Smart Dust หรือ ฝุ่นฉลาด หรือ ขี้ผงอัจฉริยะ นั้นแรกเริ่มคิดค้นโดย มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ (UC Berkeley) โดยให้เซ็นเซอร์สามารถติดต่อพูดคุยกันแบบไร้สาย ไม่ต้องคำนึงว่าที่ตั้งของแต่ละอุปกรณ์ (หรือโหนด) แต่ละตัวจะอยู่ตรงไหน ขอเพียงให้มีโหนดอย่างน้อย 2 โหนดอยู่ในรัศมีที่สามารถคุยกันถึง เครือข่ายทั้งก้อนก็จะสามารถทำงานได้ในรัศมีที่กว้างไกลไม่สิ้นสุด ยกตัวอย่างหากมีเซ็นเซอร์อยู่ 20 ตัว แต่ละตัวมีรัศมีทำการได้ 200 เมตร (ปัจจุบันสามารถทำให้รัศมีไปไกลมากกว่า 1 กิโลเมตร) เราสามารถนำเซ็นเซอร์มาวางเรียงกันได้ความยาว 4 กิโลเมตร โดยเซ็นเซอร์แต่ละตัวสามารถคุยข้ามไปยังเซ็นเซอร์ตัวไหนก็ได้ ดังนั้นหากเซ็นเซอร์ตัวใดตัวหนึ่งเชื่อมโยงกับเครือข่ายภายนอก เช่น เอา Pocket PC มาจ่อที่เซ็นเซอร์ตัวใดตัวหนึ่ง ก็สามารถดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดที่เซ็นเซอร์แต่ละตัวบันทึกไว้ออกมาได้หมด เครือข่ายเหล่านี้ยังมีความสามารถในการรักษาตัวเอง (Self Healing) เช่น หากมีโหนดใดหยุดทำงานไป มันก็จะพยายามติดต่อกับตัวที่เหลือแล้วสร้างแผนที่เครือข่ายขึ้นใหม่ ปัจจุบันได้มีความตื่นตัวในอุตสาหกรรมเซ็นเซอร์ประเภทนี้เป็นอย่างมาก มีบริษัทผู้ผลิตและผู้ใช้กว่า 200 บริษัททั่วโลกได้รวมตัวกัน เรียกว่า ซิกบีคอนซอร์เทียม (Zigbee Consortium) เพื่อกำหนดมาตรฐานและร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ ปัจุบันเราสามารถสั่งอุปกรณ์แบบ Zigbee นี้มาทดสอบและใช้งานได้ โดย ทีมงานผู้เขียน กับทีมงานของ ดร.อดิสร ที่ NECTEC กำลังพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สายแบบ Zigbee เพื่อนำไปใช้ในไร่องุ่น และในฟาร์มเลี้ยงไก่ ซึ่งแต่ละโหนดนั้นจะติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสง ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน อุณหภูมิ เซ็นเซอร์ตรวจวัดความเคลื่อนไหว โดยตัวมันจะติดตั้ง GPS และเซลล์สุริยะเพื่อที่จะให้มันสามารถเก็บเกี่ยวพลังงานมาใช้เอง เจ้าเครือข่ายเซ็นเซอร์นี้จะรวบรวมข้อมูลและนำมาประมวลผล เพื่อให้เจ้าของฟาร์มเกษตรสามารถที่จะตัดสินใจในกิจกรรมของฟาร์ม ทั้งนี้เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีดังกล่าวจะได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะภาวะโลกร้อนทำให้สภาพผลผลิตมีความไม่แน่นอน และต้องการข้อมูลเพื่อตัดสินใจมากขึ้น