15 กรกฎาคม 2553

Artificial Sense - สัมผัสประดิษฐ์ (ตอนที่ 5)


วันนี้มาคุยเรื่องสัมผัสประดิษฐ์ทางกายหรือ Tactile Sensing กันต่อนะครับ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สนใจศึกษาเรื่องนี้หลายกลุ่มในโลก แต่กลุ่มที่เป็นที่รู้จักกันดี เพราะออกสื่อบ่อยๆ นั้น เห็นจะเป็นกลุ่มวิจัยของศาสตราจารย์ทากาโอะ โซเมยา (Professor Takao Someya) ซึ่งท่านมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยทรานซิสเตอร์อินทรีย์ (Organic Transistor Laboratory) ซึ่งทำวิจัยอย่างลึกซึ้งในหัวข้อของการสร้างทรานซิสเตอร์สารอินทรีย์บนฐานรองพลาสติก โดยมีจุดมุ่งหมายจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้านอุปกรณ์แบบโค้งงอได้ ขนาดพื้นที่ใหญ่ (Large-Area Electronics) ทางกลุ่มของศาสตราจารย์โซเมยาได้พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ ด้วยเทคนิคที่มีราคาถูก เช่น ใช้วิธีการพิมพ์ วิธีการลามิเนต หรือ การพิมพ์เพลต เป็นต้น ท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่ได้รับรางวัลมากมาย เพราะงานวิจัยของท่านมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Skin

e-Skin ที่ท่านพัฒนาขึ้นมานั้น มีวงจรเซ็นเซอร์รับสัมผัส จำนวนมากฝังอยู่บนพื้นผิวของวัสดุที่ยืดหยุ่นได้ กล่าวคือ การนำไฟฟ้าของวัสดุเซ็นเซอร์จะไม่ถูกกระทบหากเนื้อวัสดุยืดออกไม่เกิน 1.7 เท่า วัสดุเซ็นเซอร์ทำจากการผสมท่อนาโนคาร์บอน กับ พอลิเมอร์นำไฟฟ้า e-Skin นี้อาจนำไปใช้ได้หลากหลายงานประยุกต์มากครับ อาจารย์โซเมยาได้สาธิตการใช้งาน ด้วยการห่อหุ้มมือหุ่นยนต์ด้วย e-Skin นี้ เพื่อทำให้หุ่นยนต์มีสัมผัสที่มือ เฉกเช่นมนุษย์ แต่จริงๆ แล้วยังมีงานประยุกต์อื่นๆ อีกมากมาย รอเจ้า e-Skin นี้นำไปใช้ เช่น การติดตั้งในเบาะรถยนต์ เพื่อตรวจวัดการอากัปกริยาการนั่งของคนในรถ การนำแผ่นเซ็นเซอร์ไปติดตั้งบนเสื้อผ้าเพื่อตรวจวัดสภาวะทางสุขภาพ เป็นต้น

วันหลัง ยังมีเรื่องราวของสัมผัสประดิษฐ์มาคุยกันต่อนะครับ ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น