03 ตุลาคม 2553

Geoengineering - อภิมหาโปรเจคต์ เปลี่ยนฟ้าแปลงปฐพี (ตอนที่ 10)


นับตั้งแต่บรรพบุรุษของเราได้ย้ายออกจากทวีปแอฟริกา เพื่อไปตั้งถิ่นฐานในทวีปเอเชีย และต่อมาได้แพร่เผ่าพันธุ์ไปทั่วทั้งโลก มนุษย์เราได้กลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ครอบครองดาวเคราะห์ดวงนี้อย่างเบ็ดเสร็จ พวกเราได้พัฒนาอารยธรรม และในปัจจุบันเราได้มีเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้มนุษย์เราพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ในอดีตกาล เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นจากธรรมชาติ มนุษย์โบราณได้แต่ก้มหน้ารับกรรม และกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของเทพเจ้า สมัยผมเป็นเด็กนั้น ผมเคยเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมเราไม่มีเทคโนโลยีที่จะหยุดพายุ หรือ ทำลายพายุไม่ให้พัดเข้ามาทำร้ายพวกเรา ถึงแม้ต่อมาเมื่อผมเข้าเรียนระดับมัธยม ผมได้เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า การสร้างเขื่อนนั้นก็เป็นวิธีหนึ่ง ที่จะลดอันตรายจากการเกิดน้ำท่วมได้ แถมยังมีประโยชน์อื่นๆ มากมาย แต่นั่นก็ยังเป็นแค่เพียงวิธีทางอ้อมในการหลีกเลี่ยงการถูกเล่นงานโดยธรรมชาติ มีทางเป็นไปได้ไหมว่า น่าจะมีวิธีตรงๆ โดยการไปหยุด หรือขัดขวางไม่ให้พายุร้ายเกิดขึ้นเลย

นักวิทยาศาสตร์แนวใหม่มีความเชื่อครับว่า ... ในอนาคต เราจะเริ่มไปยุ่งหรือไปวิศวกรรมกับชั้นบรรยากาศมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ การไปเปลี่ยนแปลงวิถีพายุ การขัดขวางการเกิดพายุ ไปจนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศให้มีความน่าอยู่มากขึ้น ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องนี้เริ่มมีความเป็นจริง เป็นจัง มากขึ้น และได้รับการตอบรับจากประชาคมนักวิทยาศาสตร์ในวงกว้าง จนแม้แต่ ภาคการเมืองระดับนโยบายก็เห็นดีเห็นงามกับวิศวกรรมเปลี่ยนฟ้าแปลงปฐพี ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

การที่เราจะไปวิศวกรรมพายุ (Storm Engineering) ได้นั้น เราควรจะมีความเข้าใจในเรื่องพายุให้ดีเสียก่อน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลในการวิจัยเกี่ยวกับพายุ ไม่ว่าจะเป็นพายุเฮอริเคน ไต้ฝุ่น หรือ ทอร์นาโด สำหรับพายุทอร์นาโดนั้น เราอาจจะเคยได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Twister ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการไล่ล่าพายุโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งจริงๆ แล้ว การไล่ล่าแบบนั้นก็มีอยู่จริงๆ นะครับ โครงการที่มีชื่อว่า VORTEX2 ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation หรือรู้จักกันดีในชื่อ NSF) ซึ่งจะมีการใช้ยานพาหนะที่มีจำนวนมากถึง 50 กว่าคัน ได้แก่ รถบรรทุกติดเรดาห์และอุปกรณ์เซ็นเซอร์ประเภทต่างๆ รถยนต์ตรวจการณ์ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจอากาศ อากาศยานไร้นักบิน และอุปกรณ์ภาคสนามอีกจำนวนมาก โดยมีทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้ควบคุมกว่า 140 คน เพื่อใช้ในการตีโอบล้อม ไล่ล่า พายุทอร์นาโด เพื่อจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกำเนิดของพายุให้ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคอมพิวเตอร์โมเดล ที่สามารถอธิบายการเกิดขึ้นของพายุ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการทำนายพายุ หรือในอนาคตอาจจะนำไปสู่การวิศวกรรมพายุได้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น