22 มกราคม 2556

Gamification - ทำโลกนี้ให้เป็นเกมส์ (ตอนที่ 1)




(Picture from www.viralblog.com)

ท่านผู้อ่านทราบมั้ยครับว่า เกมส์ต่างๆ ที่ขายกันบนโลกมนุษย์ใบนี้นั้นมีมูลค่าตลาดเท่าไหร่  ข้อมูลตลาดบ่งชี้ว่า เฉพาะวีดิโอเกมส์ หรือเกมส์ที่เป็นเครื่องเล่นเฉพาะแล้วมาเสียบต่อกับโทรทัศน์นั้น ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดถึง 2 ล้านล้านบาท และจะเติบโตเป็น 2.5 ล้านล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า  โดยประมาณกันว่าเกมส์แบบออนไลน์จะมีมูลค่ามากถึง 1 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปี ซึ่งจะเห็นว่าแนวโน้มของคนเล่นเกมส์นั้น มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งผู้คนใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น เกมส์ก็จะกระจายไปสู่วิถีชีวิตของประชากรโลกมากยิ่งขึ้น  เกมส์เชิงสังคมอย่าง Social Games บน Facebook และบนแท็ปเล็ต และ สมาร์ทโฟนต่างๆ ทั้ง android และ Apple กำลังเข้าครอบครองความบันเทิงทั้งในบ้านและในที่ทำงานของผู้คนทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านเกมส์กล่าวว่า ไม่เคยมียุคใดสมัยใดที่เกมส์จะประสบความสำเร็จ ในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนได้เหมือนสมัยนี้อีกแล้ว เพราะตอนนี้เกมส์ได้เข้าไปอยู่ในดวงใจของประชากรทั้งรุ่นเด็ก รุ่นวัยทำงาน และรุ่นเกษียณ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

นักอนาคตศาสตร์มองว่าศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษแห่งเกมส์ เกมส์จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แม้แต่งานต่างๆ ก็จะมีความเป็นเกมส์มากขึ้น โดยเฉพาะเกมส์ที่มีผู้เล่นหลายๆ คน เป็นชุมชนออนไลน์ นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตการทำงานหรือกิจกรรมส่วนรวม ที่ได้ผลตอบแทนเป็นความสนุก การได้ลัลล๊า แทนค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน จะมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ งานประเภท DIY งานแบบเปิดเผยอย่าง Open Source หรือ แม้แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ประเภท Citizen Scientist ที่รับงานวิจัยบางอย่างมาทำที่บ้านแบบการกุศล จะได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ครับ คนเหล่านั้นอยากเข้ามาทำงานแบบนี้มากขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้ค่าตอบแทนในรูปตัวเงิน แต่พวกเขาจะมีความสุขสนุกกับการทำงานพวกนี้ ดั่งว่ามันเป็นสิ่งเสพติด ที่พวกเขาสามารถอยู่กับมันได้นานๆ สามารถใช้แรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการได้แบ่งปันประสบการณ์กับคนอื่นๆ เราจึงมักได้เห็นกลุ่มคนมารวมกันขี่จักรยานท่องเที่ยวตามชนบท การออกไปทัวร์ ไหว้พระ 9 วัด หรือพวกคาราวานออกแจกจ่ายสิ่งของเสื้อผ้ากันหนาวแก่ชาวเขาในช่วงฤดูหนาว เป็นต้น

"โลกนี้คือละคร" คุณแม่ชอบเปิดเพลงนี้ตอนผมเด็กๆ ชีวิตของแต่ละคนในโลกใบนี้ เดินไปตามบทที่วางไว้ ไม่ต่างไปจากตัวแสดงในละคร ฉากความสุข ฉากความเศร้าผ่านเข้ามา สุดท้ายละครก็จบลงโดยทุกๆ คนที่เกิดมาก็ต้องตาย ผมฟังเพลงนี้ทีไรรู้สึกว่ามันหดหู่เหลือเกิน โลกนี้ช่างไม่น่าอยู่เสียนี่กระไร ....

แต่เมื่อผมโตขึ้น ผมกลับพบว่าแท้จริงแล้ว "โลกนี้คือเกมส์" โดยเราเป็นผู้เล่นที่สามารถจะกำหนดแผนการเล่นของเราได้ ไม่มีใครเขียนบทให้เราเดิน ไม่มีใครมากำกับชีวิตเรา เราต่างหากที่เป็นผู้กำหนดการเล่นของเราเอง โดยเราต้องเอาชนะอุปสรรคต่างๆ สะสมแต้ม ผ่าน Level แล้วไปถึงเป้าหมายคือรางวัลชีวิตให้ได้ โลกที่เป็นเหมือนเกมส์นี้ จึงมีแต่ความท้าทาย คละเคล้าไปด้วยความสนุกสนาน ความบันเทิง และความสุขเมื่อเราสามารถอัพ Level ขึ้นไป

การทำให้โลกแห่งชีวิตจริง กับ โลกของเกมส์ มาบรรจบกัน หรือ การทำให้ชีวิตจริงมีความเป็นเกมส์ กำลังเป็นที่สนใจของนักพัฒนาเทคโนโลยีทั่วโลกครับ เราสามารถใส่ความเป็นเกมส์ลงไปในกิจกรรมชีวิตได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ตื่นนอน ขับรถออกไป ในที่ทำงานก็ทำให้เป็นเกมส์ได้ แม้แต่จีบผู้หญิงเราก็สามารถใส่ความเป็นเกมส์เพื่อให้กิจกรรมดูท้าทายยิ่งขึ้น ตัวผมเองก็กำลังทำวิจัยในการสร้างอุปกรณ์ เซ็นเซอร์ต่างๆ ที่จะช่วยทำให้กิจกรรมในชีวิตประจำวันมีความเป็นเกมส์ ไม่ว่าจะเป็น หมอนอัจฉริยะ รองเท้าอัจฉริยะ ถุงมือข้อมูล จมูกอัจฉริยะ ส้วมอัจฉริยะ ฟาร์มอัจฉริยะ เสื้อดมกลิ่น เซ็นเซอร์บินได้ เซ็นเซอร์ลอยน้ำ และ หุ่นยนต์เกษตร สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้สามารถใส่ความเป็นเกมส์เข้าไป เพื่อทำให้การใช้ชีวิต การทำไร่ทำนา การนอนหลับ สนุกสนานเหมือนการเล่นเกมส์ ซึ่งผมจะนำความคืบหน้าในเรื่องเหล่านี้ มาเล่าให้ฟังในตอนต่อๆ ไปนะครับ

19 มกราคม 2556

ISOEN 2013 - 15th International Symposium on Olfaction and Electronic Nose




การได้กลิ่นเป็นหนึ่งในอายตนะ 5 อย่างของมนุษย์ มนุษย์ใช้จมูกในการดมกลิ่นเพื่อประโยชน์มากมาย เช่น การสูดกลิ่นน้ำหอมเพื่อสุนทรียทางอารมณ์ การดมกลิ่นเพื่อระบุอันตรายต่างๆ เช่น ก๊าซพิษ อาหารบูด กลิ่นเน่าเหม็นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การสูดกลิ่นอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ไวน์ เพื่อความสุขในการรับประทานอาหาร  ธรรมชาติได้ลงทุนกับมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นอย่างมาก ในเรื่องของความสามารถในการได้กลิ่น โดยใช้ข้อมูลพันธุกรรมหรือพื้นที่การเก็บข้อมูลของ DNA ถึง 1% ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อทำให้เราเป็นสัตว์ที่ดมกลิ่นได้เก่ง เมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น ซึ่งผลจากการลงทุนนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมครองโลกหลังยุคของไดโนเสาร์ แม้กระนั้นก็ตาม สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมทั้งมนุษย์ ก็ยังมีขีดจำกัดหลายๆ อย่างเช่น เราไม่สามารถระบุกลิ่นของก๊าซหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น ก๊าซ CO ซึ่งเกิดขึ้นมาภายหลังในยุคอุตสาหกรรมเมื่อไม่กี่ร้อยปีนี้เอง ทำให้ธรรมชาติยังไม่สามารถเกิดการวิวัฒนาการเซ็นเซอร์ดมกลิ่นก๊าซชนิดนี้ ใส่ในจมูกของเราได้ทัน เพราะวิวัฒนาการในสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่อาศัยเวลานับพัน นับหมื่นปี ทำให้มนุษย์เราต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยในการดมกลิ่นขึ้นมา ที่เราเรียกว่า ก๊าซเซ็นเซอร์ (gas sensors) รวมทั้งระบบที่ทำหน้าที่ดม และ ระบุกลิ่นต่างๆ เลียนแบบการทำงานของจมูกมนุษย์ ที่เรียกว่า จมูกอิเล็กทรอนิกส์ (electronic nose)

ในวงการวิชาการทางด้านการดมกลิ่นนั้น จะมีการประชุมประจำปีที่เป็นเวทีใหญ่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยีทางด้านนี้โดยเฉพาะ เวทีนี้มีชื่อว่า International Symposium on Olfaction and Electronic Nose ซึ่งจัดมาแล้วถึง 14 ครั้ง วนเวียนกันในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยครั้งที่ 15 นี้จะเป็นครั้งแรกที่จะมาจัดงานกันในทวีปเอเชีย ซึ่งถือว่ามีนัยสำคัญ 2 ประการคือ

(1) ทวีปเอเชียทวีความสำคัญขึ้นในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจในอนาคต งานวิจัยและนวัตกรรมทั้งหลายในอนาคต จะต้องมาหาตลาดที่นี่ เพราะเอเชียจะเป็นแหล่งบริโภคเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นไม่ว่าที่ไหนในโลก

(2) การประชุมเริ่มมาจัดที่เอเชีย บ่งบอกว่างานวิจัยทางด้านกลิ่น และ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ในเอเชียของเรา เริ่มเป็นที่สนใจของยุโรป ซึ่งเป็นผู้นำในการวิจัยด้านนี้ บ่งชี้ว่าเราเริ่มมีงานวิจัยในปริมาณและคุณภาพที่เริ่มแข่งขันกับกลุ่มเดิมได้

งานประชุม ISOEN 2013 นี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 กรกฎาคม 2556 ที่เมืองแดกู (Daegu) โดยมีกำหนดส่งบทคัดย่อแบบยาว (Extended Abstract) จำนวน 2 หน้า ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ครับ ใครสนใจจะเข้าร่วมงานนี้ ต้องรีบเขียนเลยครับ หัวข้อที่เป็นที่สนใจของการประชุมในปีนี้คือ

- Biological Offaction and Test
- Emerging Sensing Materials and Technologies
- Sensor Arrays and Data Analysis
- Smart Sensing for Food, Health, Safety and Security
- Hybrid Devices and Applications
- Energy Efficiency for Buildings based on Sensor Technologies
- Other Sensor Topics

ซึ่งในงานจะมีการประชุมย่อยแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ให้เลือกเข้าร่วมด้วยครับ โดยจะจัดหัวเรื่องที่กำลังฮอตฮิต หรือเป็นแนวโน้มใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ได้แก่

- Understanding molecular mechanisms underlying odor/taste perception
- Applications of electronic noses and sensor technology in the food field
- Applications of remote and local gas sensing in mobile robotics and sensor network: Can we already solve real world tasks?
- Electronic tongues: new transduction schemes and data processing techniques
- Olfactory cell based sensor for medical applications
- Olfactory sensors on flexible substrates
- Olfactory interactions and its standardization
- Energy efficiency buildings based on sensor technologies

น่าสนใจขนาดนี้คงจะไม่ไป ไม่ได้แล้วหล่ะครับ แถวจะได้ไปซารางเฮโยที่เกาหลีอีกด้วยเนอะ .....

17 มกราคม 2556

The Future of Agriculture - อนาคตของเกษตรกรรม (ตอนที่ 7)



(Picture from Center of Nanotechnology and Intelligent System, Mahidol University)

ถึงแม้อัตราส่วนของรายได้ประชาชาติ (GDP) ที่มาจากภาคเกษตรของประเทศไทยจะลดลงเรื่อยๆ และน้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการไปแล้วก็ตาม แต่เกษตรกรรมก็ยังเป็นฐานอาชีพของคนส่วนใหญ่ของประเทศ และถือเป็นความมั่นคงของชาติ และในอนาคตจะกลายมาเป็นความมั่นคงของโลก ดังนั้นประเทศไทยจะต้องรักษาความเป็นเจ้าของ หรือต้องพยายามพัฒนาให้เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเกษตรให้ได้ ซึ่งเมื่อเปิด AEC แล้ว เทคโนโลยีเกษตรที่แหล่ะครับ ที่จะเป็นสิ่งที่ประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในย่านนี้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถขยับขยายความมั่นคงทางด้านอาหาร ไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้

เทคโนโลยีทางด้านเกษตรอันนึงที่ผมคิดว่าประเทศไทยควรพัฒนา และควรเป็นผู้นำให้ได้ นั่นคือ หุ่นยนต์เกษตรกรรม (Farm Robots) เรามีสถาบันการศึกษามากมายที่ทำงานวิจัยและพัฒนาทางด้านนี้ แต่น่าเสียดายว่าที่ผ่านมา เราค่อนข้างเดินไปผิดทาง คือไปเน้นการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อไปแข่งขันเตะฟุตบอล ชู๊ดบาสเกตบอล มวยปล้ำ และอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ได้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เค้าได้ประกาศตัวที่จะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ใน AEC ให้จงได้ ดังนั้นในปีที่แล้ว มาเลเซียจึงประกาศจะจัดทำแผนที่นำทางแห่งชาติทางด้านหุ่นยนต์ศาสตร์ ซึ่งมีเป้าหมายจะทำให้มาเลเซียเป็นผู้นำทางด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติในกลุ่มประเทศ AEC และติดอันดับโลก  ซึ่งเมื่อมองความตั้งใจของมาเลเซียแล้ว เลยทำให้ผมคิดว่าประเทศไทยคงลำบากแล้ว ที่จะไปแข่งกับเขา แต่ผมก็ยังมีความเชื่อว่า ถ้าเราเน้นเฉพาะเรื่องของเกษตรกรรม เราก็ยังอาจจะพอแข่งกับเขาได้ โดยเราจะต้องเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม เครื่องทุ่นแรงต่างๆ ระบบอัจฉริยะที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรทำงานในไร่ได้ง่ายขึ้น ระบบช่วยตัดสินใจที่จะทำให้เกษตรกร สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ถูกที่ถูกเวลา ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ และลดความเสียหายในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ รวมไปถึงแพล็ตฟอร์มทางด้านเกษตรบนสมาร์ทโฟน ซึ่งจะทำให้ชาวไร่ ชาวนา ได้มี app ทางด้านการเกษตรไว้ช่วยเหลือในการทำนา ทำไร่ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น

นักวิจัยทั่วโลกกำลังให้ความสนใจในเรื่องของหุ่นยนต์เกษตรกรรม เพราะนับวันอาชีพเกษตรกรจะกลายเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ ยิ่งประเทศพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จำนวนของเกษตรกรก็จะยิ่งลดลง ดังนั้นในอนาคต หุ่นยนต์จึงน่าจะเข้ามาเป็นแรงงานสำคัญในไร่นา สำหรับงานในไร่ที่หุ่นยนต์สามารถทำได้นั้นมีได้มากมายครับ ตามแต่จินตนาการกันไป ลองหลับตานึกภาพตามกันดูนะครับ

- หุ่นยนต์ปลูกผัก สามารถที่จะวิ่งไปตามแปลงผัก ขุดรูแล้วหยอดเมล็ดผักลงไป โดยมันจะขุดรูแต่ละรูให้ห่างกันในระยะที่เท่าๆ กัน แถมยังสามารถหยอดปุ๋ยลงไปในปริมาณที่เท่ากันด้วย
- หุ่นยนต์ล่าแมลง สามารถที่จะวิ่งไปในแปลกปลูก สแกนหาแมลงศัตรูพืช มันสามารถฉีดพ่นยาไปยังตัวแมลงได้อย่างแม่นยำ เราสามารถปล่อยมันอยู่ในไร่ทั้งวันโดยไม่บ่นเลย ซึ่งมันก็จะใช้พลังงานที่ได้จากโซลาร์เซลล์ หุ่นยนต์ประเภทเดียวกันนี้ยังใช้ในการถอนวัชพืชต่างๆ โดยปล่อยให้ทำงานไปเรื่อยๆ ในไร่ได้ทั้งวัน
- หุ่นยนต์เซ็๋นเซอร์ ที่จะวิ่งตรวจหาสิ่งผิดปกติต่างๆ ในไร่ หรือ สุ่มตัวอย่างๆ ในไร่ เช่น วิ่งไปดูว่าผลไม้ที่ปลูกในแต่ละต้น เป็นอย่างไร มันสามารถเก็บข้อมูลแล้วจดจำได้อย่างแม่นยำ ทำให้เจ้าของไร่ทราบอย่างละเอียดว่า ต้นไหนมีผลกี่ลูก ขนาดเฉลี่ยเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ประเมินวันเก็บเกี่ยว และ ทราบปริมาณผลผลิตได้อย่างแม่นยำ
- หุ่นยนต์เซ็นเซอร์ที่วิ่งเก็บข้อมูลในไร่ เช่น ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงต่างๆ รวมทั้งหุ่นยนต์แบบบินได้ (Flying Robots) ที่จะบินขึ้นไปเก็บข้อมูล และภาพมุมสูงของไร่ ทำให้เกษตรกรสามารถตรวจสภาพผลผลิต และปัจจัยต่างๆ เช่น Leaf Index, Chorophyll Index ด้วยเทคโนโลยีที่มีราคาถูก
- สำหรับพืชบางชนิดที่ต้องการการเก็บผลผลิตแบบประณีต หุ่นยนต์อาจจะนำมาใช้ในการเก็บเกี่ยวผลจากตัวต้น หรือใช้ดูแลผลไม้ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ งานน่าเบื่ออย่างนี้ ต้องหุ่นยนต์เท่านั้นครับ

พูดไปแล้วดูเหมือนเพ้อฝัน แต่สิ่งนี้มาแน่นอนครับ ผมเชื่อเช่นนั้น .....

12 มกราคม 2556

Disruptive Education - การศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก (ตอนที่ 4)



(Picture from http://www.sfgate.com/)

เวลาที่ผมได้ยินว่าผู้ประกอบการไทยโอดครวญต่างๆ นานา ต่อนโยบายค่าแรง 300 บาท บางรายก็ขู่จะเลิกกิจการ คนเหล่านั้นบ่นว่าเดือดร้อนจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ผมจะรู้สึกสะท้อนใจที่ผู้ประกอบการเหล่านั้น ช่างขาดจิตสำนึก ในเรื่องของมนุษยธรรม ผู้ประกอบการเหล่านี้ยอมจ่ายค่าเทคโนโลยีแพงแสนแพงที่ซื้อมาจากต่างประเทศ แต่กลับไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่มนุษย์ คนงานที่ทำงานให้แก่พวกเขา ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ต้องกินข้าว ต้องดำรงชีวิต ต้องเลี้ยงครอบครัว และนี่เป็นโอกาสในชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้ ซึ่งมีความสุขสบายกับเรื่องค่าแรงที่ถูกแสนถูกของประเทศไทย จนไม่คิดที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพของกิจการตัวเองด้วยเทคโนโลยีเลย ผมจึงคิดว่า ถ้าการขึ้นค่าแรงจนเป็นผลให้กิจการประเภทนี้สูญพันธุ์ไปเลย ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีนะครับ เพราะสุดท้ายในตลาดเสรีทุนนิยม ก็ย่อมจะมีผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ ที่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจที่เก่งกว่า เข้ามาแทนที่

สำหรับผู้ประกอบการอื่นๆ ที่สามารถเอาตัวรอด นี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจ กับแนวโน้มที่ผมขอเรียกว่า Megatrends ที่จะเกิดขึ้น นั่นคือ ประเทศไทยกำลังจะหมดยุคแรงงานราคาถูก เรากำลังจะเข้าสู่ยุคที่จำนวนของแรงงานหนุ่มสาวลดลงไป เนื่องจากเด็กเกิดใหม่น้อยลง และมีผู้สูงวัยมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณว่าในปี ค.ศ. 2007 มีประชากรผู้สูงวัย (อายุมากกว่า 60 ปี) อยู่ 7 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 65.7 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 11) และจะเพิ่มจำนวนขึ้นไปเป็น 14.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 72 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 20) ในปี ค.ศ. 2025 ตามหลักสากลนั้น ประเทศที่ถูกจัดว่าเป็นสังคมผู้สูงวัยจะต้องมีสัดส่วนจำนวนประชากรผู้สูงวัย (อายุมากกว่า 60 ปี) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 ดังนั้นจึงจัดได้ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ประเทศของสังคมผู้สูงวัย ไปเรียบร้อยแล้ว

ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในโลกที่เข้าสู่ Megatrends อันนี้ จะต้องปรับตัว ซึ่งผมมองโอกาส หรือสิ่งที่ควรจะทำ 3 แนวทางครับ คือ

(1) นำแรงงานของผู้สูงวัยกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ด้วยการให้ผู้สูงวัยสามารถทำงานที่บ้านได้ โดยการช่วยเหลือจากเทคโนโลยีต่างๆ การปรับระบบการศึกษาให้เป็น Online Education ทำมหาวิทยาลัยให้เป็น Online University เพิ่มโอกาสให้ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ เทคโนโลยีและทักษะทางอาชีพใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาเรียนที่สถาบันการศึกษา ทำให้ผู้สูงวัยเพิ่มพูนความรู้แบบก้าวกระโดด และสามารถมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง

(2) นำแรงงานเด็กในวัยเรียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบันเด็กใช้เวลาทั้งหมดในวัยเรียนเพื่อเรียนอย่างเดียว แต่การศึกษาแบบใหม่ จะทะลุทะลวงโลก และจะสามารถนำศักยภาพของเด็กมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจได้ ระบบ Online Education จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วขึ้น จบมหาวิทยาลัยเร็วขึ้น และในระหว่างเรียน เด็กก็สามารถรับ Job และทำงานไปเรียนไป สร้างรายได้ และเงินหมุนเวียนแก่ระบบเศรษฐกิจ หากการศึกษาไทยปรับเวลาให้เด็กเรียนแค่ครึ่งเช้า เด็กๆ สามารถเอาเวลาช่วงบ่ายไปทำงานได้ โดยสามารถรับ job ทำงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เช่น การเขียนโปรแกรม สร้างคอนเท้นด์ ทำงานอาร์ทเวิร์คให้บริษัททางด้านเอนเทอร์เทนเม้นท์  เทคโนโลยีใหม่ๆ แบบ Collaborative Software จะช่วยทำให้กระจายงานให้คนจำนวนมากช่วยกันทำ ซึ่งแรงงานเด็กเหล่านี้มีราคาถูก และน้องๆ เหล่านั้นสามารถทำงานจากที่บ้านได้

(3) นำแรงงานหุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีเครื่องทุ่นแรงเข้ามาใช้ อะไรที่เคยใช้คนทำ เราต้องพยายามให้เทคโนโลยีทำงานแทนมนุษย์ให้มากขึ้น นี่เป็นโอกาสดีที่เราจะค่อยๆ เห็นผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้การทำงาน การผลิตสินค้า มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้แรงงานคนน้อยลง หรือถ้าจะใช้แรงงานคน ก็ต้องใช้คนที่ฉลาดขึ้น การศึกษาแบบใหม่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเทรนพนักงงานได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงสามารถแจกจ่ายงานไปยังแรงงานที่ทำงานที่บ้านได้ง่ายขึ้นด้วย

ตอนนี้ประเทศไทยของเรา ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ติดอันดับยอดแย่ในอาเซียน แต่ผมก็ยังหวังว่า ถ้าเราหาโอกาสเหมาะๆ เขย่งก้าวกระโดดแบบก้าวไกลๆ ให้ได้สักครั้ง เราอาจจะแซงหน้าประเทศอื่นในการกระโดดแค่ครั้งเดียว ... และนี่เอง เราจึงต้องการ Disruptive Education