01 กุมภาพันธ์ 2552

Nano Road - ถนนนาโน (ตอนที่ 4)


สวัสดีครับ หายไปหลายวันเลยครับ ตอนนี้ผมทำงานภาคสนามอยู่ที่สวนชาดอยช้าง จ.เชียงราย มาสัก 3-4 วันแล้วครับ มาพัฒนาระบบ Digitized Tea Orchard ที่ดอยช้าง อีก 2 วันก็จะกลับกรุงเทพฯครับ อีกเดือนครึ่งจะกลับมาอีกที ตอนนี้ที่เชียงรายก็ยังคงหนาวอยู่ครับ ตอนกลางคืนก็ยังอยู่แถวๆ 16-19 องศาเซลเซียส สวนชาที่ผมมาทำงานอยู่นี้ไม่ได้อยู่เชิงดอยช้างครับ ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 510 เมตรเท่านั้น ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการปลูกชาแล้วครับ

วันนี้กลับมาคุยเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับถนนหนทางกันต่อ จากคราวที่แล้วที่ผมเคยกล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ทางหลวงโดยทั่วไปจะราดผิวถนนได้ 2 แบบคือ คอนกรีต กับ ยางมะตอย สำหรับทางหลวงในสหรัฐอเมริกาที่ยาวเกือบ 3.6 ล้านกิโลเมตรนั้น กว่า 90% ราดผิวจราจรด้วยแอสฟัลต์หรือยางมะตอย ซึ่งเป็นวัสดุไฮโดรคาร์บอน น้ำหนักโมเลกุลสูงที่ได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยมีการใช้งานถึง 30 ล้านตันต่อปีทั้งเพื่อสร้างทางใหม่และซ่อมบำรุงทาง ว่ากันว่าทุกวินาทีจะมียางมะตอย 1 ตันถูกราดบนผิวทางในสหรัฐฯ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับปรุงยางมะตอยจึงเป็นเรื่องที่คุ้มค่าเหนื่อย ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกันครับ ยางมะตอยครอบครองส่วนแบ่งของผิวถนนไปอย่างน้อย 90% ทั่วประเทศครับ ยางมะตอยที่ใช้ราดผิวถนนนั้นประกอบด้วยหินและทรายจำนวนกว่า 95% ที่เหลือนั้นคือแอสฟัลต์ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า โดยมีการใส่สารเติมแต่งเช่นพอลิเมอร์ และสารเคมีอื่นๆเข้าไปด้วย ยางมะตอยที่นำมาใช้ไม่มีระบบควบคุมคุณภาพ และไม่มีมาตรฐานของผู้ผลิตต้นทาง ดังนั้นคุณภาพของมันจึงผันแปรได้มาก ทำให้ถนนที่ใช้ยางมะตอยนั้น ยากที่จะคาดคะเนได้ว่าจะมีความทนทานเพียงใด ไม่เหมือนถนนที่ปูผิวด้วยคอนกรีต แต่เพราะความที่มันซ่อมแซมได้ง่าย ค่าก่อสร้างก็ถูกกว่า รวมทั้งกำเนิดเสียงที่เงียบกว่า ทำให้ถนนที่ปูผิวด้วยยางมะตอยยังครองเบอร์ 1 ได้อีกนาน นาโนเทคโนโลยีสามารถที่จะนำไปใช้เพื่อเพิ่มคุณสมบัติแอสฟัลต์ก็เช่น การเติมวัสดุอื่นๆลงไปเพื่อให้เกิดวัสดุผสม ได้แก่ อนุภาคนาโนของยาง หรือที่เรียกว่า Asphalt Rubber ซึ่งจะทำให้เกิดผิวจราจรที่ขับขี่ได้เงียบขึ้นมาก (หากใครเคยไปทัวร์เกาหลี ก็คงเคยเดินทางบนรถโค้ชที่นุ่มและเงียบมาก) อนุภาคนาโนซิลิกา และ เถ้าลอยก็สามารถเติมแต่งลงไปเช่นเดียวกับคอนกรีต เพราะแอสฟัลต์ก็ทำหน้าที่เป็นกาวเชื่อมวัสดุต่างๆ เข้าด้วยกันเหมือนซีเมนต์นั่นเอง นอกจากนั้นยังสามารถเติมนาโนไฟเบอร์เข้าไปเพื่อให้ยางมะตอยมีคุณสมบัติยึดเกาะกันได้ดีขึ้น ไม่หลุดง่าย