09 สิงหาคม 2550

นัก นาโนเทคโนโลยี ไทย คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่

ปีนี้เป็นปีทองของนาโนเทคโนโลยีไทยจริงๆ เพราะการประกาศรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี พ.ศ. 2550 นั้น ได้มอบรางวัลให้นักวิทยาศาสตร์ 6 ท่าน เป็นนักนาโนเทคโนโลยีซะ 3 ท่าน ได้แก่ ผศ.ดร. วินิช พรมอารักษ์, ผศ.ดร.สันติ แม้นศิริ, ดร.อานนท์ ชัยพานิช ซึ่งการประกาศมีขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2550 ที่โรงแรมสยามซิตี้ เสียดายที่ผมไม่ได้ไปร่วมงานยินดีกับท่านเหล่านั้น เพราะติดภารกิจประชุม IEEE-NANO 2007 ที่ฮ่องกง วันนี้ผมขอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ ผศ.ดร. วินิช พรมอารักษ์ ว่าท่านเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไรอยู่ สำหรับ 2 ท่านที่เหลือ ผมจะมาเล่าให้ฟังวันหลังนะครับ

อาจารย์วินิชเป็นนักนาโนที่น่าสนใจมาก ท่านทำงานอยู่ที่ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ถ้าใครเคยไปแถวนั้น ก็จะรู้ว่าเมืองอุบลนี้เป็นเมืองแห่งน้ำ มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่ง เช่น โขงเจียม แก่งตะนะ ผาแต้ม มีวัดดังๆ หลายวัด เช่น วัดหนองป่าพง วัดป่านานาชาติ อาหารการกิน ก็จะมีร้านแบบเรือนแพ ตั้งอยู่ริมฝั่งมูล ด้านของ อ. วารินชำราบ เยอะมากๆ เมืองอุบลมีความเป็นเอกลักษณ์หลายอย่าง เช่น อำเภอเมือง อยู่ฝั่งตรงข้ามกับอีกอำเภอคือวารินชำราบเลย กลับมาที่เรื่องของอาจารย์วินิช ท่านเป็นนักเคมีสังเคราะห์ เน้นการค้นหาและพัฒนาสารอินทรีย์ ที่ใช้ในอุปกรณ์เปล่งแสงอินทรีย์ (Organic Light-Emitting Devices หรือ OLED) และ เซลล์สุริยะชนิดสีย้อม (Dye-Sensitized Solar Cell) คนที่ทำงานอยู่ในสาขาอินทรีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Organic Electronics) ต่างรู้ดีว่าสารอินทรีย์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น dye หรือ Conductive Polymer ก็คือ ต้นน้ำ ของเทคโนโลยีนี้ สารพวกนี้เขาขายกันเป็นมิลลิกรัม หรือ กรัม ไม่ใช่ กิโลกรัม หรือ ตัน เหมือนวัสดุประเภทอื่นๆ อาจารย์วินิชก้มหน้าก้มตาทำงาน จนเก็บสะสมสารเหล่านั้นได้จำนวนหนึ่ง เป็นที่ต้องการของนักนาโนเทคโนโลยีกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะที่ มหิดล หรือ MTEC ตอนผมไปประชุมที่เวียดนาม พวกนักนาโนเทคโนโลยีของเวียดนามให้ความสนใจกับวัสดุประเภทนี้มาก เพราะเขาคิดว่ายังสู้เราไม่ได้ ไม่เหมือนกับวัสดุพวกเซรามิกส์ เขาจะไม่ค่อยมาดูโปสเตอร์เลย แต่เขาชอบมาดูพวก OLED และ Solar Cell รวมไปถึงพวก Conductive Polymer ด้วย

น่ายกย่อง อ.วินิช ที่ทำให้ตอนนี้เมืองอุบลอาจจะมีสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกแห่ง คือ ห้อง Lab ของอาจารย์เอง ท่านตั้งชื่อว่า Advanced Organic Materials & Devices Laboratory ว่างๆ คงต้องหาโอกาสไปดู Lab ท่านหน่อย แล้วจะกลับมาเล่าให้ฟังนะครับ

(ภาพทางขวามือ - การล่องเรือไปเดินเล่นบนแก่งตะนะ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ไม่ควรพลาด)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น