14 พฤศจิกายน 2555

Micro Air Vehicle (ตอนที่ 3)




เรื่องของอากาศยานจิ๋ว หรือ MAV (Micro Air Vehicle) เริ่มกลายมาเป็นกระแสที่มาแรง และเป็น Talk of the Town ที่ดังขึ้นเรือยๆ นะครับ จะว่าไป MAV ก็คือ UAV ขนาดเล็กนั่นเอง (Unmanned Aerial Vehicle) ซึ่งเมื่อก่อนในวงการวิชาการมีการศึกษาวิจัยในเรื่อง UAV กันน้อยมากๆ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูงมาก ทำให้สามารถลงทุนวิจัยได้เฉพาะหน่วยงานรัฐขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหมของประเทศสหรัฐอเมริกา และอิสราเอล แต่ในปัจจุบัน UAV ขนาดเล็กเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ การย่อส่วนของ UAV ให้เล็กลงนี้ กลับทำให้เกิดการขยายขอบเขตการนำไปประยุกต์ใช้ ออกไปอย่างกว้างขวาง จนใน 2-3 ปีมานี้ มีนักวิจัยเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีนี้กันมากมายเลยครับ จนสามารถสร้างประชาคมวิจัยขนาดใหญ่ขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันมีการประชุมวิชาการนานาชาติของตัวเองที่เรียกว่า The International Micro Air Vehicle Conference ซึ่งจัดมา 2 ครั้งแล้ว และในปีหน้าคือปี 2013 จะไปจัดกันที่ประเทศฝรั่งเศสที่เมืองตูลูส

น่าเสียดาย ... ที่บ้านเรายังให้ความสนใจในเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมากมาย งานประยุกต์ของ MAV กว้างขวางมากครับ เช่น เราสามารถนำมันมาใช้ทางด้านการเกษตร เช่น ติดเซ็นเซอร์ให้มันบินขึ้นไปเก็บข้อมูลต่างๆ ของไร่นา เก็บข้อมูลและทำแผนที่ผลผลิต การตรวจหาสิ่งผิดปกติในไร่นา ทางด้านสวัสดิภาพและความมั่นคง เราสามารถใช้ติดตาม ความเคลื่อนไหวของผู้ต้องสงสัย การต่อต้านการก่อการร้าย ตรวจเส้นทางยาเสพติด การปกป้องพื้นที่ป่าไม้ การติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่า ในด้านการบันเทิงและท่องเที่ยว ก็สามารถใช้ MAV บินขึ้นไปถ่ายทำคลิปวีดิโอเพื่อถ่ายภาพมุมกว้างจากด้านบน ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนต้นทุนจะค่อนข้างสูงมาก แต่อีกไม่นาน ใครๆ ก็จะสามารถทำได้ครับ

ในขณะที่นักเทคโนโลยีบ้านเรายังคงหลับไหลอยู่นั้น ใกล้ๆ บ้านเราที่ประเทศอินเดียมีการพัฒนาเรื่องนี้ไปค่อนข้างไกลเลยครับ  โดยเมื่อต้นปี 2012 นักวิจัยอินเดียได้ทำการสาธิตการบิน MAV ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 300 - 500 กรัม โดยระบบ autopilot อย่างสมบูรณ์แบบ โดยสามารถโปรแกรมการบินไปยังพิกัดต่างๆ ได้ล่วงหน้า หรือสามารถควบคุมจากระยะไกลได้ หากต้องการเปลี่ยนพิกัดในขณะทำการบิน ซึ่งเบื้องต้น มีระยะควบคุม 10 กิโลเมตร และทำการบินที่ระดับความสูง 1 กิโลเมตร ความสำเร็จของโครงการดังกล่าวเกิดจากการสนับสนุนของรัฐบาล ให้หน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนของอินเดียหลายแห่ง เช่น Idea Forge, Mumbai, Aurora Integrated Systems และ Seagul Technologies Bangalore จะเห็นว่าอินเดียนั้นกำลังขมักเขม้นพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง และในอนาคตเราอาจจะได้เห็นอินเดียผงาดในเวทีนวัตกรรมระดับโลก

ที่น่าสนใจก็คือ ในปีหน้า (ค.ศ. 2013) อินเดียจะจัดการแข่งขัน MAV ระดับชาติขึ้นมา เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจในเรื่องของ MAV แก่เยาวชนและนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี นับเป็นกลุ่มที่ 3 ของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่มีความตื่นตัวในเรื่อง MAV อย่างจริงจังเลยครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นบทความที่ดีมากๆครับ
    อยากมีสวนเกษตรอัจริยะบ้าง
    เป็นผู้บริโภคมาตลอด ในอนาคตอยากเป็นผู้ผลิตบ้างจัง

    ตอบลบ