27 มกราคม 2552

Worst Jobs in Science


วันนี้ผมจะนำงานทางด้านวิทยาศาสตร์ 10 อย่างที่ไม่น่าทำในปี 2009 ซึ่งนิตยสาร Popular Science ได้ขึ้นลิสต์เอาไว้ครับ งานทั้ง 10 อย่างที่ไม่น่าทำเอาเสียเลยในปีนี้มีดังนี้ครับ


  1. Triage Biologist - ชีววิทยาของการคัดเลือกสิ่งมีชีวิตที่จะอนุรักษ์ให้อยู่ หรือปล่อยให้เป็นไปตามกรรม เนื่องจากสภาวะโลกร้อนซึ่งจะทำให้สิ่งมีชีวิตต้องสูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมากในอีกไม่กี่ปีจากนี้ งานของพวกเขานั้นต้องทำใจค่อนข้างยาก กับตัวเลือกสิ่งมีชีวิตที่เขาจะตัดสินใจให้อยู่หรือไป โดยที่มีข้อมูลให้ต้องคิดจำนวนมากเสียด้วย
  2. Monkey-Sex Observer - เป็นงานชีววิทยาเพื่อศึกษาลิงขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ เพราะมนุษย์ตอนมีเพศสัมพันธ์นั้นไม่ยอมให้ใครมาศึกษาง่ายๆ เลยต้องไปดูลิงแทน
  3. Theoretical Physicist - นักฟิสิกส์ทฤษฎี เป็นงานได้ทุนยาก ทำยาก ไม่มีความก้าวหน้าในสายอาชีพ แถมโดดเดี่ยวเดียวดายกลายเป็นมนุษย์ปลีกวิเวก
  4. Vermin Handler - เป็นงานทางชีววิทยาเพื่อศึกษาภูมิคุ้มกันของมนุษย์ในชุมชนเมือง เปรียบเทียบกับย่านชนบท ด้วยการไปไล่จับหนูมาจำนวนมากๆ เพื่อมาศึกษา ต้องอดทนรอคอยหนูสกปรกมาติดกับดักในแหล่งที่ผู้คนไม่อยากจะเดินเข้าไป
  5. Lone Fossil Ranger - เป็นงานปกป้องฟอสซิลในเขตอนุรักษ์ ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ โดยมีผู้ดูแลอยู่เพียงคนเดียว
  6. Hurricane Hunter - เป็นงานของนักอุตินิยมวิทยาที่ต้องฝ่าเข้าไปในพายุด้วยเครื่องบินตรวจอากาศ เพื่อทำการวัดค่าต่างๆ โดยการบินอยู่ในพายุนาน 12 ชั่วโมงต่อเที่ยวบิน ซึ่งเหมือนการนั่งอยู่ในกระป๋องที่มีคนเขย่าอยู่ตลอดเวลา
  7. Medical Waste Burner - เป็นงานกำจัดของเสียและสิ่งปฏิกูลจากการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นเลือด เสมหะ มูกต่างๆ เศษเนื้อและอวัยวะจากการผ่าตัด
  8. Leech Researcher - เป็นงานวิจัยทางดูดเลือด ซึ่งต้องเดินฝ่าดงทากเพื่อเก็บตัวอย่าง โดยปล่อยให้ทากเกาะดูดเลือดตามร่างกายของนักวิจัย
  9. Experimental Taphonomist - เป็นงานทางชีววิทยาที่ศึกษากระบวนการเกิดเป็นฟอสซิลของสิ่งมีชีวิต ซึ่งต้องเข้าไปสืบค้นซากสัตว์ที่ถูกฆ่าตายในที่ต่างๆ แล้วนักศึกษาดูการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างร่างกาย อวัยวะ
  10. Mars Simulator Crew - เป็นงานเพื่อศึกษาการเดินทางไปดาวอังคาร โดยขังมนุษย์จริงไว้ในยานจำลองเป็นเวลา 500 วันเป็นอย่างน้อย ซึ่งต้องใช้ชีวิตจริงในสภาพจำลองเหมือนการเดินทางไป-กลับ ดาวอังคาร

เป็นไงครับ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่างานที่ไม่น่าทำส่วนใหญ่จะเป็นงานทางชีววิทยาแบบเดิม (Conventional Biology)ไม่ใช่ชีววิทยาแบบใหม่ที่เป็นเชิงโมเลกุล (Molecular Biology) ซึ่งงานชีววิทยาแบบเดิมนั้นไม่ค่อยได้ใช้เทคโนโลยีสักเท่าไหร่ แต่ต้องใช้แรงงานและความอุตสาหะค่อนข้างมากครับ