ต่อจากเมื่อวานนะครับ ที่ผมเล่าให้ฟังว่าไปเห็นบริเวณที่กำลังจะก่อสร้าง Solar Farm แถวๆ ถนนผ่านศึก-กุดคล้า ซึ่งเป็นทางขึ้นสู่เขาใหญ่ เป็นพื้นที่ในหุบเขาที่ไม่ใช่ป่า และผ่านการทำการเกษตรมาแล้ว จึงถือว่าเป็นการสร้างพลังงานสะอาดจริงๆ ไม่ได้เป็นการไปถางพื้นที่ป่าเพื่อผลิตพลังงาน ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักว่า พลังงานทางเลือกอย่างเช่น Ethanol และ Biodiesel เป็นตัวการทำลายธรรมชาติและทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น มากกว่าที่มันจะช่วยโลกเสียอีก แต่พลังงานทางเลือกอย่าง Solar Cell นั้นสามารถติดตั้งในพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น บนหลังคาตึก หลังคาบ้าน และถ้าต้องการผลิตพลังงานระดับ Mass Scale ก็อาจใช้พื้นที่ที่ทำเกษตรไม่ได้ ดินเค็ม ดินเสีย เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้เอง ผมได้ลงไปปฏิบัติงานภาคสนามในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขากลับรถวิ่งผ่านถนนสายบายพาส ชะอำ-ปราณบุรี ได้สังเกตว่าพื้นที่ตลอดช่วงของทางหลวงสายนี้ ส่วนใหญ่จะถูกทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ค่อยมีการทำเกษตรกรรม เนื่องจากดินในบริเวณดังกล่าวมีปัญหาในการปลูกพืช ยังอดคิดไม่ได้ว่าน่าจะนำมาทำ Solar Farm พอคิดเสร็จก็เหลือบไปเห็นโครงเหล็กตั้งเรียงรายเป็นแผงยาว เป็นแถวๆ ประมาณเกือบร้อยแถว เห็นมีการนำ Solar Cell มาติดตั้งไปแล้วประมาณ 2 แถว แสดงว่าไอเดียของการติดตั้ง Solar Farm ในประเทศไทย เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง มีตัวตนแล้ว คิดไปแล้วประเทศไทยทำช้าเกินไปหรือเปล่า เพราะประเทศเยอรมันประเทศเดียว มีการติดตั้ง Solar Cell ไปแล้วกว่า 42,000 แห่ง และกำลังทยอยติดตั้ง Solar Farm ระดับ Large Scale มากขึ้นเรื่อยๆ
การไปปฏิบัติงานที่ไร่องุ่นไวน์กรานมอนเต้ เขาใหญ่ นั้นทำให้ผมได้สำรวจรีสอร์ท ที่พัก แถบมวกเหล็ก ปากช่อง หลายสิบแห่ง จากที่มีอยู่นับร้อยๆ แห่งในบริเวณชุมชนรอบๆเขาใหญ่ รีสอร์ทหลายๆแห่งมีความสนใจจะติดตั้ง Solar Cell ซึ่งผมคิดว่าเข้าท่ามากๆ เพราะช่วงกลางวันของเขาใหญ่นั้น อากาศค่อนข้างร้อน พลังงานแสงอาฑิตย์ที่ตกกระทบ วัดที่ไร่กรานมอนเต้ แล้วมีมากกว่า 1000 วัตต์ต่อตารางเมตร ในช่วงพีค แต่กลางคืนอากาศเย็น ดังนั้นเครื่องปรับอากาศจะใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงกลางวัน อากาศที่นั่นก็ค่อนข้างเคลียร์ ไม่มี aerosol ที่จะบดบังพลังงานแสง ในช่วงวันที่ไม่มีกลุ่มฝนจากลมมรสุม ฟ้าจะโปร่งมาก ดูจากผิวของคนแถบนั้นก็ได้ครับ
(ภาพบน - Solar Farm ในเยอรมัน ติดตั้งเพื่อป้อนไฟฟ้าแก่ชุมชนเกษตรที่อยู่ข้างๆ)