12 กรกฎาคม 2553

Artificial Sense - สัมผัสประดิษฐ์ (ตอนที่ 4)


ผมยังจำความรู้สึกสมัยเป็นวัยรุ่นได้ดีว่า การได้จับมือผู้หญิงครั้งแรกนั้นมันเป็นเรื่องตื่นเต้นขนาดไหน อีกทั้ง สัมผัสของมือที่จับต้องกันนั้น มันช่วยถ่ายทอดความรู้สึกให้แก่กันและกันได้อย่างลึกซึ้งเพียงใด แต่เมื่อเราเริ่มเคยชินกับมัน หรือเมื่อเรามีอายุมากขึ้น การได้จับมือผู้หญิงใหม่ๆ ที่เราไม่รู้จัก กลับไม่สามารถคืนความทรงจำของวันวานนั้นได้ จนผมอยากจะกลับไปบันทึกความรู้สึกนั้นให้เป็นข้อมูลดิจิตอลเสียจริงๆ เผื่อจะได้นำกลับมาใช้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์มีความสนใจศึกษาเรื่องสัมผัสทางกาย ระบบประสาทของผิวหนัง และการประมวลผลสัมผัสทางกาย กันมากขึ้นเรื่อยๆ ความรู้ในเรื่องเหล่านี้นอกจากจะช่วยทำให้เราสามารถ วิศวกรรมความรู้สึกทางกายเหล่านั้น ให้ไปติดตั้งบนหุ่นยนต์แล้ว มันยังมีประโยชน์ในการรื้อฟื้น หรือ สร้างสัมผัสกายขึ้นมาใหม่ เพื่อให้คนที่สัมผัสกายเหล่านั้นสูญหายไปแล้ว ได้กลับมามีความรู้สึกทางกายได้อีกครั้ง เช่น คนที่ขาขาดไปแล้ว ถึงแม้จะมีขาเทียมมาให้เขาใช้ก็ตาม เขาก็อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเขามีขา ยิ่งถ้าเป็นเท้าหรือนิ้วเท้า เขาจะไม่รู้สึกเลยว่ามี ในอนาคต เราอาจจะทำให้ขาเทียม ผลิตสัมผัสกายได้เสมือนกับว่า เขากำลังใช้ขาจริงอยู่ ด้วยการใส่ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Skin (e-Skin) เข้าไปที่อวัยวะเทียมเหล่านั้น เพื่อทำให้อวัยวะเทียมเหล่านั้น ผลิตความรู้สึก เมื่อไปสัมผัสแตะต้องกับวัตถุต่างๆ ได้เฉกเช่นกับผิวหนังจริงๆ ในธรรมชาติ

งานวิจัยของผมเกี่ยวกับสัมผัสกาย หรือ Tactile Sensing นั้นจะมุ่งไปที่การค้นหาเซ็นเซอร์รับสัมผัส ซึ่งได้แก่ เซ็นเซอร์วัดแรงกด เซ็นเซอร์วัดแรงดึง เซ็นเซอร์ตรวจวัดความโค้งงอ ซึ่งปัจจุบัน เซ็นเซอร์ที่ผลิตในต่างประเทศนั้น มีราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ไม่เหมาะจะนำมาพัฒนาเป็นผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องมีเซ็นเซอร์จำนวนมากๆ ในพื้นที่เล็กๆ เหมือนกับมือของคนเรานั่น แหล่ะครับ ที่มีปลายประสาทสัมผัสจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้ว เรายังต้องหาเซ็นเซอร์ที่มีความยืดหยุ่นได้ เหมือนผิวหนังของคนเรา

วันหลังมาคุยเรื่องนี้กันต่อนะครับ ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น