30 พฤศจิกายน 2555

อาภรณ์อัจฉริยะ - Wearable Intelligence (ตอนที่ 6)



เรื่องของอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ (Wearable Devices) หรือ คอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ได้ (Wearable Computer) ที่มีพลังในการประมวลผลติดตามเราไปได้ทุกที่ (Wearable Computing) กำลังเขยิบใกล้เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ๆ ทุกทีครับ ต่อไปเราจะใส่แว่นที่มีกล้องถ่ายรูปหรือวีดิโอ และมีจอภาพที่สามารถแสดงผลเข้าตาของเราได้โดยตรง ทำให้เวลาเราจะเดินไปไหนมาไหน มันจะช่วยติดตาม หาข้อมูลที่เป็นประโยชน์แล้วนำเสนอให้กับเรา เช่น เราเดินไปสยามพารากอน เราอาจจะถามแว่นว่า ไหนหาร้านหนังสือให้ฉันหน่อยสิ ... แว่นก็จะ scan จากภาพ แล้วทำงานแบบ Augmented Reality ที่แสดงผลข้อมูลว่าในห้างนี้มีร้านหนังสือที่ไหนบ้าง ถ้าเราบอกว่าฉันอยากไปคิโนคูนิยะ แว่นก็จะแสดงข้อมูลร้านนี้ บอกทิศทาง พร้อมหาโปรโมชั่นพิเศษต่างๆ ให้เสร็จสรรพ นอกจากแว่นตาแล้ว ก็ยังมีนาฬิกา เสื้อผ้า กางเกง แจ็คเก็ต ถุงเท้า รองเท้า ซึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต จะเข้าไปอาศัยอยู่ในนั้น เพื่อทำให้เราเดินทางไปไหนมาไหนพร้อมกับพลังประมวลผล ด้วยการสวมใส่มัน โดยไม่ต้อง หิ้ว ถือ พก อุปกรณ์เหล่านั้นให้ลำบากเลยล่ะครับ

ในกลุ่มวิจัยของผมเอง ก็มีการทำวิจัยเกี่ยวกับอุปกรณ์สวมใส่ได้หลายชนิดเลยครับ ได้แก่ รองเท้าเซ็นเซอร์ที่ผมเรียกว่า Smart Shoe เพื่อตรวจวัดการเดิน มีการทำวิจัยเกี่ยวกับหมอนและผ้าปูที่นอนอัจฉริยะ (Smart Pillow and Smart Bedsheet) เพื่อตรวจวัดสุขภาวะของการนอน มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเซ็นเซอร์บนผ้า ซึ่งต่อไปสามารถเอาไปติดไว้ในเสื้อ กางเกง ชุดชั้นใน ถุงเท้า เพื่อตรวจวัดระดับของสุขภาพ มีการทำวิจัยจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบปลอกแขน เพื่อตรวจกลิ่นเต่าใต้รักแร้ มีการวิจัยถุงมือข้อมูล (Data Glove) เพื่อเป็นอุปกรณ์ติดต่อกับคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยอากัปกริยาท่าทาง เป็นต้น

สำหรับ Smart Shoe ที่กลุ่มวิจัยของผมกำลังพัฒนาอยู่นั้น เป็นรองเท้าที่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์หลายชนิดเข้าไปในรองเท้า เช่น เซ็นเซอร์รับแรงกด เซ็นเซอร์ตรวจวัดทิศทาง เซ็นเซอร์ตรวจวัดความเร่ง เซ็นเซอร์ตรวจวัดความเฉื่อย เป็นต้น ซึ่งจะทำการเก็บข้อมูลของผู้สวมใส่ แล้วส่งข้อมูลเหล่านั้นผ่านเครือข่ายไร้สาย มาเก็บที่คอมพิวเตอร์หรือฐานข้อมูลบนระบบคลาวด์ ซึ่งต่อไปเราก็จะพัฒนา App บนสมาร์ทโฟน เพื่อทำให้ผู้สวมใส่สามารถติดตามข้อมูลการเดินของตัวเองผ่านสมาร์ทโฟนได้ 

มาดูกันครับว่าเจ้า Smart Shoe ทำอะไรกันได้บ้างครับ

(1) ดูว่าเราทำอะไรบ้างในแต่ละวัน ยืน เดิน นั่ง เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา (Daily Activities)

(2) ดูว่าเรามีพฤติกรรมการเดินที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือไม่ เช่น เดินลากเท้า กดนิ้ว แบะเท้า ตัวงอ โยนตัว และอื่นๆ ซึ่งเราสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ให้วิเคราะห์ และให้คำแนะนำแก่เราได้ว่า เราควรหรือไม่ควรเดินแบบนั้น แพทย์สามารถที่จะโปรแกรมให้รองเท้าเตือนผู้สวมใส่ได้ เมื่อเริ่มมีอากัปกริยาการเดินที่ไม่เหมาะสม

(3) เฝ้าระวัง เช่น ผู้สูงอายุมีท่าทีผิดปกติ เช่น ล้ม หรือ กดเท้าบางจุดนานเกินไป (อันตรายมากสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน) ซึ่งรองเท้าสามารถเตือนผู้สวมใส่ได้ หรือส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังผู้เกี่ยวข้องได้ หากผู้สวมใส่เกิดการล้ม (โดยเฉพาะผู้สูงวัย)

ตอนนี้ทางกลุ่มวิจัยได้นำ Smart Shoe ไปทดสอบกับผู้สูงวัยจำนวนมาก เพื่อทดสอบ เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผล ซึ่งเราได้พบว่าเจ้ารองเท้าตัวนี้ นอกจากจะสามารถตรวจพบการเดินที่ผิดปกติแล้ว เค้ายังสามารถตรวจพบคนที่มีอาการของโรคพาร์กินสันด้วยครับ ในโอกาสต่อไปทางกลุ่มวิจัยก็จะนำเจ้า Smart Shoe ตัวนี้ไปจดสิทธิบัตร และพัฒนาต้นแบบเชิงพาณิชย์ โดยจะนำรองเท้านี้ไปแนะนำตลาด ซึ่งตอนแรกกะว่าจะแจกให้ผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งใช้ฟรีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น