11 พฤศจิกายน 2550

นาโน โนเบล (ตอนที่ 1)


ทุกๆ เดือนตุลาคมของทุกปี รางวัลอันทรงเกียรติที่สุดในวงการวิทยาศาสตร์ จะถูกมอบให้แก่ยอดนักวิทยาศาสตร์ในสาขาฟิสิกส์ เคมี และการแพทย์ รางวัลอันทรงเกียรตินี้ไม่ใช่รางวัลของคนทำงานหนัก หรือคนทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่เป็นรางวัลของนักสร้างสรรค์ ผู้ที่เปิดมุมมองใหม่ บุคคลที่ฝ่าทะลุกำแพงแห่งการค้นพบ เพื่อนำมนุษยชาติไปสู่สันติสุข ตามความต้องการของ อัลเฟรด โนเบล นักอุตสาหกรรมชาวสวีเดนผู้ค้นพบไดนาไมต์ที่ต้องการไถ่บาปกับหายนะที่เกิดขึ้นจากผลงานสิ่งประดิษฐ์ของเขา นับตั้งแต่มีการมอบรางวัลโนเบลเมื่อร้อยปีก่อน จนถึงปี 2549 มีผู้ได้รับรางวัลไปแล้วรวมทุกสาขา (ฟิสิกส์ เคมี การแพทย์ วรรณกรรม สันติภาพ โดยมีสาขาเศรษฐศาสตร์ เพิ่มเติมขึ้นมาในปี ค.ศ. 1969) จำนวนทั้งหมด 785 คน ในจำนวนนี้มีผู้หญิงได้รางวัลเพียง 33 คนเท่านั้น รางวัลที่มีอายุยืนยาวข้ามศตวรรษนี้เปิดตัวครั้งแรกในช่วงเวลาที่มนุษยชาติกำลังจะฝ่าทะลุกระแสความคิดหลักที่กลศาสตร์นิวตันครองโลกมาตลอดหลายร้อยปีก่อนถึงศตวรรษที่ 20 เพื่อมาสู่ยุคแห่งควอนตัม ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งหลายในธรรมชาติที่ขัดกับสามัญสำนึก เช่น แสงเป็นได้ทั้งคลื่นและอนุภาค ได้รับการยอมรับ นักวิทยาศาสตร์สุดยอดของโลกที่เป็นนักบุกเบิกแนวคิดใหม่นี้ ล้วนแล้วแต่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ไม่ว่าจะเป็น เรินท์เกน (Wilhelm Conrad Roentgen) ผู้ค้นพบรังสีเอ็กซ์ ทอมสัน (J.J. Thomson) ผู้ค้นพบประจุลบและเสนอทฤษฎีอะตอม แพล็งค์ (Max Planck) ผู้ค้นพบก้อนพลังงานหรือควอนตา ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ผู้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพแต่ได้รับรางวัลโนเบลในฐานะผู้ที่อธิบายปรากฏการณ์ที่แสงแสดงความเป็นอนุภาคที่เรียกว่าโฟตอน บอห์ร (Niels Bohr) ผู้ค้นพบโครงสร้างอะตอม มิลลิแกน (Robert A. Millikan) ผู้สามารถวัดประจุของอิเล็กตรอน เดอ บอยล์ (de Broglie) ผู้ค้นพบความเป็นคลื่นของอิเล็กตรอน นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น จริงๆ แล้วในช่วงที่มุมมองใหม่แห่งโลกควอนตัมได้รับการเปิดเผยนั้น รางวัลโนเบลส่วนใหญ่ทางฟิสิกส์และเคมีในช่วงครึ่งศตวรรษแรกนั้น ได้ถูกมอบแก่นักวิทยาศาสตร์ที่ทำวิจัยอยู่ในสาขานี้ทั้งสิ้น แม้กระทั่ง 64 ปีหลังจากรางวัลโนเบลได้ถูกมอบเป็นครั้งแรกนั้น ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1965 ก็ยังเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในสาขาควอนตัม ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นรุ่นท้ายๆ แล้วก็ได้ ผู้ที่ผมกำลังกล่าวถึงนั้น อาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้ที่ทั้งปิดฉากการมอบรางวัลโนเบลให้แก่นักวิจัยในสาขาควอนตัมฟิสิกส์ ที่มีการมอบรางวัลกันมาอย่างยาวนานถึง 65 ปี และเป็นผู้ที่เปิดศักราชใหม่ให้แก่คนที่ทำงานในสาขานาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี ซึ่งกำลังจะเป็นกระแสหลักของการให้รางวัลโนเบลไปอีกหลายทศวรรษ ท่านผู้นั้นคือ ศาสตราจารย์ ริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard P. Feynman) บิดาของนาโนเทคโนโลยี

ในตอนต่อๆ ไป nanothailand จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับบุคคลสำคัญที่บุกเบิกวงการนาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี ทำให้กระแสการตื่นตัวทางด้านนาโนเทคโนโลยีกลายมาเป็นปรากฏการณ์ทั้งโลก (Global Phenomena) อยู่ในขณะนี้ โดยจะทยอยเล่าด้วยการสลับ พูดถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย ที่ไม่ใช่ นาโน โนเบล เพื่อไม่ให้เบื่อนะครับ ......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น