกำลังทำอะไรอยู่

แนวทางในการตรวจจับอาการของมือแบบนี้ ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Machine Vision คือการแปลผลจากภาพวีดิโอที่ถ่ายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีคนพยายามใช้วิธีนี้กันมาก แต่ก็มักจะพบกับอุปสรรค เพราะการแปลความหมายของมือจากภาพวีดิโอยังไม่ง่ายนัก ที่ทำกันก็โดยการเอาเทปสี ไปแปะไว้ที่ถุงมือบริเวณปลายนิ้ว เพื่อให้มีความแตกต่าง (Contrast) ของสีมากๆ โปรแกรมประมวลผลภาพจะได้สามารถแยกแยะนิ้วบนมือได้ วิธีการจึงตรวจวัดอาการของนิ้วมือได้ใน 2 มิติเท่านั้น และก็ตรวจอากัปกริยายากๆ ไม่ได้ด้วย

ถุงมือตัวตลกของ MIT ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของ นาย โรเบิร์ต หวัง (Robert Wang) นี้ออกแบบมาอย่างชาญฉลาดมากครับ เพราะตัวถุงมือมีลักษณะเป็นจิ๊กซอว์หลากสีมาต่อกัน โดยใช้สีทั้งหมด 10 สี มีลำดับการต่อกันระหว่างจิ๊กซอว์เหล่านั้นอย่างแน่นอน ทำให้โปรแกรมประมวลผลภาพ สามารถแยกถุงมือ ออกจากสิ่งแวดล้อมได้ง่าย และที่สำคัญ มันสามารถจำแนกอาการของมือได้แบบ 3 มิติเลย โดยการคำนวณจากรูปร่างของจิ๊กซอว์สีที่เปลี่ยนไปตามอาการของมือ (สังเกตว่า จิ๊กซอว์มีรูปร่างขยุกขยัก ซึ่งเกิดจากการออกแบบมา และทดสอบมาแล้วว่าได้ผลดี) คณะวิจัยที่ MIT ได้สาธิตให้ดูว่าถุงมือตัวตลกนี้สามารถใช้ในการทำงานกับ โปรแกรมพวก CAD/CAM (โปรแกรมออกแบบ ทางด้านอุตสาหกรรม) แทนเมาส์ได้ โดยเราใช้มือจับนู่นจับนี้ หมุนของ เลื่อนสิ่งของที่อยู่ในจอภาพ โดยที่ผู้ใช้จะรู้สึกเหมือนมือของตนได้เข้าไปอยู่ในคอมพิวเตอร์จริงๆ ....


28 พฤษภาคม 2553

Gesture Recognition - เทคโนโลยีตรวจจับภาษากาย (ตอนที่ 3)


ก็อย่างที่ผมเคยพูดไปก่อนหน้านี้แหล่ะครับว่า เราจะเริ่มเห็นการหลอมรวม หรือเข้ามาบรรจบกัน ระหว่างจักรกลที่มนุษย์สร้างขึ้นกับตัวมนุษย์เอง (Life and Machine Integration) โดยศาสตร์แห่งการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับจักรกล (Human Machine Inteface หรือ Human Computer Interface) ก็เป็นสาขาหนึ่งที่จะเป็นจุดเริ่มในการทำให้จักรกลมีความเป็นชีวิต หรือ มีความเป็นมนุษย์ขึ้นมา หรือแม้กระทั่งอาจทำให้มนุษย์มีความเป็นจักรกลขึ้นมาด้วยก็ได้

ถุงมืออันตรกริยา (Interactive Data Glove) ก็เป็นเทคโนโลยีหนึ่งในการตรวจจับภาษากาย ที่มีผู้สนใจศึกษาวิจัยกันมาก เพราะเหตุที่ว่า แม้คนที่ไม่ได้เป็นใบ้ และพูดได้เป็นปกติ ก็มักชอบใช้กริยาท่าทางของมือและแขน เพื่อแสดงออกในการช่วยอธิบายสิ่งต่างๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจ การอ่านหรือตรวจจับอากัปกริยาเท่านั้นทำได้หลายวิธีครับ แต่วิธีหนึ่งที่มีผู้สนใจศึกษากันมาก ก็โดยการอาศัยถุงมือนี่แหล่ะครับ ในการถ่ายทอดอาการของมือไปยังคอมพิวเตอร์ นับตั้งแต่ภาพยนตร์ของ Steven Spielberg เรื่อง Minority Report ออกฉายในปี ค.ศ. 2002 ซึ่งในหนังเรื่องนี้ ทอม ครูซ ได้โชว์การใช้ถุงมืออันตรกริยา ในการหยิบจับสิ่งต่างๆ รูปภาพ วีดิโอ ข้อมูล จัดเรียงไปมาบนจอโปรเจคเตอร์ที่ลอยอยู่ในอากาศ นักวิจัยและพัฒนาทั่วโลกต่างได้รับแรงบันดาลใจนี้ และพยายามแข่งขันกันเพื่อพัฒนาถุงมืออันตรกริยา ซึ่งปัจจุบันถุงมืออันตรกริยามีจำหน่ายแล้ว แต่ราคาสูงมาก มีตั้งแต่ราคาประมาณ 50,000 บาท ขึ้นไปจนถึงราคาเป็นล้านบาท

เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงมีคนพยายามจะพัฒนาเทคโนโลยีที่จะทำให้ถุงมืออันตรกริยามีราคาที่ถูกลง ในกลุ่มวิจัยของผมเองก็ได้ทำวิจัยเรื่องนี้ครับ โดยนักศึกษาปริญญาโทท่านหนึ่งชื่อ คุณนัษฐพงษ์ ทองรอด ได้ค้นคว้าและพัฒนาถุงมืออันตรกริยาที่ใช้เซ็นเซอร์ที่ผลิตได้จากวิธีการพิมพ์หมึกนำไฟฟ้า ลงบนแผ่นรองที่สามารถนำไปเย็บติดกับถุงมือ โดยร่วมมือกับ คุณณัฐพล วัฒนวิสุทธิ์ ซึ่งเป็นลูกน้องของ ดร. อดิสร เตือนตรานนท์แห่ง NECTEC ในการทำให้ถุงมือนี้สามารถคุยกันเป็นเครือข่ายไร้สาย โดยถุงมืออันตรกริยานี้สามารถถ่ายทอดอากัปกริยาของมือมายังคอมพิวเตอร์ ซึ่งคณะวิจัยได้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้สามารถนำอาการของมือ ไปควบคุมโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ได้ ถุงมือดังกล่าวจะมีประโยชน์มากสำหรับโครงการวิจัยสภาพล้อมรอบอัจฉริยะ (Smart Environment) ที่เรากำลังวิจัยอยู่ครับ

ว่างๆ มาคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ .....

24 พฤษภาคม 2553

DARPA ห่วง นับวันยิ่งหาคนเก่งเข้ากองทัพยากขึ้น (ตอนที่ 2)


อย่างที่ผมมักจะพูดเสมอล่ะครับว่า ความยิ่งใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ขึ้นอยู่กับแสนยานุภาพทางด้านการทหาร อันเกิดจากขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ประเทศนี้ขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันมาหลายทศวรรษ อเมริกาจึงหมั่นคอยสอดส่อง ตรวจสอบทั้งตัวเองและผู้อื่นว่า ตัวเองยังอยู่ในอันดับหนึ่งอยู่หรือเปล่า และในอนาคตอีกหลายๆปีข้างหน้า ตัวเองยังจะเป็นที่หนึ่ง หรือจะมีคู่แข่งเข้ามาทาบรัศมีหรือไม่

การเป็นที่หนึ่งของอเมริกาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกิดจากอานิสงส์ที่อเมริกามีมหาวิทยาลัยชั้นยอด ที่ผลิตงานวิจัยชั้นแนวหน้าของโลก มีหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก ที่ก้าวหน้า มีนักศึกษาต่างชาติเป็นแรงงานชั้นดีผลิตงานวิจัยระดับสูงออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักศึกษาต่างชาติกลับค่อยๆ ลดลง เนื่องจากประเทศอื่นๆ เริ่มที่จะมีหลักสูตรระดับสูงของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงต้องผลักดันคนหนุ่มสาวในประเทศของตัวเอง ให้สนใจที่จะเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น และเป้าหมายหนึ่งที่กำลังจะเป็นที่สนใจก็คือ เด็กผู้หญิง ซึ่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อยากให้คนกลุ่มนี้สนใจที่จะเป็นทหาร หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติให้มากขึ้น

ล่าสุด ทางบริษัท Mattel ผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี ได้ร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้วยการผลิตตุ๊กตาบาร์บีรุ่น บาร์บีวิศวกรคอมพิวเตอร์ ซึ่งตุ๊กตารุ่นนี้ บาร์บีอยู่ในท่าถือคอมพิวเตอร์ที่มีหน้าจอเป็นเลข 0 กับ 1 (แสดงถึงข้อมูลดิจิตอล) มีหูฟังบลูทูธทัดไว้ที่หู เสื้อยืดที่บาร์บีใส่ก็มีรูปคอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด และ เมาส์ เพนทากอนหวังว่า ตุ๊กตารุ่นนี้จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหญิงทั้งหลาย อยากเรียนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และอยากโตมาเป็นวิศวกร เพื่อที่สหรัฐอเมริกาจะได้มีวิศวกรผู้หญิงเข้ามาช่วยงานกองทัพในอนาคต ซึ่งจริงๆ แล้ว ตำแหน่งงานในกองทัพสหรัฐฯ นั้น มีพวกที่เรียกว่า TDY หรือ Temporary Duty มากขึ้น ซึ่งจะอาศัยแรงงานจากหลากหลายศาสตร์ หลากหลายอาชีพ รับจ็อบทำงานให้ทหารอย่างลับๆ คนเหล่านี้อาจเดินสวนกับคุณในห้างสยามพารากอน หรือ นอนเล่นอยู่ริมทะเลที่เกาะสมุยก็ได้ ครับ .....

16 พฤษภาคม 2553

ICFPE 2010 - The International Conference on Flexible and Printed Electronics


ช่วงนี้สถานการณ์บ้านเมือง กลับตาลปัตรกลายมาเป็นสงครามกลางเมืองอย่างไม่น่าเชื่อ แม้จะวางใจเป็นกลางอย่างไร ก็ยังรู้สึกหดหู่ใจ ไม่มีสมาธิจะเขียนบทความ จินตนาการหายหมดเลยครับบ้านเมืองเป็นแบบนี้ ช่วงนี้ผมขอแนะนำการประชุมวิชาการต่างๆ กันต่อนะครับ เมื่อไหร่จิตใจคืนสู่ปกติ จะกลับมาเขียนบทความเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่อ จริงๆ มีอะไรจะให้เขียนเยอะมาก แต่ขอผลัดไปก่อนนะครับ ....

การประชุมที่ผมจะขอแนะนำในวันนี้คือ ICFPE 2010 - The International Conference on Flexible and Printed Electronics ซึ่งจะจัดขึ้นที่ จีนไต้หวันระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคม 2553 นี้ เป็นที่น่าสังเกตครับว่าในช่วงปี 2010-2011 จะมีการประชุมสำคัญๆ ไปจัดที่ไต้หวันเยอะมากครับ การประชุม ICFPE นี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างนักวิจัยทางด้านอิเล็กทรอนิกส์แบบยืดหยุ่น และอิเล็กทรอนิกส์แบบพิมพ์ได้ ของเกาหลี ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ ในปีที่แล้วก็เคยจัดการประชุมนี้ที่เกาะเจจู เกาหลีใต้ ผมกับ ดร.อดิสร และนักศึกษาก็ได้ไปเข้าร่วมประชุมนี้ด้วยครัสำหรับ ICFPE 2010 มีกำหนดส่งผลงานฉบับย่อ (Extended Summary) ในวันที่ 22 สิงหาคม 2553 ซึ่งก็ยังมีเวลาครับ

การประชุม ICFPE จะเป็นเวทีให้แก่นักวิจัย นักพัฒนา รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงการอิเล็กทรอนิกส์ แนวใหม่ เป็นอิเล็กทรอนิกส์แบบยืดหยุ่น โค้งงอได้ พิมพ์บนกระดาษ ผ้า พลาสติก ได้ ทำให้การผลิตอุปกรณ์และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต อาจจะออกมาจากโรงพิมพ์ โรงงานทอผ้า หรือ โรงงานพลาสติก ชนิดที่เราเองไม่เคยคาดคิดมาก่อนครับ

หัวข้อที่เป็นที่สนใจในการประชุม ICFPE 2010 นี้ได้แก่ ....
1. Flexible displays and Backplanes
2. Printed electronics: TFT, RFID, memory, sensor etc ...
3. Flexible Energy: Photovoltaic, Lighting, Batteries
4. Printing Processes, Equipments
5. Printing Materials
6. Other related issues


11 พฤษภาคม 2553

IEEE BIOROB 2010 - The 3rd IEEE/RAS-EMBS International Conference on Biomedical Robotics and Biomechanics


ช่วงนี้แนะนำการประชุมวิชาการ เอาแบบให้จุใจเลยนะครับ ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีเยอะมาก แต่เลือกเอาเฉพาะศาสตร์ที่น่าสนใจ และดูจะเป็นอนาคต บวกกับสถานที่เพื่อให้สามารถไปเที่ยวในคราวเดียวกันได้ วันนี้ผมขอแนะนำการประชุมหนึ่งที่น่าสนใจมาก แต่ตัวผมเองคงไม่ได้ไปเข้าร่วม การประชุม IEEE BIOROB 2010 - The 3rd IEEE/RAS-EMBS International Conference on Biomedical Robotics and Biomechanics นี้จะจัดขึ้นที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 26-29 กันยายน 2553 ซึ่งพ้นกำหนดส่งผลงานกันไปแล้วครับ แต่ที่นำมาเสนอไว้ที่บล็อกนี้ ก็เพื่อให้ติดตามกันว่าโปรแกรมการเสนอผลงานเป็นอย่างไรกันบ้าง จะได้สามารถวิเคราะห์แนวโน้มได้ว่า ผู้คนกำลังสนใจเรื่องอะไรกันอยู่ และจะเป็นอย่างไรในอนาคต

สำหรับการประชุมนี้ พอดูชื่อ BIOROB 2010 แล้วก็อดอมยิ้มไม่ได้ เพราะชื่อไปคล้ายๆ กับ ROBIO 2010 ซึ่งกำเนิดในประเทศจีน แต่ของ ROBIO เขาจัดมานานกว่า แสดงว่าประเทศอื่นก็ก๊อปปี้จีนเป็นเหมือนกัน เนื้อหาของ BIOROB จะเน้นทางด้านสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งต่างจาก ROBIO ที่เน้นเทคโนโลยีของหุ่นยนต์ศาสตร์ และวิศวกรรมเลียนแบบธรรมชาติ ส่วนจะเอาไปประยุกต์ใช้ทางด้านไหน เขาก็ไม่ว่าครับ

เนื้อหาของการประชุม BIOROB อย่างที่บอกล่ะครับว่า เน้นทางด้านการแพทย์ ได้แก่

- Biologically-inspired systems
- Biomechatronic systems
- Biorobotics
- Exoskeletons and augmenting devices
- Human-machine interaction
- Locomotion and manipulation in robots and biological systems
- Micro/nano technologies in medicine and biology
- Neuro-robotics
- Protheses
- Rehabilitiation and assistive robotics
- Surgery and diagnosis

ไม่ว่าจะเป็น BIOROB หรือ ROBIO ก็ตาม ทั้งคู่ก็ได้สะท้อนให้เห็นเทรนด์ของการบูรณาการระหว่าง จักรกลกับชีวิต ว่าสิ่งนี้กำลังจะพยุหยาตราเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของพวกเราแน่ๆ ในอนาคตที่ไม่ไกลจากนี้ .....

10 พฤษภาคม 2553

I-SEEC 2010 - International Social, Science, Engineering and Energy Conference 2010


วันนี้ขอนำการประชุมวิชาการมาแนะนำ ต่อเนื่องไปเลยแล้วกันนะครับ การประชุมนี้มีชื่อว่า I-SEEC 2010 - International Social, Science, Engineering and Energy Conference 2010 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน 2553 ที่ จ.นครพนม กำหนดส่งบทความฉบับเต็ม ภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2553

การประชุมนี้ ออกจะแปลกๆ ไปนิด เพราะเนื้อหากว้างมาก ครอบคลุมศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม การสื่อสาร วิศวกรรมไฟฟ้า พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยมีทัศนศาสตร์ (Optical Science and Technology) เป็นหัวข้อหลัก และที่ทำให้งงก็คือ การประชุมนี้มีสังคมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ การจัดการ บัญชีและบริหาร การตลาด แค่นี้ยังไม่พอ ยังรวมหัวข้อทางด้านเกษตรศาสตร์ โรคพืชโรคสัตว์ สัตวศาสตร์ ประมง เลยไม่ค่อยแน่ใจว่า หากไปเข้าร่วมประชุมครั้งนี้จะไปเจอผลงานอะไรบ้าง เพราะหลากหลายมากจนจับทางไม่ถูก แต่ยังไงเสียการประชุมนี้ก็น่าลองครับ เพราะผมยังไม่เคยเห็นการประชุมระดับนานาชาติ ไปจัดกันที่ จ.นครพนม จึงมีความเป็นไปได้ว่า จะเป็นการเชื้อเชิญให้ประเทศเพื่อนบ้านฝั่งลาว และเวียดนาม มาเข้าร่วม โดยอาจจะหวังความร่วมมือกันในอนาคตก็ได้ ....

08 พฤษภาคม 2553

IEEE Robio 2010 - International Conference on Robotics and Biomimetics


ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมเลียนแบบธรรมชาติ (Biomimetic Engineering) ชีววิศวกรรมศาสตร์ (Bioengineering) และ หุ่นยนต์ศาสตร์ (Robotics) รวมไปถึงการหลอมรวมของศาสตร์เหล่านี้เข้าด้วยกัน กำลังจะเข้าครอบครองหัวข้อวิจัยในทศวรรษต่อไป (ค.ศ. 2010-2020) วันนี้ผมขอนำการประชุมทางวิชาการในศาสตร์แนวหน้าเหล่านี้ มาแนะนำ เผื่อมีใครสนใจจะไปเข้าร่วม สำหรับผมเองก็อยากจะไปครับ แต่ก็ยังไม่รู้จะได้ไปหรือปล่าว เนื่องจากต้องจัดลำดับความสำคัญ เพราะมีความจำเป็นต้องไปเข้าร่วมการประชุมอื่น ที่คิดว่าสำคัญสำหรับงานที่ทำอยู่ตอนนี้ เช่น ที่เซี่ยงไฮ้ และที่โซล แต่ก็พยายามจะติดตามหัวข้อที่เสนอกันในการประชุมนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญที่บ้านเมืองของเราต้องทำแน่ๆ ในอนาคตอันใกล้

การประชุม IEEE Robio 2010 - International Conference on Robotics and Biomimetics ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 7 แล้วครับ โดยจะไปจัดกันที่เมืองเทียนจิน (Tianjin) สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 14-18 ธันวาคม 2553 โดยมีกำหนดส่งผลงานฉบับเต็ม (full paper) วันที่ 16 กรกฎาคม นี้ครับ ยังมีเวลาพอสมควรครับ

การประชุม IEEE Robio นี้ริเริ่มโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 2004 โดยจัดที่เมือง Shenyang จากนั้นก็จัดกันต่อที่เมืองจีนมาตลอด ครั้งที่ 2 ไปจัดที่ ฮ่องกง แล้วก็แวะมาจัดครั้งที่ 3 ที่ คุนหมิง ครั้งที่ 4 ไปจัดที่ซันย่าบนเกาะไหหนาน พอปี 2008 ก็ออกจากจีนมาแวะที่กรุงเทพฯ ปี 2009 กลับไปจัดที่กุ้ยหลิน ปีนี้ก็ยังอยู่เมืองจีนต่อ นี่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในเรื่องนี้ของเมืองจีน

ภาพรวมที่เป็นที่สนใจ หรือ Theme ของการประชุมครั้งนี้คือ "Robotics and Biomimetics for Human Science and Engineering”


06 พฤษภาคม 2553

SWC2010 - 14th IEEE International Symposium on Wearable Computers


ไม่ได้แนะนำการประชุมวิชาการในบล็อกมานานเลยนะครับ เพราะผมเองก็ไม่มีกระจิตกระใจจะเดินทางออกนอกประเทศ ห่วงบ้าน ถ้าบ้านเมืองเกิดเป็นอะไรขึ้นมา ก็ขออยู่ในเมืองไทยนี่แหล่ะ ไม่อยากจะไปลอยเคว้งคว้างอยู่ในต่างประเทศ แต่ช่วงนี้ ดูมีแววว่าบ้านเมืองน่าจะดีขึ้น พอที่จะเดินทางออกไปไหนได้บ้าง ผมก็เลยขอนำการประชุมวิชาการที่เห็นว่าน่าสนใจมาเสนอครับ

วันนี้ผมขอเสนอการประชุมที่มีชื่อว่า ISWC2010 - 14th IEEE International Symposium on Wearable Computers ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 10-13 ตุลาคม 2553 นี้ ซึ่งกำหนดส่งบทความ ภายใน 21 พ.ค. 2553 นี้ครับ ยังไม่รู้ว่าจะมีเลื่อนหรือไม่ ถ้าใครอยากไปคงต้องเริ่มเขียนแล้วล่ะครับ

ในระยะหลังๆ นี้ คอมพิวเตอร์เริ่มเขยิบเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที จากที่เคยอยู่บนโต๊ะ มาอยู่บนตัก มาอยู่บนฝ่ามือ ตอนนี้คอมพิวเตอร์กำลังจะมาอยู่แนบกับตัวเรา มาอยู่ติดผิวหนังเรา ใกล้หัวใจเรา ใต้ฝ่าเท้าเรา หรือแม้กระทั่งกำลังจะเข้าไปอยู่ในตัวเรา การประชุมนี้จะเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ของการประมวลผลที่สวมใส่ได้ เนื้อหาการประชุมที่แสดงในเว็บไซต์ก็มี

1. Wearable Systems
. Innovations in wearable system design and electronic textiles
. Wearable sensors, wearable displays and actuators, novel input devices
. Interaction design, industrial design of wearable systems
. Wearable sensing to detect the wearer's context or location, activity recognition
. Software and service architectures, infrastructure based as well as ad-hoc systems
. Wearable operating systems, dependability, fault-tolerance, and security
. Networks, wireless networks, body networks, and interaction with other systems
. Cooperative wearables, ensembles of wearable artefacts, coordination of wearables
. Techniques for power management, heat dissipation, and manufacturing issues

2. Usability, HCI and Human Factors in Wearable Computing
. Human factors issues with and ergonomics of body worn computing systems
. User modeling, user evaluation, usability engineering of wearable systems
. Systems and designs for combining wearable and pervasive/ubiquitous computing
. Hands-free interfaces, speech-based interaction, sensory augmentation
. Haptics in wearable systems, wearable robots
. Social implications, health risk, environmental and privacy issues
. Wearable technology for social-network computing, visualization and augmentation

3. Applications of Wearable Systems
. Industrial environments: improving work flow, security, and worker conditions
. Wearable systems as part of augmented reality, training, and collaborative work
. Formal evaluation of wearable technologies, comparisons with others
. Wearables, electronic jewelry and smart clothing in culture, fashion and the arts
. Health care devices, 'in vivo' monitoring of patients, sports and fitness applications
. Empowering people with disabilities, assisted living technologies
. Smart Phone as wearable application platform
. Advanced HCI for TV, Home theater(LCD TV)

ใครสนใจก็สมัครดูนะครับ อาจจะได้ไปเจอกันที่เกาหลี .....

03 พฤษภาคม 2553

Vertical Farm - ทำไร่บนตึกสูง (ตอนที่ 4)


หลายๆ ครั้งที่ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร เพื่อบรรยายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่กับการเกษตร ผมมักจะพูดถึงเรื่องของการเกษตรในร่ม ที่นับวันจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องของการทำฟาร์มในแนวดิ่ง (Vertical Farm) ซึ่งผมมักจะเสนอในที่ประชุมเหล่านั้นว่า มันจะช่วยทำให้เกษตรย้ายจากชนบทมาสู่เมือง ซึ่งหากมีการจัดการที่ดี จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากๆ เพราะหากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง ผืนดินในชนบทจำนวนมากจะถูกคืนแก่ธรรมชาติ การเกษตรในเมือง (Urban Agriculture) จะเป็นอะไรที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะเมืองเป็นที่ที่บริโภคผลผลิตทางการเกษตรเหล่านั้น เวลาที่ผมพูดเรื่องนี้ เมื่อผมมองสายตาของผู้ฟัง ผมรู้ว่าท่านเหล่านั้นไม่เชื่อ หรือ อย่างน้อยก็สงสัยกับสิ่งที่ผมพูด .....

แต่ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ที่ ดูไบ เมืองในทะเลทรายที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ให้มาใช้ชีวิตหรูหราอย่างในเทพนิยายอาหรับราตรี ดูไบสร้างสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมยุคใหม่มาแล้วนับไม่ถ้วน แล้วทำไมดูไบจะคิดนอกกรอบ ทำในสิ่งที่ประเทศอื่นยังไม่ยอมทำอย่าง ฟาร์มบนตึกระฟ้า อย่างโครงการ Oasis Tower ที่กำลังจะสร้างในอุทยานธุรกิจซาบีล (Zabeel Park) ที่กำลังจะกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ชิ้นต่อไปของดูไบ ซึ่งมีเป้าหมายจะเป็นตัวอย่างเพื่อแสดงให้ประเทศอาหรับอื่นๆ เห็นว่า การผลิตอาหารได้เอง เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และแนวคิดนี้จะเหมาะสมกับประเทศในทะเลทรายเป็นอย่างมาก เพราะการทำไร่ทำนาในพื้นที่เรียงกันในแนวดิ่ง ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว สำหรับพื้นที่ในทะเลทราย เพราะการใช้น้ำจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ของเสียหลายอย่างถูกนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้มีของเสียปล่อยสู่ธรรมชาติน้อยมาก อาคาร Oasis Tower แห่งนี้ ได้รับการคาดหวังว่าจะสามารถผลิตอาหารได้พอเพียงสำหรับประชากรจำนวนมากถึง 40,000 คนเลยครับ โดยมันจะลดการใช้พลังงานจากภายนอก ด้วยการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมที่พัดผ่านตัวอาคาร รวมไปถึงเซลล์สุริยะที่เคลือบผิวตัวอาคารทั้งหมดจะช่วยผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย

01 พฤษภาคม 2553

Are We Simulated in Computer ? - ฤาโลกนี้เป็นเพียงฝัน (ตอนที่ 7)

บทความชุด "ฤาโลกนี้เป็นเพียงฝัน" มาถึงตอนที่ 7 แล้วนะครับ แต่ผมอยากให้ท่านผู้อ่านย้อนกลับไปอ่านชุดบทความนี้ในตอนที่ 1 สักนิดครับ โดยเฉพาะส่วนหนึ่งของบทความตอนนั้น ซึ่งผมเขียนว่า "..... Dr. Nick Bostrom ผู้อำนวยการสถาบันอนาคตของมนุษยชาติ (Future of Humanity Institute) แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เชื่อว่าพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงใดก็ตาม (รวมไปถึงโลกของเรานี้ด้วย) ไม่ว่าที่ใดในจักรวาล จะต้องไปถึงจุดที่สามารถสร้างคอมพิวเตอร์ที่มีพลังประมวลผลสูงมาก และสูงกว่าพลังประมวลผลของสมองมนุษย์ทุกสมองในโลก และหากคอมพิวเตอร์มีศักยภาพไปถึงจุดนั้นแล้ว เชื่อว่าจะต้องมีใครที่คิดอยากจะซิมูเลชั่นสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลก ซึ่งกำลังประมวลผลที่มหาศาลนี่เอง ทำให้การจำลองเหตุการณ์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทำได้เหมือนจริงมากเสียจนผู้ถูกจำลองไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว ตนเองเป็นชีวิตที่จำลองขึ้นมา ......."

ดูเหมือนว่า สิ่งที่ ดร.บอสตรอม ทำนายไว้ จะเกิดขึ้นเร็วเกินคาดครับ เพราะทางสหภาพยุโรปได้มีดำริที่จะสร้างโมเดลที่จะอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก รวมไปถึงให้สามารถที่จะทำนายเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ในลักษณะเดียวกับที่นักอุตุนิยมวิทยาสามารถที่จะพยากรณ์อากาศได้จากโมเดลคอมพิวเตอร์ของสภาพอากาศ โครงการที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านยูโร (ประมาณ 50,000 ล้านบาท) นี้จะรวมเอาโมเดลสำคัญๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม (techno-socio-economic-environmental) เข้ามาบูรณาการเป็นหนึ่งเดียว นับเป็นครั้งแรกในโลก ที่มีการหลอมรวมศาสตร์ต่างๆ เข้ามาเพื่อทำการจำลองสถานการณ์บนโลกอย่างซับซ้อน และเต็มไปด้วยรายละเอียดจากทั้งมุมมองของวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน โมเดลนี้จะวิ่งบนโครงสร้างพื้นฐานด้านการประมวลผลขนาดใหญ่ ข้อมูลจำนวนมากจากหลากหลายมิติ และมุมมอง จะถูกป้อนเข้าไปประมวลผล ณ เวลาจริง โครงการนี้จะทำให้เราสามารถที่จะพยากรณ์เหตุการณ์บางอย่าง ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า เพื่อให้เราสามารถเตรียมพร้อมหรือปรับตัวได้ทันท่วงที เช่น การเกิดฟองสบู่แตกทางด้านการเงิน การเกิดโรคระบาด กรณีพิพาทต่างๆ ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งใช้วางแผนในการทำสงคราม หรือการรักษาสันติภาพ เป็นต้น

ถึงแม้รายละเอียดของโครงการนี้ ยังไม่ได้มีการเปิดเผยเท่าไรนัก แต่ผมก็พอจะประเมินได้ว่า โครงการนี้จะต้องมีการนำนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอด จากมหาวิทยาลัยต่างๆ หลากหลายศาสตร์ เข้ามาร่วมทำงานกัน และอาจจะมีเอกชนที่อยากลงขัน เพื่อมีส่วนในการใช้ข้อมูลหรือโมเดลดังกล่าวนี้ เช่น บริษัทประกัน บริษัทลงทุนขนาดยักษ์ หรือแม้แต่ Google เอง ก็คงต้องการที่จะสร้างโมเดลของโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ เมื่อถึงเวลานั้น เราก็เพียงแค่เข้า Google เพื่อ search หาเหตุการณ์แบบเรียลไทม์ (Real-time) ที่กำลังเกิดขึ้น หรือหาว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอีก 1 ชั่วโมงข้างหน้า ......

Avatar - กายอวตาร (ตอนที่ 4)


ตามแนวทางของพระพุทธศาสนานั้น มีความเชื่อว่าพวกเราไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์นั้น ต่างเวียนว่ายตายเกิด โดยเปลี่ยนจากรูปแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง (พุทธศาสนาเรียกรูปแบบนี้ว่า ภพภูมิ) เช่น คนเรานั้น เมื่อตายไปแล้วก็อาจจะไปเกิดเป็นคนอีก หรืออาจจะไปเกิดเป็นกระต่ายก็ได้ แล้วแต่บุญแต่กรรมที่เราทำในชาตินี้ ... รวมกับที่เราสะสมกันมาในชาติก่อนๆ ด้วย คนเราเมื่อใกล้ตายนั้น จิตดวงสุดท้ายจะนำเราไปสู่ภพภูมิใหม่ ดังบันทึกในพระอภิธรรมที่ระบุไว้ว่า เมื่อภพภูมิปัจจุบันดับสูญลง ภพภูมิใหม่จะเกิดขึ้นทันที ....

สมัยที่ผมบวชเรียนเป็นพระภิกษุ ผมเคยถามท่านอาจารย์ว่า "ท่านอาจารย์ครับ คนเราเมื่อตายไปแล้ว สิ่งที่เราทำไว้ในชาตินี้เราก็ลืมหมด รวมทั้งสิ่งที่เราเรียนรู้ในชาตินี้ด้วย แล้วเราจะศึกษาพระปริยัติธรรมไปทำไมครับ หากเราไม่สามารถปฏิบัติเพื่อนิพพานในชาตินี้ ชาติหน้าเราเกิดมาก็ต้องมาเรียนใหม่" ผมเคยคิดเล่นๆ นะครับว่า ความรู้ต่างๆที่เราแสวงหา หรือร่ำเรียนกัน มันจะติดตัวเราไปได้ไหม เมื่อเราตายไปแล้ว น่าเสียดายนะครับ ที่คนเราเมื่อตายไปแล้ว สติปัญญาและความรู้ต่างๆที่สะสมไว้ในสมองของเรา ก็ต้องตายตามเราไปด้วย ทุกๆ ปีมีคนตายประมาณปีละ 50 ล้านกว่าคน ความรู้ต่างๆ ที่ตายไปกับคนเหล่านั้น มีค่าเท่ากับการเผาห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน (ที่มีขนาดใหญ่มากและใหญ่ที่สุดในโลก) ทิ้งถึงปีละ 3 ครั้งเลยทีเดียว

นักวิทยาศาสตร์กำลังคิดถึงความเป็นไปได้ในการก็อปปี้ความรู้และข้อมูลต่างๆ ในสมองของคนที่กำลังจะตาย เพื่อนำไปเก็บไว้ในฐานข้อมูล (upload) เพื่อไม่ให้ความรู้ต่างๆ นั้นสูญหายไปกับคนตาย และที่เจ๋งกว่านั้น หากเราสามารถที่จะถ่ายเทความรู้ต่างๆ นั้น download มาที่สมองของคนเป็น เพื่อให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่มีความรู้ความสามารถสืบทอดจากคนรุ่นก่อนๆ ได้ ตอนนี้ศาสตร์ที่เกี่ยวกับระบบประสาท สมอง สติ จิตใจ กำลังมาแรงมากๆ ครับ มีวารสารวิชาการเกิดใหม่มากมาย น่าเสียดายที่ในเมืองไทยของเรากลับมีความสนใจในเรื่องนี้น้อยมากๆ ทั้งๆ ที่ศาสตร์เหล่านี้ จะนำไปสู่เทคโนโลยีและงานประยุกต์อีกมากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินไร้คนขับที่ควบคุมด้วยสมองประดิษฐ์ นวัตกรรมบันเทิง (Innovative Entertainment) ระบบ autopilot สำหรับรถยนต์ อวัยวะกลและอวัยวะทดแทน เป็นต้น

และถ้าหากความรู้ของเรามีมากไปถึงระดับหนึ่ง ก็อาจเป็นไปได้ที่เราจะถ่ายเทจิตใจของเราจากร่างที่กำลังจะตาย ไปสู่ร่างใหม่ที่สร้างขึ้นรอไว้เมื่อร่างเก่าใกล้หมดอายุ โดยไม่ต้องรอให้เวรกรรมพาเราไปจุติในภพใหม่เอง ......