28 พฤษภาคม 2553

Gesture Recognition - เทคโนโลยีตรวจจับภาษากาย (ตอนที่ 3)


ก็อย่างที่ผมเคยพูดไปก่อนหน้านี้แหล่ะครับว่า เราจะเริ่มเห็นการหลอมรวม หรือเข้ามาบรรจบกัน ระหว่างจักรกลที่มนุษย์สร้างขึ้นกับตัวมนุษย์เอง (Life and Machine Integration) โดยศาสตร์แห่งการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับจักรกล (Human Machine Inteface หรือ Human Computer Interface) ก็เป็นสาขาหนึ่งที่จะเป็นจุดเริ่มในการทำให้จักรกลมีความเป็นชีวิต หรือ มีความเป็นมนุษย์ขึ้นมา หรือแม้กระทั่งอาจทำให้มนุษย์มีความเป็นจักรกลขึ้นมาด้วยก็ได้

ถุงมืออันตรกริยา (Interactive Data Glove) ก็เป็นเทคโนโลยีหนึ่งในการตรวจจับภาษากาย ที่มีผู้สนใจศึกษาวิจัยกันมาก เพราะเหตุที่ว่า แม้คนที่ไม่ได้เป็นใบ้ และพูดได้เป็นปกติ ก็มักชอบใช้กริยาท่าทางของมือและแขน เพื่อแสดงออกในการช่วยอธิบายสิ่งต่างๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจ การอ่านหรือตรวจจับอากัปกริยาเท่านั้นทำได้หลายวิธีครับ แต่วิธีหนึ่งที่มีผู้สนใจศึกษากันมาก ก็โดยการอาศัยถุงมือนี่แหล่ะครับ ในการถ่ายทอดอาการของมือไปยังคอมพิวเตอร์ นับตั้งแต่ภาพยนตร์ของ Steven Spielberg เรื่อง Minority Report ออกฉายในปี ค.ศ. 2002 ซึ่งในหนังเรื่องนี้ ทอม ครูซ ได้โชว์การใช้ถุงมืออันตรกริยา ในการหยิบจับสิ่งต่างๆ รูปภาพ วีดิโอ ข้อมูล จัดเรียงไปมาบนจอโปรเจคเตอร์ที่ลอยอยู่ในอากาศ นักวิจัยและพัฒนาทั่วโลกต่างได้รับแรงบันดาลใจนี้ และพยายามแข่งขันกันเพื่อพัฒนาถุงมืออันตรกริยา ซึ่งปัจจุบันถุงมืออันตรกริยามีจำหน่ายแล้ว แต่ราคาสูงมาก มีตั้งแต่ราคาประมาณ 50,000 บาท ขึ้นไปจนถึงราคาเป็นล้านบาท

เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงมีคนพยายามจะพัฒนาเทคโนโลยีที่จะทำให้ถุงมืออันตรกริยามีราคาที่ถูกลง ในกลุ่มวิจัยของผมเองก็ได้ทำวิจัยเรื่องนี้ครับ โดยนักศึกษาปริญญาโทท่านหนึ่งชื่อ คุณนัษฐพงษ์ ทองรอด ได้ค้นคว้าและพัฒนาถุงมืออันตรกริยาที่ใช้เซ็นเซอร์ที่ผลิตได้จากวิธีการพิมพ์หมึกนำไฟฟ้า ลงบนแผ่นรองที่สามารถนำไปเย็บติดกับถุงมือ โดยร่วมมือกับ คุณณัฐพล วัฒนวิสุทธิ์ ซึ่งเป็นลูกน้องของ ดร. อดิสร เตือนตรานนท์แห่ง NECTEC ในการทำให้ถุงมือนี้สามารถคุยกันเป็นเครือข่ายไร้สาย โดยถุงมืออันตรกริยานี้สามารถถ่ายทอดอากัปกริยาของมือมายังคอมพิวเตอร์ ซึ่งคณะวิจัยได้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้สามารถนำอาการของมือ ไปควบคุมโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ได้ ถุงมือดังกล่าวจะมีประโยชน์มากสำหรับโครงการวิจัยสภาพล้อมรอบอัจฉริยะ (Smart Environment) ที่เรากำลังวิจัยอยู่ครับ

ว่างๆ มาคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ .....

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมชอบเทคโนโลยีนี้มากๆเลยครับ อาจารย์ ได้รับความรู้เพิ่มเติมมากๆเลยครับ

    ตอบลบ