30 พฤษภาคม 2553

Gesture Recognition - เทคโนโลยีตรวจจับภาษากาย (ตอนที่ 4)


นักวิจัยทั่วโลก กำลังพยายามที่จะทำให้ถุงมืออันตรกริยา (Interactive Data Glove) มีราคาถูกลง ด้วยการค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการสร้างถุงมือ คณะวิจัยของผมได้เสนอเซ็นเซอร์ที่ใช้ในถุงมือ ที่ผลิตได้ด้วยวิธีการพิมพ์ ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตเซ็นเซอร์ได้ถูกมาก รวมไปถึงการใช้เครือข่ายไร้สายที่เรียกว่า Zigbee ซึ่งมีราคาไม่แพง ในการส่งข้อมูลระหว่างถุงมือกับคอมพิวเตอร์

ที่ MIT เขาก็มีการพัฒนาถุงมืออันตรกริยาเหมือนกัน และล่าสุดเขาก็ได้ออกมาเปิดเผยผลงานที่สร้างความฮือฮามาก เพราะถุงมือของเขามีสีสันฉูดฉาดเหมือนถุงมือตัวตลก แถมยังไม่มีเซ็นเซอร์ในการตรวจวัดบนถุงมือใดๆ ทั้งนี้ คณะวิจัยได้ใช้กล้อง web cam ที่ใช้กันทั่วไปเพื่อตรวจจับอากัปกริยาของมือ โดยกล้องจะจับภาพมือและโปรแกรมวิเคราะห์ภาพจะทำการประมวลผล ว่ามือกำลังทำอะไรอยู่

แนวทางในการตรวจจับอาการของมือแบบนี้ ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Machine Vision คือการแปลผลจากภาพวีดิโอที่ถ่ายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีคนพยายามใช้วิธีนี้กันมาก แต่ก็มักจะพบกับอุปสรรค เพราะการแปลความหมายของมือจากภาพวีดิโอยังไม่ง่ายนัก ที่ทำกันก็โดยการเอาเทปสี ไปแปะไว้ที่ถุงมือบริเวณปลายนิ้ว เพื่อให้มีความแตกต่าง (Contrast) ของสีมากๆ โปรแกรมประมวลผลภาพจะได้สามารถแยกแยะนิ้วบนมือได้ วิธีการจึงตรวจวัดอาการของนิ้วมือได้ใน 2 มิติเท่านั้น และก็ตรวจอากัปกริยายากๆ ไม่ได้ด้วย

ถุงมือตัวตลกของ MIT ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของ นาย โรเบิร์ต หวัง (Robert Wang) นี้ออกแบบมาอย่างชาญฉลาดมากครับ เพราะตัวถุงมือมีลักษณะเป็นจิ๊กซอว์หลากสีมาต่อกัน โดยใช้สีทั้งหมด 10 สี มีลำดับการต่อกันระหว่างจิ๊กซอว์เหล่านั้นอย่างแน่นอน ทำให้โปรแกรมประมวลผลภาพ สามารถแยกถุงมือ ออกจากสิ่งแวดล้อมได้ง่าย และที่สำคัญ มันสามารถจำแนกอาการของมือได้แบบ 3 มิติเลย โดยการคำนวณจากรูปร่างของจิ๊กซอว์สีที่เปลี่ยนไปตามอาการของมือ (สังเกตว่า จิ๊กซอว์มีรูปร่างขยุกขยัก ซึ่งเกิดจากการออกแบบมา และทดสอบมาแล้วว่าได้ผลดี) คณะวิจัยที่ MIT ได้สาธิตให้ดูว่าถุงมือตัวตลกนี้สามารถใช้ในการทำงานกับ โปรแกรมพวก CAD/CAM (โปรแกรมออกแบบ ทางด้านอุตสาหกรรม) แทนเมาส์ได้ โดยเราใช้มือจับนู่นจับนี้ หมุนของ เลื่อนสิ่งของที่อยู่ในจอภาพ โดยที่ผู้ใช้จะรู้สึกเหมือนมือของตนได้เข้าไปอยู่ในคอมพิวเตอร์จริงๆ ....


2 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีครับ ไม่ได้เข้า Blog นี้มานาน วันนี้ กลับมาอีกทีเพียบ ข้อมูลเป็นประโยชน์มากครับ ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ อีกที

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับที่เข้ามาอุดหนุนอีกครั้ง

    ตอบลบ