23 ตุลาคม 2550

ถนนที่ซ่อมตัวเองได้ - Self Healing Road


หายไปหลายวันเลยครับ เพิ่งจะกลับมาจากงาน วทท. 33 ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ. นครศรีธรรมราช จริงๆ งานจบไปตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม แล้ว แต่ nanothailand ไปรถตู้ครับ เลยแวะพักระหว่างทางที่ประจวบฯ จังหวัดที่เขาไม่เอาโรงไฟฟ้าครับ หาดทรายเลยยังสวยงาม ธรรมชาติน่าชื่นชมอยู่ งาน วทท. ปีนี้เริ่มงานยิ่งใหญ่ แต่จบแบบกร่อยๆ เหงาๆ ยังไงก็ไม่รู้ สงสารคนจัดเหมือนกัน เพราะวันสุดท้ายแทบไม่เหลือใครแล้ว วทท. ปีนี้เจออุปสรรคมากมายเหลือเกิน เริ่มตั้งแต่ร่องความกดอากาศต่ำเข้าปกคลุม ทำให้ฝนตกหนักตั้งแต่วันเริ่มงาน คนที่มางานก็เจอปัญหาไม่มีที่นอน nanothailand เจอโรงแรมแกรนด์ปาร์คโกงห้องพักไป 4 ห้อง คือจองไปแล้ว แต่เขาเอาห้องไปให้คนอื่น ก็ได้แต่ทำใจ พอไปหาโรงแรมใหม่ได้ มารู้ทีหลังว่าเป็นโรงแรมผีดุ นอนกันไม่ค่อยจะหลับ โชคดีที่ได้โรงแรมทักษิณ ที่จองเผื่อเหลือเผื่อขาดช่วยเอาไว้ จริงๆ ก็เห็นใจผู้จัดนะครับ งานใหญ่ๆ ระดับนี้ ต้องใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก แต่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่มีทรัพยากรจำกัด แถมธรรมชาติไม่เป็นใจอีก งานนี้เลยทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมหลายๆ คนแหง่วไปเลย (แหง่ว = ไปแอ่วแล้วเหงา) บางคนไปถึงยังไม่ทันเข้าประชุม แต่ไม่มีที่นอน ตีรถกลับก็มี

การไปรถตู้ก็ดีเหมือนกัน ทำให้เราได้ใช้ทางหลวงเป็นระยะทางไปกลับเกือบ 2000 กิโลเมตร nanothailand พบว่าถนนหนทางมีการสร้าง ซ่อมแซม กันตลอดเวลา ไม่เคยหยุดหย่อน เพราะมันพังได้ตลอด ถนนที่สร้างเสร็จใหม่ๆ เป็นสวรรค์ของผู้ขับขี่ ต้องรีบใช้เลยเพราะอีกไม่นานผิวทางก็จะเสื่อมและพัง ถนนพระราม 2 เป็นตัวอย่างของถนนที่สร้างไม่เคยเสร็จ เพราะมีการซ่อมแซมตลอดเวลา กรมทางหลวงสหรัฐเขาใฝ่ฝันไปถึงถนนที่มีความสามารถในการซ่อมบำรุงตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยได้ให้งบประมาณแก่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เพื่อค้นคว้าหาวัสดุที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ เบื้องต้นนั้นทางคณะวิจัยได้คิดค้นพอลิเมอร์ที่สามารถซ่อมแซมรอยแตก โดยการบรรจุสารซ่อมแซมเข้าไปในแค็ปซูลจิ๋ว โดยเมื่อวัสดุเกิดรอยแตก แค็ปซูลจิ๋วจะปล่อยสารเคมีออกมา ซึ่งจะซึมเข้าไปในรอยแตกได้เองด้วยแรงธรรมชาติ แล้วเกิดปฏิกริยาเคมีประสานผิวรอยแตกนั้น ทำให้หยุดการขยายวงเสียแต่เนิ่นๆ ซึ่งได้เริ่มมีการทดลองในเวอร์ชันที่ใหญ่กว่า กล่าวคือ ใช้การบรรจุสารเคมีเข้าไปในเส้นใยจิ๋ว โดยนำไปผสมกับคอนกรีต เมื่อคอนกรีตเกิดการแตกร้อย เส้นใยจิ๋วนี้จะแตกด้วยแล้วปล่อยสารประสานรอยร้าวออกมา ซึ่งเป็นที่ต้องการในงานวางคานและตอม่อสะพานมาก เนื่องจากโดยวิธีปกติเมื่อมีรอยแตกร้าว จะต้องมีการอัดฉีดอีป็อกซีเข้าไป ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก หากเทคโนโลยีนี้พัฒนาไปจนถึงระดับที่ใช้งานจริง อีกหน่อยการเดินทางด้วยรถยนต์จะน่าภิรมย์ปานใด ลองคิดดูสิครับ ..... เรื่องนาโนเทคโนโลยีที่นำไปใช้ทำให้ถนนดีขึ้นเนี่ย วันหลัง nanothailand จะนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครับ

(ภาพข้างบนไม่ใช่ self healing road นะครับ แต่นำภาพถนนที่ซ่อมปะจนเกือบไม่เหลือที่ให้พังแล้ว มาโชว์ให้ดู)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น