20 เมษายน 2551

Interactive Fabrics - อาภรณ์อันตรกริยา (ตอนที่ 1)


-


เมื่อประมาณสัก 2-3 อาฑิตย์ที่ผ่านมานั้น บริษัทฟิลิปส์ได้นำเสื้อที่สามารถเปล่งแสงได้ (Light-emitting Clothe) มาแสดงในประเทศไทย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ หรือ Wearable Electronics ซึ่งบริษัทฟิลิปส์ทุ่มเทพัฒนามาเป็นเวลาหลายปี น่าเสียดายที่บริษัทฟิลิปส์ที่เป็นบริษัทลูกในประเทศไทย ไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ รวมทั้งมีความรู้และให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวน้อยมาก ผิดกับบริษัทฮอนด้าที่นำเอาหุ่นยนต์น่ารักอย่างอาซิโม ออกแสดงอย่างครึกโครมจนเป็นที่รู้จักกันทั้งประเทศ น่าเสียดายที่บริษัทแม่ของฟิลิปส์ได้นำเอาเสื้อเปล่งแสงต้นแบบตัวดังกล่าวกลับไปแล้ว โดยส่งผลกระทบต่อสังคมผู้ประกอบการไทยทางด้านสิ่งทอน้อยมาก เรียกว่าแทบจะไม่มีใครในวงการสิ่งทอไทยรู้ถึงการมาของมัน และแทบจะไม่รู้เลยว่าโอกาสในการเป็นฮับทางด้านสิ่งทอแนวใหม่นั้นได้หลุดลอยไปพร้อมๆกันด้วย

ความฝันที่จะทำให้สิ่งทอ ซึ่งเป็นวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ไร้หัวคิด ให้มีความฉลาดและตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆมัน และต่อผู้สวมใส่ มีฟังก์ชันมากกว่าแค่เป็นอาภรณ์ปกปิดร่างกาย เริ่มเป็นจริงเมื่อเร็วๆ นี้ โดยนักวิจัยทั่วโลกพยายามทำวิจัยอย่างขมักเขม้นเพื่อใส่ฟังก์ชันอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในเสื้อผ้า นักวิจัยที่ MIT ได้นำเส้นด้ายนำไฟฟ้าถักทอเข้าไปในเนื้อผ้า ทำให้เสื้อผ้ามีวงจรไฟฟ้า มีการออกแบบสิ่งทอนวัตกรรมหลายชิ้น เช่น หมอนแสดงความรู้สึก คีย์บอร์ดผ้า ซึ่งสามารถซักรีดได้ตามปกติ เมื่อ 2-3 ปีก่อน ฟิลิปส์ได้ออกจำหน่ายเสื้อแจ็คเก็ตสำหรับเล่นสกี ซึ่งติด GPS และเครื่องมือเตือนภัย ซึ่งสามารถติดตามหากเกิดการพลัดหลงหรือเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนั้นฟิลิปส์ยังพัฒนาเสื้อตรวจสุขภาพที่สามารถติดตาม และวิเคราะห์สถานภาพทางด้านสุขภาพของผู้สวมใส่ เรื่องนี้ผมจะทยอยมาเล่าให้ฟังนะครับ ...... เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยอาจไม่ตกรถไฟในเรื่องนี้ เพราะ NECTEC กำลังให้ความสนใจ และเริ่มตั้งเครือข่ายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ทางด้าน Electronic Textile เร็วๆ นี้ครับ .............