25 พฤศจิกายน 2550

Millibot - สังคมของหุ่นยนต์จิ๋ว



มนุษย์มีความใฝ่ฝันในเรื่องหุ่นยนต์มานานหลายทศวรรษ เมื่อ 30 ปีที่แล้วเราเคยจินตนาการเอาไว้ว่าในปี 2002 โลกจะพัฒนาไปจนมีหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ออกมาเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น หุ่นยนต์อย่างอาซิโมของบริษัทฮอนด้า ซึ่งออกโชว์ตัวเมื่อปี 2002 กลับมีรูปร่างและท่าทางที่อุ้ยอ้าย และทำได้เพียงขึ้นลงบันได้อย่างช้าๆ เท่านั้น หรือเต้นส่ายไปมาพร้อมยกมือสวัสดี ซึ่งก็เพียงพอที่จะเรียกเสียงปรบมือและความประทับใจจากผู้ชมชาวไทย จริงๆแล้วเราเพิ่งมาพบกับความจริงที่ว่า การสร้างหุ่นยนต์ให้เหมือนกับมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนเอามากๆ มิฉะนั้นแล้วทำไมมนุษย์ต้องใช้เวลาถึงเป็นแสนๆปี เพื่อจะวิวัฒนาการให้แยกออกมาจากลิง


แต่อีกแนวโน้มหนึ่งของงานวิจัยและพัฒนาด้านหุ่นยนต์ซึ่งนำโดยมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) กำลังจะเดินไปในทิศทางตรงข้าม กล่าวคือ จะสร้างหุ่นยนต์ที่มีขนาดเล็ก โดยหุ่นยนต์แต่ละตัวมีพลังสมองไม่มาก แต่เมื่อมันมารวมกันเป็นทีมหรือเป็นฝูง (Swarm Robot) พวกมันก็จะสามารถทำงานยากๆได้ เฉกเช่น มดหรือผึ้ง ซึ่งหากมีมดหรือผึ้งเพียงตัวเดียว มันแทบจะทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลย แต่เมื่อไรก็ตามที่มันรวมฝูงมันก็จะสามารถทำภารกิจที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ เช่นเดียวกับมด ปลวกและผึ้ง ทั้งๆที่ พวกมันแทบจะไม่มีสมองเลย (มีเพียงต่อมประสาทเท่านั้น) แต่เมื่อมันรวมฝูงแล้ว มันสามารถสร้างรังที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน โดยเฉพาะปลวกนั้น มันสามารถสร้างจอมปลวกที่มีระบบระบายอากาศที่น่าทึ่งมาก สำหรับมดมีการแบ่งหน้าที่ต่างๆ อย่างเป็นลำดับชั้น ความซับซ้อนของฝูงแมลงที่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบง่ายๆ กำลังเป็นงานวิจัยที่ฮิตมากๆสำหรับตอนนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา จนเกิดเป็นสาขาใหม่ที่เรียกว่า การประมวลผลแบบฝูง (Swarm Computing) และหุ่นยนต์ที่ทำงานภายใต้แนวคิดนี้จึงถูกเรียกว่า ฝูงหุ่นยนต์ (Swarm Robot) ซึ่งแน่นอน ขนาดของมันต้องจิ๋ว


ขณะนี้เทคโนโลยีของเราสามารถสร้างหุ่นยนต์โดยชิ้นส่วนของมันมีขนาดเป็นมิลลิเมตรได้ (แต่ขนาดหุ่นยนต์จริงๆ จะเป็นระดับเซ็นติเมตร) เราจึงเรียกมันว่า Millibot หรือ หุ่นยนต์จิ๋ว ซึ่งในอนาคตก็จะสามารถย่อส่วนเพื่อให้ชิ้นส่วนของมันมีขนาดไมครอนได้ (Microbot) (ซึ่งแน่นอน ขนาดของหุ่นยนต์เมื่อประกอบแล้วก็จะมีขนาดระดับมิลลิเมตร หรือ เท่าขี้ฝุ่น) และหากย่อลงไปอีกให้ชิ้นส่วนมีขนาดระดับนาโน (Nanobot) ก็จะทำให้หุ่นยนต์มีขนาดเล็กระดับไมครอน ซึ่งก็จะมีขนาดระดับเซลล์ (แบคทีเรียมีขนาด 2-10 ไมครอน)


ลองนึกถึงฝูงหุ่นยนต์ที่ปล่อยเข้าไปในซากปรักหักพังของอาคารเพื่อค้นหาผู้บาดเจ็บจากแผ่นดินไหว ฝูงแมลงหุ่นยนต์ที่ปล่อยเข้าไปในไร่นาเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยการให้มันไล่กินแมลง (มีการทดลองสร้างขึ้นแล้วในประเทศอังกฤษ) เรื่องนี้อาจฟังดูน่ากลัว แต่เราก็สามารถโปรแกรมให้มันทำงานในขอบเขตที่จำกัดได้ ผลงานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนก็คือ ฝูงหุ่นยนต์ที่สามารถรวมตัวกันเพื่อประกอบเป็นรูปรถไฟหรืองูเพื่อเดินข้ามสิ่งกีดขวางที่มีความสูงกว่าตัวมันมาก และเมื่อมันสามารถเดินข้ามสิ่งกีดขวางได้แล้ว มันก็จะสลายตัวออก เพื่อให้เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว
(ภาพบน - เจ้าหุ่นยนต์จิ๋ว (millibot) กำลังเกี่ยวแขนกันเดินข้ามสิ่งกีดขวาง)
(ภาพล่าง - เจ้าหุ่นจิ๋วเดินเกี่ยวแขนกันข้ามหลุมอย่างระวัง เหมือนมันจะเป็นแฟนกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ ..... )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น