10 ตุลาคม 2550

Electronic Textile และ Wearable Electronics - รุ่งอรุณใหม่ที่สิ่งทอไทยต้องคิดทำ


สิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Textile) และ อาภรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Wearable Electronics) เป็นเรื่องที่คนไทยมักไม่ค่อยได้ยินกันนัก ไม่เหมือนกับเสื้อนาโนฉบับไทยแลนด์ ที่มีผู้ผลิตหลายต่อหลายเจ้านำออกมาจำหน่ายแล้ว ซึ่งมักจะทำได้แค่ฆ่าแบคทีเรีย ป้องกันกลิ่นอับเหม็นเท่านั้น ยังไม่สามารถทำฟังก์ชันฉลาดๆอย่างอื่นได้ แต่ขณะที่ประเทศที่ประกาศตัวเป็นแหล่งแฟชันสมัยใหม่ อย่าง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน กำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยี Electronic Textile และ Wearable Electronics กันจ้าละหวั่น หวังจะเป็นผู้นำตลาดใหญ่ในอนาคต

ฟังก์ชันหน้าที่ของสิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากเสื้อนาโนธรรมดาๆ ที่พวกเราเคยได้ยินก็คือความสามารถทางด้านการประมวลผล และทำงานตามสั่ง ซึ่งทำให้เสื้อผ้าแบบนี้มีมูลค่าสูงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว สิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ เริ่มจากแนวคิดที่ว่ามนุษย์เราสวมใส่เสื้อผ้าไปไหนมาไหน เสมือนสิ่งของประจำกาย ในขณะที่คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ถึงแม้ในปัจจุบันจะพกไปไหนมาไหนได้ก็ตาม ก็ยังไม่เหมือนเสื้อผ้าที่มันติดตัวเราไปเองโดยไม่ต้องหิ้วไม่ต้องถือและไม่ต้องกังวลว่าจะลืม นั่นคือเราอยากทำให้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เหล่านั้นสวมใส่ได้ (Wearable Computing) และติดตามเราไปได้ทุกที่ และเพราะความใฝ่ฝันดังกล่าวนั่นเอง ได้นำมาสู่แนวคิดที่สูงขึ้นมาอีก นั่นคือ Ambient Intelligence หรือสภาพธรรมชาติอัจฉริยะ ซึ่งหากทำได้จริง ความสามารถในการประมวลผลจะเข้าไปอยู่ในทุกๆที่ แม้แต่ผิวเครื่องบิน (เสื้อผ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นแผ่นฟิล์มขนาดใหญ่ที่นำไปเคลือบผิวของเครื่องบินทิ้งระเบิด B2 ทั้งเครื่อง ทำให้ B2 มีความสามารถในการกระเจิงคลื่นเรดาห์) ซึ่งขณะนี้ได้มีการวิจัยวัสดุปีกเครื่องบินที่คล้ายๆ กับขนนกอินทรีย์ซึ่งสามารถลดกระแสแปรปรวนที่เกิดจากปีก โดยการลดกระแสลมแปรปรวนเล็กๆ (Microturbulence) ก่อนที่จะเกิดการสะสม โดยขนเล็กๆเหล่านั้นมีความสามารถในการรับรู้กระแสลม และตอบสนองโดยการกระดกขึ้นลง ขนเล็กๆเหล่านั้นทำงานประสานกันโดยการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายประมวลผล

แนวคิดเกี่ยวกับเสื้อผ้าฉลาดที่มีหัวคิด สามารถประมวลผลสิ่งเร้าและเลือกตอบสนองได้นั้น ถ้าจะให้เห็นภาพชัดเจนที่สุดก็คงจะเป็นภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดที่มีเฉินหลงนำแสดง ชื่อว่า "The Tuxedo" ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว พระเอกได้กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่มีความสามารถมากมายขึ้นมาทันทีที่ได้สวมใส่เสื้อทักซิโด้อัจฉริยะตัวนี้ ในโลกแห่งความเป็นจริง ถึงแม้ทักซิโด้ตัวนั้นยังไม่ได้มีการผลิตออกมาก็จริง แต่กลุ่มวิจัยต่างๆ ทั่วโลกกำลังสานฝันและจินตนาการของภาพยนตร์เรื่องนี้กันอย่างขมักเขม้น ประมาณกันว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดของสิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ หรือ ผ้านาโน จะโตถึง 400,000 ล้านบาท ...... ถึงเวลาที่สิ่งทอไทยต้องรีบคิดทำแล้ว .........................
(ภาพด้านบน - จินตนาการเกี่ยวกับความสามารถของเสื้อผ้าฉลาด คงไม่มีใครเกินภาพยนตร์เรื่อง The Tuxedo ที่เฉินหลงนำแสดง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น