29 สิงหาคม 2554

IEEE ISCAS2012 - The IEEE International Symposium on Circuits and Systems


วันนี้ผมมีการประชุมหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอครับ ซึ่งกำหนดรับบทความก็ใกล้เข้ามาแล้วด้วย การประชุมมีชื่อว่า IEEE ISCAS2012 มีชื่อเต็มคือ The IEEE International Symposium on Circuits and Systems ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 20-23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 นู่นครับ แต่ว่ากำหนดรับบทความฉบับเต็ม (4-Page Paper) ค่อนข้างใกล้เข้ามาแล้วคือวันที่ 7 ตุลาคม 2554 เลยต้องรีบแจ้งให้ทราบครับ

ISCAS2012 ถือว่าเป็นการประชุมที่สำคัญงานหนึ่งของวงการวิจัยทางด้านทฤษฎี การออกแบบ และการประยุกต์ใช้งานวงจร ระบบและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และในปี 2012 นี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องของการหลอมรวมระหว่างศาสตร์ทางด้าน ชีววิทยา สารสนเทศ นาโน และสิ่งแวดล้อม (Convergence of Bio Info Nano Enviro Technology) ซึ่งก็รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจกันมากในเวลานี้ เช่น u-healthcare (ubiquitous healthcare) วิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering) สภาพแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) รวมทั้ง Smart Robot Applications

หัวข้อที่เขาประกาศรับบทความมีดังนี้ครับ

- Analog Signal Processing
- Biomedical and Life-Science Circuits, Systems and Applications
- Circuits and Systems for Communications
- Computer-Aided Network Design
- Digital Signal Processing
- Education in Circuits and Systems
- Live Demonstrations of Circuits and Systems
- Multimedia Systems and Applications
- Nanoelectronics and Gigascale Systems
- Neural Networks and Systems
- Nonlinear Circuits and Systems
- Power and Energy Circuits and Systems
- Sensory Systems
- Visual Signal Processing and Communications
- VLSI Systems and Applications

การนำเสนอผลงานของ ISCAS2012 ก็ค่อนข้างหลากหลายครับ มีทั้งแบบบรรยาย (Oral) โปสเตอร์ การสาธิต (Demonstration) การแนะนำ (Tutorials) ซึ่งถือว่าดีมากๆ เลยครับ ผมเคยไปการประชุมวิชาการแบบนี้ พบว่ามีประโยชน์มากครับ เพราะการประชุมจะสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ มีอรรถรสในการเข้าร่วมตลอดงาน เนื่องจากมีการนำเสนอผลงานหลากหลายรูปแบบ แถมได้ดูของจริง ไม่ว่าจะโดยการดูวีดิโอ การโชว์สิ่งประดิษฐ์และผลงานวิจัยในรูปแบบของบูธ และบางครั้งเขาทำกันเป็นละครสั้นโชว์กันให้เห็นเลยครับ

ที่เจ๋งไปกว่านั้น เขายังจัดให้มีการเสนอผลงานในรูปแบบที่เรียกว่า การสารภาพ (Confession) ซึ่งจะเป็นเวทีในการนำเสนอสิ่งผิดพลาดในงานวิจัยของเรา ซึ่งถือเป็นกุศลที่เราจะบอกสิ่งที่เราไม่สามารถบอกได้ในบทความตีพิมพ์ เป็นความผิดพลาดที่เราได้พลั้งเผลอทำไปแล้วเราก็ไม่อยากให้ใครทำผิดเหมือนเราอีก ในเวทีนี้ เราจะบอกว่าเราทำผิดอย่างไร และเราเจอความผิดพลาดนั้นได้ยังไงด้วย ที่สำคัญก็คือ เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากความผิดพลาดของเรา

การประชุมครั้งนี้จะจัดขึ้นที่ COEX Mall ซึ่งเป็นศูนย์ประชุมและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ครับ ซึ่งมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ และแหล่งช็อปปิ้งครบครันอีกด้วย เจอกันที่เกาหลีครับ .....

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 9)


ความก้าวหน้าในการนำหุ่นยนต์ไปประยุกต์ใช้ในทางทหารของประเทศสหรัฐอเมริกา นับวันจะยิ่งไปไกลเกินกว่าที่ชาติอื่นๆ จะตามทันแล้วครับ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ใช้หุ่นยนต์สำหรับงานพื้นๆ ธรรมดาๆ อย่างเช่นการเก็บกู้ระเบิด แต่เพนทากอนมุ่งหวังจะให้หุ่นยนต์ทำการรบแทนมนุษย์ ซึ่งจะทำให้สงครามในอนาคตของอเมริกาจะได้สูญเสียชีวิตของทหารที่มีเลือดมีเนื้อน้อยลง ยกตัวอย่างในประเทศอัฟกานิสถานขณะนี้ มีหุ่นยนต์ประจำการจำนวน 2,000 ตัว หรือมีหุ่นยนต์ 1 ตัว ต่อทหาร 50 คน และมีแนวโน้มที่หุ่นยนต์รูปแบบอื่นๆ จะถูกนำมาใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

น.ท. เดฟ ทอมสัน (Dave Thompson) ผู้บังคับการหน่วยทหารหน่วยหนึ่ง ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ที่อัฟกานิสถานได้กล่าวว่า "เดี๋ยวนี้ หุ่นยนต์ไม่ได้ถูกใช้แค่เก็บกู้ระเบิดแล้วล่ะครับ พวกเราใช้หุ่นยนต์ปฏิบัติภารกิจอย่างหลากหลายมาก จนพวกคุณคาดคิดไม่ถึงเลยล่ะครับ"

เพนทากอนได้ว่าจ้างให้บริษัทล็อคฮีต มาร์ติน (Lockheed Martin) วิจัยและพัฒนาระบบขับรถเอง เพื่อที่จะนำไปติดตั้งบนรถทหาร สำหรับทำการขนส่งเป็นกองคาราวาน ระบบนี้จะเป็นอุปกรณ์ที่นำไปติดตั้งบนพาหนะทหาร ยานลำเลียงต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้มันสามารถขับได้เองโดยไม่ต้องพึ่งคนขับ โดยอาศัยเซ็นเซอร์ต่างๆ เช่น เรดาห์ จีพีเอส ระบบนี้จะทำการขับรถไปเป็นขบวน โดยมันจะรักษาระยะและความเร็วระหว่างกันอย่างปลอดภัย ผลจากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ระบบนี้จะช่วยทำให้พลขับมีเวลาไปเอาใจใส่กับเรื่องอื่นๆ แทนการขับรถ เช่น พลขับมีความสามารถในการสังเกตสิ่งผิดปกติ เช่น ระเบิดแสวงเครื่องข้างถนน (Road-side Bomb) มากขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตามระบบคาราวานอัตโนมัติที่กล่าวมาข้างบนนั้น ยังคงต้องการการทดสอบภาคสนามอีกสักระยะถึงจะนำไปใช้ในสนามรบจริง แต่ระบบหุ่นยนต์อีกระบบหนึ่งที่มีความสามารถในการลำเลียงสัมภาระ ในสเกลที่เล็กกว่าระบบคาราวานนั้น กำลังจะถูกนำไปใช้ในอัฟกานิสถานแล้ว นั่นคือ หุ่นยนต์ลา (Robot Mule) ที่ผลิตโดยบริษัท Lockheed Martin เหมือนกันครับ ซึ่งจะว่าไป มันก็ไม่ได้มีรูปร่างเหมือนลาหรอกครับ แต่เหมือนรถหุ้มเกราะหกล้อขนาดย่อมๆ ซึ่งทหารราบใช้มันเพื่อแบกสัมภาระให้ ในการออกลาดตระเวณไปยังสถานที่ต่างๆ มันมีระบบนำทางด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งจะทำให้มันเดินติดตามหน่วยทหารที่เป็นเจ้านายของมันอย่างถูกต้อง

23 สิงหาคม 2554

BHI2012 - IEEE-EMBS International Conference on Biomedical and Health Informatics


เมื่อประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering) เริ่มบูมขึ้นในประเทศไทย ตามกระแสความนิยมในต่างประเทศ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเริ่มมีการประชุมวิชาการทางด้านนี้เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด โดยเฉพาะในย่านเอเชียของเรา บางครั้งจัดกันติดๆ เรียงเดือนกันเลยครับ ในประเทศไทยเราเอง ก็มีสมาคมหรือชมรมที่เกี่ยวข้องทางด้านนี้เกิดขึ้นถึง 3 องค์กร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคึกคักของการทำวิจัยเรื่องนี้ในประเทศไทย

เมื่อก่อน การทำวิจัยทางด้าน Biomedical Engineering โดยเฉพาะของไทย มักจะเกี่ยวข้องกับเครื่องมือแพทย์ หรือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการแพทย์เป็นหลัก แต่ระยะหลังๆ มานี้ ศาสตร์ทางด้านนี้ได้ก้าวหน้าข้ามขั้นไปยังพรมแดนใหม่ๆ ออกนอกวงการแพทย์ไปสู่งานประยุกต์ด้านอื่นๆ ศาสตร์ใหม่ๆ เหล่านี้ก็ได้แก่ เรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างสมองกับจักรกล (Brain-Machine Interface) ระบบเซ็นเซอร์ที่สวมใส่ได้หรือแม้แต่ฝังเข้าไปในร่างกาย (Implantable Devices) ระบบบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ระบบดูแลชีวิตความเป็นอยู่ (Ambient Assisted Living) เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีหัวข้อใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นให้ทำกันมากขึ้น เมื่อตอนที่ศาสตร์นี้เริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทยใหม่ๆ มีคนมาชวนผมทำวิจัย แต่ผมเห็นว่าศาสตร์ทางด้านนี้เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ดูแล้วไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ เลยรีๆ รอๆ อยู่หลายปี จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วนี่เองครับ ที่ผมตัดสินใจเข้ามาทำวิจัยในสาขานี้ เนื่องจากเริ่มเห็นเนื้อหาในการประชุมต่างๆ ที่เริ่มมีเรื่องใหม่ๆ ที่น่าสนุกขึ้น เมื่อปีที่แล้วนี่เอง ผมจึงตัดสินใจเริ่มพัฒนางานวิจัยทางด้านนี้ โดยได้พัฒนาถุงมืออันตรกริยา (Interactive Data Glove) หมอนและที่นอนเซ็นเซอร์ (Sleep Sensor System) รองเท้าอันตรกริยา (Interactive Data Shoe) ระบบตรวจวัดอากาศในอาคาร (Indoor Air Monitoring System) และระบบดูแลชีวิตในบ้าน (Activities of Daily Living)

ในวันนี้ผมขอแนะนำการประชุมวิชาการทางด้าน Biomedical Engineering ที่น่าสนใจ ซึ่งมีชื่อว่า BHI2012 - IEEE-EMBS International Conference on Biomedical and Health Informatics การประชุมนี้จะจัดขึ้นที่ฮ่องกง-เสินเจิ้น ระหว่างวันที่ 5-7 มกราคม พ.ศ. 2555 โดยมีหัวข้อที่เป็นที่สนใจดังนี้

I) P-STAR of Health Information
* Wearable and implantable devices
* Body sensor/area networks (BSN /BAN)
* Diagnostic and therapeutic systems
* Internet and web solutions for healthcare delivery
* Multi-scale modeling and information fusion;
* Ambient assisted living, smart homes and community healthcare systems
* Electronic health records, interoperability and connectivity
* Context-aware retrieval
* p-health, m-health, u-health, e-health systems

II) Biologically Inspired Informatics
* Virtual reality in medicine and surgery
* Bio-inspired robotics and biomimics
* Brain-computer interfacing and human–computer interfacing

III) Informatics in Biological Systems
* Neuroinformatics
* Genomics and proteomics
* Bioinformatics, computational biology

IV) Medical Imaging Informatics
* Realtime imaging
* Multimodal imaging
* Molecular imaging

V) Health Informatics Applications
* Cardiovascular informatics
* Applications in the early diagnosis and treatment of cancers

VI) Deployment of m-Health and Telemedicine
* p-health, m-health, u-health, e-health systems
* Deployment Issues

กำหนดส่งบทความฉบับเต็มคือวันที่ 14 ตุลาคม 2554 นะครับ โดยผลงานที่ได้รับการตอบรับให้ไปเสนอในที่ประชุม จะได้รับการบรรจุในฐานข้อมูล IEEE และ SCOPUS โดยบทความบางเรื่องจะได้รับคัดเลือกให้พัฒนาต่อเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร IEEE Transactions on Information Technology in Biomedicine

22 สิงหาคม 2554

Phytomonitoring Technologies - เทคโนโลยีตรวจวัดพืช (ตอนที่ 2)


ในบทความซีรีย์นี้ ผมจะทยอยนำเทคโนโลยีแต่ละตัวมาเล่าให้ฟังนะครับ แต่ช่วงแรกๆ จะเป็นการเล่าให้ฟังในภาพกว้างๆ ก่อน (โดยยังไม่ลงลึกในรายละเอียด) ว่าสถานภาพความก้าวหน้าในเรื่องของเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัดพืชเป็นอย่างไร

ศาสตร์ด้านหนึ่งที่เป็นสาขาของเกษตรแม่นยำสูง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ก็คือ Precision Crop Protection หรือการดูแลพืชแบบแม่นยำสูง ซึ่งศาสตร์หรือเทคโนโลยีทางด้านนี้ เน้นการป้องกันและระวังภัยให้แก่พืชที่เพาะปลูกอย่างแม่นยำ ภัยที่คุกคามพืชนั้นก็ได้แก่ โรคพืช แมลง และวัชพืช ซึ่ง 3 สิ่งนี้นำมาสู่ความสูญเสียผลผลิต ที่ผ่านมา เกษตรกรมุ่งเน้นการใช้ยาปราบศัตรูพืช และมักจะใช้มากเกินความจำเป็นจนเกิดความเสียหายต่อสุขภาพ ทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภคผลผลิต ทั้งยังตกค้างในสิ่งแวดล้อมทำให้ดินและน้ำเสียหายอีกด้วย ปัจจุบันจึงเกิดการเรียกร้องเพื่อให้มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชให้น้อยลง ซึ่งก็มีวิธีการหลายๆ อย่างรวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆให้เลือก หากเกษตรกรสามารถรู้ล่วงหน้า หรือ รู้แต่เนิ่นๆ ว่ากำลังจะมีโรคอะไรระบาดที่บริเวณไหนของไร่ ก็จะทำให้สามารถที่จะเลือกใช้ยาปราบศัตรูพืชเพื่อกักกันโรคได้ทัน ในบริเวณแคบๆ ก่อนที่โรคจะลุกลามไป ทำให้ไม่ต้องใช้ยาปราบศัตรูพืชมากเกินไป แต่การที่จะทำเช่นนั้นได้ เกษตรกรก็ต้องมีเทคโนโลยีที่จะเฝ้าตรวจโรคให้ได้เสียก่อน

ปัจจุบันนี้มีทางเลือกใหม่ๆ เพื่อให้ใช้ยาปราบศัตรูพืชน้อยลง เช่น การใช้วิธีการทางชีวภาพเพื่อควบคุมศัตรูพืช การใช้ฟีโรโมนในการป้องกันไม่ให้แมลงเกิดการจับคู่ขยายพันธุ์ มีคนนำเทคโนโลยีเครื่องดูดฝุ่นมาใช้กำจัดแมลง (Vincent V and Boiteau G, Pneumatic control of agricultural insect pests, in Physical Control Methods in Plant Protection, ed. by Vincent C, Panneton B and Fleurat-Lessard F. Springer, Berlin, Germany, pp. 270–281 (2002)) หรือแม้กระทั่งการนำแสง UV มาใช้กำจัดโรคพืช (Ranganna B,Kushalappa ACandRaghavan GSV,Utraviolet irradiance to control dry rot and soft rot of potato in storage. Can J Plant Pathol 19:30–35 (1997)) หรือแม้แต่เทคโนโลยีดักจับแมลงที่จะเข้ามาในไร่ ก่อนที่มันจะขยายพันธุ์ (El-Sayed AM, Suckling DM, Byers JA, Jang EB and Wearing CH, Potential of ‘lure and kill’ in long-term pest management and eradication of invasive species. J Econ Entomol 102:815–835 (2009)) ในอนาคตก็อาจจะมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่ในไร่นาทั้งในดิน และที่ต้นพืช ซึ่งจะทำให้เราสามารถควบคุมศัตรูพืชให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่เป็นอันตรายต่อผลผลิต

เทคโนโลยีในการตรวจและเฝ้าระวังพืชนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับย่อยๆ ได้แก่
(1) การตรวจวัดพืชก่อนการเพาะปลูก
(2) การตรวจวัดพืชช่วงเพาะปลูกระดับมหภาค (ภาพใหญ่)
(3) การตรวจวัดพืชช่วงเพาะปลูกระดับย่อย (เชิงรายละเอียด)

ในช่วงก่อนการเพาะปลูกนั้น ถ้าเราระมัดระวังในเรื่องต่างๆ เสียแต่เนิ่นๆ ก็อาจจะทำให้เราไม่ต้องสิ้นเปลืองยาปราบศัตรูพืชในภายหลัง เช่น เมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาใช้หว่านเพื่อเพาะปลูกนั้น ควรปราศจากเชื้อราและแบคทีเรียต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันจะใช้การตรวจ DNA เพื่อหาเชื้อโรคที่อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์ นอกจากนั้น เราก็ควรตรวจสอบดินที่ใช้เพาะปลูกว่าปราศจากเชื้อโรคและแมลงศัตรูพืช โดยอาจมีการตรวจหาจุลชีพที่มีประโยชน์ด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด เทคโนโลยีที่มักใช้กันในการตรวจเมล็ดพันธุ์และดินสำหรับเพาะปลูกเพื่อหาจุลชีพต่างๆ คือ PCR ซึ่งปัจจุบันมีใช้แบบเป็นเครื่องพกพาแล้ว

แล้วผมจะกล่าวรายละเอียดสำหรับเทคโนโลยีที่เหลือในตอนต่อๆ ไปครับ

07 สิงหาคม 2554

Phytomonitoring Technologies - เทคโนโลยีตรวจวัดพืช (ตอนที่ 1)


เกษตรกรรมแม่นยำสูง (Precision Agriculture) เป็นการทำการเกษตรแบบใหม่ที่เน้นการเปลี่ยนทรัพยากรต่างๆในไร่นา ให้เป็นผลผลิต (Input -> Output) อย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ ต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด นั่นก็คือการใช้ปัจจัยในการเพาะปลูกต่างๆ ได้แก่ คน พืช แสง น้ำ ปุ๋ย ดิน อากาศ ให้น้อยที่สุด เพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุด จึงเป็นการเกษตรที่หวังใจว่าจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

การที่จะทำเช่นนั้นได้ เราต้องรู้ว่าพืชต้องการอะไรเท่าไหร่ เราถึงจะให้สิ่งที่พืชต้องการได้ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ในบทความก่อนหน้านี้ของผมนั้น ผมได้เขียนเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะพอควรครับว่า ในไร่นาหนึ่งๆ นั้น มีความแตกต่างหลากหลายในพื้นที่ แม้แต่ดินก็มีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกัน สภาวะแวดล้อมย่อยๆ ในพื้นที่ไร่นานี้เราเรียกว่า microclimate ซึ่งมีผลทำให้พืชเมื่ออยู่ใน microclimate ที่แตกต่างกันก็ย่อมให้ผลผลิตแตกต่างกันได้ ตัวอย่างจากในไร่องุ่นกรานมอนเต้ เขาใหญ่ ที่ผมทำงานวิจัยภาคสนามอยู่นี้ เราก็มักเห็นว่าในแปลงต่างๆ ที่อยู่ถัดกัน หรือแม้จะอยู่ติดกันก็ตาม องุ่นก็ให้ผลผลิตได้ค่อนข้างต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นการดูแลพืช ดูแลดิน ในไร่นาเดียวกัน ก็ยังต้องดูแลให้แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ย่อยๆ นั้น เปรียบเสมือนการเลี้ยงลูกหลายๆ คน ให้เติบโตสมบูรณ์ พ่อแม่ย่อมต้องรู้ว่าใครอ้วนใครผอม ใครชอบกินอะไร มีนิสัยยังไง ถึงจะเลี้ยงดูลูกให้ทานข้าวได้ดีและเติบโตอย่างสมดุล การดูแลพืชก็เช่นกัน หากให้ปุ๋ยเท่าๆ กันทั้งไร่โดยไม่ได้ดูว่าพื้นที่ย่อยๆ นั้นมีสภาพแวดล้อมต่างกัน ก็ไม่ต่างจากการที่พ่อแม่ให้ลูกทานข้าวเท่าๆ กันทุกคน บางคนทานเสร็จแล้วก็อิ่มแปล้ ลูกคนโตทานเสร็จแล้วก็ยังหิวอยู่เลย ผลก็คือ ลูกคนเล็กอ้วนผิดส่วนในขณะที่ลูกคนโตก็ผอมกร่อง

จากประสบการณ์การทำวิจัยเกษตรแม่นยำสูงในไร่องุ่นนั้น เราพบว่า microclimate มีความสำคัญมาก การที่เรารู้ว่าแต่ละแปลงมี microclimate แตกต่างกันอย่างไร จะทำให้เราสามารถดูแลพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด ในโครงการวิจัยของเราจึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Microclimate Monitoring ขึ้นมาใช้ ซึ่งทำให้เราสามารถดูแลพืชได้อย่างถูกต้องตามข้อมูลสภาพแวดล้อมที่ตรวจวัดได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรารู้สภาพแวดล้อมย่อยๆ แล้ว สิ่งที่เราต้องทราบอีกเรื่องคือ เกิดอะไรขึ้นกับพืชที่เราดูแลนั้นบ้าง ดังนั้นเทคโนโลยีอีกอย่างที่เราต้องมีสำหรับการทำเกษตรแม่นยำสูงนอกจากเทคโนโลยีตรวจสภาพล้อมรอบ (Microclimate Monitoring Technology) ก็คือ เทคโนโลยีตรวจวัดพืช (Phytomonitoring Technology) ซึ่งบทความซีรีย์นี้ของผมก็จะได้นำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเหล่านี้มาเสนอนะครับ ก็คอยติดตามต่อไปในซีรีย์นี้นะครับ

เทคโนโลยีในตรวจวัดพืชที่ผมจะนำเสนอในบทความซีรีย์นี้ จะเกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังโรคพืช แมลง และวัชพืชต่างๆ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดนี้จะมีประโยชน์เพื่อการวางแผนพ่นยาปราบศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพสูง กล่าวคือ ปฏิบัติการในเวลาที่เหมาะสมก่อนที่จะเกิดการลุกลามบานปลาย และต้องเป็นการกระทำที่ไม่เกินกว่าเหตุ เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ย่อยๆ ในไร่ ที่ผ่านมาเวลาเกษตรกรจะพ่นยาปราบศัตรูพืช เกษตรกรจะพ่นออกไปในปริมาณเท่าๆ กันทั้งไร่ ทั้งๆ ที่การระบาดของศัตรูพืชนั้นมีไม่เท่ากัน บางพื้นที่อาจจะไม่มีเลยก็ได้ ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

ส่วนรายละเอียดในเทคโนโลยีต่างๆ นั้น ผมจะนำเสนอในโอกาสต่อไปนะครับ ......

06 สิงหาคม 2554

AFITA 2012 - The 8th Asian Conference for IT in Agriculture


เรื่องของเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) หรือฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) เป็นเรื่องที่มีความสนใจกันมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีระดับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สูง เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น สำหรับในประเทศไทยเราเองนั้น ถึงแม้จะเป็นประเทศเกษตรกรรมก็ตาม เรื่องของการเกษตรแม่นยำสูงยังเป็นเรื่องที่มีความสนใจน้อยมาก ดังนั้นในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงด้วยกันแล้ว ประเทศอินเดีย มาเลเซีย กลับมีความก้าวหน้าทางด้านนี้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าอีกไม่นาน ประเทศไทยเองจะเริ่มให้ความสนใจในเทคโนโลยีตัวนี้มากขึ้น เพราะสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างมาก อาจทำให้คำพูดที่ว่า "เมืองไทยปลูกอะไรก็ขึ้น" กลายเป็นวลีของอดีตไปได้ ในอนาคตที่ไม่ไกลจากนี้

จะว่าไป เรื่องของเกษตรแม่นยำสูง ค่อนข้างที่จะหาการประชุมแถวๆ เอเชียได้ยากมากๆ ครับ การประชุมในเรื่องของเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับเกษตร ทางด้านเกษตรแม่นยำสูง ฟาร์มอัจฉริยะ หุ่นยนต์ทางการเกษตร ส่วนใหญ่มักจะจัดขึ้นในยุโรป และสหรัฐอเมริกา หลังๆ นี้ผมสังเกตเห็นว่าประเทศทางยุโรปตะวันออกให้ความสนใจทางด้านนี้มากขึ้น อาจเป็นเพราะบ้านเมืองของเค้ายังมีความเป็นเกษตรกรรมกันอยู่มาก แต่เนื่องจากประเทศเหล่านี้ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ทำให้ได้รับเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามา upgrade เกษตรกรรมที่มีอยู่ ส่วนยุโรปตะวันตกเองก็หวังพึ่งประเทศเหล่านี้เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารในอนาคต มากกว่าที่จะมาพึ่งผลผลิตทางการเกษตรจากประเทศไกลๆ อย่างเรา

การประชุมทางด้านเกษตรแม่นยำสูงที่จัดใกล้ๆ บ้านเราที่พอจะหาได้ก็จะยังพอมีครับ ที่ผมนำมาเสนอในวันนี้คืองาน AFITA 2012 - The 8th Asian Conference for IT in Agriculture ซึ่งจะจัดที่ไทเป ระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน พ.ศ. 2555 ก็ยังมีระยะเวลาอีกค่อนข้างนานเลยครับในการเตรียมตัว งานประชุม AFITA นี้จะวนเวียนจัดกันอยู่ในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงแถวๆ นี้ครับ และก็เคยมาจัดที่เมืองไทยอีกด้วย ผมเคยเข้าร่วมประชุมครั้งหนึ่ง ตอนนั้นจัดที่มหาวิทยาลัยเกษตรโตเกียว

หัวข้อการประชุมที่เป็นที่สนใจของ AFITA 2012 มีดังนี้ครับ

Rural economies and ICT policies for rural development
Extension and knowledge repository services
Agricultural resources data banks and data mining
Remote Sensing and GIS applications
Applications for agriculture and precision farming
Agricultural Information System
Decision Support Systems for agriculture and agribusiness
e-agribusiness and virtual agri-markets
Weather prediction models for profitable agricultural production
ICT applications in natural resources management
e-governance standards/metadata and data standards in agriculture
Robotics in Agriculture
Plant Factory
Agricultural Applications of Cloud & Service Computing
Agricultural Education & Training
General or miscellaneous topic

04 สิงหาคม 2554

AROB2012 - The 17th International Symposium on Artificial Life and Robotics


อย่างที่ผมมักจะพูดเสมอครับว่า เรื่องของการบูรณาการระหว่างมนุษย์และจักรกล (Man-Machine Integration) และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับวัสดุ (Mind-Materials Interaction) เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่กำลังจะพัฒนาขึ้นมาจนอาจจะกลายเป็นกระแสหลักของโลกในศตวรรษที่ 21 นี้ ยิ่งในระยะหลังๆ เราจะเห็นมีการประชุมทางด้านวิชาการของศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเยอะมาก ปีหนึ่งมีการประชุมหลายๆ แห่งที่ใช้ keywords คล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น HCI (Human-Computer Interactions), HRI (Human-Robot Interactions), BCI (Brain-Computer Interface), Neurocognitive Science, Biorobotics เป็นต้น

ในช่วงปีหน้า หรือปี 2012 แนวโน้มก็ยังเป็นเช่นนั้นครับ มีการประชุมทางด้านนี้มากมายที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก วันนี้ผมขอนำการประชุมที่น่าสนใจหนึ่งมานำเสนอครับ นั่นคือ AROB2012 - The 17th International Symposium on Artificial Life and Robotics ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมือง Beppu ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม พ.ศ. 2555 โดยกำหนดส่งบทคัดย่อในวันที่ 1 กันยายน 2554 ที่ใกล้เข้ามานี้ หลังจากนั้นจะมีการตอบรับในวันที่ 15 กันยายน 2554 พร้อมกำหนดส่งบทความฉบับเต็มภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2554 ครับ .... ลองดูเนื้อหากันนะครับ ยังมีเวล

หัวข้อที่เป็นที่สนใจของการประชุมนี้ก็มีดังนี้ครับ

Artificial brain research
Artificial intelligence
Artificial life
Artificial living
Artificial mind research
Bioinformatics
Bipedal robot
Brain science
Chaos
Cognitive science
Complexity
Computer graphics
Control techniques
Date mining
DNA computing
Evolutionary computations
Fuzzy control
Genetic algorithms
Human-machine cooperative systems
Human-welfare robotics
Image Processing
Intelligent control&modeling
Learning
Management of Technology
Medical surgical robot
Micromachines
Mobile vehicles
Molecular biology
Multi-agent systems
Nano-biology
Nano-robotics
Neurocomputing technologies
Neural networks and its application for hardware
Pattern recognition
Quantum computing
Resilient infrastructure systems
Robotics
Soccer robot
Virtual reality
Visualization

จะเห็นว่าหัวข้อค่อนข้างกว้าง แต่แนวโน้มของศาสตร์จะไปทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เคยอยู่ในสาขาหุ่นยนต์มาก่อน อย่างเช่น Nano-robotics, Nano-biology, Quantum Computing, Neurocomputing technologies, Molecular biology ซึ่งจะมีความเป็นชีววิทยาเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จริงๆ แล้วในมุมมองจากชีววิทยานั้น หุ่นยนต์ก็มีแนวโน้มที่จะเหมือนสิ่งมีชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็อาจจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ในขณะที่หากมองจากมุมของหุ่นยนต์ศาสตร์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ ก็ทำงานคล้ายๆ กับเป็นหุ่นยนต์ ลองสังเกตมดสิครับ มันเดินเรียงแถวกันไปหาอาหาร เดินกลับรัง เอาอาหารมาเก็บแล้วออกไปใหม่ มันใช้ชีวิตไม่ต่างอะไรจากหุ่นยนต์เลย ....