12 มกราคม 2556

Disruptive Education - การศึกษาแบบทะลุทะลวงโลก (ตอนที่ 4)



(Picture from http://www.sfgate.com/)

เวลาที่ผมได้ยินว่าผู้ประกอบการไทยโอดครวญต่างๆ นานา ต่อนโยบายค่าแรง 300 บาท บางรายก็ขู่จะเลิกกิจการ คนเหล่านั้นบ่นว่าเดือดร้อนจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ผมจะรู้สึกสะท้อนใจที่ผู้ประกอบการเหล่านั้น ช่างขาดจิตสำนึก ในเรื่องของมนุษยธรรม ผู้ประกอบการเหล่านี้ยอมจ่ายค่าเทคโนโลยีแพงแสนแพงที่ซื้อมาจากต่างประเทศ แต่กลับไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่มนุษย์ คนงานที่ทำงานให้แก่พวกเขา ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ต้องกินข้าว ต้องดำรงชีวิต ต้องเลี้ยงครอบครัว และนี่เป็นโอกาสในชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้ ซึ่งมีความสุขสบายกับเรื่องค่าแรงที่ถูกแสนถูกของประเทศไทย จนไม่คิดที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพของกิจการตัวเองด้วยเทคโนโลยีเลย ผมจึงคิดว่า ถ้าการขึ้นค่าแรงจนเป็นผลให้กิจการประเภทนี้สูญพันธุ์ไปเลย ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีนะครับ เพราะสุดท้ายในตลาดเสรีทุนนิยม ก็ย่อมจะมีผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ ที่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจที่เก่งกว่า เข้ามาแทนที่

สำหรับผู้ประกอบการอื่นๆ ที่สามารถเอาตัวรอด นี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจ กับแนวโน้มที่ผมขอเรียกว่า Megatrends ที่จะเกิดขึ้น นั่นคือ ประเทศไทยกำลังจะหมดยุคแรงงานราคาถูก เรากำลังจะเข้าสู่ยุคที่จำนวนของแรงงานหนุ่มสาวลดลงไป เนื่องจากเด็กเกิดใหม่น้อยลง และมีผู้สูงวัยมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณว่าในปี ค.ศ. 2007 มีประชากรผู้สูงวัย (อายุมากกว่า 60 ปี) อยู่ 7 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 65.7 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 11) และจะเพิ่มจำนวนขึ้นไปเป็น 14.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 72 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 20) ในปี ค.ศ. 2025 ตามหลักสากลนั้น ประเทศที่ถูกจัดว่าเป็นสังคมผู้สูงวัยจะต้องมีสัดส่วนจำนวนประชากรผู้สูงวัย (อายุมากกว่า 60 ปี) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 ดังนั้นจึงจัดได้ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ประเทศของสังคมผู้สูงวัย ไปเรียบร้อยแล้ว

ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในโลกที่เข้าสู่ Megatrends อันนี้ จะต้องปรับตัว ซึ่งผมมองโอกาส หรือสิ่งที่ควรจะทำ 3 แนวทางครับ คือ

(1) นำแรงงานของผู้สูงวัยกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ด้วยการให้ผู้สูงวัยสามารถทำงานที่บ้านได้ โดยการช่วยเหลือจากเทคโนโลยีต่างๆ การปรับระบบการศึกษาให้เป็น Online Education ทำมหาวิทยาลัยให้เป็น Online University เพิ่มโอกาสให้ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ เทคโนโลยีและทักษะทางอาชีพใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาเรียนที่สถาบันการศึกษา ทำให้ผู้สูงวัยเพิ่มพูนความรู้แบบก้าวกระโดด และสามารถมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง

(2) นำแรงงานเด็กในวัยเรียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบันเด็กใช้เวลาทั้งหมดในวัยเรียนเพื่อเรียนอย่างเดียว แต่การศึกษาแบบใหม่ จะทะลุทะลวงโลก และจะสามารถนำศักยภาพของเด็กมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจได้ ระบบ Online Education จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วขึ้น จบมหาวิทยาลัยเร็วขึ้น และในระหว่างเรียน เด็กก็สามารถรับ Job และทำงานไปเรียนไป สร้างรายได้ และเงินหมุนเวียนแก่ระบบเศรษฐกิจ หากการศึกษาไทยปรับเวลาให้เด็กเรียนแค่ครึ่งเช้า เด็กๆ สามารถเอาเวลาช่วงบ่ายไปทำงานได้ โดยสามารถรับ job ทำงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เช่น การเขียนโปรแกรม สร้างคอนเท้นด์ ทำงานอาร์ทเวิร์คให้บริษัททางด้านเอนเทอร์เทนเม้นท์  เทคโนโลยีใหม่ๆ แบบ Collaborative Software จะช่วยทำให้กระจายงานให้คนจำนวนมากช่วยกันทำ ซึ่งแรงงานเด็กเหล่านี้มีราคาถูก และน้องๆ เหล่านั้นสามารถทำงานจากที่บ้านได้

(3) นำแรงงานหุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีเครื่องทุ่นแรงเข้ามาใช้ อะไรที่เคยใช้คนทำ เราต้องพยายามให้เทคโนโลยีทำงานแทนมนุษย์ให้มากขึ้น นี่เป็นโอกาสดีที่เราจะค่อยๆ เห็นผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่ นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้การทำงาน การผลิตสินค้า มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้แรงงานคนน้อยลง หรือถ้าจะใช้แรงงานคน ก็ต้องใช้คนที่ฉลาดขึ้น การศึกษาแบบใหม่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเทรนพนักงงานได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงสามารถแจกจ่ายงานไปยังแรงงานที่ทำงานที่บ้านได้ง่ายขึ้นด้วย

ตอนนี้ประเทศไทยของเรา ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ติดอันดับยอดแย่ในอาเซียน แต่ผมก็ยังหวังว่า ถ้าเราหาโอกาสเหมาะๆ เขย่งก้าวกระโดดแบบก้าวไกลๆ ให้ได้สักครั้ง เราอาจจะแซงหน้าประเทศอื่นในการกระโดดแค่ครั้งเดียว ... และนี่เอง เราจึงต้องการ Disruptive Education

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น