26 สิงหาคม 2550

ไทยอยากเข้ายุคอุตสาหกรรมนาโนก่อนใคร แต่คู่แข่งอาจไม่ยอม

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา นาโนเทคโนโลยีได้กลายมาเป็นกระแสตื่นตัวไปทั่วโลก ได้เกิดโปรแกรมการสนับสนุนการวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีในระดับวาระแห่งชาติ เริ่มตั้งแต่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปทั้งหมด ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง อิสราเอล อิหร่าน อินเดีย อียิปต์ รัสเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และ ไทย นับเป็นโชคของประเทศไทยที่ ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยได้ริเริ่มโครงการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2546 ห่างจากสหรัฐอเมริกาเพียง 3 ปีเท่านั้น ทำให้ประเทศไทยไม่ตกกระแสการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ประเทศคู่แข่งของไทย ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ล้วนแล้วแต่มีโครงการนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติเหมือนกัน โดยทั้งสามประเทศเริ่มเน้นหนักไปในเรื่องของการพัฒนานาโนเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งเริ่มตั้งแต่ การพัฒนานาโนวัสดุชนิดใหม่ การผลิตนาโนวัสดุเพื่ออุตสาหกรรม การเพิ่มมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์หลากชนิดด้วยนาโนเทคโนโลยี รวมไปถึง การสร้างอุตสาหกรรมชนิดใหม่ขึ้นในประเทศ หรือ ล็อบบี้ให้ต่างชาติมาลงทุนผลิตสินค้าที่ใช้นาโนเทคโนโลยี มาเลเซียประสบความสำเร็จในการชักนำอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แนวใหม่ให้เข้ามาลงทุน ผลิตสินค้าทางด้านอิเล็กทรอนิกส์จากโมเลกุลอินทรีย์ สิงคโปร์ชูนาโนเทคโนโลยีชีวภาพ โดยจัดโครงสร้างพื้นฐานพิเศษให้บริษัทยาทั่วโลกมาตั้งห้องปฏิบัติการ R&D เวียดนามเน้นโปรแกรมนาโนอุปกรณ์ โดยเชื่อมโยง Hi-Tech Park ที่โฮจิมินห์ ซิตี้ ซึ่งมีบริษัทต่างชาติมาลงทุน กับห้องปฏิบัติการวิจัยทางนาโนเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัย

ในระยะ 2-3 ปีมานี้ อุตสาหกรรมไทยหลายแขนงแสดงความต้องการที่จะนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงการผลิต หรือ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือ เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ จากการพูดคุยกับบริษัทใหญ่ๆ เช่น ปตท. และ เครือซีเมนต์ไทย ทำให้ทราบว่าเขามีความต้องการเพิ่มมูลค่าพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ซึ่งนับวันจะเผชิญการแข่งขันกับปิโตรเคมีจากเวียดนาม เบทาโกร ต้องการเพิ่มมูลค่าอาหารและปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการฟาร์ม บริษัทเหล่านั้นตระหนักว่าบริษัทคู่แข่งต่างชาติต่างมีเทคโนโลยีนี้ในมือ นอกจากนั้นยังมีบริษัทขนาด SME จำนวนมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ที่มีความต้องการนาโนเทคโนโลยีเข้าไปใช้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เช่น บริษัทผลิตเลนส์แว่นตา บริษัทผลิตเครื่องกรองน้ำ บริษัทผลิตสุขภัณฑ์ บริษัทผลิตสี บริษัทผลิตวัสดุก่อสร้าง บริษัทผลิตเครื่องดื่ม ฯลฯ แม้แต่สปาก็ยังอยากมีนาโนเทคโนโลยีไปใช้เสริมแบรนด์ ดังนั้นเมื่อทางฝั่ง Demand มีความต้องการมากถึงเพียงนี้ จึงมีความจำเป็นที่ฝั่ง Supply คือนักวิจัยและผู้ให้ทุนจะต้องตอบสนองโดยการกำหนดยุทธศาสตร์ในการให้ทุน อย่างชัดเจน เพื่อทำให้งานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยไปถึงผู้ประกอบการจริงๆ และนี่คือโจทย์ที่หน่วยงานระดับชาติ อย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กำลังเกาะติดอย่างใกล้ชิด


(ภาพซ้ายมือ - ประเทศไทยมีความหลากหลายในเรื่องของงานวิจัยมาก จนดูเหมือนขาด Focus แต่ถ้ามีการบริหารจัดการดีๆ ความหลากหลาย ก็กลับกลายเป็นความสวยงามได้ งานวิจัยต่างสาขาที่มารวมกลุ่มกัน จะสร้างสีสรรเหมือนขนมไทย ที่ดูน่ากิน น่าซื้อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น