29 สิงหาคม 2554

Intelligent Battlefield - เทคโนโลยีสนามรบอัจฉริยะ (ตอนที่ 9)


ความก้าวหน้าในการนำหุ่นยนต์ไปประยุกต์ใช้ในทางทหารของประเทศสหรัฐอเมริกา นับวันจะยิ่งไปไกลเกินกว่าที่ชาติอื่นๆ จะตามทันแล้วครับ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ใช้หุ่นยนต์สำหรับงานพื้นๆ ธรรมดาๆ อย่างเช่นการเก็บกู้ระเบิด แต่เพนทากอนมุ่งหวังจะให้หุ่นยนต์ทำการรบแทนมนุษย์ ซึ่งจะทำให้สงครามในอนาคตของอเมริกาจะได้สูญเสียชีวิตของทหารที่มีเลือดมีเนื้อน้อยลง ยกตัวอย่างในประเทศอัฟกานิสถานขณะนี้ มีหุ่นยนต์ประจำการจำนวน 2,000 ตัว หรือมีหุ่นยนต์ 1 ตัว ต่อทหาร 50 คน และมีแนวโน้มที่หุ่นยนต์รูปแบบอื่นๆ จะถูกนำมาใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

น.ท. เดฟ ทอมสัน (Dave Thompson) ผู้บังคับการหน่วยทหารหน่วยหนึ่ง ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ที่อัฟกานิสถานได้กล่าวว่า "เดี๋ยวนี้ หุ่นยนต์ไม่ได้ถูกใช้แค่เก็บกู้ระเบิดแล้วล่ะครับ พวกเราใช้หุ่นยนต์ปฏิบัติภารกิจอย่างหลากหลายมาก จนพวกคุณคาดคิดไม่ถึงเลยล่ะครับ"

เพนทากอนได้ว่าจ้างให้บริษัทล็อคฮีต มาร์ติน (Lockheed Martin) วิจัยและพัฒนาระบบขับรถเอง เพื่อที่จะนำไปติดตั้งบนรถทหาร สำหรับทำการขนส่งเป็นกองคาราวาน ระบบนี้จะเป็นอุปกรณ์ที่นำไปติดตั้งบนพาหนะทหาร ยานลำเลียงต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้มันสามารถขับได้เองโดยไม่ต้องพึ่งคนขับ โดยอาศัยเซ็นเซอร์ต่างๆ เช่น เรดาห์ จีพีเอส ระบบนี้จะทำการขับรถไปเป็นขบวน โดยมันจะรักษาระยะและความเร็วระหว่างกันอย่างปลอดภัย ผลจากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ระบบนี้จะช่วยทำให้พลขับมีเวลาไปเอาใจใส่กับเรื่องอื่นๆ แทนการขับรถ เช่น พลขับมีความสามารถในการสังเกตสิ่งผิดปกติ เช่น ระเบิดแสวงเครื่องข้างถนน (Road-side Bomb) มากขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตามระบบคาราวานอัตโนมัติที่กล่าวมาข้างบนนั้น ยังคงต้องการการทดสอบภาคสนามอีกสักระยะถึงจะนำไปใช้ในสนามรบจริง แต่ระบบหุ่นยนต์อีกระบบหนึ่งที่มีความสามารถในการลำเลียงสัมภาระ ในสเกลที่เล็กกว่าระบบคาราวานนั้น กำลังจะถูกนำไปใช้ในอัฟกานิสถานแล้ว นั่นคือ หุ่นยนต์ลา (Robot Mule) ที่ผลิตโดยบริษัท Lockheed Martin เหมือนกันครับ ซึ่งจะว่าไป มันก็ไม่ได้มีรูปร่างเหมือนลาหรอกครับ แต่เหมือนรถหุ้มเกราะหกล้อขนาดย่อมๆ ซึ่งทหารราบใช้มันเพื่อแบกสัมภาระให้ ในการออกลาดตระเวณไปยังสถานที่ต่างๆ มันมีระบบนำทางด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งจะทำให้มันเดินติดตามหน่วยทหารที่เป็นเจ้านายของมันอย่างถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น