26 พฤศจิกายน 2550

นาโนโนเบล (ตอนที่ 4)


ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 นั้น มนุษย์มีความใฝ่ฝันที่จะเข้าไปมองเห็นโลกของสิ่งเล็กๆ ที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า เป็นอย่างมาก เครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราสามารถเห็นโลกที่เล็กกว่า 0.1 มิลลิเมตรก็คือ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ซึ่งคิดค้นและออกแบบโดยรุสกา (Ernst Ruska - รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ค.ศ. 1986) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน จริงๆ แล้วรุสกาประดิษฐ์มันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931 แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ท่านจะเรียนปริญญาเอกจบเสียอีก แต่ไม่ทราบว่าคณะกรรมการรางวัลโนเบลหลงลืมหรืออย่างไร จึงเพิ่งมาให้รางวัลโนเบลแก่ท่านในปี ค.ศ. 1986 (พร้อมๆ กับผู้ประดิษฐ์คิดค้นกล้องจุลทรรศน์ที่สามารถส่องเห็นอะตอมได้ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) หลังจากที่มีการใช้งานกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (Scanning Electron Microscope หรือ SEM) หรือ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน (Tunneling Electron Microscope) น่าเสียดายที่รุสกาได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1988 หลังจากได้รับรางวัลโนเบลเพียง 2 ปี สิริรวมอายุ 82 ปี



กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนได้เปิดมุมมองใหม่ให้แก่ศาสตร์หลายแขนง รวมไปถึงชีววิทยา ว่ากันว่าเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนนั้น ขอเพียงแค่มีกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ก็สามารถตีพิมพ์ในวารสารวิจัยได้แล้ว เพียงแต่ไปนำเอาตัวอย่างสิ่งมีชีวิต หรือ ชิ้นเนื้อของมันมาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ก็สามารถรายงานสิ่งใหม่ๆได้เลย เช่นเดียวกับกล้องโทรทัศน์ที่เปิดโลกแห่งการค้นพบดารา และจักรวาล กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนก็เปิดโลกใหม่ให้นักชีววิทยา อาจารย์หลายๆท่านในมหาวิทยาลัยก็ได้มีผลงานขอตำแหน่งศาสตราจารย์ จากการมีเพียงกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนนี้เอง การค้นพบกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจึงนับเป็นหลักกิโลเมตรสำคัญ ของวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาสิ่งเล็กๆ โดยเฉพาะนาโนเทคโนโลยี การค้นพบท่อนาโนคาร์บอนโดยศาสตราจารย์ ไออิจิมา (Sumio Iijima) ก็เกิดจากการมองเห็นโครงสร้างของท่อนาโนคาร์บอนด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนนี่เอง
(ภาพบน - ภาพมดกำลังคาบไมโครชิพ จากกล้องSEM)

1 ความคิดเห็น: