28 กรกฎาคม 2553

ยุคแห่ง Supersoldier มาถึงแล้ว (ตอนที่ 3)


หายหน้าไปจากบล็อกนานเลยครับ ช่วงที่ผ่านมา ผมไปประชุมที่เซี่ยงไฮ้ กลับมาก็ยังวุ่นๆ เพิ่งจะพอมีเวลาว่างมากขึ้นครับ วันนี้ผมขออัพเดตข่าวคราวที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการทหาร ซึ่งจากข่าวคราวที่ผมทยอยนำมาลงในบล็อกนี้ จะเห็นได้ชัดเจนมากครับว่า เพนทากอนกำลังยกเครื่องกองทัพยกใหญ่เลย โดยจะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาทดลองใช้ในกองทัพ นัยว่าจะยกระดับกองกำลังให้มีความทันสมัยจนยากที่กองทัพใดๆ ในโลกจะกล้ามาต่อกร

ล่าสุด กองทัพบกสหรัฐอเมริกาได้นำชุดกระดองสำหรับทหาร (Exoskeleton) มาใช้ทดลองในภาคสนามแล้ว ชุดเพิ่มพลังที่มีชื่อว่า Human Universal Load Carrier หรือ HULC นี้เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ (UC Berkeley) แล้วบริษัทลอคฮีต ไปซื้อลิขสิทธิ์มาพัฒนาต่อ เจ้าชุด HULC นี้ เมื่อทหารสวมใส่เข้าไปเสมือนกับเป็นกางเกงอีกชั้นหนึ่ง มันจะช่วยทำให้ทหารมีแรงรับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้นอีก 100 กิโลกรัม โดยชุด HULC นี้จะมีเซ็นเซอร์ที่คอยตรวจวัดความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และมันจะช่วยพยุงออกแรงแทนกล้ามเนื้อร่างกายของเรา โดยอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี เพื่อไปควบคุมให้ระบบไฮดรอลิกของขากลทำงาน และรับน้ำหนักแทนร่างกายมนุษย์ ทางกองทัพสหรัฐฯ ได้ว่าจ้างบริษัทลอคฮีตให้ทำการศึกษาการใช้งานระบบ HULC ในภาคสนามอย่างละเอียด ด้วยงบประมาณ 1.1 ล้านเหรียญ (หรือ 33 ล้านบาท) ซึ่งจะรวมถึง ความคล่องตัวของทหารในขณะใช้ HULC พลังงานของร่างกายที่สูญเสียไป ระดับการเรียนรู้ในการใช้งานชุดกระดอง และ ปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะทำการรบ

19 กรกฎาคม 2553

Wireless Power - ระบบส่งพลังงานแบบไร้สาย (ตอนที่ 2)


ในจำนวนพลังงานทางเลือกทั้งหมดที่มีให้เลือก ดูเหมือนพลังงานแสงอาทิตย์น่าจะเป็นทางเลือกที่ตรงจุดมากที่สุด เพราะจะว่าไปแล้ว แหล่งกำเนิดของพลังงานทางเลือกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม เอธานอล ไบโอดีเซล สุดท้ายก็มีต้นกำเนิดมาจากดวงอาทิตย์นี่แหล่ะครับ แนวคิดหนึ่งในการดักเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก็คือ การไปสร้างสถานีไฟฟ้าโซลาเซลล์บนวงโคจรในอวกาศ แต่จะส่งพลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้ยังโลก ยังไงล่ะครับ ?

ล่าสุดประเทศญี่ปุ่น อาจจะกลายมาเป็นผู้นำทางด้านสถานีไฟฟ้าในอวกาศก็ได้ครับ เพราะทางกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (หรือ METI) ของญี่ปุ่นได้ออกมาประกาศว่า รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าจะส่งดาวเทียมที่ติดตั้งแผงโซลาเซลล์ขนาดใหญ่ ไปลอยอยู่ในวงโคจรของโลก เพื่อไปทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าในอวกาศ มีกำหนดไม่เกินปี 2020 นี้ ดาวเทียมดวงนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในระดับกิกะวัตต์ ซึ่งมากเพียงพอจะหล่อเลี้ยงบ้านเรือนได้ประมาณ 300,000 หลัง โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกยิงลงมายังสถานีฐานในรูปของคลื่นไมโครเวฟ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ได้ให้ความเห็นว่า ดาวเทียมดวงนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า สถานีไฟฟ้าในวงโคจร เป็นแนวความคิดที่เป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งพร้อมจะดำเนินการเป็นเรื่องเป็นราวในเชิงพาณิชย์ได้ภายใน 20 ปี

สถานีไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในวงโคจร ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นที่สุดของโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ทั้งหลาย เพราะเมื่อเทียบกับการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยแผงโซลาเซลล์บนพื้นโลกแล้ว โรงไฟฟ้าในวงโคจรสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องคำนึงถึงสภาพดินฟ้า อากาศ ก้อนเมฆ หรือพายุฝน การนำส่งพลังงานไฟฟ้าลงมายังพื้นโลกก็สามารถทำได้อย่างไม่ต้องสนใจสภาพอากาศเช่นกัน หากเลือกความถี่ของคลื่นไมโครเวฟที่เหมาะสม

15 กรกฎาคม 2553

Artificial Sense - สัมผัสประดิษฐ์ (ตอนที่ 5)


วันนี้มาคุยเรื่องสัมผัสประดิษฐ์ทางกายหรือ Tactile Sensing กันต่อนะครับ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สนใจศึกษาเรื่องนี้หลายกลุ่มในโลก แต่กลุ่มที่เป็นที่รู้จักกันดี เพราะออกสื่อบ่อยๆ นั้น เห็นจะเป็นกลุ่มวิจัยของศาสตราจารย์ทากาโอะ โซเมยา (Professor Takao Someya) ซึ่งท่านมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยทรานซิสเตอร์อินทรีย์ (Organic Transistor Laboratory) ซึ่งทำวิจัยอย่างลึกซึ้งในหัวข้อของการสร้างทรานซิสเตอร์สารอินทรีย์บนฐานรองพลาสติก โดยมีจุดมุ่งหมายจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้านอุปกรณ์แบบโค้งงอได้ ขนาดพื้นที่ใหญ่ (Large-Area Electronics) ทางกลุ่มของศาสตราจารย์โซเมยาได้พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ ด้วยเทคนิคที่มีราคาถูก เช่น ใช้วิธีการพิมพ์ วิธีการลามิเนต หรือ การพิมพ์เพลต เป็นต้น ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่ได้รับรางวัลมากมาย เพราะงานวิจัยของท่านมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Skin

e-Skin ที่ท่านพัฒนาขึ้นมานั้น มีวงจรเซ็นเซอร์รับสัมผัส จำนวนมากฝังอยู่บนพื้นผิวของวัสดุที่ยืดหยุ่นได้ กล่าวคือ การนำไฟฟ้าของวัสดุเซ็นเซอร์จะไม่ถูกกระทบหากเนื้อวัสดุยืดออกไม่เกิน 1.7 เท่า วัสดุเซ็นเซอร์ทำจากการผสมท่อนาโนคาร์บอน กับ พอลิเมอร์นำไฟฟ้า e-Skin นี้อาจนำไปใช้ได้หลากหลายงานประยุกต์มากครับ อาจารย์โซเมยาได้สาธิตการใช้งาน ด้วยการห่อหุ้มมือหุ่นยนต์ด้วย e-Skin นี้ เพื่อทำให้หุ่นยนต์มีสัมผัสที่มือ เฉกเช่นมนุษย์ แต่จริงๆ แล้วยังมีงานประยุกต์อื่นๆ อีกมากมาย รอเจ้า e-Skin นี้นำไปใช้ เช่น การติดตั้งในเบาะรถยนต์ เพื่อตรวจวัดการอากัปกริยาการนั่งของคนในรถ การนำแผ่นเซ็นเซอร์ไปติดตั้งบนเสื้อผ้าเพื่อตรวจวัดสภาวะทางสุขภาพ เป็นต้น

วันหลัง ยังมีเรื่องราวของสัมผัสประดิษฐ์มาคุยกันต่อนะครับ ....

12 กรกฎาคม 2553

Artificial Sense - สัมผัสประดิษฐ์ (ตอนที่ 4)


ผมยังจำความรู้สึกสมัยเป็นวัยรุ่นได้ดีว่า การได้จับมือผู้หญิงครั้งแรกนั้นมันเป็นเรื่องตื่นเต้นขนาดไหน อีกทั้ง สัมผัสของมือที่จับต้องกันนั้น มันช่วยถ่ายทอดความรู้สึกให้แก่กันและกันได้อย่างลึกซึ้งเพียงใด แต่เมื่อเราเริ่มเคยชินกับมัน หรือเมื่อเรามีอายุมากขึ้น การได้จับมือผู้หญิงใหม่ๆ ที่เราไม่รู้จัก กลับไม่สามารถคืนความทรงจำของวันวานนั้นได้ จนผมอยากจะกลับไปบันทึกความรู้สึกนั้นให้เป็นข้อมูลดิจิตอลเสียจริงๆ เผื่อจะได้นำกลับมาใช้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์มีความสนใจศึกษาเรื่องสัมผัสทางกาย ระบบประสาทของผิวหนัง และการประมวลผลสัมผัสทางกาย กันมากขึ้นเรื่อยๆ ความรู้ในเรื่องเหล่านี้นอกจากจะช่วยทำให้เราสามารถ วิศวกรรมความรู้สึกทางกายเหล่านั้น ให้ไปติดตั้งบนหุ่นยนต์แล้ว มันยังมีประโยชน์ในการรื้อฟื้น หรือ สร้างสัมผัสกายขึ้นมาใหม่ เพื่อให้คนที่สัมผัสกายเหล่านั้นสูญหายไปแล้ว ได้กลับมามีความรู้สึกทางกายได้อีกครั้ง เช่น คนที่ขาขาดไปแล้ว ถึงแม้จะมีขาเทียมมาให้เขาใช้ก็ตาม เขาก็อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเขามีขา ยิ่งถ้าเป็นเท้าหรือนิ้วเท้า เขาจะไม่รู้สึกเลยว่ามี ในอนาคต เราอาจจะทำให้ขาเทียม ผลิตสัมผัสกายได้เสมือนกับว่า เขากำลังใช้ขาจริงอยู่ ด้วยการใส่ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Skin (e-Skin) เข้าไปที่อวัยวะเทียมเหล่านั้น เพื่อทำให้อวัยวะเทียมเหล่านั้น ผลิตความรู้สึก เมื่อไปสัมผัสแตะต้องกับวัตถุต่างๆ ได้เฉกเช่นกับผิวหนังจริงๆ ในธรรมชาติ

งานวิจัยของผมเกี่ยวกับสัมผัสกาย หรือ Tactile Sensing นั้นจะมุ่งไปที่การค้นหาเซ็นเซอร์รับสัมผัส ซึ่งได้แก่ เซ็นเซอร์วัดแรงกด เซ็นเซอร์วัดแรงดึง เซ็นเซอร์ตรวจวัดความโค้งงอ ซึ่งปัจจุบัน เซ็นเซอร์ที่ผลิตในต่างประเทศนั้น มีราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ไม่เหมาะจะนำมาพัฒนาเป็นผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องมีเซ็นเซอร์จำนวนมากๆ ในพื้นที่เล็กๆ เหมือนกับมือของคนเรานั่น แหล่ะครับ ที่มีปลายประสาทสัมผัสจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้ว เรายังต้องหาเซ็นเซอร์ที่มีความยืดหยุ่นได้ เหมือนผิวหนังของคนเรา

วันหลังมาคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ ....

Printed Electronics Asia 2010


ช่วงบอลโลกนี้ ผมต้องขอโทษด้วยครับที่หายหน้าหายตาไป หลังจากบอลโลก ก็จะกลับมาอัพเดตข่าวสาร แนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ท่านผู้อ่านเหมือนอย่างเคย อาจจะไม่ถี่เหมือนก่อน เพราะงานวิจัยช่วงนี้เข้ามาค่อนข้างมากครับ

วันนี้ผมขอนำการประชุมและนิทรรศการทางด้านเทคโนโลยีที่สำคัญงานหนึ่งมาเสนอครับ ตัวผมเองอยากไปชมงานนี้มากๆ แต่ปรากฏว่างานนี้ดันไปเหลื่อมกับอีกงานที่เกาหลี งานนี้มีชื่อว่า Printed Electronics Asia 2010 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ฮ่องกง ระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคม 2553 ลักษณะของการประชุมนี้ ผู้ที่มาพูดจะเป็น Invited Speakers ทั้งหมดครับ เราไม่สามารถส่งผลงานเพื่อไปนำเสนอได้ครับ ผู้จัดเขาเลือกว่าจะเชิญใครมาพูดบ้าง โดยพยายามรวมมิตรเรื่องต่างๆ ที่เขาคิดว่าเป็นเรื่องใหม่ มีประโยชน์ และแสดงถึงความก้าวหน้าในศาสตร์ทางด้านนี้ คนที่มาฟังส่วนใหญ่ก็จะมาจากภาคอุตสาหกรรมครับ

เนื้อหาที่เขาให้ความสนใจในการประชุมและนิทรรศการครั้งนี้ ก็ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ทางด้าน อิเล็กทรอนิกส์ที่พิมพ์ได้ ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มของการผลิตสิ่งของ และสินค้าต่างๆ ที่ในอนาคต ซึ่งจะหันมาใช้วิธีการผลิตด้วยกระบวนการแบบเดียวกับการพิมพ์หนังสือ เนื้อหาที่เขา list เอาไว้ ว่าจะมีพูดถึงในการประชุมนี้ก็ได้แก่ Radical New Printed Electronics Product, Architectural Lighting, Integrated Printed Electronics, Smart Textiles, Thin/Flexible Batteries, Conformal/Flexible Displays (LCD, OLED, E-paper, Electrochromic), E-readers, Photovoltaics, Transistors & Memory, Roll-to-Roll Manufacture Challenges/Opportunities, Materials, Carbon Nanotubes, Sensors & Actuators, RFID

ใครสนใจก็ลองเข้าไปดูรายละเอียดต่อที่เว็บไซต์ของการประชุมนะครับ ....

09 กรกฎาคม 2553

Avatar - กายอวตาร (ตอนที่ 5)


ถ้าชาติหน้ามีจริง สิ่งที่คงจะทำให้ผมรู้สึกเป็นทุกข์และกังวลใจอย่างมากเรื่องหนึ่งก็คือ การที่คนเราจะต้องเริ่มเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างใหม่หมด เมื่อเราตายไปแล้ว และต้องไปเกิดใหม่ จะเป็นไปได้ไหม ที่เราจะสามารถนำพาความรู้ส่วนหนึ่ง ติดตามเราไปด้วยเมื่อเราจากโลกนี้ไป ...

นั่นเป็นความคิดของผมครับ แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ศึกษาเรื่องสมอง เขาก็คิดอีกมุมหนึ่งครับ เขาคิดว่า จะพอมีทางเป็นไปได้ไหม ที่เราจะเก็บรักษาความรู้ ความคิด ข้อมูลต่างๆ ในสมองของบุคคลที่กำลังจะตายเอาไว้ อย่างที่ผมเคยพูดในตอนก่อนหน้านี้ว่า มันเป็นความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่เลยครับ ที่ทุกๆ ปี ที่เราต้องสูญเสียความรู้จำนวนมหาศาล ที่ต้องหายไปกับคนที่ตายประมาณปีละกว่า 50 ล้านคน ความรู้ต่างๆ ที่ตายไปกับคนเหล่านั้น มีค่าเท่ากับการเผาห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน (ที่มีขนาดใหญ่มากและใหญ่ที่สุดในโลก) ทิ้งถึงปีละ 3 ครั้งเลย พอจะมีเทคโนโลยีอะไรไหมที่จะเก็บความรู้ต่างๆ เหล่านั้นไว้

เราลองมาดูสถานภาพของเทคโนโลยี ที่ใช้ในการเชื่อมโยงสมองให้เข้ากับคอมพิวเตอร์กันดูนะครับ นักสมองวิทยาได้ใช้เครื่องตรวจวัดคลื่นสมอง หรือ electroencephologram (ชื่อย่อ EEG) ศึกษาเรื่องของสมองและความคิดมาเป็นระยะเวลานานพอควรแล้วครับ ซึ่งเมื่อก่อนมักจะใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรค หรือเพื่อค้นคว้าเกี่ยวกับการทำงานของสมอง เพิ่งจะเร็วๆ นี้เองครับที่ EEG กลายมาเป็นเรื่องฮิตติดตลาดในศาสตร์ทางด้าน Brain-Computer Interface หรือ BCI ซึ่งก็คือการนำเอาคลื่นสมอง หรือความคิด มาใช้ในการสั่งการและควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญคือ เทคโนโลยีพวกนี้ เริ่มกลายเป็นสินค้าที่หาซื้อได้ในท้องตลาดแล้วครับ อย่างบริษัท Mattel ได้นำเอาเจ้าอุปกรณ์ EEG แบบง่าย มาแพ็คเกจขายเป็นเกมส์ที่มีชื่อว่า Mindflex ซึ่งหาซื้อได้ที่วอลมาร์ท หรือสั่งจากเว็บไซต์ Amazon ก็ได้ (ผมพยายามสั่งอยู่ครับ แต่เขายังไม่ยอมขายนอกสหรัฐฯ เดี๋ยวจะลองหาใน eBay) โดยเกมส์นี้จะมีสายรัดสำหรับสวมใส่ที่ศรีษะ ซึ่งมันจะอ่านคลื่นสมองของเรา เราสามารถจูนสมาธิไปที่ลูกบอล แล้วพยายามคิดให้ลูกบอลนี้เคลื่อนตัวผ่านสิ่งกีดขวางต่างๆ ไปให้ได้ ซึ่งก็จะมีด่านต่างๆ ให้เราทดลองฝึกสมอง เพื่อพาลูกบอลเคลื่อนที่ไป

วันหลังมาคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ ...

04 กรกฎาคม 2553

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 4)


มีนายทหารท่านหนึ่ง เล่าให้ผมฟังว่า ทุกวันนี้ในประเทศเขมรยังมีกับระเบิดที่ฝังอยู่ใต้ดินมากถึง 1 ล้านลูก ถ้าจะเก็บให้หมด ด้วยอัตราที่ทำอยู่ตอนนี้ จะต้องใช้เวลา 100 ปีเลยทีเดียว ผมฟังแล้วก็เชื่อว่าท่านไม่ได้โม้ เมื่อตอนที่ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวที่นครวัด แม้แต่ในสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งที่ผมเคยไป ก็มีป้ายปัก ห้ามไม่ให้เข้าไปในพื้นที่บางโซน ซึ่งอาจมีกับระเบิดฝังอยู่แล้วเคลียร์ยังไม่หมด ทุกๆ วันจะมีหน่วยทหารเข้าไปเก็บกู้ระเบิดเหล่านี้ แล้วทยอยเปิดพื้นที่ให้ใช้ นายทหารท่านนี้ยังเล่าว่า เมื่อก่อนเวลาพวกเขมรแดงหนีทหารเวียดนาม ก่อนนอนก็จะเอาระเบิดไปฝังไว้ในดินรอบๆ บริเวณที่ตนเองนอน พอตื่นขึ้นก็เคลื่อนพลออกไปเลย ไม่มีการไปเก็บระเบิดที่ฝังไว้ ท่านยังพูดติดตลกด้วยว่า มีเหมือนกันที่ คนที่ฝังระเบิดเหล่านั้น ย้อนกลับมาเหยียบกับระเบิดตายเสียเอง ....

ข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟระบุว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมานี้ กับระเบิดได้สังหารมนุษย์ไปกว่า 1 ล้านคนแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นเด็ก เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใช่ไหมครับ ที่ระเบิดโง่ๆ เหล่านั้นได้ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ไปมากมายขนาดนั้น แม้ความขัดแย้งของผู้ใช้กับระเบิดจะจบลงไปนานแล้วก็ตาม ...

แต่เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะจะทำให้ความโหดร้ายของสมรภูมิรบ ที่มีต่อชีวิตของพลเรือนหมดไปครับ ระเบิดบื้อๆ จะถูกแทนที่ด้วยระเบิดฉลาด ที่จะทำงานเฉพาะกับทหารฝ่ายตรงข้าม เป็นระเบิดที่สามารถโปรแกรมสั่งการให้ระเบิดหรือไม่ระเบิด ตามเงื่อนไขที่ระบุได้ กองทัพสหรัฐฯกำลังทดลองกับระเบิดเหล่านี้ในภาคสนาม และเตรียมนำออกมาใช้เร็วๆ นี้ครับ กับระเบิดฉลาดจะมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาวะของสนามรบ มันจะเก็บข้อมูลแล้วส่งให้ผู้บัญชาการสนาม สามารถสั่งการเงื่อนไขการระเบิด กับระเบิดสามารถส่งข้อมูลระหว่างกันได้ มันสามารถทำงานเป็นเครือข่ายไร้สาย เช่น ระเบิดพร้อมๆ กัน เพื่อให้เป้าหมายใหญ่ๆ เกิดความเสียหาย หรือระเบิดส่งกันเป็นทอดๆ เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในสนามรบ กับระเบิดพวกนี้จะทำงานเฉพาะกับเป้าหมายที่เป็นข้าศึก มันจะรู้จักทหารพวกเดียวกันจากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้ หลังจากสงคราม ผู้บัญชาการสนามจะทราบว่ากับระเบิดใช้ไปหมดหรือยัง มีเหลือไว้หรือไม่ มันสามารถถูกโปรแกรมให้ทำลายตัวเองหากไม่ถูกใช้งานในเวลาที่กำหนด โดยจะระเบิดอย่างปลอดภัยด้วยเซ็นเซอร์ที่ตรวจได้ว่าไม่มีมนุษย์อยู่ในบริเวณทำลายล้าง

วันหลังมาคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ ...