20 พฤศจิกายน 2550

ไทยต้องข้ามยุคนาโนวัสดุให้ได้ ก่อนแพ้เพื่อนบ้าน


วิทยาศาสตร์โลกในช่วงขึ้นศตวรรษใหม่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่นกัน ศาสตร์ใหม่ๆ ที่มีผลกระทบสูงล้วนเกิดจากการแต่งงานข้ามศาสตร์ของสาขาวิชาการที่อาจจะแยกกันอยู่มายาวนาน เช่น อินทรีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ โมเลกุลาร์อิเล็กทรอนิกส์ (Organic Electronics / Molecular Electronics) นั้นเกิดจากการแต่งงานกันระหว่าง เคมีอินทรีย์ ฟิสิกส์ และ วิศวกรรมไฟฟ้า ดังนั้นการทำงานในศาสตร์ใหม่ๆ นั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างนักวิจัยในศาสตร์เดิมหลายๆสาขา รวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะทำงานข้ามศาสตร์ของนักวิจัยเพื่อที่จะข้ามไปทำในเรื่องที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อนหรือไม่เคยรู้มาก่อน


นาโนเทคโนโลยีแบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ ยุคนาโนวัสดุ ยุคนาโนอุปกรณ์ และ ยุคระบบนาโนบูรณาการ (Integrated Nano-systems) ประเทศไทยมีนักวิจัยในสาขานาโนวัสดุจำนวนมาก ในขณะที่มีกลุ่มที่ทำงานทางด้านนาโนอุปกรณ์ยังไม่มากนัก ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะจากการประเมินงานวิจัยของนักวิจัยในเวียดนามในการประชุม International Workshop on Nanotechnology and Applications (IWNA 2007) ที่ Vung Tau City ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 15-17 พ.ย. 2550 นั้น ทำให้ทราบว่าเขามีกลุ่มที่ทำทางด้านนาโนอุปกรณ์มากกว่าเมืองไทยซะอีก แม้เมืองไทยจะมีความก้าวหน้าโดยรวมของงานทางด้านนาโนวัสดุมากกว่าเขา แต่หากเขาทำนาโนอุปกรณ์มากกว่าเรา ก็ถือว่าเราแพ้แล้ว เพราะเขากำลังวิ่งอยู่ในยุคที่ 2 ของนาโนเทคโนโลยี


nanothailand ได้มีโอกาสได้คุยกับ ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ แห่ง NECTEC เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ยาวนานในการทำงานวิจัยที่เชื่อมโยงตั้งแต่งานพื้นฐานที่เน้นความเข้าใจ และผลงานตีพิมพ์ ไปจนถึงงานประยุกต์ที่ให้ผลออกมาเป็นต้นแบบหรือผลิตภัณฑ์ โดยเมื่อ 5 ปีที่แล้วได้บุกเบิกเพื่อจัดตั้ง MEMS and Nanoelectronics Laboratory ขึ้นในเมืองไทย โดยเป็นห้องปฏิบัติการในสังกัดของ NECTEC ทำให้ทราบว่างานวิจัยในสาขานาโนอิเล็กทรอนิกส์มีความยากกว่างานวิจัยทางด้านนาโนวัสดุ ที่นิยมทำกันอย่างกว้างขวางในเมืองไทยตรงที่ สาขานาโนอิเล็กทรอนิกส์ต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และหากจะพัฒนาอะไรก็ตามก็ต้องไปจนถึงจุดที่นำไปใช้งานได้ซึ่งก็ต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง ซึ่งอาจต้องมีการทำงานข้ามศาสตร์ หรือ อาศัยความเชี่ยวชาญจากหลายๆ สาขา ไม่เหมือนกับงานนาโนวัสดุที่สามารถจบได้ที่หน่วยวิจัยเดียวก็ได้ ประเทศไทยมีฐานงานวิจัยทางนาโนวัสดุที่ค่อนข้างโต แต่งานวิจัยที่ต่อยอดขึ้นไปเพื่อนำนาโนวัสดุไปใช้งานกลับค่อนข้างลีบ


ดร. อดิสร ได้อธิบายว่าการทำงานในสาขานาโนอิเล็กทรอนิกส์นั้นช่วยทำให้เกิดความก้าวหน้าโดยรวมในสาขานาโนเทคโนโลยี เพราะมีผู้นำนาโนวัสดุไปใช้ต่อ และเกิดการต่อยอดไปสู่การสร้างนาโนอุปกรณ์ ซึ่งเป็นยุคที่ 2 ของนาโนเทคโนโลยีต่อจากยุคนาโนวัสดุ ดร. อดิสร ได้สาธิตงานวิจัย 2-3 ชิ้นที่แสดงความสำคัญของห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง เช่น Lab-on-Chip หรือห้องปฏิบัติการบนชิพ การที่จะพัฒนาให้ได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริง จะต้องประกอบด้วยกลุ่มวิจัยหลายกลุ่มช่วยกันพัฒนา ได้แก่ นักเคมีเพื่อออกแบบโมเลกุลที่พื้นผิวของชิพให้มีคุณสมบัติในการคัดกรองสาร และ ออกแบบปฏิกริยาต่างๆ วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประกอบชิพที่มีวงจรการไหล นักเทคนิคการแพทย์เพื่อออกแบบการใช้งานในการตรวจโมเลกุลชีวภาพ นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ ดร. อดิสร ได้แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันข้ามกลุ่ม ข้ามศาสตร์ ข้ามมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็น Paradigm ใหม่ของโลก ที่ประเทศไทยต้องเกาะติด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น